เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14505 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
 เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:41

 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันเป็นสามัญว่า วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นอาณาบริเวณ ทางด้านหน้ามีประตูสวัสดิโสภา ซึ่งเป็นประตูกำแพงพระบรมมหาราชวังเป็นทางเข้าพระอาราม สามารถติดต่อกับเขตพระราชฐานชั้นกลางได้ทางประตูดุสิตศาสดา

ประวัติความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและกรุงรัตนโกสินทร์ ตามประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐานสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศล ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากกรุงธนบุรีมาประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗

สถานที่ตั้ง บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย ๑, ๓, ๖, ๙, ๑๕, ๑๙, ๒๕, ๓๐, ๓๒, ๓๓, ๓๙, ๔๓, ๔๔, ๔๗, ๕๓, ๕๙, ๖๐, ๖๔, ๖๕, ๗๐, ๘๐, ๘๒, ๙๑, ๑๒๓, ๒๐๑, ๒๐๓ รถปรับอากาศ สาย ปอ.๑, ๖, ๗, ๘, ๑๒, ๒๕, ๓๘, ๓๙, ๔๔

เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๑.๓๐ น. และเวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:43

 การสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

การสถาปนาวัดนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทำเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ที่ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ล้อมรอบด้วยพระระเบียง ทำนองเดียวกับการมีพระระเบียงล้อมรอบพระสถูปเจดีย์ในสมัยอยุธยา มีศาลาราย ๑๒ หลังรอบพระอุโบสถ สร้างหอระฆังขึ้นทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ นอกจากนั้นทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ มีหอพระไตรปิฎกประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาขึ้น หอพระไตรปิฎกนี้ต้องอยู่กลางสระน้ำ ตามธรรมเนียมของการสร้างหาไตรทั่วไปในสมัยนั้น เรียกว่า หอพระมณเฑียรธรรม มีพระเจดีย์ทอง ๒ องค์ สร้างอุทิศถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา

ต่อมาในระยะหลังได้เกิดเพลิงไหม้หอพระมณเฑียรธรรมจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม โดยถมสระน้ำที่อยู่ล้อมรอบหอพระมณเฑียรธรรม สร้างอาคารขึ้นใหม่เรียกว่า พระมณฑป รวมทั้งได้ขยายเขตวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปทางทิศเหนือ และสร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ และเป็นที่บอกหนังสือพระด้วย นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระขึ้น ๒ พอเรียงกันในแนวเดียวกับหอพระมณเฑียรธรรมหลังที่สร้างขึ้นใหม่ได้แก่ หอพระนาก ประดิษฐานพระนาก และพระวิหารขาวหรือหอพระเทพบิดรประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งเป็นเทวรูปพระเจ้าอู่ทองจากวัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงิน พร้อมทั้งสร้างพระปรางค์ ๘ องค์ขึ้นที่หน้าวัดนอกพระระเบียง นอกจากสถาปนาอาคารต่างๆ ในพระอารามแล้ว ยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ๒ ชุด คือเครื่องทรงสำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน

สมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหรือปฏิสังขรณ์อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สันนิษฐานว่าคงจะเป็นช่วงที่อาคารต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาพดี ไม่จำเป็นต้องบูรณะแต่ประการใด

สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระมณฑปเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งปรับปรุงหอพระทั้ง ๒ หลัง หลังหนึ่งคือพระวิหารขาวเรียกว่า พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด ประดิษฐานพระเทพบิดรและพระพุทธรูปที่พระองค์ทรงนับถือศรัทธา อีกหลังหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี แต่เรียกตามความเคยชินว่า หอพระนาก และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระปรางค์ ๘ องค์ ตามที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ พร้อมทั้งสร้างกำแพงแก้วโอบล้อมพระปรางค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งลานวัดเป็นต้นว่า ก่อภูเขา ทำแท่นที่นั่ง กระถางต้นไม้ และตั้งตุ๊กตาหินรูปต่างๆ เป็นเครื่องประดับพระอาราม พร้อมทั้งปั้นยักษ์ยืนประตูจำนวน ๖ คู่กันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ นอกจากการปฏิสังขรณ์พระอารามแล้วยังทรงสร้างพระพุทธรูปรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถและสร้างเครื่องทรงพระแก้วสำหรับฤดูหนาวเพิ่มขึ้นด้วย

สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้มีพระราชประสงค์จะสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เพราะทรงเห็นว่าพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) อยู่ต่ำกว่าพระมณฑปที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทขึ้นที่ด้านหน้าพระมณฑป เพื่อจะประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตและสร้างพระเจดีย์ทรงลังกา แบบพระมหาเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ด้านหลังของพระมณฑปในแนวแกนเดียวกัน ตามแบบการสร้างพระวิหารและพระพุทธเจดีย์ในสมัยอยุธยา แต่ด้วยเหตุที่พระมณฑปมีฐานสูงถึง ๓ ชั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระศรีรัตนเจดีย์ให้สูงเสมอกับฐานชั้นที่ ๓ ของพระมณฑป สร้างเป็นฐานร่วมเรียกว่า ฐานไพที ด้วยเหตุที่มีการถมฐานให้กว้างใหญ่ขึ้นในลักษณะนี้ ทำให้ฐานนั้นยาวเกินกว่าพระระเบียง จึงต้องขยายพระระเบียงออกไปทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โอบอ้อมเอาพระปรางค์หน้าวัดไว้ ๒ องค์ ในการขยายพระระเบียงครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างประตูที่พระระเบียงขึ้นทั้ง ๒ ด้านที่ขยายไปใหม่ โดยด้านทิศตะวันออกทำเป็นซุ้มมียอดทรงมงกุฎและมีเกยทั้ง ๒ ข้าง ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นซุ้มไม่มียอด มีเกยข้างเดียว

นอกจากนั้นการที่พระองค์ทรงธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในสมัยที่ทรงพระผนวช ได้ทรงพบพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ พระเจดีย์โบราณและพระปรางค์โบราณ เมื่อทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจึงได้นำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุ เช่นสร้างพระมณฑปยอดปรางค์ ประดิษฐานพระเจดีย์โบราณบนฐานไพทีเดียวกันกับหอพระคันธารราษฎร์ และประดิษฐพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ที่หน้าหอ สร้างพระโพธิธาตุพิมานประดิษฐานพระปรางค์โบราณ ตั้งอยู่ระหว่างหอพระราชพงศานุศรและหอพระราชกรมานุสร ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นลักษณะประจำของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่มักจะทรงสร้างอาคารหลายหลังบนฐานไพทีเดียวกัน นอกจากนั้นได้ทรงนำแบบอย่างของลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยามาใช้ เช่น การสร้างพระสถูปเจดีย์แบบทรงลังกา นำแบบอย่างการวางพระวิหารลงหน้าพระเจดีย์ในแนวแกนเดียวกัน นำยอดปรางค์มาใช้กับพระพุทธปรางค์ปราสาท พระโพธิธาตุพิมานและพระมณฑปยอดปรางค์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแผนผังและรูปแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากการสร้างอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ที่บนลานทักษิณของพระมณฑปยังโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายแบบจำลองนครวัดจากประเทศเขมรมาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และให้ประชาชนชมว่าเป็นของแปลก

สมัยรัชกาลที่ ๕ การก่อสร้างและการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารต่าง ๆ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้กระทำขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะพระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะและปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จ พร้อมกับการสมโภชพระนครครอบ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างบุษบกตราแผ่นดินขึ้นที่ฐานไพทีของพระมณฑปรวม ๓ องค์ เฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อมาในปลายรัชกาลได้เกิดเพลิงไหม้เครื่องบนของพระพุทธปรางค์ปราสาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่แต่ยังไม่ทันเสร็จก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธปรางค์ปราสาทและตกแต่งเครื่องประดับภายใน พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทั้ง ๕ พระองค์ ในการบูรณะปราสาทพระเทพบิดรครั้งนี้ได้ชะลอพระเจดีย์ทองทั้ง ๒ พระองค์เลื่อนไปไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออก รื้อซุ้มประตูและบันไดชั้นฐานประทักษิณปราสาทพระเทพบิดรด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ทำบันไดใหม่ปูด้วยหินอ่อน รวมทั้งบันไดด้านที่ตรงกับพระศรีรัตนเจดีย์ด้วย นอกจากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพนมหมาก ขึ้นที่กำแพงแก้วรอบฐานไพที พร้อม ๆ กับการรื้อซุ้มประตูและบันไดดังกล่าวแล้ว ส่วนที่บันไดทางเข้าพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและหลังก็โปรดเกล้า ฯ ให้แก้ขั้นบันไดให้เตี้ยลงและปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน

สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์อาคารต่าง ๆ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครอบ ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ การบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ได้ยึดถือหลักการว่า ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ไปตามแบบเดิม เพียงแต่แก้ไขเปลี่ยนแแปลงวัตถุและวิธีการก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักวิชาการสมัยใหม่ เพื่อให้อาคารมีความคงทนถาวรยิ่งขึ้น

สมัยรัชกาลที่ ๘ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นบางส่วน เช่นการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงเป็นต้น

สมัยรัชกาลปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างทั่วทั้งพระอาราม เพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ พร้อม ๆ กับการบูรณะในครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างบุษบกตราแผ่นดิน ขึ้นอีก ๑ องค์ที่ฐานไพทีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักกษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:43

 พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

พระพุทธลักษณะ และที่ประดิษฐาน

วันเสาร์ เดือน ๕ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับอัญเชิญจากเสนามาตย์ทั้งหลายเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง สืบตามพระราชประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐานสมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เป็นศิริสำหรับพระนครว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา" อันมีความหมายว่า "เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร" อีกด้วย

วันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๒๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากโรงในพระราชวังธนบุรีลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมทำสังฆกรรม สวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม"

พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ มีเส้นจีวรคาดเข่าทั้งสองข้าง พระองค์อวบอ้วน พระพักตร์กลมอูม พระขนงโก่ง หลังพระเนตรอูม พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางสลักขอบทั้งสองเส้น พระหนุเป็นปม พระรัศมีซึ่งอยู่เหนือพระเกตุมาลาเป็นต่อม ชายสังฆาฏิยาว ฐานรองรับเป็นฐานเขียง มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซ.ม. สูงตั้งแต่ฐานเฉพาะทับเกษตร ถึงพระเมาลี ๒๖ ซ.ม. ตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ ซม. ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน

เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา ประดับมณีต่างๆ จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาลี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่ พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่ง ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์

พระบุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น

บนฐานชุกชีด้านหน้า ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยไม่มีเมาลี มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ องค์ด้านเหนือพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ด้านใต้พระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิหุ้มทองคำ เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:44

 ตำนาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "พระแก้วมรกต" ซึ่งสถิตย์เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมือง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สถิตย์เป็นองค์ประธาน ณ พระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามโบราณจารย์ประเพณีถือว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร "พระแก้วมรกต" เป็นพระพุทธรูปที่พระอินทร์ และพระวิษณุกรรม จัดหาลูกแก้วมาสร้างองค์ เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นพระประธานสำคัญในการอัญเชิญประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของประเทศไทย

ตำนานโดยสังเขปกล่าวว่า เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๕๐๐ ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งนามพระนาคเสนเถรเจ้า จำพรรษาอยู่ที่วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร พระพุทธศาสนากำลังเจริญเต็มที่ในยุคนั้น พระนาคเสนได้รำพึงและประสงค์จะจัดสร้างพระพุทธปฏิมากรไว้สำหรับเป็นองค์อนุสรณ์ แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ให้ผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาไว้สักการะ บูชาแก่เทพยดาและมวลมนุษย์ จึงได้เสี่ยงทายว่า จะสร้างด้วยทองคำ หรือเงิน ก็เกรงว่าพวกมิจฉาชีพจะนำไปทำลายเสีย จะมิยั่งยืนตลอดไป ครั้นจะสร้างด้วยแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ให้เหมาะสมกับ พุทธรัตนะ ก็ยังมิทราบว่าจะหาลูกแก้วสมดังปณิธานเสี่ยงทายได้ที่ไหน และด้วยทิพยจักษ์โสตร้อนอาสน์ถึงพระอิศวร ทรงทราบความปรารถนาแห่งพระนาคเสนเถรเจ้า ที่จะสร้างพระแก้วมรกตนี้ จึงเสด็จลงมาพร้อมด้วยวิษณุกรรม และจัดนำลูกแก้วมณีโชติ ซึ่งเป็นแก้วชนิดหนึ่งซึ่งมีรัศมีรุ่งโรจน์ ที่ภูเขาวิปุละ ซึ่งกั้นเขตแดนมคธ และอยู่ด้านหนึ่งของ กรุงราชคฤห์ ประกอบด้วย

๑. แก้วมณีโชติ มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๓,๐๐๐ ดวง เฉพาะแก้วมณีโชติ มีขนาดใหญ่ถึงหนึ่งอ้อมเต็ม
๒. แก้วไพฑูรย์ มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๒,๐๐๐ ดวง
๓. แก้วมรกต มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๑,๐๐๐ ดวง เฉพาะแก้วมรกตนี้ มีขนาดใหญ่ ๔ กำมือ ๓ นิ้ว

แก้ววิเศษนี้ มีพวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ ยักษ์มาร และเทพยดารักษาอยู่มาก พระวิษณุกรรมมิอาจที่จะไปนำลูกแก้วดังกล่าวนี้คนเดียวมาได้ จึงได้ทูลเชิญพระอิศวรเจ้าเสด็จร่วมไปด้วย เมื่อถึงเขาวิปุลบรรพตแล้ว พระอิศวรจึงแจ้งให้พวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และยักษ์ที่รักษาลูกแก้ว ทราบถึงความประสงค์ของพระนาคเสนเถรเจ้า ที่จะนำแก้วมณีโชตินี้ไปสร้างพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นอนุสรณ์แทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และยักษ์ทูลว่า เฉพาะลูกแก้วมณีโชตินั้นมีอิทธิฤทธิ์มาก เป็นของคู่ควรสำหรับพระมหาจักรพรรดิ์ไว้ปราบยุคเข็ญของโลกเท่านั้น ในเมื่อโลกเกิดจลาจลวุ่นวาย ซึ่งมนุษย์ในสมัยนั้นจะหมดความเคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน ก่อการวุ่นวายขึ้น พระมหาจักรพรรดิ์จะได้ใช้แก้วมณีโชตินี้ไว้ปราบยุคเข็ญต่อไป แต่ว่าเพื่อมิให้เสียความตั้งใจและเสื่อมศรัทธา จึงขอมอบถวายลูกแก้วอีกลูกหนึ่ง ซึ่งเป็น "แก้วมรกต" รัศมีสวยงามผุดผ่อง ถวายให้ไปจัดสร้างแทน และพระอิศวรและพระวิษณุกรรม ก็นำแก้วมรกตนี้ไปถวายพระนาคเสนเถรเจ้า แล้วก็เสด็จกลับวิมาน

พระนาคเสนเถรเจ้า เมื่อได้รับลูกแก้วมรกตแล้ว ก็รำพึงถึงช่างที่จะมาทำการสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วสีมรกต ให้มีพุทธลักษณะสวยงามประณีต วิษณุกรรมซึ่งเป็นนายช่างธรรมดาทราบความดำริของพระนาคเสน จึงแปลงกายเป็นมนุษย์เข้าไปหาพระนาคเสน รับอาสาสร้างพระพุทธรูปตามประสงค์ของพระนาคเสนเถรเจ้า เมื่อได้รับอนุญาตจากพระนาคเสนแล้ว วิษณุกรรมจึงลงมือสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมรกตสำเร็จลงด้วยอิทธิฤทธิ์ สำเร็จภายใน ๗ วัน เนรมิตพระวิหารและเครื่องประดับ สำหรับประดิษฐานรองรับพระพุทธรูปแก้วมรกต วิษณุกรรมก็กลับไปสู่เทวโลก และพระพุทธรูปแก้วมรกตที่สร้างสำเร็จโดยช่างวิษณุกรรมนี้ มีพุทธลักษณะอันสวยงาม มีรัศมีออกเป็นสีต่างๆ หลายสีหลายชนิด ฉัพพรรณรังษีพวยพุ่งออกจากพระวรกาย เทพบุตร เทพธิดา
ท้าวพระยาสามนตราช พระอรหันตขีณาสพ สมณะ ชีพราหมณ์ ตลอดประชาชนทั่วไปเมื่อได้เห็นพุทธลักษณะพระแก้วมรกตแล้ว ต่างก็พากันแซ่ซ้องถวายสักการะ บูชา พระนาคเสนเถรเจ้าพร้อมด้วยพวกเทพยดา นาค ครุฑ มนุษย์ กุมภัณฑ์ พากันตั้งสัตยาอธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกตรวม ๗ พระองค์ คือ ในพระโมฬีพระองค์หนึ่ง, ในพระนลาตพระองค์หนึ่ง, ในพระอุระพระองค์หนึ่ง, ในพระอังสาทั้งสองข้างสองพระองค์ และในพระชานุทั้งสองข้างสองพระองค์ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งเจ็ดพระองค์ เข้าไปประดิษฐานเรียบร้อยทั้ง ๗ แห่ง เนื้อแก้วมรกตแล้ว เนื้อแก้วก็ปิดสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีรอยแผลและช่องพลันก็เกิดปาฏิหาริย์ แผ่นดินไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พระพุทธรูปแก้วได้ยกฝ่าพระบาทดุจดังเสด็จลงจากแท่นประดิษฐาน เมื่อเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นดังนี้ พระนาคเสนเถระทำนายว่า พระแก้วมรกตนี้จะมิได้ประดิษฐานในเมืองปาฏลีบุตรแน่ ต้องเสด็จเที่ยวโปรดเวไนยสัตว์ในประเทศ ๕ คือ

๑. ลังกาทวีป ๒. ศรีอยุธยา ๓. โยนก ๔. สุวรรณภูมิ ๕. ปะมะหล

เมื่อพระนาคเสนเถรเจ้าดับขันธ์แล้ว พระแก้วมรกตนี้ คงได้รับการปกปักรักษา สักการะ บูชาเป็นเวลาต่อมาอีก ๓๐๐ ปี เมืองปาฏลีบุตรสมัยพระสิริกิติราชดำรงเป็นประมุข เกิดจลาจลวุ่นวาย เกิดสงครามมิได้ขาด ข้าศึกต่างเมืองยกมารบกวน เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ก่อการกบฏ ราษฎร์วานิชเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า สุดที่จะทนทาน ประชาชนวานิช พร้อมใจกันพาพระแก้วมรกตพร้อมด้วยพระไตรปิฎก ลงสำเภาหนีออกจากเมืองปาฏลีบุตรไปสู่ลังกาทวีป พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานประมาณ ๒๐๐ ปี (พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๑,๐๐๐ ปี)


ครั้นถึงสมัยเจ้าอนุรุธราชาธิราช กษัตริย์ของพุกามประเทศ (พม่า) กับพระภิกษุรูปหนึ่งลงสำเภาไปสู่ลังกาทวีป พร้อมด้วยพระสงฆ์พุกามอีก ๙ รูป อำมาตย์พุกาม ๒ คน ของพุกาม ได้ขอบรรพชาต่อพระสังฆราชลังกาทวีป พระภิกษุรูปที่เป็นหัวหน้าของพุกามชื่อพระศีลขัณฑ์ ร่วมมือกันสังคายนาพระไตรปิฎกและคัมภีร์สัธทาวิเศษเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะกลับพุกาม ได้ทูลขอ "พระแก้วมรกต" ต่อประมุขของกรุงลังกาทวีป พระองค์จนพระทัย จึงต้องมอบพระแก้วมรกตให้กับกษัตริย์กรุงพุกามไป ทำความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองปาฏลีบุตรทั่วลังกาทวีป

เมื่อกษัตริย์กรุงพุกามได้รับพระแก้วมรกตเรียบร้อยแล้ว จึงจัดขบวนเรือสำเภาอัญเชิญพระแก้วมรกตลงสำเภาสองลำ แต่เมื่อสำเภาแล่นมาในทะเล สำเภาที่อัญเชิญพระแก้วมรกต เกิดพลัดหลงทางไปสู่เมืองอินทปัตถ์พร้อมทั้งพระไตรปิฎก พระเจ้ากรุงพุกามเสียพระทัยมาก เพราะตั้งพระทัยไว้ว่า จะจัดเฉลิมฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ในกรุงพุกาม เมื่อเหตุการณ์กลับกลายไป จึงปลอมพระองค์เป็นราษฎรสามัญไปสู่กรุงอินทปัตถ์ เพื่อสืบหาเรือสำเภาที่อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎก และขอพระแก้วมรกตคืนจากพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ก็ไม่ยอมคืนให้ เพราะถือว่าเป็นบุญญาธิการของพระองค์ ที่พระแก้วมรกตได้เสด็จมาสู่กรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงพุกามทรงพิโรธมาก ดำริจะปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ ก็เกรงว่าบาปกรรมจะติดตามตัวต่อไปภายภาคหน้า จึงแสดงอภินิหาริย์ให้ชาวอินทปัตถ์เห็น โดยเอาไม้มาทำเป็นดาบ ทาด้วยฝุ่นดำแล้วก็เหาะขึ้นไปในอากาศวนรอบเมืองอินทปัตถ์ ๓ ครั้ง สะกดพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และคนหลับทั้งเมือง แล้วเสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เอาดาบที่ทำด้วยไม้ขีดไว้ที่พระศอของพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และมเหสี ตลอดจนเสนาบดีผู้ใหญ่ และตรัสขู่ว่า หากไม่คืนสำเภาที่อัญเชิญพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตให้แล้ว วันรุ่งขึ้นจะบั่นเศียรให้หมดทุกคน พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และมเหสีทรงทราบเรื่อง และพิสูจน์รอยฝุ่นดำที่พระศอ ก็พบว่ามีรอยฝุ่นดำจริงตามดำรัสของพระเจ้ากรุงพุกาม มีความหวั่นเกรงต่อชีวิตของพระองค์และราชบริพารเป็นอันมาก ให้อำมาตย์ ๒ คน กราบทูลพระเจ้ากรุงพุกามทราบว่า หากเป็นสำเภาอัญเชิญพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตของพุกามจริง ก็จะจัดถวายส่งคืนให้ ขอให้พระเจ้ากรุงพุกามเสด็จกลับยังกรุงพุกามก่อน พระเจ้ากรุงพุกามก็ยินยอม

กาลต่อมา เมื่อสำเภาลำที่หายไปก็มาถึงกรุงพุกาม ตรวจสอบแล้วมีแต่พระไตรปิฎกอย่างเดียว หามีพระแก้วมรกตไม่ พระเจ้ากรุงพุกามทรงทราบดีว่า พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์มีพระประสงค์จะได้พระแก้วมรกตไว้สักการะ บูชาในกรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงพุกามก็มิได้คิดอะไรอีก พระแก้วมรกตนี้ได้ตกอยู่
ในกรุงอินทปัตถ์มาช้านานจนรัชสมัยพระเจ้าเสนกราช พระองค์มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง สนพระทัยเที่ยวจับแมลงวันหัวเขียวมาเลี้ยงไว้ และบุตรชายของปุโรหิตคนหนึ่งชอบเล่นแมลงวันหัวเสือ ต่อมาแมลงวันหัวเสือของบุตรชายปุโรหิตกัดแมลงวันหัวเขียวของราชโอรสตาย พระราชโอรสเสียพระทัยและฟ้องพระเจ้าเสนกราชผู้บิดา จนมีรับสั่งให้นำบุตรชายของปุโรหิตไปผูกให้จมน้ำตาย ปุโรหิตผู้พ่อพร้อมด้วยภรรยาพาบุตรชายหนีออกจากเมือง เพราะเห็นว่าพระเจ้าเสนกราชปราศจากความยุติธรรม เอาแต่พระทัยตนเอง พญานาคราชก็โกรธพระเจ้าเสนกราชที่อยุติธรรม ที่สั่งให้เอาบุตรปุโรหิตไปผูกมัดเพื่อให้จมน้ำตาย จึงบันดาลให้น้ำท่วมเมืองอินทปัตถ์ เป็นที่ระส่ำระสายแก่ประชาราษฎร์ยิ่งนัก มีพระเถระรูปหนึ่งไม่ปรากฏนาม ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมด้วยคนรักษา หนีภัยแล่นเรือไปทางทิศเหนือของเมืองอินทปัตถ์

ในราชอาณาจักรไทยขณะนั้น กรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงพระนามว่า พระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงทราบว่ากรุงอินทปัตถ์เกิดกุลียุค น้ำท่วมบ้านเมืองเสียหาย ผู้คนล้มตายมาก ทรงพระวิตกถึงพระแก้วมรกตจะอันตรธานสูญหายไป จึงจัดทัพไปรับพระแก้วมรกตอัญเชิญลงสำเภา พร้อมกับคนรักษากลับสู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในมหาเวชยันต์ปราสาท ประดับตกแต่งด้วยเครื่องสักการะอันประณีต จัดการฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาและประชาราษฎร์ได้ถวายสักการะพระแก้วมรกตตลอดมา และต่อมา พระยากำแพงเพชรได้ลงมากรุงศรีอยุธยา กราบทูลขอพระแก้วมรกตไปสักการะ ณ เมืองกำแพงเพชร ต่อมาโอรสพระองค์หนึ่งมีชนมายุเจริญวัย โปรดให้ไปครองกรุงละโว้ ระลึกถึงพระแก้วมรกตได้ ปรารถนาอยากได้พระแก้วมรกตไว้สักการะ บูชา จึงทูลขอต่อพระมารดา พระมารดามีความรักพระโอรสขัดไม่ได้ จึงทูลขอต่อพระสามี ก็ได้รับอนุญาตให้อัญเชิญไปได้ แต่ให้ไปเลือกเอาเอง เพราะประดิษฐานรวมกับพระแก้วองค์อื่นๆ อีกหลายองค์ พระมารดาและโอรสไม่ทราบว่าพระแก้วมรกตองค์ไหนเป็นองค์ที่แท้จริง จึงให้ไปหาคนเฝ้าประตูรับสั่งคนเฝ้าประตูและให้สินบนช่วยชี้แจง คนเฝ้าประตูรับว่า จะนำดอกไม้สีแดงไปวางไว้บนพระหัตถ์พระแก้วมรกตองค์ที่แท้จริงให้ พระโอรสได้พระแก้วมรกตสักการะ บูชาไว้ ณ เมืองละโว้ เป็นเวลา ๑ ปี ๙ เดือน ก็ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับเมืองกำแพงเพชรตามข้อตกลง

ในขณะนั้น พ.ศ.๑๙๗๗ พระเจ้าพรหมทัตเจ้าเมืองเชียงราย ทรงทราบว่า พระยากำแพงเพชรผู้ทรงเป็นสหายมีพระแก้วไว้สักการะ บูชา ก็ปรารถนาอยากได้สักการะ บูชาบ้าง จึงจัดขบวนรี้พลสู่เมืองกำแพงเพชร พระปิยะสหาย ทูลขออาราธนาพระแก้วมรกตสู่เมืองเชียงราย เมื่อได้แล้วก็ดีพระทัย จัดขบวนเดินทางกลับไปสมโภช ณ เมืองเชียงรายเป็นนิจ ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรายเกรงว่าเมื่อเกิดสงครามขึ้น จะเป็นอันตรายต่อพระแก้วมรกต หวังจะซ่อนเร้นมิให้ศัตรูปัจจามิตรทราบ จึงสั่งให้เอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุเสียมิดชิด ดูประดุจพระพุทธรูปศิลาสามัญ

ลำดับต่อมา พระสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตถูกอสุนีบาตพังทลายลง ชาวเมืองจึงอัญเชิญไปประดิษฐานยังวิหารวัดแห่งหนึ่ง ครั้นต่อมาปูนที่พอกไว้ตรงพระนาสิกกะเทาะออก เห็นแก้วสีเขียว เจ้าอธิการและพระสงฆ์ในวัดนั้น จึงกะเทาะเอาปูนออกเห็นเป็นพระแก้วทึบทั้งองค์ บริสุทธิ์ดี มีรัศมีสุกใสสกาวไม่มีรอยบุบสลายเลย ราษฎรเมืองเชียงรายและหัวเมืองใกล้เคียง จึงพากันไปถวายสักการะมิได้ขาดสาย ความได้ทราบถึงพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ จัดขบวนรี้พลช้างม้าเดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตสู่นครเชียงใหม่ ครั้นขบวนแห่อัญเชิญมาถึงทางแยกที่จะไปนครลำปางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก็พาพระแก้วมรกตวิ่งเตลิดไปทางนครลำปาง ควาญช้างได้ปลอบโยนให้หายจากความตื่น ช้างเชือกนั้นก็วิ่งเตลิดพาพระแก้วมรกต กลับหลังวิ่งไปทางนครลำปางอีก ควาญช้างได้พยายามเปลี่ยนช้างเชือกใหม่อีก ช้างตัวใหม่ก็วิ่งไปทางนครลำปางอีก ควาญช้างได้พยายามเล้าโลมเอาอกเอาใจอย่างไร เพื่อจะให้ช้างเดินทางไปนครเชียงใหม่ก็ไม่สำเร็จอีก ท้าวพระยาตลอดจนประชาชนในขบวนแห่พระแก้วมรกต เห็นประสบเหตุการณ์เช่นนั้น จึงส่งใบบอกไปยังพระเจ้าสามแกนเจ้านครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ พระเจ้าเชียงใหม่มีความเลื่อมใสพระแก้วมรกตมาก แต่ก็กริ่งเกรงในพุทธานุภาพพระแก้วมรกต และถือโชคลาง เพราะที่ช้างไม่ยอมเดินทางไปนครเชียงใหม่นั้น คงเป็นด้วยพุทธานุภาพของพระแก้วมรกตไม่ยอมเสด็จมาอยู่เชียงใหม่ จึงอนุโลมให้พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ณ นครลำปาง

ต่อมา พ.ศ.๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงอานุภาพมาก ทรงพิจารณาว่า พระแก้วมรกตเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่สมควรที่จะประดิษฐานอยู่ที่นครลำปางอีกต่อไป จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังนครเชียงใหม่ แล้วจัดสร้างพระอารามราชกูฏเจดีย์ถวาย พระเจ้าเชียงใหม่สร้างวิหารให้เป็นปราสาทมียอด แต่ก็หาสมปรารถนาไม่ เพราะอสุนีบาตทำลายหลายครั้งและพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ นครเชียงใหม่นานถึง ๘๔ ปี

ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระราชบิดานางหอสูง เสด็จสวรรคต เมืองเชียงใหม่ไม่มีกษัตริย์จะครองราชย์ ท้าวพระยาเสนาบดีและสมณะ ชีพราหมณ์ จึงพร้อมกันแต่งตั้งราชฑูต พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการไปขอเจ้าราชโอรส อันเกิดจากนางหอสูง มาครองราชสมบัติแทนพระอัยกาต่อไป พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงทราบ จึงโปรดให้เสนาบดีแต่งจตุรงคเสนาพาเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ขึ้นไปกระทำพิธีราชาภิเษกตามประเพณี ครองราชสมบัติ ณ นครเชียงใหม่ ทรงนามว่าพระเจ้าศรีไชยเชษฐาธิราช เจ้านครเชียงใหม่ เมื่อเสร็จการราชพิธีราชาภิเษกแล้ว พระเจ้าโพธิสารก็เสด็จกลับคืนมายังกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ๓ ปี ก็สวรรคต เสนาบดีพฤฒามาตย์ผู้ใหญ่ ตลอดจนสมณะ ชีพราหมณ์เห็นว่า ถ้าให้ราชโอรสองค์อื่นครองราชสมบัติ ก็คงจะเกิดแก่งแย่งสมบัติกันขึ้น จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชสมบัติอีกเมืองหนึ่ง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จมาประทับยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย เพื่อให้พระราชวงศ์และประชาราษฎร์ได้กราบไหว้นมัสการ บางโอกาสเสด็จมาประทับกรุงศรีสัตนาคนหุตเป็นเวลาช้านาน ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่คิดว่า พระองค์คงจะไม่เสด็จกลับไปครองเมืองเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญเชื้อพระวงศ์ขึ้นครองราชย์แทน ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระพิโรธมาก กรีฑาทัพยกไปจะตีเมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้าสุทธิวงศ์ทรงทราบข่าวศึกเกรงพระเดชานุภาพ จึงแต่งพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมด้วยสาวพรหมจารี ๑๒ คน เลือกเฟ้นเอาที่มีสิริโฉมงดงาม ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ ขอกองทัพพม่ารักษาเมือง พระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดให้ยกกองทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่า จะทำศึกกับเชียงใหม่ ก็เหมือนกับทำศึกกับพม่า จะทำให้เสียไพร่พลตลอดจนเสบียงอาหาร ไม่ชอบด้วยทศพิธราชธรรม และเกรงว่าจะสู้ทัพข้าศึกมิได้ จึงสั่งให้ถอยทัพ พร้อมด้วยอัญเชิญพระแก้วมรกตมาอยู่ในเมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี

ลุถึง พ.ศ.๒๑๐๗ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เจ้าเมืองมอญ กำลังเรืองอำนาจ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่าจะสู้มอญไม่ได้ จึงมีดำรัสแก่อนุชาทั้งสองและอำมาตย์แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า ที่ตั้งกรุงศรีสัตนาคนหุตนี้ เป็นถิ่นที่ดอนใกล้ภูเขาใหญ่ ชัยภูมิไม่เหมาะสมจะเป็นราชธานีของพระมหากษัตริย์ เห็นควรอพยพครอบครัวไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ อันเป็นชัยภูมิอันสมบูรณ์ด้วยภักษาผลาหาร ใกล้กับฝั่งแม่น้ำยิ่งกว่ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อดำริต้องกันทั้งสามพระองค์แล้ว จึงได้สร้างเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เองในเมืองเวียงจันทน์ และได้อาราธนาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานไว้ในปราสาท แต่นั้นต่อมาอีก ๒๑๔ ปี

ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๒๑ พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา ให้รวบรวมไพร่พลที่เหลือจากพม่าโจมตี ตั้งตัวเป็นมหากษัตริย์สืบวงศ์สยาม ตั้งกรุงธนบุรีหัวเมืองชายทะเลขึ้นเป็นพระมหานคร ได้ยกทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เพื่อประสงค์จะแผ่พระเกียรติยศให้ยิ่งใหญ่ไพศาล และขยายขอบเขตขันธเสมาอาณาจักรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต

เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้วได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต กับพระบาง ขึ้นคานหามมายับยั้งอยู่เมืองสระบุรี แล้วแจ้งข้อราชการมีชัยชนะศึก ตลอดจนได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกตนั่ง และพระพุทธปฏิมากรยืนชื่อพระบางมาด้วย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบ ทรงเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ ให้ราชบุรุษอาราธนาพระสังฆราชและพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวง จัดกำลังเรือและฝีพายให้ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี โดยให้เรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระรับพระแก้วมรกต และเรือที่นั่งกราบรับพระบาง พร้อมด้วยเรือชัยต่างๆ เรือตั้งกัน ๑๖ คู่ เรือรูปสัตว์ ๑๐ คู่ มีเรือเครื่องสูงเศวตฉัตรกลองชนะมโหระทึก ดนตรีประจำทุกลำ แห่ล่องมาเป็นขบวนพยุหยาตรานาวาจนถึงกรุงธนบุรี เชิญพระแก้วมรกตและพระบางประดิษฐานไว้ในโรงภายในพระราชวัง ซึ่งปลูกไว้ริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ตั้งเครื่องสักการะ บูชา เป็นมโหฬารดิเรกด้วยเงิน ทอง แก้ว บูชาพระไตรยาธิคุณ และโปรดให้มีการถวายพระพุทธสมโภช มีมหกรรมมหรสพฉลอง เวลากลางคืนจุดดอกไม้เพลิงทุกคืนตลอด ๗ วัน ๗ คืน

ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ครั้นพระอุโบสถสร้างเสร็จแล้วจึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:45

 สิ่งสำคัญภายในวัด
พระอุโบสถ

ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมาทั้ง ๔ มุมและตอนกลางของกำแพงอีก ๔ ซุ้ม รวม ๘ ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒ ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลา ๓ ปี สำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. ๒๓๒๘

ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ได้เกิดเพลิงไหม้บุษบกทรงพระแก้วมรกตซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมขึ้นใหม่ให้ทันฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปลายรัชกาล (รอยไฟไหม้ครั้งนี้ยังปราฏให้เห็นที่ไม้แกนของบุษบก เมื่อมีการซ่อมครั้งใหญ่หลังฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕)

หลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของพระอุโบสถในรัชสมัยนี้ไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่า ฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกใน บนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ส่วนฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ

พระทวารกลาง เป็นพระทวารใหญ่สูง ๘ ศอกคืบ กว้าง ๔ ศอกคืบ ตัวบานเป็นบานประดับมุกลายช่องกลม ส่วนพระทวารข้างเป็นทวารรองสูง ๗ ศอก กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว ตัวบานเป็นบานประดับมุกกลายเต็ม ซึ่งบานพระทวารทั้ง ๒ แห่งนี้ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นว่า “เป็นฝีมือที่น่าชมยิ่ง ตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอด”

สมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะหรือปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแต่อย่างใด อาจจะเนื่องจากพระอุโบสถได้สร้างเสร็จในระยะไม่นานนักและยังไม่มีการชำรุดทรุดโทรม

สมัยรัชกาลที่ ๓ หลังจากที่พระอุโบสถได้สร้างมาแล้วประมาณ ๕๐ ปี คงจะมีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๔ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศรีสุเทพ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นผู้อำนวยการซ่อม การบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านการตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกพระอุโบสถ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ภาพนอกพระอุโบสถ
โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนใหม่และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสี โดยมีพื้นหลังคาสีน้ำเงิน มีลวดสีเหลืองและมีเชิงเป็นสีแดง กระเบื้องเหล่านี้ผลิตขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ผนังด้านนอกซ่อมแปลงจากลายรดน้ำพุ้มข้าวบิณฑ์ พื้นชาดเป็นลายกกระหนกก้านแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกใน ทำด้วยดินเผาปิดทองประดับกระจกสีเหลือง ส่วนที่ฐานปัทม์ตั้งรูปครุฑยุดนาคทรงเครื่องรูปสังวาล จำนวน ๑๑๒ ตัวโดยรอบ ตอนล่างบุกระเบื้องเคลือบเขียนลายต้นไม้ดอกไม้แบบจีน กระเบื้องเหล่านี้ล้วนสั่งมาจากเมืองจีนทั้งสิ้น

เสาหานและเสานางเรียงรอบพระอุโบสถประดับกระจกเป็นดอกสี่กลีบ ที่ครีบเสาปั้นปูนเป็นลายรักร้อยปิดทองประดับกระจกเป็นกระหนกกาบพรหมศร ส่วนที่เสาหานเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ทำเป็นฐานปัทม์ทรงเครื่อง ที่หน้ากระดานฐานปัทม์ประดับกระเบื้องเคลือบเขียนลายดอกไม้จีนรูปผูกเป็นก้านแย่งขบวนไทย

บานพระบัญชรด้านนอก โปรดเกล้า ฯ ให้ประดับมุกแกมเบื้อเจือกระจก เป็นรูปกระหนกก้านแย่งดอกในทรงข้าวบิณฑ์ ในผนังช่องกบเขียนลายทองเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์มีต้นไม้เทศลายกำมะลอ เพดานพระบัญชรซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นชาดปิดทองลายก้านแย่งดอกสี่กลีบ ให้เปลี่ยนเป็นประดับกระจกสีขาวลายแบบเดิม ส่วนบานพระบัญชรด้านใน โปรดเกล้า ฯ ให้เขียนลายรดน้ำปิดทองเป็นลายก้านแย่งประจำยาม ทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ผนังกบด้านในเขียนต้นไม้เทศสีขาว นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้ถักลวดทองเป็นตาข่ายติดที่ช่องพระบัญชรโดยรอบ

ผนังกบทั้งซ้ายขวาของพระทวารทั้ง ๖ บาน เขียนรูปจีนลายกำมะลอเป็นรูปเซี่ยวกางใส่เกราะ ถือง้าว ยืนยกเท้าเหยียบสิงโต เพดานซุ้มจรนำของพระทวารด้านนอกเขียนลายรดน้ำเครือแย่ง มีดอกจอกใหญ่ ๓ ชั้นอยู่กลาง ดอกจอกเล็กรายรอบ

บันไดทางขึ้นพระอุโบสถทั้งที่มุขหน้าและมุขหลัง โปรดเกล้า ฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบเขียนลายที่ขั้นบันได ส่วนที่พื้นบันไดปูด้วยหินเป็นลายบัว

ส่วนการตกแต่งอื่น ๆ ได้แก่ การนำสิงโตสำริดซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่มณฑปมาประดับที่อัฒจันทร์ทางขึ้นพระอุโบสถ อัฒจันทร์ละ ๒ ตัว สิงโตเหล่านี้กล่าวกันว่านำมาจากเมืองบันทายมาศประเทศเขมร ๒ ตัว และไทยได้หล่อเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ตัว ที่เฉลียงมุขหน้าและหลังของพระอุโบสถตั้งกลองมหาเภรี ตรงกับพระทวารทั้งซ้ายและขวาอย่างละคู่ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างราวเทียนสูง ๒ ศอก จำนวน ๖๒ เสาเรียงรายรอบฐานปัทม์ของพระอุโบสถ มีทหารจีนเคลือบสีสูง ๓ ศอกถือง้าว ใส่เสื้อเกราะยืนอยู่ริมราวเทียนประจำทั้งสี่มุม

ด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเสาใต้จำนวน ๘ ต้น ทำด้วยหินสูง ๔ ศอก มีฐานหินรองรับ ที่ปลายเสามีแป้นสำหรับตั้งโคมจุดประทีปบูชา ส่วนที่มุขหน้าพระอุโบสถ นอกจากนั้นกระถางเคลือบปลูกบัวและต้นไม้ดอกไม้ และภูเขาจำลองแล้ว ยังตั้งศิลาสลักรูปไกรทองและนางวิมาลาคู่หนึ่ง เจ้าเงาะและนางรจนาคู่หนึ่ง มุขหลังพระอุโบสถมีภูเขาจำลองตั้งรูปฤาษีนั่งบนแท่น รูปหนุมานและนางสุพรรณมัจฉาคู่หนึ่ง พระอุณรุทและนางกินรีคู่หนึ่ง ที่สองข้างประตูกำแพงแก้วทั้งสี่ประตู ตั้งรูปงิ้วศิลาสลักรวม ๘ ตัว

ภายในพระอุโบสถ
เนื่องด้วยที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร เดิมตั้งบุษบกทองคำต่อกับฐานชุกชี และมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์ตั้งบังอยู่ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำไม้ที่สร้างเป็นเบญจารองรับพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ ๒ มาสร้างขึ้นเป็นเบญจาสูง ๓ ชั้น หนุนบุษบกทองคำให้สูงขึ้นดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ที่ฐานบุษบกโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปฉลองพระองค์ประดิษฐานไว้ทั้งสี่มุม ส่วนที่กลางย่อเก็จทำเป็นฐานบัวตั้งพระพุทธรูปปางสมาธิ ๒ องค์ ทางด้านทิศเหลือและทิศตะวันออก และพระพุทธสีหิงค์องค์เดิมตั้งไว้ทางด้านทิศใต้ พระพุทธสีหิงค์องค์จำลองตั้งไว้ด้านทิศตะวันตก พร้อมทั้งประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ถวายพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้าสุราลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นอุทิศถวายพระอัยกา และพระบรมชนกนาถแทนพระเชษฐบิดรแห่งกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทำด้วยสัมฤทธิ์หุ้มทองคำ ลงยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์อันมีค่า แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเมาลีทั้งสองพระองค์

ผนังภายในโปรดเกล้า ฯ ให้ลบภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านยาวออกทั้งหมด และเขียนภาพใหม่ตอนบนซึ่งแต่เดิมเป็นภาพเทพชุมนุมเปลี่ยนเป็นภาพปฐมสมโพธิ ส่วนผนังตอนล่างระหว่างหน้าต่าง ซึ่งแต่เดิมเขียนเรื่องปฐมสมโพธิเปลี่ยนเป็นเรื่องพุทธชาดก ส่วนจิตรกรรมฝาผนังด้านสกัดทั้งสองด้านยังคงไว้เช่นเดิม เชิงผนังใต้หน้าต่างด้านทิศเหนือเขียนภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เชิงผนังด้านทิศใต้เขียนรูปเรือกิ่ง เรือรูปสัตว์ เรืองดั้ง เป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เชิงผนังต่อกับพื้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนโดยรอบ ส่วนที่พื้นโปรดเกล้า ฯ ให้ขัดลวยทองเหลืองเป็นเส้นแบบสานเสื่อปูพื้นพระอุโบสถ

เหนือพระทวารและพระบัญชรโปรดเกล้า ฯ ให้ติดตั้งกระจกเงาขนาดต่าง ๆ บนทับหลังพระทวาร ๆ ละ ๓ บาน และบนทับหลังพระบัญชร ๆ ละ ๓ บาน

สมัยรัชกาลที่ ๔ การบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ส่วนใหญ่จะเป็นการเสริมในรายละเอียดของการตกแต่งให้งดงามยิ่งขึ้น หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้แก่ บานพระบัญชร ซึ่งแต่เดิมเป็นบานประดับมุกแกมเบื้อ โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเป็นบานมุกทั้งบาน รูปเซี่ยวกางที่ผนังช่องกบพระทวารและพระบัญชร ซึ่งเดิมเป็นลายเขียนแก้เป็นลายปั้นปิดทองประดับกระจก เปลี่ยนพื้นพระอุโบสถเป็นปูด้วยแผ่นทองเหลืองหนาครึ่งนิ้วเพื่อให้ขัดง่าย และเปลี่ยนกระเบื้องที่เชิงไพทีและเชิงผนังรอบพระอุโบสถ ประดับกระเบื้องลายใหม่ เขียนภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านยาวของพระอุโบสถใหม่หมด ยกเว้นแต่ผนังด้านสกัดทั้งสองด้านซึ่งเป็นภาพเรื่องมารผจญและภาพเรื่องไตรภูมิ ฝีมือพระอาจารย์นาคแห่งวัดระฆังโฆสิตาราม

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระอุโบสถเป็นอาคารหลังเดียวที่ยังอยู่สภาพดี จึงมีการบูรณะเป็นส่วนน้อยเช่นปูแผ่นทองเหลืองที่พื้นพระอุโบสถใหม่หมด ซ่อมลายปั้นที่ผนังและเขียนสีลงรักปิดทองภายนอกพระอุโบสถทั้งหมด ประดับศิลาที่ฐานชุกชีและซ่อมแซมช่อฟ้าใบระกา และหลังคาซึ่งค้างอยู่จนเสร็จบริบูรณ์ ถวายเครื่องบูชา เช่น ธรรมาสน์หินอ่อนสีขาว ที่ทำมาจากประเทศอิตาลี ฯลฯ

สมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมเครื่องทองคำในพระอุโบสถคือ บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ และพระพุทธรูปทรงเครื่องอื่น ๆ ในพระอุโบสถ ซ่อมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถบ้างเล็กน้อย และแก้ไขขั้นบันไดทางขึ้นพระอุโบสถให้เตี้ยลงเพื่อสะดวกแก่การขึ้นลงและปูด้วยหินอ่อน ถวายเครื่องบูชาเช่นเดียวกัน เช่น เชิงเทียนเป็นรูปวชิราวุธ ฯลฯ
สมัยรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนตัวไม้โครงหลังคาที่ชำรุดเสียหาย เปลี่ยนกระเบื้องที่แตกมุงใหม่ ซ่อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ที่ชำรุดเสียหายเปลี่ยนใหม่ พร้อมทั้งลงรักประดับกระจกใหม่ เพดานและไขราทาสีชาด ปิดทองลายฉลุใหม่ ซ่อมซุ้มพระทวาร ซุ้มพระบัญชร ผนังด้านนอกโดยรอบ เสาและคันทวยรวมทั้งบัวปลายเสา ซ่อมประดับมุกบานพระทวาร และบัญชรที่ชำรุดให้ดีเหมือนเดิม ซึ่งการซ่อมครั้งนี้เป็นการเลือกซ่อมเฉพาะส่วนที่สำคัญและชำรุดทรุดโทรม

สมัยรัชกาลที่ ๘ ไม่ปรากฏหลักฐานการซ่อม

สมัยรัชกาลปัจจุบัน เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่หมด แต่มิได้เปลี่ยนแปลงในหลักการและรายละเอียดใด ๆ ตั้งแต่หลังคา ผนังตลอดจนฐานปัทม์โดยรอบ
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:45

 สิ่งสำคัญภายในวัด
หอพระมณเฑียรธรรม

หอพระมณเฑียรธรรม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระอุโบสถ ใกล้กับพระวิหารยอด ตรงข้ามกับหอพระนาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นไว้กลางสระน้ำทางทิศเหนือ ของพระอุโบสถใน พ.ศ. ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทอง ที่พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สังคายนาขึ้น แต่หอพระมณเฑียรธรรมหลังนี้ ได้ถูกเพลิงไหม้หมด ในวันสมโภชพระไตรปิฎกนั้นเองใน พ.ศ. ๒๓๓๑ จึงไม่มีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมใด ๆ เหลืออย นอกจากวิเคราะห์จากลักษณะที่ตั้ง และประโยชน์ใช้สอยว่า หอพระมณเฑียรธรรมหลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทอง และยังใช้เป็นที่บอกหนังสือแก่พระภิกษุสามเณร และยังเป็นที่พักราชบัณฑิตอีกด้วย จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่พอ

ู่สมควร เพื่อให้เพียงพอกับประโยชน์ใช้สอยดังกล่าว อีกประการหนึ่งอาคารนี้สร้างในสระน้ำ จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นอาคารโครงสร้างไม้ยกพื้นสูงเหนือระดับน้ำ มีระเบียงรอบตามแบบหอพระไตรปิฎกซึ่งสร้างในสระน้ำทั่ว ๆ ไป อีกทั้งการก่อสร้างในสมัยนั้น ถึงแม้จะมีความสามารถในการใช้โครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนในน้ำมาก่อน

หลังจากที่หอพระมณเฑียรธรรมเพลิงไหม้ไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ โดยย้ายที่ไปสร้างที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทรงส่งช่างมาสมบทสร้างถวาย หลังจากนั้นจึงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับครูเดิมและฉบับอื่น ๆ รวมทั้งเป็นที่บอกหนังสือพระภิกษุสามเณร และที่พักของราชบัณฑิตอีกด้วย ในสมัยต่อมายังปรากฏหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ก็ได้ทรงศึกษาพระบาลีที่หอพระมณเฑียรธรรมองค์นี้ด้วย

ในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๖ ปรากฏว่าได้มีการซ่อมแซมหอพระมณเฑียรธรรมในส่วนที่ชำรุดเสียหายทั้งภายนอกและภายใน แต่ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทั้งจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อฉลองพระนครรอบ ๑๕๐ ปี การบูรณะครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนตัวไม้ กระเบื้องมุงหลังคา และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายให้ดีเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่ เปลี่ยนสะพานหนูเป็นเฟอโรคอนกรีต เสารับขื่อหน้าบันใส่แกนเหล็ก พื้นเฉลียงและบันไดโดยรอบปูหินอ่อนใหม่ นอกจากนั้นได้นำบานประตูมุกลายกระหนกคู่หนึ่งซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาเป็นบานประตูกลาง ของหอพระมณเฑียรธรรมแทนบานประตูลายรดน้ำเดิม บานประตูมุกคู่นี้เดิมอยู่ที่วัดบรมพุทธาราม จึงหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้นำมาทำเป็นบานประตูใหญ่ซุ้มยอดปราสาทของพระอุโบสถวัดศาลาปูน และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นบานประตูที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ตั้งแต่หลังคาจนถึงฐาน แต่เป็นการเปลี่ยนตัวไม้ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายให้ดีเหมือนเดิม
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:45

 สิ่งสำคัญภายในวัด
พระมณฑป

พระมณฑป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ บนฐานไพทีร่วมของพระศรีรัตนเจดีย์ และปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงตำแหน่งที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม ที่ถูกเพลิงไหม้ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกทองใหญ่ ที่พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สังคายนาขึ้นไว้สำหรับแผ่นดิน
พระมณฑปนี้มีลักษณะ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมทรงมณฑป ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ๓ ชั้น มีชาลาและกำแพงแก้วล้อมรอบทุกชั้น บนกำแพงแก้วทั้ง ๓ ชั้นประดับด้วยโคมทองแดงทำเป็นรูปหม้อปรุ ระหว่างโคมปักฉัตรทำด้วยทองแดงลงรักปิดทอง มีใบโพธิ์แก้วห้อยทุกชั้น บันไดขึ้นฐานทักษิณมี ๘ บันได ราวบันไดทำเป็นรูปนาคสวมมงกุฎ ส่วนบันไดขึ้นฐานปัทม์ทำเป็นรูปคนสวมมงกุฎนาค หรือที่เรียกว่านาคจำแลง


รอบกำแพงชั้นล่างตั้งสิงห์หล่อด้วยสำริดไว้ทั้ง ๔ มุม มุมละหนึ่งตัว และที่ประตูทางขึ้นทางละหนึ่งคู่ทั้งสี่ทาง สิงห์สำริดนี้ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนทำเป็นรูปพาน ประวัติกล่าวว่าสิงห์นี้นำมาจากเมืองบันทายมาส ประเทศเขมร ๒ ตัว และหล่อเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ตัว พื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยแผ่นเงิน ตรงกลางตั้งตู้ประดับมุกทรงมณฑปขนาดใหญ่สำหรับเก็บพระไตรปิฎกฝีมืองดงามยิ่ง เจ้าพระยามหาเสนา (ต้นสกุล บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมการสร้างตู้นี้
สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะและปฏิสังขรณ์พระมณฑปเป็นการใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นการบูรณะให้เหมือนของเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดบางประการ

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอาคารขึ้น ๒ หลังที่ด้านหน้าและด้านหลังของพระมณฑป ได้แก่พระพุทธปรางค์ปราสาทตั้งอยู่ด้านหน้าและพระศรีรัตนเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมณฑป เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระมณฑปโดยได้มีการถมฐานทักษิณซึ่งเคยมีอยู่ ๓ ชั้น ถมเสีย ๒ ชั้นทำเป็น ๒ ระดับ คงไว้แต่ฐานชั้นที่ ๓ และรวมฐานของอาคารทั้ง ๓ หลังให้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเรียกว่าฐานไพที มีกำแพงแก้วทำด้วยศิลาล้อมทั้ง ๒ ชั้นส่วนองค์พระมณฑปโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อเครื่องบนของหลังคาทำใหม่ พื้นภายในโปรดเกล้า ฯ ให้สานเสื่อเงินปูใหม่

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามคราวสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากรควบคุมการปฏิสังขรณ์พระมณฑป ซ่อมทั้งโครงภายในและสิ่งประดับตกแต่งภายนอก เมื่อถึงปลายรัชกาลตัวไม้เครื่องบนชำรุดมากจึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนตัวไม้ทั้งหลัง แต่การก่อสร้างยังค้างอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเครื่องยอดหลังคาจากปิดทองล่องชาดเป็นลงรักประดับกระจกสีเหลืองแทน

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑปทั้งหลังตามรูปแบบเดิม รวมทั้งซ่อมลายรดน้ำและลายมุกที่บานประตูด้วย
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:46

 สิ่งสำคัญภายในวัด
พระเจดีย์ทอง ๒ องค์

พระเจดีย์ทอง ๒ องค์ตั้งอยู่บนฐานไพที ทางด้านทิศตะวันออกของ พระพุทธรูปปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดรในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวาย สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระราชบิดา) และพระราชมารดา แต่เดิมพระเจดีย์ทอง ๒ องค์นี้ตั้งอยู่ที่ขอบสระน้ำ ด้านทิศตะวันออกของ หอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทขึ้น ที่ด้านหน้าและพระมณฑป ซึ่งสร้างขึ้นแทนหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม พระเจดีย์ทองทั้งสององค์ คงจะกีดขวางการสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาท จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปไว้ที่ด้านหน้ามุมเหนือและ ใต้ของพระพุทธปรางค์ปราสาท ในบริเวณที่เรียกว่ารักแร้ปราสาท
การย้ายดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้กระทำเมื่อใด แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทร์เทวีว่า “พระเจดีย์ทองสององค์นี้ พึ่งจะย้ายไปหน้าพุทธปรางค์ปราสาทในชั้นหลังทีเดียว แต่เหมือนกับก่อใหม่ทับบนพระเจดีย์เก่า เพราะจมอยู่ในพื้นทักษิณเสียมาก”
เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชควบคุมการบูรณะพระเจดีย์ทองทั้งสององค์ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร) ควบคุมการหุ้มทองแดงใหม่และลงรักปิดทอง รวมทั้งสร้างรูปมารแบบพระเจดีย์นี้ขึ้นใหม่ด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อคราวบูรณะปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ชะลอพระเจดีย์ทอง ๒ องค์ จากรักแร้ปราสาทไปไว้ที่มุมฐานทักษิณปราสาทพระเทพบิดรดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ลักษณะสถาปัตยกรรม

พระเจดีย์ทองทั้ง ๒ องค์นี้เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งขนาดรูปร่างและความสูง เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสองหุ้มด้วยแผ่นทองแดงหรือที่เรียกว่าทองจังโก แล้วลงรักปิดทองทับอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะของพระเจดีย์ย่อมุมแบบนี้เป็นแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานของพระเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมบุด้วยหินอ่อนจำหลักลายเป็นรูปกากบาท เหนือฐานแปดเหลี่ยมตั้งประติมากรรมรูปมารแบกและกระบี่แบกด้านละ ๓ ตน และทุกย่อมุมอีกมุมละ ๒ ตน รวมทั้งหมด ๒๐ ตน เฉพาะตัวกลางทั้ง ๔ ด้านเป็นขุนกระบี่นอกจากนั้นเป็นพระยากุมภัณฑ์ทั้งหมด แต่ละตนมีใบหน้า เครื่องแต่งตัวและสีของกายเป็นไปตามลักษณะในเรื่องรามเกียรติ์ เหนือขั้นไปเป็นฐานสิงห์ ๓ ชั้น มีหน้ากระดานสลับระหว่างฐานสิงห์ ๖ ชั้น ตอนบนเป็นองค์ครรภธาตุทรงจอมแห แต่งลายที่ทองจังโกเป็นรูปดอกบัวที่กึ่งกลางทั้ง ๔ ด้าน รองรับด้วยฐานบัวหงาย ยอดปลายปักยอดนภศูลเป็นโลหะฉลุโปร่งปิดทองทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:46

 สิ่งสำคัญภายในวัด
หอพระนาก

หอพระนาก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของพระอุโบสถ ใกล้กับพระวิหารยอดตรงกันข้ามกับ หอพระมณเฑียรธรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในระยะที่ ๒ ของการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อขยายเขตพระระเบียงออกไปทางด้านทิศเหนือ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อและแผลงด้วยนาก ซึ่งอัญเชิญมาจากพระนครศรีอยุธยา และถือพระนากเป็นพระประธานในการ “เปตพลี” (การอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ลักษณะของหอพระนากในรัชกาลนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างอย่างไร

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หอพระนากคงจะชำรุดทรุดโทรมจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแปลงหอพระนาก แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ หลายสิบองค์ มีทั้งหุ้มทองบ้าง หุ้มเงินบ้าง หุ้มนากบ้าง รวมทั้งรูปพระเชษฐบิดร คือรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา ที่แปลงเป็นพระพุทธรูปแล้วนั้นก็ประดิษฐานอยู่ด้วย ส่วนพระอัฐิเจ้านายนั้นเก็บอยู่ในตู้พนังข้างหลังพระวิหาร

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการปฏิสังขรณ์หอพระนาก ซ่อมแซมช่อฟ้า ใบระกา และหลังคา รวมทั้งลงรักปิดทองซุ้มประตูหน้าต่างภายนอกทั้งหมด ตลอดจนเขียนผนังเพดาน ทำตู้ ปูพื้น และทำพระโกศทรงพระอัฐิในหอพระนากทั้งหมด ส่วนพระพุทธรูปทั้งหมดที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระนาก โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระวิหารยอด อย่างไรก็ตามด้วยความเคยชินที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแผลงด้วยนากเช่นนี้ จึงยังคงเรียกว่า “หอพระนาก” มาตราบจนทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์ทั้งภายนอกและภายในทั้งหลัง เขียนลายผนังด้านในใหม่เป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์อย่างเดิม แล้วทำพระโกศทรงพระอิฐเจ้านายที่ยังไม่มีพระโกศที่บรรจุทั้งหมด สิ่งที่เพิ่มเติมคือ เจาะผนังด้านทิศตะวันตกให้เป็นช่องสร้างเป็นพระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบวชราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑,๒ และ ๓ เบื้องหน้าพระวิมานสร้างเป็นซุ้มคูหาตั้งพระเบญจาแบบย่อเก็จด้านหน้า ด้านหลังติดผนังสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระโอศทรงพระอัฐิเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์ ระหว่างการบูรณะหอพระนากได้อัญเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ไปพักไว้ท้ายจรนำปราสาทพระเทพบิดรเป็นการชั่วคราว เมื่อการบูรณะสำเร็จแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้เชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิขึ้นประดิษฐานในหอพระนากตามตำแหน่งที่จัดไว้

ในรัชกาลปัจจุบันได้มีการเสริมหน้าต่างกระจกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง นอกหน้าต่างลายรดน้ำของเดิม เพื่อป้องกันการเสียหายของลายรดน้ำเมื่อถูกแดดฝน พร้อมทั้งทำเหล็กม้วนปิดซุ้มคูหาที่ตั้งพระบรมอัฐิและพระอัฐิ
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:47

 สิ่งสำคัญภายในวัด
ศาลาราย

ศาลารายเป็นศาลาโถงไม่มีฝา จำนวน ๑๒ หลัง ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ ด้านทิศเหนือ และทิศใต้มีจำนวนด้านละ ๔ หลัง ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกมีจำนวนด้านละ ๒ หลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นรายรอบพระอุโบสถ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีรูปร่างลักษณะแบบใด ต่อมาคงจะได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ด้วย
เมื่อเตรียมการสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอรพันธุ์ ทรงควบคุมการทำศาลาราย มีทั้งทำขึ้นใหม่บ้าง ซ่อมที่ชำรุดและยังคงค้างอยู่บ้าง และซ่อมแซมช่อฟ้าใบระกาบ้าง ลักษณะของศาลารายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏในภาพถ่ายปรากฏว่า หลังคาเป็นแบบหน้าอุด ไม่มีไขรายื่นเลยจากผนัง ประดับด้วยปูนปั้นเป็นช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์เป็นหัวนาค หน้าบันเป็นลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเป็นลายดอกไม้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นแบบที่นิยมทำกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อศาลารายลงทั้งหมดแล้วสร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนโครงสร้างหลังคาเป็นโครงไม้ ยื่นไขราออกมาจากผนัง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้งเป็นไม้ ส่วนในรัชกาลปัจจุบันก็ได้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งตามลักษณะเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๗ เนื่องในการสมโภชพระนครครบ ๒๐๐ ปี

ลักษณะสถาปัตยกรรม
ศาลารายทั้ง ๑๒ หลังนี้มีลักษณะเหมือนกันทั้งรูปร่าง ขนาดและความสูง ลักษณะเป็นศาลาโถงขนาด ๒ ห้อง หลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี โดยมีพื้นสีน้ำเงินขอบสีส้ม หน้าบันเป็นรูปเทพนม บนพื้นกระจกสีขาว มีลายกระหนกประกอบโดยรอบบนกระจกพื้นสีน้ำเงิน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้งทำด้วยไม้ มีคันทวยไม้จำหลักลายเป็นรูปพญานาครองรับชายคาโดยรอบ เพดานฉลุฉายปิดทองบนพื้นชาด เสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนย่อเหลี่ยม ระหว่างเสาทำเป็นคูหาโค้งตอนมุม พื้นซึ่งทำเป็น ๒ ระดับปูด้วยหินอ่อน
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:47

 สิ่งสำคัญภายใน วัดพระแก้ว

พระระเบียง

โดยทั่วไปพระระเบียง มักจะสร้างขึ้นล้อมรอบพระสถูป เจดีย์ พระอุโบสถ หรือพระวิหาร ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเดินประทักษิณ แต่สำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระระเบียง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโอบล้อม อาคารทุกหลัง ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้แยกจากเขตพระราชฐาน ของพระบรมมหาราชวัง ยกเว้นแต่พระปรางค์ ๖ องค์ด้านทิศตะวันออกเท่านั้น

สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระระเบียงขึ้นพร้อม ๆ กับพระอุโบสถและหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปีใด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๓๑ หอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมถูกไฟไหม้ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ โดยย้ายไปสร้างที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ แล้วขยายพระระเบียงออกไปทางด้านทิศเหนือตามแนวที่ปรากฏในปัจจุบัน ฉะนั้นการสร้างพระระเบียงอาจจะสร้างขึ้นเป็น ๒ ครั้ง หรือสร้างครั้งเดียวพร้อม ๆ กับการขยายเขตวัดก็เป็นได้ ในการขยายพระระเบียงครั้งนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์โดยรอบพระระเบียง เริ่มต้นตั้งแต่ประตูด้านทิศเหนือที่ขยายใหม่ เวียนไปทางด้านทิศตะวันตก

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากพระระเบียงชำรุดทรุดโทรม และภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ลบเลือน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแซมพระระเบียง และเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ใหม่หมด

สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระศรีรัตนเจดีย์ ขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพระมณฑป พร้อมทั้งถมฐานทักษิณของพระมณฑป ขยายเป็นไพทีร่วมของอาคารทั้ง ๓ หลัง ในการขยายเป็นฐานไพทีครั้งนี้ ทำให้เป็นฐานที่มีขนาดใหญ่กินพื้นที่ยาวเลยไปจดพระระเบียงของเดิม ทั้งทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขยายระเบียงออกไป โดยด้านทิศตะวันออกได้โอบล้อมเอาพระปรางค์หน้าวัดไว้ในวงพระระเบียง ๒ องค์ ส่วนด้านทิศตะวันตกขยายไปในสนามหน้าวัด ในการขยายพระระเบียงครั้งนี้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างซุ้มประตูและพลับพลาเปลื้องเครื่องไว้ที่ซุ้มประตูที่ทำใหม่ทั้ง ๒ ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกทำเป็นซุ้มยอดทองมงกุฎประดับกระเบื้องเคลือบ มีพลับพลาเปลื้องเครื่องพร้อมกับเกยอยู่ ๒ ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูหลังคาจตุรมุข มีพลับพลาเปลื้องเครื่องพร้อมกับเกยอยู่ด้านเดียว นอกจากนี้ยังโปรดเกล้า ฯ ให้ประดับกระเบื้องตลอดพระระเบียง

สมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมพระระเบียงและซุ้มประตูทางเข้าทั้งหมด ต่อจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ได้ทรงมีพระราชดำริไว้ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงแบ่งงานกับควบคุมการซ่อมพระระเบียงทั้งหมด ในการซ่อมครั้งนี้ได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนที่ชำรุด ทำช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ใหม่แล้วลงรักปิดทองประดับกระจก ซ่อมหน้าบันและลงรักปิดทองประดับกระจก คันทวยที่ยังขาดอยู่ก็โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเพิ่มเติมและซ่อมคันทวยของเก่าทั้งหมดพร้อมทั้งลงรักปิดทอง ซ่อมเพดานปิดทองฉลุลาย ปูพื้นหินอ่อนรอบพระระเบียง รวมทั้งซ่อมและปั้นบัวปลายเสาที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จบริบูรณ์

ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นภาพรามเกียรติ์ที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๔ นี้ส่วนใดที่ชำรุดก็โปรดเกล้า ฯ ให้ลบออกเขียนใหม่หมด โดยมีพระอาจารย์ลอยวัดสุวรรณาราม เป็นแม่กองร่างด้านสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ และพระอาจารย์แดงวัดหงส์รัตนาราม เป็นแม่กองร่างด้านสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะยักษ์ยืนประตูประดับกระเบื้องที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อมทั้งปั้นเพิ่มขึ้นอีก ๒ คู่ รวมเป็น ๖ คู่ด้วยกัน

เพื่อเตรียมการฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทั่วทั้งพระระเบียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการหล่อเชิงผนังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันความชื้น ซึ่งเป็นการนำเอาเทคนิคการบูรณะแผนใหม่เข้ามาใช้ในประเทศไทย สร้างรั่วเหล็กกั้นภาพฝาผนังทั้งหมด และปรับพื้นปูศิลาใหม่

ในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๑๓ สำนักพระราชวังได้ดำเนินการซ่อมซุ้มประตูพระระเบียง พร้อมทั้งเขียนภาพลายรดน้ำและภาพทวารบาลที่ซุ้มประตู ซ่อมทาสีเพดานปิดทองฉลุลายใหม่ตลอดแนวพระระเบียง นอกจากนั้นได้ทำการปรับปรุงฝาผนังเพื่อป้องกันความชื้นด้วยเทคนิคแผนใหม่ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในบางช่วงที่ชำรุดขึ้นใหม่ และบูรณะบางภาพให้สมบูรณ์เหมือนของเดิม ในการนี้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายโดยเสด็จพระราชกุศล
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:48

 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากพระระเบียงชำรุดทรุดโทรม และภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ลบเลือน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแซมพระระเบียง และเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ใหม่หมด


สิ่งสำคัญ ภายในวัด

พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด

พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด ตั้งอยู่กลางระหว่างหอพระมณเฑียรธรรม และหอพระนากทิศเหนือของพระมณฑป ที่ตั้งของพระวิหารหลังนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระเชษฐบิดร หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าวิหารขาว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในระยะที่ ๒ ของการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งแต่เดิมเป็นเทวรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) พระปฐมกษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า แต่เดิมคงตั้งอยู่ที่มุขเด็จวัดพระศรีสรรเพชญ แล้วย้ายมาตั้งอยู่ที่มุขเด็จพระปราง วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากถูกไฟเผาหมดทั้งองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมากรุงเทพฯ แล้วแปลงเป็นพระพุทธรูปเงินปิดทองทรงเครื่อง ประดิษฐานไว้ในพระวิหารเรียกกันว่า หอพระเชษฐบิดร รูปร่างของหอพระหลังนี้จะเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ แต่เรียกว่าวิหารขาว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะฝาผนังโปกปูนขาว

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อลงสร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารยอด ตามที่กรมหลวงนรินทรเทวีได้ทรงบรรยายไว้ว่า “ทรงสร้างสรรพิหารยอดประดับพื้นผนังขาวแพรวพราวเลื่อนศรีเพรา เชิญพระศิลา ๓ พระองค์ ทรงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานเฒ่าฝาผนังเขียนเรื่องอิเหนา ลายระบายเส้นทองคำ ประดับพื้นทำล้วนศิลาลาดสะอาดเลื่อมบรรจงสรร” ในการสร้างพระวิหารยอดครั้งนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประดิษฐานพระเทพบิดรและพระนากซึ่งย้ายมาจากหอพระนาก และพระพุทธรูปศิลาดังที่กล่าวแล้ว

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่องานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชุมพลสมโภช ทรงรับผิดชอบการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารยอด ซ่อมแซมหลังคาและยอดมงกุฎ ถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยขึ้นใหม่ ซ่อมซุ้มประตูและบานหน้าต่างภายนอกและภายในพร้อมทั้งประดับพระปรมาภิไธยย่อ “ จปร. “ ภายใต้พระเกี้ยวยอดบนยอดโค้งแหลมของซุ้มโค้งรอบพระวิหาร

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ได้มีการบูรณะพระวิหารยอดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยซ่อมตั้งแต่ฐานถึงยอด เช่น ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ปิดทองใหม่ ซ่อมลายกระเบื้อง ลงรักปิดทองวงกบประตูและซ่อมลายมุกที่ประตูด้วย

ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ได้มีการบูรณะพระวิหารยอดอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่ชำรุดเสียหาย โดยรักษาศิลปะการก่อสร้างแต่เดิมไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประการใด
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:48

 สิ่งสำคัญภายในวัด

>> พระอัษฎามหาเจดีย์

พระอัษฎามหาเจดีย์หรือพระปรางค์ ๘ องค์ตั้งเรียงกันอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายนอกพระระเบียง ๖ องค์ ภายในพระระเบียง ๒ องค์ พระอัษฎามหาเจดีย์เป็นชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี มีมติให้เรียกชื่อรวมเป็นทางการตามชื่อที่ปรากฎในการบูรณะปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ ของพระศรีภูริปรีชา

พระมหาเจดีย์ทั้ง ๘ องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน อาจจะสันนิษฐานได้เป็น ๒ นัยคือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ พร้อม ๆ กับพระอุโบสถ หอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมพระระเบียง ศาลาราย และปูชนียสถานอื่น ๆ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ แผนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในรัชกาลที่ ๑ เกี่ยวกับพระมหาเจดีย์นี้ว่า “ด้านตะวันออกนอกพระระเบียงมีพระปรางค์ ๘ องค์ เดิมประดับกระจกสีต่าง ๆ” แต่ร่างหมายในรัชกาลที่ ๓ กล่าวว่า “จมื่นไวยวรนารถรับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ สั่งว่า “ทรงพระราชศรัทธาสร้างประปรางค์หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๘ องค์ลงรักปิดทองเสร็จแล้ว…” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อไปว่า “เมื่อได้ความเช่นนี้น่าจะสันนิษฐานว่าพึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ท่วงทีฐานก็เป็นมารเจ๊กแบกทั้งกำแพงก่อเพิ่มออกไปอีกชั้นหนึ่ง เก๋งบอกหนังสือก็เป็นอย่างจีน กำลังเป็นเวลาที่เล่นการช่างอย่างจีน จึงควรสันนิษฐานว่าเป็นของรัชกาลที่ ๓“

วัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เหล่านี้ก็เพื่ออุทิศเป็นพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปัจเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิกขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง พระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีที่พระมหาเจดีย์ทั้ง ๘ องค์ ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้อยยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอัษฎามหาเจดีย์โดยซ่อมลายปั้นและประดับกระเบื้องเคลือบสีใหม่ ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบันเป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่ประการใด

ลักษณะสถาปัตยกรรม
พระมหาเจดีย์ทั้ง ๘ องค์เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบสี ยกเว้นเฉพาะฐาน ๒ ชั้น ก่ออิฐฉาบปูนทาสี พระมหาเจดีย์ทั้ง ๘ องค์นี้มีขนาด รูปร่าง และความสูงเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเฉพาะสีของกระเบื้องเคลือบที่ประดับองค์พระเจดีย์เท่านั้น แต่ละองค์มีสีและชื่อประจำ นับจากทิศเหนือไปใต้คือ

พระสัมมาสัมพุทธเจดีย์ สีขาว
พระสัทธรรมปริยัติวรามมหาเจดีย์ สีขาบ (น้ำเงินเข้ม)
พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ สีชมพู
พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ สีเขียว
พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ สีม่วงแก่
พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ สีฟ้า
พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ สีน้ำตาลแดง
พระศรีอริยเมตยมหาเจดีย์ สีเหลือง

พระมหาเจดีย์แต่ละองค์แบ่งได้เป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนฐานส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดปรางค์ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานทักษิณเป็นฐานแปดเหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน ก่ออิฐฉาบปูนทาสีเทาด้านยาวมีซุ้มปรก ๕ ซุ้ม ด้านแคบมี ๓ ซุ้มสำหรับตามประทีป ภายในซุ้มทาสีแดง ฐานนี้มีพนักระเบียงโดยรอบ ทุกมุมมีเสา ประดับหัวเสาด้วยดอกบัวจำหลักหิน ทางขึ้นฐานทักษิณของพระมหาเจดีย์นอกพระระเบียงอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนพระมหาเจดีย์ในวงพระระเบียงไม่มีทางขึ้นฐานทักษิณ

ฐานชั้นที่สองเป็นฐานแปดเหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนทาสีเทา มีซุ้มปรกเช่นเดียวกับฐานทักษิณ แต่มีขนาดเล็กกว่า ภายในซุ้มทาสีแดง ฐานปัทม์เป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะเป็นฐานสิงห์ ๓ ชั้น มีฐานบัวคั่นเป็นช่วง ๆ เหนือฐานสิงห์มีฐานบัวคว่ำ บัวหงายรอบรับเรือนธาตุ

เรือนธาตุเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศ เหนือเรือนธาตุเป็นส่วนองค์ปรางค์ แบ่งเป็น ๗ ชั้น รองรับด้วยมารแบกปูนปั้นด้านละ ๒ ตัว ตอนมุม ๑ รวมทั้งสิ้น ๑๒ ตัว ยอดนภศูลทำด้วยโลหะเป็นรูปฝักเพกา
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:49

 สิ่งสำคัญภายในวัด

พระพุทธปรางค์ปราสาท (ปราสาทพระเทพบิดร)

พระพุทธปรางค์ปราสาทตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันออก ของพระมณฑปตรงกับประตูพระระเบียงและประตูสวัสดิโสภา ซึ่งเป็นประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ตามแบบปราสาททองในกรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามว่าพระพุทธปรางค์ปราสาท ในการก่อสร้างครั้งนี้โปรดเกล้า ฯ ให้นำกระเบื้องที่สั่งมาจากมาเมืองจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่มีพระราชประสงค์จะนำมาประดับพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม มาประดับที่พระพุทธปรางค์ปราสาทด้วย แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครอบ ๑๐๐ ปี โปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธปรางค์ปราสาทดังนี้
ี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงทำบุษบกข้างใน พระพุทธปรางค์ปราสาท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธ

ิ์เมื่อครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ทำเพดานภายในที่ยังค้างอยู่ ปูหินอ่อน ทำลวดลายผนัง เชิงผนังและลายเพดานขึ้นใหม่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูรเรศธำรงศักดิ์ ทำการประดับกระเบื้องในที่ต่างๆ ที่ยังค้างอยู่เป็นอันมาก ทำการลงรักปิดทองประดับกระจก เชิงกลอน ทวย ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน เสา และการต่าง ๆ ภายนอกทั้งหมด พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เมื่อครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ทำการประดับมุกบานพระทวาร และพระบัญชรด้านนอกทั้งหมด ด้านในเป็นลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง
การก่อสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทสำเร็จลงใน พ.ศ. ๒๔๒๕ พร้อมกับงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงเห็นว่า พระพุทธปรางค์ปราสาทมีขนาดไม่เพียงพอกับพระราชพิธีต่าง ๆ จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) มาประดิษฐาน ตามพระราชดำริเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญ พระเจดีย์กาไหล่ทอง ของรัชกาลที่ ๔ ที่เคยตั้งเป็นประธานในพระพุทธมณเฑียรในบริเวณสวนขวา เดิมมาประดิษฐานเป็นประธานในพระพุทธปรางค์ปราสาท

ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดเพลิงไหม้อันเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เครื่องบนหลังคาพระพุทธปรางค์ปราสาทไหม้จนหมดสิ้น รวมไปถึงพระเจดีย์กาไหล่ทององค์ประธานก็สูญสิ้นไปด้วย ขณะเพลิงไหม้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ถอดพระทวารและพระบัญชรประดับมุกออกทั้งหมด หลังจากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมหลังคาและส่วนที่ชำรุดเสียหาย ส่วนบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกโปรดเกล้า ฯ ให้นำไปเป็นบานประตูและหน้าต่างที่พระอุโบสถวัดราชบพิธ ฯ การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ยังไม่เสร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์จนเสร็จบริบูรณ์ แล้วตกแต่งภายในแก้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง ๕ พระองค์ และให้แปลงนามเรียกว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” ในการแปลงนามครั้งนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสไม่ทรงเห็นชอบด้วย อ้างว่าของเดิมเป็นพุทธบูชาไม่ควรจะตัดคำว่า พุทธ ออกไป ในท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงยอมให้กั้นมุขหลังเป็นห้องหนึ่งต่างหากที่เรียกกันในปัจจุบันว่าท้ายจรนำ แล้วเชิญพระพุทธรูปพระเทพบิดร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อขึ้นมาตั้งเป็นประธานในห้องนั้นเพื่อให้สัมพันธ์กับนามที่เรียกว่าปราสาทพระเทพบิดร แต่ปัจจุบันท้ายจรนำเป็นคลังเก็บของ วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะเชิญพระพุทธรูปพระเทพบิดรไปไว้ ณ ที่ใดต่อไปไม่ปรากฏ

ในรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ปั้นหล่อพระพุทธรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในปราสาทพระเทพบิดรใน พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ ปี ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแซมกระเบื้องที่ชำรุด ซ่อมช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันและลายฉลุปิดทองที่ฝ้าเพดาน ซ่อมลงรักปิดทองประดับกระจกเสานาคพลสิงห์บันได ซ่อมฐานบัวให้เหมือนเดิม

ในรัชกาลที่ ๘ โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๘๙ การยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้บรรจุเส้นพระเจ้า ดวงพระบรมราชสมภพ ดวงพระบรมราชภิเษก และยังไม่ได้เชิญขึ้นประดิษฐานบนปราสาทพระเทพบิดร ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรรจุและอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ขึ้นประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๐๒ พร้อมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อขึ้น

เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบรอบ ๒๐๐ ปี ได้มีการบูรณะปราสาทพระเทพบิดรอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่ชำรุดเสียหาย เช่น ล้างฝาผนังที่บุกระเบื้องเคลือบสีให้สดใสเหมือนเดิมเป็นต้น ส่วนการบูรณะนั้นยังรักษาศิลปะการก่อสร้างเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประการใด
บันทึกการเข้า
สะใภ้จ้าว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 132

นักเรียนชั้นม.4


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ก.ย. 05, 19:49

 สิ่ ง สำ คั ญ ภายในวัด

พระศรีรัตนเจดีย์

พระศรีรัตนเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานไพที ด้านทิศตะวันตกของพระมณฑป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ตามแบบพระมหาเจดีย์ ในวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาต ุที่ทรงได้มาจากลังกา พระราชทานนามว่า พระศรีรัตนเจดีย์ แต่การก่อสร้างพระศรีรัตนเจดีย์ยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ในการเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช รับผิดชอบเสริมพอก

แก้รูปทรงพระศรีรัตนเจดีย์ ประดับกระเบื้องทองภายนอกและเขียนผนังภายในทำบานประตูและปูพื้นหินอ่อนภายใน และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทำการประดับกระเบื้องทองภายนอกทั้งองค์

เมื่อเตรียมงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ภายนอกองค์พระศรีรัตนเจดีย์ ซ่อมพื้นผนังที่ปูกระเบื้อง เปลี่ยนกระเบื้องที่ชำรุดซ่อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์พระเจดีย์เล็กบนซุ้มประตู

ในรัชกาลปัจจุบันได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนกระเบื้องทองที่ประดับภายนอกบางส่วน และบูรณะส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงลักษณะของศิลปะเดิมไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประการใด

ลักษณะสถาปัตยกรรม
พระศรีรัตนเจดีย์เป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา รูปแบบเดียวกับพระเจดีย์ ๓ องค์ ที่วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องโมเสกทองทั้งองค์ ภายในกลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

องค์พระเจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียง มีมาลัยเถา ๓ ชั้น สลับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย รองรับองค์ระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมมีเสาหานรองรับปล้องไฉนซึ่งทำเป็นบัวลูกแก้ว จากใหญ่ขึ้นไปหาเล็กซ้อนกัน ๒๐ ชั้น จากนั้นเป็นปลีและยอดเม็ดน้ำค้างตามลำดับ

พระศรีรัตนเจดีย์มีซุ้มประตูทางเข้า ๔ ทิศ ภายนอกปิดโมเสกทองล้วน ภายในบุด้วยหินอ่อน ลักษณะของทางเข้าเป็นรูปโค้งแหลม เหนือซุ้มเป็นลายปูนปั้นรูปช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ตอนบนของซุ้มตั้งพระเจดีย์องค์เล็กลักษณะเดียวกับพระศรีรัตนเจดีย์บนฐานสี่เหลี่ยม มีมุข ๔ ด้านทำเป็นหน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง บานประตูเป็นประตูหูช้างทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกลงยา เป็นลายช่อดอกไม้สีเขียวแก่แดงเข้มและเงิน เหนือประตูเป็นช่องลมระบายอากาศกรุลวดตาข่าย กรอบประตูตอนบนจำหลักเป็นรูปพญานาค ๒ ตัวหางชนกันตรงกลางห้อยเศียรลงด้านข้าง

ภายในองค์พระเจดีย์เป็นห้องโถงกลม ผนังโบกปูนทาสีขาวสอบไปตามความสูงของพระเจดีย์ ตรงกลางห้อยฉัตรสีขาวตรงกับพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ผนังตอนล่างประดับหินอ่อนสีเทา สูงจากพื้นประมาณ ๖๐ ซม. พื้นปูหินอ่อนสีเทารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลายทแยงมุม

ตรงกลางห้องประดิษฐานพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ฐานล่างเป็นรูปแปดเหลี่ยมมีมุขสี่มุข ฐานบนเป็นฐานบัวหงาย องค์พระเจดีย์มีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์ทุกประการ ยกเว้นแต่เป็นเจดีย์ลงรักสีดำทั้งองค์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง