เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 58330 ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 12:09

 เรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น  สำหรับปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้ามี ๒ ชั้น คือ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ  กับปฐมจุลจอมเกล้า  ส่วนฝ่ายในมีชั้นเดียว คือ ปฐมจุลจอมเกล้า เพราะไม่มีการสืบตระกูล

ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนั้น  โปรดให้มีการสืบตระกูลไปไม่มีที่สิ้นสุด  เว้นแต่จะไม่มีทายาทผู้ชายที่จะดำรวงศ์สกุลต่อไป  จึงเป็นอันสิ้นสุดการสืบตระกูล  เมื่อแรกสถาปนานั้นได้โปรดพระราชทานเฉพาะพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น  ต่อมาได้พระราชทานแก่พระบรมวงศ์ที่ทรงปฏิบัติราชการเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นพิเศษ  เพื่อให้ปรากฏพระเกียรติคุณสืบไปไม่มีที่สิ้นสุด  พระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ.ว.เป็นพิเศษเท่าที่จำได้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า แขนขวาแขนซ้าย ดังภาพ  ในปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ.ว. ดูเหมือนจะมีแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เพียงพระองค์เดียว

ส่วนปฐมจุลจอมเกล้านั้น โปรดให้มีการสืบตระกูลเพียงรุ่นลูกและหลาน เช่นเดียวกับทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)  แต่ลำดับชั้นตราสืบตระกูลนั้นต่างกัน  ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ. คือ องคมนตรี และผู้ที่ทรงพระมหากรุณาเป็นพิเศษ เช่น ม.จ.ภีศเดช  รัชนี  ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เป็นต้น

ในสมัยก่อนนั้นผู้ที่ได้รับพระราชทาน ต.จ.ว. นั้นจะได้รับพระราชทานโต๊ะทองพร้อมกาน้ำเป็นเครื่องยศ  มักจะเรียกกันว่า พระยาโต๊ะทอง  ผู้ที่ได้รับพระราชทาน ท.จ. จะได้รับพานหมากทองคำเป็นเครื่องยศ จึงเรียกกันว่า พระยาพานทอง  สำหรับเครื่องยศ ท.จ.ว. จะได้อะไรเพิ่มนั้นจำไม่ได้ครับ

มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันนี้ฝ่ายในเมื่อได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ก็จะใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิง โดยอัตโนมัติ  แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น  เอกภรรยาของเจ้าพระยาจะยังคงใช้คำนำหน้านามว่า คุณหญิง  แม้จะได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) แล้ว  เช่น คุณหญิงประจวบ  รามราฆพ คุณหญิงของเจ้าพระยารามราฆพ  ต่อมเมื่อได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิงแล้ว  จึงจะใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิงได้ เช่น ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ท.จ.  ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นต้น  โปรดสังเกตนะครับ  สมัยก่อนท่านผู้หญิงจะได้รับพระราชทานเพียง ท.จ.  ปัจจุบันเครื่องยศท่านผู้หญิงจะพระราชทานพร้อม ท.จ.ว.เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 12:20


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับแขนขวา - ซ้าย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ในงานวัดเบญจะ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 14:31

 อันนี้ใช้ถูกไหมคะ
...เมื่อพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก คือทรงมีพระชนมายุเพียง....
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 14:38

 ทิวงคต, เสด็จทิวงคต  
-ปัจจุบันใช้กับพระมหากษัตริย์ต่างประเทศ, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศ์ที่ดำรง
พระอิสริยศักดิ์สูง ทรงเศวตฉัตร ๗ ชั้น, เจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศ พิเศษ แต่ยังทรงฉัตร ๕ ชั้น*

สิ้นพระชนม์    
- พระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า, พระองค์เจ้า, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช

ถึงแก่อสัญกรรม  
-ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  ปัจจุบันใช้กับผู้ที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานองคมนตรี
องคมนตรี รัฐบุรุษ ประธานสภา ผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราช
อิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า

ถึงแก่อนิจกรรม                     ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา
- ปัจจุบันอนุโลมใช้กับผู้ได้รับ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นประถมาภรณ์
มงกุฎไทย หรือทุติยจุลจอมเกล้า และทุติย จุลจอมเกล้าวิเศษ ข้าราชการตั้งแต่ ระดับ ๙ ขึ้นไป

 http://www.navy.mi.th/navadmin/saranaru3.htm  
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 14 ก.พ. 06, 15:24

 กรณีของสมเด็จพระบรมราชชนกนั้น  เมื่อสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๗  ใช้ว่า สิ้นพระชนม์ครับ  
ในรัชกาลปัจจุบันได้โปรดให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับสัปตปฎลเศวตฉัตรแล้ว  จึงให้เปลี่ยนมาใช้สวรรคตแทนครับ
บันทึกการเข้า
B
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 148


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 15 ก.พ. 06, 04:46

 ขอบพระคุณค่ะอาจารย์
สุขสันต์วันวาเลนไทน์เช่นเดียวกันค่ะ (ที่นี่ยังเป็นวันที่ 14 อยู่ค่ะ)
บันทึกการเข้า
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 15 ก.พ. 06, 14:28

 สำหรับการถึงแก่กรรมของเจ้าบุษบงนั้น เมื่อครั้งงานศพผมได้มีโอกาสช่วยเตรียมพิธีแห่เพื่อนำศพออกไปส่งสะกาน (ฌาปนกิจ) เย็นวันก่อนงานส่งสะกาน 2 วันผมเดินทางไปถึงบ้านของท่าน ญาติพี่น้องกำลังเตรียมพิธีมอบพวงหรีดพระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์จากกรุงเทพฯพอดี จึงมีโอกาสได้คุยกับหลายคนในที่นั้น ด้วยความที่ปากผมไม่ค่อยอยู่เป็นสุขนักก็เลยถามญาติผู้ใหญ่ของเจ้าภาพท่านหนึ่งว่า เหตุใดจึงใช้ พิราลัย ควรใช้ว่าถึงแก่กรรมจึงจะถูกมากกว่า เพราะพิราลัยควรใช้กับพระเจ้าประเทศราชและเจ้าประเทศราชเท่านั้น

ผมได้ยกเอางานศพของเจ้าทิพวรรณซึ่งเป็นหลานเจ้าหลวงบุญวาทย์ แต่มีตำแหน่งเป็นถึง ราชเทวี แห่งเชียงตุง ก็ยังใช้คำว่า ถึงแก่กรรม ทางญาติของเจ้าภาพก็จึงอธิบายให้ฟังดังนี้

เนื่องจากเจ้าบุษบงเมื่อถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบราชนิกูลลายก้านแย่ง เทียบชั้นหม่อมเจ้า(หญิง) และโปรดให้เชิญไฟพระราชทานเพลิงศพที่จุดจากหน้าพระแก้วมรกตในพระบรมหาราชวัง ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้แม้แต่ชั้นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้าก็ไม่มีโอกาสแบบนี้ ประการที่สำคัญในบั้นปลายนั้นเจ้าบุษบงมีชีวิตที่ไม่ค่อยสบายนัก ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ทางกรุงเทพฯตระหนักว่าเนื่องจากเจ้าหลวงบุญวาทย์นั้นนำทรัพย์สินส่วนตัวและมรดกทั้งหลายมอบให้หลวง ทำให้ลูกหลานลำบาก (เจ้าบุษบงไปอยู่กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีตั้งแต่ยังเด็ก ;ในเรื่องส่วนตัวคงนำมากล่าวในนี้ไม่ได้)  อีกทั้งเจ้าบุษบงเป็นเจ้าองค์สุดท้ายที่เป็นลูกของเจ้าหลวงในล้านนา (เจ้าทางเชียงใหม่ถือเป็นรุ่นหลาน)  การศพเจ้าบุษบงนี้จึงทรงมีพระเมตตาเป็นพิเศษ

ตอนแรกทางสำนักพระราชวังใช้ว่า อนิจกรรม ต่อมาพอมีหนังสือกราบทูลไปก็เปลี่ยนเป็น พิราลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่เคยใช้แต่โบราณ หมายเรียนเจ้าภาพมาแบบนั้น ดังนั้นญาติก็ถือเอาตามนี้

ผมได้รับคำอธิบายมาแบบนี้ ในกรณีนี้คงต้องถือว่า ท่านให้ใช้ในกรณีพิเศษ (ท่านหมายถึงในหลวง? อันนี้ผมไม่แน่ใจ)

สำหรับทางล้านนานั้น แต่เดิมเมื่อมหาเทวี(แม่เจ้าหลวง) เจ้าเมือง ราชเทวี(เมียเจ้าหลวง) ตาย จะใช้คำว่า สุรคตบ้าง จุติบ้าง ในสมัยล้านนารวมกับพม่าก็ใช้แบบนี้ พอถึงสมัยที่ล้านนาเป็นเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละตายถึงเรียกว่าพิราลัย คำราชาศัพท์น่าจะมาตอนนี้ เพราะในบันทึกอาณาจักร หรือกฏหมายฉบับหนึ่งของล้านนา (กฎหมายล้านนาฉบับนี้มีข้อบันญัติและยกปัญหาตุ๊กตา แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต น่าสนใจมาก) ได้กล่าวถึงการเรียกพ่อ แม่ พี่ น้อง ป้า ลุง เป็นคำราชาศัพท์เหมือนทางกรุงเทพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในสมัยพระเจ้ากาวิละ (ตรงกับสมัย ร.1 ของสยาม)

เมื่อตรวจดูเอกสารทั้งของล้านนา และสยาม พบว่า เมื่อเจ้าเมืองประเทศราชล้านนาตายก็ใช้ว่า พิราลัยบ้าง ถึงแก่กรรมบ้าง ถึงแก่อนิจกรรมบ้าง ถึงแก่อสัญกรรมบ้าง และเมื่อดูเป็นรายตัวเทียบกับเครื่องยศก็ไม่อาจสรุปได้ว่าทำไมต้องใช้เช่นนั้น ดังนั้นทางล้านนาจึงสรุปไม่ได้ว่าเจ้าเมืองตายสมควรใช้ว่าอย่างไร

พอมาถึงรัชกาลที่ 5 แห่งสยาม ประมาณ ปี พ.ศ.2446 คราวตั้งตำแหน่งพระเจ้าน่าน ได้มีข้อวินิจฉัยของกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่า พระเจ้าประเทศราช เจ้าประเทศราช ตาย ใช้ว่า พิราลัย ส่วนพระยาประเทศราชใช้ถึงแก่อสัญกรรม
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 14:42

 "สังสการ" = ปลงศพ ชำระทำความบริสุทธิ์แก่ศพและวิญญาณผู้ตาย (ด้วยไฟ) = การเผาศพ ฌาปนกิจศพ "ส่งสะกาน" คำเมืองที่คุณบ้านายคำเก่งใช้ ก็มาจากภาษาบาลีคำนี้เอง

ดีใจจัง ที่ได้ยินคำนี้อีก เป็นคำเพราะๆ ที่ไม่ค่อยได้ยินมานานแล้วนะครับ

"สันสกฤต" ชื่อภาษาสันสกฤตเอง ก็แปลว่า ภาษาที่ได้เอามาชำระสะสางจัดระเบียบ เป็นภาษาที่ประณีตแล้ว นั่นเอง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 14:49

 ผมเห็นเหมือนกันว่า สำนักราชเลขาธิการใช้คำว่า ทิวงคต ตอนที่กษัตริย์ฟาฮัดของซาอุดิอาระเบียท่านสิ้น ก็คงเป็นการใช้ตามระเบียบสมัยนี้ ตาม คห. 33

ตอนนั้นผมยังรู้สึกแปลกมากๆ เพราะตามความเคยชินเดิม รู้สึกว่าทิวงคตไม่น่าจะใช้กับพระมหากษัตริย์ครองแผ่นดิน น่าจะเป็นเจ้าชั้นรองลงมาหน่อย แต่เมื่อสำนักราชเลขาธิการใช้เองก็ต้องยอมเชื่อว่าเขาคงถูก ผมนึกเอาเองว่า พระราชาราชินีประมุขรัฐต่างประเทศ ก็น่าจะใช้ สวรรคต เหมือนกัน (เช่น ควีนวิคตอเรียทิวงคต?ฮืม ฟังแปลกหูมาก)

เพิ่งทราบนี่แหละครับว่า ทิวงคต ตามระเบียบปัจจุบันกำหนดให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ต่างประเทศ ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33424

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 18 ก.พ. 06, 15:26

 รู้สึกแปลกๆเหมือนกันค่ะ   กำลังเล่าเรื่องกษัตริย์อังกฤษในประวัติศาสตร์อยู่เสียด้วย
ไม่อยากใช้คำว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ ทิวงคต  ยังไม่สนิทใจ เลยเลี่ยงให้พระองค์ เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแทน
แต่ต่อไปพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ คงจะ"ทิวงคต"

เคยใช้ราชาศัพท์ถึงพระราชาในตำนานหรือนิทานว่า"สิ้นพระชนม์"  ก็รู้สึกว่าเนียนดี ไม่สะดุด
อันที่จริงการใช้ราชาศัพท์ในเรื่องแปล ก็เป็นเรื่องขลุกขลักสำหรับดิฉันอยู่เหมือนกัน
พระเจ้าชาลมาญ ทิวงคตกับพระเจ้าชาลมาญสิ้นพระชนม์ อย่างหลังคล่องปากกว่านะคะ คุณนกข.ว่าไง

แต่อาจเป็นได้ว่าเราลดราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับเจ้านายต่างประเทศลงมา ๑ ระดับเมื่อเทียบกับเจ้านายบ้านเรา
สวรรคตอยู่ระดับสูงสุด รองลงมาคือทิวงคต  รองลงมาอีกคือสิ้นพระชนม์
ก็เลยกลายเป็นพระราชาธิบดีของแผ่นดินอื่น ทิวงคต
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 10:36

 ผมคิดว่า น่าจะใช้คำว่า สวรรคต กับพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศด้วย
เพราะผมคิดเอาเองว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกชาติมีสถานะเท่าเทียมกัน (แต่กรณีของเจ้าผู้ครองนครน่าจะใช้ทิวงคตมากกว่า)
แต่สำนักราชเลขาธิการบัญญัติอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้นครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 10:49

 ผมเห็นด้วยกับ คห. 40 เพราะที่จริงเป็นตรรกะที่ผมใช้มาเดิม

แล้วผมก็เดาว่า แต่ก่อนนี้คิงประเทศไหนก็ตาม เวลาท่านตายไป เราก็เคยใช้กันมาแต่เดิมว่า สวรรคต เท่าๆ กัน ผมไม่เคยได้ยินว่า พระเจ้าซาร์นิโคลัสทิวงคต ควีนวิคตอเรียทิวงคต พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตทิวงคต ฯลฯ เลย

แต่ในเมื่อเป็นระเบียบ (ใหม่ - มั้ง?) กำหนดให้ใช้อย่างนี้ ผมก็คงต้องใช้อย่างนี้ตามไปแหละครับ ตัวอย่างล่าสุดอย่างที่เรียนแล้ว ที่ผมเห็นคือ ตอนคิงฟาฮัดท่านอัลมาร์ฮุม ไปสวรรค์แล้ว สำนักราชเลขาธิการท่านใช้ ทิวงคต จริงๆ

เจ้านายในนิทาน เห็นจะสิ้นพระชนม์ก็คงพอ มั้งครับ คุณเทาชมพู เพราะจะให้ผมใช้คำว่าทิวงคตกับพระเจ้าชาลมาญ ก็ยังแปลกหูตัวเองอยู่ อุปาทานหรือความยึดมั่นเดิมของผมยังแรงอยู่ครับ ยอมรับครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33424

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 11:06

 เห็นด้วยกับความเห็น 40 ค่ะ

เอ แล้วพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในกระทู้ใหม่ที่เตรียมไว้จะสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ดีล่ะคะ
ขอความเห็นสักหน่อยได้ไหม

อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปทบทวนวรรณกรรมแปลในอดีตของเรา
ก็เห็นว่านักปราชญ์สมัยก่อนอย่างเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ที่อำนวยการแปลเรื่อง "สามก๊ก" ท่านชาญฉลาดในการบัญญัติราชาศัพท์ให้เรื่องจีน
ที่มีฮ่องเต้ มีอ๋อง อยู่ในเรื่องเต็มไปหมด   ได้แสดงบทบาทด้วยลีลาของกษัตริย์และเจ้านายได้ตลอดเรื่อง
โดยไม่ต้องใช้ราชาศัพท์อย่างที่ใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 1

อ่านแล้วจนบัดนี้ก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวายว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ควรจะมี " พระบรมราชโองการ" หรือ "มีพระราชดำรัส"
ไม่ใช่แค่ "มีรับสั่งว่า"

สรุปแล้วในเมื่อเล่าเรื่องพระราชาอังกฤษในท่วงทำนองค่อนไปทางเล่านิทาน
ดิฉันเลือก สิ้นพระชนม์  ให้ราชาราชันย์ต่างแดน  จะไหวไหมคะ ท่านผู้ฟัง
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 12:43

ขอสนับสนุนความเห็นท่านอาจารย์เทาชมพูเรื่องการใช้สิ้นพระชนม์สำหรับราชันย์ต่างแดนครับ  เพราะกษัตริย์ในยุโรปนั้นถือกันว่า เป็นอัศวินผู้กล้าหาญและมีความสามารถเหนืออัศวินคนอื่นๆ จึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์  แต่ก็ยังอยู่ใต้อำนาจของคาร์ดินัลหรือโป๊ปสำหรับประเทศที่เป็นคาทอลิกนะครับ  แต่กับของไทยเราๆ ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นนมติเทพ เมื่อเสด็จมาประสูตินั้นก็ทรงเป็นเทพมาจุติ  เมื่อถึงวาระก็ต้องเสด็จกลับสู่สวรรค์

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำราราชาศัพท์เรื่องหนึ่งครับ  
เมื่อราวสิบปีมาแล้วผมได้รับเชิญให้เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจคณะหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  และในการประชุมคราวหนึ่งก็มีการถกกันถึงคำราชาศัพท์ที่ว่าด้วยการตาย  จนผมอดรนทนไม่ไหวก็เลยเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนระเบียบการใช้ราชาศัพท์จนงงกันไปหมดแล้ว  ดังเช่นหนังสือราชาศัพท์ของสำนักงานเอกลักษ์ณ์ของชาติ  ที่ปกสีเขียวมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎที่หน้าปกนั้น  มีการพิมพ์คำราชาศัพท์ออกมาแล้ว  แต่เวลาที่แจกจ่ายให้ถือปฏิบัติกลับมีใบแทรกให้เปลี่ยนไปใช้อีกอย่าง  ในเมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือมาตรฐานอย่างนั้นแล้ว  แล้วทำไมจึงต้องมีใบแทรกมาอีก  ท่านประธานในที่ประชุมวันนั้นท่านเป็นอดีตอธิบดีและเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มีคนนับหน้าถือตากันมาก  ท่านได้กรุณาชี้แจงว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการจัดทำหนังสือฉบับนั้น  เวลาที่มีการประชุมกำหนดคำราชาศัพท์นั้นก็มีการถกเถียงกันมาก  บางครั้งก็จำต้องยอมตามท่านผู้ใหญ่ซึ่งท่านอ้างว่ามีแบบอย่างมาแต่โบราณ  เลยต้อมีเป็นใบแทรกดังกล่าว  ครั้นท่านผู้เสนอให้ใช้คำนั้นถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ ก็ให้กลับมาใช้อย่างที่พิมพ์ไว้ในหนังสือแต่เดิม  แล้วในการประชุมครั้งถัดมาท่านประธานก็ได้กรุณานำหนังสือราชาศัพท์มาแจกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน  ทีนี้พอผมพลิกไปดูในหนังสือก็เกิดอาการหน้าแตกเข้าอย่างจัง  เพราะท่านประธานในที่ประชุมคือ บรรณาธิการหนังสือเล่มนั้นเอง   นึกๆ แล้วอยากจะเคาะศีรษะตัวเองที่บังอาจไปตำหนิปรมาจารย์ภาษาไทยเข้าอย่างจัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33424

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 13:19

 อ่านแล้วก็งงๆอยู่เหมือนกัน  
แปลว่า
คณะกรรมการลงความเห็นเรื่องราชาศัพท์ไว้อย่างหนึ่ง  แต่มี"ผู้ใหญ่"บางท่าน เห็นอีกอย่าง
แล้วประธานในที่นั้นชี้ขาดกันไม่ได้ว่าควรจะมีคำตอบยังไงกันแน่
เลยมี ๒ ทาง คำตอบของกรรมการอยู่ในเล่ม คำตอบของ"ผู้ใหญ่" ไว้ในใบแทรก
พอผู้ใหญ่ท่านนั้นล่วงลับไป ใบแทรกก็เลยถูกยกเลิก  ใช้แต่ในเล่ม
ดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ?

ดิฉันว่าคุณ V_Mee ไม่น่าจะเคาะศีรษะตัวเอง   สิ่งที่คุณทำคือประโยชน์ในทางปฏิบัติ
เพราะคุณเท่ากับชี้ให้เห็นว่า ความยุ่งยากมันเกิดขึ้นยังไงถ้าหากว่ามีการเกรงใจออมชอมกันแบบนี้

งั้นต่อไป  คำราชาศัพท์ที่ออกใหม่เหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
หากมีความเปลี่ยนแปลงด้านตัวบุคคลเกิดขึ้น ใช่ไหม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง