ก็ขอตอบตามที่ผมทราบนะครับคุณ Nuchan
โดยปกติแล้ว แว่นแคว้นโบราณของประเทศไทยปัจจุบันนี้ จะมีรูปอักษรใช้กัน ๒ ชนิดครับ คือ "อักษรธรรม" ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา กับ "อักษรสามัญ" ใช้เขียนบันทึกทั่วๆ ไป
ภาคเหนือ
อักษรธรรม : อักษรธรรมล้านนา
อักษรสามัญ : อักษรฝักขาม (สมัยต่อมามี ไทยนิเทศ ด้วย)
ภาคอีสาน
อักษรธรรม : อักษรธรรมอีสาน
อักษรสามัญ : อักษรไทยน้อย
ภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัยและเมืองใกล้เคียง)
อักษรธรรม : อักษรขอมสุโขทัย
อักษรสามัญ : อักษรไทยสุโขทัย
ภาคกลาง (และภาคใต้ ?)
อักษรธรรม : อักษรขอมอยุธยา (ต่อมา พัฒนาเป็น ขอมธนบุรี และขอมรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น อักษรของไสยศาสตร์ไปเสียแล้ว พบเห็นได้ตาม ยันต์ ต่างๆ ครับ เพราะคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ปัจจุบันเราหันมาใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลีแล้วนั่นเอง)
อักษรสามัญ : อักษรไทยอยุธยา (ซึ่งพัฒนาการเป็นลำดับมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน)
----------------------------------------------
ต่อข้อถามว่า อักษรธรรมอีสาน มาจากไหน ก่อนอื่นขอแก้คำว่า "อักษรธรรมน้อย" ก่อนนะครับ คำนี้ผมไม่เคยได้ยิน เข้าใจว่า คุณ Sound engineer คงหมายถึง "ธรรมอีสาน" และ "ไทยน้อย"
อักษรธรรมอีสาน มีกำเนิดมาจากรูปอักษรขอม แต่ว่าจะดัดแปลงมาจาก ธรรมล้านนา หรือ ขอมสุโขทัย อันนี้ผมจำไม่ได้เสียแล้ว (ตำราไม่มีใกล้ตัวเช่นเคย อิอิ) คงต้องขอให้ผู้รู้ท่านอื่นมาช่วยอีกแรงครับ
อักษรไทยน้อย มีกำเนิดมาจากรูปอักษรไทยสุโขทัย แต่ว่าจะดัดแปลงมาจาก ฝักขาม หรือ ไทยสุโขทัย อันนี้ ก็จำไม่ได้อีกเช่นกัน อิอิ
สงสัยต้องรบกวนคุณศศิศ ด้วยอีกคนครับ
เรื่องนี้ก็ได้ข้อสังเกตอย่างกว้างๆ อยู่ว่า ในสมัยโบราณมีการจำแนกรูปของอักษรไว้อย่างชัดเจน คือ อักษรธรรมไว้เขียนธรรมะ อักษรสามัญ ไว้บันทึกเรื่องทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแต่เดิมสุโขทัยรับอิทธิพลทางศาสนามาจากเขมร จึงใช้อักษรขอม เขียนเรื่องราวทางศาสนา และถือว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์
ต่อมา เมื่อรับพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา ความยืดถือว่า อักษรขอมเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีอยู่ จึงนำมาเขียนพระไตรปิฎกด้วย
ถึงแม้ว่าต่อมาได้เกิดอักษรไทยสุโขทัยขึ้นมาก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้จารึกพระธรรม แต่จะนิยมใช้เขียนบันทึกทั่วไป เรื่องพระธรรมนั้นก็ยังคงยกให้อักษรขอมอยู่ครับ โดยได้พัฒนารูปแบบให้เขียนง่ายขึ้นจึงกลายเป็น "ขอมสุโขทัย" และธรรมเนียมดังกล่าวคงแพร่ไปยังแคว้นอื่นๆ ด้วยครับ จึงเกิดเป็นการใช้รูปอักษร ๒ แบบ ในสมัยเดียวกัน
ตรงนี้ก็สังเกตได้ว่า เมื่อก่อนนี้ "การเข้าถึงพระไตรปิฎก" ถูกตัดขาดจากคนทั่วไป เพราะคนทั่วไปจะไม่มีสิทธิ์รู้ได้เลยถ้าอ่านตัวธรรมไม่ออก ดังนั้น คนทั่วไปจึงต้องเชื่อ "พระสงฆ์" ที่สั่งสอนอย่างเถียงไม่ได้ ไม่ว่าจะสอนถูกหรือผิด และยังเขียนเป็นภาษาบาลีอีกต่างหาก ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย จึงเหมือนถูก lock ๒ ชั้น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการปกป้องพระธรรมจากผู้ไม่หวังดีเหมือนกันครับ คือไม่สามารถนำคำสอนมาบิดเบือนได้
---------------------------------------------



