เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 37156 ลอดลายรั้ว...วินด์เซอร์ (2)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 03 มี.ค. 06, 12:28

 ในการร่วมโต๊ะเสวยในคืนวันนั้น ท่านผู้หญิงทราบได้ทันที ว่า พระองค์ไม่ทรงโปรดในตัวเธอเท่าไหร่นัก ด้วยการดูออกจากท่าทางที่เย็นชา และ ห่างเหิน
สาเหตุ..นั้นคือ ทรงหมั่นไส้ในความดังของจ๊าคเกอลีน ที่ไม่ว่าจะย่างก้าวไปทางไหนผู้คนช่างชื่นชมสรรเสริญ ว่า งามพร้อม แต่งตัวเหมาะเจาะ  เก่งกล้าสารพัด พูดได้หลายภาษาอีกต่างหาก

ขนาดก่อนมาถึงอังกฤษ มีการแวะที่ฝรั่งเศส ชาวปารีเชียงต่างพากันมารอรับแบบแน่นถนน นายกเทศมนตรีกรุงปารีสได้มอบนาฬิกาข้อมือเรือนหรูราคากว่าสี่พันเหรียญให้เป็นของขวัญ แถมหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวการเยือนของเธอครั้งนี้ว่า ยิ่งใหญ่พอกันกับการเสด็จเยือนของพระราชินีอลิซาเบธเมื่อสี่ปีก่อนทีเดียว

ท่านประธานาธิบดีเองยังตกใจต่อกระแสความดังของภริยาในครั้งนี้ด้วยว่าไม่เคยได้คาดคิดมาก่อน ถึงกับต้องกล่าวแก้ขวยว่า
"ผม..ผม..คือ คนที่ติดสอยห้อยตามท่านผู้หญิงจ๊าคเกอลีน เคนเนดี้มาเที่ยวฝรั่งเศสขอรับ"

เมื่อมาถึงยังลอนดอน ผู้คนก็ตากันตื่นกระแสคลั่งแจ๊คกี้ ถึงกับมาเฝ้ารอที่สองข้างถนนกันอย่างหนาตา ราวกับการรอรับเสด็จของพระราชินี
หนังสือพิมพ์พากันประโคมข่าวเรียกเธอว่า "พระราชินีจากสหรัฐอเมริกา"
มีการ์ตูนวาดภาพล้อ เป็นรูปเทพีแห่งสันติภาพ ที่มีใบหน้าเป็นแจ๊คกี้ ในมือข้างหนึ่งชูคบเพลิง อีกข้างหนึ่งกอดนิตยสารโว๊คเอาไว้
ไม่ว่าข่าวไหนๆ ก็พากันสรรเสริญจนเลิศลอย

อันทั้งนี้ทั้งนั้น..ทุกอย่างที่เล่ามาคือการขัดต่อความเป็นพระราชินีอลิซาเบธในทุกๆ ด้าน..พระองค์ไม่ชอบการแสดงออกไม่ว่าด้วยเรื่องใดๆ
ไม่โปรดหนังฮอลลีวู๊ด ไม่โปรดการคบค้ากับดารา หรือพวกไฮโซคนดัง
ขนาดเมื่องานอภิเษกของเจ้าชายเรเนียร์แห่งโมนาโค กับดาราสาวสวย เกรซ เคลลี่ (เจ้าหญิงเกรซ แห่ง โมนาโค) ในปี 1956  พระองค์ก็มิได้เสด็จไปร่วมในงาน ทรงตรัสว่า
"ไม่อยากเจอพวกดารา"
ยามที่ผู้อำนวยการสำนักบีบีซี ได้ถวายคำแนะนำว่าอยากได้ภาพที่ทรงเป็นอิริยาบทสบายๆ บ้าง ทรงตอบว่า
"ฉันไม่ใช่ดารา"
และด้วยเหตุผลเดียวกันที่ทรงเลิกการใช้เสื้อคลุมขนมิงค์ เพราะทรงตรัสว่า
"เดี๋ยวจะไปเหมือนพวกดารา.."

เรื่องนี้ไม่ใช่แต่พระองค์ที่ทรงเป็น แม้แต่เจ้าชายฟิลิปก็เหมือนกันยังกับแกะ..ในยามที่เสด็จไปเปิดงานมหกรรมภาพยนตร์ของอังกฤษ    มีคนตะโกนไปว่า..
"เล่าเรื่องอะไรสนุกๆ ให้ฟังหน่อยซิ"
เจ้าชายทรงตรัสตอบไปทันควันว่า
"อยากฟังเรื่องสนุกๆ ก็ไปจ้างตลกมาดิ"  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:19

 ในยามนั้น ทั้งท่านดยุคและสมเด็จต่างก็ไม่เข้าพระทัยถึงในจิตใจประชาชนที่ต้องการเห็นความแจ่มใส ความมีชีวิตชีวาของเจ้านายที่ตัวเองรักและบูชา มากกว่าเพียงแต่การโบกพระหัตถ์หวอยๆ
จากพระราชรถเทียมม้าที่แสนโอ่อ่านั่น
พวกเขาจึงกระหายที่จะได้เห็นความเป็นกันเอง รอยยิ้มกระจ่างด้วยไมตรีของท่านผู้หญิงหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกากันอย่างขนัดแน่น
ทั้งสมเด็จและจ๊าคเกอลีนมีอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่อย่างนึง นั่นคือการมีสามีที่แสนเนื้อหอมอยู่เคียงข้าง และ ชายสองคนที่ว่านี้ก็มีส่วนเหมือนกันด้วยคือ "ชอบดารา" และ "รู้รักษาตัวรอด" ไม่ยอมติดบ่วงสวาท
ใครง่ายๆ (ตอนนั้น..ท่านปธน. เคนเนดี้ กำลังมีข่าวกับสาวสวย ดาราดัง มาริลีน มอนโร)

สมเด็จไม่ได้ประทับใจในตัวปธน.สักเท่าใดนัก ขนาดพูดจามีสำเนียงของชาวไอริชติดอยู่ก็เถอะ..
เพราะอะไรน่ะเหรอ..ก็เพราะพระองค์ยังทรงจำได้ดีไงล่ะ..ว่า..
นายโจเซฟ อดีตทูตอเมริกาประจำอังกฤษ
ผู้บิดาของนายจอห์นนั้น เคยทำแสบไว้ขชนาดไหน (เล่ามาแล้วนะคะ ในเรื่องที่ว่า นายโจเซฟได้คัดค้านทุกวิถีทางที่จะไม่ให้อเมริกามาร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเชื่อมั่นว่า เยอรมันจะต้องชนะ)
ฉะนั้น..มาถึงรุ่นลูก..พระองค์จึงทำพระทัยให้ปลื้มด้วยยาก...

อ้อ..ขอเล่าแถมอีกนิดด้วยว่า ยามที่มีการชิงชัย ตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง เคนเนดี้กับนิกสัน นั้น พระองค์ทรงเชียร์นิกสันอีกต่างหาก
ดังที่..เจ้าชายฟิลิปได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาปี 1960 ในการเปิดงานนิทรรศการที่มหานครนิวยอร์ค ช่างภาพได้มาขอถ่ายรูปของพระองค์คู่กับนายกเทศมนตรี นาย เนลสัน ร๊อคกี้เฟลเล่อร์
เจ้าชายได้ตรัสว่า...ได้ซิ..แต่ต้องมีคุณนิกสันมายืนคู่กับเราด้วยนะ..

หากแต่เมื่อฝ่ายเคนเนดี้ได้รับชัยชนะ ทางฝั่งอังกฤษก็สามารถเก็บอาการได้เป็นอย่างดี และสามารถทำองค์ได้แบบตามน้ำ คือ ยิ้มแย้มต้อนรับไปด้วยอัธยาศัยไมตรี
หลายคนอาจแปลกใจว่าที่เล่ามานี้ สมเด็จพระราชินีไปทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องต่างประเทศได้อย่างไร..
นี่แหละ..ขอบอกตรงนี้ว่า เรื่องการเมืองต่างประเทศอะไรก็ตามที่จะมาเกี่ยวพันกับความมั่นคงกับเครือจักรภพของพระองค์ละก้อ ไม่ทรงเฉยนิ่งอย่างแน่นอน
แม้ว่า..ตามหลักแล้วสถาบันกษัตริย์ต้องไม่ลงมาพัวพัน..แต่..นั่นมันก็แค่ตัวอักษรเท่านั้น
ในเชิงปฏิบัติแล้ว..ตรงกันข้าม

อย่างในการเลือกตั้งที่อาร์เจนติน่า ปี 1962 ...
ผู้นำรัฐบาล นายอาร์ทูโร ฟรอนดิซิ กำลังว้าวุ่นด้วยเกรงว่า..ฝ่ายคณะประชาชนที่สนับสนุนนายฮวน เปรอง (สามีของเอวิตา เปรอง) ที่ลี้ภัยออกไปจากประเทศแล้วนั้นจะลุกฮือขึ้นมาโหวตต่อต้าน..
เขาได้ไปถึงอังกฤษ และเข้ากราบบังคมทูลปรับทุกข์กับสมเด็จถึงในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมด้วยลักษณะที่เป็นกังวล..เขาว่า
"กระหม่อมอยู่บนหลังเสือ..หาทางลงไม่ได้แล้วพระเจ้าค่ะ"
สมเด็จทรงเล็งเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของอังกฤษได้อย่างชัดเจน ถ้าหากว่า รัฐบาลของนายอาร์ทูโรเกิดถูกโค่นล้มไปจริงๆ และอาร์เจนติน่าเกิดมีผู้นำคนใหม่ขึ้นมา
การลงทุนของชาวอัวกฤษกลุ่มใหญ่ก้ต้องโดนผลกระทบไปด้วย
(อาร์เจนติน่าเป็นที่อยู่และทำมาหากินของชาวอังกฤษใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา)
ฉะนั้น..การเดินทางไปอาร์เจนติน่าของเจ้าชายฟิลิปจึงต้องรีบกระทำโดยด่วน..และเป็นครั้งแรกในรอบสามสิบปีที่มีเจ้านายจากอังกฤษได้เสด็จไปเยือนประเทศนี้

หลังจากที่ได้เสด็จไปถึงและมีการไปอภิปรายถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสองประเทศที่ บวยโนส ไอเรส เสร็จสรรพ
วันรุ่งขึ้น..เจ้าชายฟิลิปได้ถูกกระหน่ำขว้างด้วยใข่และมะเขือเทศเละๆ จากกลุ่มวัยรุ่นที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ตำรวจเข้าสกัดม๊อบ..จับกุมตัว
เจ้าชายฟิลิปทรงเข้าพระทัยดีถึงชั้นเชิงการทูต รีบตรัสออกไปว่า
"อย่า..ปล่อยพวกเขาไป..อ้อ..เตือนไว้หน่อยก็ดี ว่าอย่าริทำอีก..เพราะฉันเอาเสื้อผ้าติดตัวมาไม่กี่ชุด"

แต่ในที่สุด..ฝ่ายปฏิวัติก็ได้ทำการสำเร็จ รถถังวิ่งเข้ามาเต็มเมือง เจ้าชายฟิลิปถูกฝ่ายรักษาความปลอดภัยรีบพาพระองค์เสด็จออกจาก บวยโนส ไอเรส เป็นอย่างด่วน..ต้องไปประทับอยู่กับมหาเศรษฐีเจ้าของสนามโปโลที่มีคฤหาสน์อยู่ห่างไปจากจุดวิกฤติถึงเก้าสิบไมล์..
งานนี้ รัฐบาลอังกฤษของนายแมคมิลแลนเสียหน้ายับเยิน..
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:20

 จากการที่เจ้าชายฟิลิปทรงมีพระสหายชาวอาร์เจนติเนี่ยนจำนวนไม่น้อยนั้น ทำให้เกิดกระแสข่าวลือเรื่องหญิงๆ ขึ้นมาอีกอย่างไม่ขาดระยะ
อย่างการให้สัมภาษณ์ของสาวไฮโซชาวโมร็อคกัน
ที่ได้เล่าว่า หล่อนได้รู้จักกับ ฟีลิกซ์ โทโพลสกี้ ช่างภาพพระสหายสนิทของเจ้าชายฟิลิป ที่ตอนนั้นกำลังมีพระชนมายุได้สี่สิบชันษา (กำลังหล่อจัด..ประมาณนั้น)
สาวเจ้านี้ก็ได้เปรยกับนายฟีลิกซ์ว่า..แหม..อยากมีโอกาสได้พบกับเจ้าชายเสียจริง..

สองสามอาทิตย์ต่อมา..นายฟีลิกซ์ได้มาส่งข่าวว่า..นัดให้แล้วนะ ไปพบพระองค์ได้ที่แฟลต เวลา สี่ทุ่มครึ่ง วันนี้พระองค์ทรงว่างพอดี ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไปในที่สุด
เนื่องจากในตอนนั้น..กระแสเรื่องคาวๆ ในกลุ่มนักการเมืองกำลังดังอื้ออึงด้วยข่าวของนาย จอห์น โปรฟุโม รัฐมนตรีฝ่ายการสงคราม กระทรวงกลาโหม
(และเป็นอัศวินคนหนึ่งที่ได้รับการสถาปนาโดยสมเด็จพระราชินี..) ที่ได้ไปมีอะไร อะไร กับดารานางแบบสาวสวย นามว่า
คริสทีน คีลเลอร์ ..ซึ่ง หล่อนคนนี้ก็เป็นอีหนูลับๆ ของทูตทหารรัสเซียประจำประเทศอังกฤษอยู่ด้วย..
พอเรื่องแดงขึ้นมา...ท่านรมต. ก็ปฏิเสธเสียงหลง สาบถ สาบาน ว่าไม่เค๊ยย..ไม่เคยยย..

แต่ในที่สุด ก็หนีความจริงไปไม่พ้น..เรื่องแดงออกมา..เขาจึงต้องลาออกไปด้วยความอับอาย
(เรื่องนี้มีรายละเอียด และผู้เกี่ยวข้องอีกเยอะค่ะ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายก่อนการขึ้นศาลเชียว)

ชาวอังกฤษได้หมดความเลื่อมใสในกลุ่มพวกผู้ดี และนักการเมืองไปทีละน้อยๆ จนถึงกับมีการเขียนการ์ตูนล้อกันเป็นเรื่องสนุก
แม้กระทั่งสถาบันสูงสุดก็โดนกระทบกระแทกเข้าอย่างจัง..และนี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สมเด็จพระราชินีได้รับการโห่.. เมื่อพระองค์ได้ทรงเป็นเจ้าภาพรับรอง
พระเจ้า พอล และ พระราชินี เฟรเดอริก้า แห่ง กรีซ (ตามสายสกุลแล้วก็คือพระญาติแท้ๆ ) จากชาวกรีกฝ่ายสังคมนิยมที่อยู่ในลอนดอน ที่ถือว่าผ่ายเหนือหัวนั้นคือฝ่ายเผด็จการนิยม เพราะ จากประวัติแล้วพระราชินีเฟรเดอริก้าเคยประทับอยู่ในเยอรมัน อีกทั้งเคยร่วมเข้าฝึกเป็นยุวชนฮิตเล่อร์
และการที่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธทรงมาให้การรับรอง นั่นถือว่า ย่อมเป็นพวกฝักใฝ่เผด็จการเหมือนกัน..
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:22

 พระราชินีเฟรเดอริก้า จริงๆ แล้วก็เป็นเจ้าหญิงสายสกุล
Hannover นับไปนับมาก็เกี่ยวข้องกับราชวงศ์อังกฤษ
พระองค์ทรงเป็นพระมารดาของพระราชินี
โซเฟียของสเปนปัจจุบัน ราชวงศ์ในยุโรปมีความเกี่ยวดอง
กันหมด
Queen Friederike
(Friederike Luise Thyra, Princess of Hannover  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:29

 ไม่ว่าจะมีกระแสข่าวฉาวของนักการเมืองหรือข่าวซุบซิบในแวดวงสถาบันกษัตริย์มากน้อยแค่ไหน นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับสภาพเศรษฐกิจที่มีส่วนผลกระทบเนื่องมาจากผลพวงของสงครามโลก ที่อังกฤษได้มีส่วนร่วมด้วยถึงสองครั้งในระยะติดๆ กัน (ครั้งที่หนึ่ง 1914-1919 และครั้งที่สอง 1939-1945)
ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น บ้านเมืองยังอยู่ในสภาพปรักหักพัง
และ นี่คือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเริ่มมองเห็นว่าความสุขสบายนั้นได้ตกไปอยู่ในความครอบครองของคนเพียงกลุ่มเดียว และคนกลุ่มนั้นหาใช่ใครที่ไหนนอกจากพวกที่มียศถาบรรดาศักดิ์นั่นเอง
สมเด็จพระราชินีจะทรงทราบหรือไม่ก็ตาม หากแต่ยังทรงทำเฉยเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ถูกโห่ใส่พระพักต์ในครั้งนั้น..
และยังทรงทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกด้วยว่า

สภาพความปลอดภัยโดยรวมของพระองค์นั้น กำลังเป็นที่กังวลใจของคณะรัฐบาล (เนื่องจากประธานาธิบดีเคนเนดี้เพิ่งถูกลอบสังหารไปหมาดๆ)
หมายกำหนดการที่จะเสด็จเยือนประเทศแคนาดาในปี 1964 กำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันในสภา..ว่า..สมควรยกเลิกหรือปล่อยเลยตามเลย..
ทางโตรอนโต...ส่งโทรเลขเตือนมาว่า..
"อย่าให้มีการเสด็จ เพราะท่าทางไม่ค่อยดี"
ทางหนังสือไทม์ ลอนดอน เขียนข้อความเป็นนัยๆ ว่า..
"เป็นการเสี่ยงจนเกินไป"
หนังสือเดลี่ มิเรอร์ ได้ยกบทความของการที่จะเสด็จในครั้งนี้ว่า..อาจจะเป็นอย่าง "ดัลลัสวิปโยค" ก็เป็นได้ เพราะ ที่ควิเบค ชนกลุ่มน้อยฝรั่งเศสกำลังมีปัญหาขัดแย้งชาวอังกฤษ (ที่อยู่กันอย่างหนาแน่นที่ออตตาวา..)

แต่..คนที่ตัดสินใจในปัญหานี้ คือ สมเด็จ..ที่ได้มีพระบัญชามาว่า พระองค์และพระสวามีจะเสด็จ..อย่างไม่หวั่นเกรงอะไรทั้งสิ้น..ด้วยเหตุผลว่า แคนาดาคือแหล่งรวมกลุ่มของใต้ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ที่มากที่สุดในเครือจักรภพ และ การเยี่ยมเยือนของพระองค์ครั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างสมฐานะของนางกษัตริย์
ว่าแล้ว... พระองค์ก็จัดแจงเลือก นายเฟรเดอริค ฟ๊อกซ์ ช่างออกแบบฉลองพระองค์ นาย ฮาร์ดี้ อะมีส์ นักออกแบบพระมาลา ที่เริ่มลงมือปฏิบัติการ
นายฟ๊อกซ์ ได้วิ่งเข้าวิ่งออกภายในพระราชวังนับตั้งแต่เรื่องการคัดเลือกวัสดุ เนื้อผ้า มุกและเลื่อมลายปักประดับประดา จนถึงการออกแบบที่เหมาะสมกับวาระต่างๆ ..
หลังจากการตัดเย็บได้เริ่มลงมือไปจนเกือบเสร็จ.. สมเด็จได้รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักต์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงกดกริ่งเรียก....มหาดเล็กได้อัญเชิญกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เข้ามาให้
เมื่อพระองค์ได้เปิดมันขึ้นมา..สิ่งที่ทรงหยิบยื่นให้เขานั้น คือ เข็มกลัดไพลินสีม่วงขนาดใหญ่เท่ากับจานข้าว อีกทั้ง เพชรเม็ดยักษ์ๆ ขนาดเท่าถ้วยซุบอีกหลายเม็ด เพื่อที่จะให้เขานำไปประดับเพิ่มเติมบนฉลองพระองค์ ที่เขาได้ออกแบบไป..

นายฟ๊อกซ์ถึงกับต้องเอามือตบลงที่หน้าผากของตัวเอง เพราะ ..นี่มันช่างเชยสนิท..ไหนจะมุก จะเลื่อม จะโบ จะเข็มขัดที่บรรเลงลงไปเยอะแล้ว.. แล้วจะมายัดเยียดเพชรให้อีกเนี่ยนะ..ไร้รสนิยมสิ้นดี
(เขาคิดในใจ แต่ไม่ได้พูด)
สมเด็จพอทอดพระเนตรอาการออก..พระองค์ทรงตรัสว่า..
นี่คือ...สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นนักหนาเชียวนะ..
นายฟ๊อกซ์ได้ที จึงรีบบังคมทูลว่า..แล้วรสนิยมล่ะพะยะค่ะ พวกเขาไม่อยากจะเห็นกันมั่งหรือ?
สมเด็จทรงตอบอย่างเรียบๆ ว่า.."มีเพชรโปะให้หนาเข้าไว้..รสนิยมค่อยว่ากันทีหลัง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:32


การเสด็จเยือน ควิเบค แคนาดา ทั้งสมเด็จและพระสวามี อยู่ในความอารักขาที่หนาหนัก
การเสด็จทางรถยนตร์พระที่นั่งแบบกันกระสุน.. อีกทั้งแวดล้อมไปด้วยหน่วยสวาท สารวัตรทหาร ตำรวจ  ซึ่งคนที่ขัดอกขัดใจนั้นไม่ใช่คนอื่น เขาคือ เจ้าชายฟิลิป จอมโวยหน้าเก่านั่นเอง..พระองค์ทรงกระแนะกระแหนกับคณะรัฐบาลถึงเรื่องนี้อย่างไม่ขาดระยะ

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้อธิบายให้ทรงทราบว่า เพราะหลังจากที่เกิดการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ไปไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น สถานะการณ์ของความไม่สงบได้เริ่มส่อเค้าไปในทางหนักขึ้นทุกที่..
เจ้าชายจึงต้องทรงประชดไปว่า..
"ก็เพราะป้องกันกันอย่างหายใจหายคอไม่ออกอย่างเนี้ย.. คนมันเลยหมั่นใส้ ยิงให้ตายไปซะเลยน่ะซิ"

แต่..การถวายอารักขายังเป็นไปอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเสด็จทางเรือ นักประดาน้ำก็ต้องลงไปเช็คถึงใต้ท้องเรืออย่างถี่ถ้วนว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่..

การปราศัยของพระองค์ที่ทรงตรัสเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่ควิเบค หรือ ภาษาอังกฤษที่ออตตาวา ก็ตาม.. การถูกโห่ใส่ ก็ยังมีเป็นระยะ.. ซึ่ง พระองค์ทรงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้..ทำเป็นไม่ทรงได้ยิน..

หลังจากที่ได้เสด็จกลับไปยังอังกฤษแล้ว..ทางสถานีโทรทัศน์แคนาดาได้ทำการออกข่าวถึงการเสด็จเยือนโดยรวมทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม
คนอ่านและวิเคราะห์ข่าวได้ทิ้งท้ายให้ประชาชนได้ใช้สมองคิดตามไปว่า..
"คำถามคือ..การเสด็จในครั้งนี้ พระราชภารกิจที่ได้ไปทรงเปิดอาคารที่โน่นที่นี่ และ ได้ทรงกล่าวคำปราศรัยด้วยถ้อยคำหรูตรงนั้น ตรงนี้..แต่ในขณะเดียวกันกับกระแสต่อต้านก็ยังมี..จนพวกเราต้องมาถวายการอารักขาอย่างหนาแน่น
อีกทั้งไหนหมู่ประชาชนที่มีการโห่รับอย่างที่เห็นกันนี่..สับสนอลหม่านสิ้นดี...มันคุ้มไหมการการที่ทรงเสียเวลามาถึงที่นี่..ลองกลับไปคิดกันดู....ราตรีสวัสดิ์"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:37

 ในอดีต..เสียงปลุกระดมเรียกขวัญกำลังใจของท่านวินสตัน เชอร์ชิลล์ ช่างมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ผู้คนถึงกับลืมตาย ลุกขึ้นมาสู้กับการรุกรานของเยอรมันอย่างแข็งขัน จนทำให้ประเทศชาติได้รับชัยชนะไปในที่สุด
แต่..ในปีหลังๆ มานี่..เสียงปลุกระดมที่ทรงเคยทรงพลังได้แผ่วหายไป..หายไปจากความทรงจำของใครต่อใคร..
อีกทั้ง..ตัวเจ้าของเสียงเองก็กำลังเจ็บป่วยอยุ่ในอาการโคม่า ในเดือนมกราคม ปี 1965 และได้ถึงแก่อสัญกรรมในเก้าวันต่อมา คือ ยี่สิบสี่ มกราคม ..
นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับราชวงค์วินด์เซอร์เลยก็ว่าได้  เพราะ วินสตัน เชอร์ชิลล์ เปรียบได้ราวกับเสาหลักที่ค้ำบัลลังค์ให้อย่างมั่นคง..
(ภาพนี้คือเชอร์ชิลล์ กับพระเจ้าจอร์ช พระราชินี เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต)

สมเด็จพระราชินีได้จัดงานศพที่ยิ่งใหญ่ให้กับเขาราวกับเป็นพระราชวงค์คนหนึ่ง..ตามที่เขาเคยกราบบังคมทูลว่า..อยากให้มีทหารเยอะๆ และวงค์ดุริยางค์วงใหญ่
เขาได้ทุกอย่างตามนั้น..และมากกว่านั้น.. คือ..ศพของเขาได้ไปประดิษฐานที่พระวิหารเวสต์มินสเตอร์สามวันสามคืน เพื่อรอรับการสักการะจากประชาชนที่มายืนรอเข้าแถวแบบมืดเฟ้ามัวดิน
ทั้งสมเด็จและพระสวามีได้ทรงเสด็จเข้ามาให้ความเคารพศพพร้อมๆ กับฝูงชน
และ นี่คือครั้งแรกในการเถลิงราชย์..ที่พระองค์มิได้รับการเป็นจุดสนใจสูงสุด..เพราะในจิตใจของทุกๆ คนมีแต่ความเศร้าสร้อยต่อการจากไปของรัฐบุรุษคนสำคัญยิ่ง

หนังสือไทม์ได้ลงพาดหัวว่า..
"ต่อหน้าโลงศพของท่านวินสตัน..ฐานันดรแทบไม่มีความหมายใดๆ "

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า..เมื่อสิ้นเสียงของท่านเชอร์ชิลล์ ก็เหมือนสิ้นสั่ง..เสียงปลุกขวัญระดมกำลังใจได้เลือนหายไปพร้อมกับร่างที่สิ้นวิญญาณ..สถานะการณ์โลกกำลังตึงเครียดด้วย"สงครามเย็น"ที่มีรัสเซีย (คอมมิวนิสต์) หนุนหลังอย่างเปิดเผย..

และ..ด้วยเหตุนี้เอง เพียงสี่เดือนหลังจากการอสัญกรรมของท่านเชอร์ชิลล์ อังกฤษต้องรีบปรับตัว..หันมาเป็นญาติดีกับเยอรมัน ศัตรูเก่า..
หมายกำหนดการเสด็จเยือนเยอรมันเป็นครั้งแรกของสมเด็จได้ถูกจัดขึ้นอย่างทันที..ส่วนพระสวามีนั้น เคยเสด็จไปเยี่ยมเยือนพระญาติแบบไปรเวทหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งนั้น..ต้องก็บเป็นความลับอย่างสูงสุด
เนื่องจากจิตใจของประชาชนที่ยังเกลียดชังเยอรมันยังมีอยู่ไม่น้อย..
สมเด็จเองก็เคยอยากที่จะเสด็จเยือนพร้อมกับพระสวามี แต่ทุกครั้งที่ทรงขอ คณะรัฐบาลที่นำโดยพรรคจารีตนิยมไม่สนับสนุนในญัตติ..
แต่ในคราวนี้...รัฐบาลได้นำโดยพรรคกรรมกร..ทุกคนเห็นว่าเป็นเรื่องสมควรที่จะเสด็จเยอรมันสักครั้ง
และพระองค์จะเป็นประมุขในพระราชวงค์วินด์เซอร์พระองค์แรกที่จะเริ่มการสมานฉันท์ของสองประเทศ
(ครั้งสุดท้ายนั่น คือปี 1913 โดยพระเจ้ายอร์จที่ห้า..ที่ทรงเสด็จเยี่ยมพระญาติ)

หมายกำหนดการได้เริ่มขึ้น ในเดือน พฤษภาคม 1965
ทางเยอรมันเองก็แสนที่จะตื่นเต้นยินดีในการที่จะเสด็จในครั้งนี้..หนังสือพิมพ์ได้ออกข่าวไปให้ทราบทั่วกันว่า
"อย่าวิตกไปเลย..เรื่องนาซีน่ะ สูญพันธ์ไปหมดแล้ว.."
มีการออกข่าวบอกให้ประชาชนและทหารควรที่จะต้องโบกธงยูเนี่ยนแจ๊คถวายความเคารพ..
ยามที่ทรงตรวจแถวทหาร ห้ามเผลอหลุดคำว่า..ซิค ไฮล์(Sieg heil !) ออกมาล่ะ..
และ ควรหัดขานพระนามให้ถูกต้อง

การเสด็จเยือนครั้งนี้ ฝ่ายเยอรมันได้ถือเป็นโอกาสที่จะทำการตีพิมพ์ป่าวร้องให้ทุกคนทราบถึงสายเลือดและความสัมพันธใกล้ชิดแต่ครั้งบรรพบุรุษกันใหม่..
สายสาแหรกถูกแจกแจงโดยละเอียด..ว่า ใครเป็นพ่อใคร..ใครเป็นลูกหลานใคร...รวมทั้งใครที่ยังอยู่ ..ซึ่งต่างก็เตรียมนำเครื่องทรงมาปัดฝุ่น นำเหรียญตรามาขัดให้ดูวาววับ พร้อมต่อการรับเสด็จ

เจ้าหน้าที่ในมิวนิคได้กล่าวอย่างติดตลกว่า..
"ไหนๆ ราชวงค์บาเวเรียนของเราก็ไม่มีเหลือแล้ว..ขอยืมราชวงค์วินด์เซอร์มานับถือหน่อยจะเป็นไรไป.."
อีกคนหนึ่งก็กล่าวเสริมว่า..
"จะว่าไปแล้ว..ก็เหมือนกันแหละ เพราะญาติๆ กันทั้งน้านนน.."

ที่ชาวเยอรมันต่างปลาบปลื้มอย่างมากมายในการเสด็จเยือนของสมเด็จพระราชินีครั้งนี้ เพราะ มันมีความหมายมากกว่าการเยี่ยมเยือนอย่างธรรมดา
สำหรับพวกเขาแล้ว..เปรียบเสมือนว่า นี่คือการให้อภัยของอังกฤษต่อเรื่องร้ายๆ ที่เคยบาดหมางกันมาแต่เก่าก่อน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:40

 สมเด็จได้เสด็จไปดูรั้วลวดหนามที่ขดกั้นขึงอยู่กำแพงเบอร์ลินด้วยความเศร้าพระทัย..ทรงกล่าวคำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ ที่มีการแปลไปเป็นเยอรมันว่า
"เรื่องร้ายๆ ในยี่สิบกว่าปีที่แล้วมา..ขอให้ผ่านไป..เหลือไว้แต่ความเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่เราต้องช่วยกันปกป้องรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและช่วยกันนำมาซึ่งความสันติสุข"
เสียงประชาชนชาวเยอรมันต่างพากันเรียกพระนามกันอย่างกึกก้อง.. (แบบสไตล์นาซี..)
"Eee-liz-a-bet, Eee-liz-a-bet !!"
แต่สมเด็จทรงมีพระพักต์ที่สงบนิ่ง ไม่ยิ้มแย้ม ไม่ทรงแสดงอาการใดๆ ท่านรมต. ต่างประเทศของอังกฤษได้กล่าวแก้ว่า
"ทรงไม่คาดคิดกระมังว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นกันเองเช่นนี้..เลยปรับพระองค์ไม่ทัน"

ด้วยพระมานะขัตติยะ สมเด็จได้ทรงเสด็จเยี่ยมเมืองต่างๆ ในเยอรมันถึงสิบเมืองในเวลาสิบเอ็ดวัน.. นับว่า..การเสด็จครั้งนี้ได้ผลทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสูงสุด
จนหนังสือพิมพ์ต่างๆ ของอเมริกาต่างพากันยกนิ้วให้ว่า..เก่งกล้าสามารถเหลือเกิน..พระราชินีองค์นี้..

หากแต่..ในอังกฤษเองแล้ว...สถาบันเจ้านายกำลังสะท้านสะเทือนเต็มที..นับตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา (จากเรื่องปากท้องของประชาชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข)
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่เกรงพระทัย..นักหนังสือพิมพ์เองก็เริ่มมีปากมีเสียง โต้แย้ง ในเรื่องพระราชกรณียกิจ
สภามหาวิทยาลัยได้มีการถกแถลงในเรื่องสถาบันสูงสุด ฝ่ายหนึ่งถึงกับกล่าวว่า
"ควรล้มเลิกระบบกษัตริย์ไปได้แล้ว..พระราชวังก็ควรนำมาทำให้เป็นที่อยู่ของคนยากไร้ พวกคุณหมาๆ คอร์กินั่นก็ควรที่จะนำมาฝึกงานให้เป็นประโยชน์ซะมั่ง"

ฝ่ายที่ยืนค้ำบัลลังค์อย่างเต็มที่ คือ หนังสือพิมพ์สองฉบับ เดลี่ เทเลกราฟ กับ ไทม์ ที่ได้รับการอนุญาตให้ตีพิมพ์ปฏิทินพระราชกรณียกิจและ ข่าวในพระราชสำนัก ที่จะมีคนเดินสาสน์นำมาส่งรายวัน

แต่มาวันหนึ่ง..ในปี 1966 ข่าวจากคนเดินสาส์นได้ขาดหายไป.. ทางบรรณาธิการ เดลี่ เทเลกราฟ ได้ถูกเรียกไปให้รับรู้ถึงสาเหตุและได้รับการตำหนิว่า..
"ที่ไม่ส่งข่าวให้ เพราะว่า คุณไม่ได้ให้เกียรติต่อเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตตามพระเกียรติที่พระองค์จะต้องได้รับ"
"แล้วกระผมไม่ได้ให้พระเกียรติที่ตรงไหนกันล่ะขอรับ?"
"ยังจะมาทำไขสือ..คุณไม่รู้หรือไรว่า เจ้าฟ้าหญิงทรงเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์แท้ๆ คุณต้องใส่ "the"นำหน้าพระนามทุกครั้ง.."
ท่านบก. ก็ต้องรีบรับคำมาจดจำใส่เกล้าเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่เขียนให้ผิดพระราชประสงค์อีก...แต่ก็เริ่มเหนื่อยใจเป็นกำลังกับความมากเรื่องของเจ้านาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:43



  ในช่วงขาลงของพระราชวงค์ในตอนนั้น..หนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทม์ ได้เป็นสปอนเซอร์ให้กับกลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงของมหาวิทยาลัยเคมเบริดจ์ได้เขียนถึงบุคคลสำคัญทั้งชายและหญิงของอังกฤษ



เริ่มจากองค์ประมุข..ที่พวกเขาได้เขียนถึงอย่างไม่เกรงพระทัยว่า

"พระองค์เปรียบเสมือนสินค้าที่เป็นผลิตผลของนักออกแบบที่มีชื่อเสียง..มีการโฆษณาดี หีบห่อสวยงาม คุณภาพพอเชื่อถือได้..แต่ราคาแพง.."

เล่นเอาเหล่าเสนาบดีแทบเป็นลมต่อการวิจารณ์ในครั้งนี้ และพวกเขาได้เริ่มรู้ตัวว่า ช่องว่างระหว่างชนชั้นเริ่มฉีกออกห่างกันไปทุกที..

ทางที่จะประสานได้นั้นคือ การที่ต้องรีบจัดการต่อเติมช่องว่างให้เต็ม โดยการเสนอให้เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ให้กับกลุ่มนักดนตรีขวัญใจวัยรุ่นทั้งโลก เดอะ บีทเติ้ลส์..

เล่นเอา นายจอห์น เลนนอน ถึงกับตกอกตกใจยามที่ได้ทราบถึงข่าวดี เขาอุทานว่า

"ให้ตายห่..ซิ เรานึกว่าคนที่จะได้รับเครื่องราชย์นี่ ต้องเก่งเรื่องยิงปืน กับขับรถถังเท่านั้นซะอีก"



แต่พวกที่เก่งยิงปืน และ ขับรถถังที่ได้รับเครื่องราชย์ตัวจริงๆ แล้ว..กลับไม่ชอบใจและคัดค้านในเรื่องการที่พวกฮิปปี้บ้ากัญชาพวกนี้จะได้เครื่องราชย์เทียบเท่า

พวกเขาเหล่านั้น ต่างพากันพร้อมใจต่อต้าน โดยการขอถวายคืนเหรียญตราที่ได้รับมา..

และนี่คือครั้งแรกของการต่อต้านมีการถวายคืนเครื่องราชย์ที่เป็นข่าวเอิกเกริก จนนาย จอห์น เลนนอน ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นแบบโผงผางว่า

"ทำไมล่ะ..พวกท่านได้รับเหรียญตราจากการประหัตประหาร ฆ่าคนตายเป็นผักเป็นปลา แต่พวกเราได้เพราะการที่ได้สร้างความสุขให้กับคนฟัง..ซึ่งน่าจะได้รับขั้นสูงสุดซะด้วยซ้ำไป"

เครื่องราชย์ที่ว่ามานี้ คือ the Order of the British Empire อันจัดได้ว่า เป็นเครื่องราชย์ชั้นเด่ะ เด่ะ..



ซึ่งนาย พอล แมคคาร์ทนี่ ได้ให้สัมภาษณ์ในสามสิบปีต่อมา ว่า เป็นเครื่องราชย์ที่ใครต่อใครก็ได้รับแจก แม้แต่คนส่งนมในพระราชวัง ไม่ได้ให้ฐานันดรทางสังคมมากมายอะไร ไม่เหมือนกับตำแหน่งเซอร์ ที่ใครต่อใครพากันฝันถึง..

(และความฝันนั้นก็ได้เป็นความจริง พอล ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์สูงสุด เป็นอัศวิน ที่ต้องใครต่อใครต้องเรียกว่า ท่านเซอร์ นำหน้าชื่อ ในปี 1997 ที่เขาได้กล่าว

ในวันนั้นว่า..It's been a hard day's knighthood)



ในสี่ปีต่อมา..พวกเขาได้พร้อมใจกัน..ขอถวายคืนเครื่องราชย์ที่ได้รับมา เนื่องจากอังกฤษได้เข้าไปร่วมในสงครามเวียดนาม และ สงครามกลางเมืองของไนจีเรีย

นายจอห์น ได้บอกตรงๆ จากหัวใจว่า..

ผมรู้สึกเหมือนกับถูกหักหลังอย่างไงไม่รุ..



จะขอเล่าถึงเรื่องวันที่ชาวบีตเทิลส์บ้านนอกจากลิเวอร์พูลสี่คนนี้จะเข้าไปรับเครื่องราชย์ในปี 1965 หน่อยนะคะ โกลาหลพอสมควร เพราะบรรดาแฟนๆ มากรี๊ดรอรับ

กันเต็มหน้าพระราชวัง..ฝ่ายอารักขารีบพาตัวเข้าไปข้างใน นักหนังสือพิมพ์มาเขียนรายงานว่า ทั้งสี่รีบผลุดเข้าไปในห้องน้ำก่อนอื่นใด ไปพี้กัญชาเพื่อให้ผ่อนคลาย

หายเกร็งจากความตื่นเต้น..

พอลได้เล่าว่า.."ไปเล่นที่ Cow Palace ในซาน ฟราน

ซิสโก ยังไม่สั่นเท่านี้เลย.."

ผู้สื่อข่าวถามว่า "สมเด็จทรงเป็นอย่างไรบ้าง"

เขาตอบว่า.."ทรงพระทัยดี อบอุ่น แต่ตรัสน้อยมาก"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 04 มี.ค. 06, 11:50

 แล้วใครเล่าจะเชื่อได้บ้างว่า..ในปีต่อมา..สมเด็จทรงล้ำกฏเหล็กแห่งวินด์เซอร์ไปหลายขุม เช่น ทรงประทานตำแหน่งอัศวินให้กับผู้คนสารพัดชนิด อย่าง ชาวโรมันคาธอลิค ชาวผิวดำ  หรือแม้กระทั่ง รับไบ..
แม้แต่พระญาติที่ไม่ค่อยจะทรงโปรดอย่างท่านเอิร์ล แห่ง แฮร์วูด (พระโอรสของเจ้าฟ้าหญิงแมรี่ ที่เป็นพระขนิษฐาของพระเจ้ายอร์จที่หก เท่ากับว่า ท่านเอิร์ล คือ ลูกของอา) ที่ผ่านการหย่าร้างหมาดๆ มาขอพระบรมราชานุญาตทำการสมรสใหม่กับอีหนูของท่านที่เผอิญเกิดการ"เบนโล" ขึ้นมา.. พระองค์ก็ต้องจำพระทัยทรงยอมตามนั้น
มิฉะนั้น เด็กก็จะเกิดมาอย่างไม่มีพ่อ..และที่ท่านเอิร์ลต้องมาทูลขออนุญาตก็เพราะว่า ตามกฏมณเฑียรบาลได้ว่าไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิในการลำดับสืบสันตติวงค์ต้องมีการสมรสเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ จึงจะไม่หลุดจากโผ.. ตัวท่านเอิร์ลเองก็อยู่ในลำดับที่สิบเจ็ด
ในเมื่อสมเด็จต้องยอมตามแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงทำทุกอย่างที่จะให้ท่านเอิร์ลได้รับบทเรียนที่แสบสันที่สุด นั่นคือ..
การตัดญาติแบบกลายๆ ไม่เป็นที่ต้อนรับ..เช่น ไม่ได้รับเชิญไปในงานอภิเษกของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ (พระนัดดา) ไม่ได้รับการเชิญให้ไปร่วมในงานพระศพของท่านดยุค แห่ง วินด์เซอร์ (พระมาตุลา)
และ ท่านเอิร์ลยังได้ถูกบีบบังคับจนต้องลาออกไปจากตำแหน่งอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัย ยอร์ค และ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลปของเทศกาลเอดินเบอร์ค ก่อนเวลาอันสมควรอีกด้วย..

ดังนั้น..สมเด็จมักทรงได้รับการกล่าวขวัญถึงในด้านความร้ายๆ อย่างเสมอมา..จากพวกเดียวกัน
ในปี 1964 นั่นคือปีที่พระองค์ได้มีพระประสูติกาลอีกครั้ง.. (เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด)
(โปรดดูพระรูปข้างบน คือสมเด็จฯกับเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์และเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด)
ที่เจ้าชายฟิลิป พระสวามีพยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเรียบง่าย ในลักษณะของครอบครัวธรรมดาที่กอร์ปไปด้วย พ่อแม่และลูกอีกสี่คน
พระองค์ได้ทรงให้ประทานสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า..
"เรื่องความพิธีการหรูๆ อะไรที่เคยๆ ทำมานั่น ก็เห็นท่าจะหมดไปได้แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยสนใจ บางคนก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ อีกทั้งตอนนี้ทั้งพระราชินี เรา และลูกๆ ก็อยู่กันอย่างเรียบง่าย"

แต่ในความเป็นจริงแล้ว..เจ้าชายฟิลิปได้ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล โดยการเริ่มต้นโปรโมทสถาบันแบบมืออาชีพ นั่นคือ พระองค์ได้ติดต่อว่าจ้างบริษัทมีเดียนามกระเดื่อง Rogers & Cowan แห่ง นครลอแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มาช่วยในการยกระดับของพระราชวงค์ให้เป็นที่ถูกใจของชนทุกชั้น..และทุกประเทศ
( Rogers & Cowan คือบริษัทที่เป็นตัวแทนในการโปรโมทดาราแห่งฟากฟ้าฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงมาก เช่น แฟร้งค์ ซิเนตรา, ริต้า เฮย์เวิร์ธ)

ในการพบปะหรือการที่เจ้าชายฟิลิปได้รู้จักมักจี่กับบริษัทตัวแทนดารานี้ เพราะ เนื่องจากการที่พระองค์ได้เตรียมเสด็จอเมริกาในการเปิดงานการกุศลต่างในปี 1966
พระองค์ได้เห็นว่า การทำงานต่างๆ ของระบบในอเมริกามักประสบความสำเร็จเนื่องจากการรู้จักใช้คนทำงานที่มีประสบการณ์ที่ช่ำชอง
ดังนั้น การว่าจ้างบริษัท Rogers & Cowan จึงเริ่มปรึกษาหารือกันอย่างเป็นภายในทันที  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 05 มี.ค. 06, 19:02

 นายเฮนรี่ โรเจอร์ส หนึ่งในเจ้าของบริษัทตื่นเต้นจนเหลือจะกล่าว ที่จู่ๆ มีเจ้านายมาว่าจ้าง เขาเล่าว่า..
"ผมถือว่าเป็นคนที่โชคดีที่สุด ที่ได้รับความไว้วางพระทัยให้ทำงานนี้ และขอบอกตรงๆ ว่า ผมละตื่นเต้นจนสั่นไปหมด ทั้งๆ ที่เป็นลูกค้าของเราต่างก็เป็นดาราดังคับฟ้าทั้งนั้น แต่ก็ยังไม่เคยมีลูกค้าที่เป็นเจ้าเลย..นี่คือครั้งแรกจริงๆ "

และแน่นอนว่าก่อนที่จะมีการเจรจาในขั้นตอนอื่นๆ  นายโรเจอร์สได้บินไปเข้าเฝ้าถึงที่พระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เพื่อที่จะเสนอไอเดียกับนายจ้าง..

ในการสนทนา นานโรเจอร์สได้ถวายคำแนะนำว่า เจ้าชายฟิลิปควรที่จะทำการประชุมผู้สื่อข่าว (ทุกครั้ง) ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเสด็จย่างพระบาทไปไหน
เจ้าชายทรงรีบตัดบทด้วยว่า..
"ให้ตายเถอะ คุณเฮนรี่ พวกเราไม่เคยมีการประชุมผู้สื่อข่าวมาก่อนเลย..ไม่เค๊ย ไม่เคย..แต่ถ้าคุณว่าเราสมควรที่จะต้องทำ ก็จะลองดู แม้ว่ามันจะขัดๆ อยู่กับกฏระเบียบวังอยู่สักหน่อยนะ เอาเป็นว่า..มันต้องมีข้อแม้อยู่สองสามข้อ คุณต้องไปบอกกับพวกนักข่าวให้เข้าใจก่อน"

ข้อแม้สองสามข้อที่พระองค์ว่านั่นคือ.. พวกนักข่าว (อเมริกัน) ต้องเข้าใจก่อนว่า..
หนึ่ง..พระองค์ คือพระสวามีของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ มิใช่นักการเมือง หรือตัวแทนของรัฐบาลที่จะมาตอบปัญหาเรื่องการบริหารบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ หรือการไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคจารีตนิยม และพรรคกรรมกร
สอง..พระองค์ไม่มีหน้าที่ต้องมาตอบในปัญหาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินี
พระองค์ทรงย้ำว่า..
"แค่เนี้ยยย..เข้าใจไหม....ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสองข้อข้างบน..ถามมาได้เลย รับรองว่าตอบหมด"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 05 มี.ค. 06, 19:04

 นายโรเจอร์สรีบรับปากกับพระองค์ทันทีว่า เรื่องแค่นี้..หมูๆ เพราะนักข่าวส่วนใหญ่มักจะถามเรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระอยู่แล้ว..เขาว่า..
เมื่อถึงเวลานั้นเข้าจริงๆ นายโรเจอร์สจึงได้เห็นพระปรีชาของเจ้าชายพระสวามีว่า..ปราดเปรียว และ ปราดเปรื่องนัก
นักข่าวจากไมอามี่..ถามว่า.."วงดุริยางค์ของลอนดอนเป็นอย่างไรบ้างพระเจ้าค่ะ"
"ก็เล่นเพลงเพราะดีนี่"
"พระองค์ทรงคิดที่จะส่งพระโอรสและพระธิดาให้มาศึกษาในอเมริกาบ้างไหมพระเจ้าค่ะ?"
"ถ้าจะให้ตอบตอนนี้เลย..ก็เห็นท่าจะไม่นะ แต่พอคุณพูดเสนอความคิดขึ้นมา..เราก็จะกลับไปลองคิดดูใหม่"
"พระองค์ทรงมีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับความสำเร็จอย่างมากมายของวง เดอะ บีตเทิลส์ และรายได้ที่พวกเขาได้สร้างกันอย่างมหาศาลให้กับประเทศอังกฤษพระเจ้าค่ะ?"
"ก็งั้นๆ นะ..ไม่ได้มากมายอะไรอย่างที่คิดกัน"
(เจ้าชายฟิลิปไม่เคยทรงโปรด และให้ความสนใจกับบรรดาเพลงร๊อคทั้งหลาย อย่างครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงมีโอกาสได้ไปทอดพระเนตรการแสดงของ ทอม โจนส์ เมื่อตอนที่ส่งเสด็จ พระองค์ได้ตรัสถามทอม โจนส์ ว่า..
"ถามจริงเถอะ..คุณใช้อะไรกลั้วคอตอนเช้าๆ น่ะ..เมล็ดกรวดหรือไง สุ้มเสียงถึงได้แหบอย่างนั้น?

พอวันต่อมา..ที่พระองค์ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าในการประชุมนักธุรกิจว่า..แทบทำพระทัยเชื่อได้ยากว่า นายทอมคนนี้ ที่มีอายุเพียง ยี่สิบห้าปี มีค่าตัวถึงสามล้านเหรียญ โดยการร้องเพลงที่สุดห่วยจนทนฟังแทบไม่ได้

"ทำไมวันเฉลิมพระชนม์ของสมเด็จจึง...............ฮืม??"
"อย่าให้ตอบเรื่องนี้ได้ไหม..ว่าทำไมจึงมาฉลองวันเฉลิมฯ ในเดือนมิถุนายน (พิธี Trooping the Colour) ทั้งๆ ที่ทรงประสูติในเดือนเมษายน มันเป็นปัญหาโลกแตกน่ะ อย่างทำไมเราจึงเรียกเงินว่า ปอนด์ หรือ ชิลลิ่ง หรือกฏประหลาดๆ ของอังกฤษที่มักไม่มีคำตอบที่แน่นอนน่ะ"

ไม่ว่าการพบปะกับนักข่าวในครั้งไหนหรือที่ไหน เจ้าชาย
ฟิลิปได้ทรงสร้างความพอใจให้กับนักข่าวอย่างเอกอุ ด้วยการแทรกพระอารมณ์ขันลงไปบ้างประปราย..
และผลสำเร็จคือ พระองค์ได้ทรงสามารถระดมกองทุนบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ได้นับล้านๆ เหรียญ
เมื่อเสด็จกลับไปยังลอนดอน พระองค์ได้นำเสนอเรื่องให้พิจารณาการว่าจ้างบริษัทมีเดียให้กับสถาบันพระราชวงค์วินด์เซอร์ หรือ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในคำว่า..The Firm ทันที
(คำว่า..The Firm นั้น เปรียบได้ดังที่ว่าคือ สถาบันพระราชวงค์ ที่ประกอบไปด้วย สมเด็จ และครอบครัว..จากนั้นคือ เหล่าเสนาบดีที่มีการถวายงานอยุ่ในทุกสาขา ที่เปรียบได้ราวกับองค์กรใหญ่ๆ องค์กรหนึ่งทีเดียว)

(***จะตอบให้ว่า ทำไมวันเฉลิมจึงเลื่อนมาฉลองในเดือนมิถุนายน ก็เพราะว่าในเดือนเมษายนนั้น ดินฟ้าอากาศของอังกฤษยังไม่เป็นใจในการที่จะทำการพาเหรด หรือจัดงานสำคัญที่จะเรียกนักท่องเที่ยวให้แห่แหนกันมาน่ะซิคะ
วันเฉลิม หรือ Trooping the Colour นั้น เป็นงานใหญ่ระดับชาติ ที่สมเด็จทรงประทับในรถม้าพระที่นั่ง และเรียงตามมาด้วยสมาชิกในพระราชวงค์ทั้งหมด กองดุริยางค์โอ่อ่าตระการตา..
เม็ดเงินสะพัดนับร้อยๆ ล้านปอนด์ ขืนไปจัดในวันเฉลิมจริงๆ ในเดือนเมษายน คนดูอาจต้องวิ่งหลบฝนกันจ้าละหวั่น..วิวันดา)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 05 มี.ค. 06, 19:08

 สมเด็จพระราชินีแทบไม่เชื่อพระกรรณในเรื่องของการที่จะว่าจ้างบริษัทให้มาช่วยโปรโมทพระองค์ หรือ ให้กับ เดอะ เฟิร์ม ทรงแย้งว่า
"พ่อฉันไม่เคยต้องใช้ให้ใครมาช่วยโฆษณาให้เลยนะ"
"ก็พระองค์ไม่ทรงจำเป็นต้องใช้ไงล่ะ ก็มีทั้งท่านนายกวินสตัน เชอร์ชิลล์ อีกทั้งสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแบ๊คกราวนด์อยู่ แค่นี้ก็ดังจนไม่รู้ดังยังไงแล้ว"

เจ้าชายพระสวามีก็ไม่ทรงยอมอ่อนข้อ เถียงพระศอเป็นเอ็นเช่นกัน
อีกทั้งพระองค์พยายามชี้แนะให้สมเด็จได้ทรงเล็งเห็นว่า..การที่เดอะ เฟิร์มจะอยู่ได้ต่อนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานอย่างขนานใหญ่
หรือ อยากจะเป็นอย่างพวกบรอนโทเซารัส (ไดโนเสาร์พันธ์หนึ่ง) ที่ไม่มีการปรับตัว จนในที่สุดก็ต้องถูกนำกระดูกไปแขวนให้คนดูในพิพิธภัณฑ์ อยากจะเห็นชาววินด์เซอร์เป็นอย่างนั้นหรือ?
และไม่ว่าจะทรงยกตัวอย่างอะไรออกมาก็ตาม..สมเด็จทรงปฏิเสธหมด เพราะไม่ทรงเห็นด้วยด้วยประการทั้งปวง

จนในเช้าวันหนึ่ง ที่พระสวามีทรงถือหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ เทเลกราฟ เข้ามาให้ทอดพระเนตรถึงในห้องบรรทม..หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ยี่ห้อนี้ คือ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพระราชวงค์อย่างแน่นแฟ้นมาแต่ไหนแต่ไร..
แต่คราวนี้..กลับเขียนบทความ..หัวข้อว่า
" ท่าทีของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์"
เนื้อความมีว่า
"คนรุ่นใหม่ๆ ในยุคนี้ ไม่ค่อยสนใจหรือเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์มากนัก พวกเขามองเห็นสมเด็จพระราชินีมีค่าเป็นเพียงอนุสาวรีย์ประจำชาติชิ้นหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเมื่อมีการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐ พวกเขาก็มีท่าทีสนใจ และไม่ขัดแย้ง..จนสามารถคาดเดากันได้ว่า พระราชวงค์อังกฤษอาจจะไม่ล่มสลายไปเพราะกระแสความจงชังจากประชาชนอย่างแน่นอน
แต่ถ้าจะละลายหายไปเพราะประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายในความล้าหลัง คร่ำครึจะก้อ..อาจเป็นไปได้ทีเดียว"

สมเด็จทรงอ่านข้อความทวนไปทวนมา อีกทั้งขยับฉลองพระเนตรขึ้นลง ราวกับแทบไม่เชื่อในตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าพระพักต์ว่า นี่คือ ความจริง..ที่มีคนกล้าเขียน..

ดังนั้น เพียงสองสามอาทิตย์ต่อมา..ราชเลขานุการในพระองค์
นาย วิลเลี่ยม เฮเซลไทน์ ได้รับสนองพระบัญชามาถึงเรื่องการที่พระองค์จะต้องทรงปรับเปลี่ยนภาพพจน์ต่อผู้สื่อข่าวใหม่
จากเมื่อก่อน ที่พระราชินีต้องไม่มีข่าวให้ระคายเคืองในหน้าคอลัมน์ซุบซิบ บัดนี้..สามารถกระทำได้ (ในขอบเขตของความจริง)
และ การใช้ประโยชน์ของสื่อโทรทัศน์เพื่อการแพร่ภาพพระราชอิริยาบท และพระราชกรณียกิจต่างๆ ต่อสายตาของประชาชน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 05 มี.ค. 06, 19:09

 งานแรกของนายเฮเซลไทน์ที่ได้รับมอบหมายนั้น คืองานสมโภชเจ้าฟ้าชายชารลส์ให้เป็น ปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ ตามตำแหน่งพระยศของพระโอรสองค์ใหญ่อันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านาน
สมเด็จได้ทรงเคยสัญญาว่า จะจัดงานนี้ให้ประชาชนเป็นสักขีพยานในปราสาท แคนาฟอน เมื่อเจ้าฟ้าชายจะมีพระชนมายุยี่สิบเอ็ดชันษา และพระองค์ได้ทรงอนุญาตให้มีการถ่ายทอดโทรทัศน์อย่างใกล้ชิด

ทางบีบีซี พอเห็นได้คืบก็จะเอาศอก ทูลขอทำพระประวัติของเจ้าฟ้าชายเสียในคราวเดียวกันแบบมินิซีรีย์ สมเด็จและพระสวามีรีบปฏิเสธอย่างทันที
เนื่องจากทั้งสองพระองค์ไม่ทรงแน่ใจว่า
เจ้าฟ้าชายทรงพร้อมที่จะออกเผชิญกับสื่อมากน้อยแค่ไหน..
บีบีซี..ก็ไม่ยอมแพ้..ทูลขอว่า..
"ถ้างั้นก็ขอทำการถ่ายทอดพระจริยาวัตรของสมเด็จและพระสวามีแทนก็แล้วกัน ประชาชนสนใจอยากจะทราบชีวิตในรั้วในวังเหลือเกิน ใครต่อใครพากันว่า พระองค์ทรงเหมือนกับไม่มีชีวิตจิตใจ ดูอย่างท่านลอร์ดเมาท์แบตเทนยังยอมให้โทรทัศน์ได้ทำชีวประวัติของพระองค์ยาวถึงแปดตอน ใครต่อใครพากันชอบใจ
ทรงเรียกคะแนนนิยมมาได้มากเชียวพระเจ้าค่า"
สมเด็จยังทรงทำพระทัยไม่ได้ ตอบไปอย่างเด็ดขาดว่า
"ฉันไม่ใช่ แจ๊คกี้ เคนเนดี้ และที่วังนี่ก็ไม่ใช่ทำเนียบขาวนะ.."
(พระองค์ทรง"เสวยดัน"เล็กๆ เพราะ ท่านผู้หญิงแจ๊คกี้เคยพานักข่าวเยี่ยมชมที่พำนักในทำเนียบ และ ออกทีวีด้วย เพราะอย่างที่เล่ามาแล้วว่า ไม่ทรงโปรดการแสดงออกทุกชนิด)
แต่..ไหนเลยบีบีซีจะยอมแพ้ง่ายๆ ...คงจะอ่านเกมส์ออกกันแล้วว่า..การที่ทรงโอนอ่อนมาถึงขนาดนี้แล้วทุกอย่างต่อไปก็ไม่น่ายากเกินความพยายาม..

ความพยายามที่ว่านี่ ใช้เวลาถึงสามเดือนในขั้นตอนของการโน้มน้าวพระทัย เจ้าชายฟิลิปทรงมีปัญหาได้ในทุกเรื่องเช่นเคย..พระองค์คอยขัดคอฝ่ายบีบีซีว่า
"พวกนักข่าวเนี่ย..ตัวดีนัก ชอบคอยหาโอกาสเจาะภาพเหมาะๆ ออกไปขาย เช่นตอนที่พวกเรากำลังแคะจมูกหรืออะไรอย่างเงี้ยะ"
"พวกกระหม่อมไม่ใช่นักข่าว..พระเจ้าค่ะ" ประธานบีบีซีรีบตอบโต้
กว่าจะลงตัวได้ก็ต้องตามพระทัยในข้อเสนอของสมเด็จที่ว่า
หนึ่ง....พระองค์มีสิทธิเต็มที่ในการแก้ใข หรือ ตัดทิ้งตอนที่ไม่เหมาะสม
สอง....พระองค์จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิในลิขสิทธิ์ในฟิล์ม
(ที่จะมีชื่อว่า Royal Family) นั้นแต่พระองค์เดียว
สาม....ถ้ามีการจัดจำหน่ายนอกประเทศ ต้องถวายรายได้ครึ่งหนึ่งให้กับพระองค์

ทุกอย่างตกลงตามเงื่อนไข..พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ช่างภาพมาบันทึกภาพในห้องประชุมงานกับคณะรัฐมนตรีในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมได้ ทั้งๆ ที่ การประชุมราชการนี้ค่อนข้างเป็นความลับแม้แต่เจ้าชายพระสวามีก็ไม่เคยทรงอนุญาตให้มีส่วนรู้เห็น
จากนั้นก็ทรงอนุญาตให้คณะถ่ายทำได้ติดตามไปยังพระราชวัง
บัลมอรัล ทำการบันทึกภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวแบบสบายๆ สไตล์ชนบท
และทรงให้คำแนะนำอีกด้วยว่า ถ้าจะนำไปจัดจำหน่ายในอเมริกาก็ควรที่จะแทรกข่าวการเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีนิกสัน
รวมทั้งตอนที่ นาย วอลเตอร์ แอนเนนเบอร์คเข้าพิธีรับตำแหน่งทูตสหรัฐอเมริกาประจำสำนักเซนต์ เจมส์ ไปด้วย
พระองค์ทรงตรัสว่า.."นี่ละ พิเศษสุดทีเดียว"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 05 มี.ค. 06, 19:16

 ทีนี้มาถึงพระจริยาวัตรในแต่ละวัน ที่เจ้าหน้าที่ของบีบีซีได้เสนอว่า อยากได้ภาพของพระองค์ที่กำลังทรงพระสำราญกับคุณหมาตัวโปรด
พระองค์ทรงเรียกมาทั้งหมด สิบสี่ตัว..
เล่นเอาเจ้าชายพระสวามีถึงกับโวยลั่น..ว่า
"นี่..คุณนายยยยยย.... เขาต้องการไอ้หมาเวรนั่นเพียงตัวเดียว ไม่ใช่ทั้งหมดสิบสี่ตัว..ยั้วเยี้ยไปหมด"

สรุปว่า..ในช่วงนั้นของฟิล์มได้ปรากฏภาพของคุณหมาๆ ทั้งหมดตามพระราชประสงค์ แต่ที่ขาดหายไปคือ เจ้าชายพระสวามี..

คณะถ่ายทำได้ปักหลักอยู่ในที่พำนักในพระราชวังเพื่อติดตามบันทึกภาพถึงเจ็ดสิบห้าวัน และพวกเขาได้รับพระบรมราชานุญาตให้ติดตามต่อไปในการเสด็จเยือนชิลีด้วย
ค่าถ่ายทำทั้งหมดตกแล้ว ประมาณ สามแสนห้าหมื่นปอนด์ ความยาว หนึ่งร้อยห้านาที ในชื่อว่า Royal Family (หรือที่พวกล้อเลียนนำมาตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Corgis and Beth) ออกฉายปรากฏสู่สายตาของไพร่ฟ้าชาวอังกฤษ ในเดือน มิถุนายน ปี 1969 และมีการเรียกร้องให้กลับมาฉายอีกครั้งในเดือน ธันวาคม

สมเด็จเองก็ทรงเอียนกับข่าวของพระองค์เต็มที ทรงยกเลิกการให้พระบรมราโชวาทในวันสิ้นปีเพราะเหตุว่า..เดี๋ยวจะเลี่ยนจนเกินไป..
แต่ประชาชนต่างก็พากันส่งจดหมายกราบบังคมทูลขอให้กลับมาให้พระบรมราโชวาทดังเดิม..

ภาพบนแผ่นฟิล์มนั้นได้ประทับใจประชาชนชาวอังกฤษอย่างมิรู้ลืม ที่พวกเขาได้มีโอกาสเห็นสมเด็จและเจ้าฟ้าชายชารลส์ทรงช่วยกันจัดสลัด พระสวามีและเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ทรงช่วยกันย่างใส้กรอกและเนื้อสเต๊ค
สมเด็จทรงใช้พระดรรชนีจิ้มลงไปในน้ำสลัดและทดลองชิม ทรงทำพระพักต์แปลกก่อนที่จะตรัสว่า..ใส่น้ำมันเยอะไป
จากนั้น พระองค์ก็ทรงหยิบน้ำส้มรินเติมลงไป..และตรัสว่า..เอาละใช้ได้แล้ว
เจ้าชายฟิลิปได้ทรงตรัสออกมาดังๆ ว่า..
"โชคดีของคนดู...ที่ไม่ต้องมาชิม"

อีกฉากหนึ่ง..คือภาพที่พระองค์ได้โชว์เครื่องเพชร ทรงชี้ไปที่กล่องที่โชว์สร้อยพระศอทับทิม และทรงตรัสว่า เป็นเส้นโปรดที่ทรงได้รับพระราชทานตกทอดมาจากสมเด็จพระนางวิคตอเรีย (อันเป็นของกำนัลจาก จักรพรรดิ์แห่งเปอร์เซีย)
จากนั้นพระองค์ได้ทรงหันไปถามนางพระกำนัลว่า
"เอ๊ะ เส้นนี้ฉันเคยใส่หรือยังนะ?"

มีฉากที่สมเด็จทรงพาเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดไปซื้อขนมหวาน และ พระองค์ทรงจ่ายเงินค่าขนมแบบต้องค้นหาเศษสตังค์ ที่เกือบมีไม่พอจ่าย..
ภาพในการถ่ายทำชีวิตครอบครัวทั้งหมดแทบไม่ต้องมีอะไรต้องตัดทิ้งไปเลย..ยกเว้นฉากที่เจ้าฟ้าชายชารลส์ได้ทรงขึ้นสายเครื่องดนตรีเซลโล และ ขึงสาย A ตึงไปจนสายขาด ดีดไปต้องเอาพระปรางของเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระอนุชาจนเป็นเส้นแดงห้อเลือด ทรงกรรแสงจ้า..
เจ้าชายฟิลิปทรงเกรงว่าจะเป็นเรื่องการเล่นแรงๆ ของพี่น้อง ที่ไม่น่าจะเอาออกอากาศ จึงเสนอให้ตัดช่วงนี้ทิ้งไป
สมเด็จทรงตรัสว่า..
"ไม่เห็นจะเป็นไรเลย...เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้กับใครทั้งนั้น"

งานนี้ นับว่าได้ประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด ประชาชนกลับมาสนใจรักใคร่เอ็นดูในครอบครัวน้อยๆ ของเหนือหัวกันอย่างล้นหลาม..นับว่าเป็นการทำงานแบบมืออาชีพอย่างจริงจัง สมควรต่อการปรบมือให้..

ชาวคณะเดอะ เฟิร์ม..ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า..สื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์มีความสำคัญในการผดุงภาพพจน์ดีๆ ขององค์กรให้อยู่คู่ไปกับจิตใจประชาชนสืบต่อไปนานเท่านาน...

เพียงแต่..ทุกคนไม่เคยสังหรณ์ใจเลยว่า..สื่อที่ว่านี้..คือดาบสองคมที่สามารถให้ทั้งผลดีอย่างสุดขั้วและผลร้ายอย่างสุดโต่งได้ในขณะเดียวกัน..   !  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง