เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 17639 " ช้างเผือก " ในรัชกาลต่างๆ
Histor
อสุรผัด
*
ตอบ: 20

นักดนตรี


 เมื่อ 05 ธ.ค. 05, 01:30

 อยากทราบเรื่องราว และจำนวนช้างสำคัญ หรือช้างเผือกในแต่ละรัชกาล ครับ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยไขความกระจ่างด้วยนะครับ  ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ธ.ค. 05, 03:01

 เรื่องช้างๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอแนะนำให้ลองไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ตั้งอยู่ที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเกี่ยวกับช้างสำคัญ และช้างมงคลของไทย ติดต่อสอบถาม พิพิธภัณฑสถาน ช้างต้น ติดกับรัฐสภา ถนนอู่ทองใน แขวงจิตรดา กรุงเทพฯ 10300 โทร. 282-3336

 http://www.bangkoktourist.com/thai_places_chang-ton_museum.php

ไปเจอบทความที่เกี่ยวกับช้างเผือก คิดว่าน่าสนใจดี ลองอ่านกันดูนะครับ

ช้างกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่มา : สถาบันคชบาลแห่งชาติ http://www.thailandelephant.org/elephant3.php3

ตั้งแต่อดีตกาล ช้างเผือกถือเป็นสัตว์มงคลแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ช้างเผือกในที่นี้ มิใช่ช้างที่เกิดลักษณะการสร้างเม็ดสีรงควัตถุ (Pigment) ของผิวหนังผิดปกติที่เรียกว่า Albino หากแต่เป็นช้างที่มีคชลักษณะที่ดีต้องตามตำราคชศาสตร์
 
     
       ช้างเผือกเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรือง ช้างเผือกเป็นสิ่งหนึ่งในแก้ว ๗ ประการ อันเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรแก้ว ๒. ช้างแก้ว (เป็นช้างเผือกชื่ออุโบสถ) ๓. ม้าแก้ว ๔. มณีแก้ว ๕. นางแก้ว ๖. ขุนคลังแก้ว ๗.ขุนพลแก้ว ความนิยมเกี่ยวกับ ช้างเผือก ในอินเดียมีมาแต่ก่อนพุทธกาลแล้ว ดังนั้น แนวความเชื่อ และตำราเกี่ยวกับช้างเผือกในประเทศไทย ตลอดจนถึงพวกพม่า มอญ เขมร ลาว อาจมีมานานพอ ๆ กับระยะเวลาที่ศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาแพร่มาถึงและจำเริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแถบนี้ก็ว่าได้
 
     
 ตำราพระคชศาสตร์และกฏหมายเกี่ยวกับช้างเผือก  
     
       "ช้างเผือก" เป็นคำสามัญ ที่คนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าใช้เรียกช้างที่มีสีของผิวหนังเป็นสีขาวอมชมพูแกมเทา เช่นเดียวกับควายเผือก แต่การดูที่สีผิวอย่างเดียวจะไม่สามารถกำหนดได้ว่า ช้างเชือกนั้น ๆ เป็นช้างเผือกในความหมายของ "ช้างสำคัญ" ซึ่งมีมงคลลักษณะครบถ้วน นอกเหนือจากลักษณะอื่น ๆ ที่จะระบุว่าช้างนั้นอยู่ในพงศ์ใด ตระกูลใดแล้ว จึงจะถือเป็นช้างของผู้มีบุญญาธิการ ดังที่กล่าวข้างต้น
 
     
       พระราชบัญญัติรักษาช้างป่าพุทธศักราช ๒๔๖๔ มาตรา ๔ ระบุว่า "ช้างสำคัญ" ให้พึงเข้าใจว่า เป็นช้างที่มีมงคลลักษณะ ๗ ประการตามตำราพระคชศาสตร์ (ตำราพระคชศาสตร์แบ่งเป็นสองตอน ตอนหนึ่งว่าด้วยแบบคชลักษณ์ คือรูปพรรณสัณฐานของช้างต่าง ๆ ซึ่งดีและชั่วถ้าได้ไว้จะให้คุณและให้โทษอย่างไร อีกตอนหนึ่งเป็นที่รวบรวมเวทมนต์เรียกว่า คชกรรม คือ กระบวนการจับช้างรักษาช้าง และบำบัด เสนียดจัญไรต่าง ๆ ) มงคลลักษณะ ๗ ประการ ประกอบด้วย ๑. ตาขาว ๒. เพดานปากขาว ๓. เล็บขาว ๔. ขนขาว ๕. พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ๖. ขนหางขาว ๗. อัณฑโกสขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ จากความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้ชี้ให้เห็นว่า "ช้างสำคัญ" คือช้างเผือกที่มีลักษณะครบถ้วน สำหรับช้างเผือกตามความหมายของคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งสังเกตุจากลักษณะครบถ้วนก็ได้ ในกรณีที่ช้างมีลักษณะมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด (หรือหลายอย่างแต่ไม่ครบ) ใน ๗ อย่าง ตามพระราชบัญญัติตามมาตรานี้ ให้เรียกว่า "ช้างประหลาด" หรือ "ช้างสีประหลาด" นอกจาก "ช้างสำคัญ" และ "ช้างประหลาด" แล้ว กฏหมายฉบับนี้ยังได้กล่าวถึง "ช้างเนียม" ไว้ด้วยโดยระบุลักษณะของช้างเนียมไว้ ๓ ประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกกล้วย และเล็บดำ ซึ่งเป็นลักษณะของช้างที่แปลกประหลาดและหายาก
 
     
        ช้างทั้งสามประเภทเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ดังนั้นในมาตรา ๑๒ ของกฏหมายฉบับดังกล่าวจึงกำหนดให้ผู้ที่ครอบครองช้างสำคัญ ช้างประหลาดและช้างเนียม ต้องนำช้างดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นช้างทรงต่อไปตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณกาล ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ
 
     
         ช้างเผือกถือว่ามีศักดิ์สูงเทียบชั้นเจ้าฟ้า การอ่าน ฉันท์ ดุษฏี สังเวยและขับไม้สมโภชนั้น ถือว่าเป็น ของสูงจะมีได้เฉพาะในงานพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ เพียง ๓ งานเท่านั้น คือ ๑. การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ๒. การสมโภชในงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ดำรงพระยศชั้น "เจ้าฟ้า" และ ๓. พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ด้วยเหตุนี้ในสมัยโบราณจึงถือว่าช้างเผือกนั้นมีศักดิ์สูงเทียบชั้นเจ้าฟ้า
 
     
         สัตว์เลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือก สัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือกมี ๒ ชนิด คือ ลิงเผือก และกาเผือก เพราะถือกันว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นของคู่บุญของช้างเผือก และจะป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้
 
     
         เมื่อมีเหตุเกิดแก่ช้างเผือกถือว่าเป็นลางร้าย หากมีเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้นแก่ช้างเผือก เช่น เจ็บ งาหัก หรือล้ม เชื่อกันว่าเป็นลางร้ายของแผ่นดิน จะเกิดอาเพทเหตุภัยร้ายแรงขึ้นแก่บ้านเมืองและประชาชน หรือแม้แต่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ช้างเผือกก็จะสำแดงอาการประหลาดต่าง ๆ ให้เห็น ทั้งจากความสำคัญในสถาบันหลักของแผ่นดินทั้งจากคติความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าวัตรปฏิบัติระหว่างคนไทยกับช้างนั้นเป็นสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งนัก ชาวต่างชาติต่างก็ประจักษ์ถึงความผูกพัน ระหว่างคนกับช้างในแผ่นดินสยามนี้มาเนิ่นนาน ดังจะเห็นได้จากบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาได้บันทึกถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ว่า ชาวสยามพูดถึงช้างราวกับว่าช้างเป็นมนุษย์ เขาเชื่อกันว่าช้างมีความรู้สึกนึกคิดกอปรด้วยเหตุผลอันสมบูรณ์อย่างยิ่ง ดังกรณีที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ประทานลูกช้าง ๓ เชือก ไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เมื่อคนเลี้ยงช้างนำช้างไปลงเรือ มีการรำพึงรำพันสั่งเสียเหมือนคนด้วยกัน จะต้องพรากจากกันดังที่ลาลูร์แบร์เล่าว่า
 
     
        "เขาได้จัดลำเลียงลูกช้าง ๓ เชือก ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามตรัสให้ส่งไปพระราชทานแด่พระเจ้าหลานยาเธอแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ฝรั่งเศส) ทั้ง ๓ พระองค์ ไปลงเรือ ครั้นคนสยาม ๓ คนที่นำช้างมาส่งถึงเรือกำปั่นคณะอัครราชฑูตแล้วก็รำพันร่ำลาลูกช้างทั้งสามเชือกประหนึ่งว่ามันเป็นเพื่อนของพวกเขาก็ว่าได้เข้าไปพูดกรอกหูช้างแต่ละเชือกว่า "จงไปดีเถิดหนา-พ่อ ถึงพ่อจะตกไปเป็นทาสของท่านก็จริงแล้ว แต่พ่อก็จะได้เป็นทาสเจ้าใหญ่นายโตในโลกถึงสามพระองค์พ่อคงไม่ต้อทำงานหนักและยังจะมีเกียรติสง่าผ่าเผยเสียอีก" ครั้นแล้ว พวกลูกเรือ (ฝรั่งเศส) ก็ชักรอกกว้านเอาลูกช้างทั้งนั้นขึ้นเรือกำปั่น และโดยที่เห็นมันพากันยอบตัวลงเมื่อลอดใต้สะพานเรือ ก็พากันร้องชมเชยราวกับว่าสัตว์อื่นทั้งหลายจะมิพึงทำ ยามจะลอดไปในที่ต่ำเช่นฉะนั้น"
 
     
        แม้กระทั่งปัจจุบัน ภาพแห่งความผูกพันระหว่างช้างกับควาญก็ยังคงสร้างความชื่นชม และยอมรับถึงความสามารถในการควบคุมสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกได้เป็นอย่างดีของควาญช้างไทย เพราะในสายตาของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกนั้น ช้างคือสัตว์ที่น่ากลัวโดยเฉพาะในช่วงที่มันตกมัน ซึ่งช้างจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายอย่างบ้าคลั่ง
 
     
       ภาพของสัตว์ใหญ่ที่ยังมีสัญชาตญาณป่า ทว่ายอมค้อมหัวให้ควาญช้างไทยตัวเล็ก ๆ อย่างศิโรราบ เช่น นี้เอง อาจเป็นคำตอบว่าทำไม่หลายชาติในยุโรปและเอเซียที่มีภารกิจเกี่ยวพันกับช้าง จึงยอมรับที่จะส่งคนมาดูงานประเทศไทย หรือว่าจ้างควาญช้างไทยไปฝึกฝนให้คนของเขา
 
     
      เหตุที่ควาญช้างไทยมีความเข้าใจธรรมชาติและผูกพันกับช้างอย่างลึกซึ้งนี่เอง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่าง "ควาญ" หรือ Mahout ของไทยกับคำว่า "คนดูแลช้าง" หรือ Elephant Keeper ของต่างชาติ เพราะในขณะที่ ควาญช้างไทยเลี้ยงช้างเหมือนลูกหรือเพื่อนชีวิต มีเครื่องมือบังคับเพียงตะขอหรือหนังสะติ๊กไว้ขู่ แต่คนดูแลช้างในต่างประเทศควบคุมช้างด้วยกระบองไฟฟ้า และทำงานดูแลช้างเฉพาะเวลางานเท่านั้น แต่ละปีจึงมีช้างจากต่างประเทศถูกส่งเข้ามาพักพิงอยู่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ จังหวัดลำปาง ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


บันทึกการเข้า
Histor
อสุรผัด
*
ตอบ: 20

นักดนตรี


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 ธ.ค. 05, 04:19

 ขอบพระคุณมากๆครับ คุณ Hotacunus  ที่มาให้ความรู้
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 ธ.ค. 05, 11:31

 เคยอ่านหนังสือเรื่อง พม่าเสียเมือง ในตอนท้ายของเล่ม ก็ได้กล่าวถึงช้างเผือกของราชวงศ์พม่า ว่าหลังจากสิ้นพระราชวงศ์ พระเจ้าสีป่อ และพระบรมวงศานุวงศ์พม่า ถูกเชิญองค์ไปประทับที่เมืองอินเดียแล้ว ช้างเผือกที่ยืนโรงอยู่ในพระราชวังมัณฑะเลย์ ก็ส่งเสียงร้องไห้และก็ล้มลง ผมคิดว่าช้าง เป็นสัตว์ที่มีความฉลาดรอบรู้ สามารถฝึกฝนได้ ถ้าเราอ่านพระราชพงศาวดารของไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็จะพบว่า ช้างเป็นสัตว์ที่ทรงคุณค่าหลายๆด้าน ทั้งการสงครามและการปกครอง เป็นต้น แต่ในปัจจุบันช้างของไทยเรา กลับสิ้นความสำคัญลงอย่างน่าใจหาย เคยเห็นว่ามีกฏหมายห้ามช้างเร่ร่อนในเมือง แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องเห็นภาพช้างเลี้ยงคน เร่ชายอ้อยดูแล้วน่าสมเพชชะตากรรมของช้างไทย อันเป็นสัตว์ที่ร่วมปกป้องบ้านเมืองไทยมาแต่โบราณ ถึงจะเอ่ยอ้างว่า หากเอาช้างไว้ที่ต่างจังหวัดช้างก็จะอยู่อย่างอดๆอยากๆ ถ้าเอาช้างมาเร่ร่อนในเมืองช้างจะ อิ่มหนำสำราญกว่าก็ตาม แต่ว่าเราน่าจะมีวิธีการใดๆที่จะจัดการให้ช้างไทยของเรานั้น อยู่ได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องมาเร่ร่อน เช่นการจัดสวนสัตว์ในลักษณะคล้ายฟาร์มจระเข้ แต่เป็นฟาร์มช้าง หรือพื้นที่อนุรักษ์ช้างก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก ..... ช้างช่วยคนไทยเราปกป้องบ้านเมือง รักษาแผ่นดินและเอกราชไว้ให้เรา ดังนั้นถ้าเราจะสละผืนดินเพียงน้อยให้ช้างได้อยู่ ได้ดำรงเผ่าพันธุ์ ตามวิถีทางของธรรมชาติ ทั่วโลกย่อมสรรเสริญว่าคนไทยเป็นชนชาติที่มีกตัญญูกตเวทิตาธรรม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ธ.ค. 05, 16:27

 ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง "ช้าง" ของ ศ.สุทธิลักษณ์  อำพันวงษ์ ครับ  ท่านเขียนไว้หลายเล่ม  เล่มสุดท้ายที่พิมพ์ขึ้นก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมเมื่อไม่นานนี้  ปกสีแดงๆ  เรื่องช้างนี่แหละครับ  ท่านให้ผมไว้เล่มหนึ่ง  แต่ขอสารภาพตมตรงครับว่า จนบัดนี้ผมยังไม่ได้เปิดอ่านเลย  เห็นกระทู้นี้ชวนให้คิดถึงท่านอาจารย์ผู้ล่วงลับคงต้องไปเปิดอ่านแล้วละครับ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ธ.ค. 05, 10:26


.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง