เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7101 “อภัยมณีชาดก” การเดินทางที่กลับด้าน
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
 เมื่อ 17 ธ.ค. 05, 10:33

 ท่านทั้งหลายไม่ได้ตาฝาด หรืออ่านผิดหรอกครับ “อภัยมณีชาดก” จริง ๆ นั่นแหละ ไม่ได้เขียนผิด หรือแกล้งว่าแต่อย่างใด ซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่า “มันมีด้วยหรือ?”

ขอตอบว่า “มีครับ” ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นไม่เกิน 130 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งทางล้านนามักนิยมนำนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ มาแต่งเป็น “ชาดก” ที่จัดว่าเป็น ชาดกนอกนิบาต คือไม่อยู่ในพระไตรปิฎก อันเป็นจารีตสืบมาแต่ครั้นสมัยหริภุญไชยโน่นแล้ว ดังจะเห็นมีผลงานที่นับว่าเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมล้านนา และสังคมไทยอยู่มากเช่นกัน นั่นก็คือ “ปัญญาสชาดก” หรือชาดกนอกนิบาต ๕๐ เรื่อง

และปัญญาสชาดกนี้เอง ได้แพร่กระจายไปในดินแดนล้านนา เมืองพม่า สิบสองปันนา ล้านช้าง อยุธยา และอีกหลาย ๆ เมือง ทำให้เรื่องราวนี้ได้แพร่กระจายกันออกไป และได้มีการนำเอานิทานพื้นบ้าน (ซึ่งอาจจะกลายมาจากปัญญาสชาดก หรือ ที่เคยนำไปเป็นปัญญาสชาดกก็ได้) มารจนาด้วยภาษาของกวี เป็นวรรณคดีหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สังข์ทอง กับ สุวรรณสังขกุมารชาดก,  สมุทรโฆษคำฉันท์ กับ สมุทรโฆสชาดก ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้นนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ ก้ได้รับอิทธิพลของปัญญาสชาดก ไม่ว่าจะเป็น จำปาสี่ต้น, พระสุธน-มโนราห์, นางสิบสอง (พระรถ-เมรี), สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ ก็ล้วนแต่มาจากการกระจายตัวของพุทธศาสนาทั้งสิ้น

แต่เรื่อง “อภัยมณีชาดก” เป็นการเดินทางที่สวนทางกับชาดกเรื่องอื่น ๆ ในบรรดาชาดกนอกนิบาต ที่จะแต่งเป็น วรรณคดี จาก ชาดก แต่นี่ แต่งชาดก จากวรรณคดี และไม่เพียงแต่เรื่องพระอภัยมณีเท่านั้นที่จับมาใส่ในรูปแบบของชาดก เรื่อง “รามเกียรติ์” ก็เช่นเดียวกัน นำมาเป็นชาดกในล้านนาถึง ๓ เรื่องด้วยกัน คือ “ปรัมมเหียร”, “หอรมาน”และ “พรหมจักร” ส่วนทางเมืองสิบสองปันนาก็จะไปเป็นเรื่อง “ลังกาสิบโห(หัว)” นั่นเอง  
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ธ.ค. 05, 10:48

 สำหรับเรื่อง “อภัยมณีชาดก” มีที่มาดังนี้

ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ นั้นก็มีการติดต่อกับทางราชสำนักของกรุงเทพฯมากขึ้น ก่อนจะมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การไปมาหาสู่กันก็มีมาเสมอ ครั้งหนึ่ง แม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งเป็นเจ้าแม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ลงไปทางเมืองกอก ก็นิยมชมชอบนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของรัตนกวีสุนทรภู่ จึงนำเรื่องนี้กลับมา และมอบหมายให้ “พญาพรหมโวหาร” แต่งเป็น “คร่าวซอ” (อ่านว่า ค่าว-ซอ) อันเป็นรูปแบบของกวีนิพนธ์ชนิดหนึ่งของล้านนา แต่งไว้เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๙ ปี เมืองเป้า หรือปีฉลู นพศก พุทธศักราช ๒๔๒๐  ดังคร่าวบทนำว่าไว้ว่า

“ปฐมะ มูละกถา ฟังเทอะน้อง บ่ต้องปุจฉา
…… ……… จักพรรณา แต่เค้าเบื้องเบ้า
เอากถา พระจันทราเข้า มาตกแต่งทำ ไค้ค้อน
คณะอันไหน คือไฟอันร้อน บ่เอาแต่งสร้าง เป็นมูล
คณะอันร้าย บ่หื้อมาสูน เมื่อแปงทำทูล พระคุณเหนือเกล้า
องค์เสวย ธานีบ่เศร้า เป็นเงางำ นวระ
เป็นจิกจอม เมืองพิงนพพะ ปราสาทกว้าง บวร
ทังองค์ทรงยศ ทิพพเกสร จอมธานี เทวีแม่เจ้า
บ่หื้อโสกา โรคาแฝงเฝ้า ในกาโยเงา วระ
อิทธิมันโต เตโชชนะ อำนาจป้อง บุรี
เอาคณะ จันทะเรืองศรี แปงวาทีแรกเค้า ทำสร้าง
ชุติมันโต รุ่งเรืองเอกอ้าง ตนทรงบุญ เรืองรส
วัณณวันโต มีวรรณและยศ ลือเลิศด้วย สมพาร
หื้ออยู่วุฒิ จำเริญสันฐาน รุ่งเรืองบาน บ่ผานโศกเศร้า
หื้อสุขเกษม ร่มเย็นเป็นเจ้า ตราบเนานาน เนิ่นช้า
เอาคณา พระจันทร์ส่องฟ้า มาตกแต่งสร้าง วาทา
หลอนมีผู้ทัก ผู้โจษถามหา ว่าคนใดชา ริร่ำทำสร้าง
อภัยมณี เรื่องราวคร่าวกว้าง กลอนคำวอน เรื่องนี้
อายุสังขาร ประมาณกล่าวชี้ สักมอกอั้น เพียงใด
นามประเทศ อยู่เขตแดนไหน ปัจฉิมัย ไถงฟ้าต้อง
หนบุพพา ทักษิณาห้อง ฤๅหนอุดร ฝ่ายซ้อย
จักเป็นขนาน ฤๅบัณฑิตน้อย ผู้แปงกาพย์สร้อย ซอใย
จงใฝ่รู้ ชื่อนามไฉน เป็นคนใด แน่แท้ทำสร้าง
อัตนา บ่จาอวดอ้าง การใคร่ยิน ใคร่รู้...”

ค่าวบทนำนี้ ปริวรรตโดย พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (( อ่านเฉพาะบทนำเต็ม ๆ ได้ที่  คร่าวบทนำพระอภัยมณี  รู้สึกว่า พญาพรหมโวหารจะแต่งไม่จบ ท่านได้สิ้นไปเสียก่อน  
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ธ.ค. 05, 11:13

 หลังจากนั้น ก็นำ “คร่าวซอพระอภัยมณี” ของพญาพรหมโวหารเป็นแบบอย่างในการนำมาแต่งเป็น “ชาดก” ซึ่งในใบลานก็ไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นคนที่แต่งในรูปแบบของชาดก แต่คัดลอกกันมาอยู่สองสำนวน แต่รายละเอียดเหมือนกันทั้งหมด มีอยู่ ๑๒ – ๒๔ ผูก เช่นที่วัดบ้านเอื้อม จ.ลำปาง เป็นต้น

การแต่งเป็นชาดก ก็อาศัย รูปแบบ (Form) เดียวกับชาดกทั่วไป ที่มี สาเหตุการเล่าชาดก เนื้อความชาดก อันเป็นอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ และสุดท้ายย่อมมีการประชุมชาดก

เรื่องนี้เริ่มจากที่พระสงฆ์ต่าง ๆ พูดคุยถึงการพลัดที่นาคลาที่อยู่ ทำให้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ก็เคยพลัดพรากจากบ้านจากเมืองด้วยเช่นกัน จึงเล่าเรื่อง อภัยมณีชาดกนี้ขึ้นมา

ส่วนเรื่องชื่อ ก็มีแตกต่างกันไปอีก บ้างก็ว่า อภัยมณีชาดก หรือ อภัยมณีสรีสุวัณณ์ชาดก ด้วยพระเอกของเรื่องหรือองค์โพธิสัตว์นั้น ไม่ใช่พระอภัยมณี หากแต่เป็น “สรีสุวัณณ์” ส่วนฝ่ายหญิงคือนาง เกสสรา ส่วนตัวร้ายก็คือ ท้าวอุเทน

เนื้อเรื่องก็มีการตัดทอนและปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย ด้วยเรื่องเดิมนั้นยาวและมีตัวละครมาก เมื่อนำมาเล่าเป็นชาดก จึงมีการปรับเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของชาดกด้วย ซึ่งจะเล่าถึงต้นเรื่องจากเมืองรัตนา เหมือนของสุนทรภู่ทุกประการ จวบจนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป จากนั้นก็จะกล่าวถึงสรีสุวัณณ์โดยเฉพาะที่ตามหาพระอภัยมณี จนเข้าไปในเมืองพบกับนางเกสสรา ซึ่งประสบปัญหาว่า ท้าวอุเทนจะมารบชิงเอาตัวไป สรีสุวัณณ์จึงเข้ารบและช่วยเหลือบ้านเมืองนางเกสสราให้รอดพ้นจากอันตรายได้ และสุดท้ายก็รับเอาพี่ชายคือพระอภัยมณีพร้อมกับหลานชื่อสิงสมุด มาอยู่ด้วย

ในเรื่อง ชื่อบางชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย อย่างลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร จากสินสมุทร ก็เป็น สิงสมุด เป็นต้น และมีอีกหลายชื่อที่มีการปรับเปลี่ยน (ด้วยตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้มือ)

จากนี้จะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสองดินแดน อยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนับว่าเป็นการดีมากที่มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอกที่รับมานั้นให้เข้ากันกับท้องถิ่น หรือที่เรียกวันว่า Localization และผมว่าปัจจุบันที่มีปัญหามากก็มาจากขาดการทำให้เป็นท้องถิ่นนี้เช่นกัน และเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างอันดีอีกอย่างหนึ่ง

หากว่าได้หนังสือมาอยู่ใกล้มือเมื่อไหร่จะเอามาขยายความให้อีกครั้งนะครับผม  
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ธ.ค. 05, 11:52

 มาลงชื่อว่าอ่าน ด้วยความสนใจ ค่ะ
ยังไม่เคยอ่านมาก่อน
ความรู้เรื่องคติชนวิทยาและวรรณกรรมท้องถิ่นของดิฉัน
ยังน้อยมาก  
บันทึกการเข้า
เนยสด
ชมพูพาน
***
ตอบ: 153



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ธ.ค. 05, 13:44

 ขอบคุณมากครับ พี่ศศิศ
บันทึกการเข้า

ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 ธ.ค. 05, 19:44

 ภาพนี้ เป็นตัวอย่าง

"พระอภัยมณี" ฉบับชาดกของล้านนา

ฉบับของวัดน้ำโท้ง ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ธ.ค. 05, 19:47

 ส่วนภาพนี้เป็นอีกฉบับหนึ่ง ที่พบ ณ ตอนนี้ คือฉบับวัดบ้านเอื้อม ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 ธ.ค. 05, 21:35

 คราวนี้ได้เอกสารมาละครับผม และก็ขอแก้ไขข้อมูลนิดหนึ่งที่ว่า ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ นั้น ต้องขอแก้ว่า พระยาพรหมโวหาร ได้รจนาขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐ – ๒๔๒๕ ด้วยไม่สามารถระบุลงไปจริงจังว่า ในพ.ศ.ใดกันแน่ที่แต่ง เพียงแต่ได้ประมาณไว้เท่านั้น

   พระยาพรหมโวหาร แต่งคร่าวไว้เพื่อถวายแก่เจ้าแม่ทิพเกสร ชายาในพระเจ้าอินทวิชชยานนท์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ขณะนั้นพระยาพรหมโวหารมีอายุได้ ๘๐ กว่าปีแล้ว เสียดายที่แต่งไม่จบ ด้วยตอนท้าย ๆ พระยาพรหมโวหารอาจไม่สบายมาก และสิ้นใจไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ขณะที่มีอายุ ๘๕ ปี ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีการนำมาตีพิมพ์ด้วยอักษรล้านนา โดยโรงพิมพ์ของพ่อเลี้ยงเมืองใจ นอกจากนี้ก็ยังพบอีก ๓ ฉบับคือ

   สมุดข่อย คร่าวซอพระอภัยมณี ฉบับวัดเอรัณหวัน อ.หางดง จ.เชียงใหม่
   สมุดข่อย คร่าวซอพระอภัยมณี ฉบับธรรมสถาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
   สมุดข่อย ค่าวซอพระอภัยมณี ฉบับเจ้าอินทยศ ณ เชียงใหม่

   เพียงแต่ทั้งสามฉบับนั้น ไม่มีข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเหลือที่สมบูรณ์เท่าที่ฉบับพิมพ์เท่านั้นเอง  สำหรับเรื่องของลีลาในการแต่งนั้นอาจจะอ่อนกว่าเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะคร่าวสี่บทอันลือลั่น ด้วยแต่งคร่าวซอพระอภัยมณีในช่วงที่อ่อนแรงอ่อนกำลังลงไปมากแล้ว

   ส่วนการเดินเรื่องก็แตกต่างไปจากขนบการแต่งคร่าวซอที่เป็นเรื่องราว ด้วยตามขนบแล้ว จะต้องเริ่มด้วยบทประณามพจน์ หรือเป็นบทไหว้ครู แต่เรื่องนี้จะเริ่มเดินเรื่องไปเลยเช่นเดียวกับการเริ่มต้นของการแต่งกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เช่นเดียวกัน

   หลังจากนั้นก็มีการนำไปแต่งเป็น “ชาดก”
   
   ชาดก ที่แต่งเป็นสำนวนร้อยแก้วนั้น เท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่ สองฉบับ คือ ฉบับ วันน้ำโท้ง ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีความยาวเพียง ๑๒ ผูก คัดลอกโดยภิกษุหลายองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ และอีกฉบับหนึ่งคือฉบับวัดบ้านเอื้อม ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง มีความยาว ๑๔ ผูก คัดลอกเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔

   ฉะนั้นเมื่อเป็นการคัดลอกต่อ ๆ กันมาจึงไม่สามารถระบุคนแต่งต้นฉบับได้ ด้วย “บันทึกท้ายธรรม” มักจะบอกเพียงผู้ที่จาร และการถวายคัมภีร์อุทิศถวายไปหาญาติผู้ล่วงลับ หรือถวายไว้ค้ำชูศาสนา หรือเพื่อผลบุญในภพหน้าเท่านั้นเอง

   ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า การเขียนชื่อก็มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แม้นแต่ชื่อเรื่องในแต่ละผูก ด้วยเขียนว่า “ศรีสุวรรณพระอาภัย” บ้าง “พระอาภัย” บ้าง และเขียนสับกันเป็น “พระอาภัยและศรีสุวรรณ” บ้างด้วยความสำคัญของตัวละคร ไม่ได้อยู่ที่พระอภัยมณี แต่กลับอยู่ที่ศรีสุวรรณ โดยจัดวางในตำแหน่งถึงโพธิสัตว์ที่ลงสั่งสมบุญ
   ส่วนเรื่องชื่อตัวละคร ก็มีการปรับเปลี่ยนดังนี้
   
   พระอภัยมณี เป็น พระอาไภมณี
   ศรีสุวรรณ เป็น สรีสุวัณณ์ (อ่านว่า สะ-หลี-สุ-วัน)
   ท้าวสุทัศน์ เป็น ท้าวสุทธัต
   นางเกษรา เป็น นางอัสสรา , เกสสรา
   อุเทน เป็น อุทเทน, อุเทน
   สินสมุทร เป็น สิงสมุด
   เมืองรัตนา เป็น เมืองรัตตนา
   เมืองรมจักร เป็น เมืองลมมจัด
   เป็นต้น
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 ธ.ค. 05, 21:45

 การที่เป็นชาดก ก็ต้องมีจุดเริ่ม และประชุมชาดกในตอนท้าย และขอยกตัวอย่าง ธรรมศรีสุวรรณผูกต้น ฉบับวัดบ้านเอื้อม ดังนี้

   “นโม ตสฺสตฺถุ เภทามนุสฺสา กุเล มนุสฺโส สพฺเพทุกฺข น ขตฺติยา น สมญ ภิกฺขุ กถํ อารพฺภ กเถสิ สาธโวฟังดูราสปุริสสทังหลาย ทังหญิงชายและนักปราชญ์อันฉลาดด้วยปัญญา จุ่งเอากันตั้งโสตาปราสาท ฟังบุพชาติภายหลังมีดังจักเทศนาไปภายหน้านี้เทอะ
   
   สัตถาสัพพัญญูพระพุทธเจ้าแห่งเรา เมื่อยังทรมานสถิตสำราญอยู่ในเชตวนอารามมหาวิหาร อันมีในเมืองสาวัตถีนคร ปรารภซึ่งเจ้าภิกขุทังหลายเจียรจากันแล้ว ตนแก้วจิ่งปวัตติเทศนายังอดีตชาติแก่เจ้าภิกขุทังหลายหื้อได้แจ้งก็มีหั้นแล

   กิรดังจักรู้มาดังนี้ ยังมีสมัยกาลคาบหนึ่ง เป็นวันงามบ่เส้า ส่วนว่าเจ้าภิกขุทังหลาย คำปุ่จจฉาโจทนาเซิ่งกันในโรงธรรมสภาศาลาว่า อาวุโสดูราเจ้าทังหลาย กริยาอันเกิดเอากำเนิดปฏิสนธิ์จุติตนมาเป็นคนนี้ไสร้ ก็หากเป็นทุกข์แท้นักหนา คือว่าได้พลัดพรากจากพี่น้องพ่อแม่กระกูลวงศาญาติกาก็หากมีมากนักแท้ดีหลี มักว่าเกิดมาแล้วก็พลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้องไปแล เจ้าภิกขุทังหลายชะแล ก็เจียรจาเซิ่งกันฉันนี้

   ภควา พระพุทธเจ้าอยู่ในคันธกุฎีได้ยินด้วยทิพย์โสตาวิญญาณแห่งตนแล้ว ก็จิ่งเสด็จออกมาด้วยพุทธลีลา มีอาการอันงามมากนัก ถามเซิ่งเจ้าภิกขุทังหลายว่า ภิกขเว ดูราภิกขุทังหลาย ท่านทังหลายมาปุจฉาเจียรจากันด้วยประการอันใด ไป่ทันแล้วเทื่อนั้น ตถาคตมาลวดยั้งอยู่นี้ชา

   สาธุภนฺเต เมื่อนั้นเจ้าภิกขุทังหลายก็ไหว้ว่า ภนฺเตภควา ข้าแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ข้าทังหลายมาเจียรจาปราศัยเซิ่งคนทังหลายในโลกอันเป็นทุกข์มากนัก มักว่าได้เกิดมาก็พลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้องญาติกระกูลวงศา แล้วหนีไปอยู่ประเทศราชเมืองอื่น ด้วยอันพลัดพรากจากกันก็มีแล ผู้ข้าทังหลายก็มาเจียรจาเซิ่งกันด้วยกถาคำจาฉันนี้แล
   เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าจิ่งกล่าวว่า ภิกขเว ดูราภิกขุทังหลาย กริยาอันพลัดพรากจากกันนั้น จักว่ามีแต่ปัจจุบันภาวะอันนี้สิ่งเดียวบ่มี ปุพฺเพปิ แม่นในกาลเมื่อนั้น เมื่อพระตถาคตยังผ้งสร้างโพธิสมภารวันนั้น ก็ยังได้พลัดพรากจากพ่อแม่แลญาติกระกูลแล้วไปอยู่ประเทศราชเมื่องอื่นก็มีแล้วดาย...


   หลังจากนั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่พูดอะไรอีก จวบจนมีพระภิกขุรูปหนึ่งจิ่งอาราธนาธรรมเทศนาเรื่องราวในอดีตชาตินั้น ออกมาเป็นเรื่องนี้นั่นเอง และในตอนท้าย ก็มีประชุมชาดกดังนี้

   “...ที่นี้จักชุมนุมยังปจุบันนมาเทียมหื้อแจ้งก็เทศนาว่า อุทฺเทรํ เทวทตฺโต อโหสิ ภิกขเวดูราภิกขุทังหลาย ส่วนท้าวอุทเทนผู้ใจหาญองอาจมักบาปแลเวรวันนั้นคือหากมาได้ท่านเทวทัตในกาลบัดนี้แล ส่วนนางจันทไกรสรวันนั้นก็หากได้นางศรีมหามายาในกาลบัดนี้แล ส่วนนางอัสสราอันเป็นบาทบริจาคแห่งโพธิสัตว์เจ้าวันนั้นคือหากได้นางยสันธราพิมพาแม่เจ้าราหุลเถรในกาลบัดนี้แล ศรีสุวณฺโณ โลกนาโถ ส่วนบรมโพธิสัตว์เจ้าวันนั้นบ่ใช่ผู้ใดใครใดต่างตาหน้า คือหากได้ตนกูพระตถาคตในกาลบัดนี้แล ส่วนบริษัททังหลายอันเหลือกว่านั้นคือหากได้พุทธบริษัททังสี่จำพวกในกาลบัดนี้แล ...
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
patsakorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 4

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ม.ค. 06, 14:20

 มีใครปริวรรตบ้างหรือยังครับ  หาซื้อได้ที่ไหน หรืออ่านได้ที่ไหนครับ  สนใจมาก  ถ้ามีกรุณาตอบด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ม.ค. 06, 16:44

 มีคนปริวรรตออกมาแล้วเหมือนกันครับผม แต่ว่าหายากเอามาก ๆ เลยทีเดียว คงต้องมาค้นที่หอสมุดกลาง มช. อย่างเดียวละกระมังครับผม

สำหรับคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพญาพรหมโวหาร ก็มีในหนังสือ

อุดม รุ่งเรืองศรี. งานวิจัยเรื่องการใช้ศัพท์ภาษาไทยกลางในคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณี ของพระยาพรหมโวหาร. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2528

สำหรับ อภัยมณีชาดก ก็มีในหนังสือ

ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว บรรณาธิการ. พระอภัยมณีชาดก. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง