เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 22744 กำศรวลศรีปราชญ์ - นิราศนรินทร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 พ.ย. 05, 16:34

 เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากกระทู้นี้
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=41007
คุณNuchan ถามว่า

จาก ค.ห. 8
ขอเรียนถามว่าทำไมนิราศนรินทร์ และนิราศลำน้ำน้อยของพระยาตรัง
ถึงได้รับอิทธิพลมาจากกำสรวลศรีปราชญ์ล่ะคะ (historically speaking)

ธรณีนี่นี้.................... เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์.........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร........เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมาล้าง........ดาบนี้ คืนสนอง

ดิฉันก็ตอบไปในกระทู้นั้น  
ทีนี้ ตอบไปตอบมามันยาวกว่าที่คิดมาก   แล้วก็ยังไม่จบ
เลยมาตั้งกระทู้ใหม่แล้วไปลบความเห็นที่ตอบไปในกระทู้เก่า
****************************
ก่อนอื่นขอเล่าความให้คุณ Nuchan ฟังก่อนว่าโคลงบทที่คุณยกมา ไม่ใช่โคลงในกำศรวลศรีปราชญ์
แต่เป็นโคลงจาก "ตำนานศรีปราชญ์" รวบรวมโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) สมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง เป็นคนละเรื่องกันก็ว่าได้ค่ะ แต่คนอ่านมักจะเข้าใจผิด นำมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน

"ทำไมนิราศนรินทร์ และนิราศลำน้ำน้อยของพระยาตรัง
ถึงได้รับอิทธิพลมาจากกำสรวลศรีปราชญ์ล่ะคะ "
อ่านแล้วต้องมานั่งคิดอีกทีว่า คุณ Nuchan ตั้งใจจะหมายความว่ายังไง
ถ้าสงสัยว่านายนรินทร์ธิเบศร์ เจ้าขอนิราศนรินทร์ และพระยาตรัง ท่านเป็นญาติโกโหติกา
กับศรีปราชญ์ หรือเป็นศิษย์สำนักศรีปราชญ์ มาก่อนหรือไง
ถึงได้รับอิทธิพลมา ก็ไม่ใช่ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 16:35

 แต่ถ้าหมายความว่ามันเป็นไงมาไง เรื่อง 2 เรื่องนี้ถึงได้อิทธิพลจากกำศรวลศรีปราชญ์ทั้งที่อยู่กันคนละยุค
มีความเป็นมายังไงในเชิงประวัติศาสตร์

คืองี้ค่ะ ขนบการแต่งวรรณคดีประเภท"นิราศ" คือบันทึกการเดินทางฉบับฝีมือกวี เป็นแบบการแต่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วงก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์
อาจจะหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่นานนัก ก็ว่าได้

เนื้อหาก็คือ พูดถึงเส้นทางการเดินทาง ผ่านไปถึงตำบลไหน วัดไหน ก็บันทึกเอาไว้
แล้วนิยมเล่นคำด้วยการโยงชื่อสถานที่เข้ากับอารมณ์ส่วนตัว แล้วครวญคร่ำถึงนางซึ่งต้องจำจากมา
แต่จริงหรือไม่จริงไม่รู้นะคะ นางตัวจริงอาจจะลูกแปดแล้วก็ได้ ไม่ได้สวยวิเศษอย่างนางในนิราศ แต่กวีท่านนิยมแต่งกันแบบนั้น
เพราะเดินทางสมัยนั้นกินเวลากันเป็นเดือนๆ นั่งเรือผ่านสองข้างทางไปวันๆก็แต่งอะไรบ้างแก้เซ็ง

"กำศรวลศรีปราชญ์ "ซึ่งในตอนแรกเรียกว่า "กำศรวล" เฉยๆ ก็คือนิราศเรื่องหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 16:37

 ขนบการแต่งนิราศสืบเนื่องกันมาเรื่อยจนถึงอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นิพนธ์นิราศ ไว้ในรูปของกาพย์ อย่างนิราศธารทองแดง นิราศธารโศก

พอกรุงแตกครั้งที่ 2 วรรณคดีไทยจำนวนหนึ่งก็คงสูญหายไปกับไฟที่เผากรุงศรีอยุธยาอยู่ 7 วัน 7 คืน แต่เหลืออีกจำนวนหนึ่งรอดมาได้
"กำศรวล" เป็นหนึ่งในเรื่องที่เหลือรอดกรุงแตกมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เก็บรักษาไว้ที่ใดที่หนึ่งในราชสำนัก

ปรากฏว่าในตอนต้นรัตนโกสินทร์ ไม่เกินรัชกาลที่ 2 กวี 2 คน คนหนึ่งเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรของวังหน้า(ยังเถียงกันอยู่ว่าวังหน้าแผ่นดิน 1 หรือ 2) ชื่อนายนรินทร์เบศร์ ชื่อตัวชื่ออิน
และอีกคนเป็นเจ้าเมืองตรัง แต่มีฝีมือทางแต่งกวีนิพนธ์
ได้อ่านกำศรวลเข้า

"กำศรวล" เป็นนิราศแต่งโดยฝีมือกวีชั้นเอก มีความสง่างาม ทั้งถ้อยคำและอารมณ์หวานเศร้าที่แฝงอยู่ มีนัยยะเปรียบเทียบที่อลังการมากเอาการ
ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้กวีทั้งสองแต่งนิราศของตนขึ้นมาบ้าง
โดยรับอิทธิพลวิธีแต่งมาจากกำศรวลนี่แหละ รวมเนื้อหา
เช่นในนิราศนรินทร์ การเปรียบเทียบบางตอนก็มีเค้ากำศรวลเห็นชัดๆ เช่นตอนฝากนางไว้กับเทวดาชั้นผู้ใหญ่ หรือตอนพรรณนาความงามของเมืองหลวงในตอนต้นเรื่อง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 16:38

 ทีนี้...
วรรณคดีเรื่อง"กำศรวล" เมื่อก่อนนี้ก็เรียกกันแค่นี้ นายนรินทร์ธิเบศร์เป็นคนแรกที่เรียกเรื่องนี้ว่า "กำศรวลศรีปราชญ์"
โดยแต่งเอาไว้ในนิราศของตน ว่า

กำศรวลศรีปราชญ์พร้อง.............เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ.....................สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร..........................สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดการเกศแก้ว.......................กึ่งร้อนทรวงเรียม

หมายเหตุ ทวาทศมาส เป็นชื่อวรรณคดีอีกเรื่องสมัยอยุธยาค่ะ พรรณนาถึงเดือนต่างๆ 12 เดือน แต่งโดยกวีสามคน

ก็ไม่มีใครรู้ว่านายนรินทร์ธิเบศร์ไปได้ความรู้มาจากไหนว่า คนแต่งกำศรวลชื่อศรีปราชญ์ เพราะในกำศรวลไม่ได้บอก ระบุแต่สั้นๆว่า "ศรี"
แต่จะจากไหนก็เถอะ เป็นอันว่า กำศรวล ก็เปลี่ยนชื่อเป็น กำศรวลศรีปราชญ์ นับแต่นั้น
แล้วก็เชื่อกันมาว่าเป็นผลงานของกวีชื่อศรีปราชญ์ แต่งถึงนางผู้เป็นที่รักชื่อศรีจุฬาลักษณ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 16:41

ต่อมาก็มีการค้นหา สืบเสาะ รวบรวม เรียบเรียงประวัติของศรีปราชญ์กวีเอกสมัยอยุธยาขึ้นมา โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา
ด้วยวิธีไหนท่านถึงทราบ ดิฉันยังอ่านไม่พบ แต่สันนิษฐานว่าคงจะรวบรวมจากมุขปาฐะ คือการบอกเล่าด้วยปากสืบต่อๆกันมา
คนโบราณสมัยหนังสือยังไม่แพร่หลาย เขาก็จดจำสืบต่อกันมาเป็นหลัก


ตำนานศรีปราชญ์อย่างที่เราเคยอ่านกันจึงมีให้เห็น ว่าเป็นเด็กน้อยลูกชายพระมหาราชครู(หรือพระโหราธิบดี)สมัยสมเด็จพระนารายณ์
ที่ต่อโคลงซึ่งพระนารายณ์แต่งค้างไว้ ได้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
ต่อมาก็ทำผิด ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชแล้วถูกเจ้าเมืองประหารฯลฯ

แต่จากการเปรียบเทียบทางภาษา และวัฒนธรรมของนักอักษรศาสตร์ หลายท่าน ขอยกมาท่านหนึ่งคือม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล
พบว่าเป็นคนละเรื่องกัน
กำศรวลแต่งโดยใครไม่ทราบ แต่ไม่ใช่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต้องเก่ากว่านั้น
ส่วนโคลงในตำนานศรีปราชญ์ ก็เป็นสำนวนภาษาใหม่กว่ามาก ดูๆแล้วก็สมัยรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ 5นี่เอง
อาจจะเป็นฝีมือพระยาปริยัติธรรมธาดาเองก็ได้
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 17:03

 แอบมาอ่านอยู่หลายครั้งแล้วครับ เห็นประเด็นนี้น่าสนใจเลยขอมีส่วนร่วมด้วย

ผมขอคัดข้อความที่ผมเคยเรียบเรียง "อ่านโคลงหวานผ่านโคลงนิราศ" บางส่วนมาแปะไว้แล้วกันครับ

โคลงที่ถือว่าเป็นต้นแบบของวรรณคดีนิราศ คือ โคลงทวาทศมาส ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่ก็มีนักวรรณคดีบางท่านบอกว่าเก่ากว่านั้น แต่อย่าไปสนใจดีกว่าขอรับ มาดูที่เนื้อหาที่ประกอบด้วยศฤงคารสเป็นเลิศเป็นจินตนาการและประดิษฐการของกวี อันเป็นแบบอย่างแห่งการเขียนนิราศ ที่กวีรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบอย่าง กันดีกว่า

โคลงทวาทศมาสแม้จะเป็นโคลงดั้น มีศัพท์ยากสำหรับการอ่านสักหน่อย แต่จอมยุทธฯ ขออ่านเพื่อศึกษาแล้วกันขอรับ เพราะบทที่กล่าวคร่ำครวญนั้น มีหลายบทที่กวียุคต่อมานิยมแต่งเลียนแบบ ขอยกมาเป็นตัวอย่างแล้วกัน

๏ ปางบุตรนคเรศไท้...................ทศรถ
จากสีดาเดียวลี-.........................ลาศแล้ว
ยังคืนสู่เสาวคต..........................ยุพราช
ฤๅอนุชน้องแคล้ว.......................คลาศไกล
๏ ศรีอนิรุทธราศร้าง....................แรมสมร
ศรีอุษาเจียรไคล........................คลาศแคล้ว
เทวานราจร...............................จำจาก
ยังพร่ำน้าวน้องแก้ว.....................คอบคืน
๏ สมุทรโฆเรศร้าง......................แรมพิน-
ทุมดีดาลฝืน..............................ใฝ่เต้า
ปางเจ็บชำงือถวิล........................ลิวโลด
ยังพร่ำน้าวน้องเหน้า.....................ร่วมเรียง
๏ พระศรีเสาวเรขสร้อย.................สุธน
จากมโนหราเคียง.........................คิดน้อง
ยังเสด็จไพรสนฑ์........................สังวาส
สังเวชนงนุชคล้อง........................เคลือกองค์
๏ ปราจิตรเจียรเหน้าหน่อ...............อรพินท์
พระพิราไลยปลง.........................ชีพแล้ว
คืนสมสุดาจิน..............................รสร่วม กันนา
กรรมแบ่งกรรมแก้วแก้ว.................ช่วยกรรม
๏ ปางศิลปปรเมศท้าว....................สุธนู
จากสมเด็จนุชจันทร......................แจ่มเหน้า
เจียรรัปประภาตรู..........................เตราสวาสดิ์
ยังพร่ำน้าวน้องเข้า........................คอบสมร

โคลง ๖ บทนี้กล่าวถึงคู่รัก ๖ คู่ คือ พระรามกับนางสีดา  พระอนิรุทธ์กับนางอุษา  พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดีพระสุธนกับนางมโนราห์  พระปราจิตกับนางอรพินท์  พระสุธนูกับนางจิรประภา ทั้ง ๖ คู่นี้ต้องพลัดพรากกัน มีความทุกข์ทนหม่นไหม้ แต่ก็ยังกลับคืนมาพบกัน

การใช้คู่รักที่มีในประวัติและนิทานเก่าๆ มาอ้างเปรียบเทียบความรักและความพลัดพรากของกวี ชุดนี้ถือว่าเป็นต้นแบบอย่างไร เดี๋ยวมาอ่านศึกษากันต่อขอรับ
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 17:04

 พูดถึงโคลงทวาทศมาส ถ้าไม่พูดถึงโคลงหริภุญไชย ก็ยังไงอยู่ เพราะว่ากันว่าโคลง
หริภุญไชยนี้ก็เป็นโคลงแบบฉบับของโคลงนิราศ ซึ่งเขียนกันมากในกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นยังไม่เรียกชื่อนิราศ แม้โคลงศรีปราชญ์ก็เรียก กำสรวล แต่ปัจจุบันมักเรียกโคลงหริภุญไชยว่า โคลงนิราศหริภุญไชย

ความจริง จอมยุทธฯ เองไม่มีต้นฉบับ โคลงนิราศหริภุญไชย แต่ก็จะคัดข้อมูลจากหนังสือที่มีอยู่มานำเสนอ เพื่อไม่ให้ขาดตอนกับการศึกษาต้นแบบ ๒ โคลงนิราศนี้

โคลงหริภุญไชยนี้ กวีทางพายัพเป็นผู้แต่ง และแต่งเป็นภาษาเหนือต่อมาจึงมีผู้แปลงโคลงนี้ออกมาเป็นภาษาภาคกลางแต่ถึงเช่นนั้นก็คงภาษาภาคภายัพไว้มากมาย จนไม่อาจตีความให้กระจ่างได้ สำหรับโคลงชุดนี้ ผู้แต่งกล่าวอาลัยถึงหญิงที่รัก เมื่อตนจากที่พำนักในนครเชียงใหม่ ไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน

โคลงหริภุญไชย ใช้โคลงสี่สุภาพในการแต่ง ว่ากันว่าเป็นโคลงแบบฉบับที่นักโคลงพึงอ่านศึกษาในลีลาเชิงรำพันพิศวาสแม้จะมีปัญหาเรื่องถ้อยคำบ้าง แต่ก็ยังพอรู้สึกซึ้งใจ
ในเชิงพรรณา และการแสดงอารมณ์ของกวีผู้แต่ง

ทัศนะกวีและอารมณ์กวี ซึ่งปรากฎในโคลงหริภุญไชย มีหลายบทคล้ายคลึงกับโคลงทวาทศมาส โคลงกำสรวล นิราศนรินทร์ และโคลงนิราศอื่นๆ ขอยกตัวอย่างเท่าที่จะหาได้แล้วกัน

๏ ดังฤๅร้างแก้วก่อน.....................กรรมสัง
รอยแม่งสารีรัง............................ราชรื้อ
บพิตรพระเมืองมัง.......................รายราช รักเอย
เชิญต่ำนายนั้นหื้อ..........................ค่อยแก้กรรมเรียม

๏ จากเจียนเนื้อเกลี้ยงกลิ่น...............องค์ออน
องค์อ่อนสมสมรนอน....................พรากขวั้น
พรากขวัญเดือดแดดอน................อกม่อน มรเอย
อกม่อนมรบ้านั้น...........................บิ่นบ้าในทรวง

๏ ปานนี้นักนิ่มเนื้อ........................สมสมร
จักโอบเอวองค์อร........................อ่อนเหล้น
หนาวลมละวาดอรชร......................ใจพี่ มาเอย
เปลี่ยนเปล่านุชน้องเร้น..................ร่ำร้องเถิงอวร

๏ ระลึกหน้าน้องดุจ.......................หันเห็น นาแม่
ยินแต่ตาจักฝัน.............................ใช่หน้า
รอยดลแต่ใจขวัญ.........................ศรีถิ่น มาฤๅ
ศรแม่มาน้อมหน้า...........................กว่าคล้องกระหายหน

๏ รามาธิราชร้าง...........................สีดา เดียวแม่
พระก็เอานงค์พงา..........................แม่ผ้าย
ยังลุส่ำบุญตรา.............................ตรูเจตน์ เดียวเอย
เสิกส่วนยังได้ส้าย..........................เพื่อผู้หนุมาน

๏ ปภาพิโยคสร้อย.........................สุธนู ก็ดี
สมุทรโฆษร้างพินธู.........................แม่งม้าง
ขุนบาจากเจียนอู............................สาราช
อกพี่เวนร้องร้าง............................กว่าเบื้องบุรเพ

จอมยุทธฯ อาจจะไม่ได้เรียงโคลงที่ยกมาตามลำดับ เพราะไม่มีต้นฉบับในมือ โคลงดังกล่าวเป็นโคลงที่ทัศนะกวี และอารมณ์กวี เป็นต้นแบบสำหรับโคลงนิราศสมัยต่อมา เป็นแบบใดเดี๋ยวอ่านต่อไปเรื่อยๆครับ ก่อนจะกล่าวถึงโคลงนิราศเรื่องต่อไป ขอคัดโคลงหริภุญไชย พร้อมคำแปลมาให้อ่านอีก ๒ บท ขอรับ

๏ อัสดงคดาค่ำแล้ว.......................รอนรอน
สรส่องเกวียนซอนซอน..................คลาดคล้อย
ปักษีส่งเสียงวอน..........................วอนเจต รักเฮย
โอ้อิ่นดูชู้สร้อย..............................มิได้สุดาดล
๏ ราตรีเทียนทีปแจ้ง......................เจาะงาม
มัวม่วนนนตรีตาม..........................ติ่งทร้อ
อุดสากั่นโลงนาม...........................ชักชอบ ชื่นแฮ
บุญพี่บ่อเปืองป้อ..........................เปล่าซ้ำเซาทรวง

ดวงตะวันกำลังจะตกลงไปรอนๆ แสงแดดที่ส่องลงมาต้องเกวียนนั้นก็ลับไป ได้ยินนกส่งเสียงร้อง พาให้ใจนึกไปถึงความรัก นึดใคร่เห็นคนที่รัก ก็มิได้นางมาให้พบเห็น

ในเวลากลางคืนเช่นนี้ มีดวงประทีปสว่างไสว ยินเสียงดนตรีบรรเลงรับกัน ได้ฟังเสียงขับเป็นที่ชอบชื่นใจ แต่ว่าบุญของพี่ไม่มี จึงต้องจำจากน้องมาเปล่าเปลี่ยวอกในแดนนี้

คำแปล โคลง ๒ บทนี้คัดจากหนังสือ จินตวรรณคดีไทย ของ อ.เปลื้อง ณ นคร

เดี๋ยวมาว่าถึง กำสรวลศรีปราชญ์ กันต่อ
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 17:05

 แล้วก็มาถึงโคลงที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว คือโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ หรือถ้าจะเรียกว่า โคลงนิราศนครศรีธรรมราช ก็ไม่น่าจะผิด (โคลงกำศรวลศรีปราชญ์ หนังสือบางเล่มเขียนว่า กำสรวลศรีปราญ์ แต่จอมยุทธฯ ขอใช้ตามต้นฉบับ หนังสือประวัติและโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ปี พ.ศ.๒๕๑๓)

กำศรวลศรีปราชญ์ เป็นนิราศโคลงดั้นบาทกุญชร แม้จะไม่แน่ชัดว่าแต่งในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่งกันแน่ แต่ตรงนี้ขอผ่านไปอีกทีแล้วกัน มาอ่านและศึกษาลีลาของโคลงชุดนี้กันดีกว่า

ว่ากันว่า (อีกแล้ว) การใช้อุปมา , อุปไมยโวหาร ตลอดจนเนื้อความรำพันบทปฎิโลมหลายบทของโคลงชุดนี้ แทบจะถอดออกมาจากเบ้าเดียวกับทวาทศมาส และมีส่วนคล้ายกับโคลงหริภุญชัย ในบางบท เป็นอย่างไรไปดูกัน

ก่อนอื่นมาดูการยกเรื่องราวของ ชาย-หญิง จากวรรณคดีทีต้องพลัดพรากจากกันมารำพันคร่ำครวญเปรียบเทียบไว้หลายคู่ ดุจเดียวกับทวาทศมาส และมีส่วนคล้ายโคลงหริภุญไชยดังกล่าวมาแล้ว ลองอ่านดูครับ

๏ รามาธิราชใช้.................................พานร
โถกนสมุทรวายาม............................ย่านฟ้า
จองถนนเปล่งศิลปศร.......................ผลาญราพ (ณ์)
ใครอาจมาขวางฆ่า............................ก่ายกอง
๏ เพรงพรัดนรนารถสร้อย...............ษีดา
ยงงขวบคืนสมสอง...........................เศกไท้
สุทธนูประภาฟอง.............................ฟัดจาก จยรแฮ
ยงงคอบคืนหว้ายได้..........................สู่สมสองสม
๏ ผยองม้ามณีกากเกื้อ......................ฤทธี ก็ดี
สองสู่สองเสวอยรมย........................แท่นไท้
เพรงพินธุบดีพรัด............................พระโฆษ
ขอนขาดสองหว้ายไส้.........................จากจยร
๏ พร่ำพบมาโนชเนื้อ.........................นางเมือง
สองสู่สมมณฑยร...............................แท่นแก้ว
เท่าบาเปล่าเปลองอก........................ในอ่อน อรแม่
สองพรากพรัดแคล้วชู้.......................ชำงือ
๏ เท่าบาแส้วไส้หย้อน.......................ในนาง ไซ้แม่
ครางอยู่ฮือฮือตา...............................เลือดไล้
เท่าบาจากอกคราง............................ครวญแม่
รยมท่าวหววใจให้..............................แม่ดิ้นโดยดู

โคลงชุดนี้คัดมาจากต้นฉบับ โคลงกำศรวลศรีปราชญ์ เล่มที่ได้กล่าวแล้ว อาจจะอ่านยากซักหน่อย ดังบาทสุดท้ายของบทที่ห้าที่ยกมา ถ้าทำเป็นภาษาปัจจุบัน จะได้ว่า
" เรียมท่าวหัวใจให้...............แม่ดิ้นโดยดู "

หรือจะให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ลองดูกันอีกบทเพื่อเปรียบเทียบศึกษาลีลาหลายๆแบบ

๏ เพรงเรารอยพรากเนื้อ..................นกไกล คู่ฤๅ
ริบราชเอาเขาขัง...............................คั่งไว้
มาทันปลิดสายใจ..............................เจียรจาก เรียมนา
มานิรารสให้.....................................ห่างไกล   (ทวาทศมาส)

๏ ดังฤๅร้างแก้วก่อน.........................กรรมสัง
รอยแม่งสารีรัง................................ราชรื้อ
บพิตรพระเมืองมัง............................รายราช รักเอย
เชิญต่ำนายนั้นหื้อ.............................ค่อยแก้กรรมเรียม  (โคลงหริภุญไชย)

๏ ฤๅเรียมให้ชู้พราก..........................กันเพรง ก่อนฤๅ
กรรมแบ่งเอาอกมา...........................ดั่งนี้
เวรานุเวรเอง....................................พระบอก บารา
ผิดชอบใช้หนี้หน้า.............................สู่สมสองสม (กำศรวลศรีปราชญ์)

อ่านโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ ถ้าไม่พูดถึงโคลงแนวหวาน ต้นแบบบทฝากนางของโคลงนิราศสมัยต่อมา ก็เหมือนขาดอะไรไปอย่าง บทฝากนาง ๒ บทที่ว่า คือ (ขอใช้ต้นฉบับที่แปลงเป็นภาษาปัจจุบัน เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น)

๏ โฉมแม่จักฝากฟ้า.........................เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทรท่านเทอดเอา.........................สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน............................ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤๅขัดเจ้าหล้า.............................สู่สมสองสม
๏ โฉมแม่ฝากน่านน้ำ......................อรรณพ แลฤๅ
เยียวนาคเชยชมอก........................พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ.............................จอมสวาสดิ์ kuเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้........................เท่าเจ้าสงวนเอง
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 17:10

 ถ้าจะยกมาทั้งหมดกลัวจะยาวไปครับ ถ้าท่านใดสนใจอ่านได้ที่นี่ครับ

 http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jomyutmerai&date=29-11-2005&group=5&blog=1  
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 17:51

 โอ้โห..อาจารย์ ถามนิดเดียว ได้ออกมายาวเหยียดเลย ขอบพระคุณทุกท่านค่ะ

1. เป็นความเข้าใจผิดของดิฉันเอง โคลงบทที่ยกมา คิดว่าเป็นกำสรวลศรีปราชญ์ ที่เรียนตอน ม. ต้น
จำได้ว่า สิ่งที่เรียนนั้นเกิดสมัยเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง และที่ดิฉันวงเล็บไว้ว่า (historically speaking)
เพราะงงว่าโคลงที่เกิดขึ้นใหม่ ทำไมถึงไปมีอิทธิพลต่อนิราศนรินทร์ ที่เกิดก่อนได้? ซึ่งผิด logic

อีกประการหนึ่ง ภาษาของนิราศนรินทร์ เป็นบาลี-สันสกฤตเพียบ แต่ว่าโคลงศรีปราชญ์ที่เรียน
ใช้ภาษาใหม่กว่ามาก แสดงถึงอายุของวรรณกรรม

ดิฉันต้องขออภัยล่วงหน้า เวลาอ่านอะไร เคยชินกับการคิดตามในแง่ความเป็นเหตุเป็นผล
บางสิ่งที่ดูเหมือนว่าขัดกับหลักความจริง (เช่นของใหม่ไปมีอิทธิพลเหนือของเก่า) จึงกลายเป็นคำถาม

2. นักเรียนไทยจะได้เรียนวรรณคดีไทยชื่อแปลกๆ เช่น นิราศลำน้ำน้อย กาพย์ไชยสุริยา ฯลฯ
เมื่อไรคะ เพราะสมัยมัธยมไม่มีแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 18:10

มีจอมยุทธจักรเข้ามาแจม
ดิฉันขอไปนั่งฝั่งคนดูก่อนละค่ะ คุณ Nuchan
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 18:13

 ภาษา ของบทโคลงใน ค.ห. 7 สะกดแบบเก่า อาจจะอ่านยากสักนิดสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นการลดรูปสระ
รยม ก็คือ เรียม
หวว  คือ หัว ค่ะ
คำว่า งงจังงัง ถ้าเขียนแบบอยุธยาตอนนู้น ก็คือ งงจงงงงง
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 พ.ย. 05, 18:19

 ทักทายคุณ jomyutmerai เสียหน่อยค่ะ ซุ่มเงียบอยู่ได้ น่าจะให้สุ้มให้เสียงตั้งนานแย้ว
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 พ.ย. 05, 14:06

 แจมด้วยคนครับ  หากร่ำเมรัยก็มิบังอาจขัด แต่ผู้น้อยขอเพียงชาเขียว

โคลงในกำศรวล บทนี้
๏ โฉมแม่จักฝากฟ้า.........................เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทรท่านเทอดเอา.........................สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน............................ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤๅขัดเจ้าหล้า.............................สู่สมสองสม
๏ โฉมแม่ฝากน่านน้ำ......................อรรณพ แลฤๅ
เยียวนาคเชยชมอก........................พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ.............................จอมสวาสดิ์ kuเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้........................เท่าเจ้าสงวนเอง

ในนิราศนรินทร์   คือบทที่นักเลงกวีรู้จักกันมากที่สุด
โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ  แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งพโยม     ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม    แมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้า      ฝากน้องนางเดียว

โฉมควรจักฝากฟ้า    ฤๅดิน ดีฤๅ
เกรงเทพไท้ธรณินทร์   ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน   บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักน้ำ     ชอกเนื้อเรียมสงวน

ฝากอุมาสมรแม่แล้    ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี    เกลือกใกล้
เรียมคิดจวบจนตรี     โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้     ยิ่งด้วยใครครอง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง