เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 25087 ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เกาลัดกลมๆ
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


 เมื่อ 25 ก.ย. 05, 11:41

 ขอฝากตัวกับทุกท่านค่ะ
มีเรื่องที่สงสัยอยู่พอสมควรเกี่ยวกับราชทินนามที่ขุนนางจะได้รับต่อท้ายบรรดาศักดิ์ค่ะ อยากได้ความรู้เรื่องนี้มาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ก.ย. 05, 08:44

 ช่วยตั้งคำถาม ให้ชัดเจนกว่านี้หน่อยได้ไหมคะ
สมาชิกหลายท่านในที่นี้อาจจะตอบได้ตรงความต้องการของคุณ
เพราะหลายท่านก็มีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นอย่างดี

คืออยากทราบว่าคุณสงสัยเรื่องอะไรเกี่ยวกับราชทินนาม
เช่น ราชทินนามใด
ขุนนางคนไหน
บันทึกการเข้า
เกาลัดกลมๆ
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ก.ย. 05, 22:47

 ที่สงสัยคือ ทำเนียบราชทินนามของขุนนางน่ะค่ะ คือราชทินนามบางอันก็คุ้นหู คือมีหลายท่านที่ได้รับ บางอันก็คุ้นเพียงท่านเดียว ทำให้สงสัยว่ามีการตั้งเอาไว้เป็นทำเนียบตำแหน่งขุนนาง(แล้วแต่กรม) มีตั้งเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีทำเนียบพอจะมีท่านใดทราบหรือไม่คะว่ามีอะไรบ้าง

บางกรณีก็เห็นใช้ราชทินนามเดิมต่อเมื่อเลื่อนบรรดาศักดิ์ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่
บางราชทินนามก็แปลกๆค่ะ อย่าง...เก่งระดมยิง...
อย่างราชทินนาม ศรีสุนทรโวหาร ก็เห็นมีหลายท่านใช้นะคะ

ชอบเว็บนี้มากค่ะ (เหมือนเจอโลกของเราแล้ว ที่บ้านไม่ค่อยมีใครคุยเรื่องไทยๆเท่าไหร่)
ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 06:40

 หากต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับตำแหน่งและราชทินนามสมัยอยุธยา ลองค้นดูในพระราชกำหนดกฎหมายเก่าๆ ดูนะครับ โดยเฉพาะ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และนาทหารหัวเมือง ซึ่งประกาศใช้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ถ้าเป็นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือชื่อ "การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕" ของ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

หากต้องการทราบราชทินนามและประวัติของบรรดาเจ้าพระยาทั้งหลายขอให้ดูในหนังสือ "ตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์"
พระนิพนธ์ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์

หากสนใจความเป็นมาของราชทินนามบางนามโดยเฉพาะที่ได้รับอิทธิพลมาจากตัวละครในวรรณคดีต่างๆ ของอินเดีย ขอให้ลองหาหนังสือชื่อ "ประวัติราชทินนาม" เรียบเรียงโดย นาคะประทีป มาอ่านดูครับ

จำได้ว่าคุณ V_Mee เคยเล่าไว้ในเรื่องประวัติราชทินนามบางนามอยู่เหมือนกัน เชื่อว่าคงจะเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้กับคุณเกาลัดกลมๆ ได้เป็นอย่างดีครับ
บันทึกการเข้า
หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า
มัจฉานุ
**
ตอบ: 78


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 13:32

 ราชทินนามก็จะมีความหมายตามตำแหน่งหน้าที่การงานของขุนนางนั้นๆครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 15:15

ดิฉันก็รอคุณ V_Mee อยู่เช่นกันค่ะ

ระหว่างท่านยังไม่มา ก็ขอตอบส่วนหนึ่ง เป็นรำหน้าม่านไปพลางๆก่อน

ศรีสุนทรโวหาร เป็นราชทินนามของเจ้ากรมอาลักษณ์  วังหน้า  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็น "พระศรีสุนทรโวหาร"
หมายความว่าขุนนางคนไหนได้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ของวังหน้า ก็เป็นพระศรีสุนทรโวหารกันทุกคน    ถ้าจะให้รู้ว่าใครเป็นใคร  ก็มีชื่อเดิมต่อท้ายเอาไว้
เช่นพระศรีสุนทรโวหาร ภู่  คือเดิมท่านชื่อภู่    

ต่อมาเมื่อไม่มีวังหน้าแล้ว   เจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้าก็หมดไป แต่บรรดาศักดิ์ยังอยู่
แต่ว่าเป็นถึงพระยา
ใครได้เป็น ก็เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร  วงเล็บชื่อเดิมและนามสกุลไว้ในตำราให้รู้กันว่าเป็นท่านใด
เคยอ่านพบว่า พระสารประเสริฐ(ตรี นาคะประทีป) ผู้แปลงานร่วมกับพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) กำลังจะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร
แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการหยุดบรรดาศักดิ์ทั้งหมด    เราจึงไม่มีพระยาศรีสุนทรโวหาร(ตรี นาคะประทีป) อย่างน่าเสียดาย

ใน "สี่แผ่นดิน"  มีผู้กล่าวถึงคุณเปรมว่า เป็นลูกหลานพระยาโชฎึกฯ
พระยาโชฎึกฯ หมายถึงพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  ตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย สังกัดคลัง  ความรับผิดชอบอย่างหนึ่งคือเป็นผู้ดูแลควบคุมคนจีนในไทย
ขุนนางที่ได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีมีหลายท่านด้วยกัน   ท่านไหนถึงแก่กรรมหรือเลื่อนขึ้นไปรับบรรดาศักดิ์อื่น  ท่านใหม่ก็เข้ามาแทนที่
เมื่อถึงตอนพระราชทานนามสกุล  ก็มีอย่างน้อย 2 สกุลที่บรรพบุรุษต่างเคยรับตำแหน่งพระยาโชฎึกฯ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานให้ตามชื่อของบรรพบุรุษ
เชื้อสายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(พุก) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า โชติกะพุกกะนะ
เชื้อสายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(เล่าเถียน) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า โชติกเสถียร
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 12:28

 คุณเทพ  สุนทรศารทูล อดีตศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ล่วงลับไปแล้ว  ได้อธิบายเรื่อง "ราชทินนาม" ไว้ใน "มานวสาร" ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนของชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ฉบับปีที่ ๑๐  ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ไว้ว่า
"ราชทินนาม" แปลโดยความหมายได้ว่า "นามอันพระราชาตั้งให้"  
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เจ้านายและขุนนาง ให้มีเกียติศักดิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  จึงพระราชทานราชทินนามให้ปรากฏแก่คนทั้งปวง
ราชทินนาม ที่พระราชทานให้นี้  ไม่ใช่ว่าจะโปรดพระราชทานตามพระทัยชอบ  แต่ทรงตั้งให้ด้วยพระมหากรุณา  จะให้เกิดเป็นศิริมงคลแก่ผู้นั้นด้วย  จึงทรงให้พระอาลักษณ์และพระโหราธิบดี คิดนามพระราชทานให้ต้องตามตำรา  คือตั้งตามวันเกิดผู้นั้น  ถ้าหากว่าเป็นบุคคลชั้นแม่ทัพนายกอง  จะต้องให้โหรตรวจดูดวงชะตาประกอบด้วยว่า คนเกิดในวันนั้น  มีดวงดาวให้คุณให้โทษอย่างไ  จะตั้งนามพระราชทานอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้เจ้าชะตานั้นมีศิริมงคล  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเรียนวิชาโหราศาสตร์ด้วย  จึงทรงทราบว่านามที่โหรกับอาลักษณ์คิดถวายนั้นเหมาะหรือไม่  แล้วจึงเขียนประกาศนียบัตร  หรือหิรัฐบัตร หรือจารึกสุพรรณบัฏ  พระราชทานราชทินนาม ให้เป็นเกียรติยศ  ราชทินนามจึงเป็นนามศักดิ์สิทธิ์  เป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง  เพราะตั้งด้วยวิชากับน้ำใจและคุณธรรม ผสมกัน ๓ ประการ  กล่าวคือ ผู้ตั้งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์  ตั้งน้ำใจกรุณาและด้วยธรรมะในหัวใจของผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา  ก็ทรงใช้หลักการตั้งราชทินนามในการผูกพระนาม เช่น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) พระราชสมภพวันอังคาร  ก็ทรงใช้อักษรวรรค จ. เป็นอักษรนำ  เพื่อให้ดวงจันทร์ ตัวกาลกิณีเดิมในดวงพระชะตาซึ่งทรงคุณเป็นมหาจักรนั้นให้กลับกลายเป็นไม่ให้โทษ ตามตำราโหราศาสตร์  หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติวันเสาร์  ก็ทรงผูกนามพระราชทานว่า "ดิศวรกุมาร"  โดยให้อักษร ด. นำหน้า ตามหลักของคนเกิดวันเสาร์
การพระราชทานราชทินนามเจ้านายและขุนนางตามวันเกิดนั้นคงเป็นพระราชประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ซึ่งมีพระราชสมภพในวันจันทร์ว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" นั้น  โปรดให้มช้อักษร ภ. นำหน้า  เพื่อให้ดาวอาทิตย์ในดวงพระชะตาเดิม  ซึ่งเป็นกาลกิณีนั้นกลายเป็น "ศรี" จากให้โทษเป็นให้คุณแก่พระชะตา
ปัจจุบันการพระราชทานพระนามโดยหลักดังกล่าวข้างต้นยังคงมีใช้อยู่ในพระราชสำนัก  ซึ่งก็จะเป็นนามพระราชทานสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิด  กับที่พระราชทานแก่เด็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารหรือผู้ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานเท่านั้น
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 13:15

 นี้นี้ขอกล่าวถึงราชทินนามสำหรับตำแหน่งราชการต่างๆ นอกจากเกณฑ์การตั้ง ราชทินนาม ที่กล่าวแล้ว
ในบทพระไอยการตำแหน่งนาซึ่งได้บัญญัติไว้แต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น  ได้กำหนดาชทินนามสำหรับตำแหน่งราชการต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก  ราชทินนามแต่ละนามนั้นจะกำหนดตายตัวสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นๆ แต่อาจจะมีสร้อยนามที่ต่างกันออกไปได้บ้าง เช่น
สมุหนายก    เป็น  เจ้าพระยาจักรี
สมุหพระกลาโหม  เป็น  เจ้าพระยามหาเสนา
เสนาบดีวัง    เป็น  ธรรมาธิกรณ์ หรือ ธรรมาธิกรณาธิบดี
เสนาบดีคลัง  เป็น  โกษาธิบดี
เสนาบดีเวียง  เป็น  ยมราช
เสนาบดีนา     เป็น  พลเทพ
นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไป เป็นพระยา พระ หลวง ขุน  มีราชทินนามตามตำแหน่ง เช่น พระยามหาเทพหัตรสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย  พระยามหามนตรีศรีองครักษสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา   พระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา  พระยาโชฎีกราชเสรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำแหน่งในลำดับรองๆ ลงมานั้น จะแบ่งเป็น ขวา และซ้าย เสมอ  แม้แต่ตำแหน่งพระราชคณะและพรครูฐานานุกรม  ก็ยังมีกำหนดเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน  เช่นตำแหน่งพระราชาคณะปลัดในสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธ  ก็มีราชินนามเป็น พระพระมหาคณิศร  และพระจุลคณิศร ที่พระราชคณะปลัดขวา และซ้ายตามลำดับ
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ที่เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจัดเป็นกระทรวง  มีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นจำนวนมากขึ้น  จึงมีการพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์และราชทินนามมากขึ้นจากที่มีอยู่เดิมในบทพระไอยการ  แต่ราชทินนามเดิมก็ยังมีการนำมาใช้หากแต่มีการผูกราชทินนามพระราชทานเพิ่มมากขึ้น เข่น  เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  
ราชทินนามที่ผูกขึ้นใหม่นี้  บางราชทินนามก็เป็นนามที่พระราชทานเฉพาะบุคคล เช่น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.รซงเปีย  มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ  ซึ่งราชทินนามนี้อธิบายได้ว่า ท่านผู้นี้เคยตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแดนไกลมาก่อน  หรือ เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด  ศุภมิตร) สุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  ราชทินนามนี้แปลได้ว่า เป็นมิตรผู้ประเสิรฐของพระราชา  เพราะได้เป็นราชองครักษ์ในรัชกาลที่ ๖ มาแต่ประทับทรงศึกษาที่อังกฤษ  
นอกจากนั้นในรัชกาลที่ ๕ - ๖ ยังได้ทรงผูกราชทินนามพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงต่างๆ มีนามอันคล้องจองกันจำนวนมาก เช่น
รัชกาลที่ ๕  -  วรพงษ์พิพัฒน์  บุรุษรัตนราชพัลลภ  นรรัตนราชมานิต  นรฤทธิ์ราชหัช  ศิริสัตน์สถิตย์  วรสิทธิ์เสวีวัตร์
ในรัชกาลที่ ๖ ทรงคิดราชทินนามไว้มาก เช่น ราชทินนามสำหรับมหาดเล็กผู้ใหญ่ชั้นพระยา  อาทิ ประเสริฐศุภกิจ  ประสิทธิ์ศุภการ  บำรุงราชบริพาร  บริหารราชมานพ  ชั้นรองลงมาที่ทรงคิดไว้มีอาทิ จมื่นเทพดรุณาทร  จมื่นอมรดรุณารักษ์  เป็นชั้นรองหัวหมื่นมหาดเล็ก  หลวงประมวลธนสาร  หลวงประมาณธนสิทธิ์ สังกัดกองปลัดบาญชี  นายแพทย์เป็น หลวงวิวิธเวชการ  หลวงวิศาลเวชกิจ  พนักงานผสมยาเป็น ขุนพิพิธเภสัช  ขุนพิพัฒน์โอสถ  ราชทินนามสำหรับครู เช่น ราชดรุณรักษ์  พิทักษ์มานพ  อนุสิษฐดรุณราช  อนุสาสน์ดรุณรัตน์  สนธิ์วิชากร  สอนวิชาการ  ธรมสารประศาสน์  ธรรมพาทประจิตร  วิสิษฐศุภเวท  วิเศษศุภวัตร  
ราชทินนามสำหรับช่างเขียนหรือจิตรกร เช่น อนุศาสน์จิตรกร  อนุสรจิตราคม  อนุกรมจิตรายน  วิมลจิตรการ  วิศาลจิตรกรรม  ประสมสีสมาน  ประสานเบญจรงค์  บรรจงลายเลิศ  ประเจิดลายลักษณ์  สำหรับช่างสลัก เช่น จำลองศุภลักษณ์  สลักศุภเลิศ  ประเสริฐหัดถกิจ  ประสิทธิ์หัดการ
ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง  ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน  เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ  ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว
พวกพิณพาทย์ก็มีราชทินนามเฉพาะ เช่น ศรีวาทิต  สิทธิ์วาทิน  พิณบรรเลงราช  พาทย์บรรเลงรมย์  ประสมสังคีต  ประณีตวรศัพท์  คนธรรพวาที  ดนตรีบรรเลง  เพลงไพเราะ  เพราะสำเนียง  เสียงเสนาะกรรณ  สรรเพลงสรวง  พวงสำเนียงร้อย  สร้อยสำเนียงสนธิ์  วิมลวังเวง  บรรเลงเลิศเลอ  
แต่ละราชทินนามที่ยกมาเป็นตัวอย่างอ่านดูแล้วจะทราบได้ทันทีว่า ผู้ที่ได้รับพระราชทินนามนั้นมีหน้าที่ราชการอย่างไร  ยังมีราชทินนามอีกมากสำหรับตำแหน่งต่างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 11:06

 ยังไม่อยากให้กระทู้นี้หยุด ค่ะ
ก็เลยพยายามต่อเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเท่าที่นึกออก

เมื่อสุโขทัยเข้ามาเป็น "ทองแผ่นเดียวกัน" กับศรีอยุธยา   เจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย ก็กลายมาเป็นขุนนางอยุธยา สืบเชื้อสายกันลงมา
คนหนึ่งในจำนวนนี้ก็คือขุนพิเรนทรเทพ  หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ส่วนพระนามของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย ก็มาเป็นราชทินนามของขุนนางอยุธยา
เท่าที่ดิฉันจำได้  มีพระรามคำแหง  ขุนงำเมือง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 12:12

 คุณเทาชมพูพูดถึงราชทินนามในตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้ายไปแล้ว ผมขออนุญาตพูดถึงราชทินนามในตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวาเพิ่มเติมจากที่คุณ V_Mee เอ่ยไว้บ้างแล้วก็แล้วกันนะครับ

กรมท่าขวานั้นมีหน้าที่ดูและการประกอบการค้ากับประเทศทางฝั่งขวา คือฝั่งตะวันตกของประเทศไทย อาทิ ชาวอินเดีย อาหรับ อาร์เมเนีย และยุโรป นอกจากนี้กรมท่าขวายังทำหน้าที่ควบคุมดูแลชาวต่างชาติเหล่านั้นที่เข้ามาติดต่อค้าขายหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ผู้บังคับบัญชาสูงสุดหรือตำแหน่งเจ้ากรมคือ “พระยาจุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นราชทินนามที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนนางในตำแหน่งนี้เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนมากจะเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์มาโดยตลอด เพิ่งมีที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ในยุคหลังๆ

ราชทินนามของพระยาจุฬาราชมนตรีเป็นที่มาของตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" นับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 12:45

 คุณ UP เข้ามาช่วยต่อให้แล้ว  มาปูพรม วางกาน้ำชา เชี่ยนหมาก ต้อนรับ อย่าเพ่อลุกไปเร็วนักนะคะ

ราชทินนาม นอกจากมาพร้อมตำแหน่งอย่างที่เล่าข้างบนนี้ ก็มักจะบอกหน้าที่การงานของบุคคลไปด้วยในตัว
ถ้าทำเกี่ยวกับการเขียนหนังสือหนังหา  อย่างพวกอาลักษณ์ทั้งหลาย ก็มีศัพท์บอกให้รู้ว่าเป็นกวี มีคำพูดไพเราะ แต่งหนังสือหนังหาเก่ง
 อย่างขุนสุนทรโวหาร(ภู่)  หลวงมหาสิทธิโวหาร  ขุนราชกวี   พวกนี้มักเรียนจบเปรียญกันมา หรือไม่ก็ร่ำเรียนเขียนอ่านได้ดี  จึงมารับราชการเป็นอาลักษณ์

ขุนท่องสื่อ  แปลตามตัวว่าล่าม   พวกนี้สังกัดกรมท่าซ้าย

ถ้าหากว่าเป็นนักกฎหมาย ก็มีคำว่า นิติ  มนู  หรืออะไรที่แปลว่าตัวบทกฎหมาย ประกอบ  อย่างพระยามโนปกรณนิติธาดา   พระยานิติศาสตรไพศาล   หรือว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อกลับจากฝรั่งเศส มารับราชการในกระทรวงยุติธรรม

พวกทหาร  ราชทินนามมักจะออกไปในทางการรบ  การต่อสู้  มีความสามารถ เข้มแข็งแกร่งกล้า   อย่างหลวงพิบูลสงคราม   พระยาฤทธิ์อัคเนย์
พระยาทรงสุรเดช   พระยาศรีสิทธิสงคราม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 14:15

 ขอแถมที่อาจารย์ Up กล่าวถึงพระยาจุฬาราชมนตรี  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนามสกุล "อหะหมัดจุฬา" แก่ พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) จางวางกรมท่าขวา  ผู้ช่วยเจ้ากรมกองแสตมป์  กระทรวงยุติธรรม  เมื่อ  ๒๗  กรกฎาคม  ๒๔๕๖  ได้ทรงมีพระราชบันทึกหมายเหตุเพิ่มเติมไว้ว่า "เฉกอะหะหมัดเป็นต้นสกุล  บุตรหลานรับราชการสืบกันมา  จนถึงพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ในรัชกาลที่ ๑  และก็ได้เป็นที่พระจุฬา ต่อๆ กันลงมา  คือจุฬาเถื่อน ซึ่งภายหลังเป็นพระยาวรประเทศภักดี  เป็นบุตรจุฬา (ก้อนแก้ว)  บุตรจุฬา (เถื่อน) คือ จุฬา (นาม)ๆ เป็นพ่อจุฬา (สิน)ๆ เป็นพ่อจุฬา (สัน)

รวมความแล้วผู้ที่เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ล้วนสืบเชื้อสายมาจากเฉกอะหะหมัดซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์จากเปอร์เชีย  

บุตรหลานของท่านเฉกอะหะหมัดต่อมาได้แยกออกเป็นสองสายๆ หนึ่งคงถือศาสนาอิสลามและได้เป็นจุฬาราชมนตรีสืบต่อกันมาเป็นลำดับ  ส่วนอีกสายหนึ่งได้เปลี่ยนมาถือศาสนาพุทธและได้รับพระราชทานนามสกุลว่า บุนนาค  ศุภมิตร  จาตุรงคกุล  และสกุลที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายสกุล
บันทึกการเข้า
ประชาชน
อสุรผัด
*
ตอบ: 24

Phd. Students Department of Economic University of Surrey Guildford, Surrey United Kingdom


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 14:17

 ตำแหน่งสูงสุดของขุนนางที่เห็นในพระไอยการตแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมืองคือ

-เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงษองครักษ์ภักดีบดินทร แสนอญาธิราช ศักดินา 10,000

ที่เคยอ่านพบมีในรัชสมัยของ พระเจ้าบรมโกศ แต่ผมจำราชทินนามไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่า เมื่อครั้งมีการต่อสู้แย่งชิงราชสมบัติกัน มีทหารเอกของพระเจ้าบรมโกศ ออกไปรบกับพระธนบุรีทหารของฝ่ายตรงข้ามจนชนะได้นับ แต่งตั้งเป็น สมเด็จเจ้าพระยาวังหลวง (แต่บรรดาศักดิ์เจ้าพระยา แต่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศอย่างเจ้าต่างกรม)

มีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม สำหรับขุนนางวังหน้ามาฝากครับ

- เจ้าพระยามุขมนตรีศรีศุภสุนทรบวรราช มหาอำมาตรยาธิบดี พิริยพาห  ศักดินา 8,000 เพิ่มพิเศษ 1,000 เทียบเท่า สมเด็จเจ้าพระยาวังหลวง

- พระยาจ่าแสนยากร ศักดินา 5000 เทียบเท่าสมุหนายก
- พระยากลาโหมราชเสนา  ศักดินา 5000 เที่ยบเท่า สมุหกลาโหม
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 14:48

 คุณ V_Mee เอ่ยนามพระยาจุฬาราชมนตรีในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ผมขอย้อนไปเอ่ยนามพระยาจุฬาฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏนามอยู่ครับ

จุฬาราชมนตรีท่านแรกก็คือเฉกอะหมัด

ท่านที่ ๒ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี(แก้ว) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ท่านที่ ๓ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี(สน)

ท่านที่ ๔ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ)

พระยาเพชรพิชัย (ใจ) ท่านเป็นทายาทชั้นหลานของเฉกอะหมัด เดิมทีก็นับถือศาสนาอิสลามครับ แต่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เรื่องมีอยู่ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสมโภชพระพุทธบาท ในขณะที่พระยาเพชรพิชัยผู้นี้เป็นหัวหน้ากองอาสาจาม ท่านประสงค์จะตามเสด็จไปร่วมสมโภชพระพุทธบาทด้วย แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสห้ามไว้ว่าไปไม่ได้เพราะเป็นมุสลิม ปรากฏว่าพระยาเพชรพิชัยยอมไปนับถือศาสนาพุทธ เพื่อจะตามเสด็จด้วยความจงรักภักดี อย่างไรก็ดี บุตรของท่านยังคงนับถือศาสนาอิสลามดังเดิม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)

ส่วนจุฬาราชมนตรีท่านแรกที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่นั้นได้แก่ นายแช่ม พรหมยงค์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 14:52

 ต่อจากนี้ขอกล่าวถึงราชทินนามในวงการกฎหมายบ้างครับ

ราชทินนามสำคัญที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ขุนหลวงพระยาไกรสีห์  ที่ลูกขุน ณ ศาลหลวง  อ่านชื่อบรรดาศักดิ์แล้วมีทั้ง ขุน หลวง พระ พระยา รวมอยู่ด้วยกัน  เท่าที่ทราบในรัชกาลที่ ๕ บรรดาศักดิ์นี้เป็นชั้นพระยาทีเดียว

ในรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้แก่ตุลาการรวม ๒ ท่าน คือ ขุนหลวงพระยาไกสีห์ (เปล่ง  เวภาระ) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ  อีกท่านหนึ่ง คือ ขุนหลวงพระยาไกสีห์ (เทียม  บุนนาค) ท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในศิษย์เอกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงวางรากฐานการศาลสมัยใหม่  ภายหลังได้ร่วมเป็น ๑ ใน ๒๘ ตุลาการที่ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการตามเสด็จในกรมราชบุรีฯ เพราเหตุคดีพญาระกา  จนต้องพระราชอาญาถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕  แล้วได้ไปประกอบอาชีพทนายความจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๖ ต้องทรงตราพระราชบัญญัติทนายความพร้อมกับโปรดให้จัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้นมา  (รายละเอียดเรื่อง "คดีพญาระกา" หาอ่านได้ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ครับ)

ทีนี้ขอย้อนมากล่าวถึงราชทินนามที่รัชกาลที่ ๖ ทรงคิดพระราชทานแก่ตุลาการ มีอาทิ
พระยามหาวินิจฉัยมนตรีดุลประเพณีนิตยวิเคราะห์
พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ธรรมานุวัตน์วรสภาบดี
พระยาพรหมทัตศรีพิลาศธรรมานุวาจน์วรสภาบดี
พระยามนธาตุราชพิจิตร์ธรรมานุศิษฎวรสภาบดี
พระยาประเสนะชิตศรีพิลัยธรรมานุสัยวรสภาบดี
พระยาวิชัยราชสุมนต์ธรรมาภินนท์วรสภาบดี
พระยานลราชสุวัจน์ธรรมาภิรัตวรสภาบดี
พระยาหริสจันทร์สุวืทธรรมาภิสิทธิ์วรสภาบดี
พระยากฤษณราชอำนวยศิลป์ธรรมะวิจินต์วรสภาบดี
พระยาหัสดินอำนวยศาสตร์ธรรมะวิลาศวรสภาบดี
พระยาปุรุราชรังสรรค์ธรรมะวิมัลวรสภาบดี
พระยาทุษยันต์รังสฤษดิ์ธรรมะวิจิตร์วรสภาบดี
พระยากฤติราชทรงสวัสดิ์ธรรมะวิวัฒนราชสภาบดี
พระยาอัชราชทรงศิริธรรมะวิสุทธิราชสภาบดี
พระยาสาครราชเรืองยศธรรมะวิรจน์วิริยะสภาบดี
พระยาภคีรถเรืองเดชธรรมะวิเชตวิริยะสภาบดี
พระยาลพนรินทรเรืองศักดิ์ธรรมวิทักษ์วิริยะสภาบดี
พระยาลักษมัณสุพจน์ธรรมาภิรตเทพสภาบดี
พระยานิมิราชทรงวุฒิธรรมวิรุจราชสภาบดี
พระยานหุษราชทรงพรธรรมวิธรราชสภาบดี

ราชทินนามสำหรับตุลาการข้างต้นนั้นล้วนมีนามเป็นเจ้าเมืองในอินเดียตามที่ปรากฏในชาดกต่างๆ  และโปรดสังเกตว่าจะลงท้ายด้วยสภาบดี  เนื่องจากในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงนั้นตุลาการต้องร่วมกันพิจารณาเป็นองค์คณะ  แต่ละท่านที่มีราชทินนามลงท้ายด้วยสภาบดีนี้ก็มักจะมีมีหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะตุลาการ

นอกจากราชทินนานามสำหรับตุลาการชุดดังกล่าวแล้วยังมีราชทินนามอื่นๆ ที่อ่านแล้วสามารถทราบในทันทีว่าเป็นราขชทินนามสำหรับตุลาการ เช่น
พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์
พระยาพิพากษาสัตยาธิบดี
พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
พระยาธรรมศาสตร์นารถประณัย
พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตร์สุปรีชา
พระทิพยศาสตร์ราชสภาบดี
พระวิชิตเนติศาสตร์
หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
หลวงสกลสัตยาทร
หลวงพินิตนิตินัย
หลวงธารินทโรวาท
หลวงไพจิตรสัตยาดุล
หลวงวิไชยนิตินาท
หลวงศรีสัตยารักษ์
หลวงพิสิฐสัตถญาณ
หลวงประธานคดีศาสตร์
ลวงธรรมาทรอัฏวิจารณ
               ฯลฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 20 คำสั่ง