เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3350 วันสมเด็จพระนเรศวร
บ้านายคำเก่ง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 52

ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์
 เมื่อ 18 ม.ค. 06, 21:05

 .......แต่เดิมนั้น วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และทางกองทัพไทยได้กำหนดให้เป็น “วันกองทัพไทย” ด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี  ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2548  คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่  25 เมษายนของทุกปี เป็น  “วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี แทนวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นการนับทางจันทรคติ โดยให้มีการวางพวงมาลาและสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ให้วันที่  18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคมของทุกปี  โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน  การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองดังกล่าว ก็ด้วยว่าเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันคุ้นชิน จำได้ง่าย และมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ  ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้วพบว่า การนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิม ที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคมนั้น  คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคมดังกล่าว ดังนั้น  ในปัจจุบัน  วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”……(Modern 9 TV)

วันนี้วันที่ 18 มกราคมพอดี จึงอยากเล่าเรื่องกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาบ้าง … .กษัตริย์ของอยุธยาที่สามารถมาตีล้านนาได้นั้นมีเพียง 2 พระองค์เท่านั้นคือ สมเด็จพระนเรศวร และ สมเด็จพระนารายณ์ (สมเด็จพระไชยราชาไม่ถือว่าตีเมืองได้ เพราะตอนนั้นเชียงใหม่วางกลลวงไว้โดยการถวายบรรณาการ เพื่อยื้อเวลาที่กองทัพล้านนาจะมาช่วย ในสุริโยทัยจะเห็นว่าพระนางจิรประภาเทวีเชิญเสด็จกษัตริย์อยุธยาเข้าเมือง ภายหลังจากที่สมเด็จพระไชยราชายกทัพกลับแต่ยังไม่ถึงกรุงศรีฯ ปรากฎว่าทัพล้านช้างเข้ารักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ พระองค์ทรงยกทัพกลับมาอีก แต่ไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้—มีบางท่านค้านว่าการถวายบรรณาการถือเป็นการเสียเมือง แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากศิลปากรทักท้วงว่าหากการถวายบรรณาการเป็นการเสียเมืองแสดงว่ากรุงศรีอยุธยาก็ต้องเสียให้กับล้านช้างเหมือนกันในคราวที่สมเด็จพระมหาจักพรรดิส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีไปถวายสมเด็จพระไชยเชษฐา ข้อนี้จึงไม่สามารถสรุปได้จึงงดไป---พระนางจิรประภาเทวีเป็นยายของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และไปอยู่ที่ล้านช้างเวียงจันท์กับพระไชยเชษฐา จารึกที่ลาวเรียกว่า 3 กษัตริย์ คือพระนางจิรประภาเทวี พระนางทิพย์คำมารดาพระไชยฯ และสมเด็จพระไชยฯ เมื่อกษัตริย์ทั้ง 3 ไปอยู่ที่เวียงจันท์ได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตไปด้วย).....สำหรับสมเด็จพระนารายณ์นั้นเมื่อตีเมืองเชียงใหม่ได้ก็ปกครองเชียงใหม่ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ชาวล้านนาเรียกว่า โจรปล้นเมือง เนื่องจากสมัยนั้นกองทัพล้านนาไปช่วยพม่ารบกับจีน กล่าวคือพวกแมนจูบุกเข้ามาแย่งชิงตัวจักรพรรดิหย่งลี่หรือหมิงกุ้ยอ๋องที่หนีมาพึ่งกษัตริย์พม่าที่เมืองอังวะ

ชาวล้านนาได้บันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรว่ามีพระนาม พระนเรส เป็นโอรสของพระสรีธรรมราชาผู้ครองอโยธิยา มีเชื้อสายสืบมาจากเมืองละโว้ (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) ครั้งนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่มีนามว่า เจ้าฟ้าสาวัตถี (นามจริงคือ นรทรามังช่อ แต่ครองเมืองสาวัตถีซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอังวะจึงถูกเรียกว่า เจ้าฟ้าสาวัตถี) เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้านันทบุเรง (ล้านนาเรียกหน่องภักหว่าน) ประมาณปี พ.ศ.2142-3 ภายหลังที่สมเด็จพระมหาอุปราชาโอรสของพระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์ในสมรภูมิรบ (สยามบันทึกว่าถูกของ้าวฟันจนขาดคอช้าง แต่ล้านนาบันทึกว่าถูกปืนยิง ทั้งนี้สมัยนั้นยังไม่มีคุณหญิงหมอคนเก่งและแผนกนิติเวชศาสตร์จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าอย่างไรกันแน่)... พระเจ้าเชียงใหม่มีศักดิ์เป็นน้องต่างมารดาของพระเจ้านันทบุเรงคิดที่จะแข็งเมืองไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี อีกทั้งขณะนั้นญาติพี่น้องที่ขนกันมาจากพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองก็ล้มตายกันไปหมดเพราะไปทำศึกกับอยุธยา เช่น เจ้าเมืองพะเยา ฝาง เถิน ตาก เชียงแสน ทำให้เมืองต่างๆในล้านนามีชาวยวนกลับมาเป็นเจ้าเมืองอีก โดยเฉพาะเมืองน่าน ซึ่งยังไม่มีพม่ามอญคนไหนได้ไปครองเลยและพยายามที่จะแข็งเมืองตลอดเวลา เจ้าฟ้าสาวัตถีจึงตัดสินใจส่งบรรณาการลงไปถวายสมเด็จพระนเรศวรขอขึ้นเป็นเมืองประเทศราช สมเด็จพระนเรศวรเอาตัวโอรสองค์กลางของเจ้าฟ้าสาวัตถีเป็นตัวประกันคือ มังแรทิพย์ (ตอนหลังได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่และโดนปลดจนเมืองละคอนและน่านที่เป็นพวกคอยส่งเสริมต้องยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ และสุดท้ายเกิดศึกขึ้นจนเป็นที่มาของโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ราชวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนองเลยสิ้นสุดตอนนั้น).... ในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นกษัตริย์อยู่นั้น เมืองเชียงใหม่ถือว่าเป็นประเทศราชของอยุธยาและยาวนานที่สุดถึง 5-6 ปีกว่าๆ (ประมาณ 2142-2148) ทางด้านเมืองเชียงแสน ฝาง น่าน ต่างที่จะแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในล้านนา ครั้งนั้นพญาเดโชเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นชาวล้านนาแต่ไปรับราชการที่กรุงศรีฯและขึ้นมาครองเมืองตามคำสั่งของกษัตริย์อยุทธยาได้รวมกับเมืองฝางเพื่อจะตีเมืองเชียงใหม่ขับไล่เจ้าฟ้าสาวัตถีออกไป ส่วนเมืองน่านเจ้าเมืองคือเจ้าน้ำบ่อก็ไปขอกำลังล้านช้างมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ในตอนนั้นสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถมาห้ามทัพไว้ ดังนั้นศึกใหญ่จึงไม่เกิดขึ้น... ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกรีฑาทัพไปตีเมืองอังวะ และไปสวรรคตที่เมืองหาง พระเจ้าเชียงใหม่ก็หาได้เกรงสมเด็จพระเอกาทศรถไม่ เจ้าฟ้าสาวัตถียกทัพไปบุกเมืองฝาง เมืองเชียงแสนขับไล่กองทัพสยามซึ่งรักษาเมืองไว้ลงไป แล้วยกทัพเข้าเมืองน่าน ซึ่งครั้งนั้นพระยาพลศึกซ้ายน้องของเจ้าน้ำบ่อ(จริงๆเป็นลูก)เปิดประตูเมืองน่านให้พม่า ดังนั้นเมืองน่านจึงแพ้ เจ้าน้ำท่วมถูกเอาตัวโยนทิ้งลงน้ำบ่อ เจ้าฟ้าสาวัตถีจึงปราบล้านนาได้ทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถได้นำเอาพระทุลอง (มังสาตุลอง) พระโอรสองค์โตของเจ้าฟ้าสาวัตถีลงไปด้วย และให้มังแรทิพพ์คืนมาเมืองเชียงใหม่ดังเดิม จากนั้นล้านนากับอยุธยาก็ขาดกัน สมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระทุลองมีฐานะเป็นพระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (ตามมหาราชวงศ์พม่า) ส่วนทางด้านเมืองเชียงใหม่เจ้าฟ้าสาวัตถีก็สุรคต ขุนนางจึงไปเชิญพระทุลองมาครองเมือง แต่เกิดความขัดแย้งกันเพราะฝ่ายละคอน(ลำปาง)กับเมืองน่านจะเอามังแรทิพพ์ สุดท้ายก็ต้องเอามังแรทิพพ์เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ แต่พอได้อีกปีต่อมาขุนนางก็ปลดลงเสียแล้วเอา มังสโทค้อย ขึ้นแทน ทำให้เมืองละคอน เมืองน่านยกทัพมาตีเชียงใหม่ ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ขอพระทุลองยกทัพอยุธยามาช่วยแต่พระทุลองสิ้นเสียก่อน ทัพสยามจึงกลับไป เมืองละคอนกับเมืองน่านจึงเข้าเมืองได้ เมื่อพม่าทราบว่าล้านนาเป็นจราจลอีกก็ยกทัพจากหงสาวดีมาเอาล้านนา นั่นเป็นการเสียกรุงเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ดังปรากฎในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ... แล้วพม่าให้พญาน่านคือพญาพลศึกซ้ายที่เป็นคนเปิดประตูเมืองน่านให้เจ้าฟ้าสาวัตถีในครั้งนั้นเป็นเจ้าเมือง (พญาพลเสิกซ้ายนี้เป็นลูกเจ้าน้ำบ่อแต่หมอทำนายว่าจะฆ่าพ่อเอาไว้ไม่ได้ แต่เจ้าน้ำบ่อไม่ฆ่าเลี้ยงเอาเป็นน้อง สุดท้ายก็ฆ่าพ่อจริงๆ ในสมัยเจ้าฟ้าสาวัตถีมาครองเมืองเชียงใหม่มีปีหนึ่งเจ้าน้ำบ่อให้คุมช้างไปถวาย เจ้าฟ้าสาวัตถีเห็นพญาพลศึกซ้ายก็ถูกซะตารับเป็นบุตรบุญธรรม นี่กระมังที่พญาพลเสิกซ้ายตัดสินใจเปิดประตูเมือง แต่พระองค์จะรู้ไหมว่าแท้ที่จริงพ่อตนเองคือใคร แต่กรรมก็ตามทัน เนื่องจากตอนหลังในสมัยพระเจ้าสุทโธ พญาพลศึกซ้ายหรือนามใหม่ว่าพระเจ้าสรีสองเมืองเอาเจ้าเมืองเชียงแสนและเจ้าเมืองฝางไปขัง พระเจ้าสุทโธคิดว่าจะฟื้นม่านจึงจับเอาพระเจ้าสรีสองเมืองไปหงสาวดี เอาไม้หนีบอกไว้ จนสุรคต เหตุเพราะกรรมปิตุฆาตแต่ครั้งนั้น)

นอกจากนี้แล้วในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ยังได้พรรณนาเอาไว้ว่า การเสียเมืองล้านนาให้กับพม่าในครั้งนั้น (ครั้งที่ 2) พม่าได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเมืองพม่าก็ได้รับความทุกข์ ไม่มีข้าวปลาอาหารเพียงพอ แผ่นดินแห้งแล้ง ผิดกับตอนที่เชียงใหม่ขึ้นกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนลงไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเลย เพียงแต่เอาโอรสเป็นตัวประกันเท่านั้น

เหตุการณ์ของล้านนาอันเกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระนเรศวรก็คงมีเพียงเท่านี้ ... จะเห็นว่าเรื่องราวของอยุธยาก็มีในประวัติศาสตร์ล้านนาเหมือนกัน ... ที่ต้องกล่าวถึงพม่าเยอะมากนั้นเนื่องจากพม่าเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า หากสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนม์ชีพยาวนานกว่านั้น หรือหากสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาเหมือนสมเด็จพระเชษฐา ก็คงมีเรื่องราวของอยุธยาในประวัติศาสตร์ล้านนามากกว่านี้
(***เนื่องจากมีบางคำใช้ว่าสยามบ้างอยุธยาบ้าง ขอหมายเหตุว่านอกจากพม่าจะเรียกอโยธยาว่า โยธยา (อ่านออกเสียงว่า โยเดีย) แล้ว ยังพบว่าพม่าเรียก สยาม อีกด้วย ปรากฎในบันทึกการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียน เมื่อปี พ.ศ.2126-7 ได้บรรยายเมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาแห่งสยาม (Silon) ส่งโอรสไปรบร่วมกับกองทัพเมืองหงสาวดีเพื่อไปตีเมืองอังวะ (เจ้าเมืองอังวะชื่อสโทมังช่อเป็นกบฎต่อหงสาวดี) ในบันทึกกล่าวว่าโอรสของกษัตริย์สยามทรงเป็นโอรสของกษัตริย์พม่าด้วย ดังนั้นก็คือสมเด็จพระนเรศวรนั่นเอง  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง