ศรีปิงเวียง
|
บทความนี้ได้มาจากวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 ม.ค. 2527 ครับ และสืบเนื่องมาจากกระทู้ กอสสิบนอกกำแพงวัง ที่ตกกระทู้ไปแล้วครับ เนื้อหาเป็นสำนวนของเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ เรียบเรียงเมื่อ พ. ศ. 2513 ครับ(สำนวนคงเดิมทุกประการ) “บทนิพนธ์ของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้มีรายละเอียดชีวิตในวังของ “คนัง” –ลูกเงาะป่า ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน” เรื่องของนายคนังมหาดเล็ก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ เรียบเรียงเมื่อ พ. ศ. ๒๕๑๓ "“คนัง” เป็นชาวป่า ซึ่งเราเรียกว่า “เงาะ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าจังหวัดพัทลุง ไม่ห่างไกลจากถ้ำพระวัดคูหาสวรรค์เท่าใดนัก เงาะป่าในถิ่นดังกล่าวนี้เขาเรียกตัวเขาเองว่า “ก็อย” รูปพรรณสัณฐาน ความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ ตลอดจนการนุ่งห่มเป็นอย่างไร และตัวนายคนังกับพวกเมื่ออยู่ป่ามีเรื่องราวเป็นอย่างไรบ้างนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้แล้วในหนังสือบทละครเรื่องเงาะป่า และโดยที่หนังสือได้พิมพ์เป็นที่ระลึกแพร่หลายอยู่มาก ดังนั้นคนส่วนมากจึงคงจะได้รู้จัก “เงาะป่า” พวกที่เรียกจนเองว่า “ก็อย”นี้ดีอยู่แล้วแต่เรื่องราวของ “คนัง” ตอนแกเข้ามาเป็นมหาดเล็กกันมาก และยิ่งทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรด-ปราน“เงาะป่า” ตัวน้อยที่ชื่อ “คนัง” นี้มาก ก็ยิ่งสนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเขายิ่งขึ้น เคยมีมาถามถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของนายคนังจากข้าพเจ้าอยู่เนือง ๆ จึงมาเกิดความคิดขึ้นว่า ถ้าข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในพระราชสำนักสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลี้ยงคนัง และรู้จักตัวนายคนังดีจะถือโอกาสเขียนเรื่องของคนังตอนที่เป็นมหาดเล็กไว้ ก็คงไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว จึงได้รื้อฟื้นความจำเมื่อหกสิบปีกว่ามาเขียนขึ้นก่อน"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 13 ก.ย. 05, 23:05
|
|
ป.ล. (ปฐมลิขิตตามแบบฉบับของคุณขรรค์ชัย บุนปาน) บทความที่ปรากฏข้างบนนี้ เป็นคำนำที่แต่งโดยเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับครับ "พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองพัทลุง ครั้งหนึ่ง เมื่อ ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ครั้งนั้นเสด็จ ฯ ขึ้นไปถึงถ้ำพระวัดคูหาสวรรค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” ไว้ที่เพิงหินหน้าถ้ำ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น จะได้ทอดพระเนตรเห็นพวกเงาะป่าบ้างหรือไม่ ไม่มีหลักฐานอะไรจะยืนยันได้ ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลปักษ์ใต้อีกหลายคราว คือในปี ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ทั้ง ๓ คราวนี้ตามที่จดหมายเหตุไม่ปรากฏว่าได้เสด็จฯ พัทลุง เสด็จฯ แต่นครศรีธรรมราชและสงขลา และก็เห็นจะเป็นในคราวเสด็จฯ เมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๓ ถึง ๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) นั้นเอง ทางบ้านเมืองได้นำพวกเงาะทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงได้หลายรูปแต่ภาพฝีพระหัตถฟ์ที่ถ่ายภาพพวกเงาะครั้งนั้นไม่มีภาพนายคนังรวมอยู่ด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงสังเกตรูปพรรณสัณฐานและบุคลิกลักษณะของพวกเงาะป่าอย่างถี่ถ้วนด้วยความสนพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริใคร่ที่จะลองเลี้ยงเงาะป่าดูบ้างดังนั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครแล้ว จึงมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ส่งลูกเงาะป่าไปถวายสักคนหนึ่ง ไม่ได้ทรงเจาะจงว่าจะต้องเป็นเด็กชายเด็กหญิง ต้องพระาชประสงค์แต่เพียงให้ได้เด็กชายขนาดที่พอจะเเลี้ยงสะดวกไม่ใช่เด็กอ่อนเท่านั้นแต่ได้ทรงกำชับไปว่ามิให้เกณฑ์เกาะกลุ่มให้เป็นที่ตกอกตกใจจนพากันเตลิดเปิดเปิงไป ให้ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้ผู้ใหญ่ยินยอมมอบเด็กให้ เจ้าพระยายมราชจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงให้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์" ป.ล.โปรดติดตามตอนต่อไป .......และท่านจะเติมแต่งก็ได้ ส่วนกระทู้พระประวัติ (แบบเรียบเรียง) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จะนำข้อมูลทยอยลงประมาณเดือนตุลาคมนี้ครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 20 ก.ย. 05, 22:45
|
|
ต่อจากความเห็นที่แล้วนะครับ คอยดูว่าเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับนายคนังอย่างไร "“คนัง” เป็นผู้มีบุญได้สั่งสมอบรมมาแล้วแต่ปุรพชาติจึงดลบันดาลให้ผู้ว่าราชการเมืองเลือกสรรเจาะจงเอาตัวส่งเข้ามาถวาย การนำตัวมานั้นทำกันเป็นระยะ ๆ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงนำส่งให้ท่านสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช อยู่กับท่านสมุหเทศาภิบาลเป็นแรมเดือน ทั้งท่านเจ้าคุณและคุณหญิงช่วยปลอบโยนเอาใจให้หายเหงา จนกระทั่ง “เมื่อราบกว่าแต่ก่อนหย่อนตื่นเต้น” ดังกลอนพระราชนิพนธ์แล้วจึงพาเข้ากรุงเตรียมที่จะนำเข้าถวายตัว มีผู้เปรียบว่า การนำคนังเข้ากรุงเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กนี้เสมือนหนึ่งนำพระยาช้างเผือกมาส่งกรุงทีเดียว ก่อนที่จะส่งตัวเข้าไปถวายที่ในพระบรมราชวังนั้น เจ้าพระยายมราชได้ส่งรูปคนังที่ท่านถ่ายไว้พร้อมทั้งได้มีหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจงว่า จะให้ท่านผู้หญิงเป็นผู้นำตัวเข้าเฝ้าฯ ขอให้หาของเล่นสีแดง ๆ ไว้ล่อ และขอให้เตรียมข้าวสุกกับกล้วยน้ำว้าไว้ให้กิน ทั้งยังจำเป็นที่จะต้องมีพี่เลี้ยงเพราะยังเด็กอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบความในหนังสือกราบบังคมทูลแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็น พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงรับเลี้ยง ที่จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ พระที่นั่งอัมพรสถานที่เริ่มสร้างแต่เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๔๕ ก็ยังไม่เสร็จ พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นแต่เตรียมการยังไม่ได้ลงมือสร้างเวลาเสด็จประทับที่พระราชวังดุสิตก็ประทับพระที่นั่งวืมานเมฆบางคราวก็เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ตอนที่เจ้าพระยายมราชส่งคนังเข้าถวายตัวนั้นประทับในพระบรมมหาราชวัง ทางฝ่ายพระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงเตรียมรับรองนายคนังเต็มที่ทีเดียว ทรงจัดสิ่งของเครื่องใช้สำหรับนายคนังไว้สารพัด ซึ่งจะได้กล่าวในภายหลังและได้ทรงจัดให้สตรีวัยกลางคนซึ่งมีนามว่า“พวง” เป็นพี่เลี้ยง แม่พวงนี้เคยเป็นข้าหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฐ์จันทร์ มีหน้าที่ชักพัดในเวลาเสวย เมื่อพูดถึงคำว่า“ชักพัด” คนสมัยนี้คงไม่เคยเห็น เพราะใช้พัดลมไฟฟ้าบ้าง เครื่องปรับอากาศกันบ้าง ดังนั้นพัดที่ใช้แรงคนชักจึงไม่เหลือให้เห็นในพระนคร แต่ตามวัดบ้านนอกยังมีอยู่บ้าง ที่วัดเขาบางทรายจังหวัดชลบุรีก็ที เพราะข้าพเจ้าเองเป็นผู้ติดถวายไว้ พัดชนิดนี้ทำโครงด้วยไม้สัก รูปร่างคล้ายบานหน้าต่างขนาดกว้างยาวตามความต้องการของเจ้าของ โครงนี้จะประดิษฐ์ให้งดงาม เช่นจะสลักเสลา หรือจะขัดเกลี้ยงหรือจะปิดทองล่องชาดก็สุดแล้วแต่จะคิดทำ ต่อจากตัวโครงด้านยาวติดระบายแพรหนา ๆ หรือผ้า หรือสักหลาดอะไรก็ได้ เหนือโครงด้านตรงข้ามกับที่ติดผ้าระบาย ติดห่วงสำหรับแขวนพัดห้อยกับฝ้าเพดานในลักษณะที่ให้โยนตัวแกว่งไกวอย่างเปลได้ ผูกเชือกเส้นใหญ่พอควรกับโครงพัดสำหรับเป็นสายชัก เชือกสายชักนี้ยิ่งยาวยิ่งดี เขามักหุ้มเชือกสายชักด้วยผ้า กันผงเชือกร่วงและกันเจ็บมือคนชักโดยมากเขานิยมซ่อนคนชัก จึงล่ามสายชักออกไปให้ห่างไกลบางแห่งก็เจาะฝาออกไปชักอีกห้องหนึ่ง บางแห่งก็เจาะพื้นให้คนชักลงไปชักอยู่ใต้ถุนบ้าน ในสมัยก่อนในห้องรับแขก ห้องอาหาร และห้องนอน ตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ๆ หรือตามวังเจ้านาย ติดพัดชักทั้งนั้น" โปรดติดตามตอนต่อไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 22 ก.ย. 05, 00:29
|
|
ผมติดใจเรื่องคนังนี้มาหลายปีแล้ว และไม่ทราบว่าจะไปถามท่านผู้ใด ขอถือโอกาสนี้สอบถามไว้ ณ ที่นี้เลยนะครับ คือว่า เมื่อครั้งที่รวบรวมนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ นั้น ผมไปสะดุดที่นามสกุลลำดับที่ ๒๑๐๙ ซึ่งทรงพระราชบันทึกไว้ว่า ได้พระราชทานนามสกุล "กิราตกะ" แก่ พลเสือป่าคะนัง กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ และประจำกรมพิณพาทย์หลวง เป้นชาติเงาะป่า เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๕๗ ขอเรียนถามท่านผู้รู้ว่า คนัง มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ นั้น เธอเสียชีวิตเมื่อไร และจะเป็นคนเดียวกับพลเสือป่าคะนัง ที่ได้รับพระราชทานนามสกุล "กิราตกะ" หรือไม่?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33416
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 22 ก.ย. 05, 08:59
|
|
ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนังถึงแก่กรรมเมื่อไรค่ะ จากกระทู้ ก็อสสิปนอกกำแพงวัง หลวงอาจสงครามบอกน.อ. สวัสดิ์ว่า ตายตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า พระราชทานนามสกุลให้คะนังด้วย จากรายละเอียดที่คุณ V_Mee บอกไว้ คงเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากคนัง ไม่ปรากฏว่ามีลูกหลานสืบเชื้อสายมา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 22 ก.ย. 05, 22:19
|
|
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วครับ วันแรกที่ “คนัง” เข้าวังหลวง เอะอะเกรียวกราวกันมากพอถึงห้องรับแขกที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ผู้คนก็เข้านั่งล้อมดูกันแน่น ฝ่ายนายคนังนั่งมองหน้าคนที่ห้อมล้อมเฉยอยู่สักครู่หนึ่งก็ล้มตัวนอนหงายลงกับพื้น ทำตีนงุ้มกำมือแน่น ต่างคนต่างตกใจคิดว่าเป็นลม พระวิมาดาเธอฯ ท่านจะทรงทราบเล่ห์เหลี่ยมของนายคนังอย่างใดก็ไม่ทราบ รับสั่งให้เอาของกินที่เตรียมไว้มาตั้งให้ พอแกเห็นกล้วยเป็นหวีก็ลุกขึ้นกินทันที เป็นอันรู้ได้ว่าที่นอนทำตีนงุ้มกำมือแน่นแกล้งทำ นับว่าเป็นเด็กที่มีมารยาพอดู ขณะที่เข้าอยู่ในวังตอนแรกนั้นจะอายุเท่าใดไม่มีใครทราบ เพราะพวกเงาะไม่รู้จักนับเดือน นับปี แต่ถ้าจะดูตามรูปร่างก็ขนาดเด็ก ๗ ขวบเรานี่เอง กิริยาที่เปิบข้าวเข้าปากเหมือนพวกแขกยามที่เห็นกันอยู่ในกรุงเทพฯ คือกำใส่ฝ่ามือแล้วแบมือส่งอาหารเข้าปาก ไม่ใช้ปลายนิ้วส่งอาหารเข้าปากอย่างไทยเรา ป.ล. ช่วงนี้ขอตัวก่อนครับ เพราะอีกสองสัปดาห์มีภารกิจสำคัญมาก(ไม่ขอระบุในที่นี้) และถ้าใครมีรูปเกี่ยวกับนายคนังหรือรูปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาลงได้ไม่ผิดกติกาครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 22 ก.ย. 05, 22:22
|
|
"วันแรกที่ “คนัง” เข้าวังหลวง เอะอะเกรียวกราวกันมากพอถึงห้องรับแขกที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ผู้คนก็เข้านั่งล้อมดูกันแน่น ฝ่ายนายคนังนั่งมองหน้าคนที่ห้อมล้อมเฉยอยู่สักครู่หนึ่งก็ล้มตัวนอนหงายลงกับพื้น ทำตีนงุ้มกำมือแน่น ต่างคนต่างตกใจคิดว่าเป็นลม พระวิมาดาเธอฯ ท่านจะทรงทราบเล่ห์เหลี่ยมของนายคนังอย่างใดก็ไม่ทราบ รับสั่งให้เอาของกินที่เตรียมไว้มาตั้งให้ พอแกเห็นกล้วยเป็นหวีก็ลุกขึ้นกินทันที เป็นอันรู้ได้ว่าที่นอนทำตีนงุ้มกำมือแน่นแกล้งทำ นับว่าเป็นเด็กที่มีมารยาพอดู ขณะที่เข้าอยู่ในวังตอนแรกนั้นจะอายุเท่าใดไม่มีใครทราบ เพราะพวกเงาะไม่รู้จักนับเดือน นับปี แต่ถ้าจะดูตามรูปร่างก็ขนาดเด็ก ๗ ขวบเรานี่เอง กิริยาที่เปิบข้าวเข้าปากเหมือนพวกแขกยามที่เห็นกันอยู่ในกรุงเทพฯ คือกำใส่ฝ่ามือแล้วแบมือส่งอาหารเข้าปาก ไม่ใช้ปลายนิ้วส่งอาหารเข้าปากอย่างไทยเรา" ป.ล. ลืมก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 23 ก.ย. 05, 22:26
|
|
วันนี้ไปพบเอกสารเรื่องคนังที่หอจดหมายเหตุเข้าโดยบังเอิญครับ ในเอกสารนั้นระบุว่า พระยาสุขุมนัยสินิต (เจ้าพระยายามราช - ปั้น สุขุม) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้นำคนังเข้ามาถวายตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) เวลานั้นคนังมีอายุ ๙ ปี ฉะนั้น จึงเชื่อได้ว่า พลเสือป่าคะนังที่ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "กิราตกะ" นั้นเป็นคนเดียวกับ คนัง เงาะป่า ในรัชกาลที่ ๕ แน่นอนครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 08 ต.ค. 05, 22:57
|
|
 ขอขอบพระคุณทุกความคิดเห็นครับ มาต่อเลยดีกว่าครับ
"ในระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังดูออกจะหงอยเหงาเพราะความแปลกหน้าแปลกถิ่น เลี้ยงดูปลอบโยนกันอยู่ที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ อีกหลายวัน จึงค่อยคุ้นกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมแล้วก็ค่อย ๆคลายความหงอยเหงาลงไปตามลำดับ เมื่อเห็นว่าหายเหงาดีแล้ว พระวิมาดาเธอฯ จึงนำขึ้นเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แม้จะเป็นเด็กชาวป่าชาวดอย รูปชั่วตัวดำผมหยิก แต่ก็เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดช่างประจบ จึงเป็นที่โปรดปรานมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่เนือง ๆ พระวิมาดาเธอฯ ก็รักและเอ็นดูเด็กคนังคนนี้มาก ได้ทางเอาพระทัยใส่ฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หาได้ปล่อยให้พี่เลี้ยงดูแต่ลำพังไม่ ทรงจัดให้นอนในห้องข้างห้องบรรทมทีเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอัมพรสถานในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ แล้ว คนังก็ได้มาอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรกับพระวิมาดาเธอฯ ที่มุมขวาง*ทรงจัดห้องให้อยู่โดยเฉพาะเป็นห้องข้างห้องบรรทมพระวิมาดาเธอฯ เช่นเคย เครื่องตกแต่งห้องหรูกว่าที่เคยอยู่วังหลวงและพระที่นั่งวิมานเมฆมาก มีเตียงนอนเด็กชนิดมีลูกกรงกันตก มุ้งผ้าโปร่งเม็ดพริกไทยเหมือนกับพระวิสูตรเจ้านายอย่างไรอย่างนั้น ที่นอน ผ้าปูที่นอน หมอนปลอกหมอนเย็บเป็นพิเศษด้วยผ้าแดงล้วน ผ้าห่มที่นอนมีทั้งแพรเพลาะแดง ผ้าดอกแดงและผ้าบลังเก็ทแดง นอกจากนี้ก็มีโต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะล้างหน้า เสื้อผ้าชนิดมีกระจกเงา มีแม้แต่กระทั่งหม้อถ่ายปัสสาวะชนิดกระเบื้องอย่างหรูเช่นเดียวกับที่เจ้านายทรงใช้ ตั้งไว้ให้ในตู้ข้างเตียงนอน รวมความว่าเครื่องใช้สอยไม้บริบูรณ์เกือบจะได้ว่าแทบไม่มีอะไรผิดกว่าของเจ้านายในสมัยนั้น ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนังเมื่อจากป่ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร ภายใต้การอุปการะเลี้ยงดูของพระวิมาดาเธอฯ นั้น นับได้ว่าแสนบรมสุข เมื่อเข้านอนพี่เลี้ยงจะเฝ้าดูแลอยู่ เมื่อหลับแล้วพี่เลี้ยงจึงจะลงไปยังที่อยู่ของตัวได้ ส่วนบนพระที่นั่งมีข้าหลวงเวรกลางคืนสำหรับปฏิบัติการส่วนพระองค์พระวิมาดาเธอฯ ๔ คน คนหนึ่งอ่านหนังสือถวาย คนหนึ่งถวายอยู่งานนวด คนหนึ่งเป็นหัวหน้ารับผิดชอบเวรกลางคืน เมื่อทรงเลี้ยงนายคนัง ข้าหลวงเวรกลางคืนนี้คนใดคนหนึ่งจะต้องคอยดูแลนายคนังด้วย ใครมีหน้าที่ดูแลนายคนังตอนกลางคืน ก็ต้องเที่ยวเข้าออกห้องนายคนังอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดคืน" * ที่มุมขวางต่อมาเรียกกันว่าพระที่นั่งปรางค์จีนภาค เป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งอัมพรสถานทางด้านตะวันตก ติดตามตอนต่อไปครับ มีรูป คนังนุ่งชุดเลาะเตี๊ย มาฝากครับ |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
  
ตอบ: 175
ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 12 ต.ค. 05, 22:01
|
|
 จากคำบอกเล่าของ คุณครูเลื่อน ผลาสินธุ์ (สกุลเดิม สุนทรวาทิน) ปัจจุบันอายุ 97 (พ.ศ.2548) ธิดาคนกลางของ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เจ้ากรมมหรสพ เล่าไว้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานเด็กคนังมาก ถึงขนาดโปรดให้เรียกพระองค์ว่า"พ่อ" เรียกพระวิมาดาฯ(ไม่แน่ใจ?) ว่า"แม่" ซึ่งเรื่องราวของนายคนังก็มีคนเล่าไว้มากแล้วก็ขอข้ามไปเสีย แต่จะพูดถึงเรื่องชีวิตหลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยถามคุณครูเลื่อนในเรื่องนี้ เพราะโดยส่วนตัวนั้นชอบขับร้องบรรเลงเพลงในบทพระราชนิพนธ์เงาะป่าอยู่พอสมควร ซึ่งคุณครูเลื่อน ท่านเล่าว่า"เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ วาสนาของนายคนังก็สิ้นตามไปด้วย ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงโปรด นายคนังก็มีชีวิตเสเพล ไม่มีลูกและทายาท สุดท้ายก็ตายด้วยโรคสตรี" (ข้อมูลนี้ได้จากคำบอกเล่า มิได้อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการใดๆ ถ้าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็กราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้) |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 17 ต.ค. 05, 10:20
|
|
ขอบพระคุณคุณลำดวนฯ เป็นอย่างสูงครับ หลังจากหายไปนาน มาต่อกันเลยครับ (รูปต่าง ๆ จะส่งให้ทีหลังครับ) "นายคนังตื่นนอนเวลาราว ๆ ๐๘.๐๐ น. เมื่อตื่นแล้วจะต้องลงไปเล่นน้ำในคลองหลังพระที่นั่งอัมพร เลิกเล่นน้ำแล้วอาบน้ำสะอาด แต่งตัวรับประทานอาหารเช้า เสร็จแล้วเข้าเฝ้าฯ สมเด็จหญิงพระองค์เล็ก (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมลพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา พระเชษฐภคินีของพระวิมาดาเธอฯ) สมเด็จหญิงพระองค์เล็กท่านประทับที่มุขขวางพระที่นั่งอัมพรสถานชั้นล่าง เหตุที่ลงมาประทับชั้นล่างนี้ก็เพราะพระอนามัยไม่ค่อยแข็งแรง ท่านไม่อยากจะขึ้นลงอัฒจันทร์ ขอพระราชทานประทับชั้นล่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านขอแต่ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดที่ประทับพระราชทานอย่างที่จะให้ประทับอยู่อย่างทรงพระสำราญที่สุด มีพร้อมทั้งห้องรับแขก ห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเก็บของ และห้องพักข้าหลวงแต่ละห้องกว้างขวาง เป็นที่ประทับที่น่าสบายกว่าที่ประทับของพระพี่นางน้องนางของท่านทุกพระองค์ ความที่สมเด็จหญิงพระองค์เล็กไม่ค่อยจะแข็งแรงจึงทำให้พระสิริรูปผอมบาง จนกระทั่งนายคนังเรียกท่านว่า “คุณพี่ผอม” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดทรงงานในเวลากลางคืนเกินกว่าจะได้เข้าที่พระบรรทมก็จวนรุ่ง บางวันก็เข้าที่พระบรรทมในเวลาราวบ่ายโมง พอได้เวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตื่นพระบรรทม นายคนังก็ต้องขึ้นไปที่ห้องของตนบนพระที่นั่ง เพื่อแต่งตัวเข้าเฝ้าฯ ในเวลาเสวยพระกระยาหาร ตอนเสวยกลางวันนี้โดยปรกติประทับเสวยกับพื้น เจ้านายชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกเธอร่วมโต๊ะเสวยด้วย พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าที่ทรงชุบเลี้ยงใกล้ชิดเฝ้าปฏิบัติรับใช้ นายคนังมหาดเล็กก็เฝ้าปฏิบัติรับใช้ ใกล้ชิดขนาดพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าเหมือนกัน โดยปรกติจะรับสั่งให้เข้าไปนั่งชิดพระยี่ภูที่ประทับ ทรงซักถามถึงเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องความเป็นอยู่ของพวกเงาะป่าที่พัทลุงเป็นต้น และที่จะต้องมีพระราชดำริดำรัสถามอยู่เป็นประจำก็คือถามว่า “เมื่อเช้านี้กินข้าวกับอะไรบ้าง”
ในตอนที่เข้าไปอยู่ใหม่ ๆ อาหารคือข้าวสุกกับกล้วยน้ำว้า ต่อมาพระวิมาดาเธอฯ ท่านก็ให้หัดกินอาหารอย่างอื่น ๆ ด้วยก็รู้สึกว่ากินได้ทุกอย่าง แต่ของหวานที่ต้องมีเป็นประจำเพราะชอบเหลือเกินก็คือข้าวเม่าคลุกกับกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยไข่ วันไหนมีอาหารอะไรแปลก ๆ กินแล้วก็ถามชื่อไว้ ตอนแรก ๆ ไม่มีใครทราบว่าแกถามทำไม ภายหลังจึงทราบว่าต้องการรู้จักจะได้กราบบังคมทูลตอบได้ ยิ่งอยู่นานเข้าก็เป็นที่ประจักษ์ว่าคนังเป็นเด็กฉลาดมากที่สุด มีไหวพริบทันคน และรู้จักประจบประแจงเก่งที่สุด ทำตัวให้เป็นที่ตลกขบขันได้ต่าง ๆ โวหารปฏิภาณดีโต้ตอบใครไม่มีจนแต้ม ความจำแม่นยำ สังเกตจิปาถะ แม้กิริยาท่าทางของคนคนังก็สังเกตจดจำทำท่าได้เหมือนหมด การเรียกใครว่าอย่างไรก็ไม่มีใครสอนคิดเรียกเองทั้งนั้น จากคำที่แกเรียกใครต่อใคร ทำให้เห็นว่าเข้าใจประจบ เข้าใจเรียก และเรียกอย่างมีเหตุผลอยู่ไม่น้อย แกเรียกพระบามสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “คุณพ่อหลวง เรียกพระวิมาดาเธอฯ ว่า “คุณแม่” เรียกเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงว่า “คุณพ่อ-คุณแม่ที่บ้าน” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ว่า “คุณพี่เผือก” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารากรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญาว่า “คุณพี่ขาว” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดลกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีว่า “คุณพี่ดำ” เพราะพระฉวีท่านคล้ำกว่าพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่กล่าวพระนามมาแล้ว เป็นที่น่าประหลาดใจเหลือเกินที่เฉพาะเจาะจงเรียกคุณพี่แต่พระโอรสพระธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งเขาเรียกว่าคุณแม่ กับพระธิดาในพระอัครชายาเธอซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของพระวิมาดาเธอฯ เท่านั้น เจ้านายพระองค์อื่นไม่เรียกคุณพี่สักพระองค์เดียว แล้วยังซ้ำเรียกว่าอ้ายไม่ว่าใครเสียด้วยเช่นเรียก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธว่า“ อ้ายตาขยิบ” เรียกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า “อ้ายนอนนะนิล” เรียกกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยว่า “อ้ายนิลนะหับ” เรียก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินว่า “อ้ายกำแพงหัก” เรียก เจ้ากรมเอี่ยมว่า “อ้ายหมอนวด”เพราะท่านมีหน้าที่ถวายงานนวด เรียกหม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว. ฉายฉาน ศิริวงศ์) ว่า “อ้ายอา” หม่อมศิริวงศ์ฯ ผู้นี้ พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกพระองค์ ตลอดจนพระโอรสพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าร่วมพระราชชนนีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเรียกว่า “อา” ทั้ง ๆ ที่พระชันษามากกว่าหม่อมศิริวงศ์ฯ มูลเหตุที่ท่านจะเรียกกันอย่างนั้นคือ วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีกระแสพระราชดำรัสเป็นเชิงสัพยอกหม่อมศิริวงศ์ฯ เมื่อยังเด็กอยู่ว่า “ตาฉาย เจ้ารู้ไหมว่าเจ้าเป็นอะไรกับข้า” หม่อมศิริวงศ์ฯ กราบบังคมทูลว่า “เป็นน้อง” ที่กราบบังคมทูลดังนั้นก็เพราะเธอลำดับสายสัมพันธ์ของเธอว่า พระบิดาของเธอคือพระองค์เจ้าฉายเฉิด กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ทรงเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ดังนั้นเธอก็ต้องเป็นน้องพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย แม้ในความจริงสายสัมพันธ์จะเป็นดังนั้น แต่ธรรมเนียมไทยแต่ไหนแต่ไรมายกย่องเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ถ้ามิใช่พระราชวงศ์ที่สูงศักดิ์แล้วก็ไม่มีใครที่อาจเอื้อมไปลำดับญาติกับท่าน ต้องถือว่าตัวเป็นเพียงข้าแผ่นดินของท่าน เมื่อหม่อมศิริวงศ์ฯ กราบบังคมทูลด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ลำดับญาติกับท่านเข้า ก็ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่ได้ยินตกอกตกใจกันมาก เกรงว่าจะทรงพระพิโรธในความบังอาจไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงของหม่อมศิริวงศ์ฯ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไม่กริ้วกลับพอพระราชหฤทัยเป็นนักหนา ตรัสชมว่าฉลาด และยิ่งทรงพระเมตตาหม่อมศิริวงศ์ฯ ยิ่งขึ้น ส่วนพระราชโอรสพระราชธิดาของท่านตลอดจนพระโอรสพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดชก็เลยทรงเรียกหม่อมศิริวงศ์ว่า “อา” กันแทบทุกพระองค์ นายคนังได้ยินเจ้านายท่านเรียก“อา” ก็เลยเดาะ “อ้ายอา” เข้าบ้าง ผู้ที่คนังไม่เรียกอ้ายเลยก็มีเหมือนกัน เช่น เรียกสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตว่า “ตุ๊กกระหม่อมชาย” เข้าใจว่าคงจะได้ยินคนอื่นเขาเรียกท่านว่าทูนกระหม่อมชายคิดไม่ออกว่าจะตั้งฉายาท่านว่ากระไรก็เลยตามเขา เรียกกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “ดุ๊ก” เรียกเจ้าจอมจรวยว่า “นางรวย” เรียกเจ้าจอมมารดาวาดว่า “ปลาไหล” เหตุที่คนังเรียกเจ้าจอมมารดาวาดว่าปลาไหล ก็เพราะท่านมีหน้าที่แต่งพระภูษาประจำวันถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือพอจะทรงเครื่องเสด็จออกข้างหน้าท่านก็จะเชิญพระภูษาเข้าไปแต่งถวาย เวลาแต่งพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็จะมีกระแสพระราชดำรัสกับท่าน บางทีท่านก็กราบบังคมทูลเรื่องราวต่าง ๆ วันหนึ่งทรงพระภูษาต่อหน้าคนัง เผอิญวันนั้นท่านเจ้าจอมมารดาท่านกราบบังคมทูลถึงเรื่องแกงปลาไหล กราบบังคมทูลพลางแต่งพระภูษาไปพลาง นายคนังเลยคิดว่าการแต่งพระภูษา (โจงกระเบน) นั้นเรียกว่าปลาไหลก็เลยตั้งชื่อคุณจอมผู้มีหน้าที่แต่งภูษาว่า “ปลาไหล” ส่วนเจ้าจอมสมบูรณ์ คนังเรียกว่า “ท่านบุญอาคุณ” ดูเต็มยศเต็มอย่างกว่าใคร ๆ หมด ทั้งนี้ไม่ใช่อะไร เป็นความฉลาดช่างประจบประแจงของเขาเอง เจ้าจอมสมบูรณ์ท่านเป็นหลานเจ้าสัวร่ำรวยมากทั้งยังเป็นคนใจใหญ่ใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ท่านจึงเป็นเจ้าบุญนายคุณของคนมาก นายคนังอยากได้อะไร พี่เลี้ยงสอนให้ไปประจบขอเอาจากท่าน นายคนังก็เข้าไปประจบแล้วก็ได้อะไรต่ออะไรที่อยากได้เสมอ และเห็นทีแกจะได้ยินใคร ๆ พูดว่า ท่านเป็นเจ้าบุญนายคุณเป็นแน่ จึงเลยเรียก “ท่านบุญอาคุณ” สำหรับตัวข้าพเจ้าเองคนังเรียกว่า “ดาบ” ไม่มีอ้ายไม่มีท่าน ผู้หญิงก็เรียกว่า อ้าย แต่ถ้าเขาเล่าเรื่องของพวกเขา เขาจึงจะใช้ “อี”เช่นเรียก “ลำหับ” ว่า “อีลำหับ” ที่เป็นเช่นนี้จะมีเหตุผลอย่างไรก็ไม่ทราบ"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 17 ต.ค. 05, 10:23
|
|
"ไม่ว่าคนังจะเล่นพูดจาอะไรกับใครว่าอย่างไร ก็ไม่มีใครถือสายกให้เสียว่าเป็นคนป่าไม่รู้จักขนบธรรมเนียม กิริยาท่าทางของแกดูจะเป็นครึ่งลิงครึ่งคน แต่ก็ค่อนมากทางคนมากหน่อยดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรคนก็เอ็นดูขบขันไปหมด ผมของแกก็ไม่เหมือนของคนเราชาวกรุงมันขมวดม้วนไปหมด เวลาพี่เลี้ยงล้างผมจะเห็นยาวสักคืบกว่า ๆ แต่พอเช็ดให้แห้งแล้วก็ไม่ต้องหวีเพียงใช้มือตบ ๆ ก็จะม้วนขมวดกลมเข้ารูปกะโหลกศีรษะได้เองอย่างเรียบร้อยดูลักษณะของผมที่หยิกขมวด ใคร ๆ ก็ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นที่เก็บเหาแต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเหา แม้แต่ร่องรอยว่าจะเคยเป็นเหาเมื่ออยู่ป่ามาบ้างก็ไม่มี เพราะผมอย่างนี้ถ้าเคยเป็นเหามาแล้ว ใครจะรูดไข่ออกอย่างไรก็ไม่หมดเกลี้ยงได้คงต้องเหลือให้เห็นบ้าง และที่น่าแปลกอย่างมากก็คือกลิ่นตัวกลิ่นหัวไม่มี ไม่เหม็นสาบเหม็นสางเลย เพราะอย่างนี้พระวิมาดาเธอฯ ท่านถึงได้กอดด้วยความเมตตาปรานีอย่างหลานได้
นิสัยที่น่าเกลียดก็ตอนเล่นน้ำนี่แหละ เล่นน้ำทีไรเป็นดำน้ำแล้วถ่ายอุจจาระออกมาในขณะที่ตัวเองดำอยู่ใต้ผิวน้ำ เมื่อถ่ายออกมาอุจจาระก็จะลอยขึ้นบนผิวน้ำตรงหัวแต่ก็ไม่ปรากฏว่าแกโผล่ขึ้นมาให้อุจจาระกองอยู่บนหัวแกสักที แกดำหนีไปเสียไกลจนพ้นแล้วจึงโผล่ พอโผล่ขึ้นมาแล้วก็ไปนั่งเอาก้นไถไปไถมากับเชือกผูกเรือ อาการอย่างนี้ใกล้ทางสัตว์มากกว่าคน เรื่องอุจจาระในน้ำนี่ห้ามกันอย่างไรก็ไม่ฟัง เวลาที่แกอยู่ในพระราชวัง ต้องนั่งถ่ายในหม้อพอถ่ายเสร็จจะให้ล้างน้ำเป็นไม่ยอม เช็ดด้วยกระดาษก็ไม่ยอมอีกเหมือนกันต้องใช้ไม้เช็ด
ข้อที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเข้ามาเป็นมหาดเล็กนั้นตัวนิดเดียว ไม่มีใครคิดว่าว่ายน้ำเป็น และก็ยังไม่เคยคิดที่จะหัดให้ว่ายน้ำ ทั้งตัวคนังเองก็ไม่เคยบอกเล่าว่าว่ายน้ำได้ แต่พอเห็นแม่น้ำเข้าเท่านั้น แกกระโดดลงไปดำผุดดำว่ายอย่างคนที่ว่ายน้ำแข็งมาก" วันนี้พอเท่านี้ก่อนครับ ไว้โอกาสน่าจะมาพิมพ์ต่อ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
Nuchana
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 17 ต.ค. 05, 20:40
|
|
คุณศรีปิงเวียง เวลาโพสต์ช่วยขึ้นย่อหน้าใหม่บ้างสิค่ะ เวลาอ่านจะได้กวาดสายตาได้ง่าย ไม่ต้องเอาไม้บรรทัดมาทาบน่ะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 22 ต.ค. 05, 10:16
|
|
ต้องขออภัยด้วยครับ ผมไม่ทราบวิธีการย่อหน้า พอกด " แล้วมันก็เป็นดังฉะนี้ คราวหน้าจะพยายามแก้ไขครับ
คนังเป็นเด็กที่ไม่มีความอายความเก้อเขิน แต่มีความเสียใจความเศร้าโศกเหมือนเรา ๆ โลภมาก แต่อารมณ์เย็นมาก ไม่เคยแสดงกิริยาโมโหโทโสเลย ชอบเย้าแหย่หยอกล้อคนมากทีเดียว วาจาที่เย้าแหย่ก็ค่อนข้างคมคายเช่นพูดล้อหม่อมเจ้าชายทองต่อทองแถมว่า “ตาต่อ มึงลูกข้าวเม่า” ทีแรกคนฟังก็ไหวไม่ทันว่าแกหมายความว่าอย่างไร ต่อเมื่อแกพูดต่อของแกว่า “ข้าวเม่า-ข้าวเม้า” เพราะหม่อมมารดาของท่านทองต่อฯ ท่านมีนามว่า หม่อมเม้า คล้ายชื่อ ข้าวเม่า ที่แกชอบกินเป็นที่สุดก็เลยเรียกท่านทองต่อฯ ว่า ลูกข้าวเม่า" ป.ล. หาพระรูปท่านไม่เจอครับ ถ้ามีโอกาสจะลงให้ทีหลังครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
ศรีปิงเวียง
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 22 ต.ค. 05, 10:18
|
|
โอ ! ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ได้ เดี๋ยวจะพิมพ์ใหม่ครับ ต้องขออภัยด้วยครับ ผมไม่ทราบวิธีการย่อหน้า พอกด( )แล้วมันก็เป็นดังฉะนี้ คราวหน้าจะพยายามแก้ไขครับ คนังเป็นเด็กที่ไม่มีความอายความเก้อเขิน แต่มีความเสียใจความเศร้าโศกเหมือนเรา ๆ โลภมาก แต่อารมณ์เย็นมาก ไม่เคยแสดงกิริยาโมโหโทโสเลย ชอบเย้าแหย่หยอกล้อคนมากทีเดียว วาจาที่เย้าแหย่ก็ค่อนข้างคมคายเช่นพูดล้อหม่อมเจ้าชายทองต่อทองแถมว่า “ตาต่อ มึงลูกข้าวเม่า” ทีแรกคนฟังก็ไหวไม่ทันว่าแกหมายความว่าอย่างไร ต่อเมื่อแกพูดต่อของแกว่า “ข้าวเม่า-ข้าวเม้า” เพราะหม่อมมารดาของท่านทองต่อฯ ท่านมีนามว่า หม่อมเม้า คล้ายชื่อ ข้าวเม่า ที่แกชอบกินเป็นที่สุดก็เลยเรียกท่านทองต่อฯ ว่า ลูกข้าวเม่า"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ไม่เห็นใครแน่นอน
|
|
|
|