เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 49958 เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 09:37

 ข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งที่น่าฟัง    วันหนึ่งมีผู้หญิงกระเดียดกระจาดใส่ห่อหมกเข้าไปขายหม่อมเจ้าหญิงเม้า  พระชายากรมหลวงสรรพสาตร์ฯ  
ท่านเม้าเห็นเข้าก็ตกใจ  ร้องทักออกไปว่า "ตาย ท่านแดง ทำไมท่านมากระเดียดกระจาดขายของอย่างนี้?"
หญิงคนนั้นก็โบกมือให้นิ่ง  แล้วตอบว่า
"ท่านแดงที่โกนจุกปีเดียวกับท่าน ตายนานแล้ว   คนนี้ชื่ออีแดง  ขายห่อหมก"
ท่านเม้าจึงเรียกถามเบาๆว่าเรื่องเป็นอย่างไร
ท่านแดง(nick name) ตอบว่า
" พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย  พี่น้องก็ไม่มี  จะทำอย่างไร    ฉันก็ไปบอกกระทรวงวัง ถอนบัญชีเลยว่าท่านแดงนั้นตายแล้ว  เพื่อจะมาหากินเลี้ยงชีวิตไม่ให้เสียเกียรติของเจ้า"
ท่านเม้าก็เลยให้เงินช่วย ไปเลี้ยงตั้งตัว   แต่ท่านแดงก็เลยสาบสูญไป  ไม่มีใครพบปะอีก
ป่านนี้ก็เห็นจะอยู่กับพ่อแม่ของท่านแล้วดอกกระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 05 ต.ค. 05, 10:14

 คุณ Nuchan หายเงียบไป ไม่มีใครเข้ามาแจม

ดิฉันไม่ทราบว่าสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  สำนักพิมพ์คิดค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนกันยังไง  
คิดหนเดียวแล้วพิมพ์กี่ครั้งก็ได้   หรือว่าคิดเป็นครั้งอย่างในปัจจุบัน
ในเมื่อไม่ทราบก็เลยตอบไม่ได้ว่า ท่านอากาศฯ ทรงมีรายได้จากการเป็นนักประพันธ์ เป็นกอบเป็นกำหรือไม่
หรือว่าเป็น "นักประพันธ์ไส้แห้ง" อย่างที่เป็นสมญาประกอบอาชีพนี้ กันมาในยุคโน้น

จะว่าไปนักประพันธ์ ถ้าทำงานสม่ำเสมอเป็นอาชีพ  ก็มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว    สามารถส่งเสียบุตรธิดาให้ได้เรียนสูงๆ  หรือบางท่านก็เรียกว่าฐานะดีทีเดียว
แต่ถ้าทำเป็นงานอดิเรก  ไม่สม่ำเสมอ   หรือว่าผลงานตีพิมพ์น้อยมาก   ก็แน่นอนว่ารายได้ไม่มากพอจะเลี้ยงชีพ  แต่ถ้าถือว่าเป็นรายได้เสริม  ก็ย่อมดีกว่าทำงานประจำจ๊อบเดียว

อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าท่านอากาศฯ ทรงมีรายได้ไม่เลวนัก  เพราะผลงานของท่านคนอ่านก็ต้อนรับอย่างดี   แม้ว่าจำนวนคนอ่านน้อยกว่าสมัยนี้มาก  แต่อย่าลืมว่าค่าครองชีพสมัยโน้นก็ต่ำกว่าสมัยนี้ชนิดเทียบกันไม่ได้  หนึ่งบาทสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจจะมีค่าเท่า 1000 บาท สมัยนี้
แต่จะให้ท่านร่ำรวยอย่างเศรษฐีก็ยังเป็นไปไม่ได้อีก     ท่านก็ยังรับราชการอยู่ระหว่างผลิตผลงาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 05 ต.ค. 05, 10:35

 ที่เล่าเรื่องรายได้  ก็เพราะมันนำไปสู่ปัญหาใหญ่อีกหลายประการในชีวิตของม.จ.อากาศดำเกิง
ปัญหาแรกคือปัญหาหัวใจ

เชื่อกันว่า ผู้หญิงคนแรกที่ทรงรัก ก็คือหญิงสาวชาวตะวันตก ชื่อมาเรีย วันชินี ผู้กลายมาเป็น มาเรีย เกรย์ ใน "ละครแห่งชีวิต"
แต่ก็จบลงด้วยความไม่สมหวัง  เพราะความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรม  ทำให้ไม่กล้าพามาเรียมาเผชิญชีวิตในสยาม  
ท่านก็กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างชายหนุ่ม หัวใจยังว่าง

ริมคลองผดุงกรุงเกษม เทเวศร์  มีวังเจ้านายอยู่ใกล้ๆกัน 3 วัง คือวังของกรมหลวงราชบุรีฯ  
วังของกรมหลวงปราจีณฯ ต้นราชสกุล ประวิตร
และวังของกรมพระจันทบุรีฯ
ทั้งสามพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระโอรสธิดาต่างก็คุ้นเคยกันดี  เสด็จไปมาหาสู่เล่นหัวกันอย่างพี่ๆน้องๆ มาตั้งแต่ยังทรงอยู่ในวัยเยาว์

วังของกรมหลวงปราจีณฯ ได้ชื่อว่ามีความเป็นอยู่ทันสมัย มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6  หม่อมเจ้าธิดาของวังนี้ก็งดงาม เป็นสาวสมัยใหม่ที่เก๋และฉลาด เฉลียว
ในจำนวนนี้คือหม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร  ผู้ซึ่งต่อมานักอ่านไทยรู้จักในนาม "ดวงดาว" เจ้าของเรื่อง "ผยอง" "เคหาสน์สีแดง" "เชลยศักดิ์" ฯลฯ

เมื่อท่านอากาศฯมีพระชันษา 23  ท่านหญิงสวาสดิ์ฯ มีพระชันษา 17  กำลังเป็นสาวสวยที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น  
ท่านอากาศฯทรงโด่งดังจากผลงานประพันธ์   ท่านหญิงก็โปรดเรื่องหนังสือหนังหา    ความรักจึงก่อตัวขึ้นในพระทัย อาจจะมากกว่าครั้งแรกเสียอีก
ท่านจึงกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ที่ท่านทรงเคารพนับถือสูงสุดให้เป็นผู้ใหญ่ไปทาบทามท่านหญิงสวาสดิ์  ต่อหม่อมช้อยผู้เป็นมารดา   ในตอนนั้นกรมหลวงปราจีณฯสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้ว
แต่ท่านอากาศฯ ไม่ทรงทราบว่า ท่านหญิงสวาสดิ์ฯมิได้มีพระทัยตอบสนองท่าน      คำตอบของหม่อมช้อยจึงกลับมาในลักษณะการปฏิเสธ  ไม่ให้ความหวังใดๆ
ท่านอากาศฯ ทรงอกหักถึงขั้นน้ำพระเนตรตก ทีเดียว
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 05 ต.ค. 05, 17:28

 มาต่อค่ะ...
ดิฉันอ่านละครแห่งชีวิตนานแล้ว ไปหาซื้อ ผิวเหลืองผิวขาว ที่แผงหนังสือ 2-3 แห่ง แต่ไม่มี ตอนนั้นสงสัยว่าเหตุใดท่านอากาศฯ ทรงผลิตงานออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย!

เมื่อมองดูความรักครั้งที่สองของท่านอากาศฯ  ดิฉันนึกถึงความรักของหนุ่มสาวสมัยก่อน เช่น เมื่อคุณเปรมปิ๊งแม่พลอย ก็ส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ โดยมิทันถามใจสาวเจ้าว่ามีใจให้หรือเปล่า สามสิบปีผ่านไป ท่านอากาศฯต้องพระทัยท่านหญิงสวาสดิ์ฯ ก็ทรงทูลทูลกระหม่อมหม่อมบริพัตรฯให้ไปขอ โดยมิทรงไตร่ตรองว่าท่านหญิงมีพระทัยตอบหรือไม่  สมัยก่อนเป็นอย่างนี้หรือคะ (กรณีคุณเปรมอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี เพราะว่ารูปงาม พ่อแม่ถึงแก่กรรมแล้ว (สำคัญ!)  แถมมีทองคำแท่งเรียงซ้อนกันตั้งแต่พื้นจดฟาก และยังมีเงิน 8,000 บาท ให้แม่พลอยไปไถ่บ้านคลองบางหลวง)
*****
เมื่อนึกถึงท่านอากาศฯ ดิฉันก็นึกถึงศรีบูรพาควบคู่กันไปด้วย รายได้นักเขียนสมัยนั้น ต่อให้แย่แค่ไหน ก็น่าจะทำให้  “ยืนอยู่บนลำแข้งตนเองได้” กลางปีพ.ศ. 2473 ศรีบูรพาไปยึดหัวหาดทำ “หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองใหม่” โดยส่งไม้ผลัดให้มาลัย ชูพินิจ รับดำเนินการต่อนิตยสารรายปักษ์     ”สุภาพบุรุษ” ซึ่งประกอบด้วยนักเขียนร่วมรุ่น ว่ากันว่าหนังสือสุภาพบุรุษยุคนั้น กิจการกำลังก้าวหน้าและทำรายได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นถ้าท่านอากาศฯจะร่วมกลุ่มกับเพื่อนนักเขียนร่วมสมัย ก็น่าจะเลี้ยงองค์รอด

ในขณะที่ศรีบูรพาเลือกเนรเทศตนเองไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศจีนเพราะการเมือง ความรักอย่างเดียวหรือเปล่าค่ะ ที่ทำให้ท่านตัดสินใจเนรเทศตนเองไปฮ่องกง อีกทั้งยังใจจดใจจ่อใคร่รู้ว่า หลังวัยเบญจเพสไม่นาน ชีวิตท่านเป็นไปตามวัฏสงสาร (อย่างธรรมชาติ) หรือท่านเลือก “การุณยฆาต” ตามเสียงลือค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 08:40

 ดิฉันยังนึกสงสัยอยู่บ่อยๆว่า การแต่งงานสมัยก่อนโน้น ที่เจ้าสาวแทบไม่รู้จักเจ้าบ่าวเลยจนถึงวันแต่งงาน  เขาอยู่กันมาได้ยังไงยาวนานจนตายจากกัน
สมัยนี้รู้จักกันดี รักกันมาหลายปีจนได้แต่ง  แต่งไปไม่เท่าไร หย่ากันแล้ว

นึกไปนึกมา ก็คิดว่าการแต่งงานในสมัยก่อน คงเทียบได้กับการเริ่มประกอบอาชีพของผู้หญิง    การพิจารณาเจ้าบ่าวก็คล้ายๆพิจารณาบริษัทหรือหน่วยงานที่จะเข้าไปทำงาน  ว่ามีความมั่นคงแค่ไหน ก้าวหน้าแค่ไหน
ส่วนบริษัททาสีอะไร  ห้องทำงานกว้างหรือแคบ  ไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินใจ

ความเหมาะสมกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็เหมือนเธอได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา   ไม่ต้องปรับตัวมาก
คุณเปรม  ก็เหมือนบริษัทใหญ่  เงินเดือนสูง สวัสดิการเพียบ สำหรับแม่พลอยไงคะ  ถ้ามองในแง่นี้

ท่านอากาศฯ คงจะทรงเห็นว่าด้วยชาติกำเนิดท่านก็เหมาะสมจะเป็นเขยของวังประวิตร    
พูดถึงการงานท่านก็มีงานราชการซึ่งถือว่าเป็นหลักมั่นคง  พูดถึงชื่อเสียงท่านก็เป็นนักประพันธ์ชื่อเสียงโด่งดัง มีรายได้
ไปขอท่านหญิงสวาสดิ์ ฯ  ผู้ใหญ่ทางท่านคงไม่รังเกียจ
แต่ผลกลับตาลปัตร   ฝ่ายหญิงไม่สมัครใจจะทำงานบริษัทนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 08:49

 ฟังคุณ Nuchan วิเคราะห์เรื่องรายได้นักเขียน ก็นึกขึ้นได้ว่า มาลัย ชูพินิจ หรือ "แม่อนงค์" ก็ลาออกจากงานครูมาเป็นนักเขียนอาชีพ   ท่านก็มีฐานะมั่นคง เลี้ยงดูครอบครัวส่งเสียบุตรธิดาให้จบมหาวิทยาลัยได้
ก.สุรางคนางค์ ก็เขียนนิยาย มีรายได้มากพอให้ลูกๆได้รับการศึกษาอย่างดี ถึงไปเรียนต่างประเทศ
"อรวรรณ" อีกท่านหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยจากอาชีพนักประพันธ์

ถ้าหากว่าท่านอากาศดำเกิงจะยึดอาชีพการประพันธ์เป็นหลัก  รายได้ท่านก็อาจจะไม่น้อย หรือดีกว่าเงินเดือนราชการ
แต่ก็ไม่พบว่าท่านได้อำลาราชการไปทำงานด้านหนังสือเต็มตัว   อาจจะเป็นเพราะสังคมในสมัยนั้นยกย่องอาชีพราชการว่ามั่นคงและมีหน้ามีตา
ความเป็นหม่อมเจ้า ก็คงจะทำให้ท่านเห็นเกียรติของอาชีพราชการด้วย

กลับไปเล่าต่อถึงชีวิตรักของท่านอากาศดำเกิง

ความรักครั้งที่สองของท่านอากาศฯ ก่อตัวขึ้นที่วังกรมพระจันทฯ   กับหม่อมเจ้าหญิงทรงอัปษร กิติยากร
แต่คราวนี้ เป็นการใฝ่รักอย่างเงียบเชียบ   ไม่ถึงขั้นขอให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขออีก เพราะท่านอากาศฯ ก็คงจะทรงรู้ตัวว่าไม่มีหวัง
ในเมื่อท่านไม่หวัง ท่านก็ไม่ผิดหวังเมื่อท่านหญิงเสกสมรสไป   แต่จะเศร้าพระทัยหรือไม่เราก็คงเดาคำตอบกันได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 08:50

 ความรักครั้งที่สามเป็นรักครั้งที่ร้ายแรงและมีผลต่อชีวิตบั้นปลายของท่านโดยตรง
เกิดขึ้นเมื่อท่านอากาศฯ เสด็จไปปักษ์ใต้ เรื่องราชการ    ท่านได้พบหญิงสาวผิวขาว สวย เป็นธิดาขุนนางเศรษฐี    
ได้มาพบกันอีกในกรุงเทพ ความรักก็เบ่งบานขึ้นในพระทัยอีกครั้ง  ถึงขั้นที่ท่านตั้งพระทัยจริงจังถึงกับขอหมั้นกับเธอ  

แต่แหวนเพชรที่ท่านทรงมอบให้ ก็ถูกส่งกลับคืนมา ด้วยเหตุผลว่า
"เพชรเล็กเกินไป"

การอกหักในครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าจะทำพระทัยได้อย่างคราวก่อนๆ  มันอาจจะบวกด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาอยู่ด้วย
ว่าท่านเป็นเจ้านายที่ยากจนเพราะมรดกของเสด็จพ่อตกอยู่กับเจ้าพี่องค์ใหญ่    จะแบ่งปันมาให้หรือไม่แบ่งให้ท่านเลยก็ทำได้    
ทำให้ท่านเป็นเจ้าชายผู้มีแต่เกียรติ แต่ไร้เงิน  เป็นที่รังเกียจของผู้ใหญ่ฝ่ายเธอ
นอกจากนี้อาจเป็นการตอกย้ำปมด้อยดั้งเดิมว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีใครรัก ไม่ว่าพ่อหรือพี่น้องส่วนใหญ่  แม้แต่ผู้หญิงที่ท่านรักคนแล้วคนเล่าก็ไม่มีไมตรีตอบ  ก่อให้เกิดความเชื่อฝังพระทัยว่า "ไม่มีใครรักฉันจริง"
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 10:01

 อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากเปรียบเทียบท่านอากาศฯกับศรีบูรพาก็คือความไม่ยอมแพ้ หนังสือพิมพ์ที่ศรีบูรพาทำ ถูกผู้มีอำนาจ ข่มเหงจนต้องปิดแล้วปิดอีกหลายฉบับ ถึงตกยากและถูกคุกคามเพียงใด ศรีบูรพาก็ยังไม่ยอมก้มหัวให้ความไม่เป็นธรรม กลับใช้ปากกาเป็นอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  เป็นชายชาติเสือที่ไม่ยอมลบลายตัวเอง

แต่ท่านอากาศฯกลับแพ้ภัยตัวเองง่ายๆ  ความรักของท่านไม่ใช่สิ่งผิด ความรักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และทำให้ชีวิตมีความหวัง ชั่วแต่ว่ามาผิดจังหวะ   อย่างไรก็ตาม เพียงระยะเวลาปีสองปี ท่านมีรักถึง 3 ครั้ง ถือว่าไม่โชคร้ายทีเดียว หากนึกถึงคำพูดที่เกิดที่ลำธารที่ภูเขามิตาเกะ   “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน...แต่ฉันก็ยังอิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 07:45

ท่านอากาศฯ ทรงมีโอกาสอ่าน "ข้างหลังภาพ" หรือเปล่าก็ไม่ทราบค่ะ  จำไม่ได้ว่าเรื่องนี้พิมพ์จำหน่ายหลังท่านสิ้นชีพิตักษัยแล้วหรือเปล่า
แต่ท่านไม่ได้มีทัศนะอย่างม.ร.ว. กีรติ  ข้อนี้แน่ใจ

มีคำกล่าวว่า Lucky in game, unlucky in love.
ท่านอากาศดำเกิงทรงเชื่อคำพูดนี้มากน้อยแค่ไหนไม่อาจเดาได้   แต่ในเมื่อท่าน unlucky in love  ท่านทรงหันเข้าหาการพนันเป็นทางออก  
ด้วยการชักนำของเพื่อนผู้หนึ่ง  พาเข้าไปเล่นในบ่อนถนนเฟื่องนคร    
 แต่แทนที่ท่านจะโชคดีเรื่องการพนันพอชดเชยกับเคราะห์ร้ายเรื่องรัก   ผลก็กลับเป็นตรงกันข้าม  

เงินทองที่ท่านหวังว่าจะเพิ่มพูนขึ้นจากบ่อน ก็กลายเป็นสูญเสียหนักขึ้นทุกที   ท่านต้องเป็นหนี้สินรุงรัง  
แม้แต่ค่าลิขสิทธิ์หนังสือทุกเล่มก็ต้องยกให้เป็นของเพื่อนผู้นั้น เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้เขา  
มีข่าวว่าท่านนำเงินหลวงในความรับผิดชอบออกมาใช้     บางทีท่านอาจจะเข้าตาจน  หรือไม่ก็คิดว่าถ้าเล่นได้ก็นำไปคืนราชการได้ทันก่อนใครจะรู้เข้า

ม.จ.อากาศดำเกิงยังคงหวังว่าจะแก้หน้าของท่านที่ถูกผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ปรามาสว่ายากจน    
ท่านจึงรับปากเธอว่าจะซื้อเครื่องเพชรราคาสูงให้ ด้วยการพาไปเลือกที่ร้านเพชรบ้านหม้อ   แล้วเซ็นเช็คไว้ให้    
ท่านอาจจะคิดว่าเจ้าพี่ คือหม่อมเจ้าไขแสงรพีผู้ดูแลมรดกคงจะแก้ไขปัญหานี้เอง เพื่อไม่ให้อื้อฉาว  
แต่ตัวเงินในบัญชีของท่านไม่มีตามที่ออกเช็ค
วันรุ่งขึ้นหลังจากออกเช็ค  ท่านก็เสด็จออกจากเมืองไทย ลงเรือไปฮ่องกงเพื่อให้พ้นปัญหายุ่งยากทั้งหมด   ปีนั้นคือพ.ศ. 2475

สภาพความเป็นอยู่ในฮ่องกงไม่ได้ดีกว่าในเมืองไทย   ท่านอากาศฯ เช่าห้องเล็กๆอยู่กับคนไทยที่ท่านพบที่นั่น ชื่อ ผล นิลอุบล
ทรงเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบทความต่างๆลงหนังสือพิมพ์    มีความเป็นอยู่แร้นแค้น   ไร้ความหวัง
พระทัยท่านก็ยิ่งมืดมนอับจนหนักขึ้นอีก  ทรงมองหาทางออกไม่พบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 07:47

 ม.ล. อนงค์ นิลอุบล เล่าจากคำบอกเล่าของสามี ในภายหลังว่า
" ท่านบ่นอยากตายอยู่เรื่อย   บ่นเรื่องครอบครัว  ผิดหวังจากทรัพย์มรดกทางบ้าน...อีกเรื่องท่านบ่นเศร้าใจเรื่องผู้หญิง  บอกว่าแฟนท่านไม่มีแล้ว    
คุณผลอยู่ด้วยก็เป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินนอนด้วยกัน  รักกันมาก เพราะลำบากด้วยกัน
วันที่ท่านฆ่าตัวตาย  คุณผลออกไปข้างนอกกลับมา  เข้าประคองท่านไว้  ตอนนั้นท่านสิ้นสติแล้วไม่รู้สึกตัว  ท่านตายในอ้อมแขนของคุณผล
อากาศที่นั่นหนาว  ใช้แก๊สเป็นเครื่องช่วยทำความอบอุ่น   ท่านเลยเปิดแก๊สตาย"
วันนั้นคือวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ท่านอากาศดำเกิงสิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์เพียง  27 ปี
*****************************
"ความตายจะเป็นเพื่อนแท้ของข้าพเจ้าที่ปลายทาง"
จาก
"อำนาจกฎธรรมดา"(เรื่องสั้น)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 07:51

 สาเหตุการสิ้นชีพิตักษัยของม.จ.อากาศดำเกิงเป็นเรื่องคลุมเครือ   ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าท่านสิ้นด้วยโรคภัยไข้เจ็บ    
แม้ว่า "ละครแห่งชีวิต" ยังตีพิมพ์ติดต่อกันเรื่อยมา สร้างชื่อเสียงให้เจ้าชายนักประพันธ์ได้ต่อเนื่องยาวนานมาอีกหลายสิบปี   ก็ไม่ค่อยจะมีใครเอ่ยถึงบั้นปลายของท่าน

ประมาณ พ.ศ. 2515 เกิดข่าวตื่นเต้นเกรียวกราวกันทั่วเมือง  เมื่อมีข่าวว่า ท่านอากาศดำเกิงยังมีพระชนม์อยู่  ทรงเก็บตัวอยู่เงียบๆในชนบททางใต้   แบบชายชราสามัญชนผู้หนึ่งมานานหลายสิบปี

สมาชิกราชสกุลรพีพัฒน์ต่างมาชุมนุมกันอีกครั้งเมื่อได้รับข่าวนี้   ทุกท่านให้สัมภาษณ์ว่าถ้าเป็นความจริงก็จะยินดีอย่างหาที่เปรียบมิได้
และจะต้อนรับท่านอากาศดำเกิงกลับคืนสู่ราชสกุลอีกครั้ง

ชายชราคนนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพ   นักหนังสือพิมพ์ไปต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี  เจ้าตัวก็ยืนยันฉะฉานว่าผมคือท่านอากาศดำเกิง  
จนกระทั่งนักข่าวสยามรัฐพาไปพบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อซักถามยืนยัน
วันรุ่งขึ้น  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เขียนแถลงในสยามรัฐตัวโตเท่าหม้อแกงว่า
"ไม่ใช่ท่านอากาศดำเกิงครับ  ไม่ใช่"

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์รู้จักวังของกรมหลวงราชบุรีฯ ดี   เมื่อซักถามรายละเอียดหลายอย่าง เช่นชื่อจางวางของวัง  
เพราะท่านแน่ใจว่า ต่อให้ม.จ.อากาศดำเกิงหลงลืมอะไรไปมากก็ตาม แต่ย่อมไม่ลืมข้าเก่าเต่าเลี้ยงในวังที่ทรงเห็นมาตั้งแต่ประสูติ
ชายชราคนนั้นก็ตอบผิดหมดทุกข้อ  

ถามชื่อหญิงสาวเจ้าของแหวนหมั้น  ชายชราก็ไม่รู้จัก

เรื่องราวเปิดเผยออกมาว่า สมาชิกราชสกุลรพีพัฒน์หลายท่านต่างก็เคลือบแคลงสงสัย  เพราะมีหลักฐานที่บ่งถึงการสิ้นชีพิตักษัยของม.จ.อากาศดำเกิง ชัดเจนพอสมควร
เช่นภาพถ่ายพระศพ ที่ทางฮ่องกงส่งมาให้พระญาติในเมืองไทย

ชายชราผู้อ้างตัวเป็นเจ้า  ปั้นเรื่องหลอกลวงด้วยจุดประสงค์อะไร   หรือเป็นแค่คนสติเฟื่องธรรมดาๆ  สาธารณชนไม่มีโอกาสทราบ  
หลังจากวันนั้นข่าวของแกก็หายสูญไปจากการรับรู้     ไม่มีหนังสือพิมพ์ไหนติดใจตามหาข่าวนี้อีก
ถ้าใครเคยทราบข่าวมากกว่านี้ ช่วยโพสต์หน่อยจะเป็นพระคุณยิ่ง
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 08:07

 อาจารย์เทาชมพู เปิดเรือนเช้าจังนะคะ
ข้างหลังภาพ ตีพิมพ์ พ.ศ. 2477 ค่ะ ท่านอากาศฯ ทรงไม่มีโอกาสได้อ่าน
บั้นปลายท่านเศร้ามากค่ะ หักศอกจนดิฉันตกใจ ไม่ทรงมีทางเลือกจริงๆ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 08:15

 ขอโทษค่ะ ปีที่ถูกคือ 2479

ปีนั้นศรีบูรพาไปญี่ปุ่น  ได้เขียน "ข้างหลังภาพ" ส่งลงพิมพ์ในประชาชาติ วันต่อวัน เริ่มฉบับแรก 8 ธันวาคม 2479 ต่อเนื่องกันไปจนถึง 26 มกราคม  2480 จบบทที่ 12 (ตอน ม.ร.ว.กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ)
บันทึกการเข้า
นันทิ
อสุรผัด
*
ตอบ: 10

ทำงานพนักงานองค์การของรัฐ


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 07 ต.ค. 05, 11:38

 ขอบคุณทุกท่านมากๆ ค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 08 ต.ค. 05, 23:20

 น่าแปลกนะครับ ที่ว่าทำไมกลับกลายเป็นว่าท่านอากาศฯ ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองเสียอย่างนั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็ต้องเพิ่มเจ้านายผู้ทรงก่ออัตวินิบาตกรรมไปอีกหนึ่ง(ซึ่งดูไม่น่ายินดีเท่าใดนัก)ครับ
เพราะที่ผมเคยอ่านผ่านตา เขาว่าท่านอากาศฯ สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคปอดบวมที่ฮ่องกงครับ
เมื่ออ่านความเห็นที่ 54 แล้ว ผมชั่งใจว่า ทำไม ถึงแม้จะมีแรงจูงใจก็จริงอยู่ แต่ม.ล. อนงค์ นิลอุบล เล่าไว้น่าสงสัย(ถึงแม้จะเป็นตามคำบอกเล่าของสามีก็ตาม)ว่า
""...อากาศที่นั่นหนาว ใช้แก๊สเป็นเครื่องช่วยทำความอบอุ่น ท่านเลยเปิดแก๊สตาย""

ตรงคำว่า "ท่านเลยเปิดแก๊สตาย" นี้ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะฆ่าตัวตายนั้น ต้องใช้แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จึงจะได้ผล เครื่องทำความร้อนไม่ได้ปล่อยแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์นี่ครับ ถึงจะเปิดแก๊สหุงต้มก็ตาม แล้วจะให้เชื่อว่าท่านปลงพระชนม์ชีพด้วยวิธีนี้หรือครับ
สรุปว่า ผมยังเชื่อเสียงคนส่วนใหญ่ครับ ถ้าผิดพลาดไปขออภัยด้วยครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง