เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 14509 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:50

 สิ่งสำคัญภายในวัด

ฐานไพที

ฐานไพทีแต่เดิมเป็นฐานประดับทักษิณของพระมณฑปสูง ๓ ชั้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้ถมฐานประทักษิณของพระมณฑปเสีย ๒ ชั้นแล้วขยายไปทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระศรีรัตนเจดีย์บนฐานที่ขยายออกไป ดังได้กล่าวมาแล้วรวมเรียกฐานที่สร้างอาคารทั้งสามหลังว่า “ฐานไพที” ในการสร้างฐานไพทีนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำพนักศิลาล้อมทั้ง ๒ ชั้น สร้างประตูซุ้มยอดทรงมณฑปประดับกระเบื้องที่บันไดทางขึ้น ๖ ประตูคือ ทางด้านทิศเหนือ ๒ ประตู ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ ๑ ประตู ด้านทิศใต้ ๒ ประตู และมีซุ้มประตูของเดิมตรงกับพระมณฑปอีก ๑ ประตู รวมเป็น ๗ ประตู นอกจากนั้นบนฐานไพทีนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ถ่ายแบบนครวัดจำลองไว้ให้ประชาชนชม ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระมณฑปต่อกับพระวิหารยอด แต่การสร้างเทวสถานจำลองนี้ได้มาสำเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลต่อมา

เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปีในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์ควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ฐานไพทีและปูชนียวัตถุ และสิ่งตกแต่งอีกหลายอย่าง เช่น ปูพื้นศิลาที่ฐานไพทีใหม่ ทำพนักศิลา ทำธงจระเข้ลงรักปิดทองประดับพนักศิลารอบฐานไพที หล่อรูปสัตว์หิมพานต์ ทำฉัตร และโคมทองเหลืองประดับรอบฐานไพที ซ่อมบานประตู ลงรักปิดทองรูปเซี่ยวกางใหม่ ปูพื้นซุ้มประตู และที่สำคัญคือ สร้างบุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ๓ บุษบก

ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทเป็นปราสาทพระเทพบิดร ได้รื้อซุ้มประตูยอดมณฑปด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ยังคงเหลือแต่ซุ้มด้านทิศตะวันตก ๑ ซุ้ม และซุ้มด้านทิศใต้ตรงกับพระมณฑปซึ่งเป็นซุ้มเดิมสมัยรัชกาลที่ ๓ หนึ่งซุ้มแล้วแก้บันไดของซุ้มขยายเป็นบันไดใหญ่ปูหินอ่อนดังที่ปรากฏในปัจจุบัน พร้อมทั้งทำพนมหมากที่กำแพงแก้วของฐานไพที

ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ได้ปฏิสังขรณ์ฐานไพที ซ่อมพระเจดีย์ทรงเครื่อง ๔ องค์ พนมหมาก พนักกำแพง และซุ้มประตูยอดมณฑปที่เหลืออยู่ ๒ ซุ้ม

ในรัชกาลที่ปัจจุบันเมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ได้ปฏิสังขรณ์ฐานไพทีอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในรายละเอียดประการใด และในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ๑ บุษบก

ลักษณะสถาปัตยกรรม
ฐานไพทีเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมได้สิบสองทั้ง ๔ ด้าน ยกสูง ๓ ชั้น มีกำแพงแก้วโดยรอบประดับด้วยกระเบื้องปรุ ทางขึ้นมี ๖ ทางทำเป็นบันไดใหม่ ขั้นบันไดประมาณ ๒๐ ขั้นด้านทิศเหนือมี ๒ ทาง ทิศใต้ ๓ ทาง โดยเฉพาะทางกลางซึ่งตรงกับพระมณฑป เป็นซุ้มประตูยอดทรงมณฑปเป็นของเดิมสมัยรัชกาลที่ ๓ ทิศตะวันออก ๑ ทาง ทิศตะวันตก ๑ ทาง ลักษณะเป็นซุ้มประตู ยอดมณฑปที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และสำเร็จบริบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ เชิงบันไดด้านทิศตะวันออกตั้งรูปศิลาจำหลักเป็นรูปขุนนางจีนถือง้าว
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:50

 สิ่งสำคัญภายในวัด >>> หอระฆัง

หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นให้ครบบริบูรณ์ ตามระเบียบของการสร้างวัดคือ มีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ พระมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก และหอระฆัง ระฆังที่นำมาประดิษฐานนี้สันนิษฐานได้เป็น ๒ นัย นัยหนึ่งกล่าวว่า เป็นระฆังซึ่งพบในการขุดสระ เพื่อสร้างหอไตร ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทรงผาติกรรมมาจากวัดนั้น เนื่องด้วยเป็นระฆังที่มีเสียงกังวาลมาก แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าเป็นระฆังที่โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อขึ้น เพื่อประดิษฐานที่ วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยเฉพาะ หอระฆังที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างอย่างไร

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในตำแหน่งเดิมโดยรื้อหอระฆังเก่าออกไป แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปีในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นแม่กองประดับกระเบื้องหอระฆังทั้งหลัง ในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการซ่อมเฉพาะส่วนชำรุดโดยทั่วไปพร้อมทั้งลงรักปิดทองประดับกระจกส่วนยอดใหม่ ในรัชกาลปัจจุบันได้มีการบูรณะในส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงรักษาศิลปะเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ลักษณะสถาปัตยกรรม
หอระฆังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างเป็นบุษบกทรงมณฑป ตั้งบนฐานทักษิณแบบปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ที่ฐานนี้มีประตูทางเข้า ๔ ด้านทำเป็นซุ้มจรนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องถ้วย หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีเขียวขอบสีแดง ตอนบนของซุ้มเป็นทรงบันแถลงนาค ๓ เศียร ๒ ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปหัวนาค กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียวเป็นรูปโค้งแหลมตามรูปซุ้มจรนำ ตอนล่างเป็นบานประตู ๒ บาน ทาสีเขียวเปิดเข้าไป ตอนบนเป็นช่องลมกรุด้วยลวดตาข่าย ตรงกลางมีแผ่นไม้รูปกลมรีจำหลักเป็นลายพุดตาน

ส่วนล่างของฐานทักษิณประดับด้วยหินอ่อนสีเทารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยรอบ ผนังของฐานทักษิณประดับด้วยกระเบื้องก้นถ้วยรูปกลมสีขาวเป็นพื้น ตกแต่งเป็นดอกด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ เฉพาะตรงส่วนย่อมุมไม้สิบสองประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียวแบบลายไทย ซึ่งสั่งทำมาจากเมืองจีน พร้อมกับการนำมาประดับที่ปราสาทพระเทพบิดร ตอนบนและล่างทำเป็นบัวหัวเสาและบัวปลายเสาประดับกระเบื้องถ้วย ขอบนอกประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเป็นลายรักร้อย

บุษบกประดิษฐานระฆังตั้งอยู่บนฐานเขียง และฐานสิงห์ ๒ ชั้น คั่นด้วยหน้ากระดานฐานบัว ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ ส่วนบุษบกย่อมุมไม้สิบสองเป็นไม้ปิดทองประดับกระจกฐานเสาทำเป็นกาบพรหมศร หัวเสามีคันทวยรับชายคาโดยรอบ ระหว่างเสาตอนบนประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้งปลายลายเป็นพญานาคปิดทอง ตอนล่างประดับด้วยกระจังปูนปั้นประดับกระจก เพดานบุษบกปิดทองฉลุลายเป็นรูปดาวเพดานแขวนระฆังไว้ตรงกลาง
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:51

 หอพระคันธาราษฎร์ และ พระมณฑปยอดปรางค์

หอพระคันธารราษฎร์ ตั้งอยู่มุมพระระเบียง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของพระอุโบสถ อยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับ พระมณฑปยอดปรางค์ ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกัน โดยมีหอพระคันธารราษฎร์ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของ พระมณฑปยอดปรางค์ ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง

หอพระคันธารราษฎร์ ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระปฏิมาสำคัญในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์ และให้สร้างพระมณฑปยอดปรางค์เพื่อประดิษฐานพระเจดีย์โบราณที่ทรงได้มาจากเมืองเหนือ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้ประดิษฐานพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือ ที่หน้าหอพระคันธารราษฎร์ด้วย

เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นแม่กองควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์ ประดับกระเบื้อง ปูพื้นศิลา ทำกำแพงแก้ว ทำซุ้มเรือนแก้วภายนอก ซ่อมเพดาน และภายเขียนภายในโดยมีพระองค์เจ้าปรีดา พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เป็นผู้ทำกระเบื้องเคลือบประดับหอพระคันธารราษฎร์และพระมณฑปยอดปรางค์ทั้งหมด นอกจากนั้นเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อหอพระสำหรับทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจากท้องสนามหลวง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นำรูปวัวโลหะคู่หนึ่งจากหน้าหอมาตั้งไว้หน้าหอพระคันธารราษฎร์ด้วย ปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถนอกกำแพงแก้ว

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้ทำพนักและฐานรองรับพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ และอัญเชิญไปประกอบเป็นพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์และพระมณฑปยอดปรางค์ ในส่วนที่ชำรุดเสียหายเมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วได้อัญเชิญมาไว้ที่พระวิหารยอด ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉพาะแต่พระแท่น พนักและฐานไม้รองรับเท่านั้น

ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารทั้ง ๒ หลังนี้อีกครั้งหนึ่งโดยยังคงรักษาศิลปะเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ส่วนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีองค์ประธานดำเนินการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญจากพระวิหารยอดไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งปรับปรุงจากโรงกระษาปณ์เดิมสมัยรัชกาลที่ ๕ และใช้เป็นตึกกองมหาดเล็กในเวลาต่อมา
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:51

 หอพระราชพงศานุสร หอพระราชกรมานุสร และพระโพธิธาตุพิมาน

หอพระทั้ง ๒ หลังและพระโพธิธาตุพิมาน ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถบนฐานไพทีเดียวกัน โดยมีหอพระราชพงศานุสรอยู่ทางทิศใต้ หอพระราชกรมานุสรอยู่ทางทิศเหนือ และพระโพธิธาตุพิมานอยู่กลาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น หอพระราชพงศานุสรเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระราชวงศ์จักรี

หอพระราชกรมานุสรเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหล่านี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ทรงเลือกสร้างเฉพาะพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน ๓๗ องค์ หล่อด้วยทองแดงจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อฐานเขียงรองรับพระพุทธรูปแล้วกะไหล่ทองคำทุกองค์ หลังจากนั้นให้จารึกพระนามอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ๓๔ องค์ อีก ๓ องค์ อุทิศถวายพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนพระโพธิธาตุพิมานเป็นที่ประดิษฐานพระปรางค์ของโบราณ ซึ่งทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือขณะทรงผนวช ภายในพระปรางค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา

เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปีในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ อำนวยการซ่อมหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตูหน้าต่างภายนอก เขียนผนังและเพดานภายในหอพระราชพงศานุสร หอพระราชกรมานุสร ก่อแก้และประดับกระเบื้องบุษบกทรงมงกุฎพระโพธิธาตุพิมาน นอกจากนั้นในรัชกาลนี้ยังโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขนาดเดียวกันกับ ๓ องค์ที่ประดิษฐานไว้แล้ว ลักษณะเหมือนพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ แล้วเชิญเข้าไปประดิษฐานไว้รวมกัน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเดียวกันกับของเดิมเป็นปางคันธารราษฎร์ ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในทำนองเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปนั่งทรงผ้าคลุม ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปขึ้น ๒ องค์ องค์หนึ่งนั่งห้อยพระบาท ยกพระหัตถ์ขวาประทานอภัยและแบพระหัตถ์ซ้ายประทานพร ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

อนึ่ง พระพุทธรูปที่อุทิศถวายรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ จะปักฉัตรปรุ ๓ ชั้น และที่อุทิศถวายรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลที่ ๘ จะปักฉัตรปรุ ๕ ชั้น

อาคารชั้น ๓ หลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี และ ๒๐๐ ปี ตามลำดับ โปรดซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงรักษาศิลปะเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประการใด
บันทึกการเข้า
aha_s
อสุรผัด
*
ตอบ: 14

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 21 ก.ย. 05, 00:30

 ขอบคุณมากครับ ละเอียดเลย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง