เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8
  พิมพ์  
อ่าน: 46122 เมืองไทยในอดีต(๕)
แม่หญิงดาวเรือง
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 06 พ.ค. 06, 21:15

 ขอถามอ.เทาชมพูหน่อยนะคะ คือดิฉันได้ดูละครเรื่องสายโลหิตแล้วทำให้ดิฉันอยากรู้เกี่ยวกับตอนจะเสียกรุงมากๆเลยค่ะ แต่ดิฉันไม่ทราบว่าตนเป็นอะไร ตั้งแต่เด็กๆดิฉันก็รู้สึกว่าชอบเรื่องราวในอดีตมากๆเลยค่ะ เมื่อไหร่ที่ดิฉันได้ไปสถานที่เก่าๆดิฉันก็รู้สึกขนลุก แล้วนำตามันก็ไหลมาโดยไม่รู้ตัวค่ะ ขอให้อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องราวในอดีตตอนเสียกรุงให้ฟังเยอะๆด้วยนะคะ แล้วช่วยอธิบายว่าที่ดิฉันเป็นอยู่หมายความว่าอะไรคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 08 พ.ค. 06, 10:50

 ผมคิดว่าน่าจะตรงกับที่พี่ติบอสันนิษฐานไว้ครับ
ตอนแรก ผมเข้าใจว่า 1815 น่าจะเป็นลำดับรูปถ่าย หรือไม่ก็วันประสูติของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ครับ
เรื่องนี้ คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาตอบกันไป
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 15 พ.ค. 06, 12:13

 นโรดมสีหนุ เป็นพระราชโอรสในพระนโรดมสุรามริต เป็นพระนัดดาในพระเจ้านโรดม
ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามณีวงศ์ พระโอรสในพระศรีสวัสดิ์
ส่วนพระนโรดมสุรามริต ทรงครองราชย์ต่อหลังกัมพูชาได้รับเอกราชแล้วช่วงหนึ่ง
วัดตามศักดิ์แล้วเห็นว่า น่าจะเป็น หลานปู่ ของพระศรีสวัสดิ์ครับ

จากความเห็นเพิ่มเติมที่ 52 ในกระทู้เมืองไทยในอดีต (5)
ขอแก้เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 16 พ.ค. 06, 14:18

 ประชาสัมพันธ์งานนี้ให้ฟรีๆค่ะ

งานนิทรรศการ "ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5" ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2549 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

 http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01160549&day=2006/05/16

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กับเบื้องหลัง "ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต ร.4-ร.5" นิทรรศการฉลองครองราชย์ 60 ปี

พนิดา สงวนเสรีวานิช

ภาพหนึ่งภาพแทนคำได้เป็นพันคำ โดยเฉพาะถ้าเป็นภาพถ่ายเก่าๆ เพราะสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา เป็นหลักฐาน เป็นกุญแจที่ช่วยไขและปะติดปะต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ดังเช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระองค์จะไม่ทรงเคยเสด็จประพาสต่างประเทศ แต่ทรงทำให้ต่างชาติรู้จักสยามประเทศได้เป็นอย่างดีด้วยการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในขณะนั้น คือ การถ่ายภาพ

ทรงโปรดฯให้มีการแต่งตั้งช่างภาพในพระราชสำนักขึ้นเป็นครั้งแรก และพระราชทานภาพถ่ายของประเทศสยามในด้านต่างๆ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ พระราชพิธีต่างๆ ภาพภูมิประเทศ สถาปัตยกรรม รวมทั้งความก้าวหน้าในด้านต่างๆ

บางครั้งทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นเสมือนการรายงานข่าวไปยังสิ่งพิมพ์ต่างประเทศเพื่อตีพิมพ์เป็นข่าว ซึ่งพระบรมราโชบายนี้ได้รับการสืบทอดและปฏิบัติอย่างเอาใจใส่ในทุกรัชกาลสืบต่อมา

ปีนี้นับเป็นมงคลสมัย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 60 กิจกรรมสำคัญหลายๆ กิจกรรมจึงมีขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ

โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ภาครัฐและภาคเอกชนหลายๆ หน่วยงานจึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรมขึ้น

เช่นเดียวกับงานนิทรรศการ "ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5" ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2549 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

เป็นการจัดแสดง *นิทรรศการภาพถ่ายโบราณชิ้นงานจริงจำนวน 40 ภาพ* ที่ *ตอน พีค* (Ton Peek) เจ้าของแกลอรี่ภาพถ่ายที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งใจนำเข้ามาให้คนไทยทุกคนได้ชื่นชมกันโดยถ้วนหน้า ด้วยทราบว่าปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองการครองราชย์ เป้นปีที่ 60 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ ภาพถ่ายโบราณที่จะนำมาจัดแสดงเป็นผลงานของ 2 ช่างภาพวังหลวง คนหนึ่งคือ *ฟรันซิศ จิต* หรือ *นายจิตร จิตราคณี* ช่างภาพคนสำคัญที่มีความโดดเด่นทั้งฝีมือเชิงช่างและด้านสุนทรียภาพ มีผลงานทั้งภาพถ่ายบุคคลและภาพสถานที่สำคัญในประเทศไทย

กระทั่งได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็น "ขุนสาทิศลักษณ์" และภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็น "หลวงอัคคีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป"

ส่วนอีกคนคือ *นายวิลเลียม เคนเนท ลอฟตุส* (William Kennett Loftus) ช่างภาพชาวอังกฤษ ซึ่งหลังจากฟรันซิศ จิต ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายลอฟตุสเข้ามารับจ้างถ่ายรูปในเมืองไทย ซึ่งเป็นช่วงที่การถ่ายภาพได้แพร่หลายมากแล้ว

ผลงานส่วนใหญ่ของนายลอฟตุสจะเป็นสถานที่สำคัญ และใช้เทคนิคถ่ายภาพให้ดูโรแมนติค ข้างหลังภาพมีตราแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 มีอักษรไขว้ WKL เหนือคำว่า By Appointment หมายถึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายรูป

ทว่า ภาพเก่าแค่ไหน ถ้าไม่ทราบรายละเอียดของภาพ เช่น ภาพใคร สถานที่ไหน เมื่อไหร่ โอกาสอะไร ฯลฯ คุณค่าของภาพย่อมลดลงกว่าครึ่ง

เมื่อ ตอน พีค ยินดีนำภาพมาจัดแสดง แต่ไม่ทราบรายละเอียดของภาพ ภาระจึงตกหนักอยู่ที่ *ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ* รองราชเลขาธิการและที่ปรึกษาการจัดงานกิตติมศักดิ์ ซึ่งต้องเร่งทำการค้นคว้าข้อมูล เพื่อให้ได้คำบรรยายภาพประกอบภาพถ่ายทั้ง 40 ชิ้น ซึ่งคัดจากคอลเล็คชั่นที่มีทั้งหมด 50 ภาพ

โดย ตอน พีค ได้คัด 10 ภาพ จัดทำเป็นภาพโปสการ์ด จำนวน 2,400 ชุด จำหน่ายในราคาชุดละ 500 บาท และ 999 บาท สำหรับชุดที่มีหมายเลขสวย เพื่อนำรายได้เข้ามูลนิธิพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งมีโครงการจะจัดทำพิพิธภัณฑ์พระพันวัสสาฯต่อไป

สามารถหาซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โทร.0-2690-9999

ท่านผู้หญิงบุตรีเล่าถึงเบื้องหลังการทำการค้นคว้าข้อมูลว่า ไม่มีใครที่ดูภาพแล้วจะรู้เลย นอกจากคนในสมัยนั้น เมื่อมิสเตอร์ตอน พีค ไม่ได้ให้ข้อมูลว่ารูปถ่ายปีไหน เราก็พยายามค้นให้มากที่สุด ซึ่งถ้าเป็นงานพระราชพิธีจะบ่งชัดเจนอยู่แล้ว เพราะสามารถตรวจสอบได้กับจดหมายเหตุ

"การเทียบกับภาพเก่าในหอจดหมายเหตุนั้นก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด เพราะในกองจดหมายเหตุคนที่อ่านภาพให้เขาผิด มันก็ผิดมาตั้งแต่แรก เพราะไม่มีคนไปแก้

ยกตัวอย่างตอนที่ไปทำหอฝิ่น ที่จังหวัดเชียงราย ขอภาพโรงกษาปณ์โรงแรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แต่ที่ส่งมาให้คือตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรีฯ เพราะคนไปเขียนอย่างนั้น พอบอกว่าไม่ใช่ ให้ส่งมาให้ถูก เขาก็ส่งอันเดิมมาอีก เพราะคิดว่าใช่ ฉะนั้น ถ้าดูจากหอจดหมายเหตุเราก็ต้องดูจากหนังสืออื่นๆ ด้วย"

จนถึงวันนี้ข้อมูลภาพเก่าในหอจดหมายเหตุก็ยังมีอยู่ที่มากที่ไม่ถูกต้อง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ จึงไม่สามารถทำวิจัยได้

"รัฐบาลไหนควรจะนึกถึงความสำคัญของหอจดหมายเหตุ ตั้งแต่ตอนที่กรมประชาสัมพันธ์ถูกไฟไหม้ ภาพต่างๆ ที่ถ่ายไว้จากสมัยไหนต่อไหน อย่างภาพรัชกาลที่ 7 แผ่นเสียงก็ดี เพลงก็ดี อะไรก็ดีของสุนทราภรณ์ ฯลฯ ถูกไฟไหม้หมดเกลี้ยง และก็ไม่ได้มีการเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุด้วย นี่คือประวัติศาสตร์ไทย หายเหมือนสมัยอยุธยาถูกไฟไหม้เสียกรุง

ควรทำเก็บไว้หลายๆ แห่ง เพราะจะหวงไว้ไม่ให้คนดูก็ไม่ได้ ทำเป็นก๊อบปี้ให้ดูสิ แล้วถ้าอยากได้ก็ทำถ่ายให้เขา แล้วปั๊มตราหอจดหมายเหตุไว้ด้านหลัง เพื่อจะทำให้รู้ว่าภาพได้จากที่ไหน"

และเนื่องจากมีเวลาในการค้นคว้าข้อมูลและเขียนไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ทำให้ทีมค้นข้อมูลต้องแม่น

"ทีมงานไม่มีหรอก แต่เป็นเพื่อน เป็นลูกน้อง บางคนอยู่ราชบรรณาคม อยู่ห้องสมุดของสำนักราชเลขาธิการ หนังสือเรามีอยู่แล้ว แม้กระทั่งมูลนิธิรัชกาลที่ 6 คือเป็นลูกน้องที่ใช้กันได้ และเป็นคนที่สนใจเรื่องอย่างนี้ ก็ช่วยกันไปหาเรื่องงานพระราชพิธีสรงสนาน งานพระราชพิธีโสกันต์ งานพระราชพิธีต่างๆ ไปค้นๆ ว่ารูปนี้น่าจะเป็นอะไร ช่วงไหน แล้วมาพูดคุยกัน

ทำงานกันมาปีหนึ่ง ใครว่างเมื่อไหร่ก็ทำ แล้วเราก็ต้องรอ เพราะมีการกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทุกคนปลื้มใจและเป็นพลังให้ทำงานมากขึ้นไปอีก

เราพยายามให้ข้อมูลไปแล้วก็แล้วแต่คุณทอน พีค ว่าจะใช้แค่ไหน เพราะภาพถ้าอธิบายมากเกินไปก็น่าเบื่อ ซึ่งถ้าเป็นที่สนใจมากขึ้น เราอาจจะทำเป็นหนังสือขึ้นมาก็ได้ หรือคนอื่นจะทำต่อก็ได้"

สำหรับที่มาของภาพถ่ายของนายตอน พีค เชื่อว่าอาจจะได้มาจากรัสเซียอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากบางภาพมีเขียนภาษารัสเซียที่ด้านหลัง และภาพทั้งหมดนายตอน พีค ก็ยืนยันว่าได้จากการประมูล

"ของที่หลุดไปอยู่เมืองนอกมีมากมาย ทั้งที่เป็นเครื่องบรรณาการ หรือคนมาถ่ายรูปไป หรือมาซื้อรูปฟรันซิศ จิต ไป หรือเสียชีวิตไปแล้วลูกหลานเอาไปประมูลก็เป็นสิทธิของเขา

ในเมืองนอกส่วนใหญ่คนไทยจะสั่งถ้ามีรูปรัชกาลที่ 5 แต่รัชกาลอื่นจะไม่สนใจ ฝรั่งก็เลยไปเจอสิ่งที่คนไม่สนใจ แต่เป็นประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานที่ใช้เพื่อการอ้างอิงได้

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้มีการประมูลพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเซอร์จอห์น บาวริ่ง ทั้งๆ ที่จดหมายนี้อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่เพื่อนชาวต่างประเทศซื้อกลับมาจากคริสตี้ เป็นเพราะเราไม่มีเงินพอ หรือมีเวลาพอที่จะไปนั่งประมูลกับเขา กว่าจะรู้ว่ามีการเปิดประมูล เขาก็ซื้อไปแล้ว"

ท่านผู้หญิงบุตรีเล่าต่อว่า ภาพที่ดูเคยเห็นมาหมดแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นภาพวิวของแม่น้ำ ของวัด ของวัง แต่จะมีบางรูปที่เราไม่รู้ข้อมูลเลย เพราะสมัยนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว กำแพงเก่าไม่รู้ว่าตรงไหน ท่าน้ำไม่รู้ว่าท่าไหน เพราะเห็นว่าสวยก็ถ่ายไป แต่เราดูไม่รู้เลยว่าอยู่ตรงไหน

นอกจากนี้ ส่วนที่ยากคือขนาดและความชัดของรูปที่ได้ เนื่องจากเป็นภาพขนาดครึ่งหนึ่งของกระดาษเอ 4 และส่งผ่านทางอี-เมล ทำให้ภาพที่ได้รายละเอียดด้อยลง

"เรายังไม่ได้เห็นภาพจริงเลย เพราะติดต่อกันทางอี-เมล รายละเอียดของรูปไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างภาพยักษ์วัดแจ้ง ดูทีแรกตื่นเต้นมาก เพราะได้เห็นมีคนในภาพ ทำให้เห็นสเกลของยักษ์ พอมาดูอีกวัน จึงเห็นว่าเป็นคน 2 คน"

ซึ่งข้อมูลที่ได้ ถ้าไม่แน่ใจจะไม่ใส่เข้าไป เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงบุตรีเล่าถึงข้อสังเกตของการดูภาพเก่าว่า "การดูภาพเก่าต้องสังเกตทุกอย่าง เริ่มจากว่าเขาจะถ่ายอะไร วัด พระพุทธรูป วิว อันนี้ค่อนข้างไม่ยากถ้าคนรู้เรื่องประวัติศาสตร์

ถ้าฉายรูปเจ้านาย เจ้านายอย่างรัชกาลที่ 5 ไม่มีสิทธิหรอก และถ้าเป็นพระราชโอรสบางพระองค์ ถ้าเราไม่คุ้นกับท่าน ตอนที่ท่านยังทรงพระเยาว์ยากจะบอกว่าเป็นองค์ไหน แต่ถ้าเป็นตอนโสกันต์จะมีพระฉายาลักษณ์อยู่แล้ว ก็ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเป็นฝรั่งไม่มีทางรู้ ขนาดเราบางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าองค์ไหน ต้องไปถามผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ที่รู้ก็ไปกันหมดแล้ว"

"ที่เราตื่นเต้นมากคือ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ซึ่งถูกไฟไหม้ไป อยู่พระราชวังบางปะอิน เป็นที่ประทับของเจ้านาย รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง รัชกาลที่ 6 ประทับ และตอนซาร์นิโคลัสยังเป็นมกุฎราชกุมารก็มาประทับที่นี่ และฉายพระรูปที่นี่ด้วย แต่ไม่เคยมีใครเห็นองค์พระที่นั่งทั้งพระองค์ เพราะไฟไหม้ตอนรัชกาลที่ 8 ตอนที่ซ่อม ท่านประทับอยู่เมืองนอก ทางนี้ก็จัดการซ่อม

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ไปประมูลมาจากรัสเซีย ที่ส่วนใหญ่เราจะไม่เคยได้เห็นรูปจริง และภาพอื่นๆ อาจจะเคยเห็นแล้วจากในหนังสือ

แต่งานนี้ไม่ได้คิดค่าเข้าชมเลย แค่ขอให้ซื้อภาพโปสการ์ดที่มิสเตอร์ตอน พีค เลือกไว้ เพื่อนำเงินทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งจะทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสมเด็จพระพันวัสสาฯ ในสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อของการปกครอง"

นิทรรศการ "ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5" จึงเป็นอีกงานที่คนไทยไม่ควรพลาด

คุณพิพัฒน์ไปช่วยทำบ้างหรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 16 พ.ค. 06, 15:02

 ช่วยนิดหน่อยครับ
คือทำให้งานเขาสับสนน่ะครับ

แอบอวดรูปพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ให้พวกเราชม เจ้าของคงไม่ว่า ถือเป็นการประชาสัมพันธ์เสริมละกัน

คำบรรยายของท่านผู้หญิงเป็นข้อมูลที่มีค่ามากนะครับ ใช่ว่าท่านจะทำให้ใครง่ายๆ
ใครไม่ไปชมและ"อ่าน"

จะเสียใจ
.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 09:44

 ภาพนี้ไม่เคยเห็นเลยค่ะ  
อยากไปดูนิทรรศการ  ตอนเปิดงาน  เผื่อมีโอกาสฟังท่านผู้หญิงมาบรรยายด้วย
คุณพิพัฒน์มีกำหนดการไหมคะว่ากี่โมง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 10:17

 เข้ามาประชาสัมพันธ์อีกแรงครับว่าคำบรรยายของท่านผู้หญิงบุตรีฯ จะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก

สืบทราบมาว่าท่านผู้หญิงตั้งใจเตรียมคำบรรยายนี้อย่างจริงจังและมีคณะทำงานคอยค้นคว้าข้อมูลเสริมมาเป็นเวลาหลายเดือน รับรองน่าสนใจครับ

ข้อวินิจฉัยของท่านหลายเรื่องนั้นน่านับถือว่าท่านช่างสังเกตมาก นอกจากจะดูภาพสถานที่แล้ว ท่านยังสังเกตผู้คนในภาพด้วยครับว่าใครทำอะไรที่ไหน

มีตัวอย่างภาพหนึ่ง หากจะไม่ผิดรู้สึกจะเป็นกระบวนแห่พระราชพิธีลงสรง ท่านดูสักพักก็บอกว่า เนี่ย..เป็นขบวนตอนเดินกลับ ..ทุกคนก็งงว่าท่านทราบได้อย่างไรเพราะคนในขบวนแห่ก็แต่งตัวเดิมๆ เหมือนกันไม่ว่าไปหรือกลับ ท่านเลยอธิบายว่าก็ดูทิศทางเดินเอาสิ วังหลวงอยู่บริเวณนั้น ท่าน้ำอยู่บริเวณโน้น ถ้าเดินไปต้องหันหลังมาทางนี้ หันหน้าไปทางโน้น นี่กลับกันก็แปลว่าเดินกลับ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

หรืออย่างภาพพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสยุคก่อนก็มีลักษณะต่างกับยุคปัจจุบัน ได้ยินมาว่าคณะทำงานก็ถกเถียงกันอยู่นานว่าวัดไหนกันแน่ ต่อมาก็สรุปได้ว่าเป็นวัดเทพศิรินทราวาส ในสมัยที่ยังไม่ได้สร้างสถูปที่บรรจุพระอัฐิของราชสกุลภาณุพันธ์ และจักรพันธุ์ ทำให้ดูโล่งๆ แปลกตาไป

ที่สำคัญ งานนี้การกุศลนะครับ ค่าตอบแทนผู้บรรยายทั้งหมดจะนำเข้าสมทบมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังมีโครงการที่จะนำภาพเก่าต่างๆ บางภาพ ทำโปสการ์ดจำหน่าย นำรายได้สมทบการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 11:12

 ผมไม่แน่ใจเรื่องกำหนดการทั้งหลายครับ
เข้าใจเอาว่าน่าจะเป็นงานปิด เฉพาะวันเปิด (แหนะ เล่นสำนวนไม่รู้จักเลิก...) เพราะเจ้านายเสด็จ อย่างน้อยน่าจะต้องมีบัตรเชิญจึงจะเข้าร่วมได้...กระมัง

ผมอาจจะป่วยพอดีในวันนั้น บัตรของผมจึงว่าง อาจารย์จะกรุณารับไปทำกุศลใหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 11:44

 โทรไปที่โรงแรมแล้วค่ะ  
เขายังไม่ออกกำหนดการและบัตรเชิญ
ต้องรอต้นเดือนถึงจะรู้เรื่องกัน

ดิฉันอยากให้คุณพิพัฒน์ไปร่วมงานมากกว่าค่ะ
อย่าเพิ่งเสียสละบัตรเชิญไปง่ายๆเลย
ดิฉันจะพยายามหาเองสักใบ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 14:34

 แอบลักคำบรรยายสุดเริดของท่านผู้หญิงมาอวด อย่าเอ็ดไป มิเช่นนั้นผมจะถูกเอ็ดและอัดจนอ่วมถึงอวกแน่ครับ
พระเดชพระคุณท่าน
-------------
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าพนักงานกั้นพระกลดถวายอยู่ด้านขวา) เสด็จลงยังแพเทียบเรือ ณ ท่าราชวรดิษฐ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (เจ้าพนักงานกั้นพระกลดถวายอยู่ด้านซ้าย) เพื่อทรงรับมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (ต่อมาเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าซาร์ นิคโคลัส ที่ ๒) ในฐานะพระราชอาคันตุกะที่เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนสยามประเทศอย่างเป็นทางการ โดยประทับเรือพระที่นั่งทอดกัญญาขนาดย่อม มีฝีพาย ๔๖ นาย เชิญเสด็จพระราชดำเนินจากเรือพระที่นั่งอัพพอลลองที่โปรดเกล้าฯให้ไปรับเสด็จมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียพร้อมคณะ จากเรือพระที่นั่งปัมจัด อโซวาที่ทอดสมออยู่ใกล้พระสมุทรเจดีย์ที่ปากน้ำมายังท่าราชวรดิษฐ์  เห็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ตั้งกองเกียรติยศอยู่ด้านหน้าของภาพพร้อมวงดุริยางค์ทหารบกที่บรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จ
On the 8th of March A.D. 1890 King Rama V standing on a wharf with Crown Prince Maha Vajirunhis, both being protected from the sun’s rays by long-handled parasols, awaiting the arrival of a Royal Barge bearing the Czarevitch of Russia (the future Tsar Nicholas II) as a Royal Guest from his ship for a State Visit. The King’s Royal Barge is moored to the wharf of the Rajaworadit Pier and has a larger canopy than that of the Royal Barge with 46 oarsmen bearing the Royal Guest from the Royal Yacht Apollo that was sent to fetch the Czarevitch and his entourage from the Russian Ship Panjat Assova to the Rajaworadit Pier. In the foreground are Guards of Honor of the King’s Own Body Guards and the Army Band that played the Russian Anthem as the Cesaravitch stepped ashore.
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 14:41

 ใครอยากเห็นคุณ pipat ถูก "เอ็ดและอัดจนอ่วมถึงอวก" มาติดสินบนผมหน่อยครับ กำลังคิดจะส่งกาคาบบัตรสนเท่ห์ไปทิ้งไว้แถวศาลาลูกขุนในสักหน่อย แถวนั้นยิ่งอภัยโทษแก่กาเสียด้วย ฉะนั้น เชื่อได้ว่าข่าวจะถึงบุคคลในศาลาลูกขุนในเป็นแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 14:49

 ยกมือเป็นรายแรกค่ะ  อยากเห็นเป็นบุญตา
เชื่อว่าถ้าบันทึกภาพในขณะนั้นไว้ได้  ต่อไปภาพนี้จะเป็นภาพประวัติศาสตร์อันประเมินค่ามิถูก แน่นอน
หายากกว่าภาพนายฟรันซิส จิตรหลายเท่า

ขอติดสินบน ด้วยการอาสาพาคุณ UP ไปนั่งพับเพียบฟังท่านผู้มีวัยใกล้จะหนึ่งศตวรรษในอีกไม่ถึง ๑๐ ปี
เล่าเรื่องสมัยท่านอายุ ๘ ขวบ  ได้เข้าเฝ้าเจ้านาย ให้ฟัง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 15:07

 จะถึงถ่ายทอดสดใหมครับ

หมายถึงถ่าย ตอน ถูกทอด ทั้งยังสดๆ น่ะครับ

ผมว่า วิญญานโหดจากเรื่อง "ทุบ สับ เชือด ลาบเลือดเมืองมาคอน" คงวนเวียนอยู่แถวนีแหละ
เผลอๆ จอมชำแหละเมืองมาคอน จะแอบมาประกอบกิจการปั่นและปั้นกรทู้ในเรือนไทยนี่เอง

เ  ร  า  เ  ตื  อ  น  ท่  า  น  แ ล้ ว...........
บันทึกการเข้า
elvisbhu
แขกเรือน
พาลี
****
ตอบ: 215

เป็นคนเขียนรูป


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 15:38

 ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไป
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 17 พ.ค. 06, 22:06

 เพลงยาวกาคาบข่าว

...........................................................................กาพยนต์กลไกคาบใบข่าว
มิต้องพึ่ง UPS, FedEx Ground.........ก็ถึงด้าวแดนไทยได้โดยพลัน
ลืมเช็คเว็บกรมอุตุฯ พายุหนัก...........................พระพายผลักกาผวาพาผกผัน
ไปไม่ถึงวิมานทองของเทวัญ............................ข่าวทั้งนั้นหล่นคว้างลงกลางลาน
หลั่นตรงแถวสุขุมวิทประชิดเหมาะ..................ดาวพระเคราะห์แปรเป็นเสาร์เข้าสถาน
มีมานพหนึ่งสนิทใกล้ชิดงาน............................เห็นข่าวสารหล่นฟ้ามาสู่เมือง
แต่แรกนึกว่าแผ่นเจลไว้ลดไข้...........................เล็งใกล้ใกล้ อ้อ! จดหมายบรรยายเรื่อง
บัดเดี๋ยวนั้นดาวพระเกตุวิเศษเรือง....................ก็ยักเยื้องย้ายองค์เองเข้าเล็งลัคน์
บัตรสนเท่ห์ของน้องกาในครานี้.......................หว่างวิถีฝ่าฝนจนเปียกหนัก
หมึกก็เปื้อนเลือนรางจืดจางนัก........................อ่านไม่ออกสักวรรคว่ากระไร
คุณ Pipat ทราบสารด้วยญาณส่อง...............คงยิ้มย่องผ่องแย้มจนแก้มใส
ว่ารอดตัวรอดตนพ้นโพยภัย............................โชคช่วยไว้บัตรจึงไม่ถึงมือ
กาพยนต์กลไกไม่ละลด...................................วางกำหนดแผนใหม่ไม่เสียชื่อ
ฝึกพูดคำมนุษย์ไว้หวังไปลือ...........................ไม่ต้องเขียนเป็นหนังสือให้วุ่นวาย
คราวนี้ละจะเรียกนักข่าวด้วย..........................เพชฌฆาตฤกษ์ช่วยให้สมหมาย
คอยนับตัวตุ๊ดตู่อยู่เรียงราย..............................ใครจักได้รับไปเลี้ยงลองเสี่ยงเอย!
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง