เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 11080 มาแล้วครับ จารึกลาว (พ.ศ.๑๗๑๓ ???) ที่ล่ำลือกันว่าเก่ากว่าจารึกสุโขทัยกว่าร้อยปี
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


 เมื่อ 10 ธ.ค. 05, 02:36

 หลาน กวาน
ตาย ร่หาพ่อ
เฮียน ๔ พี่น้องหนี
เข้าป่า จุละสังกราส
๕๓๒ แต่นัน
สะปาสน ใด! ไว้
แก่ตู อย่าร้อน
ใจกวาน
ผู้นันเบา เป็
น คนร้าย ไว้
แก่ตู


ผู้อ่าน : บุนมี เทพสีเมือง
สถานที่พบ : สิมวัดวิชุน บ้านวิชุน เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
อายุสมัย : จ.ศ. 532 (พ.ศ.1713)
ที่มา : คอลัมน์ภูมิสังคมวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์มติชน (อ้างจาก นิตยสารท่องเที่ยวเมืองลาว ฉบับที่ 26 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน ค.ศ.2005)

-----------------------------------------------------------------

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อครั้งได้รับเชิญไปบรรยายประวัติศาสตร์ลาวและอุษาคเนย์ ถวายพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาลาวที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ท่านได้อ่านพบบทความในนิตยสารท่องเที่ยวเมืองลาว ฉบับที่ 26 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) เกี่ยวกับจารึกที่เชื่อกันว่าเก่าแก่กว่าจารึกสุโขทัย

ท่านจึงได้นำนิตรสารดังกล่าวกลับมาด้วย พร้อมทั้งมอบให้กับ "มติชน" ซึ่งได้นำมาสรุปความเป็นภาษาไทยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน  "คอลัมน์ภูมิสังคมวัฒนธรรม" วันที่ 9 ธันวาคม 2548

ข้อมูลบางส่วนในบทความกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจำลองตัวอักษรเหล่านี้ว่า

"การจดถ่ายจำลองตัวอักษร ผู้เขียน (บุนมี เทพสีเมือง) ได้พยายามอ่านจนได้ข้อความทั้งหมดเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงได้จดถ่ายจำลองตัวอักษรจากศิลาจารึกหลักนี้ ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.2001 แล้วจึงรายงานให้กรมพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณที่นครหลวงเวียงจันทน์เพื่อให้รับทราบ และได้ส่งสำเนาให้สถาบันค้นคว้าวัฒนธรรมที่เวียงจันทน์ 1 ฉบับ

ต่อมา ในต้นปี 2002 ผู้เขียนได้กลับไปอ่านเพิ่มเติมอีก เพราะในครั้งก่อนนั้น มีอักษรบางตัวยังอ่านได้ไม่ชัดเจนนัก ในการอ่านครั้งใหม่นี้ ได้สังเกตเห็นตัวอักษรบางตัวเพิ่มเติมขึ้นอีก เพราะครั้งก่อนไม่ทันได้สังเกตเห็น ว่ามีตัวอักษรบางตัวที่ลบเลือนไป ดังนั้นในการอ่านครั้งนี้ จึงได้ข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ และได้จดถ่ายจำลองตัวอักษรขึ้นมาใหม่อีกครั้ง" (เรียบเรียงสำนวนใหม่โดย Hotacunus)

-----------------------------------------------------------------

ความเห็น : ตอนนี้ไม่มีหนังสือค้นคว้าใกล้ตัวเลยครับ อิอิ ก็ขอออกความเห็นเท่าที่สังเกตได้ก็แล้วกันครับ

๑. การตีความปีจุลศักราช มีประเด็นดังนี้ครับ
๑.๑ จารึก เล่าเรื่องเก่าย้อนอดีตไปเป็นร้อยๆ ปี : เลขจุลศักราชนี้ อาจไม่ได้หมายถึง "ปีที่ทำ" ก็ได้ครับ แต่อาจเป็นการเล่าเรื่องย้อนอดีต โดยระบุปีลงไปด้วย ดังนั้น การตีความว่า "ตัวอักษรมีอายุตามศักราชที่ปรากฎ" นั้น ถ้าเนื้อความไม่ชัดเจน "อันตราย" ครับ ตัวอย่างมีในจารึกเขมรหลายหลักครับ ที่เล่าเรื่องอดีตย้อยหลังไปเป็นร้อยๆ ปี แต่โชคดีที่เราพบเนื้อหาครบถ้วน เลยไม่หลง กรณีนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่ ข้อความนี้ เป็นเพียงข้อความส่วนหนึ่งเท่านั้น ของต้นเรื่อง ?

๑.๒ ต้องดูด้วยครับว่า ธรรมเนียมการเขียนจารึกลาวนั้น เริ่มใช้ "จุลศักราช" ตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเท่าที่ผมทราบ ถ้าเทียบกับสุโขทัย จะเห็นว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สุโขทัยก็ยังคงใช้ "มหาศักราช" ตามแบบธรรมเนียมเขมรอยู่เลยครับ แม้แต่จารึกของพญาลิไท (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐) ก็ยังคงใช้ปีมหาศักราชอยู่ ส่วนจุลศักราชเริ่มใช้เมื่อใดนั้น ผมยังไม่ได้ค้นครับ

๑.๓ เลขจุลศักราชในจารึกดังกล่าวคือ เลขจุลศักราชตามธรรมเนียมที่ต้อง บวกด้วย ๑๑๘๑ ใช่หรือไม่ หรือเป็นเลขศักราชเฉพาะ ที่ต้องบวกด้วยตัวเลขจำนวนอื่น

๒. เรื่องรูปอักษร : ดูจะอ่านง่ายกว่า อักษรสุโขทัยยุคพญาลิไท ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับสายวิวัฒนาการ

๓. เรื่องการใช้ไม้หันอากาศ : ของไทยเราเพิ่งมาใช้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ครับ ก่อนหน้านั้นจะเขียนลงท้ายด้วยตัวสะกด ๒ ตัวซ้อนกัน เช่น อัน = อนน เป็นต้น แต่ในจารึกลาวนี้ กลับมี รูปไม้หันอากาศ  ฮืม

ตอนนี้ก็มีอยู่ ๓ ประเด็นหลักๆ ครับที่คิดได้ ถ้าตามความเห็นของผมนะครับ ผมเชื่อว่า จารึกหลักนี้ไม่ได้เก่าไปถึง พ.ศ.๑๗๑๓ ครับ แต่เลขจุลศักราชดังกล่าวน่าจะเป็นการเขียนเพื่อต้องการเล่าเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นนานแล้วเป็นร้อยๆ ปี

ประเด็นสำคัญคือ จำเป็นที่จะต้องนำจารึกลาวทั้งหมดมาศึกษาในเชิงวิวัฒนาการทางรูปอักษร และอักขรวิธีด้วยครับ จะยึดถือแต่เลขศักราชที่ปรากฏบนตัวจารึกเพียงอย่างเดียวไม่ได้  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ธ.ค. 05, 05:14

 เห็นด้วยค่ะ
ลองเทียบจากที่คุณ Hotacunus ถอดไว้ กับตัวจารึก   รู้สึกว่าแกะตามได้ไม่ยาก
มองในแง่ภาษา    ถ้าอายุเก่ากว่าแปดร้อยปี   ดูสำนวนภาษาใกล้เคียงกับปัจจุบันมาก
อย่างเช่น
๔ พี่น้องหนีเข้าป่า
เป็นคนร้าย
ยังกะพาดหัวข่าวน.ส.พ. แน่ะ

น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของจารึกแผ่นใหญ่
สงสัยต่อไปว่าเนื้อความในจารึกมันเป็นเรื่องอะไรสลักสำคัญถึงต้องจารึกเอาไว้
บันทึกการเข้า
Dominio
ชมพูพาน
***
ตอบ: 128

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 01:00

 อยากทราบว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของ "จุลศักราช" มาจากด้านใดค่ะ (เช่น ศาสนา, ภาษา?)
บางทีก็เห็นใช้ ร.ศ. คู่กับ จ.ศ.
บันทึกการเข้า
เนยสด
ชมพูพาน
***
ตอบ: 153



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 01:07

 ฮืม แปลแล้วแปลกดีนะครับ
ผมอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเลยครับ
บันทึกการเข้า

Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 02:29

 ผมเองก็ยังไม่เคยค้นเกี่ยวกับ "จุลศักราช" เลยครับ แต่ทราบว่าเป็นศักราชที่นิยมแพร่หลายต่อมาจากการใช้มหาศักราช ซึ่งนิยมใช้ในสมัยที่สุโขทัยยังรุ่งเรือง

ในกฏหมายตราสามดวง ก็มีการใช้จุลศักราชเหมือนกันครับ  ซึ่งแสดงว่าอย่างน้อย ความนิยมการใช้เลขจุลศักราชก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

มีคำอธิบายเกี่ยวกับ "จุลศักราช" จากเว๊บไซต์ "รอยใบลาน" ดังนี้ครับ

“จุลศักราช”  ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๔๒  ให้นิยามไว้ว่า  “ศักราชน้อย  ตั้งขึ้นหลังมหาศักราช  เป็นศักราชที่เราใช้กันก่อนใช้ศักราชรัตนโกสินทร์  เริ่มภายหลังพุทธศักราช  ๑๑๘๑  ปี”  จุลศักราชนี้เริ่มนับตั้งแต่พระเถระรูปหนึ่งนามว่า  “บุพโสระหัน” สึกออกจากการเป็นพระเพื่อมาชิงราชบัลลังก์  เป็นการนับเดือนปีแบบจันทรคติ  โดยถือเอาวันขึ้น  ๑  ค่ำ  เดือน  ๔  เป็นวันขึ้นปีใหม่  ไทยได้รับมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณก่อนการเปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทร์ศักราชในสมัยรัชกาลที่  5  จุลศักราชนี้มีชื่อย่อ  ร.ศ.

-------------------------------------------------------------
พระเถระรูปนั้น เป็นภิกษุพม่าครับ ท้องเรื่องนี้ เกิดขึ้นที่พม่า

ส่วนที่มาของการใช้นั้น อันนี้ไม่มีความเห็นครับ เพราะผมยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ แต่คุ้นๆ ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับการใช้ "ศักราช" ต่างๆ ไว้นะครับ หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า

"สำหรับสอบศักราช ซึ่งมักพบในศิลาจารึกและหนังสือเก่า ๆ ในเมืองไทย"

ผมเคยสำเนาไว้ แต่ยังไม่มีเวลาอ่านครับ อิอิ

แต่ถ้าตอบตามเนื้อผ้าแล้วนะครับ จุลศักราช ก็น่าจะแทรกเข้ามากับศาสนาครับ แต่จะเกี่ยวข้องอย่างไรก็พุทธ ก็ต้องค้นต่อกันครับ แต่ก็น่าสนใจว่า จะเข้ามาพร้อมกับพระภิกษุจากมอญได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า ภาคกลางและภาคเหนือสมัยต้นสุโขทัย-อยุธยา-ล้านนา นั้น นิยมนิมนต์พระภิกษุจากลังกา นครศรีธรรมราช และ เมืองพัน (มอญ) มาเทศนาธรรม

ส่วน ร.ศ. (รัตนโกสินทร์ศก) เริ่มใช้กันเมื่อไม่นานมานี้ คือ สมัย ร.๕ ครับ ต่อมาก็เลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้ พ.ศ. (พุทธศักราช)

ส่วนเราใช้พุทธศักราช เมื่อใดนั้น ขอถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ด้วยครับ    
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 02:40

 เหมือนกันเลยครับ คุณ เนยสด อิอิ

เขียนอ่านออก แต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ประการหนึ่งคงเป็นสำนวนโบราณ อีกประการหนึ่ง เราไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด ที่เห็นนี้อาจเป็นเพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ของข้อความทั้งหมด ก็คงเป็นไปตามความเห็นของคุณเทาชมพูครับ ที่ว่า จารึกนี้น่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่หลุดออกมาจากจารึกใหญ่ ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ต้องลุ้นให้ทางลาวพบส่วนอื่นๆ ด้วย (ได้ข่าวว่า สำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (EFEO) ประจำประเทศลาว กำลังจัดทำหนังสือ "จารึกประเทศลาว" อยู่ครับ ถ้าเสร็จแล้ว เราก็คงจะได้องค์ความรู้เกี่ยวกับจารึกวิทยาของลาวเพิ่มขึ้นมาอีก)

ถ้าอ่านข้อมูลเพียงเท่านี้ ก็งงเหมือนกันครับว่า จารึกต้องการบอกอะไร ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 11:32

 ตั้งข้อสังเกตไว้อีกข้อค่ะ
ถ้าประโยคว่า "๔ พี่น้องหนีเข้าป่า" เป็นประโยคสมบูรณ์ คือหมายความว่า ไม่ได้แบ่งมาจาก "๔" อยู่ท้ายประโยคอื่น
"พี่น้องหนีเข้าป่า "เป็นอีกประโยคหนึ่ง

๔ พี่น้องหนีเข้าป่า
สังเกตว่า
๑)ไม่มีลักษณะนาม    คือไม่ใช่ "พี่น้อง ๔ คน"
๒)ใช้ตัวเลขแทนการเขียนจำนวน  ไม่ใช่ "สี่พี่น้อง"
๓) เอาตัวเลขนำหน้าในการขยายคำนามที่ตามมา

วิธีเขียนแบบนี้คล้ายกับปัจจุบัน มากกว่าจารึกหลักที่ ๑  
จำได้ว่าในจารึกพูดถึงจำนวนพี่น้องของพ่อขุนราม  ว่า ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง(สอง)  
การระบุจำนวนเขียนเป็นตัวอักษร และเอาไว้ท้าย ต่อจากคำนาม

วิวัฒนาการของการเรียงลำดับคำในประโยคก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะตรวจสอบเทียบกันได้ว่าตรงกับยุคใดของลาว  
เก่าแก่กว่าจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่

อ้อ อีกข้อหนึ่ง คำว่า พี่ เก่าแก่หรือใหม่กว่าคำว่า อ้าย คะ

ขอเสนอแค่นี้ค่ะ  
บันทึกการเข้า
เนยสด
ชมพูพาน
***
ตอบ: 153



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 ธ.ค. 05, 23:37

 โอ้ย เจ็บใจตัวเองจริงๆ ครับ เป็นคนเชียงใหม่ แต่กลับตอบไม่ได้
คุณศศิศอยู่หนาย... มาช่วยหน่อยเร้ว!
บันทึกการเข้า

ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ธ.ค. 05, 17:26

 ขออนุญาตแสดงความเห็นอย่างมั่วๆ ครับ
ในปัจจุบันเขามักจะใช้ อ้าย กับพี่ชาย และพี่ กับพี่สาว (ในคำเมืองเน่อหมู่พี่หมู่เสี่ยว และสะป๊ะหมู่ทั้งหลาย) ครับ
ต่อมามักจะใช่คำว่า พี่ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยข้อสันนิษฐานผมแยกประด็นว่า
1. คำว่าอ้ายคงจะใช้ใกล้เคียงกับพี่ครับ
2. คำว่าอ้าย(ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 )อาจจะแก่กว่าคำว่าพี่ เพราะมีการใช้แพร่หลายกว่าคำว่าพี่ในสมัยก่อน
ป.ล. คงต้องท่าคุณศศิศเช่นเดียวกันครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 00:32

 ความเห็นทั้งของคุณเทาชมพู และคุณศรีปิงเวียง น่าสนใจทั้งคู่เลยครับ ที่เกี่ยวกับ พี่-อ้าย

เท่าที่ผมสังเกตนะครับ คำว่า "อ้าย" จะหมายถึงเฉพาะแต่พี่คนโต หรือเปล่าครับ ฮืม

ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่า ทั้งคำว่า อ้าย และ พี่ น่าจะเก่าพอๆ กันครับ และน่าจะเป็นคำในภาษาตระกูลไท-กะได

เช่น จารึกหลักที่ ๑ : พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก"
(เผือ = พวกเรา)

หมายความว่า พี่ชายคนโต ได้เสียชีวิตไป ตั้งแต่พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามยังเป็นเด็กอยู่ (สังเกตได้ว่ามีทั้งคำว่า พี่ และ อ้าย แต่ใช้ในความหมายที่ต่างกันนิดหน่อย คือ อ้ายจะมุ่งเน้นหมายถึง พี่ชายคนโต)

พงศาวดารกรุงเก่า : กล่าวถึง ราชโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา เจ้าสามพระยา

คำว่าอ้ายจึงหมายความว่า ๑ ก็คือ ลูกคนหัวปี

เดือนอ้าย หมายถึง เดือน ๑

อันนี้เท่าที่ผมรู้นะครับ

------------------------------

เพิ่งนึกได้ อิอิ ลองมาดูพจนานุกรมให้ความหมายกันดีกว่าครับ

คำ :  อ้าย ๑
เสียง :  อ้าย
ชนิด :  น.
ที่ใช้ :  โบ
นิยาม ๑ :  เรียกลูกชายคนที่ ๑ ว่า ลูกอ้าย. (สามดวง พระไอยการลักษณะมรดก และ พระไอยการบานแผนก).

นิยาม ๒ :  โดยปริยายอนุโลมเรียกพี่ชายคนโตว่า พี่อ้าย.

นิยาม ๓ :  คำประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศชายหรือสัตว์ตัวผู้ เช่น อ้ายหนุ่ม อ้ายด่าง, คำประกอบหน้าชื่อผู้ชายที่มีฐานะต่ำกว่า อย่างนายเรียกคนใช้, คำประกอบหน้าชื่อเพื่อนฝูงแสดงว่ามีความสนิทสนมมาก มักใช้กันในหมู่เด็กผู้ชาย, คำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้ชายแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยาม, คำประกอบคำบางคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กผู้ชายหรือผู้ชายที่อายุน้อยกว่ามากด้วยความเอ็นดูหรือสนิทสนมเป็นกันเอง เช่น อ้ายหนู อ้ายน้องชาย, คำประกอบหน้าคำบางคำเพื่อเน้น เช่น อ้ายเราก็ไม่ดี อ้ายจะไปก็ไม่มีที่ไป อ้ายจะอยู่หรือก็คับใจ, คำประกอบหน้าคำบางคำเพื่อเน้นในเชิงบริภาษ เช่น อ้ายทึ่ม อ้ายโง่ อ้ายควาย, คำที่ใช้แทนสิ่งที่กล่าวถึงและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น อ้ายนั่น อ้ายนี่, เขียนเป็น ไอ้ ก็มี, (โบ) คำนำหน้าชื่อผู้ชาย มักใช้ในทางไม่ดี เช่น อ้ายดีผู้ร้ายรับเปนสัจให้การซัดพวกเพื่อนถึงอ้ายเชด อ้ายเสน อ้ายคง อ้ายมั้น. (สามดวง).

----------------------------------------------

นั่นก็มาจากพจนานุกรมครับ แต่การใช้จริงๆ ในภาษาเหนือ กับ อีสาน ก็คงต้องให้เจ้าของภาษามาช่วยแนะนำอีกแรงครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 00:48

 อีกนิดครับ เพิ่งนึกได้อีกว่า เคยค้นคำเกี่ยวกับวงศาคนาญาติของภาษาจ้วงใต้ (เผ่าจ้วงอยู่ในมณฑลกวางสี จีนตอนใต้) ก็จะนำมาเทียบกันดูครับกับคำไทย

(อักษรจ้วงเดิมนำอักษรจีนมาดัดแปลงครับ ปัจจุบันยืมเอาอักษรโรมันมาใช้ เพราะสะดวกกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นภาษาตระกูลไท-กะได จึงมีเสียงวรรณยุกต์เช่นกัน ภาษาไทยเราใช้ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา แต่ของอักษรจ้วงจะใช้ตัวอักษร z, h, j, q, x เป็นวรรณยุกต์ครับ โดยใส่ไว้ท้ายคำ)

อาผู้หญิง   az
พี่สาว   az
อาผู้ชาย (อาว์)   auh
ป้า   baj
สะใภ้   bajluz
พ่อ   baq
พ่อเลี้ยง, พ่อบุญธรรม   baqtswengx
พ่อผัว   bouq
ลูกสะใภ้   bawx
พี่   beih
พี่เขย   beikuiz
พี่ชาย   beihmbauh  (พี่บ่าว?)
พี่สะใภ้   beihnangz
พี่สาว   beihsau
พ่อลูก   bohlug
พ่อเลี้ยง   bohlaeng
พ่อหม้าย   bohmaij
พ่อแม่, ผัวเมีย   bohmeh


จะเห็นว่า ภาษาจ้วงก็ใช้ "พี่ (beih)" ด้วยเหมือนกันครับ

จริง ๆ นักวิชาการบ้านเราที่ไปศึกษาเกี่ยวกับภาษาจ้วงน่าจะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ "รากคำภาษาไทย" ออกมาเผยแพร่กันบ้างนะครับ เพราะน่าสนใจมากทีเดียว

ปัจจุบันในพจนานุกรมก็มักแต่จะบอกที่มากันแต่คำที่มาจากบาลี-สันกฤต หรือเขมร แต่คำที่มาจาก มอญ จีน อาหรับ ไม่ค่อยบอกกันเท่าที่ควร ยิ่งสืบกลับไปถึงภาษาตระกูลไท-กะได อื่นๆ ยิ่งไม่มีใหญ่

จริงๆ เรื่องนี้สำคัญมากครับ แต่ยังไม่มีใครศึกษา ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 14:27

 ดิฉันว่ามีนะคะ คุณ Hotacunus เพราะอาจารย์หลายคนของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทุนไปศึกษาเรื่องภาษาไทยจ้วง
เพียงแต่ผลงานวิจัยยังเก็บอยู่ในตู้ของหอสมุดที่พระราชวังสนามจันทร์ หรือที่กรุงเทพ
ลองสอบถามผ่านเพื่อนๆของคุณดู

ผศ. จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ เป็นคนหนึ่งที่ไปศึกษาเรื่องนี้
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 21:44

 เอาตามความเข้าใจของผมนะครับ

คำว่า "พี่" กับคำว่า "อ้าย" จะใกล้กัน แต่ผมว่าใช้ในคนละหน้าที่

คำว่าพี่ น่าจะเป็นคำกลาง ๆ ไม่ระบุเพศ เหมือนกับคำว่า น้อง ซึ่งถ้าจะให้ระบุไปว่า ชายหรือหญิง ก็จะเรียกว่า น้องบ่าว หรือว่า น้องสาวไป

ไม่เหมือนคำว่า "อ้าย" และ "เอื้อย" (คนเหนืออ่านออกเสียงเป็น เอ้ย) ซึ่งทั้งคู่ แปลได้ว่าพี่ เหมือนกัน แต่ต่างเพศกันเท่านั้น

หากเป็นคำเรียก หรือสรรพนามเฉย ๆ นั้น ก็จะหมายถึง คนที่อายุแก่กว่า

แต่ถ้าเป็นชื่อ แล้ว จะหมายถึง ลูกชายคนโต หรือ ลูกสาวคนโต

อ้าย ยี่ สาม สี่ งั่ว ลก
เอื่อย อี่ อาม ...
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 23:45

 ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากครับที่แนะนำ ถ้ามีโอกาสผมจะลองไปค้นดูครับ

ก็เคยได้ยินอยู่เหมือนกันครับ ที่มีอาจารย์หลายท่านไ้ด้ทุนวิจัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากรน่าจะพิมพ์เผยแพร่ให้มากกว่านี้ครับ เรื่องดีๆ มักถูกเก็บ (ซ่อน) ไว้ตามตู้หนังสือจริงๆ อิอิ

ผมเคยเห็นผลงานของทางจุฬาฯ คือ
พจนานุกรม จ้วงใต้-ไทย / ปราณี กุลละวณิชย์.กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535

แต่เสียอย่างเดียวที่ไม่มีการถอดคำอ่านด้วยอักษรไทยครับ ก็เลยไม่รู้ว่าจ้วงออกเสียงใกล้เคียงกับเรามากน้อยแค่ไหน

ไปๆ มาๆ คือ "ไทใหญ่" ก็อีกภาษาหนึ่งด้วยครับที่น่าสนใจ ผมมองว่าบางที่ถ้าจะศึกษาถึง "รากศัพท์" จริงๆ แล้วอย่างน้อยต้องมีการเปรียบคำกันหลายภาษาเลยครับ

ไทใหญ่ - สิบสองพันนา - ล้านนา - อีสาน - กลาง - ใต้ - จ้วง - ไทดำ (เวียดนามเหนือ)งานช้างๆ แบบนี้ ราชบัณฑิตยสถานสมควรทำอย่างยิ่งครับ (เสร็จเมื่อไหร่อีกเรื่องครับ อิอิ)

ปล. ทราบมาว่า "สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" (เริ่มพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙) ปัจจุบันพิมพ์ถึงอักษร "ล" เองครับ ... ๔๙ ปีผ่านไป ฮืม    หวังว่า ชีวิตนี้คงได้เห็นเล่ม "ฮ" นะครับ อิอิ

เห็นใจครับที่บุคลากรน้อย "แต่" มันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ความเอาใจในของรัฐบาลครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า "ไม่เคยจริงจังกับพื้นฐานการศึกษาไทยเลย" ทำโครงการอะไรก็ฉาบฉวยลืมพื้นฐานกันทั้งนั้น

สารานุกรมไทย นี้จัดได้ว่าเป็นแหล่งความรู้แรกๆ ที่ควรไปเปิดดูเลยครับ (เหมือนการใช้ google หาเว็บใน internet)(อืม น่าคิดว่า เด็กรุ่นใหม่จะรู้หรือเปล่าว่ามี "สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" อยู่ด้วย) แต่ไม่เคยมีใครสนใจที่จะทำให้เสร็จ ที่สำคัญคือ "สารานุกรมไม่ใช่ของตาย" ครับ เพราะว่า มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ก็ไม่รู้ว่า หมวด "ก" ที่พิมพ์ไปเมื่อเกือบๆ ๕๐ ปี ที่แล้ว ปัจจุบันจะมีคำใหม่เกิดขึ้นมาอีกไม่่รู้กี่ร้อยคำ

เดี๋ยวนี้มันเลยดูเหมือนว่า ความรู้ของอเมริกา อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส จะหาง่ายกว่า ความรู้ของไทยเสียอีก (จากบรรดา Encyclopedia ที่แข่งกันทำอย่างมากมาย ทั้งที่เป็นในรูปหนังสือ และ DVD)  กลุ้มครับ กับการทำงานของรัฐบาลที่ไม่เคยสนใจเรื่ององค์ความรู้

แต่ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ "ราชบัณฑิตยสถาน" ทำงานกันต่อไปครับ  

บันทึกการเข้า
pharmaceutical scientist
มัจฉานุ
**
ตอบ: 70


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 23:53

 ทางอีสานก็ใช้ในลักษณะเดียวกันกับทางเหนืออย่างที่คุณศศิศบอกไ้ว้ครับ (อ้างอิงจากที่ตัวเองใช้อยู่ประจำ)
แต่คำว่า พี่ ทางอีสานมักจะไม่เรียกเดี่ยวๆ
ไม่ใช้เรียกสรรพนามแทนตัวเอง เช่น พี่ฮักเจ้า แต่จะเป็น อ้ายฮักเจ้า
ไม่ใช้เรียกสรรพนามบุคคลที่ 2 เช่น พี่คำแพง แต่จะเป็น เอื้อยคำแพง
แต่คำว่า พี่ จะรวมในคำว่า "พี่น้อง" ซึ่งจะหมายความถึง เป็นญาิติพี่น้องกัน
ถ้าจะเรียกแทนตัวเองหรือบุคคลที่ 2 จะใช้คำว่า อ้าย และ เอื้อย แทน
เคยได้ยินมีผู้เฒ่าผู้แก่ใช้คำว่า พี่อ้าย บ้าง แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า พี่เอื้อย
ซึ่งมักใช้พูดถึงบุคคลที่สามในการไล่ลำดับญาติพี่น้องกัน
สำหรับการนำไปใช้เป็นชื่อนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะหมายถึง ลูกชายและลูกสาวคนโตหรือไม่
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง