เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 17506 ทีฆายุโก โหตุ VS ฑีฆายุโก โหตุ ------------- ทูต VS ฑูต
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


 เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 03:32

 มาอีกแล้วครับ คำที่มักเขียนผิดบ่อยๆ พอดีวันนี้พิมพ์คำว่า "ทูต" แต่นิ้วพาไปเป็น "ฑูต" ก็เลยคิดได้ว่า อืม ก็น่าจะมีคนเขียนผิดบ่อยอยู่ ก็เหมือนเดิมครับ ใช้ google หาคะแนนซะเลย ผลได้ดังนี้ครับ

ทูต ได้ 904 รายการ
ฑูต ได้ 343 รายการ

ก็แสดงว่า อย่างน้อยในอินเตอร์เน็ต ก็มีคนเขียนผิด 1 ใน 3 ครับ

ุุุุุุุ---------------------------

ทีฆายุโก โหตุ
ส่วน ทีฆายุโก โหตุ กับ ฑีฆายุโก โหตุ นั้น คำที่ถูกต้องคือ "ทีฆายุโก โหตุ" (ใช้ "ท" และ เว้นวรรคตรง"โหตุ") ผมใช้ google ดูแล้วน่าตกใจครับ เพราะผิดกันมากจริงๆ

ทีฆายุโกโหตุ ได้ 80 รายการ (ผิดเพราะไม่วรรคก่อนโหตุ ด้วยครับ)
ฑีฆายุโกโหตุ ได้ 185 รายการ (ผิดกำลังสอง เพราะนอกจากไม่วรรคแล้ว ยังใช้ "ฑ" อีก)

ทีฆายุโก โหตุ ได้ 373 รายการ
ฑีฆายุโก โหตุ ได้ 402 รายการ

เห็นแล้วน่าตกใจครับ เขียนผิดกันเกินครึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานราชการเขียนผิดก็มีมากเสียด้วย

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่มีคำว่า "ทีฆายุโก โหตุ" ให้สำหรับตรวจสอบหรือเปล่า ? ซึ่งผมมองว่าจริงๆ "ต้องมี" นะครับ เพราะ คำนี้ ถึงจะเป็นภาษาบาลีก็จริง แต่เราจะต้องได้อ่านกันอย่างน้อยก็ปีหนึ่ง 2 ครั้ง คือ 12 สิงหา (ทีฆายุกา โหตุ) กับ 5 ธันวา (ทีฆายุโก โหตุ) ไม่รู้ว่า พจนานุกรมฉบับมติชนมีหรือเปล่า ? ใครมีอยู่ใกล้มือช่วยลองเปิดตรวจดู แล้วแจ้งผลด้วยนะครับ

------------------------------------------
แล้วพอดีไปเจอบทความน่าสนใจอีก และเข้ากับบรรยากาศวันเฉลิมพระชนมพรรษาพอดี คือคำว่า
ทีฆายุโก ก็เลยนำมาให้อ่านกันครับ


ทีฆายุโก - ฑีฆายุโก
จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต
๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
             
     เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ไม่ว่าจะเป็น ๕ ธันวาคม หรือ ๑๒ สิงหาคม ก็ตาม เราจะพบป้ายหรือข้อความถวายชัยมงคลว่า "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" หรือ "ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี" ตามสถานที่ราชการ หรือ ในหนังสือพิมพ์ ตลอดจนวารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนอยู่ทั่วไป เขียนกันถูกบ้าง ผิดบ้าง แม้จะได้เคยแนะนำทั้งทางวิทยุและข้อเขียนต่าง ๆ อยู่เสมอแล้ว แต่ก็ยังคงมีการเขียนหรือพิมพ์ผิด ๆ อยู่ตลอดมาทุกปี นั่นคือคำว่า "ทีฆายุโก" หรือ "ทีฆายุกา" ซึ่งจะต้องใช้ ท (ทหาร) นั้น บางทีก็ใช้ ฑ (นางมณโฑ) อยู่บ่อย ๆ และ ณ สถานที่ราชการซึ่งมีผู้มีความรู้ด้านบาลี ถึงเปรียญ ๙ ประโยคอยู่มากกว่าหน่วยราชการอื่น ๆ คือ กระทรวงกลาโหม ก็ยังปล่อยให้เขียนผิด ๆ ออกมา ถ้าท่านเดินผ่านหรือนั่งรถผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม และสังเกตดูข้อความถวายชัยมงคลตัวขนาดใหญ่ ชั้นบนของอาคารด้านหน้า ปรากฏว่าเป็น "ฑีฆายุโก โหตุ มหาราชา" ท (ทหาร) ที่คำว่า "ทีฆายุโก) กลายเป็น ฑ (นางมณโฑ) ไป

     คำว่า "ทีฆายุโก" เป็นภาษาบาลี ใช้ ท ทหาร แปลว่า "มีอายุยืน" เมื่อรวมข้อความที่ว่า "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" ตามอักษรก็แปลว่า "ขอพระมหาราชจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน" และ "ทีฆายุกา" สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะ คำว่า "มหาราชา" เป็นปุงลิงค์ คือเพศชาย จึงต้องใช้ "ทีฆายุโก" ส่วน "มหาราชินี" เป็น อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง จึงใช้ "ทีฆายุกา"

     เหตุที่บางคนเขียนเป็น ฑ นางมณโฑนั้น คงเป็นเพราะตัว ฑ อยู่ใกล้กับ ฆ (ระฆัง) ซึ่งมีหัวหยัก เลยทำให้ ท (ทหาร) มีหัวหยัก เลยกลายเป็น ฑ (นาง มณโฑ) ตามไปด้วย

     คำในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีที่เดิมเป็น ท (ทหาร) แล้วมีผู้เขียนเป็น ฑ (นางมณโฑ) ในสมัยก่อน ๆ นั้นมีอยู่หลายคำ เช่นคำว่า "ทูต" ซึ่งเป็นภาษาบาลี ใช้ ท (ทหาร) ก็มีพบอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในหนังสือเก่าเขียนเป็น "ฑูต" โดยใช้ ฑ (นางมณโฑ) หรือคำว่า "มนเทียรบาล" หนังสือเก่า ๆ เช่นในเรื่อง "กฎมณเฑียรบาล" ก็ดี หรือ "หมู่พระราชมณเฑียร" ก็ดี ที่คำว่า "มณเฑียร" ก็ใช้ ฑ (นางมณโฑ) แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น "มนเทียร" ใช้ ท (ทหาร) เพราะคำนี้มาจากคำบาลีว่า "มนฺทิร" ซึ่งแปลว่า "เรือน" เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า "มนฺทิร" จึงกลายเป็น "มนเทียร" ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า "วชิร" เป็น "วิเชียร" หรือ "พาหิร" เป็น "พาเหียร" และ "ปกีรณกะ" เป็น "ปเกียรณกะ" ฉะนั้น

      ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้เขียนคำว่า "ทีฆายุโก" ให้ถูกต้องหน่อย ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ควรที่จะใช้ข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยราชการต่าง ๆ ควรจะได้เอาใจใส่ดูแล และสอดส่องให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ผู้น้อยหรือผู้เขียนจะทำอย่างไรหรือเขียนอย่างไร ก็ปล่อยเลยตามเลย ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าทางกระทรวงกลาโหมพอจะมีเวลาก็ควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ก่อนจะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๖

     นอกจากนั้น ตามหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ ก็มีทั้งคำว่า "ทีฆายุโก" (ท ทหาร) และ "ฑีฆายุโก" (ฑ นางมณโฑ) ปะปนกันอยู่ในฉบับเดียวกัน ควรจะได้ระมัดระวังให้มาก ความจริงก็มิได้ทำให้ความหมายเสียไป แต่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้นเอง เพราะคำว่า "ฑีฆ" (ฑ นางมณโฑ) ในภาษาบาลีหรือสันสกฤตที่แปลว่า "ยาว" นั้นไม่มี มีแต่ "ทีฆ" (ท ทหาร) เท่านั้น ความจริงเรื่องนี้ก็ได้พูดกันมาทุกปี แต่การเขียนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีที่ผิด ๆ ให้เห็นอยู่เสมอ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม ยิ่งคำว่า "ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี" ด้วยแล้ว บางทีก็เขียนเป็น "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชินี" และบางทีที่คำว่า "ทีฆายุโก" ใช้ ฑ (นางมณโฑ) หรือ ฑ หัวหยักก็มี แต่ในปัจจุบันการเขียนถูกต้องเกือบ ๑๐๐% แล้ว เพียงแต่คำว่า "ทีฆายุโก" และ "ทีฆายุกา" บางทียังใช้ ฑ (นางมณโฑ) แทน ท (ทหาร) อยู่บ้างเท่านั้น จึงขอร้องให้ช่วยกันระมัดระวังและเขียนให้ถูกต้องหน่อย อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเลย.


ที่มา : ภาษาไทย ๕ นาที http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt_p3.html

บันทึกการเข้า
สนุกจัง
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ธ.ค. 05, 11:18

 ขอบคุณครับ
ผมเขียนผิดมาตลอดเลย เฮ้อ..
บันทึกการเข้า
เนยสด
ชมพูพาน
***
ตอบ: 153



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ธ.ค. 05, 11:58

 ขยันจังเลยครับ
น่าจะทำเป็นบทความเลยครับ เตือนให้คนไทยใช้ภาษากันดีๆ หน่อย
บันทึกการเข้า

นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 ก.พ. 06, 21:31

 หนังสือไทยเก่า เคยเขียน (ผิด) สะกด ทูต เป็น "ฑูต" มีอยู่เป็นแบบจริงๆ เสียด้วยครับ

แต่คำนี้ในภาษาเดิมของเขา คือบาลีสันสกฤต ใช้ ท. ทหาร

เดี๋ยวนี้ ที่ถูกต้องใช้ ทูต ท. ทหาร

พูดถึงเรื่องนี้ ป้ายชื่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ถนนวิทยุก็ยังสะกดผิดเลยครับ อยากให้แก้เสียที

ผมมีสมมติฐานส่วนตัวว่า ชะรอยคนที่สะกด ทูต เป็น ฑูต น่ะคงจะนึกว่าพวกทูตนี่เป็นคนไม่ปกติ เอ๊ย ... ไม่ธรรมดา ไม่สมควรใช้ ท. ทหารธรรมดาๆ สะกด ต้องใช้ ฑ วิลิศมาหราอย่าง ฑ มณโฑ สะกด ผมยืนยันได้ว่า พวกนักการทูตก็มนุษย์ธรรมดานี่แหละครับ (มีทูตบางคนที่ไม่ปกติปนอยูด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดา - อีกแหละ -ของคนหมู่มาก) จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านสะกดว่า ทูต ทูต ทูต เถิด

ขอบคุณ จขกท. ครับ ที่ตั้งกระทู้ ผมเองพูดเรื่องนี้อยู่หลายครั้งแล้ว แต่ก็คงจะพูดอีกแหละเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 ก.พ. 06, 21:44

บางทีคนที่นึกว่าทูตไม่ใช่คนปกติ เอ๊ยไม่ใช่ - ไม่ใช่ธรรมดาๆ นั้น อาจจะเคยได้ยินคำว่า เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม มาก็ได้ จึงเลยพลอยนึกว่าเอกอัครราชทูตนั้นจะต้อง "วิสามัญ"

คำนี้ เราใช้แปลคำว่า Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary ในภาษาฝรั่ง คำว่าเพล็นนิโพเทนเชียรี่ นั้นแปลว่า ผูมีอำนาจเต็ม (ในการเจรจาแทนรัฐบาลของตน) เข้าใจได้ ไม่อัศจรรย์อะไร แต่คำว่า Extraordinary ซึ่งไทยถอดแปลว่า วิสามัญ มาจากไหน

ผมเข้าใจว่าในประวัติศาสตร์การทูตเมื่อบ้านเมืองฝรั่งเริ่มต้นตั้งทูตของตนไปประจำราชสำนักฝรั่งด้วยกันแต่ละฝ่าย ดูเหมือนจะมีการเบ่งหรือพยายามจะแก่งแย่งลำดับอาวุโสหรือแข่งศักดิ์ศรีกันอยู่มาก วิธี (ขี้โกง) วิธีหนึ่งก็เลยเกิดขึ้น คือ ทูต ก. กับทูต ข. มาประจำราชสำนักประเทศ ค. ก็เป็นราชทูตเท่ากันนั่นแหละ แต่ทูต ก. อยากขึ้นหน้าทูต ข. ทำไง? รัฐบาล ก. จึงเรียกตำแหน่งทูตของตัวว่า "ทูต วิสามัญ" ชั้นพิเศษ สเปเชี่ยลคลาส นะเออ เพื่อให้รัฐบาลเจ้าบ้านให้เกียรติตัวเป็นพิเศษ

ทูต ข. ก็หงอไป แต่ก็จำไว้เลยเชียว พอตั้งทูตใหม่ ก็เรียกตำแหน่งตัวเองว่า ทูต "วิสามัญ" มั่ง

.. ในที่สุดที่ว่าพิเศษ เลยไม่พิเศษเลย เพราะกลายเป็นสร้อยห้อยท้ายตำแหน่งเอกอัครราชทูตทุกคนที่ไปประจำการในต่างประเทศ สืบมาจนเดี๋ยวนี้ กลายเป็นของธรรมดาไปว่า ถ้าเป็น "เอกอัครราชทูต" แล้วละก็ ถ้าจะเรียกชื่อตำแหน่งเต็มยศต้องมี "วิสามัญ" ด้วยเสมอ จบกันไป

ท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเป็น "เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม" อยู่เอง เคยพูดเล่นว่า ไอ้สร้อยห้อยท้ายเนี่ย ถ้าจะแกล้งแปลให้มันเบี้ยวๆ ก้ได้เหมือนกัน

Extraordinary แปลว่า Abnormal
Plenipotentiary แปลว่า Absolute (power to negotiate)

รวมแล้วแปลว่า เอกอัครราชทูตผู้ Absolutely abnormal !
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 02:37

 เห็นหัวข้อกระทู้แล้วนึกจะเข้ามาทักคำว่า "ฑูต" ที่บ้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพราะผมขัดใจจริงๆ เวลาผ่านเห็นป้ายหินแกรนิตสวยงามมาก ดูจะลงทุนไปหลายสตางค์ แต่ดันสะกดผิดเสียนี่ ดังที่คุณนิลกังขาก็ได้ปรารภไว้แล้วในความเห็นที่ ๓

ขอเพิ่มเติมศัพท์เกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่สะกดผิดกันบ่อยเหลือเกินอีกคำหนึ่ง เชื่อว่าคุณนิลฯ ก็คงจะเห็นอยู่บ่อยๆ เช่นกัน นั่นคือคำว่า "กงสุล" ซึ่งคนจำนวนมากสะกดเป็น "กงศุล"

ทั้งนี้ ที่ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ต้องสะกดด้วย ส.เสือ คือ กงสุล ครับ

อาจจะเข้าทำนองว่าท่านทูตท่านกงสุลทั้งหลายท่านดูจะเป็นคนปกติเหนือธรรมดา เราถึงชอบใช้ตัวพยัญชนะหวือหวาพิสดารกับท่าน อันนี้ก็ไม่ทราบ หรืออาจเป็นไปได้ว่าพอได้ยินคำว่า "กงสุล" ก็ไพล่ไปนึกเทียบคำกับกรมศุลกากร ที่เรียกว่า "กรมศุล" ผสมไปผสมมาเลยออกมาเป็น "กงศุล"

..เกี่ยวอะไรกับกงซุนในเป้าบุ้นจิ้นมั้ยก็ไม่ทราบ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 02:38

 ขอแก้ไข "ที่บ้านสถานเอกอัครราชทูต" เป็น "ที่สถานเอกอัครราชทูต" ครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 02:46

 อ้อ..แล้วก็ขออนุญาตแซวสักนิด พบว่าในเวบไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ บางแห่งก็สะกดกงสุลว่ากงศุล นะครับ    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 09:37

 ดิฉันเคยเห็นหนังสือเก่าๆ สะกดคำว่า ฑ  ในส่วนที่น่าจะเป็น ท
ไม่ว่า ฑูต หรือ ฑัต
ในรามเกียรติ์  พญาฑูต น้องของทศกัณฐ์ สะกดด้วย ฑ

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าคุณแม่สะกดนามสกุลเดิมของท่านด้วย ฑ เหมือนกัน

สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการสะกดที่นิยมกันมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒  ในช่วงนั้น "วัธนธัม"ทำให้การสะกดด้วย ฑ หายไปหมด กลายเป็น ท
เมื่อหมดยุควัธนธัม   ฑ ในหลายๆคำก็เลยไม่กลับคืนมา
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 16:04

หนังสือไทยเก่าบางเล่มสะกดไว้อย่างนั้นจริงครับ อาจารย์เทาฯ มีแบบอยู่เดิมจริงๆ

แต่ภาษาเดิมที่เป็นรากฐานของคำว่าทูต คือบาลีสันสกฤตนั้น เขาใช้ ท. ไม่ใช่ ฑ. นะครับ

สมัยที่มีการเปลี่ยนตัวสะกด สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ท. ทหารเข้าแทนที่ ฑ. มณโฑ เสียหมด ก็เป็นประวัติศาสตร์อันหนึ่งของภาษาไทยจริงๆ อีก แต่เป็นไปได้เหมือนกันว่าเมื่อรื้อฟื้นอักขรวิธีไทยกลับมาใหม่แล้ว ผู้รู้หรือผู้มีอำนาจกำหนดภาษาไทยสมัยนั้นท่านอาจเห็นว่าควรกลับไปหารากดั้งเดิมก็ได้ เลยให้ใช้ ท. ทหาร

คำที่ผมนึกออกอีกคำหนึ่ง ซึ่งเคยเห็นเขียนเป็น 2 แบบในหนังสือเก่า ทำนองคล้ายๆ กัน คือคำว่า นาที - นาฑี (รวมคำว่าวินาที วินาฑีด้วย)

คุณ รงค์ วงศ์สววรค์ ศิลปินแห่งชาติ ดูเหมือนผมยังเห็นว่าท่านใช้ นาฑี ไม่ยอมใช้ นาที ก็เป็นการเลือกสะกดส่วนตัวของท่านครับ

สงสัยครับ ถ้า ทีฆะ หรือที่เคยมีคนสะกดว่า "ฑีฆะ" แปลว่ายาว (ซึ่งท่านราชบัณฑิต - คราวนี้ต้องใช้ ฑ - จำนงค์ ทองประเสริฐ ท่านทักไว้ว่าที่จริงผิด ต้องเป็น ทีฆะ) สะกดใช้ ท. ทหารแล้ว ชื่อเฉพาะชื่อหนึ่ง คือท่านชายทองทีฆายุ ทองใหญ่นั้น ท่านทรงสะกดพระนามท่านว่ายังไงแน่ เหมือนผมจะเคยเห็นว่าในบางที่ก็สะกดพระนามท่านเป็น ทองฑีฆายุ ?

แต่ต่อให้ท่านชายทรงใช้การสะกดด้วย ฑ มณโฑ จริงๆ ก็ตามถ้าถามราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตฯ ก็คงบอกว่าเป็นชื่อเฉพาะ สะกดยังไงก้ได้ แต่คำศัพท์ว่า ยาว นั้น ต้องเป็น ทีฆะ อยู่ดี - กระมัง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 มี.ค. 06, 16:45

 ค่ายทหารของกรมการสัตว์ทหารบก ที่จังหวัดนครปฐม ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันว่า "ค่ายทองฑีฆายุ" ตามนามของท่านทองรอด โดยใช้ "ฑ" ครับ

ผมเข้าใจว่าท่านชายก็คงทรงสะกดนามองค์เองด้วย "ฑ" ตามแบบเก่าที่สะกดกันแหละครับ เป็นเหตุให้เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามค่ายดังกล่าวตามนามของหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ทรงได้รับสมัญญาว่าบิดาของการทหารสัตว์องค์นั้น จึงทรงสะกดด้วย "ฑ" ไม่ได้สะกดด้วย "ท" ตามวิธีสะกดที่ถูกต้องในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง