เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 14133 พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 พ.ย. 00, 19:39

รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุม
ในการอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ ๑"
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๒ ณ ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ จำกัด

--------------------------------------------------------------------------------
ในช่วงของการอภิปรายนี้ ผมจะเสนอหลักฐานเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า จารึกหลักที่ ๑ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลักฐานที่สำคัญได้แก่หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์ซึ่งสมเด็จพรมหาสมณเจ้า กรมพระยะปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สวรรคต

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯทรงเป็นลูกศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกฎตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุฯด้วย และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์ฯ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์ฯ องค์ต่อไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ มีพระชันษายาวนาน สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.๒๔๓๓

หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์นั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อแรกผนวชจนถึงสวรรคต และเน้นเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติโดยเฉพาะปาฏิหารย์ ซึ่งเป็นการแสดงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่สำคัญได้แก่ปาฏิหารย์เมื่อพระองค์เสด็จประภาสสุโขทัยในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เมื่อเสด็จถึงสุโขทัยนั้น ทรงพบแท่นศิลาที่ชาวเมืองนับถือว่าเป็นของขลังไม่มีใครเข้าไปใกล้ แต่พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนแท่นศิลานั้น รับสั่งว่า "อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกันจะได้ฟังเทศน์จำศีล" และไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจึงโปรดเกล้าฯให้ชะลอมาก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดสมอราย

ผมสันนิษฐานว่า แท่นศิลานี้น่าจะได้แก่แท่นที่วางดอกไม้สำหรับสักการะพระเจดีย์ที่วัดวิหารทองสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันนี้แท่นศิลาด้านทิศใต้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ส่วยด้านทิศตะวันออกยังคงอยู่ ณ ที่เดิม พร้อมพระแท่นนั้นพระองค์ยังทรงเอาเสาศิลาจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทลงมาด้วย แต่สมเด็จพระยาปวเรศฯ มิได้รับสั่งว่า ทรงนำเอาศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วยในคราวนั้น

สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงสันนิษฐานว่า ดูเหมือนเทพเจ้าเมืองสุโขทัยจะมาทูลเจ้าฟ้ามงกุฎว่า ในภายหน้าพระองค์จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระบารมีเท่าเทียมกับพระมหาธรรมราชาลิไทยที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักนั้น นอกจากนั้นสมเด็จกระพรยาปวเรศฯ ทรงพิเคราะห์ว่าการที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างศิลาจารึกไว้ เป็นการบันทึกปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมี นอกจากนั้นแล้วสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังได้ตีพิมพ์คำแปลศิลาจารึกภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทที่พระองค์ทรงแปลไว้เป็นภาคผนวกอีกด้วยเพื่อที่ท่านผู้อ่านได้เปรียบเทียบกับพระบารมีของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระมหาธรรมราชาลิไท

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังทรงตรัสไว้ว่า เรื่องในหนังสือในเสาศิลานั้น ถูกต้องกับรัชกาลที่เป็นไปนี้โดยมาก ดังอาจจะกล่าวไว้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

"พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท แต่เพราะเหตุผลบางประการจึงไม่สามารถจะสืบราชสมบัติได้ทันที แต่ต้องรอคอยไปเสียก่อน

ทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างลึกซึ้ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาดาราศาสตร์ และสามารถที่จะเพิ่มหรือลบศักราชได้ ทั้งสองพระองค์ทรงสถาปนานิกายใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระภิกษุต่างชาติ ทั้งสองพระองค์ทรงผนวชและลาสิกขาบทเพื่อขึ้นครองราชย์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และทรงสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งสองพระองค์ยังได้แสดงความอัศจรรย์อันเป็นผลแห่งพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นแผ่นดินไหวเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงอุปสมบท และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ ก็ได้เกิดปาฏิหารย์ซึ่งมีผู้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสองดวงเป็นต้น"


ในตอนท้ายเรื่องอภินิหารการประจักษ์ สมเด็จพระปวเรศฯ ทรงกล่าวเพิ่มเติมถึงศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งไม่ได้ทรงกล่าวถึงเลยในตอนต้นว่า "เรื่องราวของพระแท่นมนังคศิลาบาตร อยู่ในเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น" ซึ่งเป็นการพิมพ์เนื้อหาของจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะคงมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงนำมาตีพิมพ์ไว้ที่นี้เป็นที่หน้าสังเกตว่า เนื้อหาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงแปลนั้น จะยกเอามาแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่มีศักราชโดยเริ่มขึ้นที่มามหาศักราช ๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกไม้ตาลนี้ ๑๔ ปีเข้า จึงให้ช่างถามขดานหินกลางไม้ตาลนี้ และในวันอุโบสถก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมแก่ เหล่าอุบาสก หามิใช่วันอุโบสถพระองค์เองก็เสด็จขึ้นประทับออกว่าราชการ

ข้อความที่ว่า "พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมบนแท่นหินนี้" รับกับพระราชดำริของเจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อเสด็จสุโขทัยที่ตรัสกกับแท่นศิลาว่า "ให้ไปบางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์ถือศีล" น่าจะสันนิษฐานได้อีกว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าหากเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติขึ้นเมื่อใดก็คงใช้แท่นศิลานี้เป็นบัลลังค์ แต่ก็มิได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น

ระยะที่พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกต้นตาล และถากขดานหิน สอดคล้องกับ 14 ปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้กับพระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือราชบัลลังก์

สมเด็จพระปวเรศฯยังทรงประทานข้อเฉลยไว้ท้ายเล่มว่า "ถ้าจะใคร่ทราบกลศักราชทั้งปวง ต้นศักราชปีมะเส็งมากกว่ามหาศักราช ๖๒๑" ดังนั้น หากเราจะเปลี่ยนมหาศักราช ๑๒๑๔ อันเป็นปี่ที่พ่อขุนรามคำแหงปลูกต้นตาลมาเป็นพุทธศักราชโดยการเอา ๖๒๑ มากบวกก็จะได้เป็นปีพุทธศักราช ๑๘๓๕ ซึ่งถ้าเราอ่านศักราช ๑๘๓๕ เป็นคริสต์ศักราช ก็จะได้ปี ค.ศ. ๑๘๓๕ คือสองปีก่อนที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ และสิบสีปีต่อมาก็เท่ากับปีพุทธศักราช ๑๘๔๙ ถ้าอ่านเป็นปี ค.ศ. ๑๘๔๙ อันได้แก่สองปีก่อนที่พระองจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ปีต่อมาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯตรัสถึงได้แก่ปีศักราช ๑๒๐๙ ปีกุน ซึ่งเราทราบดีแล้วในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่ากล่าวถึงศักราช ๑๒๐๗ ปีกุน เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดนี้เป็นเจตนาที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของเวลาสองปี ดังนั้น ถ้าเอาสองปีมาเพิ่มเข้าไปก็จะได้ปีคริสต์ศักราช ๑๘๓๗ และ คริสต์ศักราช ๑๘๕๑ ก็คือปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ และปีคริศต์ศักราช ๑๘๕๑ ก็คือปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ซึ่งเป็นปีกุน

เหตุการณ์ต่อมาที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ คือ ปีศักราช ๑๒๐๙ ที่พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุออกไปให้คนทั้งหลายเห็น แล้วเอาลงไป

ฝังไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย ปีนี้สามารถปรับเป็นปีคริสต์ศักราช ๑๘๓๐ ตามที่เสนอไปแล้ว ซึ่งตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎโปรดเกล้าฯให้ขุดศิลานิมิตวัดสมอรายขึ้นมาดูแล้วทรงให้ผูกนิมิตใหม่พร้อมกับให้พระภิกษุที่วัดสมอรายอุปสมบทขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมยุตนิกายให้ถูกต้อง

ส่วนศักราช ๑๒๐๕ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ลายสือไทยนั้น ตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีพระราชศรัทธาที่จะนำเอาพระวินัยมอญมาเป็นข้อปฏิบัติในธรรมยุตนิกาย และอาจจะทรงริเริมประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อเขียนภาษาบาลีก็เป็นได้

การเฉลยการเปลี่ยนศักราชต่าง ๆ สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงต้องการที่จะให้บุคคลในกาลข้างหน้ารับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลเลขในการลบบวกศักราชต่าง ๆ ที่จะให้เห็นว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับนิพนธ์หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดังที่สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงเขียนไว้เป็นอวสานพจน์ของหนังสืออภินิหารการประจักษ์
..................................................................
ศักราชคิดดั่งนี้...............ชอบขยัน
มือลับชนสามัญ.............ห่อนเจ้า
 ไทยถือว่าสำคัญ............กลเลข
แยบยลคนกล่าวแกล้ง.....กล่าวว่า คนไกล
 .................................................................
ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเสนอต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อันได้แก่สิบสี่ปีหลังจากที่เสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ

นอกจากนั้นแล้ว ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังส่อให้เห็นอีกด้วยว่าเหตุใดพระองค์ถึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกหลักนี้ขึ้นมา

มูลเหตุอันเป็นแรงบันดาลพระทัยคงจะได้แก่พระองค์ตั้งพระทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้ ในรูปแบบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดยใช้พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ดาราศาสตร์ และการคำนาณในการสร้างภาพพจน์ที่ใกล้เคียงกับอดีตเท่าที่จะทรงทำได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ยังเป็นกุศโลบายที่พระองค์จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีที่มีมาแต่เดิมไปสู่โลกทัศน์ใหม่ ซึ่งรับกับอารยธรรมตะวันตก จารึกหลักที่ ๑ จึงเป็นการสร้างภูมิหลังเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความเปลี่ยนแปลงที่ พระองค์ทรงกระทำเพราะความเปลี่ยนแปลงบางประการเช่น การที่พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ และอาจจะมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนระบบวิธีเขียนภาษาไทยให้อยู่ในบรรทัดเดียวกันเพื่อสามารถที่จะใช้กับเครื่องพิมพ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น บางประการ เช่นการเปิดการค้าเสรี การขัดผลประโยชน์ของเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่แต่เดิมใช้ระบบการค้าแบบผูกขาด การเปลี่ยนแปลงที่พระองค์จะทรงริเริ่มขึ้นนั้นมิได้เป็นการกะทำผิดจากโบราณราชประเพณี แต่กลับเป็นการรักษาโบราณราชประเพณี ที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขเช่น การที่พระองค์จะลดค่าระวางปากเรือ จังกอบ ให้เหลือว่าละ ๑๐๐๐ บาท จากวาละ ๑๗๐๐ บาท ตามที่อังกฤษขอมาในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงมีมาแต่เมื่อโบราณว่า " เจ้าเมืองบ่อเอาจังกอบในไพร่" หรือเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ไพร่ที่ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้มาถวายฎีกาแก่พระองค์โดยตีกลองวินิจฉัยเภรี ก็มีมาแล้วในการที่ไพร่ฟ้าหน้าใสไป สั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ต้องการที่จะปรับปรุงพระราชพิธีสำหรับบ้านเมือง เช่นให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระองค์เองก็เสวยน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นด้วย ก็แสดงให้เห็นในข้อความที่ "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนถือบ้านถือเมือง"

นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้ความสำคัญแก่เทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมือง เช่น การนับถือพระขพุงที่สุโขทัย และพระสยามเทวาธิราช ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษากรุงสยามในลักษณะเดียวกัน และเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมี ก็มีมาแล้วในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ชาวเมืองสุโขทัยมาดูพ่อขุนรามคำแหงท่านเผ่าเทียนเล่นไฟ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลาจารึกหลักนี้ จึงเปรียบเสมือน รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะทรงใช้เป็นแนวทางการบริหารแผ่นดิน เพื่อให้บ้านเมืองเจริญตามอารยธรรมตะวันตกเพื่อให้เป็นที่นับถือของฝรั่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงใช้ประปรีชาสามารถในทางปัญญาที่ได้นำกรุงสยามให้พ้นจากภัยพิบัติได้

ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงตรัสว่า "แต่น่าอนาถใจจริงๆ ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีน้อยตัวลงทุกที"

ข้าพุทธเจ้า ขอสดุดี พระมหาราชา ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 พ.ย. 00, 19:45

คุณ สนใจ  หรือใครก็ได้พอจะบอกได้ไหมคะว่า คำ คำ ไหน ใน จารึกหลักที่ 1 ที่ เป็นคำที่เพื่งใช้ในรัตนโกสินทร์ตอนต้นคะ
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 พ.ย. 00, 19:52

ยังมีบทความอีกเกี่ยวกับเรื่องศิลาจารึกอีกฉบับหนึ่งนะครับ พอดีผมตามลิงค์ของ

หน้าบทความดร.พิริยะไปแล้วเลยได้เจอข้อความนี้ด้วยลองไปอ่านกันดูก็แล้วกันครับ

ขอตัวไปพักก่อนทั้งง่วง ทั้งเพลียเต็มที ลิงค์ที่ว่าอยู่ข้างล่างนี่นะครับ

http://www2.50megs.com/shalawan/jaruk-discuss.htm' target='_blank'>http://www2.50megs.com/shalawan/jaruk-discuss.htm
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ย. 00, 10:37

วันนี้เวลาน้อยครับขอพูดเรื่องความคิดเห็นกับวิชาประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว บางเรื่องเราอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ความจริงที่ได้ทำให้เราเข้าใจรากเหง้าของชาติพันธุ์เราได้ดีขึ้น
ทุกวันนี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มแบ่งพรรคแบ่งพวก ยึดติดกับแนวคิดบางอย่าง กรมพระยาดำรงท่านถูกเอามาใช้เป็นเส้นแบ่งแยก ซึ่งท่านคงไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ท่านได้ศึกษาไว้ ผมไม่ได้เชื่อว่าถูกทั้งหมด แต่ก็ไม่คิดว่าท่านจะทำโดยอคติ บางครั้งผลสรุปที่ไม่ตรงใจเราในบางเรื่องทำให้บางคนลามไปถึงว่า(แทบจะ)ทุกสิ่งที่ท่านพูดผิดไปหมด ซึ่งไม่ยุติธรรมและเป็นผลเสียกับผู้ศึกษาเองด้วย คงต้องยอมรับว่ายุคสมัยต่างกัน ข้อมูลต่างกัน กระบวนทัศน์ต่างกัน ผลลัพธ์อาจต่างกันได้ ถ้าคนทำงานแล้วถูกตำหนิอย่างหนักจากบางฝ่าย ต่อไปใครจะทำงานให้คุณล่ะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ย. 00, 11:59

ขอออกความเห็นบ้าง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงริเริ่มบุกเบิกงานทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยเมืองไทยยังไม่มีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ที่เรียนเป็นระบบมาจากมหาวิทยาลัยทั้งไทยและตะวันตกอย่างในปัจจุบัน
หลักฐานข้อมูลก็ไม่กว้างขวาง เสาะหากันจากประเทศไกลๆได้เหมือนสมัยนี้  หาได้อย่างมากก็จากพม่า อย่างพงศาวดารฉบับหอแก้ว
ทรงชำระประวัติศาสตร์ จากหลักฐานเท่าที่ทรงค้นพบ  ทรงคัดเลือกและเรียบเรียง ตามพระวิจารณญาณ
ที่ปรึกษาอย่างศ.ยอร์ช เซเดส์ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้แถวหน้า ที่พอจะหาได้ในเมืองไทย  คนอื่นๆอย่างพระเจนจีนอักษร  ก็เช่นกัน

เมื่อเวลาผ่านไป  เราค้นพบหลักฐานใหม่ ข้อมูลใหม่ ก็แน่นอนว่าเรื่องราวที่เข้าใจกันมาแต่เดิมต้องเปลี่ยนไป  
ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะโทษใคร  หรือใครจะยืนกรานเข้าข้างใคร
มันเป็นหลักธรรมดาของวิชาประวัติศาสตร์

แต่ดิฉันมีความเห็นส่วนตัวว่า นักวิชาการรุ่นใหม่หลายคน อาศัยเพียงหลักฐานที่มีมาแต่เดิม  ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ท่านข้ามไป ไม่นำมาใช้
อาจจะทรงเห็นว่า ไม่น่าเชื่อถือ  ผิดพลาด  หรืออะไรก็ตาม  จึงมิได้นำมาเรียบเรียงไว้ในผลงานของท่าน
เมื่อคนรุ่นใหม่ไปค้นพบในหอจดหมายเหตุ   ก็นำหลักฐานนั้นมาแถลง  แล้วชี้ให้เห็นว่าของท่านผิด
แต่ไม่ใช่เป็นการพบอะไรใหม่ๆขึ้นมา  ซึ่งจะทำให้สมมุติฐานแต่เดิมเปลี่ยนไป   มันเป็นแค่รายละเอียดที่เปลี่ยนไป

แต่จะไปสรุปว่า พระราชพงศาวดารผิดหมด เพราะไม่ตรงกับหลักฐานใหม่ที่พบ  ก็ไม่ใช่
ใครจะไปรู้ว่าหลักฐานใหม่ผิดหรือถูก   ในเมื่อมนุษย์สร้างขึ้นมามันก็มีโอกาสจะเจือปนด้วยอคติ ความเข้าใจผิด  หรือความคลาดเคลื่อนได้ทั้งนั้น

แต่จะยึดของท่านว่าถูกหมด  ขยับไปจากนั้นไม่ได้เป็นผิด ก็ไม่ใช่อีก  คิดอย่างนั้นก็อันตราย เพราะวิชาการจะย่ำซ้ำกับที่ ไม่ก้าวไปไหน

ในอังกฤษดิฉันเห็นว่าจนทุกวันนี้เขาก็ยังเถียงกันเรื่องประวัติศาสตร์ที่รู้ๆกันมานานแล้ว  ไม่รู้จักเลิก
อย่างไม่นานมานี้ไปเจอในเน็ต  คนเสนอหลักฐานใหม่ว่า ควีนเอลิซาเบธที่ ๑ ไม่ใช่ The Virgin Queen อย่างที่ยกย่องกัน
แต่ทรงมีความสัมพันธ์กับ Lord Robert Dudley จนมีลูกด้วยกัน
เขาก็เขียนกันได้  ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร  อย่างมากก็มีอีกคนเขียนสนับสนุนหรือคัดค้านด้วยการยกหลักฐานมาบ้าง
ก็ไปกันได้ เป็นของธรรมดาของวิชานี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง