เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 26107 เรื่อง..ศรีปราชญ์..(เก็บความจากมองอดีต)
ทิด
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 07 ก.ย. 00, 12:00

เอากระทู้เก่าของสโมสรมองอดีตมาฝากนะครับ ขออนุญาตที่จะไม่เรียบเรียงใหม่
เพราะต้องการให้เป็นต้นฉบับของสมาชิกแต่ละท่านที่เล่าสู่กันฟัง แต่จะทำการคัด
เฉพาะส่วนที่เป็นความเห็นเรื่องของศรีปราชญ์โดยตรงเท่านั้นนะครับ

หมายเหตุ - ถ้าเป็นข้อความที่ผมยกมาทั้งหมดจะใช้ว่า "ความเห็นที่...โดยคุณ..."
ส่วนถ้าคัดมาเฉพาะเนื้อความบางส่วนผมจะใช้ว่า "(จาก) ความเห็นที่...โดยคุณ..." นะครับ
.............
กระทู้เรื่อง "มีใครรู้จักศรีปราชญ์บ้าง"
เปิดหัวข้อกระทู้โดยคุณ พราหมณ์น้อย...

"หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน เทียมเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดรัจฉาน
เอ้าใครรู้โคลงตอบบทนี้ มาร่วมสนุกกันนะขอรับ"
.............

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ bookaholic

"หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ฤดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้น(บางแห่งว่าฟ้า)เดียวกัน "
.............

(จาก) ความเห็นที่ 7 โดยคุณ bookaholic

"...โคลงโต้ตอบระหว่างศรีปราชญ์กับนายประตูครับ สมัยนั้นคนไทยคงเก่งเรื่องกวี
ขนาดยามเฝ้าประตูวังยังพูดเป็นโคลงได้ เรื่องมีอยู่ว่า
ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานแหวนจากพระนารายณ์
นายประตูเห็นแหวนก็ถามว่า
(นายประตู) ศรีเอยพระเจ้าฮื่อ(หื้อ)............ปางใด
(ศรีปราชญ์)ปางเมื่อพระเสด็จไป...............ป่าแก้ว
(นายประตู)รังสีบ่สดใส............................สักหยาด
(ศรีปราชญ์)ดำแต่นอกในแผ้ว...................ผ่องเนื้อนพคุณ

อีกบทคือ
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม.................ถึงพรหม
พาเทพเจ้าตกจม..................จ่อมม้วย
เขาพระสุเมรุเปื่อยเป็นตม............ทบท่าว ลงนา
หากอักษิษฐ์พรหมฉ้วย..............พี่ไว้จึ่งคง

อ้อ ทราบกันหรือเปล่าครับ หลักฐานชั้นหลังๆที่นักวรรณคดีเขาค้นกัน ศรีปราชญ์ไม่มีตัวจริงครับ
เรื่องที่เราอ่านๆกันรวมทั้งโคลงทั้งหมด สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง...."
..................

(จาก) ความเห็นที่ 8 - 9 โดยคุณถาวภักดิ์

"...โคลงที่เป็นบทโต้ตอบกับนายประตูของคุณBookฯนี่ ผมก็ไม่เคยผ่านตาแฮะ จะเรียนก็แต่

แหวนนี้ท่านได้แต่..............ใดมา
เจ้าพิภพโลกา.....................ท่านให้
ทำชอบสิ่งใดฤา..................วานบอก
เราแต่งโคลงถวายไซร้........ท่านให้ รางวัล

ส่วนโคลงที่เป็นเหตุนั้นคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น

อันใดย้ำแก้มแม่..................หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย...........ลอบย้ำ
ผิวชนแต่จะกราย................ยังยาก
จักใดบังอาจลอบย้ำ.............แก้มเนื้อ เรียมสงวน

แต่ก็ยังไม่รับรองความถูกต้องอยู่อีกนะครับ.."
....................

ความเห็นที่ 10 โดยคุณหนอนสุรา

"...อันใดย้ำแก้มแม่.............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย...........ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จะกราย................ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ.................ชอกเนื้อ เรียมสงวนฯ

มาช่วยแก้ให้ครับ..."
....................
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ส.ค. 00, 00:00

...(ต่อ)...
(จาก) ความเห็นที่ 13 โดยคุณ bookaholic

"...การศึกษาวรรณคดีในระดับมหาวิทยาลัย พูดกันมานานแล้วว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวจริง
เป็นตำนานสมัยอยุธยาที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
ผู้แต่งโคลงที่คุณถาวฯ และท่านอื่นๆจำกันได้ในนี้ น่าจะเป็นฝีมือพระยาตรัง กวีสมัยรัชกาลที่ ๒
หรือไม่ก็พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์) ผู้รวบรวมประวัติศรีปราชญ์
ส่วนเรื่องกำศรวลศรีปราชญ์สมัยอยุธยา มีจริง แต่คนแต่ง น่าจะเป็นพระโอรสหรือพระมหากษัตริย์
องค์ใดองค์หนึ่ง ก่อนสมัยพระนารายณ์ เพราะดูจากภาษาที่ใช้ เก่ากว่าสมัยพระนารายณ์
เกือบเท่าสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แล้วยังมีข้อความในนั้นอีกหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับตำนาน

ขอเสริมนิดว่า ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยหลายท่าน สามารถแบ่งยุคภาษาในอดีตได้ครับ
ทั้งต้น กลาง และปลายอยุธยา อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ผมรู้จัก เคยบอกว่า
พวกที่เข้าทรงว่าเป็นวิญญาณบุคคลสำคัญในอดีตหลายๆร้อยปีก่อน
ขอเชิญพูดภาษาในอดีตให้ท่านฟังหน่อยเถอะ แล้วท่านจะรู้เลยว่าเป็นตัวจริงไหม
เท่าที่เคยอ่านมา หลายคนพูดภาษาที่เพิ่งเกิดสมัยใหม่นี้เองละ ใช้คำที่ไม่มีในสมัยโน้นด้วย

กลับมาเรื่องศรีปราชญ์ ขอผัดไปสักวันสองวันครับ กำลังจะเอาข้อมูลจากนักอักษรศาสตร์มาลงให้อ่าน
ว่าทำไมศรีปราชญ์ไม่มีตัวจริง แต่หลักสูตรกระทรวงศึกษายังไม่เปลี่ยนครับ นักเรียนเลยเรียนกันแบบเดิม..."
.......................

ความเห็นที่ 17 โดยคุณหนอนสุรา

"...ศรีปราชญ์น่าจะมีตัวจริงนะครับ แต่ไม่ได้แต่งกำสรวลสมุทร ซึ่งแต่งเป็นโคลงดั้นบาทกุญชร
ส่วนศรีปราชญ์ถนัดโคลงสี่สุภาพ

พระยาตรังรวบรวมโคลงศรีปราชญ์ไว้หลายบท กับกวีเก่าๆ ยุคปลายกรุงศรีฯ อีกหลายท่าน

เรื่องศรีปราชญ์นั้น เราเข้าใจผิดเหมือนพระนารายณ์ คือแต่ก่อนเห็นอะไรเป็นโคลง
แล้วไม่รู้ว่าใครแต่งก็บอกว่าศรีปราชญ์ไปก่อน เหมือนกับที่พอไม่รู้ว่าวรรณคดีบางเรื่อง
แต่งสมัยไหน ก็เหมาไปสมัยพระนารายณ์หมด จนกลายเป็นยุคทองของวรรณคดีไทยไป
ทั้งที่ความจริงไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากสมัยท่านมีความวุ่นวายทางการเมืองหลายประการ
จะอธิบายละเอียดข้อมูลผมก็ยังไม่หนักแน่นพอ

ข้ามมาดูโคลงศรีปราชญ์บทก่อนตาย ที่ท่องกันมานั้นผิดนะครับ ความหมาย ๒ บาทแรก
เหมือนเด็กหัดแต่ง ไม่สอดคล้องกับ ๒ บาทหลังที่เป็นระดับยอดฝีมือ

ท่านจันทร์ หรือชื่อเต็มมจ.จันทร์จิรายุ รัชนี พระโอรส น.ม.ส. ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

ธรณีภพนี้เพ่ง...................ทิพญาน หน่อยรา
เราก็ลูกอาจารย์.................หนึ่งอ้าง
เราผิดท่านประหาร...........เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง.............ดาบนี้คืนสนอง

หนอนสุราค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านจันทร์ แต่คิดต่อไปตามประสาคนชอบโคลงว่า
ถ้าแก้สร้อยบาทแรกจาก หน่อย เป็น หนึ่ง กับแก้บาทที่ ๒ คำว่า หนึ่ง เป็น เอก
โคลงบทนี้จะดีขึ้นอีกเยอะ..."
..........................

(จาก) ความเห็นที่ 18 โดยคุณ bookaholic

"...ก็อย่างที่คุณหนอนสุราว่าครับ
มีรายละเอียดต่ออีกนิดหน่อย ว่าท่านจันทร์จิรายุ รัชนี สันนิษฐานว่า
กำศรวล เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓
แต่งเมื่อเสด็จไปตีทวาย พ.ศ. ๒๐๓๑ ครับ..."
...........................

(จาก) ความเห็นที่ 19 โดยคุณถาวภักดิ์

"...กำสรวลศรีปราชญ์ที่ครูBookฯกล่าวถึง มีอีกชื่อว่ากำสรวลสมุทร
เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ทรงรจนาขณะเสด็จประพาสทางชลมารคตามลำน้ำเจ้าพระยาจากกรุงศรีฯไปยังหัวเมืองชายทะเลแถวปากน้ำ
มีตัวอย่างที่กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของอยุธยาในยุคนั้นดังนี้

อยุธยายศโยกฟ้า.................ฝากดิน
ฝากดินพิภพเดียว................ดอกฟ้า
แสนโกฏบ่ยลยิน..................หยากเยื่อ
ไตรรัตนเรืองเรืองหล้า........หลากสวรรค์

อยุธยาไพโรจน์ไต้................ตรีบูร
ทรารรุจิรยงหอ...................สรหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร.................สุรโลก รังแฮ
ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย.....แก่ตา

ยามพลบเสียงกึกก้อง.............กาหล แม่ฮา
สยงแฉ่งสยงสาวทรอ...........ข่าวชู้
อยุธยายิ่งเมืองบน..................มาโนชกูเอย
แตรตระหลบข่าวรู้................ข่าวยาม

อ่านแล้วอาจดูเหมือนพิมพ์ผิด เพราะเป็นภาษาโบราณ นี่ถ้ายิ่งคงอักขระวิธีแบบต้นฉบับไว้
จะยิ่งอ่านไม่รู้เรื่องเลยละครับ..."
.............................

บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ส.ค. 00, 00:00

...(ต่อ)...

(จาก) ความเห็นที่ 31 โดยคุณ bookaholic



"...กำศรวลศรีปราชญ์



ชื่อเดิมของเพชรน้ำเอกในวรรณคดีไทยเรื่องนี้คือ กำศรวล ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่งว่าเป็นใคร

หรือว่าแต่งสมัยไหนกันแน่ รู้แต่ว่าเป็นวรรณคดีโบราณสมัยอยุธยา จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๒

นายนรินทรธิเบศร์ ได้กล่าวอ้างไว้ในบทโคลง นิราศนรินทร์ บทหนึ่งว่า



กำศรวลศรีปราชญ์พร้อง.........เพรงกาล

จากจุฬาลักษณ์ลาญ.................สวาทแล้ว

ทวาทศมาศสาร.....................สามเทวษ ถวิลแฮ

ยกทัดกลางเกศแก้ว.................กึ่งร้อนทรวงเรียม



และ พระยาตรัง กวีร่วมสมัยของนายนรินทร์ธิเบศร์ได้เอ่ยถึงไว้ใน นิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย ว่า

'...กำสรวลสาคเรศสร้อย..........สารศรี ปราชญ์แฮ...'

และใน นิราศถลาง ของพระยาตรัง ก็ได้ย้ำชื่อผู้แต่งไว้อีกครั้งหนึ่งว่า

'...ศรีปราชญ์นิราศท้าว............จุฬาลักษณ์...'



แสดงว่าทั้งนายนรินทรธิเบศร์ และพระยาตรัง เชื่อว่าผู้แต่งวรรณคดีเรื่องนี้ชื่อ " ศรีปราชญ์ "



ความเชื่อนี้ตกทอดมาแต่สมัยใดไม่อาจกล่าวได้ชัด เข้าใจว่าเป็นคำบอกเล่าต่อๆกันมา

จนกระทั่งปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือ ตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดย

พระยาปริยัติธรรมดา (แพ ตาละลักษมณ์) ซึ่งกล่าวว่า  ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดี

ผู้แต่งหนังสือจินดามณี ชื่อเดิมว่า 'ศรี' ได้ต่อโคลงสมเด็จพระนารายณ์ฯได้เป็นที่ถูกพระทัย

จึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานชื่อเป็น "ศรีปราชญ์ " ได้แต่งอนิรุทธคำฉันท์

และโคลงเบ็ดเตล็ดอีกหลายโคลง



วันหนึ่งศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงเกี้ยวพระสนมจนถูกลงพระราชอาญาให้ลอกคูน้ำ

เผอิญพระสนมคู่แค้นเดินผ่านมา ศรีปราชญ์สาดโคลนใส่ จึงถูกสมเด็จพระนารายณ์

เนรเทศไปนครศรีธรรมราช ระหว่างเดินทางได้แต่ง กำศรวล ขึ้น

เมื่อไปถึงนครศรีธรรมราช ได้ลอบรักใคร่กับภรรยาน้อยเจ้าพระยานคร จึงถูกประหารชีวิต

 

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์หายกริ้ว โปรดให้ศรีปราชญ์กลับไปรับราชการตามเดิม

เมื่อทรงทราบว่าเจ้าพระยานครสั่งประหารเสียแล้ว

ก็มีพระบรมราชโองการให้ประหารเจ้าพระยานครตายตกไปตามกัน

หนังสือของพระยาปริยัติธรรมธาดา เป็นที่เชื่อถือกันตลอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕

จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีนักวรรณคดีเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ซึ่งค้นคว้าและสรุปในทำนองเดียวกัน

แต่เพิ่มรายละเอียดบางตอนว่า

...ศรีปราชญ์มีตัวจริงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ถูกเนรเทศในสมัยพระเพทราชา

และถูกประหารในแผ่นดินพระเจ้าเสือ

....ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดี มีเรื่องวิวาทกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

พระสนมเอกของพระนารายณ์ และเป็นพระกนิษฐาของพระเพทราชา

ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชในสมัยพระเพทราชา โดยฝากไปกับกองทัพเรือ

ของพระยาสุรสงครามและพระยาราชบังสัน ซึ่งยกไปปราบพระยารามเดโช

เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นกบฏแข็งเมือง กำศรวล จึงแต่งประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๕...



เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นผู้ตั้งข้อสงสัยในเชิงประวัติของศรีปราชญ์ขึ้น

โดยไม่เชื่อว่า กำศรวล เป็นวรรณคดีที่แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งนี้เพราะเปรียบเทียบ

สำนวนภาษากับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ที่มีหลักฐานแน่ชัดว่าแต่งสมัยนั้นแล้ว

ปรากฏว่า กำศรวล ใช้ภาษาเก่ากว่า อนิรุทธ์คำฉันท์ ถึง ๒๐๐ ปี

น่าเชื่อว่าเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น คือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เทียบสำนวนภาษาได้กับ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ และ มหาชาติคำหลวง

นอกจากนี้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องเจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนใด

ถูกประหารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

 

ม.ร.ว.สุมนชาติ สรุปว่า ศรีปราชญ์ในประวัติศาสตร์ไทยต้องมีอย่างน้อย ๓ คน คือ

ศรีปราชญ์ผู้แต่ง กำศรวลศรีปราชญ์

ศรีปราชญ์ผู้แต่ง อนิรุทธ์คำฉันท์ และ

ศรีปราชญ์ผู้ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช



เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ พ.ณ ประมวลมารค(ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี) ศึกษาโคลง กำศรวล อย่างจริงจัง

และสรุปว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓

ทรงพรรณนาคร่ำครวญถึงพระสนมเอก "ศรีจุฬาลักษณ์ " ขณะเสด็จไปตีทวายในปีพ.ศ. ๒๐๓๑



ต่อมา สุนีย์ ศรณรงค์ ได้วิจารณ์เชิงประวัติเกี่ยวกับผู้แต่งวรรณคดีเรื่องนี้ มีบางตอนสอดคล้องกับ

การสันนิษฐานของ ม.จ.จันทร์จิรายุ ว่า

..ผู้แต่งเรื่องนี้คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แต่แตกต่างจาก ม.จ.จันทร์จิรายุ ด้านปีที่แต่ง โดยวิเคราะห์ว่าแต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ

ยังทรงครองราชย์อยู่ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เสด็จไปวังช้าง ที่ตำบลไทรย้อย

เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๒๖.....



สาเหตุที่นักวรรณคดีรุ่นใหม่เชื่อว่าผู้แต่งกำศรวล น่าจะเป็นกษัตริย์หรืออย่างน้อยก็เป็นเจ้าฟ้า

ไม่ใช่สามัญชนอย่างศรีปราชญ์ เพราะในโคลงมีบทรำพันถึง ่ศรีจุฬาลักษณ์ ่ ในฐานะคู่ครอง

ไม่ใช่ลักลอบเป็นชู้ โคลงบางบทบรรยายว่าได้ร่วมหอลงโรงกันอย่างเปิดเผย

และได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยาเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะจากมาในการเดินทาง เช่น



จันทน์จรุงจอกทองทา............ ยังรุ่ง

บยาเยียวเนื้อร้อน.................... เร่งวี



หมายความว่ากวีมีเครื่องใช้ไม้สอยสูงค่า คือจอกทอง ตัวนางเองก็คอยปรนนิบัติพัดวี

เอาอกเอาใจใกล้ชิดสนิทสนม อ่านแล้วทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของสามีภรรยา

ไม่ใช่อาการลักลอบซ่อนเร้นพบปะกันชั่วครู่ยาม

นอกจากนี้ การเดินทางของกวี ก็เริ่มต้นอย่างคนสำคัญในบ้านเมืองจะออกเดินทาง ไม่ใช่การถูกเนรเทศ

คือเมื่อออกเดินทางก็มีหญิงสาว (อาจจะหมายถึงสาวสรรกำนัลนาง)มาคอยส่งเต็มฝั่ง



เสนาะนิราศน้อง.................. ลงเรือ

สาวแสนเลวงเต็ม................. ฝั่งเฝ้า



ปัจจุบันนี้ ความเชื่อที่ว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง กำศรวล ถูกลบล้างลงไปแล้ว

ข้อสันนิษฐานของ ม.ร.ว. สุมนชาติ เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด

โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่เกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์

แม้ยังไม่มีข้อยุติว่าผู้แต่งเป็นใครกันแน่ก็ตาม..."

........................................
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ส.ค. 00, 00:00

...(ต่อ)...
ความเห็นที่ 33 โดยคุณ Hua

"...ขอบคุณค่ะคุณหนังสือ อืมม สรุปก็คือศรีปราชญ์ไม่ใช่กวีเอก คืออาจจะมีคนชื่อศรีปราชญ์
ในสมัยโบราณกาล แต่ไม่ใช่เจ้าของบทกวีกำสรวลศรีปราชญ์ อืมม แต่ก็เริ่มงง เพราะคุณหนังสือ
บอกว่าข้อความในบทประพันธ์จะดูเหมือนคนที่มีเชื้อเจ้ามากกว่าคนสามัญชน อย่างที่คุณหนังสือ
ยกตัวอย่างมาให้อ่านน่ะค่ะ คราวนี้ก็ให้มานึกถึง บทกวีส่งท้ายตอนที่ศรีปราชญ์จะถูกประหาร
ไม่ทราบว่ากวีบทนั้น (ธรณีนี่นี้เป็นพยานน่ะค่ะ..โทษนะคะ แต่ดิฉันยังชินกับที่เรียนมาอยู่ ไม่ได้
แก้ให้ถูกต้องตามฉบับดั้งเดิมอย่างที่คุณหนอนสุราเขียนไว้) คือสงสัยว่า กวีบทนั้นเป็นส่วนหนึ่ง
ของกำสรวลศรีปราชญ์หรือเปล่า เพราะว่าถ้าเป็นจริงๆ ผู้ประพันธ์เค้าจะหมายถึงใครคะ อืมม
เริ่มงงมั้ยคะ คือทำไมพระราชบุตรในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถึงต้องเขียนถึงการประหาร
ชีวิตด้วย แล้วประหารใครกันคะ...หรือว่ากวีบทนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำสรวลศรีปราชญ์..."
............................................

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ bookaholic

"คุณฮั้วครับ
ต้องแยกออกเป็นงาน ๒ เรื่อง คือกำศรวลสมัยอยุธยาแต่งด้วยโคลงดั้น
สังเกตง่ายๆว่า บาทสุดท้าย เป็นแบบนี้

๐๐๐๐๐..........๐๐

จบลงห้วนๆแค่การเดินทาง ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

แต่ในส่วนที่ประะกอบประวัติศรีปราชญ์ แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ

๐๐๐๐๐..........๐๐ ๐๐

เรื่องประหารชีวิตอยู่ในตำนาน แต่งขึ้นมาทีหลังครับ
รวมทั้งโคลงอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับชีวิตศรีปราชญ์ก่อนหน้านี้ด้วย
ถ้าเป็นโคลงสี่สุภาพ เชื่อว่าแต่งขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น..."
...............................................

(จาก) ความเห็นที่ 36 โดยคุณ Hua  

"...งั้นขอถามอีกนิดเถอะค่ะ สรุปนะคะ คืองานนี้ชื่อคือ กำสรวลศรีปราชญ์ แต่ว่ามี
การแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นตอนทัวร์อยุธยา (ซึ่งแต่งโดยนักกวีสมัย
อยุธยา) ส่วนหลังจะเป็นชีวิตของศรีปราชญ์ มาแต่งเพิ่มทีหลังโดยกวีสมัยกรุง
รัตนโกสินทร์ อย่างนั้นหรือเปล่าคะ หรือว่างานสองส่วนนีมีสองชื่อแยกกันออกมาเลย
แล้วก็ที่ชื่อว่ากำศรวลศรีปราชญ์นี้คือส่วนที่แต่งในสมัยอยุธยาเท่านั้น (อย่างความเห็นที่
31 ที่คุณหนังสือได้กล่าวไว้น่ะค่ะ) ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของศรีปราชญ์นั้น บท
ประพันธ์บทนี้อาจจะมีการใช้ชื่ออีกชื่อนึง อืมม..เริ่มงงมั้ยคะ ดิฉันเองก็เริ่มงงค่ะ..."
.................................................

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ bookaholic

"...มันมีหนังสืออยู่ ๒ เล่มนะครับ แยกกันให้ชัดก่อนจะได้ไม่งง
เล่มแรกชื่อ...กำศรวล(ศรีปราชญ์)... แต่งสมัยอยุธยา เป็นโคลงดั้น
เริ่มด้วยการชมอยุธยา ดำเนินเรื่องเป็นการเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง
เอ่ยถึงตำบลต่างๆ มาจนออกอ่าวไทย แล้วก็จบแค่นั้น
เอ่ยชื่อผู้แต่งว่า "ศรี" และนางที่รำพันถึง ชื่อศรีจุฬาลักษณ์
แต่จะไปไหนไปทำอะไร ปลายทางอยู่ไหน ไม่มีบอกไว้ครับ

ส่วนเล่มที่ ๒ ชื่อหนังสือ...ตำนานศรีปราชญ์...ของพระยาปริบยัติธรรมธาดา
แต่งเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ นี่เอง เล่าถึงชีวิตกวีสมัยพระนารายณ์ชื่อศรีปราชญ์ที่ว่าอายุ ๘ ขวบ
เป็นบุตรพระโหราธิบดี อายุ ๘ ขวบก็แต่งโคลงต่อจากโคลงที่พระนารายณ์แต่งค้างไว้ได้
ในเรื่องเล่าประวัติ และมีการเล่าถึงโคลงต่างๆที่ศรีปราชญ์แต่ง ล้วนเป็นโคลงสี่สุภาพ
ส่วนใหญ่ก็ที่เอ่ยกันในกระทู้นี้ละครับ

มีความเชื่อก่อนนี้ ว่า กำศรวลโคลงดั้นในข้อ ๑ เป็นผลงานของศรีปราชญ์
( เชื่อกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จนรัชกาลที่ ๙)
จนอาจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ ท่านตั้งข้อสงสัยเรื่องภาษาและข้อเท็จจริงขึ้นมาครับ

ถ้าคุณ Hua ยังงงอยู่ว่า งั้นเรื่องราวชีวิตศรีปราชญ์และโคลงสี่สุภาพมาจากไหน
ในเมื่อมันไม่ได้อยู่ในกำศรวล ผมก็เดาว่าพระยาปริยัติฯท่านแต่งขึ้นครับ ประกอบตำนานที่เล่าต่อกันมา
เพราะสำนวนภาษาเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ ครับ..."
....................................................
บันทึกการเข้า
Jane
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ส.ค. 00, 00:00

excellent!!! really really excellent!
I really like it.
Thank you very very much for this.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ส.ค. 00, 00:00

ขอบคุณมากค่ะคุณทิด
save ไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
ปิยะ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 ก.ย. 00, 00:00

เข้ามาขอบคุณด้วยคนครับ
บันทึกการเข้า
อรรถพล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ก.ย. 00, 00:00

อ่านแล้วก็รู้สึกได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากครับ เยี่ยมครับ
แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้มาก่อน เลยประติดประต่อไม่ค่อยถูก
ถ้าใครเอาทั้งหมดมาเรียบเรียง เป็นบทความเล็ก ๆ ได้ จะขอบคุณมากครับ  
บันทึกการเข้า
Rojana
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.ย. 00, 00:00

Thank you, too.  But I think some of the poems are not quite accurate - when I get home and can get hold of a Thai keyboard I will try posting ones that I think will be useful ยิ้ม
บันทึกการเข้า
รจนา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.ย. 00, 00:00

ตอบจากข้อความที่แล้วนะคะ ที่ว่าข้อความ(บทประพันธ์)ที่ยกมามีบางบทไม่ตรงตามที่เคยได้ยินได้ฟัง(และได้อ่าน)มาดังนี้ค่ะ

บทโต้ตอบระหว่างศรีปราชญ์และนายทวาร(หรือนายประตูนั่นแหละค่ะ) คือบทที่ว่า...
(นายทวาร)แหวนนี้ท่านได้แต่.........ใดมา
(ศรีปราชญ์)จอมพิภพโลกา..............ท่านให้
(นายทวาร)ทำชอบสิ่งใดมา............วานบอก
(ศรีปราชญ์)เราแต่งโคลงถวายไท้...ท่านให้รางวัล
ส่วนโคลงต้นความนั้น จำไม่ได้ค่ะ ต้องขออนุญาตไปค้นมาอีกรอบ แต่ถ้าจำไม่ผิดโคลงบทที่ว่า....
"...อันใดย้ำแก้มแม่.............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย...........ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จะกราย................ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ.................ชอกเนื้อ เรียมสงวนฯ "
....นั้นเป็นโคลงต้นเหตุให้ศรีปราชญ์(หรือศรีในขณะนั้น)ได้เข้ารับราชการค่ะ...  รายละเอียดก็ขอติดไว้ก่อนเช่นกัน คราวหน้าจะมาตอบข้อที่ติดไว้ให้ค่ะ



 
บันทึกการเข้า
กานตภณ
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 พ.ค. 05, 12:59

 อ่านจากความคิดเห็นด้านบน เห็นว่ามี กลอน 2 บท ที่ขัดกันอยู่ คือ


(นายประตู) ศรีเอยพระเจ้าฮื่อ(หื้อ)............ปางใด
(ศรีปราชญ์)ปางเมื่อพระเสด็จไป...............ป่าแก้ว
(นายประตู)รังสีบ่สดใส............................สักหยาด
(ศรีปราชญ์)ดำแต่นอกในแผ้ว...................ผ่องเนื้อนพคุณ



(นายทวาร)แหวนนี้ท่านได้แต่.........ใดมา
(ศรีปราชญ์)จอมพิภพโลกา..............ท่านให้
(นายทวาร)ทำชอบสิ่งใดมา............วานบอก
(ศรีปราชญ์)เราแต่งโคลงถวายไท้...ท่านให้รางวัล

สงสัยว่า บทด้านบทไม่น่าจะเป็นการโต้ตอบระหว่าง ศรีปราชญ์กับนายประตูกระมัง น่าจะเป็น การโต้ตอบระหว่างศรปราชญ์กับ พระเจ้าเชียงใหม่ ที่ถูกนำมาเป็นเชลย ในอยุธยามากกว่า คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านจากที่ไหน
..
..
เรื่อง วรรณคดี กับ ประวัติศาสตร์นี่แยกกันไม่ใคร่จะออกนัก แต่ก็สนุกในแง่ที่เราไปค้นคว้ามาเพิ่มเติมได้
บันทึกการเข้า
phoenix
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 มิ.ย. 05, 21:09

 ธรณีนี่นี้........................เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์..........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านมาล้าง..............เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมาล้าง...........ดาบนี้ คืนสนอง
บันทึกการเข้า
.....Tanu
อสุรผัด
*
ตอบ: 18

....ทำงาน ....ชอบ ค้น คว้า ...สน ใจ ปรากฎ การณ์ ฟาก ฟ้า ทุก แขนง .....ช่าง สง สัย .....ชอบ ถาม .....พูด ไม่


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 มิ.ย. 05, 10:36

 ..........................ขอ ฝาก บ้าง ครับ

..........................ผม เป็น คน นครศรีธรรมราช

..........................ศรีปราชญ์ ถูกประหาร ที่ เมือง นครศรีธรรมราช

..........................มี สระล้างดาบ ศรีปราชญ์

..........................มี ถนน ศรีปราชญ์ อยู่ หลังสระฯ


.........................ข้าง สระล้างดาบฯ มี ป้าย เขียน ไว้

ธรณีนี่นี้.......................เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์..........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร..............เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง...........ดาบนั้น คืนสนอง

บ้าง ก็ ว่า..........

ธรณีภพนี้แพ่ง........................เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์..........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร..............เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง...........ดาบนั้น คืนสนอง
บันทึกการเข้า
นิรนารี
อสุรผัด
*
ตอบ: 37

Niranaree


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 24 ก.ค. 05, 03:22

 Cyber เว็บเพจนี้........จดจาร
เราใช่เด็กอันธพาล ....เร่ร้าง
ถูกผิดท่านประจาน ....เราด่า
เราบ่หยุดย่อมอ้าง .....อยู่ข้าง ประชาธิปไตยฯ

(ร่วมสนุกค่ะ ...__/\__
ในบรรยากาศศรีปราชญ์)
บันทึกการเข้า
นิรนารี
อสุรผัด
*
ตอบ: 37

Niranaree


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 ก.ค. 05, 03:34

 เหวยเหวยจะเอ่ยด้น....เดี่ยวดาย
จันทร์แหว่งสิต้องอาย..หลบหน้า
เมฆคลาคร่ำกระจาย ...ดำด่าง
ตกมาสู่ดินซ่า ............ที่ข้า เหยียบยืน ฯ

(ลงชื่อ กระต่าย)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง