เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14912 ที่มาของ "กบฏแมนฮัตตัน"
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:32

 ผ่านไปเว็บผู้จัดการ เจอข่าวนี้ เลยเอามาแปะไว้ครับ เพื่อท่านใดมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะได้สะสมไว้ประดับเรือนไทย แหะๆๆๆ

 http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9480000171537

---------------------------------------------------------
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 ธันวาคม 2548 08:01 น.

        คุณธวัชชัย สุขลอย บอกว่า ได้ยินคำว่า "กบฏแมนฮัตตัน" มานานแล้ว และอยากจะทราบที่มาที่ไป เราจึงอาสามาไขขอข้องใจไห้ในวันนี้
     
       คำว่า "แมนฮัตตัน" แท้จริงแล้ว คือชื่อเรือขุดลำหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ทางการไทย ตามโครงการว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลไทยนำเรือลำดังกล่าวไปใช้ในการขุดสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
     
       ทว่า มันถูกนำไปใช้เป็นชื่อเรียกขานการก่อกบฏในปี พ.ศ.2494 (ค.ศ. 1951) เนื่องจากกลุ่มกบฏได้ใช้วันจัดพิธีส่งมอบเรือขุดแมนฮัตตันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นวันก่อการ
       
      ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ซึ่งเป็นวันประกอบพิธี ขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กำลังจะเดินขึ้นไปเยี่ยมชมเรือแมนฮัตตัน ที่จอดรออยู่บริเวณท่าราชวรดิฐ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งพร้อมอาวุธปืนในมือ ภายใต้การนำของ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย ได้ตรงรี่เข้าไปจี้ตัวนายกฯ ท่ามกลางความตกตะลึงของแขกที่มาร่วมงาน จากนั้น ก็บังคับให้จอมพล ป. ไปลงเรือรบศรีอยุธยาที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา
       
      จุดมุ่งหมายของการจับตัวจอมพลป.ไปในครั้งนั้นก็เพื่อใช้ในการต่อรองทางการเมือง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดาผู้นำระดับสูงในกองทัพเรือสมัยนั้นต่างมีความนิยมในตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือที่รู้จักกันดีในนาม ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเคยก่อกบฏวังหลวงมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ปี
       
      อย่างไรก็ตาม แผนการของฝ่ายกบฏที่คิดว่าชีวิตของจอมพล ป. จะมีค่ามากพอที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นยอมทำตามข้อเรียกร้องถือเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. มิได้คำนึงถึงชีวิตของผู้นำประเทศเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังประกาศว่า จะปราบปรามผู้ก่อการกบฏอย่างเด็ดขาดรุนแรงด้วย
     
        ในวันที่ 30 มิถุนายน รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศไปทิ้งระเบิดรอบเรืองหลวงศรีอยุธยา โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของจอมพล ป.ที่อยู่ภายในเรือเลยแม้แต่น้อย ทว่า จอมพล ป. เองก็ดวงแข็งมาก และสามารถรอดจากการทิ้งระเบิดในครั้งนั้นมาได้อย่างหวุดหวิดด้วยความช่วยเหลือจากนายทหารเรือคนหนึ่ง ส่วนนาวาตรี มนัส จารุภา ผู้ก่อการกบฏก็รอดมาได้เช่นกัน ก่อนที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ และไปขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน
       
      และนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตันที่ถามตอบรอบโลกนำมาเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้คุณธวัชชัย และผู้อ่านทุกท่านที่สนใจ ไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกกันต่อ

---------------------------------------------------------
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:34


ภาพเรือหลวงศรีอยุธยา
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:37


จอมพล ป. พิบูลสงคราม
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:40

 ข้อมูลจากอีกเว็บหนึ่ง

 http://www.baanjomyut.com/library/6_treason/06.html

------------------------------------------------------

แม้กบฎวังหลวงจะยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยรอมชอมไปแล้วก็ตาม   กลิ่นไอของการกบฎก็ยังมีท่าทีอยู่เสมอ เพียงยังรอโอกาสเท่านั้นเอง
              โดยไม่มีใครคาดฝัน เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุด "แมนฮันตัน" ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอยให้แก่ไทย ตามโครงการว่าด้วยการช่วยเหลือร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยรับบาลจะได้รับเรือขุดนี้ไปใช้ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา พิธีอันทรงเกียรติเพื่อรับเรือขุดแมนฮัตตันนี้ กระทำกันที่ท่าราชวรดิตถ์ ได้มีทูตานุทูตของประเทศต่างๆ ได้ร่วมเป็นเกียรติเป็นจำนวนมาก
                  และโดยที่มิได้ตระเตรียมการป้องกันตัวเลยแม้แต่น้อย ภายหลังจากพีธรรับมอบเรือเรียบร้อยแล้ว จอมพล ป. ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปชมเรือแมนฮัตตัน เมื่อย่างเหยียบขึ้นเรือ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนกลมือ ภายใต้การนำของ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย ก็ปราดเข้าประชิดตัวจอมพล ป. และบังคับให้ไปลงเรือยังกองเรือรบ ท่ามกลางการตกตลึงของบรรดดาทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้ติดตามจอมพล ป. ทั้งหมดได้แต่มอง นาวาตรี มนัส จารุภา นำตัวจอมพล ป. ไปยังเรือรบศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นจอดลอยลำอยู่ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา
                   ในการที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าทำการเกาะกุมคุมตัวจอมพล ป . ไว้นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความประสงค์จะเอาตัวจอมพล ป. เป็นประกัน ในการตั้งข้อเรียกร้อง ในทางการเมือง ทันทีที่ข่างแพร่ออกไป คณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ว่าในกรณีใดๆ จากการเรียกร้อง รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามด้วยประการใดๆทั้งสิ้น
                    นอกจากนี้ยังได้มีการลงมติให้ปราบปราม พวกกบฎด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดอีกด้วย   ต่อมารัฐบาลได้ออกแแถลงการณ์ ประกาศให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การเรียกร้องใดๆของฝ่ายกบฎนั้น ทางรัฐบาลจะไม่ยินยอมด้วยประการทั้งปวง และยังได้ประกาศให้พวกกบฎปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสระภาพโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ปล่อยจอมพล ป. ทางรัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาดและรุนแรงต่อไป
                     คำแถลงการณ์ไม่เป็นผล ฝ่ายทหารเรือไม่ยอมปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควมคุมตัวจอมพล ป. ไว้เป็นประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี และยังเข้าใจต่อไปอีกว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ในขณะที่จอมพล ป. ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในอารักขาของทหารเรือ
                     แต่ผิดถนัด คณะรัฐประหารมิได้มีความหว่งใยกับชีวิตของจอมพล ป. แม้แต่น้อย ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวจอมพล ป. นั้นเกือบจะไม่มีอยู่ในคณะรัฐประหารแล้ว ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การต่อสู้เกิดขึ้น และทหารบกสามารถยึดสถานที่สำคัญๆไว้ได้ และตีทหารเรือแตกกระเจิงไป จนไม่สามารถจะควบคุมการต่อสู้ไว้ได้ จึงพากันหลบหนีไปอย่างอลหม่านสับสน
                     แม้ว่าทหารบกจะปราบปรามทหารเรือแตกพ่ายไปได้แล้วก็ตาม สำหรับทหารเรือบนเรือรบหลวงศรีอยุธยา อันมีนาวาตรีมนัส จารุภา เป็นผู้บังคับการและคุมตัวจอมพล ป. ไว้นั้น ยังไม่ยอมปล่อยตัวให้เป็นอิสระภาพ เพราะยังมั่นใจว่า ตราบใดที่จอมพล ป. ยังถูกควบคุมตัวอยู่บนเรือแล้ว คณะรัฐประหารคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะจอมพล ป. แทบจะไม่มีอิทธิพลใดเลยต่อคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญแก่จอมพล ป. เหมือนวันแรกแห่งการรัฐประหาร เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเอาจอมพล ป. เป็นเครื่องมือ เพราะระหว่างนั้นการรัฐประหารทำท่าจะล้มเหลว เมื่อจอมพล ป. มาปรากฎตัวเหตุการณ์จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                     ในวันที่ 30 มิถุนายน นั้นเอง รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศมาทิ้งระเบิดรอบๆ เรือรบหลวงศรีอยุธยา เพื่อเป็นการคุกคามให้ทหารเรือปล่อยจอมพล ป. แต่นาวาตรีมนัส ยังยืนกรานที่จะไม่ยอมปล่อยจอมพล ป. จนกว่าจะมีการเจรจา คณะรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจจะทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพล ป. และความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือรบหลวงศรีอยุธยา
                      เสียงระเบิดดังสนันหวั่นไหว ภายในไม่กี่วินาทีเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็เริ่มเอียง ภายในเรือรบหลวงศรีอยุธยาเกิดการโกลาหลวุ่นวาย ทหารเรือบางส่วนพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง โดยมีทหารเรือคนหนึ่งพยายามที่จะช่วยชีวิตจอมพล ป. ให้กระโดดน้ำหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด สำหรับนานวตรีมนัส จารุภา เมื่อเอาตัวรอดมาได้แล้วก็หนีออกนอกประเทศ โดยขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในเขมร
                       หลังจากกบฎแมนฮัตตันแลล้ว กองทัพเรือได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จนเกือบจะกล่าวได้ว่ากองทัพเรือนั้นไม่มีอิทธิพลใดอีกแล้ว ทั้งนี้เพราะตัวจักรสำคัญๆ ในกองทัพเรือให้ความสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และมีทรรศนะจัดระบบการเมืองแนวโซเซียลลิสต์
                      รัฐบาลได้ส่งพวกของคณะรัฐประหารที่วางใจได้ เข้าสวมตำแหน่งสำคัญๆ ไว้โดยสิ้นเชิง ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด เมื่อพวกของนายปรีดีในกองทัพเรือหมดอำนาจลง อิทธิพลในทางการเมืองของนายปรีดี ก็หมดลงไปด้วย.
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:43

 อันนี้มาจากไทยรัฐครับ

 http://www.thairath.co.th/thairath1/2548/column/dragon/jun/24_6_48.php  
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:44

 กบฏแมนฮัตตัน

น.อ.อานนท์ บุณฑริกาภา เขียนไว้ใน กรณีกบฏแมนฮัตตันว่า พ.ศ. 2488-2489 ยุคข้าวยากหมากแพง ประชาชนใช้บัตรปันส่วน ซื้อข้าวสาร น้ำตาลทราย และไม้ขีดไฟ

โอกาสนั้น...คณะรัฐประหาร ก็ใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล พล.ร.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ งานแรก ที่คณะรัฐประหาร ก็คือการเอาเงินรูปีจากท้องพระคลัง ออกขายเอากำไร แบ่งกันเข้ากระเป๋า เงินทองเป็นของบาดใจ...สองนายพลผู้ยิ่งใหญ่แตกคอกัน นายหนึ่งถูกขับไปอยู่นอกประเทศ

น.อ.อานนท์พูดถึงการซื้อรถเกราะแบบเบรนแครีเออร์ ว่ารัฐบาลใช้เงินมหาศาลซื้อเศษเหล็กเก่าๆจากอินเดีย ประชาชนที่รู้ข่าวก็ได้ แต่ซุบซิบกัน ไม่กล้าเอะอะโวยวาย

เพราะกลัวภัยตำรวจยุคอัศวิน

น.อ.อานนท์คือแกนนำสำคัญ ในคณะกู้ชาติ เป็นตำนานของกบฏแมนฮัตตัน

น.ต.มนัส จารุภา เขียนเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล...ไว้ว่า วางแผนจับจอมพล ป. หลายครั้ง ทุกครั้ง...เพื่อนทั้งทหารบกทหารเรือ...ผิดนัด

เวลา 15.30 น. วันที่ 29 มิ.ย.2494 จอมพล ป. เป็นประธานพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน น.ต.มนัสก็นำกำลังหมู่รบ บุกขึ้นไปจี้จับจอมพล ป. ลงเรือเปิดหัว นำไปเป็นตัวประกันอยู่ใน ร.ล.ศรีอยุธยา

สภาพ ร.ล.ศรีอยุธยา อยู่ระหว่างซ่อมเครื่องใหญ่ ใช้เครื่องยนต์ขวาได้เครื่องเดียว แต่ก็แล่นได้ดีในแม่น้ำเจ้าพระยา น.ต.มนัสเจอปัญหาผิดนัด อีกครั้ง...อีกแล้ว

สะพานพุทธทางผ่านที่จะพาตัวจอมพล...ออกไปกรม-สรรพาวุธ บางนา...เปิดไม่ได้

ผู้ใหญ่ในกองทัพเรือไม่เล่นด้วย...เพื่อนในหลายหน่วยกำลังหนีหน้า ร.ล.ศรีอยุธยาออกทะเลไม่ได้ สถานการณ์ของคณะกู้ชาติ คับขัน... เหมือนเสือติดจั่น

ไพ่ในมือคณะกู้ชาติ เหลืออยู่ใบเดียว คือตัวท่านผู้นำ

โอกาสที่เผชิญหน้า...จอมพล ป. ถามหลายคำถามว่า งาน จับตัวท่านครั้งนี้ มีคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยหรือไม่? หลวงประดิษฐ์ ร่วมด้วยหรือไม่? ได้เงินอุดหนุนจากใคร?

ทุกคำตอบ...คือไม่มี ไม่มีใคร

แต่เหตุที่ต้องปฏิบัติการ เพราะทนไม่ไหวกับกระบวนการโกงกินของคนในรัฐบาล

มีการสื่อสารระหว่างคณะกู้ชาติ กับฝ่ายรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้คืบหน้า เวลา 15.00 น. วันที่ 30 มิ.ย. 2494 เครื่องบินรัฐบาลก็ทิ้งระเบิดจม ร.ล.ศรีอยุธยา โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตท่านผู้นำ

เคราะห์ดีทหารในเรืออารักขา พาจอมพล ป. ว่ายน้ำถึงฝั่ง...อย่างปลอดภัย

กบฏแมนฮัตตัน จบลงตรง น.ต.มนัสลี้ภัยไปเขมร ส่วน จอมพล ป. กลับมารับบทท่านผู้นำต่อ และเมื่อถูกปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2500

ท่านจอมพล ก็ตามรอย น.ต.มนัส ลี้ภัยออกชายแดนเขมร

นี่คือ...สอง...ในหลายบันทึกความทรงจำ ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ.2475-2500 ในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปไตย ที่สมาคมนักข่าวจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2516

ใครที่รู้สึกคับข้องใจนัก ร่ำๆแต่จะเปลี่ยนรัฐบาล น่าจะไปหาอ่าน อ่านแล้วอาจได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ได้โอกาสมันก็โกง

กี่สมัยๆก็เหมือนกัน ปากมันว่าไม่โกง แต่พวกพ้องมันก็มักแบ่งหน้าที่กันโกง

พวกหากินกับเครื่องตรวจระเบิด...โกงหลวง พวกปั่นหุ้น... โกงคนรวย พวกขายกล้ายางไร้คุณภาพ...โกงคนจน พวกหลังนี้...น่ารังเกียจกว่าใคร แต่ได้ข่าวว่าท่านรักของท่านมาก.

"กิเลน ประลองเชิง"
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ธ.ค. 05, 17:55

 คุณจ้อ ช่วยลบทีค่ะ โพสต์ซ้ำกัน
คุณกิเลน เขียนท่อนหลังได้สะใจจริงๆ (ไหนใครว่านสพ. สีเขียว เชียร์รัฐบาลไม่ใช่หรือค่ะ?)
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 ธ.ค. 05, 15:43

 มาขอแจมด้วยข้อมูลนอกตำราอีกตามเคย

ขณะเกิดเหตุ พลเรือเอกหลวงสินธุ์ กมลนาวิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งนับเป็นดังเพื่อนร่วมรุ่นกับท่านจอมพล ร่วมก่อการคณะราษฎร์มาด้วยกัน  ซึ่งแม้ท่านผู้บัญชาการฯจะไม่เอาด้วยกับลูกน้อง  ท่านจอมพลก็ยังแคลงใจ เล่นงานเพื่อนซะงอมพระราม

เหตุการณ์ครั้งนั้นดูจะเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกองทัพไทยขนานใหญ่  ด้วยแต่เดิมยุทธศาตร์การทหารให้ความสำคัญกับกองกำลังทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากยุคล่าอาณานิคมด้วยเรือปืน การพัฒนากองทัพจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับทัพเรือมาโดยตลอดจนถึงเหตุการณ์ครั้งนี้   กองทัพเรือจึงถูกบอนไซอยู่นานด้วยเหตุผลทางการเมือง
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 10:25

 อ่านเรื่องกบฎแมนแอตตันแล้วนึกถึงประสพการณ์แถวบ้าน เท่าที่จำได้จอมพลป. โดน'เชิญ'ไปเรือศรีอยุธยาตอนบ่ายหรือเย็นวันศุกร์ เขาเล่ากันว่าทางฝ่ายทหารเรือมีแผนจะยึดสพานพุทธฯเพื่อเปิดสพานให้เรือศรีอยุธยาแล่นออกสู่อ่าวไทยได้ แต่ทางทหารบกยึดสพานได้ก่อน เรือศรีอยุธยาเลยไม่มีทางออกทะเล ได้แต่วิ่งไปมาในแม่น้ำ เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการทหารอากาศส่งเครื่องบิน Bearcat - F-4F ไปทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยาทั้งๆที่รู้ว่าจอมพลป.โดนจับอยู่บนเรือ เลยเป็นเรื่องตลกให้คนในวงการพูดคุยกันถึงเจตนาของแม่ทัพอากาศ สงสัยว่าทำไมไม่เป็นห่วงสุขภาพนายกรัฐมนตรีที่ติดอยู่บนเรือ



เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์ ตื่นเช้ามาก็ได้ยินเสียงทหารบกยิงปืนครกจากมักกะสันมีเป้าหมายคือกองสัญญาณทหารเรือ (ตอนหลังเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร แล้วมาเป็นตลาดโต้รุ่งสวนลุมฯ) สมัยนั้นวิทยุกระจายเสียงของกองทัพเรือถ่ายทอดจากที่นั่น เลยกลายเป็นเป้าหมายของทหารบก จำได้ว่าได้ยินเสียงระเบิดเป็นคู่ๆ เสียงแรกเป็นเสียงจากปืนครก แล้วได้ยินเสียงหวิวขณะผ่านเหนือหัวที่ซอยร่วมฤดี แล้วได้ยินเสียงระเบิดตอนกระทบแถวกองสัญญาณ ออกไปยืนดูอยากจะเห็นลูกปืนครกผ่านเหนือหัวแต่เร็วไปมองไม่เห็น



ต่อมาอีกสักพักมีทหารบกสักประมาณกองร้อยหนึ่งเข้ามาอยู่ที่ทุ่งนาหลังบ้าน ทีแรกดูท่าทีว่ายิงสุ่มสี่สุ่มห้า พ่อบอกว่าคงไม่รบกันจริงเพราะยิงขึ้นฟ้า ที่ไหนได้สักพักยิงเข้ามาในบ้านชั้นบนทะลุไปหลายรู ดีไม่มีใครอยู่บนบ้านเพราะลงมาข้างล่างกันหมด



มีจ่าทหารบกเดินเข้ามาในบ้าน ผมยืนกับพ่อ เขาถามว่ากองสัญญาณทหารเรืออยู่ที่ไหน พ่อบอกว่าอีกตั้งหลายกิโล เขาถามว่าบ้านตรงข้ามปากซอย ๓ เป็นบ้านของทหารเรือใช่ไหม พ่อบอกว่าไม่ใช่ เป็นบ้านของมจ.สนิท รังสิต ทหารบอกว่าต้องเป็นบ้านทหารเรือเพราะเห็นมีคนใส่เสื้อคอกลมแบบทหารเรือใส่ พ่อบอกว่าไม่ใช่ทหารเรือแต่เป็นคนขับรถของท่านสนิท จ่าขึ้นลำปืนเล็กยาวแล้วชี้มาที่พ่อสั่งให้พ่อไปดูว่ามีทหารเรืออยู่ในบ้านท่านสนิทหรือเปล่า เกิดมาไม่เคยเห็นพ่อเบ่งทับใครเลยเพิ่งมาเห็นวันนั้น พ่อยืดตัวขึ้นตรงแล้วบอกจ่าว่า ฉันเป็นนาวาอากาศเอก เอ็งไปดูเองซิ จ่าเลยลดปืนลงแล้วออกจากบ้านไป มาคิดดูตอนหลังเสียวเหมือนกัน มีชาวบ้านในซอยเสียชีวิตเพราะทหารชุดนั้นไปสองคน คนหนึ่งเป็นแม่กำลังไกวเปลให้ลูก อีกคนเป็นฝรั่งมีภริยาไทยเคยเป็นทหารจ้างของฝรั่งเศส (Foreign Legion)



วันจันทร์ไปตอ.พบทองแดงหุ้มหัวลูกปืนฝังอยู่ในตำราตรีโกณฯ ของ Hall & Knight โชคดีที่ไม่ได้ทำการบ้านอยู่ ส่วนพ่อมีเสื้อนอกแขวนเรียงกัน ๕ ตัว โดนลูกปืน .๔๕ ทะลุแขนทั้ง ๕ ตัวเลย ดูเหมือนทางราชการเขาจะทดแทนค่าเสียหายให้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 10:32

 บ้านตรงข้ามปากซอยร่วมฤดี ๓  ที่ว่าเป็นวังของม.จ.สนิทประยูรศักดิ์ คงติดกับวังของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ที่ตกทอดมาถึงม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต ตรงถนนวิทยุในปัจจุบัน

เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่ามีเรื่องตื่นเต้นขนาดนี้ในละแวกนั้น  นึกว่ารบกันแต่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณหมอบอกว่ามีทุ่งนาหลังบ้าน  คงเป็นบริเวณทางรถไฟช่องนนทรี หรือไม่ก็เลยไปถึงซอยสุขุมวิท ๒  ที่อยู่ถัดไป
เวลานี้กลายเป็นทางด่วนไปแล้ว

อย่าแปลกใจว่าทำไมดิฉันถึงทราบ  บ้านของดิฉันอยู่แถวนี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 10:35

 ทหารสมัยนั้นไม่ห่วงชีวิตประชาชนเลยนะคะ
ยิงกราดเข้าไปในบ้านชาวบ้านเขา  ถึงตายไป ๒ คน
ถ้าในบ้านคุณหมอมีคนอยู่ชั้นบนก็ไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เห็นมีเล่าในตำราเล่มไหน  
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 12:07

 มีกระสุนหัวทองแดงตกทะลุหลังคาบ้าน ซึ่งอยู่ไกลถึงซอยอโศกเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 13:01

 น่ากลัวจังครับ เฮ้อ สมัยไหนๆ ประชาชนก็รับกรรมตลอด    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 13:05

 กระสุนหัวทองแดง คือกระสุนปืนยาว หรือปืนชนิดไหนคะ
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
พาลี
****
ตอบ: 240


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ธ.ค. 05, 13:54

 จำขนาดไม่ได้แน่ครับ เป็นชนิดกระสุนที่ใช้กับอาวุธสงคราม ชนิดปืนเล็กยาวแน่นอน หัวแหลมทำจากทองแดงเพื่อให้มีอำนาจทะลุทะลวงสูง แม้สุดระยะแล้วยังตกทะลุกระเบื้องหลังคาลงมาได้  ซึ่งถ้าเป็นกระสุนตะกั่วคงไม่ทะลุ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง