เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 106942 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ก.ย. 05, 13:14

 น่าสนใจมากค่ะ     คนนอกอย่างดิฉันไม่มีโอกาสเห็นบรรยากาศไม่ว่าวังหลวง หรือวังพญาไท
ใคร่ขอให้คุณ V_Mee ช่วยเล่าต่อด้วยถ้ามีเวลา

ดิฉันทราบแต่ว่าเมื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังเยาว์มาก  หม่อมแดง หม่อมแม่ของท่าน
พาคุณชายเข้าไปเฝ้าเสด็จ ในเขตพระราชฐานชั้นใน   หลายต่อหลายครั้ง
คุณชายก็คงได้ซึมซับภาพเต๊ง  ตำหนักใหญ่น้อย  ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาววัง มาบ้าง
พอจะมาใช้เป็นฉากในแผ่นดินที่ 1 ได้  ไม่ผิดพลาด

ส่วนเสด็จ ของพลอย  ดิฉันเคยนึกสงสัยอยู่หลายครั้งว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ "แบบร่าง" มาจากเจ้านายพระองค์ใด

ตอบ ค.ห. 13

เสด็จของแม่พลอยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสกุลบุนนาค    ตาของพลอยที่เป็นหลานเจ้าจอมมารดาของเสด็จ  ผู้แต่งก็ไม่ได้ระบุว่ามาจากสกุลไหน
แต่  แม่พลอยเป็นพวกสกุลบุนนาค ทางพ่อ    ข้อนี้แน่นอน  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กล่าวไว้เอง  เป็นบทความลงในน.ส.พ. สยามรัฐ
ในหนังสือกล่าวไว้ว่า   เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยเป็นก๊ก ฟากขะโน้น   ซึ่งคำนี้ เป็นคำเรียกคนในสกุลบุนนาค   ก่อนสมัยที่จะมีการใช้นามสกุล

ฟากขะโน้น หรือฟากข้างโน้น หมายถึงฝั่งธน  ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่อยู่ของสกุลบุนนาค
แบ่งเป็น 2 สาย คือก๊กฟากขะโน้นบ้านบน  และก๊กฟากขะโน้นบ้านล่าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ก.ย. 05, 13:16

 (ต่อ)
"ช่วงพลอยอยู่ในวัง คุณเชยไปพักที่ตำหนักเจ้าจอมก๊ก"ออ"
คงจะมาจากละคร  ในหนังสือ คุณเชยพักอยู่กับพลอยในตำหนักเดียวกัน
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 01:13

 โดยส่วนตัวม.ร.ว.คุหฤทธิ์  ปราโมช นั้น  ท่านเล่าว่า  ท่านมีเชื้อสายแขกทางสกุลบุนนาค  และ "เจ๊ก" ทางสกุลไกรฤกษ์  เวลาท่านคุยกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา (ไกรฤกษ์) มาลากุล  ท่านก็จะใช้สรรพนามสำหรับท่านผู้หญิงว่า "เจ๊"  
ผมเคยคุยกับเหลนซึ่งสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค) ถึงสภาพความเป็นอยู่ของฟากข้างโน้นในสี่แผ่นดิน  ก็ได้รับการยืนยันว่า คือสภาพของบ้านเรือนท่านผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคที่เคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่  ตั้งแต่วัดประยุรวงศาวาส เรื่อยไปจนถึงย่านวัดพิชยญาติการาม  ฝั่งตะวันออกก็เริ่มจากริม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยไปจนถึงวงเวียนเล็ก  จะเลยไปถึงสี่แยกบ้านแขกหรือเปล่าไม่แน่ใจเหมือนกันครับ  พอมีการเวนคืนเมื่อคราวสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็แยกย้ายกันไปชุดหนึ่ง  เพราะแนวสะพานและถนนผ่าลงกลางที่ดินของสกุลบุนนาคเลยทีเดียว  สมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนก็ยังคงมีบ้านเรือนของพวกบุนนาคหลงเหลืออยู่ไม่น้อย  ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยากันแล้ว  แต่ก็มาโดนกวาดไปอีกรอบก็คราวเวนคืนสร้างสะพานสมเด็จพระปกเกล้าและความเจริญยุคใหม่ที่ข้ามฝั่งไปพร้อมกับสะพานใหม่  เลยไม่เหลือบ้านของพวกบุนนาคให้เห็นอีกเลย

"เสด็จ" ในเรื่องสี่แผ่นดินนั้น  วานท่านผู้รู้ทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า คุณชายจะได้แบบอย่างจากสมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  ซึ่งในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอที่ทรงสนิทสนมและได้เสด็จออกงานร่วมกับล้นเกล้าฯ ยิ่งกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอหรือพระเจ้าน้องเธอพระองค์ใดๆ เพราะในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวงทั้งในพระบรมมหาราชวังและที่พระตำหนักพญาไทนั้น  ก็จะมีแต่ทูลกระหม่อมหญิงประทับอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระพันปีหลวงเพียงพระองค์เดียว  เจ้านายผู้ใหญ่อีกพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์  นอกนั้นก็จะเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง และบุตรธิดาข้าราชบริพารทั้งหลาย  
ในเมื่อคุณชายท่านเติบโตมาในราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง  จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ท่านน่าจะติดภาพของทูลหม่อมหญิงวไลยฯ มากกว่าเจ้านายพระองค์อื่น  

อนึ่ง ในบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินนั้น  คุณชายท่านเขียนว่า แม่พลอยแต่งดำไปรอเฝ้าถวายลังคมพระบรมศพ  ในระหว่างทางที่อัญเชิญจากพระที่นั่งอัมพรกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง  ผมมาสะดุดตรงที่แม่พลอยแต่งดำนี่แหละครับ  เพราะธรรมเนียมไทยเรานั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตต้องไว้ทุกข์ใหญ่มีกำหนด ๑ ปี  การไว้ทุกข์ใหญ่ในสมัยก่อนต้องแต่งขาวทั้งแผ่นดิน  และต้องโกนผมทั้งหมดไม่ว่าหญิงหรือชาย  แต่ในคราวที่รัชกาลที่ ๕ สวรรคตนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้งดการโกนผมทั้งแผ่นดิน  ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้มีพระราชดำรัสสั่งไว้แต่ก่อนสวรรคต  แต่การแต่งขาวทั้งแผ่นดินนั้นยังคงอยู่  ดังมีประกาศเรื่องผ้าขาวขาดตลาดและมีการโก่งราคาเกิดขึ้นในช่วงนั้น
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 12:22

 ผมว่า  "เสด็จ"  ในเรื่องสี่แผ่นดินนั้นไม่ได้แบบอย่างมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะครับ  แต่น่าจะมาจากจินตนาการเป็นส่วนใหญ่บวกกับพระนิสัยบางอย่างของเจ้านายที่ท่านผู้แต่งคุ้นเคยก็เป็นได้

ในส่วนของผมมความน่าจะเป็นไปได้ของเจ้านายที่ท่านผู้แต่งอาจจะยืมสัยของท่านมาก็คือ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองค์เจ้ากาญจนากร  เพราะท่านผู้แต่งเคยเขียนไว้ว่า

"...ผมเองเวลาป่วยไข้  เมื่อยังเป็นเด้กได้รับประทานยาของเสด็จพระองค์กาญจนา  ซึ่งทรงมีความรู้ในทางรักษาโรค  แม่ผมนับถือมาก..."  แต่เจ้านายพระองค์นี้จะต่างจาก  "เสด็จ"  ในสี่แผ่นดินตรงที่ว่า  เสด็จในสี่แผ่นดินไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทรงมีความรู้ในทางรักษาโรคหรือเปล่า  และสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่  7  ในขณะที่เสด็จของพลอยสิ้นเมื่อต้นรัชกาลที่  6

ผมลองไปค้นๆ  ดู เท่าที่ผมเจอเจ้านายในรัชกาลที่  4  พระองค์เดียวที่สิ้นพระชนม์เมื่อต้นรัชกาลที่  6  คือ  "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ์"  ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง  สิ้นพระชนม์เมื่อ  2  สิงหคมม  2456

แต่ผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ  V_mee  ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าพวงสร้อยสะอางค์  แต่ก็เคยเห็นแต่เพียงท่านผู้แต่งเขียนถึงเจ้านายพระองค์นี้ว่า  เคยไปเที่ยวห้างของท่านที่ตั้งอยู่ในฝ่ายใน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 13:19

 ไปเปิดสี่แผ่นดินอ่านดูอีกที    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านไม่ได้บอกว่าแม่พลอยแต่งสีดำหรือขาวค่ะคุณ V_Mee  ท่านพูดคลุมๆไปว่าแต่งเครื่องไว้ทุกข์

ขอลอกมาให้อ่านค่ะ

"...อย่างน้อยที่สุดที่ตนจะทำได้ในวันนี้ ก็คือ ไปคอยเฝ้าถวายบังคมพระบรมศพตามข้าถนนหนทาง    ยังดีกว่านั่งอยู่ในบ้านโดยไม่มีจิตใจจะทำอะไรถูก  
พอนึกออก พลอยก็รีบแต่งกายเข้าเครื่องไว้ทุกข์  บอกนางพิศให้ไปตามรถม้ามาคันหนึ่ง   แล้วก็ขึ้นรถม้าออกจากบ้านสองคนกับนางพิศ   มุ่งหน้าไปทางถนนราชดำเนิน

ตลอดทางที่พลอยผ่าน  มีแต่ชาวบ้านร้านตลาดแต่งกายไว้ทุกข์  นุ่งดำ  เดินมุ่งหน้าไปทางเดียวกันทั้งสิ้น"
*******************
พลอยแต่งขาวหรือดำก็ไม่ทราบ   แต่ชาวบ้านนุ่งดำ  ไม่ได้บอกว่าสวมเสื้อขาวหรือดำ
ดิฉันเดาว่าเป็นเรื่องกะทันหัน ชาวบ้านเพิ่งรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  ผ้านุ่งขาวคงไม่มีติดบ้านกันกี่บ้านนัก
ผ้านุ่งดำหาง่ายกว่า ก็เลยนุ่งดำไปก่อน   แล้วค่อยหาผ้าขาวมาแต่งทุกข์กันในวันรุ่งขึ้น  
แต่ตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ  คงแต่งขาวกันทั้งเมือง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 13:40

 ลักษณะของ"เสด็จ" ที่ประมวลได้จากคำบรรยายของม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ก็คือ เมื่อพลอยยังเล็ก เพิ่งเข้าวัง เสด็จทรงอยู่ในวัยกลางคน แก่กว่าคุณสายไม่กี่ปี  
คุณสาย มีผมหงอกประปรายแล้ว น่าจะไม่ต่ำกว่า 40 เสด็จน่าจะมีพระชนม์ประมาณ 45 พรรษา
เมื่อพลอยโตเป็นสาวอายุ 18  คุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอ  เสด็จก็คงมีพระชนม์เลย  50 พรรษาแล้ว

เสด็จทรงมีพระฉวีขาวผุดผ่อง  มีราศีของความเป็นเจ้านาย แม้ว่าแต่งพระองค์ไม่ผิดชาววังอื่นๆที่เป็นนางข้าหลวงก็ตาม

"สิ่งที่ดึงดูดความสังเกตของพลอยมากกว่าอื่นๆ ในพระองค์เสด็จ  ก็คือพระเนตรทั้งคู่ ซึ่งดำขลับเป็นประกาย
พระเนตรคู่นั้นดูเหมือนจะมองดูพลอยและมองทะลุไปตลอดทั้งตัว พลอยรู้สึกทันทีว่าพระเนตรคู่นั้นมีอำนาจบังคับคนได้
แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกด้วยว่า พระเนตรคู่นั้นเต็มไปด้วยความเมตตา
อาจยึดถือเป็นที่พึ่งอันแท้จริงได้เช่นกัน"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างอื่น คือเสด็จทรงบุหรี่   และทรงอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศได้ด้วย   ตามที่บรรยายไว้ในเรื่องนะคะ
และทรงเป็นเจ้านายสตรีที่ฉลาดเฉลียว แหลมคม ในเรื่องของมนุษย์  เห็นได้จากตอนที่ทรงสอนพลอยในเรื่องของพี่เนื่อง  เมื่อรู้ว่าพี่เนื่องนอกใจไปมีเมีย  ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อความรักของพลอย

"จะเป็นกรวดหรือเป็นเพชร  ถ้าเราไปนึกรักมันเข้า แล้วหายไปเมื่อไร ก็เสียดาย
ยิ่งรักมากก็ยิ่งเสียดายมาก   บางคนถึงเสียคนไปก็มี
ถ้าเราไม่อยากทุกข์มาก ไม่อยากเสียคน  ก็อย่าไปรักอะไรให้มากนัก  
ถึงจะรักก็ต้องรู้กำพืดว่ามันเป็นเพชร หรือเป็นกรวด  
ถ้ารู้ราคาจริงๆของมันเสียแล้ว  ถึงมันจะหายไป เราก็ไม่เสียดายมันนัก"

ส่วนอื่นๆเช่นคำรับสั่งของเสด็จเวลาตรัสกับนางข้าหลวง    ดิฉันคิดว่าท่านทรงมีคารมคมคาย  บางทีก็ทรงเหน็บแนมให้เจ็บๆคันๆ   แต่ไม่ถึงขั้นบริภาษเลยจนครั้งเดียว
ทรงพระเมตตานางข้าหลวงมาก ใครทูลลาไปสมรสก็ประทานเงินทองของมีค่าให้   อย่างพลอยก็ได้ทั้งเข็มกลัดเพชรรูปช่อดอกไม้ฝรั่งและสร้อยทับทิมสลับเพชรอีก 2 เส้น  ราคาน่าจะแพงเอาการในสมัยนั้น
นอกจากนี้เสด็จมักจะกริ้วง่าย แต่หายเร็ว   กริ้วทีก็ข้าหลวงก็อกสั่นขวัญแขวนต้องหลบหน้า  แม้แต่คุณสายเอง    แสดงว่าทรงมีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมกัน

อ่านแล้ว    โดยส่วนตัว  เสด็จมีบางส่วนทำให้ดิฉันนึกถึงสมเด็จพระพันปี  ไม่ได้นึกถึงเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระองค์ใดเลย
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 17:46

ลักษณะของ"เสด็จ" ที่ประมวลได้จากคำบรรยายของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็คือ เมื่อพลอยยังเล็ก เพิ่งเข้าวัง เสด็จทรงอยู่ในวัยกลางคน แก่กว่าคุณสายไม่กี่ปี
คุณสาย มีผมหงอกประปรายแล้ว น่าจะไม่ต่ำกว่า 40 เสด็จน่าจะมีพระชนม์ประมาณ 45 พรรษา
เมื่อพลอยโตเป็นสาวอายุ 18 คุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอ เสด็จก็คงมีพระชนม์เลย 50 พรรษาแล้ว
เมื่อรัชกาลที่ ๕ สวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น  สมเด็จพระพันปีหลวง  เพิ่งมีพระชนมายุ ๔๗ พรรษา  เมื่อคุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอในรัชกาลที่ ๖ นั้น  สมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงเจริญพระชนมายุราว ๕๐  พรรษาแล้ว  และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒
ในรัชกาลที่ ๖

สิ่งที่ดึงดูดความสังเกตของพลอยมากกว่าอื่นๆ ในพระองค์เสด็จ ก็คือพระเนตรทั้งคู่ ซึ่งดำขลับเป็นประกาย
พระเนตรคู่นั้นดูเหมือนจะมองดูพลอยและมองทะลุไปตลอดทั้งตัว พลอยรู้สึกทันทีว่าพระเนตรคู่นั้นมีอำนาจบังคับคนได้
แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกด้วยว่า พระเนตรคู่นั้นเต็มไปด้วยความเมตตา  อาจยึดถือเป็นที่พึ่งอันแท้จริงได้เช่นกัน"
ตรงนี้น่าจะตรงกับสมเด็จพระพันปีหลวง  ที่กล่าวกันว่าพระเนตรทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจมาก  แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงพระมหากรุณาแก่คุณข้าหลวงและข้าราชบริพารยิ่งนัก

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างอื่น คือเสด็จทรงบุหรี่ และทรงอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศได้ด้วย ตามที่บรรยายไว้ในเรื่องนะคะ
ตรงน้น่าจะตรงกับทูลหม่อมหญิงวไลยครับ

ทรงพระเมตตานางข้าหลวงมาก ใครทูลลาไปสมรสก็ประทานเงินทองของมีค่าให้ อย่างพลอยก็ได้ทั้งเข็มกลัดเพชรรูปช่อดอกไม้ฝรั่งและสร้อยทับทิมสลับเพชรอีก 2 เส้น ราคาน่าจะแพงเอาการในสมัยนั้น
นอกจากนี้เสด็จมักจะกริ้วง่าย แต่หายเร็ว กริ้วทีก็ข้าหลวงก็อกสั่นขวัญแขวนต้องหลบหน้า แม้แต่คุณสายเอง แสดงว่าทรงมีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมกัน
ยิ่งตรงนี้ยิ่งเหมือนสมเด็จพระพันปีหลวงที่สุดเลยครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:56

 ขอเพิ่มเติมครับ  
สมเด็จพระพันปีหลวงนั้น  พระอิสริยศักดิ์เดิมก็ทรงเป็นพระองค์เจ้า  และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงออกพระนามว่า "เสด็จแม่" มาโดยตลอด  แม้จะทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแล้ว  ก็ยังทรงเป็น "เสด็จแม" มาตลอด  แต่กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น  กลับทรงขานพระนามว่า "สมเด็จป้า"
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 ก.ย. 05, 16:13

 บางส่วนจากหนังสือเรื่อง  "พิเคราะห์คึกฤทธิ์  พินิจสี่แผ่นดิน"

เรื่อง  "ความไม่เข้าใจที่มีต่อสี่แผ่นดิน"  เขียนโดย  พลตรี  ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์  ปราโมช

"...ตัวละครสำคัญในเรื่องคือเสด็จนั้น  ถูกต้องตามที่คุณแม่ของคุณ  ว.วินิจฉัยกุล  ท่านว่าไว้ทุกประการ  ผมขอคัดมาลงในที่นี้อีกหน

---  อ๋อ  เสด็จน่ะหรือ  ก้เป็นน้องของพระเจ้าแผ่นดินไงเล่า  น้องของรัชกาลที่  ๕  นั่นแหละ  แต่ว่าท่านเกิดจากเจ้าจอมมารดา  ท่านก้อยู่ในวังนะซี  มีเยอะแยะตั้งหลายสิบองค์  ท่านเป็นพระองค์เจ้าทั้งนั้นแหละ  เรียกกันสั้นๆ  ว่าเสด็จ  ---

ข้างในพระบรมมหาราชวังในสมัยนั้นมีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในอยู่มากจริง  เรียกกันว่าเจ้านายข้างใน  ...  ถ้าจะพูดถึงเจ้านายพระองค์อื่นที่มิใช่เจ้านายตน  ก้ออกพระนามว่าแล้วเติมคำว่าพระองค์เข้าไปขางหน้า  เช่น  พระองค์กาญจนา  หรือถ้าจะให้นอบน้อมขึ้นไปอีกก็มักจะเรียกว่า  เสด็จพระองค์กาญจนา

มีที่สังเกตได้อีกทางหนึ่งว่า  เสด็จในเรื่องสี่แผ่นดิน  เป็นพระราชธิดาพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าฯ  ได้แก่คำรับสั่งกับข้าหลวง  เพราะพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔  รับสั่งกับข้าหลวงด้วยศัพท์โบราณ  คือใช้คำว่าข้ากับเจ้า  ...  พอถึงพระราชธิดาในรัชกาลที่  ๕  ศัพท์นั้นก็เปลี่ยนไป  ทรงเรียกพระองค์ว่าฉัน  และทรงเรียกข้าหลวงว่าแก  ...

 ...  เช่นเสด็จ  ซึ่งทรงได่รับการศึกษาสูง  ภาษาต่าประเทสบางภาษานั้น  ก็ทรงศึกษากันไว้มากจนใช้การได้

ทางภาษาบาลีนั้น  บรมวงศ์ฝ่ายในบางพระองคืทรงช่ำชอง  ถึงกับทรงทักพระในขณะที่สวดผิดได้  ...  ทางภาษาอังกฤษ  ถึงจะไม่รับสั่งได้คล่องแคล่วก็ฟังเข้าพระทัย  และทรงอ่านเข้าพระทัยได้เรื่องราวโดยตลอด  สมเด็จพระพันวัสสาพระอัยยิกาเจ้าเคยทรงหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษชื่อ  Straits  Times  ทุกวันเป็นประจำ  ...

ความรู้เรื่องโลกภายนอกและปัญหาต่างๆ  ภายนอกนั้น  เสด้จมิได้รับจากการคุยกับข้าหลวงเท่านั้น  เพราะเจ้านายฝ่ายในต้องขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวตามกาล  จะต้องได้นยินพระราชดำรัสเกี่ยวกับราชการแผ่นดินเนืองๆ  และมากอยู่  นอกจากนั้นยังมีเมียเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ไปเข้าเฝ้าถึงในวังสลับกันมิได้ขาด  ...

แม้แต่เหตุการณ์ต่างๆ  ในหัวเมืองก็ทรงทราบเป็นส่วนมาก  ยังมีคนที่ป็นพระญาติอยู่นอกวังเข้าเฝ้าทูลปัญหาชีวิตของคนภายนอกเพื่อขอประทานพระกรุราอยู่เนืองๆ  ทำให้เจ้านายข้างในเข้าพระทัยปัญหาชีวิตต่างๆ  มากกว่าที่ใครจะนึก

...  ผมเองเคยเข้าร้านสรรพสินค้าเป็นหนแรกในชีวิตเมื่ออายุเจ็ดขวบ  ที่ตำหนักเสด้จพระองค์สร้อย  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองคืเจ้าพวงสร้อยสอางค์)  ในวัง  ชาววังสมัยนั้นเรียกว่า  "ห้างเสด็จพระองค์สร้อย"  ...

ผมเองเวลาป่วยไข้ เมื่อยังเป็นเด็กได้รับประทานยาของเสด็จพระองค์กาญจนา ซึ่งทรงมีความรู้ในทางรักษาโรค แม่ผมนับถือมาก  ...
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ก.ย. 05, 16:23

 ต่อครับผม

เสด็จนั้น  มีมากมายหลายพระองค์ก็จริง  ทรงมีวุฒิแตกต่างกันไป  แม้แต่อาหารที่ตั้งเครื่องก็มีรสไม่ตรงกัน  เช่น  เครื่องที่บน  (สมเด็จพระพันปีหลวง)  มักจะแก่หวานจัด  เครื่องพระตำหนัก  (สมเด็จพระพันวัสสา)  ก็ลดหวานลงมีผักมากขึ้น  ไม่สู้จะมีไขมัน  เครื่องพระนาง  (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี  พระราชเทวี)  ก็มักจะเค็มนำ  แต่ก็จะต้องมีหมูหวานยืนเครื่องทุกพระองค์  ...

เสด็จบางพระองค์ไม่เหมือนใคร

แม่เคยพาผมไปเฝ้าเสด็จพระองคืหนึ่งซึ่งแต่งพระองค์สะอาดเรียบร้อยที่สุด  ตำหนักก็สะอาดหาที่ติมิได้

ระหว่างที่กราบเสด็จอยู่นั้นได้ยินเสียงเสด็จทรงทักแม่  แต่ผมมัวแต่ก้มหน้ามิได้มองอะไร

พอเงยหน้าขึ้นมาก้แลเห็นและได้ยินเสด็จรับสั่งกับเสาตำหนักว่า  "ชื่ออะไรจ๊ะ"

ผมเป็นเด็กโง่  จึงไม่ทูลตอบ  แต่คอยฟังว่าเสามันจะทูลเสด็จว่ามันชื่ออะไร

เท่านั้นแม่ผมก็ซัดเผียะเข้าที่ขาและดุด้วยเสียงกระซิบว่า  "เจ้านายทรงรับสั่งถามด้วยทำไมไม่ทูล"

ผมก็ร้องเยขึ้นตามประสาเด็กโง่  แต่ก็ได้มองเห็นทั้งน้ำตาว่า  เสด็จทรงชี้นิ้วไปที่กระโถนเงินบ้วนพระโอษฐ์  และกระดิกนิ้วพระหัตถ์เป็นเชิงตักเตือนแล้วรับสั่งว่า

"แม่แดงก็ทำลูกแรงเกินไป  เด็กตัวเล็กเท่านี้จะให้แกรู้อะไรมาก"

ผมก็ตกตะลึงว่ากระโถนของเสด็จชื่อเดียวกับแม่ผม

ต่อไปแม่ก็ทูลเสด็จแบบคนเข้าเฝ้า  เสด็จก็รับสั่งตอบเป็นปกติได้เรื่องราว  แต่ก็รับสั่งกับของใช้ที่วางอยู่ในห้องที่ประทับทุกครั้งไป

-----  จบแล้วคับ  -----
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 22 ก.ย. 05, 10:09

 มายืนยันคำตอบอีกคนครับ
ฟากขะโน้นบ้านบน หมายถึงบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
ฟากขะโน้นบ้านล่าง  หมายถึงบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ  
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีเชื้อสายบุนนาคบ้านล่าง  ทางหม่อมแดง แม่ของท่านครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 ก.ย. 05, 10:06

 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชท่านตั้งใจไว้ว่าจะเขียนอธิบายศัพท์ต่างๆในสี่แผ่นดินให้คนรุ่นหลังเข้าใจ    เพราะท่านมาทราบว่าพวกเขาไม่เข้าใจศัพท์เกี่ยวกับบุคคลและอื่นๆ ใน"สี่แผ่นดิน" เสียแล้ว
แต่ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนจะเขียนงานชิ้นนี้ไว้เป็นรูปเป็นร่าง  

ดิฉันไม่ทราบว่าท่านเคยให้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ไว้ในข้อเขียนตอนใดตอนหนึ่งในสยามรัฐหรือไม่   เพราะไม่เคยเจอ
ตัวดิฉันเอง พอรู้บ้างเล็กๆน้อยๆ  ก็เลยขอเอามาลงในเว็บนี้ เผื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาเรื่อง "สี่แผ่นดิน"

ตอนต้นของเรื่อง  เมื่อพลอยตามแม่เข้าไปอยู่ในวัง  เริ่มตั้งแต่เดินเข้าประตูวัง    ก็ได้ยินแม่ถามโขลนว่า
" หลวงแม่เจ้าเป็นอย่างไรบ้าง"
ก็มีเสียงตอบว่า
" ก็ยังงั้นๆแหละ  เจ็บๆไข้ๆ อายุท่านมากแล้ว"

พลอยเกิดความสนใจขึ้นมาใหม่  เพราะชื่อคนว่าหลวงแม่เจ้านี้ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย  อดความอยากรู้ไว้ไม่ไหว  ต้องกระตุกแขนแม่แล้วกระซิบถามว่า
" แม่จ๋า หลวงแม่เจ้านี่ใครจ๊ะแม่"
แม่หันมาบอกว่า " นั่นแหละนายโขลนละ พลอยจำไว้เถิด"

หลวงแม่เจ้า ในที่นี้คือ ท้าวศรีสัจจาดำรง  ดูแลพนักงานโขลน  มีสำนักอยู่ชั้นล่าง ใต้หอนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร
ส่วนหน้าที่ของโขลน คล้ายตำรวจวัง  รักษาถนนหนทางในเขตพระราชฐานฝ่ายใน  ตรวจตราดูความเรียบร้อย  และจัดเวรยามตระเวนรอบๆ ในเวลากลางคืนด้วย
ประวัติของท้าวศรีสัจจาดำรง ใครมีบ้างคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 14:36

 "แล้วใครอยู่ที่แถวเต๊งนี่จ๊ะ แม่" พลอยซักต่อ
" โอ๊ย ใครต่อใครเยอะแยะไปหมด " แม่ตอบ "คุณพนักงานก็มี  คุณเถ้าแก่ก็มี คุณห้องเครื่องก็มี ข้าหลวงที่บนก็มี"

คุณเถ้าแก่ (หรือบางทีสะกดว่า เฒ่าแก่)  เรียกกันว่า ท้าวนางนักพฤธิชราฉลองพระโอษฐ์
มีหน้าที่ควบคุมดูแลนางในเวลาออกไปทำธุระต่างๆ นอกเขตพระราชฐาน หรือไปติดต่องานกับบุรุษฝ่ายหน้า
และควบคุมเวลาบุรุษฝ่ายหน้ามีกิจธุระเข้ามาในเขตพระราชฐาน  เช่นเป็นหมอหรือช่าง  
ผู้ชายพวกนี้ถูกห้าม มิให้เดินไปไหนมาไหนคนเดียว ต้องมีท้าวนางติดตามควบคุมทุกก้าว
คุณเถ้าแก่ ซึ่งเป็นสตรีวัยกลางคนขึ้นไป   อยู่ในพระบรมมหาราชวังมานาน ก็มักได้ดำรงตำแหน่งนี้
แบ่งเป็น 4 ตำแหน่งคือ ท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภานิเวศ  ท้าวอินทรสุริยา ท้าวศรีสัจจา
ในรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งท้าวทรงกันดาล กับท้าวภัณฑสาร เพิ่มขึ้น
และยังมีตำแหน่ง ท้าวราชกิจวรภัตร ดูแลห้องเครื่อง (โรงครัว)
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 11:53

 คุณเทาชมพูครับ  ผมค้นเจอแต่ตำแหน่ง  "ท้าวศรีสัจจา"  แต่ไม่พบ  "ท้าวศรีสัจจาดำรง"  เลยครับ  ตอนแรกผมเข้าใจว่าท้าวศรีสัจจาดำรง    คงจะเป็นราชทินนามเต็มของท้าวศรีสัจจา    แต่ไปดูในรายชื่อผู้ที่ได้รับตราจุลจอมเกล้าฯ  ในสมัยรัชกาลที่  5  ก็ปรากฎแต่เพียง  "ท้าวศรีสัจจา"  ครับ  ซึ่งก็คงเป็นตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับนามของคุณท้าวเท่าที่ผมหาพบ

1.  ท้าวศรีสัจจา  (เลื่อน)  
2.  ท้าวศรีสัจจา  (เจ้าจอมมารดาอิ่ม  ในรัชกาลที่  4)
   ท่านผู้นี้อย่างน้อยที่สุดต้องรับราชการในปี  2446  หรือก่อนหน้านั้น
3.  ท้าวศรีสัจจา  (เหลี่ยม)
   ท่านผู้นี้อย่างน้อยที่สุดต้องรับราชการในปี  2454  หรือก่อนหน้านั้น
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 12:15

 มาเพิ่มเติ่มคุณเทาชมพูเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายในครับ

ท้าววรคณานันท์  เป็นตำแหน่งท้าวนางสูงสุดในทำเนียบข้อราชสำนักฝ่ายใน  ในสมัยรัชกาลที่  5  มีหน้าที่ดูแลปกครองข้าราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณ  ขึ้นตรงต่ออธิบดีฝ่ายใน

ท้าววรจันทร  เป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง  มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน  ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน  และพระสนมกำนัล

ท้าวทรงกันดาร  เป็นผู้บัญชาการพระคลังใน  มีท้าวภัณฑสารนุรักษ์เป็นผู้ช่วย

ท้าวศรีสัจจา  ดูแลรักษาด้านความปลอดภัย  ว่าการกรมโขลนจ่า  ที่ควบคุมประตูวัง  และอารักขาทั่วไป  มีท้าวโสภานิเวศน์  เป็นผู้ช่วย

ท้าวสมศักดิ์  ว่าการพนักงานทั้งปวง  เช่น  การจัดเครื่องพระสุธารส  พระศรี  เครื่องนมัสการ  ดูแลหอพระและปูชนียสถานในราชสำนักฝ่ายใน

ท้าวอินทรสุริยา  ว่าการห้องเครื่องวิเศษ  ดุและเรื่องอาหาร  มีท้าวนางในโรงวิเศษเป็นผู้ช่วย

เจ้าจอมเถ้าแก่  มีหน้าที่ฝึกหัดข้าราชสำนักฝ่ายใน

เถ้าแก่  มีหน้าที่ออกไปประสานกิจการต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายหน้า

ผู้รับรับสั่ง  มีหน้าที่เชิญกระแสพระราชดำรัสไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง

เดี๋ยวมาต่อครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 20 คำสั่ง