เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6391 บีบีซีภาคภาษาไทย...สถานีวิทยุที่หายไป
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
 เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:07

copy มาจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการครับ


วิลาศ มณีวัต แห่งบีบีซี สัมภาษณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ปี2502)

หากแม้การ "เปลี่ยนแปลง" คือการสิ้นสุดลงของสิ่งหนึ่ง และก่อเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน การหมุนไปของโลกใบกลมในแต่ละวัน ก็คงมีสิ่งซึ่งเกิดและดับนับครั้งไม่ถ้วน ...แม้เหล่านี้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกผู้คนพึงตระหนัก แต่หลายครั้งเมื่อบางสิ่งต้องสิ้นสุดลง ก็ยากเกินกว่าจะละใจให้ไม่กระหวัดระลึกถึง หรือแม้กระทั่งพยายามที่ยื้อดึงเพื่อคงสิ่งที่เคยมีอยู่ให้ดำรงสืบไป โดยเฉพาะเมื่อคำว่า "สิ้นสุด" เดินทางมาถึงสิ่งที่มี "ความผูกพัน" มากำกับประทับไว้
     
      การประกาศยุบ "บีบีซีภาคภาษาไทย" เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 จากปากคำของนายไนเจิล แชปแมน ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกที่ผ่านมา โดยแฟนรายการไม่ทันได้ตั้งตัว นับเป็นความใจหาย และสร้างความเสียดายให้กับผู้ที่ติดตามฟังรายการของสถานีวิทยุบีบีซีจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุหนึ่งเพราะเป็นข่าวที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ส่วนอีกเหตุหนึ่ง นั้น เพราะบีบีซีภาคภาษาไทย ทำหน้าที่สื่อมวลชนอยู่ในสังคมไทยมายาวนานถึง 64 ปี
     
เกิดท่ามกลางสงครามโลก
     
      ย้อนกลับไปเมื่อปี 2484 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ท่ามกลางมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คุกคามทุกประเทศทั่วโลก โดยเดิมทีนั้นสถานีโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษ ออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวได้ริเริ่มออกอากาศเป็นภาษาอารบิค และขยายออกไปอีกหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาของประเทศที่กำลังทำศึกกันอยู่ในดินแดนฝั่งตะวันตกของโลก กอปรกับความวิตกว่าภาคพื้นเอเชียตะวันออก ก็คงไม่อาจรอดพ้นเปลวเพลิงแห่งสงครามครั้งนี้ไปได้ บีบีซีจึงได้เริ่มเปิดบริการภาษาฮินดูสถานเป็นภาษาแรกในภูมิภาคนี้ ก่อนจะเปิดบริการแผนกภาษาพม่า และแผนกภาษาไทยในเวลาต่อมา
     
      สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานก่อตั้งบีบีซีแผนกภาษาไทย คือ นายอเล็ค อดัมส์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น โดยได้ขอคำปรึกษาไปยัง พระมนู เวทย์วิมลนาถ ฑูตไทยประจำอังกฤษขณะนั้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบเป็นอย่างดี แต่เงื่อนไขสำคัญที่บีบีซีภาคภาษาไทยต้องถือปฏิบัติ คือ เนื้อหาในการออกอากาศต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง
     
      "เสนาะ ตันบุญยืน" แห่งมหาวิทยาลัยตรีนิตี้ และ "เสนาะ นิลกำแหง" จากวิทยาลัยควีนส์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คือ 2 นักเรียนไทยรุ่นบุกเบิกของบีบีซีแผนกภาษาไทยที่ได้รับการทาบทามจากนายอเล็คให้เข้ามาร่วมงานด้วย ที่สุดบีบีซีภาคภาษาไทยจึงได้ออกอากาศในกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484 ในเวลา 20.30-20.45 น.ตามเวลาในประเทศไทย
     
      การออกอากาศครั้งแรกนั้น เสนาะ ตันบุญยืน ได้นำเอาประสบการณ์ส่วนตัว ในการเดินทางจากประเทศไทยไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษมาออกอากาศ ซึ่งในระยะแรกรูปแบบรายการของบีบีซีไทย เป็นลักษณะ "จดหมายจากอังกฤษ" โดยผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ดำเนินรายการระหว่าง เสนาะ ตันบุญยืน และเสนาะ นิลกำแหง สัปดาห์และครั้ง ทุกวันอาทิตย์ และได้ขยายเวลาออกอากาศเป็นสัปดาห์ละ 3 วันในเวลาต่อมา รวมถึงเนื้อหาของรายการก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในเมืองไทยในระยะต่อมา ตามการปรารภของนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น โดย Sir Josiah Crosby ฑูตอังกฤษประจำประเทศไทยให้ความสนับสนุนความคิดดังกล่าวเช่นกัน
     
      และเมื่อไฟสงครามกระพือมาถึงภูมิภาคเอเชียบูรพา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คนไทยเป็นชนชาติศัตรู ทางบีบีซีก็ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ขอยกเว้นผู้ประกาศของสถานีวิทยุบีบีซี 4 คน มิให้ถูกจับกุมในฐานะชนชาติศัตรู นั่นคือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น (พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า)หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร อดีตราชเลขาส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 7 นายเสนาะ ตันบุญยืน และนายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร นักศึกษาไทยในขณะนั้น ส่วนเสนาะ นิลกำแหง ได้ขอแยกตัวออกไปร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งในช่วงเวลาที่ไฟสงครามปะทุขึ้นในภาคพื้นเอเชียบูรพา บีบีซีภาคภาษาไทย ได้ขยายเวลาออกอากาศกระจายเสียงทุกวัน
     
      ในปี 2490 บีบีซีได้เริ่มระบบทำสัญญาว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลา และได้ปรับปรุงเนื้อหารายการออกอากาศเป็นการเสนอข่าว บทวิจารณ์ และรายงานสารคดี ถัดจากนั้น 2 ปี กรมโฆษณา หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็ได้ประสานงานกับบีซี ส่งเจ้าหน้าที่ไทยมาฝึกงานกับบีบีซี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลไทย นอกจากนี้ในปี 2500-2501 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้ออกอากาศเป็นภาษาลาว 15 นาที เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีนักศึกษาลาวเข้ามาทำหน้าที่ผู้ประกาศและถือเป็นส่วนหนึ่งของบีบีซีแผนกภาษาไทยด้วย ทั้งนี้ ในปี 2489 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แผนกภาษาสยาม" จนถึงปี 2492 กระทั่งปี 2492 จึงกลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้งหนึ่ง
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:11

ปิดและเปิดแผนกภาษาไทย
     

พนักงานบีบีซี ปี 2503 คนขวาสุด คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ส่วนสุภาพสตรีคนขวามือคือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิมลฉัตร

      อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจทางภาคพื้นยุโรปตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองอย่างหนัก กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษจึงมีคำสั่งให้บีบีซีแผนกภาษาไทยยุติการออกอากาศ ในวันที่ 5 มีนาคม 2503 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีนั้น บีบีซีแผนกภาษาไทยก็ได้เริ่มออกอากาศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะยุติการกระจายเสียงไปแล้วก็ตาม โดยครั้งนั้นให้ออกอากาศเป็นกรณีพิเศษทุกวัน วันละ 15 นาที เพื่อรายงานการเสด็จเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม โดยได้ว่าจ้างนักเรียนไทยในอังกฤษมาร่วมจัดรายการ ได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกรียงศักดิ์ ศิริมงคล รวมไปถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย
     
      นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่อยู่ในอังกฤษขณะนั้นมาร่วมให้สัมภาษณ์และทำรายการออกอากาศ อาทิ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ไพจิตร เอื้อทวีกุล พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตร เป็นต้น
     
      จากนั้นมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ทั้งจากบุคคลสำคัญในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษจำนวนหนึ่ง ให้บีบีซีแผนกภาษาไทยกระจายเสียงต่อไป บีบีซีแผนกภาษาไทยจึงได้เริ่มออกอากาศเป็นประจำทุกวันอีกครั้งใน เดือนมิถุนายน 2505 โดยกระจายเสียงวันละครึ่งชั่วโมง
     
      นับแต่นั้นมาแผนกภาษาไทยของบีบีซีก็ขยายเวลาออกอากาศ แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือเช้าและค่ำ พร้อมทั้งมีการปรับรูปแบบรายการให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการข่าวสารของผู้ฟังในประเทศไทยเป็นหลัก กระทั่งในปี 2540 บีบีซีแผนกภาษาไทย ได้ลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานบีบีซี แผนกภาษาไทยกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยอย่างถาวร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นมา
     
      หากแม้การทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี คือการนำเสนอข้อเท็จจริงสู่ประชาชน 64 ปีที่บีบีซีแผนกภาษาไทยดำรงอยู่บนคลื่นวิทยุ ก็น่าจะกล่าวได้ว่า บีบีซีแผนกภาษาไทยได้ทำหน้าที่ดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งการยึดถือข้อมูลที่เป็นจริง เป็นกลาง และถูกต้อง ทำให้บีบีซีได้ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งในสังคมไทย
     
      จูดี้ สโตว์ อดีตหัวหน้าบีบีซีแผนกภาษาไทย ได้บันทึกความทรงจำในช่วงปี 2516 ซึ่งถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญเอาไว้ว่า ในปี 2516 ตอนนั้นผู้คนเริ่มเห็นกันว่าจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ปกครองประเทศด้วยอาการออกเผด็จการมากขึ้นทุกที นักศึกษาบางกลุ่ม และคนในสังคมบางส่วนส่วนเริ่มออกมาประท้วง ขณะที่จอมพลถนอม และจอมพลประภาสคุมทั้งตำรวจและทหารไว้ได้หมด นักข่าวต่างประเทศในไทยได้ส่งรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้กับบีบีซีแผนกภาษาไทย และใช้ช่องทางการสื่อสารติดตามเสนอข่าวความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด รวมถึงสามารถรายงานการออกนอกประเทศของจอมพลทั้งสองได้อย่างทันท่วงที
     
      "ไม่กี่เดือนต่อมา ตอนที่ดิฉันเดินทางมากรุงเทพฯ ก็ได้ยินว่า มีคนจำนวนมากได้พึ่งข่าวสารจากวิทยุบีบีซี"
     
      จูดี้ สโตว์ ยังบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำร้าย และเข่นฆ่า แผนกภาษาไทยของบีบีซีก็ได้ติดตามรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด โดยกระจายเสียงวันละ 2 ภาค ซึ่งต่อมาก็มีผู้ฟังหลายคนเขียนจดหมายมาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ช่วยให้เข้าใจและติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันที
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:16


ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในห้องส่ง บีบีซี (ปี 2517)

ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย
     
      เช่นเดียวกับที่ "นวลน้อย ธรรมเสถียร" หนึ่งในพนักงาน บีบีซีแผนกภาษาไทยยุคปัจจุบัน ที่ได้บันทึกทิ้งไว้ในหนังสือครบรอบ 60 ปี บีบีซีแผนกภาษาไทย ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า แคธเธอรีน เดวี่ส์ รายงานให้บีบีซีไว้ว่า เมื่อเธอขึ้นรถไปตามถนนสายต่างๆ เพื่อดูเหตุการณ์ "เห็นนักศึกษาจำนวนมากไปชุมนุม แต่พวกเขาไม่มีอาวุธ และไม่มีร่องรอยว่ามีคนติดอาวุธเข้าแทรกแซง ขณะที่มองไปที่ทหาร ทหารมีอาวุธครบมือ"
     
      เหตุการณ์ "สิบสี่ตุลา" ดึงความสนใจของสื่อมวลชนต่างชาติให้หันไปมองสถานการณ์ในเมืองไทยอย่างจริงจัง บีบีซีเองก็เกาะติดข่าวการเมืองไทยอย่างเหนียวแน่น และเสนอรายงานข่าวหลายแง่หลายมุม เช่น เรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส "ปรีดี พนมยงค์" บีบีซีก็ออกบทสัมภาษณ์ถึง 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งในปี 2523 และอีกครั้งคือหกปีให้หลัง โดยบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเป็นการให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัย 2475
     
      สามปีให้หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการปกครองครั้งใหญ่อีกหน ในเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคพื้นเอเชียถูกระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์กวาดต้อนเข้าสังกัดไปหลายประเทศ ทำให้นักข่าวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น หันมาปักหลักทำข่าวอยู่ในประเทศไทย บีบีซีเองก็มีนักข่าว ช่างภาพทำงานอยู่ในประเทศไทยด้วย เมื่อมีเหตุการณ์สังหารนักศึกษาเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข่าวนี้จึงได้รับการเผยแพร่ออกไป และทำให้คนไทยในต่างแดนได้รับรู้เรื่องราวของเมืองไทยด้วยเวลาอันรวดเร็ว ช่วงนั้น บีบีซียังได้สัมภาษณ์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หลบหนีความรุนแรงออกนอกประเทศไปได้ด้วย
     
      หลังจากเหตุการณ์ "ตุลาอาถรรพ์" คลายบรรยากาศแห่งความขัดแย้งไปหลายปี ในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้มีการปรับทิศทางการทำงาน จากเน้นการแปลข่าว มาเป็นเน้นงานข่าวมากขึ้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่บีบีซีส่งเจ้าหน้าที่คนไทยไปรายงานข่าวจากพื้นที่ ผนวกกับช่วงนั้นโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น "รุ่งมณี เมฆโสภณ" เจ้าหน้าที่บีบีซีขณะนั้น ได้สัมภาษณ์ "อำภา สันติเมทนีดล" แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จากกลางฝูงชนบนถนนราชดำเนิน ท่ามกลางเสียงปืน และเสียงประกาศจากลำโพงของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำการชุมนุม ออกอากาศสดๆ บอกเล่าเหตุการณ์โดยมีเสียงปืน เสียงฝูงชนปรบมือ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเสียงแห่งประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดสู่ผู้ฟังโดยปราศจากการตบแต่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นบีบีซีได้สัมภาษณ์นายทหาร และนักการเมืองระดับสูงออกอากาศหลายคน รวมไปถึงพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้ประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวกันด้วย
     
      นอกเหนือจากการเป็นนักข่าวที่ช่ำชองในสนามการเมืองและสายทหารของ "รุ่งมณี" ซึ่งทำให้สามารถต่อสายตรงถึงบุคคลเหล่านั้นได้แล้ว รุ่งมณีกล่าวถึงความโดดเด่นของบีบีซีที่ทำให้สามารถเสนอสิ่งที่ประชาชนต้องการรู้ให้กับสังคมในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ได้ว่า
     
      "แม้ดิฉันจะมีประสบการณ์ส่วนตัว รู้จักแหล่งข่าว แต่ความน่าเชื่อถือของบีบีซีที่เป็นสำนักข่าวที่เป็นกลาง อิสระ ทำให้แหล่งข่าวยอมพูดคุยด้วย"
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:20


ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตรขณะประชุมซีอาโต้ที่ลอนดอน(ปี 2508)

copy มาจากต้นฉบับอันนี้ครับ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000149898

ไมตรีระหว่างประเทศบนหน้าปัดวิทยุ
     
      ไม่เพียงแต่หน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยเท่านั้น ที่สถานีวิทยุบีบีซีได้มีส่วนร่วมบันทึกเอาไว้ หากแต่หลายครั้งที่สถานีวิทยุบีบีซีแผนกภาษาไทยได้เสนอข่าวสารที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศไทย ซึ่งมีไมตรีที่ดีต่อกันมาช้านาน และที่สำคัญยิ่งบีบีซียังได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงพระราชสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรและราชวงศ์ของไทย ซึ่งมีพระราชไมตรีที่ดีต่อกันตลอดมา ดังเช่น การให้แผนกภาษาไทยเปิดกระจายเสียงการเสด็จเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม้ว่าขณะนั้นบีบีซีแผนกภาษาไทยจะถูกยุติการกระจายเสียงไปแล้วก็ตาม หรือการนำเสนอสารคดีพระราชประเพณี 12 เดือนไทย-อังกฤษ รวมถึงการนำเอาสาส์นจากวังหลวง ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ มาเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุบีบีซีให้คนไทยได้รับฟัง
     
      และนั่นทำให้ บีบีซี เปรียบเสมือนสถานีวิทยุที่เป็นเส้นทางเชื่อมวัฒนธรรมอันดีระหว่างประเทศไทย และประเทศอังกฤษไปโดยปริยาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อทันทีที่สำนักงานใหญ่ของบีบีซีประกาศออกมาว่าจะยุติบีบีซีแผนกภาษาไทยลง อย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 มีนาคม 2549 จึงมีปฏิกิริยาเคลื่อนไหวจากแฟนประจำของบีบีซีส่งถึงสถานฑูตอังกฤษประจำประเทศไทยแทบทันที
     
      สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียนชื่อดัง อดีตเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของบีบีซี กล่าวถึงเหตุผลของการยุติการกระจายเสียงของบีบีซีแผนกภาษาไทย ที่บีบีซีภาคบริการโลก กรุงลอนดอนให้ไว้ว่า ประเทศไทยมีผู้ฟังรายการอยู่จำนวนน้อยนั้นว่า บีบีซีควรจะพิจารณาด้วยว่า ใครที่เป็นคนฟังรายการของสถานีวิทยุบีบีซี เพราะแฟนรายการส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนที่มีคุณภาพและมีส่วนร่วมรังสรรค์สังคมไทย
     
      "เวลานี้เมืองไทยมีลักษณะการปกครองเกือบจะเป็นเผด็จการ การมีสถานีวิทยุที่เป็นกลางอยู่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง การปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยไปเป็นเรื่องน่าเสียดาย ซึ่งทางบีบีซีควรจะทบทวนเรื่องนี้"
     
      ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นแฟนรายการบีบีซีอย่างเหนียวแน่นก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากแฟนรายการหลายๆ คน ที่รู้สึกเสียดาย และต้องการให้บีบีซีออกอากาศต่อไป เพราะเป็นรายการที่เนื้อหาสาระดี มีข้อมูลข่าวสารเร็ว และเที่ยงตรง ประกอบกับในช่วงเวลานี้วิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ ตกอยู่ภายใต้นายทุนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ จึงอาจทำให้สถานีเหล่านั้นไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
     
      สำหรับ "ติชิลา พุทธสาระพันธ์" หรือ ก้อย ผู้สื่อข่าว และผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เธอกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า บีบีซี เป็นเสมือนแหล่งบ่มเพาะความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพให้กับเธอ เพราะ ก้อยมีโอกาสได้ฝึกงานกับบีบีซีแผนกภาษาไทย ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งก้อยได้ตักตวง เรียนรู้การทำงานจากบีบีซีถึง 1 ปีเต็ม ซึ่งเมื่อเธอสำเร็จการศึกษาทำให้เธอพร้อมสำหรับการทำงานข่าวได้ทันที
     
      "ตอนนั้นมีนักศึกษาเข้าสอบคัดเลือกเพื่อเป็นนักศึกษาฝึกงานกับบีบีซีจำนวนมาก ก้อยจำได้ว่าข้อสอบข้อเขียนถามว่า การเป็นนักข่าวที่ดีต้องเป็นอย่างไร ตอนนั้นตอบไปว่า ต้องเสนอสิ่งที่เป็นความจริง และเมื่อเข้ามาฝึกงานกับบีบีซีจึงได้รู้ว่า การเสนอความจริงคือปรัชญาการทำงานของบีบีซี ที่ปลูกฝังให้กับนักศึกษาทุกคน ว่าอย่ากลัวที่จะตรวจสอบ ตรวจทาน และแม้จะต้องเป็นแกะดำ แต่หากนั่นเป็นความถูกต้องก็ควรกระทำ"
     
      ในขณะเป็นนักศึกษาฝึกงานกับบีบีซี ก้อยมีโอกาสทำตั้งแต่การตัดข่าว อ่านข่าว ติดต่อ สัมภาษณ์ ลงเสียง และทำทุกอย่างเอง ซึ่งหากผลงานของนักศึกษาฝึกงานคนใดมีความสมบูรณ์พอสำหรับออกอากาศ ผลงานชิ้นนั้นก็จะได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนโดยไม่ได้ยึดติดว่านั่นเป็นเพียงการทำงานของนักศึกษาฝึกงาน
     
      "ก้อยได้เรียนรู้จากบีบีซีอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องติดเป็นนิสัยในการทำงานมาถึงทุกวันนี้ ข้อมูลทุกอย่างต้องมีการดับเบิ้ลเช็ค ชื่อยศ ตำแหน่ง ของแหล่งข่าวเราต้องมั่นใจจึงจะรายงานออกไปได้ ไม่อยากให้บีบีซีแผนกภาษาไทยปิดตัวลง เพราะบีบีซีนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย พอรู้ข่าวว่าบีบีซีแผนกภาษาไทยจะยุติการออกอากาศรู้สึกใจหายมาก เพราะทุกวันนี้นักศึกษาฝึกงานของบีบีซีทุกคนยังกลับไปเจอกันทุกวันคริสมาสต์ที่ศูนย์ประสานของบีบีซีแผนกภาษาไทย หรือแม้แต่ใครที่ติดขัดปัญหาในการทำงานก็ยังกลับไปปรึกษากับอาจารย์ที่บีบีซี แต่หากไม่มีบีบีซีก็คงรู้สึกเหมือนบ้านที่เคยอยู่ของพวกเราหายไปเหมือนกัน"
     
      วันนี้ แม้ว่าแฟนรายการของบีบีซีในประเทศไทยยังคงมีความพยายามเคลื่อนไหว เพื่อรักษาสถานีวิทยุที่พวกเขามีความรู้สึกผูกพันเอาไว้ หากแต่ความจำเป็นและเหตุผลทางด้านธุรกิจ ก็ดูจะเป็นเงื้อมเงาที่ทาบทับอยู่ทั่วทุกวงการ และเป็นปัจจัยหลักที่จะผลักและดันให้หลายสิ่งหลายอย่าง "อยู่"หรือ "ไป" ในโลกยุคปัจจุบันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
     
      /////////////////
     
      เรื่อง -คีตฌาณ์ ลอยเลิศ
      ภาพ-หนังสือ 60 ปืบีบีซี แผนกภาษาไทย
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:24


พจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การซีอาโต้ ที่ห้องส่งบีบีซี ระหว่างเยือนในฐานะอาคันตุกะรัฐบาลอังกฤษ(ปี 2502)
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:26


ธานี แม้นญาติ แห่งบีบีซี สัมภาษณ์ ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกรุ่นฟลายเวทชาวไทย ซึ่งไปป้องกันตำแหน่งที่กรุงลอนดอน(ปี 2510)
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:28


ด้านหน้าอาคาร Bush House ที่ทำการบีบีซี แผนกภาษาไทย ที่กรุงลอนดอน
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:34

 Webpage ของ บีบีซีไทยครับ

 http://www.bbc.co.uk/thai/

... ปิดซะแล้ว น่าเสียดายจัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 13:39

คุณจ้อ
โปรดอย่าชักช้า   ชวนเพื่อนๆไปที่เว็บนี้ค่ะ
 http://www.petitiononline.com/th1b2005/petition.html
ผู้คนกำลังไปลงชื่อเรียกร้องให้บีบีซี ภาคภาษาไทย ยังคงอยู่ ไม่โดนยุบ
ขอเชิญสมาชิกเรือนไทยทุกท่านที่สนใจค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ธ.ค. 05, 18:44

 มีข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบครับ
มติที่ประชุมของบีบีซีมีมติยกเลิกการออกอากาศภาคภาษาไทย โดยกำหนดออกอากาศครั้งสุดท้ายในวันที่ 13 ม.ค. 2549 เวลา 19.35-20.00 น.
"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการหารือนายเดวิด ฟอลล์ ทูตอังกฤษชี้แจงกับกลุ่มผู้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านว่า ขณะนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเองก็เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ บีบีซีเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะการบุกตลาดโทรทัศน์ในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทุนมาก ทำให้ฝ่ายบริหารของบีบีซีต้องตัดสินใจปิดแผนกภาษาสิบภาษาเพื่อหาทุนมาใช้จ่ายในโครงการนี้

พร้อมทั้งชี้ว่าในประเทศไทยเองตอนนี้ สถานการณ์ด้านสื่อสารมวลชนดีขึ้น สื่อมีเสรีภาพมากขึ้นกว่าอดีต ทำให้ฝ่ายบริหารของบีบีซีเห็นว่าผู้ฟังมีทางเลือกมากขึ้น "


คลิกที่เว็ปไซต์ตามความเห็นที่ 7  ครับ และ
 http://www.ilovebbcthai.com/  
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง