เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 5881 พระสิทธัตถะศักดินาฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพ
สมวัย
อสุรผัด
*
ตอบ: 1

อาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ-สามพราน อาจารย์ผู้อำนายการสถาบัน(ปรัชญา)เอสเอ็ม-ปรัชญาว


 เมื่อ 13 ก.พ. 06, 18:59

 ผมไปพบบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนไว้เมือเกือบ 50 ปีมาแล้วโดยผู้ยิ่งน้อยก็เลยเอามาให้อ่านกันเพื่อเป็นพุทธบูชา ถ้าใครพบแล้วไม่อ่านเพราะเห็นยาวแล้วจะเสียใจ
พระสิทธัตถะศักดินาฝ่ายชนกรรมมาชีพแห่งอินเดีย
ศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.นั้นเป็นสมัยทุกข์ยากของประชาชนโดยแท้ทั่วทุกมุมโลก ชนชั้นปกครองทำการกดขี่และขูดรีดประชาชน นักศาสนาผู้สามารถลวงให้ประชาชนเชื่อถือได้ต่างก็ไปเข้ากับฝ่ายชนชั้นปกครอง และพยายามช่วยกันรักษาเอกสิทธิ์ผูกขาดอำนาจปกครองเพื่อการขูดรีดของพวกเขาไว้ให้คงอยู่ตราบชั่วนิรันดร ทั้งนี้เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ มันเป็นจุดยอดแล้วแห่งความเสื่อมศีลธรรมของมนุษย์ สมัยทองของผู้ดีมีทรัพย์ นั้นที่แท้แล้วย่อมเป็นสมัยทรชนโดยแท้ หากเราจะกล่าวว่าเป็นกลียุคก็หาผิดไปไม่
กลียุคคราวนั้นจึงผลิตราษฎร์บัณฑิตขึ้นมาในโลกหลายท่านด้วยกัน แม้ท่านเหล่านี้ มิได้ทำอะไรมากไปกว่าเพียงแค่ให้ความสว่างแก่ประชาชนก็ตาม แต่โดยอิทธิพลแห่งความสว่างอย่างนี้กลียุคก็ได้บรรเทาความเดือด ร้อนทั้งในทางกายและทางใจของประชาชนผู้ยากไร้ลงไปได้บ้าง
ในประเทศกรีก โซกราเตสและสานุศิษย์ของเขา คือพลาโต้กับอริสโตเติ้ลได้เสนอปรัชญาค่อนข้างก้าวหน้าให้แก่โลก ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นปรมาจารย์แห่งวิทยาการสมัยใหม่ทั้งสิ้น ในเปอร์เซียลัทธิแห่งแสงสว่างคือโซโรอัสเตอร์ ได้ออกเที่ยวสั่งสอนให้ประชาชนให้รู้จัก อหุระมัชดา พระเจ้าแห่งแสงสว่าง  ทั้งนี้ก็เพื่อให้บรรดาทรชนทั้งหลายเข้าใจถึงความเสียหายในการกระทำของตัว ขงจื๊อและเล่าจื๊อเกิดมาช่วยประชาชนชาวจีน
ในปีที่ 543 ก่อนคริสต์ศักราช อันเป็น ยุคทอง ของโลกซึ่งผลิตปราชญ์ทางวิชาการขึ้นมาทั่วทุกมุมโลก ก็ได้มีเจ้าชายรูปงามมีพระนามว่าพระสิทธัตถะกุมารถือกำเนิดขึ้นในราชวงศ์ศากยะอันสูงศักดินาแห่งประเทศ อินเดียพระราชบิดาของพระองค์คือพระเจ้าสิริสุทโธทนะ ทรงเป็นกษัตริย์ครองนครกบิลพัสดุอยู่ในขณะนั้น เพื่อจะช่วยพวกศูทระให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีดจากพวกกษัตริย์และพราหมณ์เช่นเดียวกัน
มันไม่ใช่สมัยทองของอินเดียแม้แต่น้อย ช่วงเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติฯ มันเป็นทุรยุคหรือกลียุค อันเกิดแต่ชนชั้นปกครองและนักศาสนาเป็นต้นเหตุ พระพุทธเจ้าทรงเป็นเพียงปัญญาชนคนหนึ่งที่อยู่ข้างฝ่ายประชาชน เป็นผู้เหลือที่จะทนดูทุรกรรมเหล่านี้ต่อไปได้ จึงทรงอุทิศชีวิตเพื่อการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ของสังคม พระองค์มิใช่พระเป็นเจ้าอะไรที่ไหนมาเกิดเพื่อมาช่วยโลกตามยุคสมัยต่างๆ แล้วแต่โอกาสจะอำนวยเลย พระองค์ทรงเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนในวรรณะกษัตริย (นักรบ) ที่ได้ความรู้จากปรัชญาทุกระบบที่มีในขณะนั้นจากการศึกษา และจากการใคร่ครวญไปจากความจัดเจนในชีวิตของพระองค์โดยแท้
ในพระราชวัง, ชายหนุ่มพระสิทธัตถะทรงถูกห้อมล้อมด้วยนางสนม กำนัลมากมาย อันเป็นธรรมดาของคนโบราณที่อายุ 12-13 ก็มีเพศสัมพันธ์กันแล้วในพระราชวังจึงพร้อมสรรพด้วยสิ่งอันงดงามราวกับที่ศิลปินจินตนาไว้ว่ามีในสวรรค์ฉะนั้น  
เมื่อพระชนมายุยังเยาว์อยู่นั้น พระสิทธัตถะได้ทรงร่ำเรียนพระเวทและวิทยาการต่างๆทั้งในทางพุทธิศึกษาและพละศึกษาทั้งปวงที่มีอยู่ในสมัย นั้น จากคณาจารย์ที่มาสอนถึงพระราชฐาน ประวัติศาสตร์เล่าว่า พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยะจึงเชี่ยวชาญในวิชา การเสียทุกอย่างไป การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ได้ทำให้ทรรศนะมองดูโลกของพระองค์แผ่กว้างออกไปถึงชนชั้นล่าง ฉะนั้นรสทางโลกอันทรงเสพอยู่ตลอดเวลา ในไม่ช้าก็เป็นที่เบื่อหน่ายจืดจางไป ขณะที่พระองค์เติบใหญ่ขึ้น ในท่ามกลางสภาวะบ้านเมืองนอกพระราชวังมีประชาชนที่อดอยากยากเข็ญ การสะสมสภาวะอันแย้งกันอยู่ในพระหฤทัย ในฐานะองค์รัชทายาทที่จะต้องสืบต่อการปกครอง วิทยา การที่ร่ำเรียนมากับความจริงที่พบเห็น จากการกดขี่ของอำนาจรัฐได้ให้ความสว่างแก่พระองค์ว่า นี่หาใช่ทางอันถูกต้องของคนเราไม่ ทางอันถูก ต้องที่จะแก้ไขย่อมมีแน่นอน หากพระองค์เสพสุขอยู่แต่ในพระราชวังต่อไปแล้วก็คงไม่มีทางจะค้นพบคำตอบจึงน่าจะมีอยู่ที่ภายนอกอันเป็นแหล่งแห่ง ผลของปัญหาเหล่านั้น
เมื่อพระองค์ทรงตัดสินพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะแก้ไข จึงต้องค้นหาเหตุเช่นเดียวกับนักบวช ผู้ตระเวนค้นหาสัจธรรมอยู่ก่อนแล้ว พระองค์จึงทรงละทิ้งพระราชวังฐานันดรและความสุขทุกประการที่พระราชบิดาประทาน ให้ ด้วยประการฉะนี้,รัชทายาทพระสิทธัตถะก็ทอนพระองค์ลงเหลือแค่คนยากคนจนเข้ามาคลุกคลีกับประชาชน และครั้นแล้วจิตใจของพระองค์ก็เริ่มเคลื่อนไปสู่จิตใจแห่งมหาชนด้วย จิตของพระสิทธัตถะผู้เคยขูดรีดเอารัดเอาเปรียบได้หลุดพ้นไปเสียจากภาวะที่จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบได้แล้ว
ด้วยประการฉะนี้ความสว่างไสวในจิตใจอันเมตตาก็เคลื่อนมาสู่พระ องค์เป็นลำดับ ในชั้นแรกพระสิทธัตถะทรงมุ่งไปยังกรุงราชคฤหในแคว้นมคธ ที่นั่น,พระองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติศาสนกิจตามวิธีโบราณ กล่าวคือ สมัครรับใช้เป็นสานุศิษย์ของฤๅษีสององค์ชื่ออาฬาระและอุทธกะฤๅษีสองท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งได้ แก่การสาธยายมนต์และการประกอบยัญกรรมต่างๆ วัตถุประสงค์คือผลตอบแทนอันเป็นความสว่างในจิตใจ ความเป็นพุทธะ
พระสิทธัตถะทรงหมั่นปฏิบัติภารกิจอย่างนี้ด้วยความสนใจ แต่ไม่นานเท่าไรนักพระองค์ก็ทรงรู้แน่ว่าพิธีกรรมทางศาสนาเช่นนี้เป็นหมัน พุทธิปัญญาหาเกิดขึ้นได้จริงไม่ ในการสาธยายมนต์และประกอบยัญกรรมนั้นทำจิตให้สงบลงได้ชั่วคราว ผู้ปฏิบัติเป็นสุขด้วยศานติได้ชั่วครู่ แต่มันเป็นความสุขของคนเบาปัญญาเท่านั้น พุทธิปัญญาหลุดพ้นแท้จริงหาเกิดขึ้นได้ไม่
พระสิทธัตถะจึงทรงละทิ้งพระฤๅษีทั้งสองไปเสีย ทั้งนี้โดยทรง เห็นแล้วว่าการสวดมนต์อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาหาได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่มวลมนุษย์ไม่ ตรงกันข้ามมันกลับทำความเสียหายให้แก่มนุษยชาติหนักเข้า โดยต้องเสียแรงงานไปเปล่าๆ เพื่อการประกอบสิ่งของต้องใช้ในพิธีกรรมอันเป็น หมันเหล่านี้ ฉะนั้นด้วยความจัดเจนอย่างนี้ พระสิทธัตถะจึงทรงพยายามที่สุดตลอดชีวิตของพระองค์ในอันที่จะสอนประชาชนให้เลิกเชื่อและเลิกกราบไหว้อ้อนวอนขอผลจากสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสอนให้เลิกจ่ายทรัพย์หรือสิ่งของเป็นพลีกรรมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมิได้มีอยู่เลย เพราะนี่ย่อมหมายความเพียงว่าเป็นการให้วัตถุปัจจัยอย่างฟุ้งเฟ้อแก่นักบวชผู้ถอยหลังเข้าคลองเท่านั้นเอง  
ด้วยการสอนให้เลิกเชื่อในยัญกรรม,พิธีกรรมและการทำบุญเพื่อ หวังผล พวกพราหมณ์เจ้าของศาสนาเดิมกำลังเสียผลประโยชน์จากการบุญของประชาชนลงไป พวกเขาจึงพากันเห็นว่าพระสิทธัตถะผู้นี้คือคนบาป,ที่จะมาทำลายล้างศาสนา มายุยงประชาชนให้เกลียดชังศาสนา ครั้นแล้วพระสิทธัตถะก็ทรงกลายเป็นศัตรูของนักศาสนาไป
ยังมีวิธีการเข้าถึงความสำเร็จอีก คือ วิธีโยคะกรรม เมื่อการอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้ผลอะไรแล้ว การช่วยตัวเองในการก่อกำเนิดปัญญาด้วยการบำเพ็ญโยคะกิจก็น่าจะเป็นผล คิดดังนี้แล้วพระสิทธัตถะก็ทรงดำเนินไปยังกรุงอุรุเวลและทรงฝึกหัดบำเพ็ญโยคะกรรมทันทีที่นั่น,ได้มีพราหมณ์ ห้านายซึ่งเป็นนักปฏิบัติโยคะกรรมเหมือนกันเข้ามาร่วมเป็นสหายแสวงหาธรรมด้วย
เป็นเวลาถึง 6 ปีที่พระสิทธัตถะทรงทรมานพระวรกายด้วยวิธีโยคะกรรมแบบต่างๆแต่จะเกิดผลเป็นปัญญารู้สัจธรรมก็หาไม่ ความเจ็บ ปวดจากการดัดส่วนต่างๆของร่างกายให้ผิดปกติธรรมดา อันเป็น ไปเพื่อการทรมานกาย ยิ่งทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองตามไปด้วย  โยคะกรรมมิได้ชำระจิตให้ผ่องแผ้วด้วยประการใดๆเลย พระวรกาย ที่เคยเปล่งปลั่งเพราะสุขภาพได้ย่นเหี่ยวหงิกงอลงไป ในที่สุดพระสิทธัตถะทรงลองโยคะกรรมเป็นวิธีสุดท้าย คือทรงหยุดเสวยพระกระยาหาร และทรงนึกแต่ในพระหฤทัยว่า
ถ้าไม่สำเร็จในครั้งนี้ ก็ให้มันตายไปเสียเถิด
นับเป็นเวลาถึง 7 ปีที่ทรงออกจากพระราชวังมาเพื่อแสวงหาทางแห่งความหลุดพ้น จากทุกสำนักอาจารย์ที่มีอยู่ในสมัยนั้น ด้วยพิธีกรรมในแบบต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนจะยิ่งห่างไกลออกไปจากสัจธรรม วาระสุดท้ายแห่งความเพียรพยายามทดลองอดอาหาร ผลปรากฏจากการกระทำทำให้พระองค์ซูบผอมจนเหลือรูปร่างไม่ผิดอะไรกับซากศพ ความหิว ความกระหาย ความอิดโรย ยิ่งทำให้จิตของพระองค์มืดมัวเศร้าหมอง เจ็บปวดรวดร้าวไปทั่วทั้งพระวรกายและพระนาภีปริ่มๆจะขาดใจ ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ถือว่าเป็นการทดลองทางศีลธรรมฝ่ายปฏิบัติอย่างถึงพริกถึงขิงทีเดียว พลัน แวบในพระหฤทัย พระองค์ตระหนักว่ามันผิดหมดทุกประการผิดมานานโขอยู่ จะไม่ทรงเดินทางผิดต่อไปแล้ว เป็นที่แน่นอนว่า,การอดอาหาร จะไม่ทำให้บัณฑิตหรือคนยากคนจน ประสบกับความหลุดพ้นอะไรได้เลย แสงสว่างแห่งความคิด เคลื่อนมาสู่พระองค์ที่ตรงนี้
ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด ผู้หวังหลุดพ้น จะต้องมีท้องที่อิ่มเสียก่อน
ช่างเป็นหลักง่ายๆเสียนี่กระไร การแสวงหาสัจธรรมด้วยการลองผิดลองถูกอยู่เจ็ดปี ได้สรุปลงตรงหลักธรรมชาติธรรมดาของชีวิตตรงนี้เอง ฉะนั้นมันก็หมายความว่า
ในการช่วยให้มหาชนพ้นทุกข์และมีศีลธรรมดีนั้นก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด ต้องช่วยให้ร่างกายเขาเป็นสุขด้วยการมีกินให้ท้องเขาอิ่มเสียก่อน และถัด ไปก็ต้องช่วยให้เขามีของใช้สมความปรารถนา ในขอบเขตที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเสียก่อน พ้นไปจากนี้แล้ว การทำให้มหาชนเป็นสุขทางใจด้วยศีลธรรมก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายมาก
เมื่อพระฤทัยสว่าง,พระสิทธัตถะก็ทรงเสวยพระกระยาหารตาม เดิม ส่วนพราหมณ์ทั้ง 5 นั้นโดยที่ติดข้องในทรรศนะเก่า เลยคิดไปว่ารัชทายาทศากยวงศ์เคยดำรงความสบายด้วยศักดินาอยู่ช้านาน คงหมดความเพียรเสียแล้วจึงพากันแยกทางเดินกับพระองค์ไปเสีย
พระวรกายที่สมบูรณ์เปล่งปลั่งเป็นลำดับจากอาหาร พระสิทธัตถะกลับทรงมีจิตใจแจ่มใสพร้อมด้วยปัญญาฟื้นคืนมา คราวนี้แหละ,การคิดถอดหลักอันเป็นกลางออกจากความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนมา ประสานกับประสบการณ์ทั้งหลายทางสังคม การปกครอง และอีก 7 ปีจากวิธีแก้ทุกข์ด้วยศาสนปฏิบัตินานัปการ ทำให้พระองค์เชื่อมโยงเหตุและผลแห่งพฤติกรรมของบุคคลทั้งหลายในโลกได้ จึงในคืนวันเพ็ญวิสาขะบุรณมีแห่งเดือนพฤษภาคม บนอาสนใต้ร่มมหาโพธิ์แห่งเมืองพุทธคยาทรงไตร่ ตรองหาทางแก้ทุกข์ของมหาชนต่อไปปัญญารู้แจ้งกำลังเกิดขึ้นแก่พระองค์ ทีละน้อย ๆ ทรรศนะภาพตั้งแต่ดั้งเดิมได้มาปรากฏแก่คลองจักษุ ความทุกข์ของมนุษย์ ทุกข์ของประชาชน มันเป็นข้อเท็จจริงทางสังคมในเวลานั้น ทุกข์เช่นนี้คนเดียวแก้ทุกข์ไม่ได้ มวลมนุษย์นั่นแหละต้องร่วมช่วยกันแก้ทุกข์อันนี้ พระองค์ทรงคิดต่อไปว่า ทุกข์ของคนเราเป็นเพียงผลของเหตุเท่านั้น หากเราแก้ทุกข์ตรงตัวทุกข์นั้นเอง แต่ ไม่แก้ที่เหตุของมันมันก็จะเกิดขึ้นมาให้เราแก้อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน
แต่อะไรเล่าคือเหตุของทุกข์? เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์? พระสิทธัตถะ ได้ทรงมีมโนภาพถึงความฟุ่มเฟือยหรูหราในพระราชวัง และการแส่หาเพื่อได้ลิ้มรสตัณหาทั้งหลายที่คนเราต้องการในเวลาเดียว กันมโนภาพแห่งคนยากคนจน ได้เวียนวนเข้ามาสลับกับมโนภาพแห่งบรรดาเศรษฐีมหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่มั่วสุมอยู่แต่ในรสกาม
แน่แล้ว,ทรงนึกในพระหฤทัย ทุกข์เกิดจากการที่คนเรามีตัณหากัน ด้วยแรงผลักดันของตัณหา คนเราจะเข้าเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ครั้นแล้วมหาชนที่ไร้โอกาสจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และยากจนลง เพราะผลที่ทำได้ถูกเบียดเบียนขูดเรียดเอาไปเสียเกือบหมด ทุกข์ของประชาชนจึงไม่ได้เกิดจากการเกียจคร้าน ไม่ได้เกิดจากบาปกรรมแต่ชาติก่อนดังคำของพราหมณ์ที่กล่าวอ้างนั้นเลย หากอยู่ที่คนทำไม่ได้กินคนกินไม่ได้ทำ เพราะคนทำเป็นทาส เป็นเสรีชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง คนกินเป็นเจ้าทาสเป็นนายทาสที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งปวงรวมทั้งตัวทาสนั้นเอง
เหตุใหญ่ของทุกข์มหาชนจึงเกิดจากตัณหาของชนชั้นปกครอง  เกิดจากสงครามปล้นแผ่นดินปล้นสมบัติปล้นคนชนเผ่าอื่น เกิดจากนักบวช-พราหมณ์ที่ร่วมมือกันสอนธรรมที่บิดเบือน เพื่อประโยชน์ร่วมกันปกครอง ทำให้คนแตกแยกกันเป็นวรรณะต่างๆ มนุษยธรรมหรือความรักฉันท์พี่น้อง จึงเกิดขึ้นหาได้ไม่ ความร่วมมือระหว่างมนุษย์จึงพลอยไม่มีไปด้วย เมื่อขาดความร่วมมือระหว่างมนุษย์เช่นนี้ ทั้งทุกข์อันเกิดจากคนทำกับคนด้วย กันทุกข์อันเกิดจากความขาดแคลนของธรรมชาติเลยไม่สามารถจะถูกกำจัดไปเสียได้
พระองค์ทรงไตร่ตรองแล้วเห็นว่า  การแก้ทุกข์ของมหาชนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนั่นมันหมายถึงการปฏิวัติต่อชนชั้นปกครองทีเดียว พระองค์ย่อมทำไม่ได้ พระองค์คงทำได้เพียงการปฏิรูป พระองค์คงแก้ได้เฉพาะทุกข์ของเสรีชนชาวอารยันส่วนบุคคลอันเป็น เพื่อนร่วมเชื้อชาติของพระองค์ที่ยากจนเท่านั้น เป็นพวกที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์,ในวรรณะพราหมณ์หรือในวรรณะไวษยะ แต่ตกมาอยู่ในระดับเดียวกับศูทรซึ่งเป็นทาส เพียงเขาไม่ได้ถูกตรึงตรวนถูกโบยตีได้ แต่มีเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหนได้เท่านั้น แต่ยากจนไม่มีสมบัติอะไรเลยต้องทำงานหนักเยี่ยงทาสนั้นมีอยู่มากมาย ทางใดเล่า ที่พระองค์จะช่วยเพื่อนชาวอารยันร่วมสีผิวของพระองค์ได้ พระองค์พบแล้ว มันคืออริยมรรค 8 ประการอันเป็นวิธีแก้ของพวกเขา และนี่ก็เป็นธรรมแต่ดั้งเดิมของชาวอารยันนั้นเองเมื่อยังอยู่เป็นชนเผ่าสมัยประชาธิปไตยบุพกาล ซึ่งบัดนี้ลืมเลือนไปแล้วเพราะระบบศักดินาและระบบทาส พระองค์จำต้องรื้อฟื้นขึ้น อารยันธรรมหรืออริยมรรค อันมีสัมมาอาชีวะเป็นปฐม แต่สัมมาอาชีวะหรือการประกอบอาชีพอย่างไม่ขูดรีด ไม่เบียดเบียนไม่เอารัดเอาเปรียบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ที่ถ่องแท้คือสัมมาทิฐิ เป็นความรู้ในหลักอริยสัจดังที่คิดขึ้นมานี้ สัมมาทิฐิจะทำให้เกิดความนึกคิดที่ชอบ เกิดความดำริชอบ อันจะนำไปยังการกระทำที่ชอบ และการกล่าวที่ชอบ และครั้นแล้วด้วยความยั้งคิดและความพยายามที่ชอบ กิเลสตัณหาทั้งหลายจะปลาสนาการไปจากความมีอำนาจเหนือเรา และเช่นนี้แล้วจิตใจของเราก็จะหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากการเบียดเบียนเพื่อน มนุษย์จนๆที่อยู่ร่วมกันเป็นชนชั้นเดียวกัน แต่ส่วนศูทรชาวพื้นเมืองผิวดำอันเป็นทาสนั้นพระองค์ทรงแตะต้องไม่ได้ ทาสคงเป็นทาสที่ต้องห้ามสำหรับพระองค์ไป เพราะสถาบันของพระองค์ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับองค์กรศาสนาเก่าได้ด้วยวิธีปฏิรูปของพระองค์นี้แหละจึงทำให้พระองค์ คงยืนอยู่ได้ในสังคมสมัยนั้น
เราต้องถือว่าพระศาสดาสิทธัตถะนี้เอง ที่ประมวลทุกข์ไว้เป็นระบบให้มีองค์ 4 ที่พระองค์ให้ชื่ออริยสัจ 4 และค้นพบปัจจยาการแห่งการเชื่อม โยงกันเป็นลูกโซ่ที่เรียกปฏิจจสมุปบาท นี่ต้องถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ทางปัญญาของพระบรมศาสดาสิทธัตถะทีเดียว
จึงเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสมัยนั้น  เพราะมันเป็นการต่อต้านองค์การศาสนา องค์การปกครองของสมัยนั้นทีเดียว    ต้องไม่ลืม,พระองค์เป็นศักดินา แต่สัจธรรมของพระองค์มีนัยยะคัดค้านศักดินา พระองค์กลับยืนอยู่ฝ่ายประชาชนผู้ถกกดขี่ขูดรีด เสรีชนชาวอารยันจึงอ้าแขนรับศาสนาธรรมของพระองค์ทันที แม้แต่ทาสผิวดำก็แอบชื่นชมพระองค์เพราะมันตรงกับความเชื่อของประชาชนผู้ทำงานแตะต้องอยู่กับสสารโลกตลอด เวลานั้น เขาเห็นมันอยู่ว่าวัฒนธรรมทางวัตถุทั้งปวงที่ชนชั้นปกครองเสวยสุขอยู่นั้น เขาเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น ไม่มีพระเป็นเจ้าองค์ใดสร้างมันเลย พระองค์มีประชาชนยันอยู่เบื้องหลังพระองค์แล้ว เพราะธรรมของพระองค์ยืนอยู่ข้างประชาชน การสอนธรรมของพระองค์จึงดำเนินต่อไปได้
เมื่อเสด็จไปโปรดพราหมณ์ทั้งห้า ผู้เคยร่วมแสวงธรรมเช่นพระองค์ ด้วยเวลาไม่กี่นาทีที่แสดงธรรม พระองค์ก็ได้สหายธรรมทันที กองทัพธรรมย่อยๆเคลื่อนไปสู่ป่ากวางแห่งเมืองสารนาถ พ้นเมืองพาราณสีในปัจจุบันนี้ไป  จากสารนาถกลับไปอุรุเวล ในคราวนี้ได้มหากัศปะและน้องชายสองคนเป็นสาวกอีก เมื่อได้สาวกเอกคนนี้แล้ว กองทัพธรรมก็เคลื่อนสู่กรุงราชคฤห ที่นั่น,พระองค์ได้พระเจ้าพิมพิสารเป็นองค์อุปถัมภก โดยมอบสวนป่าใกล้พระราชวังนั้นเองเป็นสถานเผยแผ่สัจธรรม จึงนับได้ว่าองค์การพุทธศาสนาปักหลักเริ่มต้นขึ้น ณ ที่นี้ ที่ๆทรงให้ความสว่างแก่มหาชนต่อมา
กิตติศัพท์ของพระองค์ได้เลื่องลือระบือไปไกล ประชาชนหลั่งไหลกันมาฟังความสว่างจากพระองค์ บรรดาทรชนทั้งหลายต้องตะลึงงัน เมื่อเห็นมหาชนมาจับกลุ่มกันเข้าได้ด้วยลัทธิอย่างใหม่ชนชั้นปกครองและพราหมณ์ เจ้าศาสนาเดิม จำต้องเพลาการกดขี่ขูดรีดของตนลงไป เพราะการเปิดโปงเรื่องตัณหาจากปรมาจารย์ใหม่พระองค์นี้ ปรัชญาและลัทธิอันล้าสมัยของพราหมณ์ได้อับเฉาลงไปด้วยสัจธรรมอย่างใหม่   พิธีกรรมทางศาสนาต้องถูกกระเทือนถึงรากเหง้า ลาภผลของพราหมณ์ต้องด้อยลงไป แล้วด้วยประการฉะนี้ พระพุทธ องค์จึงกลายเป็นคนบาปเป็นผู้ทำลายล้างศาสนาของพวกนี้ เป็นสัตรูต้องหมายประหาร จำต้องหาทางแก้ไข
พระศาสดาสิทธัตถะถูกสะกดรอยตาม มีหลายครั้งที่พราหมณ์ปัญญา ชนถูกส่งเข้าปะฝีปากทางปรัชญากับพระองค์ แต่ใครเล่าจะสามารถชนะกับหลักการอันเป็นสัจธรรมได้ ความพ่ายแพ้ของบัณฑิตผู้ล้าสมัยเหล่านี้เอง กลับช่วยกระพือปัญญาของพระองค์ต่อไปอีกแล้วใครเล่าจะประหารพระองค์ ได้เมื่อพระองค์ถูกห้อมล้อมด้วยกองทัพธรรมที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้เสียแล้ว
ศาสนาพราหมณ์อับเฉาลง ชวาลาแห่งศาสนาพุทธลอยเด่นขึ้นแล้วทั่วดินแดนแห่งมหาภารตะ การแบ่งชนชั้นวรรณะทำทีจะเสื่อมลง เพื่อการประนีประนอม,พระพุทธองค์ทรงสอนว่า คนเราย่อมเป็นไปตามกรรมที่เขาทำ กษัตริย์เป็นกษัตริย์ได้เพราะการรับใช้ประชาชนในด้านการรบพุ่งแต่จะไม่เป็นอะไรได้เลยด้วยการสืบสันตติวงศ์ พราหมณ์คือผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนจนมีปัญญาขึ้นมาแล้วและได้รับใช้ประชาชนในการเผยแผ่ความรู้ให้ ไวษยะคือผู้รับใช้กสิกรในการแลกเปลี่ยนสินค้า และศูทระนั้นหากหมายถึงคนถ่อยๆแล้วก็จะเป็นคนในวรรณะใดก็ได้ที่ประพฤติตนเลวทราม ในเวลาเดียวกันนี้ มหาชนส่วนใหญ่ย่อมเป็นมนุษย์ผู้รับใช้พวกกษัตริย์พราหมณ์และไวษยะ ทางด้านผลิตของกินและของใช้แลกเปลี่ยนกัน และด้วยประการฉะนี้ จึงไม่ได้เลวชาติกว่าใครเลยแม้แต่น้อย หากว่ามหาชนเหล่านี้จะเลื่อมใสมาบวชเป็นภิกขุในพุทธศาสนาแล้วไซร้ เขาก็เป็นคนที่สมควรถูกกราบไหว้ได้ตั้งแต่มหากษัตริย์ลงมาทีเดียว การแบ่งชั้นวรรณะจึงสั่น สะเทือนไปถึงรากเหง้า
การสอนว่า คนเราย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา จิตหรือวิญญาณของเขาจะเป็นอย่างที่เขาประพฤติ แต่จะไม่เป็นสิ่งอันมีลักษณะถาวรอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบอาตมันของพราหมณ์
นี่ก็เป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของพระสิทธัตถะ ที่ปฏิเสธเรื่องการมีของตัวตนหรือวิญญาณอันเป็นเอก พระสิทธัตถะกล่าวว่าตัวตนหรือ วิญญาณของมนุษย์นั้นมี แต่มีอย่างเกี่ยวพันกับร่างกายและสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะเปลี่ยนไปได้ในเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มันมิใช่สิ่งที่เป็นเอก มีอยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับสิ่งใด
หลักอนัตตาของจิตและสรรพสิ่ง เป็นความยิ่งใหญ่ทางปัญญาของศาสดาพระสิทธัตถะที่ค้นพบ เพราะมันล้มความเชื่อในเทพเจ้าของพราหมณ์ที่สร้างไว้ทั้งหมดทีเดียว คือ ไม่มีเทพเจ้าอันเป็นจิตอัตตาที่แท้จริงเลย เป็นหลอกให้ทำบุญให้แก่พราหมณ์เท่านั้นเอง
หลักยิ่งใหญ่อีกหลักหนึ่งก็คือ หลักอนิจจัง ทุกสิ่งเป็นอนิจจังหา ใช่เป็นสิ่งถาวรไม่ ไม่มีสิ่งใดเป็นนิจจังเป็นนิจนิรันดรเลย หลักใหญ่ๆ คือหลักอนิจจัง หลักอนัตตา หลักอริยสัจ 4 และหลักปฏิสัมพันธ์เป็นปัจจยาการ-ปฏิจจสมุปบาทต่อกัน เหล่านี้คือการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของบรมศาสดาพระสิทธัตถะเมื่อประมาณ 2500 ปีมาแล้ว
ลัทธิอัตตา-ลัทธิพรหมของพวกพราหมณ์ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก ลัทธิมนุษยธรรมได้เข้ามาแทนที่ การเสียผลประโยชน์ทางลาภผลและการเสียอำนาจลงไป ทำให้พวกพราหมณ์ต้องจ้องจองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา
จึงมาในวันหนึ่ง ขณะพระองค์ทรงหยุดอยู่ที่หมู่บ้านปาวานั้นจาระบุรุษนามว่าจุนทะ เป็นช่างทองผู้เป็นเศรษฐี ก็นำอาหารมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงฉันและให้ศีลให้พรแล้วก็ลาจากไป แต่ในคราวนี้พระองค์ทรงรู้สึกร้อนรุ่มไปทั่วพระวรกาย และตระหนักดีว่าจะต้องสวรรคตด้วยเหตุนี้ เพราะมันเป็นอาการของผู้ที่ถูกวางยาพิษด้วยสารหนูแท้ๆ
ด้วยการมีอหิงสา,พระพุทธองค์ทรงเรียกพระอานนท์มหาเถระมาสั่งว่า
จงบอกกับนายจุนทะว่า ขออวยพรให้ผลอานิสงส์ที่นำอาหารมาถวาย จงปรากฏเป็นความสุขและปัญญาเห็นธรรมเถิด
ครั้นแล้วในท่ามกลางแห่งพุทธบริษัท ผู้มีใบหน้านองน้ำตา สมเด็จพระสมณะโคดมก็ทรงผ่านเข้าสู่ปรินิพพาน คำสุดท้ายของพระองค์ที่ว่า
จงถือเอาธรรมและคณะสงฆ์เป็นที่พึ่งของโลกแทนอาตมาเถิด ย่อมเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายถึงหลักการของพระองค์ในอันที่จะให้มนุษย์พึ่งตัวเองและเป็นที่พึ่งระหว่างกันเอง
ด้วยลักษณาการอันประนีประนอมต่อศัตรูทั่วหน้า ศาสนาของบรมศาสดาพระสิทธัตถะ จึงถูกชนชั้นปกครองและพราหมณ์บิดเบือนให้ถอยหลังเข้าคลองตามเดิมภายหลังเมื่อพระองค์ทรงเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว นาครชุนนักคิดฝ่ายพราหมณ์ตัวเอก ได้ดัดแปลงมนุษยธรรมของพระพุทธองค์ให้กลายเป็นลัทธิกึ่งฮินดูกึ่งพุทธไป
โดยการกระทำ ดังนี้ได้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายมหายานและเซ็นขึ้น พุทธศาสนาที่แท้ถูกกีดกันและถูกขับไล่ออกจากอินเดียโดยชนชั้นปกครองและพวกพราหมณ์ พุทธศาสนาของพระศาสดาพระสิทธัตถะได้สูญไปจากโลกแล้ว ทุกวันนี้จึงไม่มีองค์กรพุทธศาสนาของพระศาสดาสิทธัตถะ ณ ที่ใดในโลก คงมีก็แต่องค์กรศาสนาพราหมณ์ในนามพระองค์เท่านั้น
มหาชน,จึงจำต้องพลิกฟื้นพุทธศาสนาที่แท้จริงขององค์พระบรมศาสดาสิทธัตถะ, นักบุญของมหาชนขึ้นมาใหม่ เพื่อผลทางศีลธรรมของมหาชนและของโลกอย่างแท้จริง
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ก.พ. 06, 19:30

 คุณ สมวัยคะ เวลาจะโพสต์ยาวๆ ช่วยกรุณา

1) ขึ้นพารากราฟใหม่บ้าง
2) ทำให้คอลัมน์แคบลงเหมือนหนังสือพิมพ์น่ะค่ะ คุณต้องกด enter เมื่อพิมพ์ไปได้บรรทัดครึ่ง
ทดลองดูคอลัมน์ของดิฉันจะแคบกว่าคอลัมน์คุณ ผู้อ่านจะได้กวาดสายตาได้ง่ายจากซ้ายไปขวา
เมื่ออ่านจะได้ไม่หลงบรรทัดอีกด้วยค่ะ

นั่งหน้าคอมพ์นานๆ ยิงเลสิกไปแล้วครั้งหนึ่งค่ะ ถ้าเพ่งมากๆ กลัวว่าสายตาจะเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ช่วยกันได้ ก็ช่วยกันหน่อยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ก.พ. 06, 21:09

 บทความนี้ ขอประณามอย่างไม่เกรงใจเลยว่าเอาพุทธศาสนามาเขียนมั่วซั่ว เป็นอันตรายสำหรับความเข้าใจของชาวพุทธ ต่อหลักธรรมอันแท้จริง

สิ่งที่เขียนเป็นการ"ยำ" พระพุทธประวัติเข้ากับแนวคิดแบบสังคมนิยม ประเภทที่เฟื่องฟูกันอยู่เมื่อ ๓๐ -๔๐ ปีก่อน
ผู้เขียนบทความเองจะมีเจตนาไม่ดี หรือเขียนด้วยความไม่รู้เท่าทันก็ตาม   ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเผยแพร่ต่อไปอีก

ดิฉันจะบล็อคกระทู้นี้ไว้ก่อน แล้วจะมาอธิบายให้ฟังภายหลังถึงสภาพสังคมอินเดียสมัยพุทธกาล  ที่ไม่ได้เป็นอะไรอย่างบทความนี้กล่าวอ้าง
ตลอดจนความจริงว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 20:08

 ยิ้มแป้นอีกแล้วเรา

"..ดังนี้ได้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายมหายานและเซ็นขึ้น..."

จริงหรือ?
บันทึกการเข้า
เหลนนางพญา
อสุรผัด
*
ตอบ: 39

หมื่นลี้ ย่อมมีก้าวแรก


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 21:14

 ควรใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความข้างบนให้มาก ๆ ครับ

ปัจจุบันมีนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาหลายท่านทั้งในและต่างประเทศ  พยายามที่จะนำ "แนวคิด" ของคนในปัจจุบัน และ "เหตุการณ์" ในปัจจุบันไป "ยัดเยียด" ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล

เพื่อให้เห็นภาพผมขอยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์ที่ผมเคยอ่านเจอครับ

เช่น นักวิชาการจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายท่าน เนื่องจากได้รับอิทธิจากแนวคิดสังคมนิยม จากระบบการศึกษา ก็มักจะอธิบายเหตุผลในการออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะว่า "เพราะพระองค์ทรงเห็นระบบชนชั้นอันไม่เสมอภาคของสังคมอินเดีย เลยต้องการปฏิวัติระบบใหม่ เพื่อต้องการให้สังคมเสมอภาค"

แต่แท้จริงจากหลักฐานที่บันทึกจากพระไตรปิฏกได้มีการกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระองค์ออกบวช เพื่อต้องการหาวิธีช่วยสรรสัตว์ให้หลุดพ้นจากภัย จากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครับ

หรือ มีการกล่าวว่า สาเหตุที่พระองค์ทรงเลือกที่จะออกบวช ไม่เลือกที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็เพราะว่า โดนบีบจาก"ภัยการเมือง" เพราะกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่าง แคว้นใหญ่สองแคว้น คือแคว้นโกศล และแคว้นมคธ พระองค์เลยเลือก "ออกบวช" เพื่อบรรเทาความกดดันจากภัยการเมือง

แต่จากพระไตรปิฏก ได้มีการบันทึกว่า เพราะพระองค์ทรงเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว และเห็นว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ยังไม่พ้นภัยในวัฏฏสงสาร เลยเลือกที่จะออกบวช เพื่อหาทางช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นภัยในวัฏฏะสงสารครับ

บทความนี้ก็มีลักษณะเดียวกันครับ ผมจึงขอร่วมประณาม บทความนี้ร่วมกับ อ.เทาชมพูด้วยคนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.พ. 06, 13:26

 ขอปูพื้นย่อๆถึงสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลก่อนนะคะ

สังคมในสมัยที่พระพุทธเจ้าประสูติในฐานะเจ้าชายสิทธัตถะ  เป็นสังคมหลังจากอารยันแผ่อิทธิพลเข้ามาในชมพูทวีปแล้ว  มีศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นศาสนาใหญ่  มีคัมภีร์สำคัญเรียกว่าพระเวท เป็นตัวบทสำคัญของศาสนา

เมื่อพวกอารยันเข้ามาตั้งหลักปักฐานอยู่ในอินเดียไม่นานนัก เกิดการแต่งงานข้ามเชื้อชาติระหว่างอารยันและคนพื้นเมือง
เมื่อชักจะหนาตาขึ้นก็ทำให้อารยันผู้ซึ่งทะนงในตัวเองว่ามีอารยธรรมเหนือกว่า เกรงว่าสายเลือดจะจางลง  
จึงเริ่มเรียกร้องให้ทุกคนรักษาเผ่าพันธุ์อันแท้จริงของตนไว้ ทำให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะ ราวสมัยฤคเวทตอนปลาย

วรรณะในตอนแรกแบ่งตามหน้าที่บทบาทในสังคม มี 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ (พระ, นักบวช ผู้ให้ความรู้) กษัตริย์ (นักรบ), แพศย์ หรือไวศยะ ( พ่อค้า) และศูทร (คนใช้แรงงาน)
แต่ศูทรก็ยังไม่ใช่พวกต่ำสุด   ต่ำสุดคือ พวกจัณฑาล เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะ เป็นที่รังเกียจของวรรณะอื่นๆ

แต่ละวรรณะแม้ว่าอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน   มีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องพบเจอกันและอาจจะต้องทำงานร่วมกัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ก็อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่   ไม่คบค้าสมาคมกับวรรณะอื่นๆโดยเฉพาะวรรณะต่ำกว่า  
ไม่ปะปนกันโดยเฉพาะในการสมรส  นิยมสมรสกันแต่ในวรรณะเดียวกัน
แต่ถ้าชายในวรรณะสูงกว่าจะมีภรรยาในวรรณะต่ำกว่าก็ทำได้     แต่หญิงในวรรณะสูงกว่าจะมีสามีที่วรรณะต่ำกว่า ไม่ได้

ขอให้สังเกตว่าผู้ที่เขียนบทความนี้  (เจ้าของกระทู้ไม่ระบุชื่อว่าเป็นใคร    นับว่าผิดสังเกตมากสำหรับการเขียนบทความเชิงวิชาการ)
ไม่เอ่ยถึงพวกจัณฑาลเอาเลย  ทั้งที่เป็นกลุ่มที่อยู่ในสังคมอย่างลำบากกว่าเพื่อน
กลับไปเน้นวรรณะศูทร  เพราะสอดคล้องกับแนวคิดสังคมนิยมซึ่งมีเป้าหมายเชิดชูชนชั้นแรงงาน  
แต่จัณฑาลคงไม่ลงล็อคสังคมนิยม   ก็เลยข้ามไปเสียดื้อๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 ก.พ. 06, 12:45

 มาพูดเรื่องศาสนาในชมพูทวีป ยุคก่อนพุทธศาสนาเกิดขึ้นกันบ้าง
ศาสนาใหญ่คือศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู

หลักความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มีอยู่ว่า มนุษย์ย่อมเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏ เพราะบุญกรรมที่ทำอยู่  
การกระทำดีหรือชั่วจากชาติหนึ่งย่อมส่งผลตามไปอีกชาติหนึ่ง  ไม่มีที่สิ้นสุด  
การมีชีวิตอยู่จึงเป็นความทุกข์อันเกิดจากมายาไร้แก่นสาร ชาติแล้วชาติเล่าไม่จบสิ้น

พวกเขาก็ขวนขวายให้บรรลุถึงสัจธรรม คือนำ"อัตตา" หรือแก่นแท้ของตัวตนแท้จริงของมนุษย์แต่ละคน เข้ารวมเป็นสิ่งเดียวกับ "อาตมัน"หรือพระพรหมได้สำเร็จ
เพื่อบรรลุสู่ความเป็นอมตะ  รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพรหม นั่นแหละคือหลุดพ้นจากสังสารวัฏ  
ความหลุดพ้นนี้คือ โมกษะ หรือนิพพาน

เมื่อมนุษย์มุ่งเข้าสู่พระพรหม  บรรลุในความเป็นอันหนึ่งเดียวของอาตมันในตนกับพระพรหม เขาก็จะบรรลุถึงโมกษะ ไม่ทุกข์ทรมานในสังสารวัฏอีกต่อไป
โยคะเป็นวิธีหนึ่งที่จะบรรลุถึงจุดหมายอันสูงส่งนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ก.พ. 06, 12:56

 ชายชาวฮินดูในวัยหนุ่มจะเป็นผู้ครองเรือน มีภรรยามีบุตรไว้สืบสกุลต่อไป    
จนกระทั่งบุตรชายเติบโต  พ่อเข้าสู่วัยชรา  เขาก็มอบสมบัติทั้งหมดให้บุตรชายดูแลต่อไป ไม่ไยดีกับทางโลกอีก
ตัวเองก็จะออกจากบ้านมาเป็น "อนาคาริก" (แปลว่าผู้ไม่มีบ้าน) เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น  
แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อถือเลื่อมใสในนิกายไหน หรือเลือกวิธีปฏิบัติแบบไหนเพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ

พวกนี้ละค่ะที่ไปอยู่ในป่าเป็นฤๅษี โยคี นักบวช  แล้วแต่จะเลือกนิกายหรือสำนักที่ตัวเองศรัทธา    
บำเพ็ญ "ฌาณ" ซึ่งมีหลายขั้น จากขั้นต้นไปจนขั้นสูง  

ในการบำเพ็ญฌาณสมาบัติขั้นละเอียดสุขุมถึงสูงสุด ผู้บำเพ็ญก็จะรู้สึกว่าความเป็น "ตัวตน" ของเขาหายไป  
เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาตมัน    ถือว่านี่คือการบรรลุธรรมแล้ว

พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ก็ทรงแสวงหาวิธีหลุดพ้นจากสังสารวัฏอยู่หลายปี   ทรงศึกษาอยู่ในสำนักต่างๆแต่ก็ทรงเห็นว่า..ยังไม่ใช่
จนกระทั่งทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จะเห็นได้ว่ามันเป็นคนละเรื่องกับบทความยำใหญ่ของเจ้าของกระทู้นำมาลง
อ้างอีกว่านำลงในเน็ตเพื่อเป็นพุทธบูชา  
สมควรแก่ถูกประณามว่านี่แหละคือวิธีหนึ่งของการบ่อนทำลายพุทธศาสนา  โดยปั้นเรื่องบิดเบือนนำพุทธประวัติไปรับใช้แนวคิดการเมือง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ให้เยาวชนและผู้ที่ยังไม่เข้าใจพุทธศาสนา เกิดความไขว้เขวได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 14:50

 ในพุทธประวัติ  กล่าวว่าพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติสุดท้ายเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติจากพระนางสิริมหามายาพระมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์

หลังจากประสูติ   พราหมณ์ผู้มีความรู้ในเรื่องทำนายอนาคตได้ทำนายพระราชกุมารว่า  ถ้าอยู่ในราชสมบัติจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวชจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า    

เจ้าชายจึงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยความสุขสำราญทางโลกประการต่างๆ สมกับเป็นราชกุมาร  
อันที่จริงเราก็คงพอเดาได้ว่าไม่ว่าจะมีคำทำนายหรือไม่ก็ตาม   พระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ก็ย่อมจะทรงเลี้ยงพระราชโอรสแบบเจ้านายอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 14:51

 แต่พระราชกุมารไม่ได้ทรงติดข้องอยู่กับความสุขในปราสาทราชวัง   ทรงตระหนักถึงความทุกข์จากเกิด แก่ เจ็บ ตาย
แล้วยังจะต้องวนเวียนมาเผชิญซ้ำซากในสังสารวัฏ
จึงละทิ้งราชสมบัติ เสด็จออกแสวงหาการบรรลุโมกษธรรม

ไม่ใช่ว่าทรงเห็นว่าอำนาจรัฐกดขี่ชนชั้นล่าง  แล้วเลยเสด็จออกผนวชค้นหาหนทางจะช่วยพวกศูทร อย่างที่อ้างอย่างเหลวไหลไร้ความจริงในบทความข้างบนนี้  
มันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันตรงไหน
เพราะถ้าหากว่าทรงเห็นว่าสังคมมีการกดขี่ข่มเหงกันจริง  ก็ไม่เห็นจะต้องเสด็จออกจากบ้านเมืองไปทำไม  
ทรงอยู่อย่างเดิม รอเป็นพระราชาขึ้นครองราชย์   แล้วมีพระราชโองการห้ามพราหมณ์และขุนนางเลิกกดขี่พวกชนชั้นล่างก็น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า

ข้อพิสูจน์จากในพุทธประวัติ คือเมื่อเสด็จออกแสวงหาสัจธรรมจนบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
๔๕ ปีที่เสด็จไปเผยแพร่พระศาสนา ก็ไม่เห็นจะทรงย้อนกลับมาเรียกร้องบ้านไหนเมืองไหนให้เปลี่ยนวิธีการปกครองเลยสักครั้ง  
มีแต่เผยแพร่พระธรรม และมีบางครั้งที่ทรงระงับยับยั้งการรบราฆ่าฟันระหว่างกษัตริย์ระหว่างแคว้น   ซึ่งเราย่อมเห็นว่าปาณาติบาตเป็นข้อห้ามข้อแรกของพุทธศาสนาเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 15:06

 นอกจากบิดเบือนพระประวัติของพระพุทธเจ้าแล้ว  เจ้าของบทความยังแต่งเรื่องเท็จขึ้นมาใหม่ถึงเรื่องอาฬารดาบสและอุทกดาบส อีกด้วย

"พระองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติศาสนกิจตามวิธีโบราณ กล่าวคือ สมัครรับใช้เป็นสานุศิษย์ของฤๅษีสององค์ชื่ออาฬาระและอุทธกะฤๅษีสองท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งได้ แก่การสาธยายมนต์และการประกอบยัญกรรมต่างๆ วัตถุประสงค์คือผลตอบแทนอันเป็นความสว่างในจิตใจ ความเป็นพุทธะ"

ไม่จริงค่ะ เจ้าของบทความปั้นน้ำเป็นตัวเกี่ยวกับเจ้าสำนักทั้งสอง  ในพุทธประวัติก็คือ
อาฬารดาบส และอุทกดาบสไม่ได้เป็นเจ้าแห่งพิธีกรรมศาสนา  แต่เป็นนักบวชเจ้าของสำนักที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ในด้านบำเพ็ญฌานสมาบัติเพื่อการหลุดพ้นจากเวียนว่ายตายเกิด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 15:11

 ขออธิบายว่านักบวชก่อนสมัยพุทธกาลได้บำเพ็ญสมาธิและฌานสมาบัติ มาก่อนแล้ว  ไม่ได้เพิ่งมีในพุทธศาสนา  
นักบวชบางคนก็สามารถเข้าสู่ฌานสมาบัติขั้นสูง จากการทำสมาธิ มีวิธีการอยู่หลายแบบเช่นกล่าวคำโอม คือ อะ-อุ-มะ ซ้ำๆ กันเพื่อให้จิตนิ่งเป็นสมาธิ หรือพิจารณาลมหายใจเข้าออก  หรือเพ่งวัตถุใดวัตถุหนึ่ง
เมื่อจิตนิ่งไม่ว่อกแว่ก ก็จะเกิด "ปีติ" รู้สึกถึงความสว่าง และความสงบใจระงับจิตในระดับหนึ่ง เป็นเพียงบันไดขั้นแรกเพื่อจะบรรลุถึงพระเป็นเจ้าหรือพระพรหม  
นักบวชจำเป็นต้องผ่านสิ่งที่ไร้รูปร่าง เพราะถือว่าพระพรหมย่อมไร้รูปร่าง จิตจึงหันเข้ายึดความว่างเปล่า เป็นหลักในการบำเพ็ญฌานสมาบัติ
เมื่อนักบวชเพ่งจิตลงในความว่างไร้รูปร่างนานพอ จิตจะดิ่งลงสู่สภาพที่อัตตาคล้ายกับสูญสิ้นไป ไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวตนอีก

อาฬารดาบส  เจ้าลัทธิคนแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จไปศึกษาอยู่ด้วย ถือเอาว่าสภาพทางจิตดังกล่าวเป็นความบรรลุถึงโมกษะ เข้าสู่ภาวะนิพพาน  
ส่วนอุทกดาบส เจ้าสำนักคนที่สองถือว่ายังไม่ใช่โมกษะ เพราะในความสูญเปล่ายังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ แสดงว่าอัตตายังอยู่
จึงต้องบำเพ็ญสูงขึ้นไปอีกระดับ  
กล่าวว่า ลงหายใจหยุดลงแต่ชีวิตยังมีอยู่ ซึ่งคงจะหมายความว่าลมหายใจเบาแทบไม่รู้สึกเลย  
อุทกดาบสถือว่า สภาวะนี้ต่างหากคือโมกษะ หรือ นิพพาน
บรรลุความเป็นอมตะเช่นเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้า

ไม่ใช่เรื่อง"ทั้งสองเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรมทางศาสนา  ซึ่งได้แก่การสาธยายมนต์และการประกอบยัญกรรมต่างๆ"

ข้อนี้เจ้าของบทความมั่วเอาเอง    คงจะได้เค้ามาจากบทบาทของพราหมณ์ในหนังอินเดียหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับฤๅษีโยคีมาผิวเผิน ก็เลยเดาว่าเจ้าสำนักทั้งสองคงจะออกมาในรูปนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 10:16

 เจ้าชายสิทธัตถะทรงฝึกฝนและบรรลุฌานสมาบัติของทั้งสองสำนัก แต่ก็ทรงเห็นว่ามิใช่การสิ้นกิเลสอย่างแท้จริง
เพราะขณะบำเพ็ญฌานสมาบัติตามนั้น  อาจเสวยสุขารมณ์และระงับทุกข์ได้ชั่วขณะ
แต่เมื่อจิตคืนกลับมาสู่สภาพจริงก็กลับสัมผัสทุกข์อีกเหมือนเดิม
บางทีจะมากกว่า เพราะได้สัมผัสฌานสมาบัติมาแล้ว ทำให้เกิดทุกข์ใหม่ คือดิ้นรนจะกลับคืนเข้าดำรงอยู่ในฌานสมาบัติต่อไปด้วยความติดใจในฌานอันสุขุมนั้น

ในลักษณะอันนี้ จึงยังไม่ตระหนักถึงความเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้ถาวร  
การที่จะพยายามเข้าสู่ฌานสมาบัติเรื่อยไปเพื่อหลีกหนีจากความทุกข์ในชีวิตประจำวันคือการหนีจากความจริงนั่นเอง
อัตตา ก็ยังดำรงอยู่ดี

การรับรู้ทุกข์โดยไม่รู้สึกทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่พระองค์แสวงหา
เจ้าชายสิทธัตถะ จึงอำลาจากอาศรมทั้งสองและท่องเที่ยวแสวงหาโมกษธรรมต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 10:03

 ในพุทธประวัติ เล่าว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงแสวงหาวิธีหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ด้วยการบำเพ็ญทุกขกิริยา  
สิ่งนี้ไม่ใช่โยคะอย่างในบทความกล่าวไว้   แต่เป็นวิธีหนึ่งที่บางสำนักในสมัยนั้นยึดถือกัน  
คือถือว่าจะกำจัดกิเลศให้สิ้นไปได้ก็ต้องข่มหรือทรมานร่างกายจนสิ้นกิเลส  
นักบวชพวกหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่ถือกันในทำนองนี้ก็คือศาสนาเชน มีศาสดาชื่อมหาวีระ    พระไตรปิฎกเรียกว่าพวกนิครนถ์  

ศาสนาเชนถือว่า การบรรลุถึงโมกษธรรมต้องชนะความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง แม้แต่ความรู้สึกละอายในการเปลือยกาย และต้องไม่ยินดียินร้ายในการหนาวร้อน
ตราบใดยังมีความรู้สึกดังกล่าว ตราบนั้นจะบรรลุโมกษะไม่ได้ หากบรรลุได้ก็ต้องละความยินดียินร้ายทั้งหมด  

ศาสนาเชนยกย่องอัตตกิลมถานุโยค(คือความเคร่งครัดสุดโต่ง) ถ้าจะตายอย่างดี มีกุศลแรง ต้องตากแดด อดอาหารจนตาย
เรื่องน้ำ พวกเชนถือเคร่งครัดด้วยถือหลักอหิงสาอย่างเข้มงวด แม้อากาศหายใจเข้าไป พวกเชนที่เคร่งครัด มีผ้าขาวปิดจมูก-ปาก เพื่อป้องกันไม่ให้หายใจเอาสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองไม่เห็นเข้าไปตายในร่างกาย
น้ำดื่มต้องกรองต้องต้มก่อน เพื่อมิให้เผลอดื่มสิ่งมีชีวิตเล็กๆในน้ำเข้าไป
เรื่องอาหารก็ไม่กินเนื้อ ไข่ ผัก พืชที่ถือว่ามีชีวิต เช่นที่มีหัวอยู่ใต้ดิน เวลาเดินต้องปัดกวาดข้างหน้า เพื่อป้องกันมิให้เหยียบมดริ้นไรสัตว์เล็กๆตามพื้นดิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 10:06

 การบำเพ็ญจนสุดโต่งไปทางด้านเคร่งครัดบีบบังคับตัวเองทุกอย่าง ทางพุทธเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค  
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น    
เส้นทางของพุทธคือเดินสายกลาง   ไม่หย่อนเกินไป คือเพลิดเพลินในทางใฝ่กาม  และความบันเทิงทางโลก
และไม่ตึงเกินไปจนเป็นการทรมานตัวเองอย่างพวกนิครนถ์

ในเมื่อทรงบำเพ็ญทุกขกิริยาทุกอย่างแล้ว  ทรงเห็นว่าไม่ใช่การหลุดพ้นอยู่ดี  ก็ทรงหย่อนคลายเรื่องนี้ลง
เสวยพระกระยาหารมื้อแรก    
หลังจากนั้นจึงถึงวันที่ทรงตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔  
ซึ่งเป็นทางพ้นทุกข์ของมนุษย์ทุกคน ถ้าเข้าใจและเดินรอยตามนี้      ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นชนชั้นใดวรรณะไหน

การโปรดสัตว์โลก พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนแก่ผู้ฟังพระธรรม เสมอหน้ากัน   ไม่เลือกว่าทรงทำเพื่อช่วยเหลือพวกศูทรอย่างในบทความพยายามจะบิดเบือนไปทางนั้น

พระพุทธเจ้าไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชังว่าจะต้องช่วยวรรณะใดวรรณะหนึ่งเป็นพิเศษมากกว่าวรรณะอื่นๆ
สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้     อย่างเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ   พระองค์เป็นผู้พบด้วยพระองค์เอง ไม่ได้พบด้วยอาจารย์หรือนักบวชคนไหนมาสอน  
เมื่อพบแล้วก็ทรงเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ มิได้ทรงรู้เงียบๆเก็บไว้แต่ตัวคนเดียวอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า  
หลังจากทรงบอกเพื่อประโยชน์ของเวไนยสัตว์แล้ว เมื่อถึงเวลา พระองค์ก็เสด็จเลยไปสู่นิพพาน    
ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์จะทรงมาบังคับให้เชื่อ  
ขึ้นอยู่กับมนุษย์นั้นจะพิจารณาเองด้วยศีล สมาธิและปัญญา

สิ่งที่ทรงตรัสรู้คือการทำกิเลสให้สิ้นไป    ไม่ใช่มาจัดสังคมให้เป็นระเบียบหรือเกิดความเสมอภาคด้วยการยกชนชั้นแรงงานขึ้นมาให้กินดีอยู่ดี    
สิ่งนั้นเป็นวิถีทางโลกที่ไม่ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด   ห่างไกลคนละเรื่องกับโมกษะ หรือนิพพาน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง