เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5895 ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ของอินเดียโบราณ มีอะไรบ้าง เชิญทางนี้ครับ
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


 เมื่อ 19 พ.ย. 05, 08:44

 ผมเองก็เคยได้ยินคำว่า "ศิลปะ ๑๘ ประการ" มานานแล้ว โดยเฉพาะตอนเด็กๆ มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าพวกเจ้าชายต้องเดินทางไปเรียนศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่เมืองตักกสิลา ก็สงสัยมาตลอดว่า มีอะไรบ้าง อันที่จริงก็เคยอ่านมาแล้วครับ แต่ก็ลืม บังเอิญไปเจอเว๊บไซต์ "ชีวิตสดใสด้วยธรรมะ" ในส่วนของพจนานุกรมพุทธศาสน์ ประมวลศัพท์ ศ http://www.dhammalife.com/dhamma/vocab/vocab32.htm  ได้จำแนกศิลปศาสตร์ให้ดูทั้ง ๑๘ อย่าง ว่าประกอบด้วยศาสตร์แขนงใดบ้าง ผมคิดว่าคงเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจแบบ "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม" ก็เลยนำมาให้อ่านกันครับ

ศิลปศาสตร์ ๑๘ หรือ วิชาความรู้ต่างๆ ๑๘ ประการ สำหรับนักปกครอง ว่ากันว่ามีสอนกันมาในชมพูทวีปตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ซึ่งในจำนวนทั้ง ๑๘ วิชานี้ มีประเภทของวิชาแตกต่างกันไป ตามแต่คัมภีร์แต่ละเล่มจะระบุ ในที่นี้จะคัดมาจาก "คัมภีร์โลกนิติ" และ "ธรรมนิติ" โดยได้แก่
(ในวงเล็บคือ ข้อคิดเห็นของผมครับ ผิดพลาดอย่างไร ช่วยแก้ไขด้วยนะ)

๑.สูติ            ความรู้ทั่วไป (สอนเรื่องความรู้รอบตัวเกี่ยวสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ธรรมชาติวิทยา)
๒.สัมมติ        ความรู้กฎธรรมเนียม (มารยาททางสังคม ธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติตามกาลเทศะต่างๆ)
๓.สังขยา       คำนวณ (คณิตศาสตร์)
๔.โยคยันตร์   การช่างการยนตร์ (วิชางานช่างฝีมือทั่วไป)
๕.นีติ            นิติศาสตร์ (กฎหมายบ้านเมือง)
๖.วิเสสิกา       ความรู้การอันให้เกิดมงคล (เข้าใจว่าเป็นหลักปรัชญาทางศาสนา ?)

๗.คันธัพพา     วิชาร้องรำ (การขับร้องและนาฏศิลป์)
๘.คณิกา        วิชาบริหารร่างกาย (พละศึกษา)
๙.ธนุพเพธา     วิชายิงธนู (วิชาทหาร ภาคปฏิบัติ)
๑๐.ปุราณา      โบราณคดี (ประวัติศาสตร์ของประเทศ)
๑๑.ติกิจฉา      วิชาแพทย์ (การปฐมพยาบาล)
๑๒.อิติหาสา    ตำนานหรือประวัติศาสตร์ (ตำนานท้องถิ่น)

๑๓.โชติ          ดาราศาสตร์ (ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์?)
๑๔.มายา        ตำราพิชัยสงคราม (วิชาทหาร ภาคทฤษฎี)
๑๕.ฉันทสา     การประพันธ์ (การแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
๑๖.เกตุ          วิชาพูด (การพูดในที่ชุมชน ?)
๑๗.มันตา      วิชามนต์ (ไสยศาสตร์)
๑๘.สัททา       วิชาไวยากรณ์ (การพูดและเขียนให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ?)

ดูไปดูมา เหมือนได้เรียนมาหมดแล้วตอนประถมและมัธยมครับ ยกเว้น "ไสยศาสตร์" อิอิ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 พ.ย. 05, 14:51

 ที่สงสัยก็มี 2-3 ข้อค่ะ
3. สังขยา....ทำไมถึงเป็น คณิตศาสตร์ไปได้
8. คณิกา....นึกว่าหญิงงามเมือง ที่ใช้ทรวดทรงองค์เอวหาเลี้ยงชีพ
14. มายา....นึกว่ามายาสาไถ ไม่มีเค้าว่าจะเกี่ยวกับชายชาติทหารไปได้ค่ะ

ขอถามอีกหน่อยแทรกตรงนี้นะคะ
ที่ว่า...พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ดาวพุธถอยหลัง...นั้น
สองอันแรกพอเข้าใจค่ะ แล้วอันหลังดวงดาวทำไมโคจรกลับทิศได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 พ.ย. 05, 00:42

  สงฺขยา -  แปลว่า นับ ตรงนี้ ท่านผู้แปลได้ให้ความหมายไว้ว่า "วิชาคำนวณ" ซึ่งผมคิดว่าวิชาคำนวณดังกล่าว ก็คงสอนการ บวก ลบ คูณ หาร ครับ และไม่แน่อาจมีเศรษฐศาสตร์ปนๆ อยู่ด้วย ทั้งนี้คงเป็นวิชาที่สอนให้รู้ทันพวกพ่อค้า หรือ พวกการคลังนั่นเอง เพราะถ้าคิดเลขไม่เป็น ก็จะไม่รู้ทันคนกลุ่มนี้

ที่ผมเปรียบเทียบว่า คณิตศาสตร์ ก็คงเฉพาะแต่ในกลุ่มการคิดคำนวณเลขแบบง่ายๆ ครับ คงไม่เหมือนที่เรียนกันในสมัยนี้

คณิกา - นั่นสิครับ ที่ผมเข้าใจก็น่าจะหมายถึงหญิงงามเมือง ทำไมพจนานุกรมจึงแปลว่า "วิชาบริหารร่างกาย" ฮืม หรือ จะหมายถึงวิธีการรักษาสุขภาพและร่างกาย ให้สมบูรณ์ดั่งเหล่าคณิกา ?? คือ มีนัยหมายถึงการออกกำลังกาย ให้ร่างกายสมบูรณ์ เพราะพวกคณิกา ถ้ารูปร่างไม่ดีก็คงไม่มีแขก .... หรือเปล่า ฮืม ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเปรียบได้กับ พละศึกษา กับ สุขศึกษา

มายา - คำนี้ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ ล่อลวง ผมเข้าใจว่า ผู้แปลให้ความหมายว่า "ตำราพิชัยสงคราม" ก็เพราะ "มายา" ในที่นี้คือการ "ล่อลองข้าศึก" หรือ "กลศึก" นั่นเองครับ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของตำราพิชัยสงคราม
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 พ.ย. 05, 01:00

  เรื่องโหราศาตร์

พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ดาวพุธถอยหลัง เป็นศัพท์ทางโหราศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่เข้าใจเหมือนครับ อิอิ

พระศุกร์เข้า (มายัง) อะไร?
พระเสาร์แทรก (มาระหว่าง) อะไร?
ดาวพุธถอยหลัง (ออกมาจาก) อะไร?

ผมเข้าใจว่า "อะไร" ที่ผมตั้งไว้ก็คือ "ดวงชะตา" ถ้าเป็นอย่างนี้ พวกคำว่า "เข้า แทรก ถอยหลัง" ก็คงจะหมายถึง การเคลื่อนที่ของดวงดาว ที่กระทำต่อ "ดวงชะตา" มั้งครับ

ก็เลยลองไปหาในเว๊บของ "สำนักโหรพลูโต" http://www.lekpluto.com/  
ในส่วนบทความ "ตรีทศวิเคราะห์เทวา" http://www.lekpluto.com/astrogod/astrogodindex.htm
ก็ได้ข้อมูลมาว่า

- พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก -
ในดวงชะตาผู้ใด ดาวศุกร์ (๖) กุมกับดาวเสาร์ (๗) คู่ศัตรู หรือ ทำมุมเล็งกัน กากบาทกัน ทำนายไปได้เลยว่า ผู้นั้นมักจะระทมขมขื่นในเรื่องของความรัก เนื้อคู่ คู่ครอง และการแต่งงาน หรือในดวงชะตาผู้ใด หากดาวศุกร์ (๖) ถูกบาปเคราะห์เบียนอย่างมากมายในมุมที่ให้โทษ คือ กุม เล็ง กากบาท ปลายหอก ก็ทำนายไปในทำนองเดียวกันกับดาวศุกร์กุม เล็ง กากบาท กับเสาร์ (๗)

- ดาวพุธถอยหลัง -
พุธ (๔) เป็นดาวดวงหนึ่ง ที่มักจะโคจรร่วมกับอาทิตย์ คือ อยู่ในราศีเดียวกับอาทิตย์ หรือมิเช่นนั้นก็อยู่ไม่ห่างจากอาทิตย์เกิน ๑ ราศี คือ ไม่ข้างหน้า ก็ข้างหลัง เมื่ออาทิตย์จรไปไหน พุธก็จะจรไปไม่ห่าง และเป็นดาวที่มีการโคจรไม่แน่นอน คือ พักร์ (เดินถอยหลัง) มนฑ์ (เดินอืดอาด ชักช้า) และ เสริต (เดินเร็ว) มากที่สุด จึงมีฉายาในทางโหราศาสตร์ว่า “พุธ รวนเร”

ดาวพุธ เป็นดาวที่มีความหมายในเรื่องของ มันสมอง หรือ สติ (ความระลึกได้ ความจำได้ )โดยตรง โบราณท่านว่า “ดูเจรจาอ่อนหวานให้ดูพุธ” ดังนั้น คนที่จะพูด จะคิด จะแสดงอาการออกมาให้ดูว่า นิ่มนวล อ่อนหวาน รู้กาละเทศะ ไม่ขัดใจใคร ไม่ขัดอารมณ์ใคร จะต้องดูที่ดาวพุธ หรือ ตัวสมอง เป็นสำคัญ บางคนนั้น พูดไม่คิด พูดได้ ทำไม่ได้ดังคิด หรือพูดไม่เข้าหูคน ทำให้กลายเป็นคนแข็งกระด้าง สังคมรังเกียจ ไม่น่าคบหา ดีไม่ดีก่อให้เกิดศัตรูตามมาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น หากดาวพุธในดวงชะตาของใครเสียล่ะก็ ต้องระวังให้หนักในเรื่องของคำพูด ความคิด การกระทำ ให้จงหนัก เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคศัตรูได้ เนื่องจาก พุธนั้นเป็นดาวเจ้าเรือนอริ ของลัคนาโลกธรรม ที่ราศีเมษ ซึ่งผมได้เคยกล่าวย้ำแก่นักศึกษาหลายครั้งว่า พุธนั้น แม้จะเป็นศุภเคราะห์ก็จริง แต่วันดีคืนดี มันอาจให้โทษได้ทุกเมื่อ ก็เพราะความรวนเร ไม่แน่นอนของมันนี่แหละ

----------------------
ผมเข้าใจว่า "หากดาวพุธในดวงชะตาของใครเสีย" ก็คงตรงกับคำว่า "ดาวพุธถอยหลัง" ครับ คือ "เสีย" หมายถึงหลุดหายไปจากดวงชะตานั่นเอง

บันทึกการเข้า
โง่แต่กำเนิด
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ธ.ค. 05, 20:58

 โหราศาสตร์ เราเป็นการเฝ้าสังเกตดวงดาวทั้งหลายบนท้องฟ้าน่ะครับ ว่าเมื่อมันอยู่ตรงนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นแล้วก็บันทึกเอาไว้ ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ มันเป็นการมองจากโลกไปหาดาว นั่นก็หมายถึงว่า เราที่อยู่บนโลกมักเห็นดาว ไม่เว้นแม้กระทั่งดวงอาทิตย์ โคจรรอบเราแทน แต่แท้ที่จริงคือ ถ้าเรายึดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางเราก็จึงจะเห็นดาวอื่นๆรวมทั้งโลกเป็นฝ่ายโคจรแทน ซึ่งดาว พุธ ศุกร์ ดวงอาทิตย์นั้น ใกล้กันมาก  บางครั้งเราเลยมองจากพื้นโลกจะเห็นว่าดาว ศุกร์ และพุธนั้นเดิน นำหน้าดวงอาทิตย์ พอมาถึงมุมจำกัดมุมหนึ่งก็จะเห็นดาวทั้งคู่ เดินถอยหลังไปอยู่หลังดวงอาทิตย์  ภาษาโหรเรียก พักร์ Retrograde นี่ก็เพราะวงรอบของดาว พุธและศุกร์ แคบกว่าโลก ทั้งอัตราโคจรก็เร็วกว่าโลก และอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จึงทำให้มุมสัมพันธ์ของภาพที่เห็น เมื่อดาวนั้นเดินครบรอบดวงอาทิตย์ และมาขึ้นรอบใหม่ มีสภาพเหมือนเดินถอยหลัง จะสังเกตุได้ว่าดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อมองจากโลก ก็จะเห็นได้ว่า เดินๆ พักร์ๆอยู่ตลอดเวลา และหนึ่งรอบจะประมาณ 90 วัน เพราะเป็นรอบของดาวพุธที่โคจรรอบดวงอาทิตย์พอดี ซึ่งในทาวงโหราศาสตร์นั้น การที่ดาวพุธ ซึ่งหมายถึง การเจรจาติดต่อ เอกสาร โทรศัพท์ การพูดคุย สัญญา สีเขียว เดินพักร์หมายถึงโคจรวิปริต คือผิดไป ก็มักเกิดเหตุเรื่องการไม่รักษาสัญญา การนินทาลับหลัง การโจษจัน การพูดในเรื่องไม่ดีแง่ไม่ดี คลื่นใต้น้ำ
ส่วนเรื่องศุกร์เข้า เสาร์แทรกนั้น เป็นอีกตำราหนึ่ง ที่เรียกกันว่าทักษาพยากรณ์ โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์นั้น มีเทวดา ที่จะผลัดเปลี่ยนหน้าที่ในการรักษามนุษย์คนนั้น โดยในช่วงที่เทวดาที่เป็นฝ่ายดีรักษา ชีวิตก็จะดี ฝ่ายไม่ดีก็มักประสบทุกข์โทษ โดยมักมีการทำนายโดยเลือกเอาจากวันที่ผู้นั้นเกิด และระยะช่วงอายุ เช่นในระยะ นี้ ศุกร์เสวยอายุได้ 2 ปี 4 เดือน 3 วัน และพระเสาร์แทรก 3เดือน 4 วันเป็นต้น ซึ่ง ศุกร์เสวยและเสาร์แทรกนี้ มักทำนายไปในทางไม่ดีเพราะดาวเสาร์และศุกร์เป็นคู่ศัตรูกันทางโหราสตร์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง