เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 10743 รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 13 ก.พ. 06, 18:57

 Definitely, next in line. Thanks ka.

นึกถึงเลาะวัง พระองค์ที่ประสูตรวันจันทร์ เดือนเจ็ด ปีจอ ลูกเจ้า หลานเจ็ก คือ กรมพระจันทร์
ท่านก็ทรงเป็นหลานตาของนายอากรจีน (เจ้าสัวยิ้ม) เหมือนกันนะคะ จำได้ว่าตอนท่านเสด็จไป
เรียนเมืองนอก ท่านทรงมีเงินใช้มากกว่าที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงประทาน อ่านแล้วถึงบางอ้อ
เป็นเพราะมีเจ้าจอมมารดารวยนั่นเองค่ะ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 12:39

 สำหรับหัวเมืองเหนือว่ามีเมืองอะไรบ้าง พอจะเดาได้ค่ะ แต่ของหัวเมืองทางใต้ ใครทราบบ้างว่า
ใช่หัวเมืองมลายู 3-4 เมืองไหมคะ

เคยอ่านพบอยู่ตอนหนึ่งค่ะ (ความจำอาจคลาดเคลื่อน) ที่อังกฤษกราบทูล ร. 5 ว่าเจ้าเมืองหัวเมือง
แสดงเจตจำนงว่าต้องการไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ พระองค์ท่านรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดทำนองว่า
กรุงสยามได้เครื่องราชบรรณาการจากเมืองเหล่านั้น 3 ปีครั้งเท่านั้น ถ้าหากประสงค์เช่นนั้นจริง ก็ไม่ทรงขัดข้อง
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 13:54

 หัวเมืองมลายูที่ว่า น่าจะหมายถึง ไทรบุรี  กลันตัน  ตรังกานู และปลิศ  

สำหรับไทรบุรีนั้นมีความเป็นไทยมากกว่าอีก ๓ เมือง  เจ้าเมืองไทรบุรีนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี  บุตรชายของท่านคนหนึ่งได้มาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์  และสามารถพูดไทยได้ชัดเจนคือ ฯพณฯ ตนกู อับดุล ราห์มาน หรือเรียกแบบแขกต้องว่า "เราะห์มาน" ครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ก.พ. 06, 09:34

 ตาม คห. 8 และ 9 เรื่องเงินถุงแดง

บทความของคุณเทาชมพูเล่าไว้แล้วจริงครับ ผมเพียงขอเสริมและขอเดาต่ออีกหน่อยเท่านั้น

ประการแรก เงินถุงแดงใสไว้ในถุงและถุงเป็นสีแดงจริงๆ เผอิญไปตรงกับการเชิญเจ้านายที่ต้องพระราชอาญาถึงประหารเข้าถุง เพื่อประหารด้วยท่อนจันทน์ แต่ไม่เกี่ยวกัน เป็นการบังเอิญเฉยๆ

ผมเคยอ่านที่ไหนไม่รู้จำไม่ได้ว่า ลักษณะของเงินในถุงแดง ผู้ใหญ่ที่เกิดทันเห็น เล่าสืบๆ มาว่า มีส่วนหนึ่งเป็นเงินเหรียญกษาปณ์ เป็นเหรียญๆ จำนวนมาก คงจะทำด้วยโลหะมีค่าที่ใช่เป็นสื่อกลางการค้าขายในสมัยนั้น และนอกจากเป็นรูปเหรียญกษาปณ์แบนๆ ก็อาจจะมีที่เป็นลิ่มหรือเป็นรูปอื่นด้วย

หนังสือเกี่ยวกับเหรียญโบราณหรือประวัติเงินตราคงจะบอกได้ว่า ในสมัย ร. 2 ของเรา ซึ่งเป็นช่วงที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงค้าสำเภา หน้าตาเงินที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร ผมเข้าใจว่าที่ว่าเห็นเป็นเหรียญแบนๆ น่าจะเป็นอีแปะจีน อาจมีเหรียญเงินเงินตราต่างประเทศของเมืองฝรั่งด้วย เพราะฝรั่งตีเหรียญใช้มานานแล้วและเงินเมืองฝรั่ง (หลายเมือง) ได้เข้ามาใช้แพร่หลายเป็นสื่อกลางทางการค้าอยู่ในภูมิภาคเอเชียนี้นานแล้วเหมือนกัน

แต่ส่วนสยามเราเอง เข้าใจว่าตอนนั้นเรายังใช้เงินพดด้วงอยู่ สยามมามีโรงกษาปณ์ผลิตเงินหนาตาเป็นเหรียญๆ อย่างเดี๋ยวนี้ใช้กันก็ในสมัยหลัง ร. 2  ลงมาแล้ว
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ก.พ. 06, 09:40

 ประการสอง ข้อนี้ผมเดา

เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงค้าขายกับทางเมืองจีนมาก (แม้ว่าพระองค์เองจะมีสายพระโลหิตไทยใต้มุสลิมอยู่ในพระวรกายก็ตาม) ก็น่าจะเข้าพระทัยและทรงทราบถึงธรรมเนียมจีนไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ทรงรับราชสมบัติขึ้นเป็น ร. 3 นั้นพระราชนิยมในทางศิลปะในรัชกาลนี้ก็เป็นอย่างจีน

ดังนั้นเมื่อทรงค้าขายได้เงิน พูดภาษาธรรมดาก็ว่า เซ็งลี้ฮ้อ มา ควรจะเก็บไว้ที่ไหนถึงจะเป็นมงคลรวยๆๆๆๆ ขึ้นไปอีก ถ้าว่าทางจีนก็ต้องเก็บใส่ไว้ในอะไรที่สีแดงๆ เพราะสีแดงเป็นสีมงคลของจีน

จะเป็นที่มาของถุงที่มีสีแดงได้ไหม?

พูดกันอย่างเดาๆ ตามประสาผม กล่าวได้ว่าเงินถุงแดงพระราชมรดก ร. 3 นั่นน่ะ ก็คืออั่งเปา (เงินห่อแดง) ถุงใหญ่ที่พระราชทานไว้ให้แผ่นดินไทยนั้นเอง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ก.พ. 06, 09:51

 ลองเดาอีกทาง คราวนี้ทางธรรมเนียมไทย

เงินถุงแดงนั้นถ้าผมเข้าใจไม่ผิดเป็นส่วนหนึ่งของเงินพระคลังข้างที่ หรือเปล่า? คือเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับเงินในราชการแผ่นดินที่อยู่ในพระคลังหลวง ท่านทรงหาได้ของท่านมา แต่เมื่อจะสวรรคตก้พระราชทานไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศทั้งก้อน

ทีนี้ ในเมืองจีนสมัยก่อน สีประจำองค์ฮ่องเต้นั้นคือสีเหลืองทอง ดังจะเห็นว่าฉลองพระองค์เหลืองทองลายมังกรห้าเล็บนั้น คนอื่นแต่งไม่ได้เป็นอันขาดตลอดทั่วทั้งแผ่นดินจีน มีแต่จักรพรรดิองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงได้

ในเมืองไทยเราเดี๋ยวนี้ ดูเหมือนคล้ายๆ จะถือกันว่าสีที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือสีเหลืองเหมือนกัน อย่างน้อยคุณสนธิ นสพ. ผู้จัดการก็ดูจะบอกว่ายังงั้น อาจจะเป็นเพราะเป็นสีของธงมหาราช ครุฑแดงบนพื้นเหลือง

(แต่สีที่แทนพระมหากษัตริย์ในธงชาติไทยนั้นคือสีน้ำเงิน และเป็นการบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ สีธงมหาราชของกัมพูชาก็เป็นสีน้ำเงิน)

แต่ผมกำลังจะบอกว่า ผมเข้าใจว่าไทยเราโบราณถือว่าสีประจำพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเป็นการส่วนพระองค์ คือสีแดงครับ เคยอ่านเจอว่าในหลวง ร. 6 เมื่อเสด็จฯแปรพระราชฐานไปหาดเจ้าสำราญ เวลาลงทรงพระสำราญเล่นน้ำทะเลกับคนของท่าน ทรงพระสนับเพลากางเกงอาบน้ำสีแดง หรือทรงผ้านุ่งสีแดงอะไรนี่ อยู่องค์เดียว ผู้ตามเสด็จต้องใส่สีอื่น สีอะไรก็ได้ แต่ห้ามสีแดง

เงินส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินไทย จึงต้องใส่ถุงสีแดงเพราะอย่างนี้หรือเปล่าหนอ?
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 ก.พ. 06, 07:06

 ออกมายืนยันกับคุณนิลฯ ว่าสีประจำองค์พระมาหกษัตริย์ไทย คือสีแดงครับ
ก่อนที่จะมีการนำของบางอย่างเข้ามาเพิ่มรวมอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณธ์
ของอีกอย่างที่เคยอยู่ในเครื่องแสดงยศของพระมหากษัตริย์ คือฉลองพระองค์รัตกัมพล หรือเสื้อที่ตัดจากผ้าแคชเมียร์สีแดง
ในสมัยก่อนของต่างๆอีกหลายชนิด ก็จำกัดสีแดงไว้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น
แต่ปีจจุบันความนิยมที่ว่าก็เสื่อมลงตามยุคสมัย จนหลายคนเข้าใจไปแล้วว่าสีแดงเป็นของคนจีน
(ที่จริง ไม่ว่าจีนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะถูกจะแพงก็ขอแดงๆไว้ก่อนนะครับ อิอิ)



อ่อๆ ลืมไป แม้กระทั่งผ้าขาวม้าสำหรับทรงสนานก็จะใช้สีแดงเช่นกันครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 13:30

 เรื่องสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์และสีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น

ผมเคยคุยกับอาจารยสวัสดิ์  จงกล ผู้เชี่ยวชาญประจำหอประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ถึงเรื่องเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิด ๔ แบบ คือ
๑)  ครุยบัณฑิตพิเศษ  พื้นสำรด (ถบสีพื้นที่ขอบเสื้อครุยและที่ต้นแขน ปลายแขน) เป็นสีเหลือง  ครุยนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกเสด็จฯ เหยียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒) ครุยบัณฑิต ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ช้น คือ
    ชั้นเอก หรือ ดุษฎีบัณฑิต  พื้นสำรดสีแดง
    ชั้นโท และตรี หรือ มหาบัณฑิต และบัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ
ท่านอาจารย์สวัสดิ์ได้ตั้งคำถามถามผมว่าเหตุใดจึงใช้สำรดต่างสีกัน  หลังจากที่ถกกันอยู่นานพอสมควรจึงได้ข้อสรุปว่า ครุยบัณฑิตพิเศษนั้นน่าจะเหมือนกับฉลองพระองค์อาจารย์ซึ่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์ปฐมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ เหยียบวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรก  ทางโรงเรียนก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกซึ่งก็คือฉลองพระองค์อาจารย์แบบที่เคยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้ว  ฉะนั้นฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษที่จุฬาลงกรณ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็คือฉลองพระองค์สำหรับพระบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง  และเหตุที่กำหนดให้สำรดเป็นสีเหลืองทองนั้นก็น่าจะมีความหมายถึงพระบรมราชวงศ์จักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชวงศ์  ดังเช่นที่ปรากฏในสีธงมหาราช หรือสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์  แต่โดยที่องค์พระบรมราชูปถัมภกจะมีได้เพียงครั้งละ ๑ พระองค์  จึงทูลเกล้าฯ ถวายเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น  เมื่อทราบความดังนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  แต่จะเป็นปีใดขอสารภาพว่าจำไม่ได้ครับ

ส่วนครุยบัณฑิตที่กำหนดสำรดเป็นสีแดงและดำนั้น  ก็น่าจะเป็นการถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลที่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชสมภพในวันอังคาร  และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์  สำหรับสีประจำวันเสาร์นั้นตามตำราพิชัยสงครามท่านกำหนดไว้เป็นสีดำ  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ นั้น จึงทรงใช้สีดำกับสีน้ำเงินแก่เป็นสีประจำพระองค์  ส่วนวันอังคารนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทั้งสีชมพูอ่อน เช่นสายสะพายจุลจอมเกล้า  สีแดงเช่นแพรแถบเหรียญราชรุจิในพระองค์ หรือแดงกับขาวเช่นแพรแถบเหรียญรัตนาภรณ์ในพระองค์  แต่ดูจะโปรดสีแดงมากกว่าเพราะได้ทรงใช้สีแดงเป็นสีเครื่องแบบนายทหารในกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์  ส่วนสีบานเย็นเป็นสีของกระทรวงวัง  ด้วยข้อสรุปนี้จึงเชื่อกันว่า สำรดสีแดงสำหรับดุษฎีบัณฑิตจึ่งน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็ก  ส่วนสำรดสีดำสำหรับมหาบัณฑิตและบัณฑิตนั้นต้องหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓  ก่อนที่จะโปรดให้ยกโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นอนุสรณ์ถึงการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ "๓ รอบมโรงนักษัตร" เมื่อวันที่  ๑  มกราคม ๒๔๕๙ ด้วย

ในประเด็นเรื่องพระภูษาแดงนั้น  เท่าที่ฟังมาจากคุณมหาดเล็กผู้ใหญ่ ท่านว่า แต่เดิมมาพระมหากษัตริย์ไทยทรงนุ่งผ้าขาวม้าแดงกันทุกพระองค์ครับ  เพราะผ้าเหลืองนั้นเป็นสัญลักษ์หมายถึงพระพุทธศาสนาและหมายถึงพระสงฆ์ซึ่งทรงเคารพกราบไหว้  และในสมัยโบราณนั้นมีธรรมเนียมนุ่งผ้าสีตามวัน  แต่สำหรับวันพระแล้วพระมหากษัตริย์และเจ้านายคือตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปท่านจะทรงแดง  แม้จะมิใช่วันอาทิตย์ก็ตาม  มีเรื่องเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น  ถ้ามีข้าราชการคนใดนุ่งแดงมาในวันพระก็มักจะเสด็จไปคำนับผู้นั้นแล้วก็ทรงหันไปรับสั่งกับเจ้านายที่ตามเสด็จมาว่า วันนี้เรามีพยาธิเพิ่มขึ้น  แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรงกริ้วหรือทรงลงโทษข้าราชการผู้นั้นอย่างไร

ส่วนสีน้ำเงินในธงไตรรงค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์คำอธิบายไว้ในเครื่องหมายแห่งไตรรงค์พระราชทานไปลงในดุสิตสมิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า
    ขอร่ำรำพันบรรยาย          ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสามงามถนัด
    ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์     หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตไทย
    แดงคือโลหิตเราไซร้        ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา
    น้ำเงินคือสีโสภา            อันจอมประชา
ธโปรดเป็นของส่วนองค์
    จัดริ้วเข้าเปนไตรรงค์       จึงเปนสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย
    ทหารอวรตารนำไป         ยงยุทธวิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยาม

โปรดสังเกตในวรรคที่ว่า  "น้ำเงินคือสีโสภา  อันจอมประชา  ธ โปรดเป็นของส่วนองค์"  ความหมายคือสีน้ำเงินนี้ จอมประชาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดใช้เป็นสีประจำพระองค์  เพราะเสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์ซึ่งตามตำราพิชัยสงครามนั้นกำหนดให้ทรงเครื่องดำ  ส่วนตำราสวัสดิรักษากำหนดเป็นสีม่วงคราม  เนื่องจากไม่โปรดสีม่วงที่เป็นสีเศร้า  จึงทรงเลี่ยงมาใช้สีดำกับสีน้ำเงินแก่  แล้วก็อาจจะทรงจงใจที่จะใช้สีน้ำเงินแก่ให้สอดคล้องกับสีของธงยูเนียนแจ๊คของสหราชอาณาจักร  หรือธงชาติฝรั่งเศส  รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาที่ต่างก็ใช้สามสีนี้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 23 ก.พ. 06, 15:03

 คดีพระปรีชากลกาล (สำอาง อมาตยกุล) เหตุเกิด ณ ปี พ.ศ. 2421 พระปรีชาฯ เป็นข้าหลวงเมืองปราจีนบุรี
แต่ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็เพราะพระปรีชาฯ ได้แต่งงานกับ
น.ส. Fanny ธิดาคนโตของมิสเตอร์น็อกซ์ (Knox)กงสุลเยนเนอรัลของอังกฤษประจำกรุงสยามในเวลานั้น
และที่คนไทยรู้จักกันดีเมื่ออ่านเรื่อง "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" กล่าวคือ นาย Louis Leonowens
บุตรชายของ Anna Leonowens พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวังสมัยนั้น
ได้แต่งงานกับบุตรสาวคนเล็กของนายน็อกซ์นี่เอง

พระปรีชากลการ ขณะเป็นข้าหลวง หรือเจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้เบิกเงินหลวง
ไปลงทุนทำบ่อทองถึง 15,500 ชั่งเศษ แต่ส่งทองให้หลวงเพียง 111 ชั่งกว่าเท่านั้น

ซึ่งต่ำกว่าคาดหมายมาก ประจวบกับมีราษฎรชาวปราจีนฯ
ได้มาร้องทุกข์ว่าถูกพระปรีชาฯ กดขี่ข่มเหงทารุณนานัปการ พระปรีชาฯ จึงมีความผิดถึง 3 ประการ คือ

1. ฉ้อราษฏร์บังหลวงเรื่องบ่อทอง

2. ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในการปกครอง

3. เป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่แต่งงานกับชาวต่างชาติโดยไม่ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต
ซึ่งขัดต่อพระราชประเพณีของการปกครองของไทย

จึง ๆ แล้วนายน็อกซ์ไม่เต็มใจที่จะให้ลูกสาวแต่งงานกับพระปรีชาฯ ถึงกับไม่ยอมให้จัดงานที่
สถานกงสุลอังกฤษ กับห้ามไม่ให้พระปรีชากับแฟนนี่ไปมาหาสู่ด้วย และยังทำความตกลงกันว่า
ถ้าพระปรีชาต้องโทษอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เงิน 5,000 ปอนด์ ที่พระปรีชาต้องให้เป็นเหมือนเงิน
สินสอดทองหมั้นแก่แฟนนี่ จะเอาเป็นสิทธิของแฟนนี่ และแฟนนี่ก็ไม่เกี่วข้องกับโทษนั้นด้วย
แต่นายน็อกซ์ยังเปิดโอกาสให้ลูกสาวกลับมาอยู่บ้านพักกงสุลตามเดิมได้ ถ้ากลับใจถอนตัว
ไม่ไปอยู่กับพระปรีชา แต่เเฟนนี่ปฏิเสธ

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นพระปรีชาฯ กำลังต้องโทษและอยู่ในระหว่างสอบสวน ด้วยความเป็นพ่อ
นายน็อกซ์ถึงกับยื่นคำขาดต่อทางการไทยว่า จะเรียกเรือรบจากฮ่องกงเข้ามาบอมบ์บาร์ดกรุงเทพฯ
แล้วจับตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปเป็นจำนำในเรือรบ จนกว่าจะปล่อยตัว
บุตรเขยให้เป็นอิสระ

เพราะคำขู่ขึงขังจริงจังดังกล่าว จึงเกิดข่าวลือเรื่องรือรบอังกฤษจะเข้ามายิงปืนใหญ่ถล่มกรุงเทพฯ
จึงเกิดความปั่นป่วนอลเวงไปทั่ว เพื่อระงับเหตุดังกล่าว ทางการไทยจึงต้องจัดส่งราชทูตชุดพิเศษ
ออกไปเจรจาความเมืองเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ยังกรุงลอนดอนโดยด่วน

ทูตที่ส่งอย่างฉุกละหุกก็มีพระยาภาสกรวงศ์ (ชุมพร บุนนาค) เพราะรู้จักขนบธรรมเนียมและ
ภาษาอังกฤษดี และจหมื่นสราภัยสฤษดิการ (เจิม แสง - ชูโต) เป็นอุปทูต แต่จหมื่นฯ นั้นเพ่งกลับจาก
การทำแผนที่เมืองลพบุรีได้เพียง 3 วัน และยังป่วยไข้อยู่ เครื่องแต่งตัวที่ใช้ในยุโรปก็ไม่มี จะตัดเย็บก็ไม่ทัน
แต่เผอิญก่อนหน้าที่นายน็อกซ์จะก่อเรื่องนั้น ทางรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งสถานทูตขึ้นใน
กรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก จมื่นฯ จึงได้เอาเสื้อผ้าของนายจ่ายวด ซึ่งจะไปเป็นอุปทูต ณ กรุงลอนดอน
มาใช้แทน ปรากฏว่าไม่เหมาะกับตัวจหมื่นเลย เพราะแขนเสื้อกับขากางเกงสั้นไปมาก แต่ก็จำเป็น
จะต้องนำไปใช้พลาง ๆ ก่อน

เมื่อคณะราชทูตเดินทางถึงเมืองสิงคโปร์ ก็ได้เข้าพบผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ เล่าเรื่องนายน็อกซ์
อาละวาดให้ฟัง และราชทูตก็ได้มีโทรเลขถึงพระสยามธุระพาหะ (D.K. Mason) กงสุลไทยที่
กรุงลอนดอน ให้นำความบอกกว่าวแก่ Lord Salzburry เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษว่า
ราชทูตไทยจะมาขอเจรจาความเมืองเป็นพิเศษ และขอให้รัฐบาลอังกฤษเรียกเรือรบกลับ
รัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมให้ราชทูตไปพบ และได้โทรเลขเรียกเรือรบให้เดินทางกลับที่ตั้งด้วย

ระหว่างนั้น เรือรบอังกฤษที่นายน็อกซ์เรียกไป ก็แล่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และได้ทอดสมออวดธงอยู่ไม่นาน
ก็แล่นกลับออกไป โดยไม่ได้ยิงปืนแม้แต่นัดเดียว ต่อมาพระสยามฯ เห็นว่าข่าวคราวเงียบหายไปนาน
จึงได้ติดต่อเพื่อน ๆ ที่เป็นสมาชิกสภาล่างและสภาสูงของอังกฤษให้ช่วยเตือนท่านลอร์ดฯ
ในสภาปาเลียเมนต์ ซึ่งเป็นผลให้นายน็อกซ์ถูกเรียกตัวกลับประเทศอังกฤษ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับ
ประเทศสยามอีกต่อไป

ร.๕ ได้พระราชทานฎีกาไปให้สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือ เสนาบดีสภา (Councilor of state)
พิจารณา ผลก็คือ คดีนี้เป็นคดีร้ายแรงมาก เป็นการ "ทำการดูถูกดูหมิ่นอาญาแผ่นดินนัก
ประพฤติการกำเริบหมิ่นประมาทนัก ไม่มีความยำเกรงต่อผู้ใหญ่" จึงเรียกตัวพระปรีชาฯ
เข้ามากรุงเทพฯ แล้วมีคำสั่งให้จำตรวนนำตัวไปคุมขังเพื่อทำการสอบสวนต่อไป

พระปรีชาฯ ก็ตระหนักดีว่าตนเองได้กระทำผิด ดังข้อความจดหมายที่มีถึงแฟนนี่ว่า.-

"...ด้วยตัวฉันเป็นคนไทย ในหลวงกริ้วลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้ว ก็จะค่อยคลายกริ้วลงทุกที
อย่าให้เเฟนนี่วุ่นวายไป ธรรมเนียมไทยก้บธรรมเนียมฝรั่งไม่เหมือนกัน จะเอาเหมือนธรรมเนียม
ฝรั่งไม่ได้ จะภาฉันมีความผิด ฉันเห็นใจแล้วว่าแฟนนี่รักฉันมาก...."

หมายเหตุ: มีหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ เรื่อง "ตัวตายเพราะได้เมียฝรั่ง" และ เรื่อง
"Fanny and the Regent of Siam"

 http://webboard.nationgroup.com/swb/view.php?page=2&rid=6&tid=4577&PHPSESSID=8842dd4c9779fd5db20539100e41f03c  
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 23 ก.พ. 06, 18:16

 อีกเล่มที่น่าอ่านครับ "ลักษณะของนายทุนไทย  ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๘๒ บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรมม"  ของ พรรณี  บัวเล็ก  
หนังสือนี้เป็นผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตระดับดีเยี่ยม  ที่ให้ความรู้ในเรืองระบบภาษีในยุคเจ้าภาษีนายอากร  การค้าข้าวของพ่อค้าชาวจีน  และการก่อตัวของสกุลพ่อค้าชาวจีนในสังคมไทย  รวมทั้งเรื่องอั้งยี่
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 24 ก.พ. 06, 14:18

 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายครุยพระบรมราชูปถัมภกเมื่อโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ครับ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เสด็จออก ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงรับการถวายชัยมงคลจากชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก สลักจากแก้วใสบริสุทธิ์ งดงามมากเป็นของทูลพระขวัญ

ส่วนเรื่องสีแดงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ หากจำไม่ผิด สีประจำโรงเรียนมหาดเล็ก (ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นจุฬาฯ) ก็เป็นสีแดงชาด ปกหนังสือ "รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก" ก็เป็นสีแดงชาดเช่นกันครับ

เห็นด้วยกับคุณ V_Mee ครับว่าการทรงพระภูษาแดงของพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติครับ

เคยอ่านบทสัมภาษณ์หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ท่านก็ตรัสเล่าว่า แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตใหม่ๆ แล้วมีการสรงพระบรมศพเป็นการภายในนั้น ก็จัดให้พระบรมศพก็ทรงพระภูษาแดงลอยชาย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ตามราชประเพณี

หากลองสังเกตภาพเก่าๆ จะเห็นว่าผ้าห้อยหรือพันพลับพลารับเสด็จในอดีตนั้น เป็นริ้วสีขาวแดงเสมอ ไม่มีการใช้สีประจำวันพระบรมราชสมภพหรือวันประสูติอย่างในปัจจุบัน

บางท่านก็ตีความว่าเป็นสีที่แสดงถึงความเป็น "พระเดช-แดง" และ "พระคุณ-ขาว" ซึ่งเจ้านายจะต้องทรงบริหารให้ได้ดุลในพระทัย

แต่น่าแปลกที่เมื่ออดีต การจัดสถานที่รับเสด็จพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปก็ใช้สีแดงขาวเช่นกัน เหมือนจะเป็นราชประเพณีสากล ผมนึกเล่นๆ ไปว่า หรือจะเลียนสีมาจากธงอังกฤษยุคก่อนที่จะใช้ยูเนี่ยนแจ็ก ซึ่งมีเพียงสีขาวและแดง อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ ไม่ยืนยัน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 24 ก.พ. 06, 14:27


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 24 ก.พ. 06, 14:56


สังเกตริ้วผ้า (แดงขาว) พันเสาปะรำรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดลำพูน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง