เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8771 ภาษาไทย กับภาษาศาสคร์
บุรุษจรัสแสง
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

เรียน


 เมื่อ 28 ม.ค. 06, 22:24

 อยากถามผู้รู้ เพื่อให้หายข่้อสงสัยว่า ภาษาไทยนี้เราไม่มีบุรพบทหรือค่ะ
ว่ากันว่าทุกภาษาต้องมีคำนาม กริยา และ สังขยา ปฎิเสธ แต่ไม่จำเป็นต้องมี บรุพบท

แล้วก็ต้่องประหลาดใจเมื่อหนังสือบ้างเล่มบอกว่าภาษาไทยนั้นไม่มี บุรพบท
เลยอยากไห้ผู้รู้ ช่วยอธิบายเรื่อง บุรพบทให้ทราบหน่อยค่ะ

ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
บันทึกการเข้า
ชื่นใจ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 136

นักศึกษาปริญญาเอก University of East Anglia England


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 03:05

 แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ก็ยืนยันได้ว่า
ชนิดของคำในภาษาไทยมีคำบุรพบทหรือบุพบทด้วยแน่นอนค่ะ

หากต้องการแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ กรุณาอ่านเพิ่มเติมที่
เวปไซต์ราชบัณฑิตยสถาน
 http://www.royin.go.th/th/home/

จากหน้าหลักของ ราชบัณฑิตยสถาน หากเลือก "พจนานุกรม"
 http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html
ก็จะพบความหมายของคำว่า "บุรพบท" ดังนี้

1. ค้น :  บุรพบท
คำ :  บุรพบท
เสียง :  บุบ-พะ-บด; บุ-ระ-พะ-บด
คำตั้ง :  บุรพ-
ชนิด :  น.
ที่ใช้ :  
ที่มา :  
นิยาม :  บุพบท, คำชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ ทำหน้าที่เชื่อมคำต่อคำ อยู่หน้านาม สรรพนาม หรือกริยา มีคำว่า ด้วย โดย ใน เป็นต้น เช่น เขียนด้วยดินสอ หนังสือของฉัน กินเพื่ออยู่.
ภาพ :  
อ้างอิง :  
ปรับปรุง :  98/4/2

หวังว่าผู้ตั้งคำถาม คงพอนึกถึงคำบุรพบทหรือบุพบท
ที่ใช้ในภาษาไทยได้ มีหลายคำทีเดียวค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 08:18

 ก่อนคุณบุรุษจรัสแสงจะถามคำถามนี้ ลองคิดดูก่อนหรือยังครับ ว่าถ้าภาษาไทยไม่มี "คำบุรพบท" แล้วคำว่าบุรพบทจะบัญญัติขึ้นใช้เมื่อไหร่ เพราะอะไรถึงบัญญัติ แล้วทำไมเด็กทุกคนที่เคยเรียนภาษาไทยรู้จักคำนี้กันทั้งนั้น (ถ้าไม่ลืม)



หรืออีกทีก็ลองไปอ่านหนังสือเล่มที่คุณพูดถึงให้ละเอียดซะก่อนจะดีกว่า ผมก็อยากรู้เหมือนกันนะครับว่าทำไมเขาถึงบอกว่าภาษาไทยไม่มีคำบุรพบท
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 09:14

 ดิฉันเห็นด้วยกับคุณติบอ
เดาว่าคุณคงเป็นนักเรียนม. ปลาย
ตั้งแต่ ม. 1 หลักสูตรภาษาไทย วิชาหลักภาษา หรือการใช้ภาษา ก็มีสอนหน้าที่ของคำ
คำนาม ทำหน้าที่อะไร....คำสรรพนาม กริยา วิเศษณ์ บุรพบท สันธาน อุทาน
เวลาคุณอ่านอะไร จำต้องวิเคราะห์ตาม โดยเฉพาะภาษาไทยที่เห็นทนโท่ แล้วเราก็ใช้กันอยู่ทุกวัน
หรือว่าคุณหลับในห้องเรียน ตอนครูสอน จึงพลาดเนื้อหาของบุรพบทไป
ดิฉันร้องขอให้ทีมงานวิชาการสร้างลิงค์เชื่อมไปที่พจนานุกรมออนไลน์ ซึ่งทีมงานก็กรุณาสร้างให้ตามคำขอ (ขอบคุณค่ะ)
อยู่ติดกับช่องแสดงความคิดเห็น
คุณสงสัยอะไรก็ป้อนคำเข้าไป บางครั้งการค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นสิ่งแรกที่เด็กๆ ควรทำ
หากเหนือบ่ากว่าแรง จึงขอความช่วยเหลือ
ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้ต้องการติเตียนอะไรค่ะ แต่รับไม่ได้ว่านักเรียนมัธยม ไม่รู้จักคำว่าบุรพบท
บันทึกการเข้า
บุรุษจรัสแสง
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

เรียน


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 13:14

 ขอบคุณที่ความคิดเห็นค่ะแต่ก่อนอื่นดิฉันต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า ดิฉันไม่ใช่นักเรียนมัธยมต้น หรือปลายอย่างที่เข้าใจ  แรก ๆ หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ยอมรับว่าประหลาดใจไม่น้อย ที่ภาษาไทยไม่มีคำบุรพบท ถ้าลองย้อนอ่านขึ้นไปดิฉันได้กล่าวว่า ได้อ่านตำราเล่มหนึ่งที่กล่าวว่าคำบุรพบทนั้นไม่มีในภาษาไทย ไม่ใช่ถามเนื่องจากความไม่ตั้งใจศึกษา

ขอยกตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า
เรายังเห็นได้ว่านักภาษาศาสตร์ไทยเองคุ้นเคยกับไวยากรณ์ที่เลียนแบบภาษาอังกฤษ ยังสละความคิดเดิมที่ติดอยู่ในสมองไม่ได้ นักภาษาศาสตร์อเมริกาบางคนก็ด้วย เพราะเขาคุ้นเคยกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ต้องมีบุรพบทไปด้วย จึงเป็นการง่ายที่จะรับนามหรือกริยาที่อยู่ตำแหน่งที่แปลได้เป็นบุรพบทในภาษาอังกฤษว่าเป็นบุรพทไปด้วย   แต่อย่างไรก็มีคำที่น่าสงสัยอยู่ 1 คำ คือ โดย ซึ่งยืมมาจากภาษาเขมร ระยะแรก ๆ ก็ใช้ในความหมายว่า ตาม ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะ ตาม เป็นกริยา เช่น โดยสาร ต่อมาไปใช้แทนคำ by ในภาษาอังกฤษ ครั้นจะดื้อดึงว่าเป็นกริยาตามแบบเก่าก็มีประโยคเช่น "หนังสือเล่มนี้แต่งโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
"โดย" หาความได้มีความหมายว่า "ตาม" อย่างเดิมแล้ว อาจจะต้้องโทษกับการไหลของวัฒนธรรมทางภาษาอังกฤษเข้าสู่ภาษาไทย จนทำให้ภาษาไทยเสียความบริสุทธ์ไปและต้องจัดว่าภาษาไทยมีคำบุรพบทด้วยความจำใจ
บันทึกการเข้า
ชื่นใจ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 136

นักศึกษาปริญญาเอก University of East Anglia England


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 17:10

 จากตัวอย่างที่คุณยกมาให้อ่าน อิฉันขอมองต่างมุมดังนี้ค่ะ
ใจความในตัวอย่างนั้น คงไม่ได้ตีตราว่าภาษาไทยไม่มีบุรพบทเลย
แต่อาจจะสื่อว่าในบรรดาคำที่ทำหน้าที่เป็นบุรพบทในภาษาไทยนั้น
มีคำหลายคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ
ในขณะที่ผู้เขียนอาจจะละข้อความที่จะเน้นว่า
"ส่วนคำที่ทำหน้าที่เป็นบุรพบทอีกหลายๆคำที่ไม่ได้กล่าวถึง ไม่ได้มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ" ก็ได้

ถ้าพิจารณาให้ดีภาษาทุกภาษาที่มีใช้ในโลก ย่อมได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นๆ
และในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลต่อภาษาอื่นๆด้วย
หากคุณมีโอกาสที่จะค้นคว้าความรู้ทางภาษาศาสตร์ให้มากขึ้น
คุณจะพบว่าทุกภาษามีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
และปัจจัยที่ทำให้แต่ละภาษาเปลี่ยนแปลงก็มีมากมาย
หากการเปลี่ยนแปลงนั้น จะช่วยให้ตัวภาษาและการใช้ภาษา
มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดตามบริบทของแต่ละยุคสมัย
ย่อมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือรับเอาอิทธิพลจากภาษาอื่นมาใช้อย่างมีประโยชน์

อิฉันไม่อยากอ้างอิงถึงเฉพาะภาษาอังกฤษว่าเป็นภาษาเดียวที่มีอิทธิพลต่อภาษาไทย
แม้ภาษาอื่นๆ ก็มีอิทธิพลต่อภาษาไทยเช่นเดียวกัน
และในทางตรงกันข้าม หากกล่าวถึงเฉพาะภาษาอังกฤษเอง ก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นๆ มากมาย
การเปลี่ยนแปลงทั้งทางโครงสร้างไวยากรณ์ รูปศัพท์ ฯลฯ
เกิดขึ้นทุกวัน เพียงแต่ผู้ใช้ภาษาไม่มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในห้วงเวลาสั้นๆ
แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกันในระยะยาวก็ย่อมเห็นได้ชัดเจน
และการเปลี่ยนแปลงนี่แหละค่ะที่ยืนยันว่า ภาษานั้นๆ ยังคงเป็นภาษาที่ได้รับการใช้อย่างต่อเนื่อง

อันที่จริงหนังสือเล่มที่คุณกล่าวถึง น่าจะยกตัวอย่างหรืออภิปรายเหตุผลเพิ่มเติม
ซึ่งถ้าไม่มี...คุณน่าจะลองค้นคว้าจากหนังสือเล่มอื่นแล้วหละคะ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 17:33

 ถ้าอย่างนั้นคุณก็คงเป็นนักเรียนระดับอุดมศึกษา เวลาตั้งกระทู้ จึงควรทำให้ชัดเจน และกรณีที่บริบทเป็นสิ่งสำคัญ

ดังเช่นคำถามของคุณ การถามลอยๆว่าภาษาไทยไม่มีบุรพบท อาจจะไม่เพียงพอ หากคุณยกบริบท หรือหัวข้อ

ของข้อเขียนที่คุณอ้างอิงมาให้ดูตั้งแต่แรก จะช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนความเห็นมีประสิทธิภาพขึ้น



ขอวิเคราะห์ถ้อยความที่คุณยกมาดังนี้ค่ะ



1) ผู้เขียนบทความเชื่อว่านักภาษาศาสตร์ไทย ตามกระแสนักภาษาตปท. มากเกินไป

จึงมีส่วนทำให้ภาษาไทยซึ่งเดิมไม่มีบุรพบท เช่นในตัวอย่างต่อไปนี้

ฉัน+ไป+โรงเรียน...........(ประธาน+กริยา+ส่วนขยาย)

I go to school...............(ประธาน+กริยา+บุรพบท+ส่วนขยาย) [I=subject, go to school = predicate]



กลับมีบุรพบท ในตัวอย่างอื่นๆ



2)  คำว่า 'โดย' แต่ก่อนแปลว่า 'ตาม' [เช่น โดยเสด็จพระราชกุศล = ตามเสด็จ...]

ภายหลัง 'โดย' กลายมาเป็นบุรพบท เช่น หนังสือแต่ง 'โดย' นายสมบัติ



3) ผู้เขียนบทความยอมรับว่าปัจจุบันภาษาไทยมีบุรพบทแล้ว



ก็น่าจะพอเห็นภาพขึ้นบ้างนะคะ หรือรอมืออาชีพมาช่วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 20:45

 ลองมาแปลดูนะคะ

พระเสด็จโดยแดนชล   ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
แปลวรรคแรกก่อน
The king went by the river.

หนังสือเล่มนี้แต่งโดย นาย เอ.
The book was written by Mr. A.

แล้วจะอธิบายว่ายังไง ? ในเมื่อกาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นั้นมีมาก่อนอิทธิพลภาษาอังกฤษ
บันทึกการเข้า
บุรุษจรัสแสง
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

เรียน


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 20:49

 มีตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า

เอกลักษณ์ภาษาไทยในฐานะภาษาหนึ่งของโลกที่ทุกคนครวรักษาไว้ตราบเท่าที่จะกระทำได้ ไม่ครวยอมให้ภาษาอื่นเข้ามาสู่ภาษาไทยจนภาษาไทยกลายเป็นเมืองขี้นทางภาษาอื่นไป แน่นอนการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้แต่ไม่ครวยอมให้โครงสร้างของประโยคตกเป็นทาสของโครงสร้างประโยคในภาษาอื่น การแปลเป็นตัวสำคัญอย่างหนึี่งที่ชักจูงแนะนำภาษาไทยให้เป็นทาสภาษาอื่น  ไม่ใช่เราไม่เห็นความสำคัญของการแปลเพราะการแปลเป็นสื่อให้เกิดการหลั่งไหลถ่ายเทความรู้และเทคโนโลยีจากวัฒนธรรมอื่นสู่วัฒนธรรมไทย แต่ขณะที่เราแปลเราอาจหลงลืมหรือเผลอตัวใช้โครงสร้างประโยคของภาษาอื่นโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้แหละเป็นปัญหาสำคัญ
บันทึกการเข้า
ชื่นใจ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 136

นักศึกษาปริญญาเอก University of East Anglia England


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 22:01

 ไม่แน่ใจว่า ยิ่งถกกัน เรื่องราวจะยิ่งไม่ตรงประเด็นไปกันใหญ่หรือเปล่า
ทั้งนี้เพราะคุณบุรุษจรัสแสงคือผู้ที่ทราบแหล่งข้อมูล
อันเป็นต้นตอหรือที่มาของกระทู้นี้ แต่เพียงผู้เดียว

คุณเปิดประเด็นครั้งแรกด้วยเรื่องของคำที่ทำหน้าที่บุรพบท
ประเด็นต่อมาที่คุณนำเสนอคือเรื่องการแปล (ความเห็นเพิ่มเติมที่ เจ๋ง

อิฉันเห็นด้วยบางส่วนกับข้อความในความเห็นเพิ่มเติมที่ 8
ทั้งนี้เพราะเคยเห็นหนังสือแปลบางเล่มเข้าข่ายดังกล่าว
แต่เรื่องความสามารถหรือภูมิรู้ของผู้แปล
ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ หลักไวยากรณ์ ซึ่งเป็นประเด็นเริ่มแรกของกระทู้นี้

อิฉันมีความเห็นส่วนตัวเพื่อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า
ในกรณีที่คุณอ่านหนังสือหรือบทความหรือข้อเขียนอื่นๆ
คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของทั้งผู้เขียนและของหนังสือเล่มนั้นก่อนเป็นอันดับแรก
หากคุณมีคำถามเกิดขึ้นในระหว่างที่อ่าน คุณควรพิจารณาต่อไปว่า
ตอน/ส่วน/หรือบทที่คุณกำลังอ่านแล้วเกิดคำถามขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะว่าอย่างไร
ข้อความที่เป็นต้นตอของสิ่งที่คุณสงสัยได้รับการอภิปรายต่อไปว่าอย่างไร
หรือหากไม่มี ตัวคุณเองจะอภิปรายต่อหรือจะหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ฯลฯ
ผู้ค้นคว้าที่รอบคอบ ย่อมไม่ยึดถือแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียวเป็นสรณะ,
ไม่ด่วนสรุปเอาโดยปราศจากการรู้เท่าทันแหล่งข้อมูลที่ตนกำลังใช้งาน, ฯลฯ

อีกอย่างคือ การเปิดประเด็นเพื่ออภิปรายเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
อิฉันเองสนับสนุนและไม่อยากให้คุณ "ฝ่อ" กับการเป็นผู้เปิดประเด็นอภิปรายไปซะก่อน
แต่คุณพึงระลึกไว้เสมอว่า (สำคัญอย่างมากด้วย) คุณควรพยายามทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวมาแล้วพอสมควร
แต่ยังขบไม่แตก
คุณควรบอกที่มาที่ไป บอกบริบท บอกแหล่งข้อมูลต่างๆ (ซึ่งย่อมไม่ใช่จากแหล่งๆเดียว)
เพื่อที่จะช่วย "ประเด็น" ที่คุณตั้งขึ้นได้รับการอภิปรายที่ตรงเป้า
คนที่ร่วมวงอภิปรายกับคุณก็เข้าใจตรงกัน
เกิดความรู้หรือแนวความคิดที่ต่อยอดไปจากองค์ความรู้เดิม

ยอมรับตามตรงค่ะว่า ยิ่งตามอ่านกระทู้นี้
อิฉันยิ่งไม่เข้าใจประเด็นที่คุณนำเสนอ    
บันทึกการเข้า
บุรุษจรัสแสง
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

เรียน


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ม.ค. 06, 23:01

 ประเด็นยังคงเป็นเรื่องเดิมอยู่ค่ะ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามีตำราบางเล่มได้มีแนวคิด
บางประการที่ตัวดิฉันเองไม่ทราบมาก่อน แต่ที่สะดุดมากที่สุด คือผู้แต่งได้กล่าวว่า ตำราเล่มนี่เชื่อว่าไม่มีบุรพบทในภาษาไทย หลังจากที่พยายามอ่านจดจบ และพลิกไปมาอยู่หลายครั้ง ต้องยอมรับว่าครั้งแรกที่อ่านนั้นคิดว่าตนเองอ่านผิด จึงพยายามอ่านย้ำไปมาอยู่หลายครั้ง จึงคิดหาทางออก ด้วยการเปิดประเด็นถาม ดีกว่าเก็บความสงสัยไว้กับตัวเอง เพื่อว่าจะมีผู้ที่ได้พบความคิดนี้ผ่านสายตามาแล้ว และพอที่จะอธิบายให้คลายสงสัยได้บ้าง
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ม.ค. 06, 00:30

 ประการแรกขอทราบชื่อหนังสือ และชื่อผู้แต่ง ที่คุณบุรุษจรัสแสง ได้นำมาอ้างอิงครับ

บางครั้งยกมาเพียงบางประโยคก็อาจทำให้ผู้ที่ไม่ได้อ่านทั้งเล่ม เข้าใจไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อก็ได้ครับ

เท่าที่ผมอ่านดู ผมรู้สึกได้ถึง "อคติ" ของผู้แต่งหนังสือ ที่มีต่อนักไวยกรณ์ภาษาไทย (หรือนักแปล? อิอิ ?) ที่แปลภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยโดยแปลคำบุรพบทของภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยด้วย

ผมไม่แน่ใจว่า ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เป็นชาวต่างชาติหรือไม่ ฮืม เพราะสำนวนที่ใช้เป็นสำนวน "แปร่งๆ" ที่ผมอ่านแล้วไม่น่าจะเป็นสำนวนที่คนไทยเขียน แต่คล้ายสำนวนแปลมาจากภาษาอังกฤษ

---------------------

ประเด็นต่อมา ผมว่า ภาษาไทยมีโครงสร้างที่ภาษาอังกฤษเข้ามาแทรกได้ยากครับ ถ้าท่านได้ไปเจอ บทความที่เขียนไทยคำอังกฤษคำ หรือ ใช้สำนวนแปลกๆ แปลตรงๆ ตามภาษาอังกฤษ นั่นก็เป็นเพราะ "ผู้แปล" ยังไม่เข้าขั้นครับ ซึ่งถ้าหนังสือเล่มนี้กำลังวิจารณ์คนกลุ่มดังกล่าว ก็นับว่าเป็นการวิจารณ์คนแปลที่ประสบการณ์น้อย เพราะว่าผู้แปลที่มีประสบการณ์มากๆ จะอ่านภาษาอังกฤษ ทำความเข้าใจ และถ่ายทอดออกมาเป็นรูปประโยคแบบภาษาไทย

------------------

ประเด็นเรื่องภาษาไทยมีคำบุรพบทหรือไม่

คำตอบคือ "มี" ครับ แล้วก็ไม่ได้เป็นอิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษแต่ประการใด แต่ผู้เขียนอาจมีความเข้าใจที่ไม่กว้างไกลย้อนไปถึงเอกสารชั้นอยุธยาและสุโขทัย จึงคิดและเขียนออกมาเช่นนั้น

คำบุรพบท
แก่ - บุรพบท - ใช้นำหน้านามฝ่ายรับ เช่น ให้เงินแก่เด็ก
แด่ - บุรพบท - แก่ (ใช้ในที่เคารพ)
ต่อ - เฉพาะ ประจันหน้า เช่น ต่อหน้า ยื่นต่ออำเภอ, เมื่อถึง เช่น มาต่อปีหน้า, แต่ละ ราย เช่น ต่อคน ต่อปี เป็นต้น
ถึง - บุรพบท - สู่ กระทั่ง ยัง เช่น ไปถึงบ้าน
จาก - บุรพบท - คำนำหน้านามแสดงว่า พรากไป พ้นไป หรือ แยกไป เช่น ดื่มน้ำจากแก้ว
เป็นต้น

ตัวอย่างคำบุรพบทจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ (พ.ศ.๑๘๓๖)

พี่เผือผู้อ้าย ตาย จาก เผือ เตียมแต่ ยังเล็ก

เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอ แก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู

ตัวอย่างนี้ เป็นภาษาไทยโบราณครับ จะเห็นได้ว่ามีคำบุรพบทอยู่แล้วอย่างชัดเจน คือ "จาก" "เตียมแต่ (ตั้งแต่)" และ "แก่"

หวังว่าคงจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 ม.ค. 06, 11:33

 ถึงตอนนี้ คุณจขกท ก็คงได้คำตอบแล้วว่า
เรื่องที่ 1
ไทยมีคำบุรพบท จริง    

เรื่องที่ 2
การใช้โครงสร้างภาษาต่างประเทศในประโยคของไทย  ไม่ทราบว่าตัวอย่างมีไหมคะ    
ถ้าเห็นตัวอย่างแล้วจะเข้าใจจุดประสงค์ของคนเขียนหนังสือเล่มนั้นได้ดีขึ้น

ดิฉันเดาว่าเป็นประโยคประเภท " ผมถูกเชิญไปร่วมงานเลี้ยง"   อะไรทำนองนี้หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
บุรุษจรัสแสง
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

เรียน


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ม.ค. 06, 19:16

 มีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า

ขอให้สังเกตุว่าตำหรับเล่มนี้ไม่จัดคำเช่น "จาก ขี้น ถีง ใต้ นอก ใน บน ลง ล่าง "้เป็นต้นว่าเป็นบุรพบทซึ่งปรากฏในตำราไวยากรณ์ไทยแทยทุกเล่ม ตำรับนี้ถือว่า " ขึ้น จาก ถีง ลง" เป็นกริยาเพราะทำเป็นปฏิเสธได้โดยเติม ไม่ เข้าข้างหน้าคำดังกล่าว

1 เขายกกระสอบนั้นไม่ขี้น
2 รถของเขาเบรกไม่จาก มันค้างอยู่แน่นอน
3 พ่อไปไม่ถึงเชียงใหม่เพราะรถเสีย
4 ผมฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้ไม่ลง
ส่วน ข้าง ใต้ นอก ใน บน ล่าง ตำรับนี้ถือว่าเป็นนามเพราะมีสถานะและพฤติกรรมเช่นเดียวกับนามทั่ว ๆ ไปคือสามารถตามด้วยนิยมลักษณ์ได้
1 เขาอยู่ข้างหน้าผม

วลี ข้่างหน้าผม จัดว่าเป็นนามวลี มี "ข้าง" เป็นส่วนหัว มี "หน้าผม "เป็นส่วนขยาย ที่จริงแล้ว "ผม"ขยาย "หน้า" และ "หน้าผม" ขยาย"ข้าง" เราไม่สามารถยอมรับได้ว่า ข้าง หรือ ข้างหน้า เป็นบุรพบทได้ เราเชืื่อว่านักภาษาไทยโบราณที่ยอมรับว่า "ข้าง" หรือ "ข้างหน้า" เป็นบรุพบทเพราะเอาไปเทียบกับภาษาอังกฤษ beside หรือ  in fornt of  ตามลำดับ รูปลักษณ์ของคำและแม้แต่ความหมายในภาษาไทยก็เห็นได้ชัดว่าเป็นนาม ฉะนั้นการวิเคราะห์ภาษาไทยโดยเทียบแนวไวยากรณ์อังกฤษก็ดี ไวยากรณ์บาลีก็ดีเห็นควรว่าน่าจะระงับเสียตั้งแต่บัดนี้้เป็นต้นไป

ปล ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เป็นชาวไทยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ม.ค. 06, 19:38

 แปลก

"ตำรับนี้ถือว่า " ขึ้น จาก ถีง ลง" เป็นกริยาเพราะทำเป็นปฏิเสธได้  โดยเติม ไม่ เข้าข้างหน้าคำดังกล่าว"

เพิ่งเคยเห็นนี่แหละค่ะ ว่านับว่าคำไหนเป็นคำกริยา ด้วยการทดลองเติมคำว่า "ไม่" ลงข้างหน้า  เพราะทำเป็นปฏิเสธได้

เอ ถ้างั้น คำว่า อร่อย    ไพเราะ  หวาน  เปรี้ยว  ดี งาม   ซอมซ่อ หรูหรา ฯลฯมันก็เป็นกริยาหรือเปล่าคะ
เพราะเติม ไม่ ลงข้างหน้าได้หมดเหมือนกัน ทำเป็นปฏิเสธได้ทั้งนั้น

ส่วนข้อความครึ่งล่างอ่านไม่รู้เรื่องค่ะ   ขอผ่านนะคะ คุณจขกท.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง