เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8133 น้ำแข็งใส VS น้ำแข็งไส
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


 เมื่อ 03 ธ.ค. 05, 07:51

 กระทู้นี้ สืบเนื่องมาจากกระทู้ที่ผมไปตอบเกี่ยวกับ "ลูกชิด" มาจากไหน ก็เลยคิดไปถึงผลไม้ของไม้ปาล์มอีก ๓ ชนิดคือ ลูกจาก ลูกลาน และลูกตาล ซึ่งนิยมนำมากินร่วมกับ "น้ำแข็งไส"

ตอนแรกด้วยความเคยชิน ผมพิมพ์ว่า "น้ำแข็งใส" แต่พอมาอ่า่นก็รู้สึกว่ามันแปลกๆ เพราะจริงๆ ต้องเป็น "น้ำแข็งไส" เพราะเป็นขนมที่ประกอบด้วย น้ำแข็งที่ถูกไส ไม่ใช่ "ใส"

ก็เลยคิดว่าคำนี้น่าจะมีคนสะกดผิดอยู่มากเหมือนกัน เพื่อเป็นการทดสอบ ผมจึงพิมพ์ค้นคำว่า "น้ำแข็งไส" กับ "น้ำแข็งใส" ใน Google ปรากฏว่า ผลการค้นเป็นดังนี้ครับ

น้ำแข็งไส 1470 รายการ
น้ำแข็งใส 1170 รายการ  

แสดงว่ามีคนใช้ผิดการมากครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว (อย่างน้อยก็ในอินเตอร์เน็ต) แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง กรณีการพิมพ์ว่า "น้ำแข็งใส" ส่วนใหญ่จะใช้เป็น "นามแฝง" ตามบอร์ดต่างๆ ครับ ก็เลยไม่ทราบว่า จริงๆ แล้วคนที่ใช้ชื่อนี้ ต้องการหมายถึง "ขนม" หรือ "ก้อนน้ำแข็งที่ใสสะอาด" กันแน่ แต่ตามความรู้สึกแล้ว เราไม่คอยพูดถึงความใสสะอาดของน้ำแข็งกันนะครับ ผมว่า ผู้ใช้นามแฝงน่าจะตั้งใจหมายถึง "ขนมหวาน" มากกว่า ...ฮืม

ก็เลยไปเจอบทความที่น่าสนใจ จึงนำมาให้อ่านกันครับ

-------------------------------------------

ใครว่าไม้ม้วนมี 20 คำ

รัชตพล ชัยเกียรติธรรม

    เห็นชื่อหนังสือ หรือที่เรียกกันว่า พ็อกเกตบุ๊ก "บนแผ่นดินร้องไห้" ของ "ใฮ ขันจันทา" แล้วนึกแปลกใจว่า ตกลงสะกดชื่อ ยายไฮ (ไม้มลาย) หรือ ยายใฮ (ไม้ม้วน) กันแน่ เพราะชื่อที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ส่วนมากใช้ ยายไฮ (ไม้มลาย) เช่น เสนอ 12 หญิงไทย "ยายไฮ" รับโนเบล (ข่าวสด. 1 กรกฎาคม 2548 : 1) "บ้านใร่กาแฟ" ชื่อร้านกาแฟเพิ่งเปิดใหม่แถวถนนสุขุมวิท ย่านเอกมัย กรุงเทพฯ ก็ใช้ "ใร่" ไม้ม้วนแทนไม้มลาย

   หลักการใช้ไม้ม้วน (ใ -) หลายคนทราบดีกว่ามีอยู่ 20 คำ จะมีคำอะไรบ้างนั้น ต้องฟื้นความจำบทอาขยายสมัยเด็ก ๆ ที่ท่องเป็นกาพย์ยานี 11 ว่า "ผู้ใหญ่หาผ้าใหม" หรือบางคนอาจท่องเป็นโคลงสี่สุภาพ "หลงใหลมิใช่ใบ้ ใฝ่ใจ...." ฯลฯ ส่วนคำอื่น (ที่นอกเหนือจาก 20 คำ) ใช้ไม้มลาย ( ไ - )  

   ไม้ม้วนทั้ง 20 คำนี้ เป็นคำไทยแท้มีอยู่ 8 คำ ที่มีเสียงซ้ำกับไม้มลาย คือ
ใจ (จิต, ศูนย์กลาง) - ไจ (ส่วนหนึ่งของเข็ดด้ายหรือไหม)
ใด (อะไร, สิ่งไร) - ได (มือ)
ใต้ (ข้างล่าง, ต่ำ, ตรงข้ามกับเหนือ) - ไต้ (วัตถุสำหรับใช้จุดไฟ)
ใน (ข้างใน, ภายใน, ตรงข้ามกับนอก) - ไน(เครื่องปั่นฝ้ายหรือไหม)
ใย (สิ่งที่เป็นเส้นเล็กยาว ๆ ขาว ๆ, นวลบาง ผ่องใส) - ไย (ไฉน, ทำไม, ส่งไป)
ใส สว่าง, สะอาด, กระจ่าง - ไส (เสือกไป, ส่งไป)
ให้ (สละ, มอบ , อนุญาต ) - ไห้ (ร้อง)
ใหล (หลง) - ไหล (เลื่อนไป, เคลื่อนไป)

คำอื่นนอกจากนี้ เช่น ใคร่ กับ ตะไคร่ ใบ กับ สไบ จะเรียกว่าซ้ำกันไม่ได้ เพราะเป็นคำพยางค์เดียวกับสองพยางค์ ย่อมแสดงความแตกต่างกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว (กำชัย ทองหล่อ, 2540 : 66)

   ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่สะกดไม้ม้วนและไม้มลายผิดบ้างถูกบ้าง เช่น ลำใย - "ลำไย", น้ำแข็งใส - "น้ำแข็งไส", และ "หลงใหล" - หลงไหล (คำที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ " " คือคำที่สะกดถูกต้อง) ลองดูตัวอย่างการใช้ ใ - ผิด จากโฆษณานาฬิกายี่ห้อหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หน้า 19 เขียนไว้ว่า "สื่อภาพชวนหลงไหลหรือสื่อภัยเข้าหาตัว"

   ฉะนั้น "ยายไฮ" และ "บ้านไร่กาแฟ" น่าจะใช้ไม้มลายมากกว่า แม้กระนั้น ผมก็มีข้อแย้งขึ้นมาในใจ ชื่อ "ยายใฮ" และ "บ้านใร่กาแฟ" เขียนเป็นไม้ม้วนก็ได้ เพราะเป็นคำนามประเภทวิสามานยนาม เป็นชื่อเฉพาะที่บัญญัติขึ้นมา สำหรับใช้เรียกร้องชี้เฉพาะเจาะจงลงไป จะสะกดอย่างไรหรือเขียนอย่างไรก็ได้ เหมือนกับคำว่า เท่ ที่นักร้องชื่อดังสะกดผิดว่า เท่ห์ ทำเอาหลายคนเขียนสะกดผิดเมื่อนำคำเหล่านั้นมาใช้เป็นคำนามประเภทสามานยนาม เช่น สวย เท่ห์ ทันสมัย ใส่.......

   แค่ไม้ม้วน 20 คำแบบสามานยนามยังใช้กันผิด ๆ ถูก ๆ เกิดมีไม้ม้วนแบบวิสามานยนามขึ้นมาอีก เชื่อได้เลยว่าไม้ม้วนไม่ได้มีแค่ 20 คำอีกต่อไป

_______________________________________________________________________________

กำชัย ทองหล่อ. 2540. หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง