เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 17150 สงสัยมั๊ยครับว่าทำไมความเป็นชาตินิยม ถึงทำให้ประเทศเจริญ
Dr Yu
อสุรผัด
*
ตอบ: 10

นักวิชาการอิสระ


เว็บไซต์
 เมื่อ 19 ก.พ. 06, 01:46

 เคยมีนักศึกษามาถามผมว่าทำอย่างไรประเทศของเราถึงจะเจริญซักที ผมเลยตอบว่าเราต้องปฏิรูปเรื่องของการศึกษา แต่ปัจจุบันเรากำลังหลงทางที่ไปมุ่งเน้นด้านวิชาการ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องของชาตินิยมอย่างจริงจัง

ผมได้มีโอกาสไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และหลายประทศเป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยล้าหลังประเทศไทย เช่น เกาหลี ไต้หวัน จีน แต่วันนี้เค๊าแซงเราไปไกลจนไม่เห็นฝุ่นแล้ว ทุกวันนี้เค๊ามีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี เค๊าคิดเรื่องปฏิรูปการศึกษามาก่อนเรา และปลูกฝังเรื่องความรักชาติ และชาตินิยมมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนสงสัยว่าการที่ประชาชนมีความเป็นชาตินิยมมันเกี่ยวอะไรกับการทำให้ประเทศพัฒนา

ผมก็ขอแสดงความเห็นในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ธุรกิจครับ การที่ประชาชนมีความเป็นชาตินิยม จะทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศมีโอกาสเกิด และขายได้ ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เชื่อมั๊ยครับในประเทศที่ผมกล่าวมาข้างต้นเค๊ามีสินค้าแบรนด์ที่ผลิตภายในประเทศจำนวนมาก และสามารถแข่งขันกับชาติตะวันตกได้ ทั้งนี้เพราะรัฐบาล และประชาชนของเค๊าสนับสนุนสินค้าในประเทศ ครั้งหนึ่งว่ากันว่าในการประมูลซื้อรถของกรมตำรวจเกาหลีใต้ บริษัทอเมริกันเข้ามาเสนอราคาคันละ 1 วอน กรมตำรวจเกาหลียังไม่เอาเลยครับ แต่กลับไปซื้อฮุนไดแทน เพราะเค๊ามองในมุมว่าซื้อรถในประเทศหนึ่งคันมันก็จะเกิดการจ้างงานเป็นห่วงโซ่ยาวเหยียด

ในประเทศจีนเองก็มีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อของตัวเอง 300 ยี่ห้อไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ในประเทศมีการพัฒนาสูงมาก และตลาดให้การตอบรับ เวลาผมไปประเทศจีนทุกครั้งผมจะหาโอกาสเดินดูสินค้า และพบว่าสินค้าจีนมีการพัฒนาที่รวดเร็วมากจริงๆ

เราต้องจับตามองประเทศเพื่อนบ้านเราคือเวียดนามให้ดีครับ เพราะคนเวียดนามมีความอดทนสูงมาก และมีความเป็นชาตินิยมด้วย เลยไม่รู้ว่าจะวิ่งแซงเราแบบเกาหลีหรือไต้หวัน หรือจีน เมื่อไหร่
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 02:28

 ชาตินิยม คือ มองว่าเผ่าพันธุ์ สัญชาติเราต้องมาก่อน
ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
ก่อเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนของคนในชาติ
คนที่โอกาสน้อยกว่าจะได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากเพื่อนร่วมชาติ
เปรียบดังกิ่งไม้เล็กๆ เอามารวมกันเป็นมัดยากที่จะหักได้
นี่คือเหตุผลคร่าวๆว่าทำไมชาตินิยมถึง นำประเทศเจริญ

แต่ถ้าคนในชาติมองแต่ตัวเอง เห็นแก่ตัว คบใครก็ได้ ต่างชาติก็เอา
ขึ้นกับว่าใครมีผลประโยชน์ให้ดีกว่า
คิดแบบนี้ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบขึ้น คนชาติเดียวกันไม่มีความหมาย
สังคมอ่อนแอ เพราะไม่มีการเกื้อกูล คนจะแตกความสามัคคี เพราะมองแต่ประโยชน์ส่วนตน
ชาติก็จะล่มจมได้เพราะไร้พลังชีวิต
อยุธยาเคยล่มเพราะเหตผลนี้มาแล้ว
อนิจจา! สยามของเรา
บันทึกการเข้า
สร
อสุรผัด
*
ตอบ: 20

Complexity Optimization Researcher, Co-evolution Learner and Writer. 'Sundarekas' Childers, Dreamland.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 04:01

 ลองวิธีทางวัฒนธรรมอีก หาคำขวัญประทับใจ มาช่วย เช่น

"ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" (ของเก่า)

"ถอดสายดูด ฐานชีวิตไทย ออกนอกประเทศ" (ของใหม่)

"ถอดเสื้อนอก สวมเสื้อไทย ร่วมทำงาน" (ของใหม่)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 09:58

 เห็นด้วยค่ะ  
แต่ที่ยังตอบตัวเองไม่ได้คือทำยังไงเราจึงจะปลูกฝังได้สำเร็จ

เราเรียนรู้วิทยาการและวัฒนธรรมดีๆจากประเทศอื่นได้
แต่ก็เรียนเพื่อรู้เท่าทัน
ไม่ใช่เรียนเพื่อนิยมเลื่อมใสเขายิ่งกว่าตัวเอง
บันทึกการเข้า
HotChoc
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 22:27

 ผมว่าเริ่มต้นด้วยการสอนประวัติศาสตร์ำไทยแบบปกติธรรมดาไม่ต้องคลั่งชาติดีไหมครับ
เราถูกสอนให้เกลียดพม่าดูถูกลาวเขมร ทีนี้พอเราดูถูกลาวเขมรว่าไม่เจริญ
ก็พลอยดูถูกคนไทยต่างจังหวัดไปด้วยโดยเฉพาะทางอีสาน แล้วก็จะยกย่องความเจริญซึ่งมากับชาติตะวันตก กลายเป็นฝรั่งนิยมไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 17:38

 ดิฉันคิดว่าเข้าใจสิ่งที่ Dr.Yu พยายามบอกนะคะ
คือทำยังไงคนไทยจะภูมิใจและเห็นคุณค่าของชาติตัวเอง
ช่วยกันทะนุบำรุง  ส่งเสริม  สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับบ้านเมือง
ถ้ามันยังไม่ดีทันใจในวันนี้   ก็ยังมีความหวังว่าจะดีในวันพรุ่งนี้

การดูถูกประเทศชาติบ้านเมืองอื่นก็ดี
หรือว่าการนิยมยกย่อง เอามาเปรียบกับประเทศของเรา
แล้วเห็นว่ายังไงเขาก็ดีกว่า
สิ่งนี้ทำให้ชาติเราเจริญไปไม่ได้ค่ะ

ส่วนประวัติศาสตร์   ดิฉันก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะสอน
ประวัติศาสตร์ไทยยังไง โดยไม่ให้รู้สึกในทางลบกับพม่า
จะบอกว่ากรุงแตก ๒ ครั้ง พม่าแทบไม่มีส่วนเลย
หรือว่าเป็นความผิดของคนไทยมากกว่า  งั้นหรือ
หรือบอกว่าเป็นของธรรมดาที่อาณาจักรใกล้เคียงกันก็ต้องรบกัน  อย่าไปคิดมากมาย
รบกันได้ก็ดีกันได้

ข้อความเหล่านี้ไม่ได้ประชดประชัน เป็นคำถามที่ถามตัวเองมานานล้ว
แต่ยังไม่ได้คำตอบ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 17:55

 ผมเห็นด้วยกับ Dr Yu ที่ว่าเราจะเจริญได้ต้องเน้นการปฏิรูปการศึกษา

แต่ถ้าคิดว่าปัญหาของเราอยู่ที่การหลงไปมุ่งวิชาการโดยไม่สนใจชาตินิยม ก็คือมองว่าปัญหาคือมุ่งสร้าง supply แต่ด้าน demand ไม่พยายามสร้างตลาดโดยหวังให้คนซื้อของไทยด้วยความคิดแบบชาตินิยม

แต่น่าคิดว่าปัญหาเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ลองไปดู case study อย่างที่ Dr Yu ได้ตั้งไว้ จีนมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยี่ห้อของจีนเองจำนวนมาก เป็นเพราะชาตินิยมหรือไม่? หรือเป็นเพราะโทรศัพท์มือถือยี่ห้อท้องถิ่นราคาถูกกว่ามากในขณะที่คุณภาพก็ยอมรับได้?

น่าคิดนะครับ

เกาหลีใต้พัฒนาขึ้นมาเร็วมาในช่วงหลายสิบปีหลังสงคราม แต่ที่รถยนต์เกาหลีพัฒนามาถึงวันนี้ได้เป็นเพราะชาตินิยมทำให้คนเกาหลีช่วยกันซื้อรถเกาหลีหรือ? หรือเป็นเพราะรัฐบาลตั้งกำแพงภาษีสำหรับรถยนต์จากต่างประเทศพร้อมๆกับอุดหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดหนักผ่านแชโบลจนทำให้รถยนต์เกาหลีมีโอกาสไล่ทันรถยนต์จากต่างประเทศกันแน่?

มองกลับมาที่ประเทศไทย ประมาณ 20 ปีที่แล้วมี PC ยี่ห้อ"ถาวร" ทำออกมาขายอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต้องล้มเลิกไปในที่สุด

ที่คนไม่ซื้อ "ถาวร" เป็นเพราะคนไทยไม่มีความเป็นชาตินิยม ไม่ช่วยกันอุดหนุนของไทยหรือ? หรือเป็นเพราะคอมพิวเตอร์ของ "ถาวร" ออกแบบ PCB โดยขาด knowledge ในเรื่องการออกแบบ PCB ที่ทำงานที่ high frequency จนทำให้คอมพิวเตอร์ที่ผลิตออกมาขายมีปัญหาอย่างมากมายกันแน่?

ชาตินิยมเป็นเพียงส่วนหนึ่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่กำหนดก็คือ "คุณค่า" โดยรวมของสินค้านั้น ดังนั้นหากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานแล้วยังไม่สามารถทำได้ที่ต้นทุนต่ำด้วย ชาตินิยมก็คงช่วยอะไรไม่ไหวครับ

กลับมามองเรื่องวิชาการ ผมมองว่าถ้าจะหลงทางก็เป็นเพราะว่า
1. รัฐบาล มองสถาบันศึกษาเป็น expense มากกว่าที่จะเป็น investment สุดท้ายผลักไสมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อลดภาระรายจ่ายโดยที่ไม่มีการกำหนดเส้นทางของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม
2. สถาบันศึกษา position ตัวเองเป็นผู้ผลิตบัณฑิต มากกว่าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ เมื่อออกนอกระบบจึงหารายได้เพิ่มโดยการเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ได้คิดหารายได้หลักจากการเป็นผู้วิจัย บางแห่งที่ขาดจรรยาชีพก็ไม่ควบคุมคุณภาพของบัณฑิต ผลิตออกมาโดยเน้นแต่ปริมาณอย่างเดียว ปัญหาของผู้รับเหมาก่อสร้างเมื่อก่อนต้องเจอกับ "จับกังช่างไม้" อาจได้เห็น "จับกังนายช่าง" กันบ้าง
3. ประชาชน มองการศึกษาเป็นเรื่องของเกียรติยศมากกว่าเป็นวิชาชีพ สิ่งที่มุ่งหวังจึงเป็นปริญญาบัตรไม่ใช่ความรู้

เป็นเช่นนี้จึงว่าการศึกษาบ้านเราหลงทางครับ

ถ้าเราดำเนินไปในวิถีทางนี้ โดยที่มีกระแสชาตินิยมรุนแรง ผมว่าจะยิ่งกลายเป็นการฉุดรั้งความเจริญของประเทศหนักเข้าไปอีก

ลองคิดดูว่าหากประชาชนคนไทยหร้อมใจกันเลือกใช้ของที่ผลิตโดยคนไทยทั้งๆที่คุณภาพต่ำกว่า และราคาแพงกว่า นอกจากจะเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจแล้วยังทำให้ผู้ประกอบการขาดความกระตือรือร้นที่จะผลิดสินค้าที่ดีขึ้นด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 18:49

 ส่วนเรื่องชาตินิยมเองนั้น คงต้องมามองกันว่า ชาตินิยม คืออะไร และเรามุ่งหวังอะไรกันแน่

ที่แน่ๆชาตินิยมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 8 โมงเช้า 6 โมงเย็น ได้ยินเพลงชาติหยุดยืนนิ่งกันทุกคน เรื่องพม่าไม่ต้องพูดถึง มีความเกลียดเป็นทุน เขมรลาวเรามองเป็นลูกไล่ ตอนมีเรื่องกับเขมร เขาเผาธงชาติไทย เราจะเป็นจะตายเสียให้ได้

ที่ว่ามานี่ไม่ใช่จะมองว่าเป็นเรื่องแย่ แต่มองมุมกลับ เวลาไปซื้อของ คนส่วนมากหลีกเลี่ยงที่จะจ่าย VAT (ถ้าทำได้) บนถนนหนทางคนยังทิ้งขยะทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นถนน ไม่เว้นกระทั่งคนที่ขับรถอยู่บนถนน หรือกระทั่งบนทางด่วนสดๆร้อนๆเมื่อวานนี้เอง ประมาณ16:00 ผมเห็น taxi คันหนึ่งจอดข้างทางตรงช่วงต่อทางด่วนขั้นที่ 1 กับขั้นที่ 2 ข้างๆรถมีชายในเครื่องแบบลายพรางของทหารยืนปัสสาวะอยู่ พื้นที่สาธารณะต่างๆมีมือดีไปพ่นสีบ้าง ทำลายบ้าง

เห็นได้ชัดว่าคนของเรารักชาติอยู่แบบไม่เข้าท่า รักอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดผู้อื่น แต่ไม่มีสำนึกที่ดีต่อส่วนรวมเลย

เคยอ่าน Band of Brothers คนเขียนเล่ามุมมองของทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปรบกับเยอรมัน ก่อนไปถึงเยอรมันก็ถูก propaganda เต็มที่ มองเยอรมันเป็นคนป่าเถื่อนที่สมควรถูกกำจัด แต่เมื่อไปถึงก็พบสิ่งที่ตรงกันข้าม บ้านเรือนเยอรมันมีเครื่องอำนวยความสะดวกทัดเทียมกับบ้านชาวอเมริกันทั้งหลาย และที่สำคัญที่สุดหมู่บ้านเยอรมันที่ถูกยึดครอง หากมีความเสียหายที่เกิดจากการรบก่อนหน้านั้น เช่นหลุมระเบิดบนถนนที่ทำให้มีปัญหากับการสัญจรบนทางนั้น ชาวบ้านจะรีบออกมาช่วยกันซ่อมแซมจนเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว

ลักษณะเช่นนี้ตรงข้ามกับชาติพันธมิตรบางชาติ(อย่าให้พาดพิงเลย)ที่คนเห็นว่าเรื่องแบบนี้ธุระไม่ใช่ ปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะ

ในเรื่องเดียวกันนี้ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทหารอเมริกันบุรุกเข้าไปในบ้านชาวบ้านเยอรมันเพื่อพักผ่อน แต่พบว่าบ้านหนึ่งมีเจ้าบ้านเป็นทหารเยอรมันที่ปลดประจำการณ์แล้ว เป็นสถานการณ์ที่ดูน่าจะตึงเครียดทีเดียว แต่เมื่อเจ้าบ้านให้การต้อนรับพร้อมกับบอกว่าเขาปลดประจำการณ์แล้วถือว่าหมดหน้าที่ เชิญทหารอเมริกันเข้ามาพักผ่อนได้ตามสบายเรื่องก็จบ

น่าคิดว่าชาตินิยมที่ผลักดันคนเยอรมันคือชาตินิยมแบบเดียวกับชาตินิยมของไทยหรือไม่?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 19:24

เข้ามายกมือเห็นด้วยกับคุณม้าผยอง CrazyHOrse ครับ โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าความเป็นชาตินิยมเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ชาติอย่างญี่ปุ่น หรือ เกาหลี พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ผมว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าครับ และสิ่งนั้นคนไทยขาดเอามากๆซะด้วย นั่นคือ ความมีวินัยครับ

ผมคิดว่าแค่เก่ง แค่ฉลาดอย่างเดียว หรือรักชาติอย่างเดียว ไม่ทำให้เจริญขึ้นมาได้  ความมีวินัยของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญครับ มันทำให้แต่ละคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม และเคารพกฎหมาย สังคม การที่คนรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำให้เขาตั้งใจที่จะทำงานในหน้าที่ออกมาให้ดีที่สุด ตามความสามารถที่เขามี

สังคมญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นสังคมที่มีวินัยครับ ทุกๆคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง และพยามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด เคารพกฎระเบียบของสังคม และเรื่องพวกนี้สอนยากมากๆ อยากกว่าสอนวิชาการเยอะแยะ มันเป็นสิ่งที่ถ้าคนๆนั้นหรือสังคมนั้นๆเข้าใจและเห็นความสำคัญ เขาก็จะปฏิบัติ แต่ถ้าไม่พูดให้ตาย สอนให้ตายก็ไม่เห็นความสำคัญ กลับจะมองเป็นเรื่องไร้สาระ

สังคมไทยขาดวินัยอย่างแรงครับ ไม่เชื่อดูนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ เริ่มตั้งแต่แต่งตัวผิดระเบียบ ตามแฟชั่นไปเรื่อยๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ความจริงคำว่าระเบียบวินัยนี่สอนกันตั้งแต่ชั้นประถมแล้ว แต่ไม่รู้เหมือนกันว่านิสิตนักศึกษาเหล่านี้คิดได้อย่างไรว่า ยิ่งโตยิ่งไม่จำเป็นต้องมีวินัย ผมกลับคิดว่าคนเรายิ่งโตยิ่งต้องมีวินัย ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง กะแค่กฎของมหาวิทยาลัยพวกนี้ยังปฏิบัติตามไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรจะการันตีว่าโตขึ้นเด็กพวกนี้จะรักษากฎหมาย จะรักษาศีลธรรม เรื่องแบบนี้คนอื่นอาจจะมองเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องเล็กน้อย แต่ผมว่ามันบอกอะไรได้หลายๆอย่าง

อย่าลืมว่านิสิตนักศึกษาในวันนี้ เป็นอนาคตของชาติในอีกห้าถึงสิบปีข้างหน้า ผมมองความมีวินัย และความรับผิดชอบของเด็กสมัยนี้แล้ว หวั่นใจครับ โดยเฉพาะเด็กที่ผมสอนอยู่ๆในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าคัดเด็กมีคุณภาพแล้ว ยิ่งทำให้หวั่นใจหนักขึ้นไปอีก ก็ไร้วินัยกันแต่เด็ก โตขึ้นก็จะไม่รู้หน้าที่ และเมื่อไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ประเทศชาติก็จะเจริญยากครับ
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 19:58

 เห็นว่าเกี่ยวข้องกับชาตินิยมและความเจริญก็เลยอยากจะเอาข้อสังเกตบางประการที่ผมได้ทำกรณีศึกษาส่งอาจารย์เมื่อเทอมที่แล้ว

เมื่อเทอมที่แล้วผมได้ศึกษาการจัดระบบความรู้ของประเทศต่างๆในเอเชีย โดยสำรวจการจัดระบบความรู้ของประเทศอาหรับ ตุรกี อิสราเอล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย มาเลเซีย อินเดีย และภูฐาน(บางท่านนิยมเขียน ภูฎาน) ซึ่งประเทศทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีมรดกความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของตนเองมายาวนาน

ความรู้ที่ว่านี้คือ ความรู้ของคนในชาตินั้น ถ้าเป็นบ้านเราก็คือเอกสารโบราณ ใบลาน สมุดข่อย สมุดไทย พับสา ลายจุ้ม(เขียน/ปักอักษรลงบนผ้า) ฯลฯ รวมทั้งหนังสือ ตำรา ที่มีการตีพิมพ์ พร้อมทั้งยังดูวิธีการจัดระบบตำราต่างประเทศในประเทศนั้นๆด้วย

พบว่า ประเทศชาตินิยมคือ เกาหลี และญี่ปุ่น สองประเทศนี้ไม่ยอมใช้วิธีจัดระบบความรู้แบบตะวันตก(สหรัฐ/อังกฤษ/เยอรมัน/ฝรั่งเศส)สำหรับสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของตนเอง นั่นคือไม่ได้แบ่งความรู้ออกเป็นสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะ ... แต่จะเน้นการจัดระบบแบบดูที่เจตนาของผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นหลัก เช่น งานวรรณกรรมผู้เขียนมีเจตนามุ่งที่จะเล่าประสบการณ์ของตนเอง ภาพร่วมของสังคมในขณะนั้น หรือคำสอน คำบอกเล่าที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา แก่ผู้อ่านรุ่นหลัง ทั้งสองประเทศนี้จะจัดสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมนี้ เป็นหมวดวรรณกรรมขนาดใหญ่ แล้วจำแนกหมวดย่อยเช่น ความเป็นญี่ปุ่น/ความเป็นเกาหลี ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ชาติ การกินอยู่ เป็นต้น เมื่อดูการจัดระบบความรู้ที่ได้รับจากต่างประเทศหรือปรับเอาต่างประเทศมาใช้ พบว่า ทั้งสองประเทศนี้มีการตั้งหน่วยงานส่วนกลางขึ้นมาดูแล ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีคณะกรรมการจัดการความรู้ และที่ญี่ปุ่นดูแลโดยสภา Diet มีกฎอยู่ว่า การเปลี่ยนแปลงการจัดระบบความรู้ใดๆต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงก่อน ความรู้ที่ได้จากต่างประเทศให้จัดแบบต่างประเทศ ส่วนภูมิปัญญาของคนเกาหลี/ญี่ปุ่น ให้จัดตามวิธีโบราณดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยแยกเป็นหมวดๆเช่น   ความเป็นญี่ปุ่น/ความเป็นเกาหลี ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ชาติ การกินอยู่(อาหารและเครื่องแต่งกาย) ราชวงศ์ การปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับจีนนั้นมีการแบ่งเป็น 20 หมวด แต่เน้นเรื่องการเมือง เรื่องเล่า/นิทาน คำสอนปรัชญา วิทยาศาสตร์ โดยพบว่าหมวดที่จีนให้ความสำคัญคือหมวดการเมืองซึ่งมีเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นหมวดย่อย หมวดนี้กล่าวถึงคอมมืวนิสต์และเหมาเจ๋อตุง เรียกว่าเป็นหมวดสะสมภูมิความรู้และประสบการณ์ของประธานฯเหมา

หากจะเปรียบเทียบกับการจัดระบบความรู้สากล ขอยกตัวอย่างในห้องสมุด หากเราเดินเข้าไปหาหนังสือในห้องสมุดจะพบสัญลักษณ์ตัวเลข 000-999 แสดงหมวดต่างๆเช่น 400-499 ภาษา 500-599 วิทยาศาสตร์ 900-999 ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแบบนี้เป็นของตะวันตก

สำหรับในกลุ่มประเทศอาหรับ (อิรัก อิหร่าน อียิปต์ ฯลฯ) และตุรกี อิสราเอล ก็ใช้เหมือนเกาหลีญี่ปุ่น มีภาคีความร่วมมือในกลุ่มประเทศอิสลาม ซึ่งในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลมาเลเซียสนใจไปดูงาน และนำมาทดลองใช้ โดยแยกความรู้ที่เกี่ยวกับมาเลย์ จีน อินเดีย ออกจากกัน ความรู้ของชาวมาเลย์แบ่งตามวิธีภาคีความร่วมมือประเทศอิสลาม ส่วนความรู้ของชาวจีนและอินเดียจัดระบบตามสากล อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้เน้น ศาสนา ถึงจะไม่ใช้แบบสากลนิยมแต่ก็ไม่มีการแบ่งหมวด ความเป็นอิสลามเหมือนกับเกาหลีและญี่ปุ่นข้างบน

ในประเทศอินเดียกับภูฐานนั้น ก็เช่นเดียวกัน แบ่งความรู้จากต่างประเทศเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาของตนเอง แต่ก็เน้นศาสนาเช่นกัน ที่ภูฐานปฏิเสธความรู้จากต่างประเทศ นำตำราต่างประเทศไปกองไว้ชั้นใต้ดิน แต่ความรู้ของตนเองนำมาเก็บไว้ชั้นบน ทำชั้นหนังสือและเอกสารเหมือนแท่นบูชา มีการนมัสการหนังสือก่อนและหลังอ่าน แบ่งหมวดออกเป็น ศาสนา(เน้นโยคีนุ่งลมห่มฟ้า) ราชวงศ์ การติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีเพียง 3 หมวด ส่วนอินเดียแบ่งเป็น 17 หมวด มี 3 หมวดเน้นเรื่องการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ คือ หมวดมหาตมะคานธี หมวดผู้นำอื่นๆ(บุคคลสำคัญ) และหมวดการได้เอกราช แต่อินเดียมีภาษาหลายภาษาทำให้เป็นปัญหาว่าจะจัดระบบความรู้ตามภาษาก่อนหรือตามหมวดความรู้ก่อน ทำให้การค้นหาและการหยิบใช้เกิดปัญหา

ส่วนประเทศไทยและมาเลเซียนั้นต่างนำการจัดระบบความรู้ของตะวันตกมาใช้ ไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุง หรือคิดเองเหมือนญี่ปุ่นเกาหลี ประเทศเราไม่มีหมวดที่ว่าด้วยความเป็นไทย ไม่มีหมวดใดที่บ่งบอกความเป็นคนไทยได้เลย การกระจายของความรู้มีผลในทางวิชาการและการสร้างองค์ความรู้ของประเทศ กล่าวคือขาดความเป็นตัวเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้จะศึกษาเรื่องคนไท(ทั้งในและนอกประเทศไทย) ก็ต้องไปหาหนังสือที่เกี่ยวกับคนไทยในทุกหมวดคือ 000-999 ดังนี้

000-099  สารานุกรมไทยภาค....(เหนือ กลาง อีสาน ใต้)
100-199  เล่าเรื่องด้วยภาพ หนังสือเก่า พิพิธภัณฑ์
200-299  ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นที่เกี่ยวข้อง อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อสังคม ไทย/ไท
300-399  นิทาน ตำนาน การค้า การติดต่อกับต่างประเทศ การตั้งถิ่นฐาน
400-499  ภาษาชนเผ่า ไทย/ไต
500-599  ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาการพื้นบ้าน
600-699  โหราศาสตร์ การคำนวณวันเดือนปีไท
700-799  ศิลปวัตถุ จิตรกรรม สถาปัยกรรม ไทย/ไต
800-899  วรรณกรรมไทย/ไต
900-999  ประวัติศาสตร์ชนชาติต่างๆ เช่นไทดำ ไทแดง ยวน สยาม ลาว ไทใหญ่ ไทคำตี่ ไทอาหม รวมทั้งพงศาวดาร บันทึกจดหมายเหตุ

หากมองผู้เข้าถึงข้อมูลบ้าง การที่ความรู้เรื่องไทย/ไท กระจายตามหมวดต่างๆ ทำให้เรารู้เรื่องความเป็นชาติเราไม่ครอบคลุม วนๆเวียนๆอยู่กับประวัติศาสตร์บ้าง การเมืองบ้าง มีวรรณกรรมเล็กน้อย เหตุนี้หรือเปล่าที่เรานิยมแต่เกลียดพม่า ดูถูกเขมรลาว มองผ่านเวียดนาม และเทิดทูนความสงบตั้งใจมองไม่เห็นคลื่นใต้น้ำที่รุนแรง  


ความรู้ที่ว่านี้คือ ความรู้ของคนในชาตินั้น ถ้าเป็นบ้านเราก็คือเอกสารโบราณ ใบลาน สมุดข่อย สมุดไทย พับสา ลายจุ้ม(เขียน/ปักอักษรลงบนผ้า) ฯลฯ รวมทั้งหนังสือ ตำรา ที่มีการตีพิมพ์ พร้อมทั้งยังดูวิธีการจัดระบบตำราต่างประเทศในประเทศนั้นๆด้วย

พบว่า ประเทศชาตินิยมคือ เกาหลี และญี่ปุ่น สองประเทศนี้ไม่ยอมใช้วิธีจัดระบบความรู้แบบตะวันตก(สหรัฐ/อังกฤษ/เยอรมัน/ฝรั่งเศส)สำหรับสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของตนเอง นั่นคือไม่ได้แบ่งความรู้ออกเป็นสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะ ... แต่จะเน้นการจัดระบบแบบดูที่เจตนาของผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นหลัก เช่น งานวรรณกรรมผู้เขียนมีเจตนามุ่งที่จะเล่าประสบการณ์ของตนเอง ภาพร่วมของสังคมในขณะนั้น หรือคำสอน คำบอกเล่าที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา แก่ผู้อ่านรุ่นหลัง ทั้งสองประเทศนี้จะจัดสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมนี้ เป็นหมวดวรรณกรรมขนาดใหญ่ แล้วจำแนกหมวดย่อยเช่น ความเป็นญี่ปุ่น/ความเป็นเกาหลี ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ชาติ การกินอยู่ เป็นต้น เมื่อดูการจัดระบบความรู้ที่ได้รับจากต่างประเทศหรือปรับเอาต่างประเทศมาใช้ พบว่า ทั้งสองประเทศนี้มีการตั้งหน่วยงานส่วนกลางขึ้นมาดูแล ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีคณะกรรมการจัดการความรู้ และที่ญี่ปุ่นดูแลโดยสภา Diet มีกฎอยู่ว่า การเปลี่ยนแปลงการจัดระบบความรู้ใดๆต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงก่อน ความรู้ที่ได้จากต่างประเทศให้จัดแบบต่างประเทศ ส่วนภูมิปัญญาของคนเกาหลี/ญี่ปุ่น ให้จัดตามวิธีโบราณดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยแยกเป็นหมวดๆเช่น   ความเป็นญี่ปุ่น/ความเป็นเกาหลี ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ชาติ การกินอยู่(อาหารและเครื่องแต่งกาย) ราชวงศ์ การปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับจีนนั้นมีการแบ่งเป็น 20 หมวด แต่เน้นเรื่องการเมือง เรื่องเล่า/นิทาน คำสอนปรัชญา วิทยาศาสตร์ โดยพบว่าหมวดที่จีนให้ความสำคัญคือหมวดการเมืองซึ่งมีเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นหมวดย่อย หมวดนี้กล่าวถึงคอมมืวนิสต์และเหมาเจ๋อตุง เรียกว่าเป็นหมวดสะสมภูมิความรู้และประสบการณ์ของประธานฯเหมา

หากจะเปรียบเทียบกับการจัดระบบความรู้สากล ขอยกตัวอย่างในห้องสมุด หากเราเดินเข้าไปหาหนังสือในห้องสมุดจะพบสัญลักษณ์ตัวเลข 000-999 แสดงหมวดต่างๆเช่น 400-499 ภาษา 500-599 วิทยาศาสตร์ 900-999 ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแบบนี้เป็นของตะวันตก

สำหรับในกลุ่มประเทศอาหรับ (อิรัก อิหร่าน อียิปต์ ฯลฯ) และตุรกี อิสราเอล ก็ใช้เหมือนเกาหลีญี่ปุ่น มีภาคีความร่วมมือในกลุ่มประเทศอิสลาม ซึ่งในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลมาเลเซียสนใจไปดูงาน และนำมาทดลองใช้ โดยแยกความรู้ที่เกี่ยวกับมาเลย์ จีน อินเดีย ออกจากกัน ความรู้ของชาวมาเลย์แบ่งตามวิธีภาคีความร่วมมือประเทศอิสลาม ส่วนความรู้ของชาวจีนและอินเดียจัดระบบตามสากล อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้เน้น ศาสนา ถึงจะไม่ใช้แบบสากลนิยมแต่ก็ไม่มีการแบ่งหมวด ความเป็นอิสลามเหมือนกับเกาหลีและญี่ปุ่นข้างบน

ในประเทศอินเดียกับภูฐานนั้น ก็เช่นเดียวกัน แบ่งความรู้จากต่างประเทศเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาของตนเอง แต่ก็เน้นศาสนาเช่นกัน ที่ภูฐานปฏิเสธความรู้จากต่างประเทศ นำตำราต่างประเทศไปกองไว้ชั้นใต้ดิน แต่ความรู้ของตนเองนำมาเก็บไว้ชั้นบน ทำชั้นหนังสือและเอกสารเหมือนแท่นบูชา มีการนมัสการหนังสือก่อนและหลังอ่าน แบ่งหมวดออกเป็น ศาสนา(เน้นโยคีนุ่งลมห่มฟ้า) ราชวงศ์ การติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีเพียง 3 หมวด ส่วนอินเดียแบ่งเป็น 17 หมวด มี 3 หมวดเน้นเรื่องการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ คือ หมวดมหาตมะคานธี หมวดผู้นำอื่นๆ(บุคคลสำคัญ) และหมวดการได้เอกราช แต่อินเดียมีภาษาหลายภาษาทำให้เป็นปัญหาว่าจะจัดระบบความรู้ตามภาษาก่อนหรือตามหมวดความรู้ก่อน ทำให้การค้นหาและการหยิบใช้เกิดปัญหา

ส่วนประเทศไทยและมาเลเซียนั้นต่างนำการจัดระบบความรู้ของตะวันตกมาใช้ ไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุง หรือคิดเองเหมือนญี่ปุ่นเกาหลี ประเทศเราไม่มีหมวดที่ว่าด้วยความเป็นไทย ไม่มีหมวดใดที่บ่งบอกความเป็นคนไทยได้เลย การกระจายของความรู้มีผลในทางวิชาการและการสร้างองค์ความรู้ของประเทศ กล่าวคือขาดความเป็นตัวเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้จะศึกษาเรื่องคนไท(ทั้งในและนอกประเทศไทย) ก็ต้องไปหาหนังสือที่เกี่ยวกับคนไทยในทุกหมวดคือ 000-999 ดังนี้

000-099  สารานุกรมไทยภาค....(เหนือ กลาง อีสาน ใต้)
100-199  เล่าเรื่องด้วยภาพ หนังสือเก่า พิพิธภัณฑ์
200-299  ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นที่เกี่ยวข้อง อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อสังคม ไทย/ไท
300-399  นิทาน ตำนาน การค้า การติดต่อกับต่างประเทศ การตั้งถิ่นฐาน
400-499  ภาษาชนเผ่า ไทย/ไต
500-599  ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาการพื้นบ้าน
600-699  โหราศาสตร์ การคำนวณวันเดือนปีไท
700-799  ศิลปวัตถุ จิตรกรรม สถาปัยกรรม ไทย/ไต
800-899  วรรณกรรมไทย/ไต
900-999  ประวัติศาสตร์ชนชาติต่างๆ เช่นไทดำ ไทแดง ยวน สยาม ลาว ไทใหญ่ ไทคำตี่ ไทอาหม รวมทั้งพงศาวดาร บันทึกจดหมายเหตุ

หากมองผู้เข้าถึงข้อมูลบ้าง การที่ความรู้เรื่องไทย/ไท กระจายตามหมวดต่างๆ ทำให้เรารู้เรื่องความเป็นชาติเราไม่ครอบคลุม วนๆเวียนๆอยู่กับประวัติศาสตร์บ้าง การเมืองบ้าง มีวรรณกรรมเล็กน้อย เหตุนี้หรือเปล่าที่เรานิยมแต่เกลียดพม่า ดูถูกเขมรลาว มองผ่านเวียดนาม และเทิดทูนความสงบตั้งใจมองไม่เห็นคลื่นใต้น้ำที่รุนแรง
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 ก.พ. 06, 04:19

 """กลับมามองเรื่องวิชาการ ผมมองว่าถ้าจะหลงทางก็เป็นเพราะว่า
1. รัฐบาล มองสถาบันศึกษาเป็น expense มากกว่าที่จะเป็น investment สุดท้ายผลักไสมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อลดภาระรายจ่ายโดยที่ไม่มีการกำหนดเส้นทางของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม
2. สถาบันศึกษา position ตัวเองเป็นผู้ผลิตบัณฑิต มากกว่าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ เมื่อออกนอกระบบจึงหารายได้เพิ่มโดยการเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ได้คิดหารายได้หลักจากการเป็นผู้วิจัย บางแห่งที่ขาดจรรยาชีพก็ไม่ควบคุมคุณภาพของบัณฑิต ผลิตออกมาโดยเน้นแต่ปริมาณอย่างเดียว ปัญหาของผู้รับเหมาก่อสร้างเมื่อก่อนต้องเจอกับ "จับกังช่างไม้" อาจได้เห็น "จับกังนายช่าง" กันบ้าง
3. ประชาชน มองการศึกษาเป็นเรื่องของเกียรติยศมากกว่าเป็นวิชาชีพ สิ่งที่มุ่งหวังจึงเป็นปริญญาบัตรไม่ใช่ความรู้"""""


อ่านความเห็นของพี่อาชาคลั่งแล้วต้องคำนับเลย

วิจารณ์ ตีแผ่ได้ชัดเจนจับใจมากครับ

ท่านที่เหลือก็มีมุมมองที่น่าสนใจ แต่ผมบอกได้เลยว่ากระทู้นี้ ช่างเหนี่ยวนำไปสู่มุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งมาจากพื้นหลังของผู้แสดงความเห็นแต่ละท่านได้อย่างชัดเจนยิ่ง

มหาวิทยาลัยบางแห่งเน้นการสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นผลงาน มากกว่าใช้เงินนั้นไปพัฒนาบุคลากร  
ถ้าคนที่อยู่ในตึกนั้นไร้ความสามารถ ตึกใหญ่ไฮเทคแค่ไหนก็ไร้ความหมาย

ส่วนข้อ 3 นั้นจริงๆมากเลยครับ เด็กสมัยนี้สนใจแต่ว่าข้อสอบจะออกอะไรจะได้ไปอ่านให้ตรงกับข้อสอบเท่านั้น ส่วนที่ไม่จำเป็นอย่าอ่าน

หากคนจะประสบความสำเร็จต้องมี attitude ที่นำไปสู่ความสำเร็จฉันใด ประเทศชาติจะศิวิไลซ์ก็ต่อเมื่อมี public attitude ที่ถูกต้องฉันนั้น
บันทึกการเข้า
HotChoc
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 ก.พ. 06, 18:47

 ผมมองว่าการสอนประวัติศาสตร์ก็ควรสอนไปตามเนื้อผ้าน่ะครับ กรุงศรีฯถูกพม่าตีแตกสองครั้งจริง ก็สอนไปตามสาเหตุว่าทำไมอยุธยาสู้ไม่ได้ ก่อนหน้านี้ก็ต้องสอนว่าอยุธยากระทบกระทั่งกับพม่าเรื่องอะไร คือให้มองเห็นสาเหตุด้วยน่ะครับ แล้วตลอดประวัติศาสตร์อยุธยา 400 ปีนี่ไม่มีช่วงที่ดีกับพม่าเลยหรือครับ ตอนที่สยามถูกอังกฤษฝรั่งเศสแบ่งดินแดน ก็ควรสอนเรื่องพม่าเสียเมืองด้วย นอกจากจะเป็นการเปรียบเทียบนโยบายที่แตกต่างกัน ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ายุคที่พม่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของเราจบไปแล้ว
บันทึกการเข้า
Histor
อสุรผัด
*
ตอบ: 20

นักดนตรี


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ก.พ. 06, 06:54

 การที่จะให้คนในชาติรักความเป็นชาติของตัวเองนั้น ผมว่าอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยนะครับ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างในเรื่องการภูมิใจในความเป็นไทย เพราะ"ตัวอย่างที่ดี  มีค่ามากกว่าคำสอน" ถ้าเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหน มันก็ย่อมมีผลให้เราคล้อยตามได้เช่นกัน หรือชี้ให้เห็นถึงประโยชน์
บันทึกการเข้า
อ๊อฟ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167

SIIT, TU


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 ก.พ. 06, 17:18

ผมเห็นด้วยกับหลายท่าน ว่า "ชาตินิยมเพียงอย่างเดียว" ไม่ได้ช่วยให้ชาติเจริญ แต่ผมก็เห็นประเด็นของ Dr Yu ที่ชี้ว่า มันมีผลมากระดับนึงเลยทีเดียว ที่จะช่วยพัฒนาประเทศนี้

ผมชอบอันนี้
"ครั้งหนึ่งว่ากันว่าในการประมูลซื้อรถของกรมตำรวจเกาหลีใต้ บริษัทอเมริกันเข้ามาเสนอราคาคันละ 1 วอน กรมตำรวจเกาหลียังไม่เอาเลยครับ แต่กลับไปซื้อฮุนไดแทน เพราะเค๊ามองในมุมว่าซื้อรถในประเทศหนึ่งคันมันก็จะเกิดการจ้างงานเป็นห่วงโซ่ยาวเหยียด"
ผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก แต่ผมชอบแนวคิดที่ Dr Yu ยกนี้ ถ้าคิดสั้นๆก็เห็นว่า ซื้อรถคันละหนึ่งบาท ประหยัดตังค์กว่าตั้งเยอะทำไมจะไม่เอา แต่ถ้าคิดยาวๆ เงินที่ต้องจ่ายเยอะกว่ามันวนทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นลูกโซ่

จริงอยู่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเมืองไทย มักจะด้อยกว่าต่างประเทศ แต่ถ้าเรารักชาติแล้วยอมทนใช้มัน โดยมองเป็นว่าเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม บริษัทก็กำไร มีตังค์จ้างงานต่อเนื่อง แรงงานก็มีงานทำ มีกำไรไปทำวิจัย พัฒนาให้มันอยู่รอดและมีแรงไปสู้กับต่างชาติได้ นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต้องบ่นตกงานเหมือนทุกวันนี้ (บริษัทไทยที่มีหน่วยวิจัยเองมีไม่กี่แห่งในประเทศ AIS เป็นหนึ่งในนั้น - แต่มันเกิดได้เพราะมีกำไรมากพอที่จะทำให้มันเกิด) ก็เกิดนักการตลาดเก่งๆไปสู้กับสิงคโปร์ ฮ่องกง - จริงๆลูกโซ่มันอาจจะยาวกว่าที่เรามองเห็นอีกเยอะ แต่ถ้าเราไม่ยอมใช้มัน บริษัท(และวงจรลูกโซ่)ก็ล้มพับตั้งแต่แบเบาะ

แต่คนส่วนใหญ่(รวมถึงผมด้วย) ยังเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นของตัวเองอยู่ เพราะเราไม่เคยถูกปลูกฝังให้รู้จักรักประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ถ้าถามคนส่วนใหญ่(ซึ่งรวมผมด้วย) ว่าจะซื้อรถที่ผลิตในเมืองไทยมั้ยแม้มีตังค์พอจะซื้อรถนอก คำตอบที่น่าจะได้รับคือ "ไม่" สันดานของผมมันแก้ลำบากแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากสอนให้ลูกผมตอบว่า "ซื้อครับ"
บันทึกการเข้า
อาจารย์โกย
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 ก.พ. 06, 01:44

 เห็นด้วยกับคุณอ๊อฟนะครับ

แต่ยังไงก็จะพยายามขุดสันดอนของตัวเอง (มีคนบอกว่า สันดอนขุดได้ สันดานขุดไม่ได้ ยิ้มกว้างๆ) เดี่ยวนี้ก็เบื่อ brand name มาก ๆ ผมว่าของไทยก็ดูเก๋ดีออกนะ แต่ผมถือย่ามหรือกระเป๋าสานไปข้างนอกมีแต่คนมอง ยิ้มกว้างๆ ไม่รู้ว่ามองในแง่ไหน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.097 วินาที กับ 19 คำสั่ง