เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7653 ประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับใหม่ "ชาติ"คือสำนึกของประชาชน ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษก
Little Sun
พาลี
****
ตอบ: 212

กำลังตามหาความฝัน


 เมื่อ 04 พ.ย. 05, 13:33

 อ่านข่าวเจอเมื่อเช้า เห็นว่าน่าสนใจดีค่ะเลยเอามาฝาก
จากมติชนค่ะ
 http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra05041148&day=2005/11/04
ตัดทอนบางตอนจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์สาละวินโพสต์(ฉบับที่ 25 วันที่ 16 ส.ค.-30 ก.ย.2548) วิพากษ์อคติต่อเพื่อนบ้านในประวัติศาสตร์ไทย

"ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" สำนวนนี้อาจไม่ตรงกับเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพม่าที่ปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ไทย เพราะชาติพม่าได้ถูกสร้างภาพให้เป็น "ศัตรู"ของชาติไทยในตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่สอนกันในห้องเรียนมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างลาว เขมร และมาเลเซียก็ถูกสร้างภาพในเชิง "ดูถูก"มากกว่ายกย่อง ภาพลักษณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผลพวงจากอคติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรากับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันอย่างไร

คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์

ผู้สร้างสรรค์บทความวิพากษ์สังคมไทยที่เผ็ดร้อนมากที่สุดคนหนึ่ง

@ ปัจจัยอะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย

ผมคิดว่าการเขียนประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เรารับรู้กันทุกวันนี้มันมีความผิดพลาด เพราะมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของชาติจริง เพราะถ้าถามว่าคำว่า "ชาติไทย"เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราก็ต้องบอกว่ามันเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ประชาชนในประเทศไม่ว่าเขาจะเป็นลาว เขมร ที่อยู่ในประเทศไทยเกิดความสำนึกร่วมกันว่า เรามีความผูกพันกันในฐานะที่เป็นชนชาติเดียวกัน สิ่งนี้จึงทำให้เกิดความเป็นชนชาติขึ้น

แต่ตอนเราเขียนประวัติศาสตร์ของชาติ เราพยายามจะรักษาโครงสร้างขออำนาจอันเดิมไว้ ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการรักษาบทบาทสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ เราเลยก็ต้องไปดึงเอาประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ ซึ่งก็คือพระราชพงศาวดารมาเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง

ถามว่าพระนเรศวรเป็นวีรบุรุษของชาติจริงหรือ เพราะพระนเรศวรตีเชียงใหม่ และครอบครองเมืองเชียงใหม่ได้ คนเชียงใหม่น่าจะรู้สึกว่าพระนเรศวรเป็นศัตรูด้วยซ้ำไป แต่เรากลับถูกสอนให้พระนเรศวรเป็นวีรบุรุษของชาติ ในขณะที่คนเชียงใหม่ก็ถูกสอนให้ลืมพระเจ้าติโลกราช พระเจ้ามังราย เพื่อหันไปยอมรับกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา  
บันทึกการเข้า
Little Sun
พาลี
****
ตอบ: 212

กำลังตามหาความฝัน


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 พ.ย. 05, 13:34

 เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก ชาติไทยที่ว่ามันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันก็เป็นศูนย์กลางอำนาจใหญ่อยู่ที่อยุธยา เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช เวียงจัน นครพนม อะไรก็แล้วแต่ แต่มันไม่ได้เป็นศูนย์กลางที่รวมทั้งหมดเหมือนที่เราเห็นทุกวันนี้ สิ่งนี้มันมาเกิดขึ้นถ้าวาดโดยแผนที่ เกิดขึ้นโดยฝรั่งเป็นคนขีดให้เรา

สำนึกมันเกิดขึ้นหลังจากนั้น หลังจากการกระทำของรัฐโดยชนชั้นปกครองที่ปลุกเร้าให้เรารู้สึกว่าเรามีความผูกพันร่วมกันจริงๆ เรารู้สึกว่าเราเป็นญาติพี่น้องกับคนที่อยู่สุไหงโก-ลกในประเทศไทย แต่เส้นเล็กๆ บนแผนที่ที่เรามองไม่เห็นกลับทำให้เราไม่รู้สึกเป็นญาติกับคนที่มาเลเซียที่อยู่ห่างจากคนสุไหงโก-ลกแค่เพียงข้ามฝั่งแม่น้ำเท่านั้น มันแปลกไหม

ปัญหาสำคัญก็คือ เราไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของชาติ แต่เราสร้างประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้มาเชื่อมต่อกับภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าเราสร้างประวัติศาสตร์ของชาติขึ้น เราก็ต้องเริ่มเล่าตั้งแต่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเคยมีใครอยู่มาบ้าง คนเหล่านี้มีบทบาทอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่สามารถขีดเส้นเขตแดนเป๊ะอย่างนี้ได้จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นมันไม่ชัดถึงขนาดนั้นหรอก คนก็มีการติดต่อกันไปมา มนุษย์ที่อยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ ขอบเขตความสัมพันธ์ของมันกว้างขวางและไม่มีเส้นเขตแดน

@ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ตำราเรียนประวัติศาสตร์มีเนื้อหาอย่างไร

สิ่งที่คณะราษฎรหรือการปฏิวัติ 2475 ไม่ได้ทำคือการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้ฐานการปฏิวัติครั้งนั้นค่อนข้างง่อนแง่น

ก่อนหน้านี้ ตำราประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้ในระดับมัธยมคือพระราชพงศาวดาร แต่หลังจากปฏิวัติก็ยังใช้ตำราชุดเดิม

คำถามก็คือ ถ้าคุณอยากจะสร้างชาติใหม่ขึ้นมาแล้ว คุณไม่เปลี่ยนสำนึกของคนในชาติ คุณจะสร้างชาติใหม่ได้อย่างไร เพราะประวัติศาสตร์มีความสำคัญกับการ "ปฏิวัติ" มาก เพราะฉะนั้นการปฏิวัติครั้งนี้ในแง่หนึ่งมันจึงล้มเหลว ความสำเร็จที่มีคือคุณถอยกลับไประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว
บันทึกการเข้า
Little Sun
พาลี
****
ตอบ: 212

กำลังตามหาความฝัน


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 พ.ย. 05, 13:35

 แต่ว่าในแง่วัฒนธรรมแทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย เปลี่ยนแต่เพียงจะเอาเผด็จการของเจ้าหรือเผด็จการของไพร่เท่านั้นเอง

@ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญมีใครบ้าง

หลังจากการปฏิวัติ 2475 เราใช้พระราชพงศาวดารเป็นตำราเรียนสืบต่อมาอีกหลายปีจึงค่อยเปลี่ยนเป็นตำราเรียนชุดใหม่ ซึ่งผู้เขียนตำราได้คัดลอกข้อความจากงานเขียนประวัติศาสตร์ฉบับของกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหลวงวิจิตรวาทการมาใช้เป็นเนื้อหาหลัก

งานของทั้งสองท่านมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือกรมพระยาดำรงฯเขียนประวัติศาสตร์เพื่อเชิดชูยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและเพื่อทำให้เห็นว่าสถาบันนี้ควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นธรรมดาของนักปราชญ์ที่มีส่วนร่วมสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น

ส่วนงานของหลวงวิจิตรฯ ก็ยังยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองแต่ผู้เดียว หลวงวิจิตรฯให้ความสำคัญแก่ "ชาติ"(ซึ่งมีความหมายไม่ชัดนักว่าคืออะไร บางครั้งก็หมายถึงเม็ดเลือด) และการมีผู้นำ(ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกษัตริย์เสมอไป) ที่เก่งและเข้มแข็ง

อย่างทุกวันนี้ถ้าเราถามว่าชาติคืออะไร คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ บางคนก็หมายถึงแผนที่รูปขวาน แต่ไม่มีใครหมายถึงประชาชน

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ไทยหลังรัชกาลที่ 5 คนแรกที่ตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นคนที่ประกาศชัดเจนเลยว่าถ้าคุณอยากพูดถึงประวัติศาสตร์ของชาติ คุณต้องเริ่มต้นพูดถึงประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกวันนี้ ไม่ใช่ไปสืบค้นถึงโน้น ยูนนาน ประเทศจีน ไม่เกี่ยวกับคุณหรอก

@ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกันมากขึ้น เราควรจะสร้างประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเพื่อนบ้านชุดใหม่สำหรับสังคมไทยไหม

ผมคิดว่าเราควรต้องเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่เลย ซึ่งจะทำให้เราเริ่มมองเห็นถึงความสัมพันธ์ที่เราเคยมีกันมาตั้งแต่โบราณกาล ไม่ต้องไปเน้นที่ชนชั้นปกครองอย่างเดียว ต้องพูดถึงว่าประเทศไทยมีใครเคยอยู่และมีบทบาทอะไรบ้าง

เราพูดถึงสุโขทัย ซึ่งที่จริงเป็นแค่ศูนย์อำนาจครั้งหนึ่ง ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยปัจจุบัน เราไม่สามารถพูดถึงสุโขทัยได้ถ้าไม่พูดถึงเมาะตะมะ เพราะเป็นเมืองท่าสำคัญของสุโขทัย แล้วคุณจะไปแยกระหว่างพม่ากับไทยได้อย่างไร

เครือข่ายการค้า ความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ได้มีเส้นเขตแดนเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบันนี้

@ ถ้าเราจะเปลี่ยนการเขียนถึงเพื่อนบ้านในประวัติศาสตร์เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ควรจะเปลี่ยนพร้อมกันทีเดียวไหม

ผมว่าไม่จำเป็นต้องไปพร้อมๆ กันก็ได้ ถ้าไทยเริ่มต้นก่อน เป็นผู้นำเสนอการเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ ผมว่าประเทศอื่นก็จะมองเห็นว่ามันมีประโยชน์กว่า

จริงๆ แล้วประเทศที่ไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ก็มี คือ อินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง สำนึกอาจเกิดก่อนหน้านั้นนิดหน่อยประมาณช่วงศตวรรษที่ 19

อันที่จริงชื่ออินโดนีเซียเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่ชื่อทางการเมือง นักการเมืองไปรับเอาชื่อทางภูมิศาสตร์มาตั้งชื่อประเทศเพราะคำว่า "อินโดนีเซีย" หมายถึงหมู่เกาะในแถบนี้ ไม่ได้หมายถึงประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น ยากมากที่ในตำราประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียจะอ้างว่าอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่โบราณ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และในอดีตรบกันนัวเนียไปหมด เพราะฉะนั้นอินโดนีเซียจึงค่อนข้างจะเป็นอิสระจากประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนแบบนี้มากกว่าประเทศอื่น

@ ถ้าอาจารย์ได้เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ คิดว่าต้องมีประเด็นอะไรบ้าง

อยากเริ่มต้นด้วยการพูดถึงเรื่องของคนที่เคยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันมาก่อน เขามีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร เขาทำอะไรบ้าง มาเรื่อยๆ จนถึงการเกิดรัฐชาติขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

@ แล้วเราจะอธิบายคำว่าชาติอย่างไร

ชาติ คือสำนึกของประชาชนที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 พ.ย. 05, 07:59

 "ชาติ" คือสำนึกของประชาชน ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ  

ผมลองเขียนใหม่น่าจะได้แบบนี้นะครับ

"ชาติ" คือสำนึกของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งๆ ที่ภายในสำนึกนั้น มีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นพิเศษ มากกว่าที่มีให้กับคนกลุ่มอื่น  

หมายความว่า การที่จะเป็นชาติเดียวกันได้ จะต้องมี "สำนึกบางอย่าง" ร่วมกันเป็นพิเศษ ที่เห็นชัดๆ คือ "ภาษา" และ "ขนมธรรมเนียม" และปัจจุบันนี้จะต้องมี "รัฐธรรมนูญ" ด้วยครับ ถึงจะเป็นชาติ เป็นประเทศ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 พ.ย. 05, 19:36

 ในความคิดเห็นของตัวผมเอง การสอนประวัติศาสตร์แต่ละแบบ ก็เหมาะสมกับคนในสังคมที่แตกต่างกันไป

คนในหลายแหล่ง อาจนิยมการศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเอง - เพื่อนบ้าน เข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และทำความเข้าใจกับร่องรอยของอดีตที่หลงเหลืออยู่ผ่านหลักฐานต่างๆที่จัดแสดงไว้

แต่สำหรับคนในอีกหลายแหล่งที่ยังไม่มีความพร้อมมากพอ การมีความเห็นให้ทำอะไรอย่างไม่คิดพิจารณาใคร่ครวญในผลที่จะได้รับอาจไม่เป็นผลดีต่อสังคมก็เป็นได้นะครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 พ.ย. 05, 01:59

 เห็นด้วยกับ คุณติบอ ครับ ผมมักได้ยินคนบางกลุ่มชอบพูดกันว่า "สร้างพิพิธภัณฑ์แล้ว ทำให้ปากท้องอิ่มหรือเปล่า" หรือ "เรียนโบราณคดี เรียนประวัติศาสตร์แล้ว ทำให้ตัวเอง หรือประเทศรวยขึ้นหรือเปล่า"

ทรรศนคติของคนกลุ่มนี้มักจะเห็นเงินสำคัญกว่าความรู้ครับ คนที่เรียนโบราณคดี หรือ ประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าไม่ได้เรียนเพื่อจบมาทำเงิน แต่เรียนเพื่อความรู้ครับ และความรู้ที่ได้นี้ อาจใช้ในทางสายตรงกับที่เรียนมา หรือประยุกต์ใช้กับอาชีพอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

และคนที่สร้างพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้หวังว่าคนทุกคนจะปากท้องอิ่ม แต่เค้าหวังแค่ว่า พิพิธภัณฑ์นั่นๆ จะเป็น "อาหารสมอง" ให้สมองคุณอิ่ม หรือ "สมองไม่หิว" เมื่อสมองไม่หิว ก็จะเกิดปัญญา ทำให้มองโลกกว้างขึ้น หาหนทางทำมาหากินใหม่ๆ ได้ดีกว่าคนที่ไม่ยอมให้ "สมองกินอาหาร"เลย

อยากให้ลองอ่าน บทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5457 ดังนี้ครับ


"บ้าคลั่ง"พิพิธภัณฑ์ แบบโง่ๆเท่านั้นหรือ?

คอลัมน์ ไพร่บ้านพลเมือง

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผู้ใช้นามแฝงว่า"ลูกชาวนาคนหนึ่งแต่ไร้นามานานแล้ว" เขียนจาก"กระท่อมกลางกรุงฯ" อบรมสั่งสอนผมหลายอย่าง ล้วนเป็นขุนทรัพย์ทางปัญญาที่ต้องจดจำและขอบพระคุณอย่างสูงยิ่ง

แต่มีเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่ผมเขียนถึงบ่อยๆ จนท่านผู้นี้ออกรำคาญมากๆ ถึงขนาดเขียนกราดเกรี้ยว อ่านแล้วเสยียวสยองพองขนจนเป็นทุกข์ ดังนี้

"บ้าคลั่ง" เรื่อง"พิพิธภัณฑ์" เรื่องนี้คุณมักไม่ถูกใจ(บางครั้งเชยๆ แบบผิดๆ) ฯลฯ โดยลืมไปว่า "ประเทศไทย" ยังมีคนยากจน-ชาวไร่-ชาวนา-ชาวสวน กรรมกร ฯลฯ ที่ยังขาดการศึกษา, สาธารณสุข, ถนนหนทาง แหล่งน้ำ, ที่ทำกิน, สาธาณูปโภค ฯลฯ เพราะฉะนั้นถ้ามัวแต่"บ้า-คลั่ง พิพิธภัณฑ์" แบบโง่ๆอย่างคุณ คงคิดได้เท่านี้ละกระมัง น้ำ, ไฟ, ถนนหนทาง, การศึกษา(ปัจจัยสี่) ฯลฯ ยังมีอยู่อีกมาก สมมุติคนเป็น"พ่อ-แม่"หมายถึงรัฐบาลจะให้"ลูก-หลาน"โคตรเหง้าเหล่ากอคุณดูเฉพาะวัด พิพิธภัณฑ์เท่านั้นหรือ คุณลองไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆบ้างซิ แล้วจะได้เปิดโลกกว้างขวางขึ้นกว่าอยู่ใน"กะลา"

ผมเข้าใจว่าเรารู้จัก"พิพิธภัณฑ์"ต่างกันมากๆ ซึ่งต้องเห็นอกเห็นใจผู้เขียนจดหมายนี้ ที่เคยมีประสบการณ์แต่เฉพาะพิพิธภัณฑ์แบบ"โกดังเก็บของเก่า" ที่กรมศิลปากรทำให้เห็นเป็นต้นแบบทั่วประเทศ เลยมีทัศนคติอย่างที่เขียนผรุสวาทกราดเกรี้ยวมาให้ผมอ่าน

ขอบอกให้รู้ว่า"พิพิธภัณฑ์"ที่ผมเขียนถึงบ่อยๆเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ที่สังคมไทยยังไม่มีให้ดู เพราะยังไม่มีรัฐบาลไหนทำ รัฐบาลนี้"โฆษณา"ว่าจะทำด้วยเงินทุนก้อนใหญ่โตมาก แต่เอาไปทำอย่างอื่นก่อน เช่น ไปเช่าอาคารแพงๆเป็นสำนักงาน ไปดูงานต่างประเทศ ไปจ้างฝรั่งออกแบบ ไปซ่อมตึกแล้วทุบทำใหม่ ฯลฯ เลยยังไม่มีอนาคต

โลกทุนนิยมตะวันตกอย่างยุโรป-อเมริกา กับตะวันออกอย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฯลฯ เขาทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ตั้งแต่ยังเป็นประเทศยากจน เพื่อแทน"ห้องเรียน" อย่างนอกระบบเพื่อสร้างคนและสร้างเศรษฐกิจอย่างมีสติ แต่ใช้เวลามากกว่าครึ่งศตวรรษถึงประสบความสำเร็จทุกวันนี้

ขอย้ำว่าเรารู้จัก"พิพิธภัณฑ์"ต่างกัน และมองประโยชน์ต่างกัน แต่หวังว่าโอกาสข้างหน้าคงจะเข้าใจใกล้เคียงกันได้ ผมจะรอ ระหว่างนี้จะเขียนด่าทอผมอีกก็ได้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง