เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 10615 อยากรู้เรื่องพริก ครับ
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


 เมื่อ 03 ธ.ค. 05, 15:45

 ตั้งแต่เด็กๆจำความได้ เครื่องปรุ่งอย่างหนึ่งที่เราเห็นปู่ยาตายาย รับประทานกันมาและพูดถึงในกับข้าวหลายชนิดก็ไม่พ้น "พริก" แน่ๆล่ะ ทั้งสด แห้ง ป่นหรือจะผสมกับอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเกลือ มะนาว น้ำปลา น้ำส้มสายชู กระเทียม

แต่เท่าที่เคยเรียนวิชา "พืชที่มีประโยชน์" มา อาจารย์ที่สอนพูดเหมือนกับว่า พริกเป็นพืชพื้นเมืองแถบอเมริกากลาง - อเมริกาใต้ พักชีเป็นพืชพื้นเมืองแถบเมดิเตอร์เรเนียน ฯลฯ ด้วยความเป็นนิสิตใหม่ผมก็จดๆจำๆไว้เท่านั้น

แต่พอวันนี้ มานั่งอ่านกระทู้เรื่องลูกชิ้น เรื่องสาคูและเรื่องอาหารอีกสารพัดชนิดของชาวเรือนไทย ก็เลยมีคำถามขึ้นมาว่า ถ้าผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรก คืออีตา โคลัมบัส แล้วพืชซึ่งมาจากทวีปอเมริกากลางอย่างพริกจะเข้ามาอยู่ในอาหารไทยเมื่อไหร่กันเชียว แล้วทำไมคนไทยนิยมรับประทานอาหารที่ใส่พริกสดกันเหลือเกิน

ส่วนผักชีที่อาจารย์ก็สอนอีกหนะแหละ ว่าเป็นพืชแถบเมดิเตอร์เรเนียน ผมพอเข้าใจนะครับ ว่าไทยกับแถบนี้ติดต่อกันมาอย่างๆน้อยๆก็ไม่ต่ำกว่าอยุธยาตอนกลาง น่าจะพอมีความสัมพันธ์กับอาหารไทยมากกว่าเครื่องเทศจากทวีปที่เพิ่งจะค้นพบใหม่อย่างพริกนะครับ

(จนป่านนี้ก็ยังนึกไม่ออกครับ ฝากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ นักประวัติศาสตร์ชาวเรือนไทยช่วยตอบด้วยครับ)
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 04:26

 ผมคิดว่าพริก (Capsicum spp.) ก็คงน่าจะมีกำเนิดมาจากทวีปอเมริกากลางครับ ซึ่งได้ถูกนำมาเป็นสินค้าประเภทเครื่องเทศโดยพวกโปรตุเกสและสเปน และทำให้พริกแพร่กระจายมาจนถึงบ้านเรา

เท่าที่ค้นได้ตอนนี้ อาจพิจารณาข้อมูลได้ ๒ ประการครับ คือ
๑. ปีที่โคลัมบัส "ยึด" ทวีปอเมริกา คือ ค.ศ.1492 หรือ พ.ศ.2035 ดูปี พ.ศ.ให้ดีนะครับ

ประการที่ ๒
ปีที่โคลัมบัสพบอเมริกา ตรงกับสมัยใดของไทย ไปค้นมาก็ได้ว่าตรงกับราชสมัยของ "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐาธิราช)" ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.2034 - 2072

จะเห็นได้ว่า หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงครองราชย์ได้ ๑ ปี โคลัมบัสก็พบทวีปอเมริกา

ขอยกข้อมูลจาก "หอมรดกไทย" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับโปรตุเกสนะครับ

--- ในปี พ.ศ.2054 ทูตนำสารของ อัลฟองโซ เดอร์ก แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกสได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า พระองค์ทรงตอบรับไมตรีจากโปรตุเกส และได้ทำสัญญาทางราชไมตรี และทางการค้าต่อกัน เมื่อปี พ.ศ.2059 นับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ

ผลจากการเข้ามาสร้างไมตรีของชาวโปรตุเกส ได้มีการนำเอาอาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาถวาย ได้แก่ ปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนดินดำ ต่อมาชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเป็นทหารอาสาฝรั่ง ได้ช่วยฝึกวิธีการใช้อาวุธแบบตะวันตก

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2072 ครองราชย์ได้ ๓๘ ปี ---


ที่มา : http://203.144.136.10/service/mod/heritage/king/ayuthaya/ayuthaya2.htm
---------------------------------------

จะเ็ห็นได้ว่าพวกโปรตุเกสเริ่มเข้ามาปี พ.ศ.2059 แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าพวกเครื่องเทศ เช่น พริก อาจจะเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วก็เป็นได้ โดยถูกส่งขายมาตามเส้นทางสายไหมทางทะเล (ยุโรป อาหรับ อินเดีย แหลมทอง จีน)

ถ้ายึดตามการพบอเมริกาเป็นหลัก ก็อาจกล่าวเป็นเบื้องต้นได้ว่า คนไทยรู้จักใช้พริกมาเป็นเครื่องเทศกันตั้งแต่ราว "กลางพุทธศตวรษที่ 21" ครับ (โชคร้าย ที่เราไม่มีบันทึกตำราอาหารของอยุธยาตอนต้น กับ สุโขทัย ร่วมไปถึงนครศรีธรรมราช อิอิ)

ส่วนคนไทยจะเอามาปรุงอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมครับ เผ็ดมาก เผ็ดน้อย ไม่มีกฎตายตัว เพราะเป็นเรื่องของความชอบในรสชาติ แต่จะสังเกตได้ว่า "อาหารใต้" มักจะเผ็ดแบบสุดๆ  

---------------------

ผมสำเนามาแต่เฉพาะเรื่องถิ่นกำเนิดนะครับ ถ้าจะดูข้อมูลเต็มๆ เกี่ยวกับพริก โปรดไปดูได้ตามลิงค์ครับ

ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดพริก
ชวนพิศ  อรุณรังสิกุล

   พริกมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ และการใช้ประโยชน์มานานนับหลายพันปีก่อนการสำรวจพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ด้วยรสชาติที่น่าพิศวง และได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในยุโรป ในชื่อของ พริกแดง (red pepper : Capsicum spp.) ตามลักษณะสีของผล เมื่อเปรียบเทียบกับพริกไทยดำ (black pepper, Piper nigrum L.) ที่นิยมปลูกกันอยู่แล้ว ก่อนแพร่กระจายมายังประเทศต่างๆ ในเอเชีย พริกกับพริกไทย แม้จะมีชื่อว่าพริกเหมือนกัน แต่พืชทั้งสองชนิดไม่มีความเกี่ยวพันกัน พริกเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์โซลานาซิอี (Solanaceae) เช่นเดียวกับมะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง ยาสูบ และพิทูเนีย พริกจัดอยู่ในสกุลแคปซิคัม (Capsicum มาจาก ภาษากรีก kapto แปลว่า "กัด") ซึ่งมีประมาณ 25 ชนิด (species) ที่นิยมปลูกกันมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ C. annuum L., C. baccatum L., C. chinensis Jacq., C. frutescens L., C. pubescens R. & P. และมีพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นอีกมากมาย พริกนั้นมีชื่อที่ใช้เรียกกันอยู่หลายคำ ได้แก่ pepper, chili, chilli, chile และ capsicum คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า chilli


ที่มา :
เรื่อง พริก : พืชน่าพิศวง
โดย : ชวนพิศ  อรุณรังสิกุล
หน่วยงาน : งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม http://clgc.rdi.ku.ac.th/article/seed/chilli/chilli.html

บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 12:31

 ขอบคุณครับผม
จำปีผิดอีกแหนะเรา แหะๆ
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 17:41

 เรื่อง "พริก" ลองหาอ่านในหนังสือ

"พรรณพืช ในประวัติศาสตร์"
ของ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร
พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

นอกจากจะกล่าวเรื่องพริกแล้วยังมีพรรณไม้อื่น ๆ อีกหลายอย่างครับผม เช่น มะละกอ ชา หมาก มะพร้าว ฯลฯ อย่างละเอียดถึงความเป็นมา

ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างมาเพียงสักเล็กน้อยนะครับ

จากหนังสือบอกว่า ผู้คนแถบอเมริกากลางกินพริกมานานกว่า ๗,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และเข้ามาไทย โดยผ่านทางอินเดียเข้ามา ซึ่งมาปลูกที่อินเดียในปี พ.ศ. ๒๑๒๘ และเข้ามาในไทย และประเทศอื่น ๆ ที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย ประมาณ พ.ศ. ๒๑๔๓

ฉะนั้น อาหารรสเผ็ดคงเข้ามามีช่วงนั้น

ทำให้พริกจึงเข้ามามีส่วนผสมของอาหาร และวัฒนธรรมของคนในแถบนี้

จนทำให้มีสำนวนไทยมักกล่าวไว้ด้วย เช่น "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" หรือทางเหนือก็มีคำที่เปรียบเปรย การใช้จ่ายที่ไม่เก็ดประโยชน์ว่า "จ่ายหยัง(อะไร) บ่กับพริกกับเกลือ"

หรือในปริศนาคำทายว่า

"อะไรเอ่ย ยามเด็กนุ่งขาว ยามหนุ่มสาวนุ่งเขียว ยามแก่นุ่งแดง" หรือ "อะไรเอ่ย ต้นเท่าปลายก้อย พระนั่งห้าร้อยก็ไมหัก" เป็นต้น

หรือว่าอาหารไทยจริง ๆ นั้นมีรสจืด หรือไม่ก็ เค็ม หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 21:01

 ขอบคุณ คุณศศิศ ครับ สำหรับข้อมูล ถ้าเช่นนั้น แสดงว่า ตามข้อมูลของ ดร. สุรีย์ ภูมิภมร ในหนังสือเล่มนั่น "พริก" เข้ามาไทยโดยผ่านทางอินเดีย ในช่วงราว "กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒"

ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ.2133 - 2148

-----------------------------------------------------------

พืชในกลุ่มพริก (Capsicum) ที่พบในประเทศไทย มีดังนี้ครับ

Capsicum annuum var. annuum = พริกหยวก (ภาคใต้ = ดีปลีเมือง) (ภาษาอังกฤษ=Chili, Red pepper, Sweet pepper)

Capsicum annuum var. acuminatum = พริกชี้ฟ้า (ภาคเหนือ = พริกเดือยไก่, พริกหนุ่ม, พริกหลวง) (กรุงเทพฯ = พริกมัน, พริกเหลือง) (เชียงใหม่ = พริกแล้ง) (ภาษาอังกฤษ = Chili spur pepper)

Capsicum annuum var. cerasiforme = พริกตุ้ม (ภาคกลาง = พริกปุ่ม) (กรุงเทพฯ = พริกม่วง) (ภาษาอังกฤษ = Cherry pepper)

Capsicum annuum var. grossum = พริกยักษ์ (ลำปาง = พริกมะยม) (ภาษาอังกฤษ = Paprika, Sweet pepper)

Capsicum chinensis = พริกน้อย

Capsicum frutescens var. frutescens = พริกขี้หนู (ปัตตานี = ดีปลี) (ภาคใต้ = ดีปลีขี้นก, พริกขี้นก) (ภาคเหนือ = พริกแด้, พริกแต้, พริกแต้หนู, พริกนก) (ภาคอีสาน = หมักเพ็ด)

Capsicum frutescens var. baccatum = พริกน้ำเมี่ยง (เชียงใหม่ = พริกมะต่อม) (ภาษาอังกฤษ = Cherry capsicum)

Capsicum frutescens var. fasciculatum = พริกซ่อม (ภาคเหนือ = พริกก้นชี้, พริกก้นปิ้น) (ภาษาอังกฤษ = Cluster pepper)

------------------------------------------------------------

ถ้าพริกเป็นพืชต่างชาติ ดังนั้นก็น่าจะคิดต่อกันนะครับว่า คำว่า "พริก" มาจากภาษาอะไรหรือเปล่า ? หรือ เป็นคำไทยตั้งขึ้นมาใหม่ ฮืม

สังเกตว่า ทำไมภาคใต้จึงเรียกพริกว่า "ดีปลี" ฮืม

คำว่า "พริกขี้หนู" ก็น่าสนใจครับ ตอนแรกผมเข้าใจว่า "ขี้หนู" คงหมายถึง ผลมันเล็กๆ ขนาดเท่าขี้หนู แต่ว่าพอไปเห็นชื่อเรียกที่ภาคใต้เรียกว่า "ดีปลีขี้นก" และ "พริกขี้นก" ก็เลยสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภาคกลางรับ "พริกขี้นก" มาจากภาคใต้ ใน"สำเนียงใต้" ที่ว่า "(ดี) ปลีขี้นก" แล้วหูคนภาคกลางฟังเป็น "พริกขี้หนู"

ปลี เพี้ยนเป็น พริก
นก เพี้ยนเป็น หนู

อีกประการหนึ่ง น่าสงสัยเหมือนกันว่าทางเขมรเรียกพืชชนิดนี้ว่าอย่างไร เพราะ การควบกล้ำด้วย "ร" ปกติมักจะเป็นคำที่เรารับมาจากคำเขมร (พริก มาจากคำเขมร ฮืม)

ดีปลี (Piper retrofractum) - พริกไทย (Piper nigrum) - พริกขี้หนู (Capsicum frutescens)  น่าจะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องที่มาของชื่อครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 21:35

 ผมเข้าใจว่า "ดีปลี" กับ "พริกไทย" ซึ่งเป็น "เครื่องเทศให้รสเผ็ดร้อน" เป็นพื้นเมืองของแถบนี้อยู่แล้วครับ ดังนั้น "พริกขี้หนู" ซึ่งถูกนำเข้ามาที่หลัง ก็เลยถูกเรียกชื่อตาม "ของเดิมที่ให้รสเผ็ด" นั่นคือ ดีปลี กับ พริก (ไทย)

คำว่า "ดีปลี" นี้น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาแขกว่า "ปิปปาลิ" (Pippali) ส่วน "พริก" มาจาก "ปิป" หรือ "ปลี" ฮืม หรือมาจากคำอื่น ฮืม

ส่วน "พริกไทย" นั้น ทำไมต้อง มีคำว่า "ไทย" ถ้ามี "พริกไทย" ก็น่าจะมี "พริกเทศ" ฮืม

--------------------------------

พริกไทย :
แหล่งกำเนิดของพริกไทยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ได้กระจายสู่พม่าและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ โดยเฉพาะที่ประเทศอินโดนีเชีย เป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ต่อมาได้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศจีน และประเทศทางยุโรป พริกไทยจึงกระจายออกไปทั่วโลก

ดีปลี :
ดีปลีมีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะ Moluccas แต่นำมาปลูกในอินโดนีเซียและประเทศไทย


เรามีหลักฐานเกี่ยวกับ "การค้าโพ้นทะเล" อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ต้นพุทธกาล หรือ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑ เป็นต้นมา ดังนั้น ผมคิดว่าเครื่องเทศรสชาติเผ็ดร้อนพวกดีปลี พริกไทย ก็น่าจะเป็นที่รู้จักนำมาใช้ปรุงอาหารกันแล้วในบ้านเรา

ความเผ็ดร้อนน่าจะอยู่คู่อาหารไทยมานานแล้วครับ แต่มาในรูปของ "ดีปลี" หรือ "พริกไทย" พอมาได้ "พริกขี้หนู" ก็เลยได้รู้จักรสที่เผ็ดจัดจ้านขึ้นครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 21:51

 พอดีไปเจอบทความเกี่ยวกับ "ดีปลี" ซึ่งเล่าว่าเป็น "สมุนไพร" ตามคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียโบราณ ซึ่งเป็นนัยชี้ให้เห็นว่า ดินแดนบ้านเราเองได้รับเอาสมุนไพรชนิดนี้ มาใช้กันตั้งแต่โบราณกาลแล้ว อาจจะตั้งแต่ "สมัยสุวรรณภูมิ" (ก่อนพุทธกาล) ที่ปรากฏในนิทานชาดก (นิบาตชาดก)


ดีปลี : สมุนไพรสามทหารเสือ
สมุนไพรที่ใช้ๆ กันอยู่นั้น  โดยมากมักจะมีชื่อเรียกหลายชื่อ   ชื่อบางชื่อจะมีนัยบ่งบอกถึงลักษณะของสมุนไพรชนิดนั้นๆ  บางชื่อก็จะมีนัยถึงสรรพคุณของมัน

อย่างเช่นดีปลี  ในทางอายุรเวทเรียกว่าปีปปะลี (Pippali)ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่ช่วยปกป้องและเพิ่มเติม  อันมีนัยถึงคุณค่าในทางยาที่ช่วยปกป้องจากความเจ็บป่วย  และเติมสุขภาพที่ดีให้ร่างกาย  นอกจากนี้ดีปลียังมีชื่อเรียก อื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น กฤษณะ (Krshna)  ซึ่งแปลว่า ดำ บ่งบอกถึงดอกสีดำของดีปลีหรือจะแปลว่าชะล้างออก  ก็ได้  บอกถึงสรรพคุณในการชะล้างความเจ็บป่วยจากร่างกายเรา  ดีปลี ถือเป็นสมุนไพรตัวสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในทาง  อายุรเวทมาแต่โบร่ำโบราณ

         ในคัมภรีร์อายุรเวท ที่อธิบายเกี่ยวกับยาสมุนไพร  บรรยายเกี่ยวกับดีปลี ว่ามีรสเผ็ดร้อน   มีคุณสมบัติเบา (หมายถึง ย่อยง่าย) ชุ่มชื้น  มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร  ขับลม  แก้ไข้  อีกทั้งยังเป็นยาอายุวัฒนะ  และบำรุงร่างกาย  ที่ดีอีกด้วย

         ดีปลี ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบหายใจได้ดี จึงถูกจัดเป็นตัวยาสำคัญตัวหนึ่ง  ในตำรับยาหลายขนานที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องกระเพาะลำไส้  เช่น  อาหารไม่ย่อย  มีลมในกระเพาะมาก  ท้องอืดเฟ้อ    รวมทั้งเป็นตัวยาสำคัญในตำรับยาแก้โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น แก้หวัด  หอบหืด  หลอดลมอักเสบ  ไม่นับโรคเรื้อรังอย่างเช่น  ข้ออักเสบ  โรคเก๊าท์ ไข้รูมาตอยด์  เป็นต้น

         ในเมืองไทยนั้น  คนส่วนใหญ่จะรู้จักดีปลีว่า เป็นตัวยาตัวหนึ่งในตำรับยาที่เปรียบเสมือนสามทหารเสือ ที่เรียกว่า ตรีกฏุ ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรสามชนิด คือ พริกไทย  ดีปลี  และขิงแห้ง  อาจเป็นไปได้ที่ไทยเราได้   ตำรับยาตรีกฏุนี้มาจากอายุรเวทของอินเดียเช่นกัน  เพราะยาตรีกุฏนั้นถือเป็นยาตำรับคลาสสิคของอายุรเวทเลยก็ว่า  ได้  คำว่าตรีกุฏในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า  สิ่งที่มีรสเผ็ดร้อนสามชนิด  ซึ่งก็คือ ตัวยาสามตัวในตำรับที่ว่านั่น   เอง

         ยาตำรับนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงไฟธาตุ หรือช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น  ทั้งยังช่วยย่อยสลาย สารอาหารตกค้าง ที่ร่างกายย่อยสลาย และดูดซึมไม่ได้ แล้วไปสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ซึ่งจะกลายเป็นบ่อเกิดของความเจ็บป่วยได้  หากสารอาหารตกค้างที่ว่านี้ สะสมในร่างกายมากๆ ยาตรีกฏุมีสรรพคุณช่วยย่อยสารอาหารตกค้างที่ว่านี้ได้  แถมยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารรวมทั้งยาที่เรากินเข้าไปได้ดีขึ้น

         นอกจากดอกดีปลีที่เรารู้จักดีแล้ว  ในอินเดียวยังแนะนำให้ใช้รากดีปลีด้วยเช่นกัน  และมีข้อแนะนำว่าควรใช้ดอกดีปลีแห้งที่เก็บไว้ประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี  หากนานกว่านั้นสรรพคุณจะเสื่อมลง

         เราสามารถใช้ประโยชน์จากดีปลี ในการปรุงยาเข้ายาอีกหลายขนานที่จะช่วยดูแล  บำบัดปัดเป่าโรคและอาการเจ็บป่วยให้พอทุเลาลงได้ดังต่อไปนี้

ใช้ดอกดีปลีล้างให้สะอาด บดหรือตำพอหยาบๆ ครึ่งแก้ว ว ต้มกับน้ำสี่แก้ว ต้มให้เหลือน้ำหนึ่งแก้ว จากนั้นกรองเอาแต่น้ำยา  กินวันละ 2 ครั้ง ขณะท้องว่าง ช่วยแก้ไข้เรื้อรังหรือไข้ที่เป็นๆ หายๆ และยังช่วยลดอาการม้ามโตด้วย

ใช้ดอกดีปลี 20 กรัม ต้มรวมกับนม 200 ซีซี และน้ำ 800 ซีซี ต้มให้เหลือ 200 ซีซี  จากนั้นกรองเอากากทิ้ง  เมื่อยาเย็นแล้วให้กินร่วมกับน้ำผึ้ง จะช่วยบรรเทาโรคเกี่ยวกับหัวใจ แก้ไอ และไข้ขึ้นๆ ลงๆ ได้

ผู้ที่มีปัญหาเรื่องริดสีดวงทวาร โดยมีอาการคันร่วมด้วย  ขอแนะนำให้กินเมล็ดงาดำ(ดิบ)  20 กรัมผสมรวมกับดอกดีปลี 10 ดอก  บดให้ละเอียดกินร่วมกับนมหนึ่งแก้ว  วันละ 1 ครั้ง กินนานประมาณ 15 วัน

คนที่มีปัญหาเรื่องท้องอืด ไอ กระเพาะลำไส้อักเสบ  หากกินผงดีปลีผสมน้ำผึ้งบ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
ผงดีปลีและผงสมอไทยอย่างละ 5 กรัม ผสมให้เข้ากันดี กินกับน้ำอุ่น 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดอาการ  เสียงแห้งได้
ผงดีปลี 1 ส่วน ลูกเกด(สีดำ) บดให้ละเอียด 2 ส่วน  น้ำตาลทรายแดง 3 ส่วน เคี่ยวรวมกันและคนให้เข้ากันดี เคี่ยวจนยาเหนียวข้นดีแล้วเก็บใส่ภาชนะสะอาด  กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ เป็นยาบำรุงโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ

ในยุคที่คนไทยต้องร่วมใจกันช่วยชาติ  ทำอะไรต้องให้ได้ประโยชน์สูง ประหยัดสุดเช่นนี้  เรายังมีสมุนไพรดีๆ อีกหลายอย่างที่จะมาช่วยดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรา  ขอเพียงอย่าเมินเฉยกับสิ่งดีๆ ใกล้ตัวเท่านั้น  บ้านเมืองเราไปรอดแน่นอน

ชื่อวิทยาศาสตร์:: Piper retrofractum  Vahl


ที่มา : มูลนิธิสุขภาพไทย (บทความที่ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์)
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ธ.ค. 05, 22:17

 แถมอีกนิดครับ

ภาษาอังกฤษจะเรียก "พริก" ว่า "ชิลลี่" (Chili or Chilli)  จะเห็นว่า บางทีเขียน มี L ตัวเดียว บางทีก็มี ๒ ตัว

ในพจนานุกรมของ Oxford อธิบายว่า

CHILI เป็นการสะกดแบบ American-English
CHILLI เป็นการสะกดแบบ British-English

 http://www.askoxford.com/concise_oed/chilli?view=uk

-------------------------------------------

ส่วนที่มาของคำว่า CHILI นั้น มาจากภาษาสเปนว่า "CHILE" ซึ่ง
มาจาก "chIlli" ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทวีปอเมริกาของเผ่า Nahuatl ครับ

 http://www.m-w.com/cgi-bin/dictionary?book=Dictionary&va=chilli

---------------------------------------------

บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 ธ.ค. 05, 10:58

 ขอบคุณพี่ Hotacunus และพี่ศศิศ มากครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง