เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 9625 พระยาวิสูตร์สาครดิฐ(สาย โชติกเสถียร)
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 10 ส.ค. 06, 12:28

 ที่ว่า  พ.ท. จรูญ โชติกเสถียร น่ะค่ะ ทราบว่าท่านเป็นคุณหลวงแต่ไม่ทราบราชทินนาม   และจากหนังสือ ความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่น ๓๘๐ ปี ได้มีการอ้างถึงจม.กรมหมื่นนครไชยศรีกราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ๓๑/๑๖๖๔๖ ลงวันที่ ๒๕ ธค. ร.ศ. ๑๒๗ บอกว่า ทางการไทยตัดสินใจส่งนักเรียนไปเข้ารร.ในรร.ทหารบกของญี่ปุ่น ๒ คน หนึ่งในนั้นคือ นาย จรูญ บุตรพระยานริศราชกิจ

จากข้อมูลข้างต้นประกอบกับข้อมูลจากสมุดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  ซึ่งพลจัตวา หลวงประเสริฐศัสตราวุธ (ลาภ  วสุวัต) ได้บอกเล่าให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่  ๑๗  ธันวาคม  ๒๕๑๓  ขอเรียนยืนยันว่า  พันโท จรูญ  โชติกเสถียร นั้น คือ พันโท หลวงจรูญฤทธิไกร (จรูญ  โชติกเสถียร)  เป็นนักเรียนยุพราชวิทยาลัย เลขประจำตัว ๑  เข้าเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓  ซึ่งในเวลานั้น พระยานริศรราชกิจ (สาย  โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ  
สรุป ท่านผู้นี้คือ พันโท หลวงจรูญฤทธิไกร (จรูญ  โชติกเสถียร)  เป็นบุตรของพระยาวิสูตรสาครดิษฐ (สาย  โชติกเสถียร) ครับ
บันทึกการเข้า
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 23:53

 ขอบพระคุณมากเลยค่ะ คุณ V_Mee  ที่กรุณานำข้อมูลมาฝากอย่างละเอียด  

ไม่ได้เข้าเวบวิชาการมานานมากเลยล่ะค่ะ  เลยเพิ่งเห็นโพสต์นี้  ระหว่างนั้นก็ไปได้ข้อมูลมาเพิ่มเติมเหมือนกัน  แต่ไม่มีตรงนี้

เอ...สงสัยจริงว่าตอนนั้นท่านเริ่มเรียนชั้นอะไรหนอ  จะได้นำไปปะติดปะต่อกับข้อมูลตรงอื่นถูก  เพราะทราบว่าท่านไปเรียนญี่ปุ่นต่อเลยพร้อมกับพระยาวิสูตรที่ไปเป็นราชทูตในปี ๒๔๔๖  ก็แปลว่าหลังจากเรียนที่ยุพราชเพียงแค่ ๓ ปีเท่านั้นเอง

ไม่ทราบเสียด้วยว่าตอนนั้นยุพราชเริ่มเปิดสอนชั้นอะไร  ทราบแค่ว่าพระยาวิสูตรซึ่งเป็นข้าหลวงในขณะนั้นรับสนองพระราชดำริเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนตามหัวเมืองให้ได้มาตรฐาน  จึงตั้งรร.ยุพราชในจวนข้าหลวงของท่านเองเลยน่ะค่ะ  

ถ้าเช่นนั้นสงสัยคงต้องค้นจากทางรร.ยุพราชอีกที

อ้อ, แต่ว่าบทความวิชาการที่ไปค้นเจอก่อนหน้าก็อ้างถูกแล้วนะคะ คือจริง ๆ ท่านหลวงจรูญฤทธิไกรท่านเป็นบุตรพระยาทิพโกษา และเกิดที่ภูเก็ต แต่ว่าตอนนั้นพระยาวิสูตรฯ หรือ พระยานริศฯ ขณะนั้น ยังไม่มีลูกชาย  ท่านและภรรยาท่านคือคุณหญิงปลั่งจึงไปขอจองหลวงจรูญไว้ตั้งแต่ในท้องว่า ถ้าเป็นผู้ชายจะขอ  

จึงเป็นที่มาทำให้มีบันทึกไว้ทั้งสองอย่างนี่ล่ะค่ะ  และทำให้ในทะเบียนสมรสเขียนว่า  ร้อยตรีจรูญ เป็นบุตรพระยาทิพโกษา

อนึ่ง  ตระกูลโชติกเสถียร เป็นตระกูลใหญ่  ได้ค้นฐานข้อมูลในซีดีรอมแล้ว  พบว่า  มีอีกหลายจรูญค่ะ  แต่เป็นหลวงจรูญท่านนี้ล่ะค่ะ  ที่ไปญี่ปุ่น  และเป็นท่านที่กำลังค้นประวัติอยู่น่ะค่ะ

ขอขอบพระคุณอีกครั้งนะคะ  คุณ V_Mee  ที่กรุณามีน้ำใจเผื่อแผ่นำข้อมูลที่หาได้ยากยิ่ง แต่มีค่ายิ่ง มาฝากกัน ณ ที่นี้    
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 ก.ย. 06, 17:37

 ขอเรียนชี้แจงเป็น ๒ ประเด็นนะครับ



ประเด็นแรกเรื่องโรงเรียนยุพราช  ต้นกำเนิดของโรงเรียนยุพราชที่ว่าอยู่ในศาลากลางสวนของจวนข้าหลวงใหญ่ฯ คือพระยานริรราชกิจนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้เล่าที่เล่าสืบต่อกันมา  โรงเรียนที่อยู่ในศาลากลางสวนนั้นคือ โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่  ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่ศาลากลางสวนในตำหนักพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิยากร) ข้าหลวงพิเศษฯ ที่ริมแม่น้ำปิง  ต่อมาตำหนักนี้ได้เป็นจวนข้าหลวงใหญ่รัการาชการมณฑลพายัพ   จึงเข้าใจผิดไปว่า พระยานริศศราชกิจเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้



โรงเรียนที่พระยานริศรราชกิจมอบหมายให้ นายเจริญ  อากาศวรรธนะ (ต่อมาได้เป็น พระอุปกรศิลปสาตร) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ นั้นตั้งขึ้นครั้งแรกที่โรงละครของพระเจ้าอินทวิชยานนท์  จึงเรียกชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนในคุ้มพระเจ้าเชียงใหม่  เมื่อพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว  เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในคุ้มหลวงแห่งนี้  ชื่อโรงเรียนเลยเปลี่ยนเป็น โรงเรียนคุ้มหลวงนครเชียงใหม่  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ อุทิศที่ดินให้แปลงหนึ่งแล้วให้รื้อโรงละครไปสร้างใหม่ในที่ดินที่อุทิศให้  โรงเรียนจึงต้องย้ายไปเปิดสอนที่วัดเจดีย์หลวง  จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนพระเจดีย์หลวงนครเชียงใหม่  จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (คือรัชกาลที่ ๖) เสด็จพระราชดำเนินเลียบเมืองนครเชียงใหม่ไพระราชทานเงินส่วนพระองค์ ๕๐๐ บาท สมทบการก่อสร้างโรงเรียนที่ยังสร้างค้างอยู่  พร้อมกับได้พระราชทานนามโรงเรียนที่ยังสร้างไม่เสร็จนั้นว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  เพื่อให้เป็นคู่กับโรงเรียนของมิชชันนารีอเมริกันที่พระราชทานไว้ว่า The Prince Royal's College  เมื่อโรงเรียนใหม่สร้างเสร็จแล้วมีพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่  ๒๓  กันยายน  ๒๔๔๙  โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  แล้วได้เปลี่ยนเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  แล้วกลับมาเป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยอีกครั้งภายหลังจากยุบเลิกมณฑล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖



เมื่อแรกตั้งนั้น  โรงเรียนในคุ้มพระเจ้าเชียงใหม่เปิดสอนตามหลักสูตรหลวงของกรมศึกษาธิการ  แต่จะสอนชั้นไหนบ้างไม่มีการระบุไว้  แต่เมื่อ ร.ศ. ๑๒๒  มีการสอบไล่นักเรียนครั้งแรกตั้งแต่ชั้น ๑ - ๕  คือ ชั้นประถม ๑ / ๓ และมัธยม ๑ - ๒  (ต่อมาเเปลี่ยนชื่อเป็น มัธยมปีที่ ๑ - ๕)  ในการสอบครั้งนั้น  นายอ๊อด (เลขประจำตัว ๓) อายุ ๑๓ ปี  บุตรหลวงรัดรณยุทธ (ยิ่ง  จุลานนท์)  สอบไล่ได้เป็นที่ ๒ ของชั้น ๔  และจากคำบอกเล่าของบุตรชาย นายพันเอก พระอร่ามรณชิต (อ๊อด  จุลานนท์) นักเรียนเลขประจำตัว ๓ นั้น ทราบว่า คุณหลวงจรูญฯ เป็นเพื่อนสนิทของที่รักกันมากกับคุณพระอร่ามฯ ตราบจนตายจากกันไป  แต่เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยานริศรราชกิจ  กลับกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปี ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)  คุณหลวงจรูญฯ คงจะได้ย้ายกลับมาด้วย  จึงไม่ปรากฏชื่อคุณหลวงจรูญฯ ในการสอบไล่ครั้งนั้น  



ต่อจากนั้นได้ไปพบเอกสารจดหมายเหตุที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติว่า ในรัชกาลที่ ๖ กระทรวงกลาโหมขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้นายทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการ  ที่ได้ให้ความช่วยเหลือดูแล นายร้อยโทจรูญ  โชติกเสถียรซึ่งไปเรียนวิชาทหารที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี  ดูเหมือนจะ ๔ หรือ ๕ ท่านี่แหละครับ  เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้วได้มีการจัดส่งตราไปพระราชทานถึงประเทศญี่ปุ่นเลย  



เกือบลืมแล้วครับ  ทายาทของคุณหลวงจรูญฯ คือ พลโท ปราบ  โชติกเสถียร  ซึ่งก็เป็นเพื่อนรักกันกับพลเอก อำพล  จุลลานนท์ บุตรพระอร่ามรณชิตเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 ก.ย. 06, 17:48

 พลเอกอำพล จุลานนท์ ขณะนี้เกษียณราชการแล้ว แต่ว่าสุขภาพยังแข็งแรงดี   ความจำก็ดีมาก
ท่านคงจำอะไรเกี่ยวกับคุณหลวงจรูญฯได้ไม่มากก็น้อย ในฐานะบิดาของเพื่อนรักของท่าน
ถ้าสนใจก็ลองหาทางติดต่อกับท่าน  แล้วขอพบ อาจจะได้ข้อมูลมากขึ้นนะคะ ท่านเป็นคนใจดีมากค่ะ
บันทึกการเข้า
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 21 ก.ย. 06, 13:37

 ขอบพระคุณทั้งสองท่านมากค่ะ ทั้งคุณ V_Mee และคุณเทาชมพูเจ้าของบ้าน สำหรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่กรุณาให้มา ถ้าได้อยู่ตรงหน้าจะขอยกมือขึ้นไหว้ขอบพระคุณด้วยค่ะ  

เวลาตามล่าหาข้อมูลอะไรที่หาได้ยาก  จะรู้สึกมืดแปดด้านไปหมดจริง ๆ  แล้วเวลามีผู้เมตตามาบอกอะไรให้แต่ละครั้ง มันจะมีค่ามากยิ่งกว่ามาจุดเทียนส่องทางให้ในถ้ำมืด ๆ อีกค่ะ  มาอ่านกระทู้นี้ทีไรเหมือนมีคนมาจุดเทียนใหญ่ให้ขนาดเทียนพรรษา  

ขอบพระคุณอีกทีค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 21 ก.ย. 06, 18:33

 ดิฉันติดต่อสมาชิกคือคุณดอกแก้ว การะบุหนิงให้แล้ว  
เธอคงจะให้คำแนะนำเรื่องการขอพบพลเอกอำพลได้  ถ้าคุณ ณ สนใจจะขอทราบข้อมูลจากท่าน
บันทึกการเข้า
ดอกแก้ว การะบุหนิง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 ก.ย. 06, 19:31

 หากต้องการติดต่อพล.อ.อำพล ดิฉันอยากคุยกับคุณ v_mee  ก่อนได้ไหมค่ะ ช่วยMailมาที่ kaew48@hotmail.com

ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 22 ก.ย. 06, 03:17

 สวัสดีค่ะ คุณเทาชมพู และ คุณ ดอกแก้ว การะบุหนิง

ขอขอบพระคุณทั้งสองท่านนะคะ เดี๋ยวจะขออนุญาตเมล์ไปหาคุณดอกแก้วนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง