เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 49959 เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 30 ส.ค. 05, 13:55

 "ผู้ใดเกิดมาเป็นเจ้า  แต่ต้องแบกเกียรติยศ  ซึ่งเป็นภาระอันหนักยิ่งเนื่องด้วยความไม่มีทรัพย์นั้น  เป็นผู้ที่มีบุพกรรมที่ร้ายกาจที่สุด
เจ้าไม่มีศาลเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง  ในอินเดีย ในรัสเซีย ในประเทศไทย ฯลฯ  
ข้าพเจ้ารู้สึกสังเวช"เจ้า" พวกนี้มาก  และรู้สึกแค้นแทนในความทารุณและความอยุติธรรมของธรรมชาติ  
การเป็นคนจนอยู่ในหมู่ยาจกนั้น เป็นสิ่งที่อาจหาความสบายได้  
แต่ถ้าจะเป็นยาจกอยู่ในหมู่เศรษฐี หรือผู้มีเกียรติยศนั้น..
ข้าพเจ้าจะหยุดอยู่แต่เพียงนี้  อย่าให้ข้าพเจ้าเปรียบต่อไปอีกเลย"

นี่คือหนึ่งในวาทะรันทดของตัวละคร ที่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ เจ้าชายนักประพันธ์ ทรงเสนอต่อคนอ่าน ในพระนิพนธ์ประเภทนวนิยาย เรื่อง "ผิวขาว ผิวเหลือง "
ทรงสะท้อนไว้ลึกๆถึงความตกต่ำของเจ้านายไทย ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7  
เป็นภาพตรงกันข้ามกับท่านชายพจน์ ของ"ปริศนา"  โดยสิ้นเชิง

ขอเชิญมานั่งล้อมวงกันในกระทู้นี้ก่อนค่ะ   เพื่อจะเกริ่นถึงความเป็นมาของเจ้าชายองค์นี้ก่อน
ว่าท่านเป็นใครมาจากไหน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ส.ค. 05, 14:05

 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
เรื่องราวบางส่วนของกรมหลวงราชบุรี ฯ เล่าเอาไว้แล้วในกระทู้ เจ้าพระยามหิธร   เรื่อง" พญาระกา" หาอ่านได้ในกระทู้นั้นค่ะ

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง  ประสูติเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2448  จะครบ 100 ปีในอีก 2 เดือนครึ่งข้างหน้านี้
หม่อมมารดาของท่านคือหม่อมอ่อน

หม่อมอ่อน มีโอรสธิดากับกรมหลวงราชบุรีถึง 11 ท่านด้วยกัน   ทุกท่านมีพระนามคล้องจองกัน  ความหมายเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์  
มาจากส่วนหนึ่งของพระนาม "รพี" ของเสด็จพ่อ
คือ
หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพ
หม่อมเจ้าชายไขแสงรพี
หม่อมเจ้าหญิงสุรียประภา
หม่อมเจ้าชายวิมวาทิตย์
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส (อ่านเกี่ยวกับพระประวัติได้ ในกระทู้ เจ้าวังปารุสก์)
หม่อมเจ้าชายอากาศดำเกิง (พระนาม หมายถึงลูกไฟในอากาศ ก็คือดวงอาทิตย์)
หม่อมเจ้าชายเพลิงนภดล ( ไฟในอากาศ เช่นกัน)
หม่อมเจ้าชายถกลไกวัลย์
หม่อมเจ้าชายรวิพรรณไพโรจน์
หม่อมเจ้าหญิงดวงทิพโชติ์แจ้งหล้า
หม่อมเจ้าหญิงทิตยาทรงกลด

นอกจากนี้ยังหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงยังมีพระขนิษฐาต่างหม่อมมารดา อีก 2 ท่านคือ
หม่อมเจ้าหญิงคันธรสรังษี และหม่อมเจ้าหญิงรำไพศรีสอางค์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ส.ค. 05, 14:09

ทั้งที่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงกำเนิดมาในราชสกุล   มีพระบิดาเป็นเจ้านายสำคัญพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์  
กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษ  และได้รับการเทิดพระเกียรติว่าเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

แต่ถ้าเราเชื่อตามพระนิพนธ์เรื่อง ละครแห่งชีวิต  นวนิยายเรื่องราวเรื่องแรกของท่านอากาศดำเกิง   ว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับพระประวัติ
และทรงเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอกชื่อ วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา
ก็จะเห็นว่า เจ้าชายผู้นิพนธ์ มิได้ทรงมีความสุขกับชีวิตเมื่อทรงเยาว์วัยนัก  

อย่างแรก คือทรงรู้สึกว่าเป็นลูกที่พ่อไม่รัก  ผิดกับพี่ๆน้องๆ  และอย่างที่สองคือทรงประสบกับภาวะ "บ้านแตก" เมื่อเสด็จพ่อ และหม่อมแม่แยกทางเลิกร้างกัน ทั้งที่ครองคู่กันมาถึง 20 ปีเศษ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ส.ค. 05, 14:20

 วิสูตร ศุภลักษณ์ฯ ตัวละครเอกของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เล่าภาวะขมขื่นบีบคั้นใจนี้ว่า

"เรื่องคุณแม่จะต้องออกจากบ้านที่ท่านเคยอยู่มาแล้วตั้ง 20ปี ไปอยู่บ้านฝั่งธน  ก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเรื่องทั้งหลายในครอบครัวขุนนางใหญ่ๆโตๆ ในเมืองไทย
เมื่อภรรยาเป็นฝ่ายที่ชรา  หมดกำลังที่จะสนองคุณได้เช่นเคย ก็เป็นอันว่าต้องถูกปลดชรา
ส่วนสามีนั้นเล่าแม้ว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับภรรยา  แต่ยังมีกำลังวังชาและโภคทรัพย์
ก็คงแสวงหาสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะได้  แต่ก็คงหาได้สมหวัง  โดยการชอกช้ำระกำใจของภรรยาเก่าผู้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยหลายสิบปี
ถ้าภรรยาคนไหนทนได้เพราะความจำเป็น  ก็เฉยนั่งทนดูความเป็นอยู่ของสามี
ส่วนภรรยา  ในทรวงของหล่อนเล่าก็คงมีเลือดอยู่มิขาดสาย อนิจจา..นี่คือภรรยาของคนไทย...แม่ยอดหญิง
ถ้าภรรยาใดทนไม่ไหว และมองเห็นทางพอที่จะหลีกเลี่ยงก็ตัดช่องไปแต่พอตัว
ทิ้งทรัพย์สมบัติที่ตนได้ช่วยสร้างสมมาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปีให้อยู่ในความอารักขาของบุรุษผู้มีใจโลเล   เบื่อเก่าหาใหม่
ส่วนทรัพย์สมบัตินั้นๆ ในที่สุดก็ตกไปอยู่กับเด็กหญิงอะไรที่หน้าตาสวยๆ

ทิ้งให้ภรรยาเก่าและบุตรธิดาของตนก้มหน้าก้มตากินเกลือไปตามยถากรรม
ชีวิต...ชีวิต"

ขอหยุดพักแค่นี้ก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.ย. 05, 09:23

 มีเรื่องเล่าจากผู้ใกล้ชิดราชสกุล ว่าการแยกทางระหว่างกรมหลวงราชบุรีฯและหม่อมอ่อน
มีส่วนจากหม่อมด้วย ที่นิยมเล่นการพนันประเภทหวย จนกรมหลวงราชบุรีฯทรงเบื่อหน่าย

แต่ไม่ว่าสาเหตุแท้จริงจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงที่แน่ๆคือม.จ.อากาศดำเกิงทรงออกจากวัง
มาอยู่กับหม่อมแม่ที่บ้านริมคลองบางจาก  พร้อมกับพระขนิษฐา คือม.จ.หญิงดวงทิพโชติ์แจ้งหล้า  
หรือในนวนิยาย คือตัวละครที่ชื่อว่า "หนูสำรวย"

ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นแห่งแรก  แล้วย้ายมาเรียนต่อที่ร.ร.เทพศิรินทร์  
ทุกวันนี้ก็ยังทรงมีพระนามในฐานะศิษย์เก่าที่ร.ร.ภาคภูมิใจ

ความปราดเปรื่องทางการประพันธ์ เริ่มฉายแววเมื่อทรงแปลเรื่องสั้นๆลงในหนังสือของโรงเรียนเทพศิรินทร์
ชื่อ "เอนีวา ซองครัวต์" และ "ชีวิตนักรบ" ขณะพระชันษาได้ 18 ปีเท่านั้น
และเริ่มส่งเรื่องสั้นแปลอีก 2-3 เรื่องไปลงในนิตยสารศัพท์ไทยรายเดือน  โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า "วรเศวต"

ความหักเหในชีวิตเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯสิ้นพระชนม์ที่อังกฤษ    
ในพินัยกรรม หม่อมเจ้าไขแสงรพี โอรสองค์ใหญ่เป็นผู้ดูแลกองมรดกทั้งหมดเพียงผู้เดียว
หม่อมอ่อนไม่มีส่วนใดๆในทรัพย์สิน

หม่อมอ่อนได้พาโอรสธิดากลับเข้าวังอีกครั้ง   หม่อมเจ้าไขแสงรพีทรงให้ช่างปลูกเรือนให้หม่อมแม่อยู่เป็นสัดส่วน    
ท่านอากาศดำเกิงก็ได้ทรงอยู่ ณ เรือนนั้นกับหม่อมแม่
บันทึกการเข้า
หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า
มัจฉานุ
**
ตอบ: 78


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.ย. 05, 19:23

 หม่อมมารดาของ หม่อมเจ้าหญิงคันธรสรังษี คือ หม่อมอะไร นามสกุลเดิมอะไร แล้วหม่อมอ่อนนามสกุลอะไรครับ แล้วพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพัทธประไพ ไม่มีโอรสธิดาหรอครับ
บันทึกการเข้า
ภารตี
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.ย. 05, 21:24


ดิฉันเคยอ่านประวัติของพระองค์ท่านเหมือนกันนะคะ รู้สึกว่าท่านชายอากาศฯ ทรงมีชีวิตที่แสนเศร้า ด้านความรักก็ล้มเหลว  อีกทั้งทรงหมกหมุ่นกับการพนันจนสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยใช่ไหมคะ อะไรเป็นสาเหตุให้เป็นเช่นนั้นคะ  และภายหลังรู้สึกว่าพระองค์จะฆ่าตัวตายใช่หรือไม่คะคุณเทาชมพู  
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ก.ย. 05, 07:48

 ค.ห.พ.ต. 6 จะถามหรือจะเล่าซะเองครับ
เอาตอนจบมาเฉลยซะหมด   คนอ่านก็เซ็งดิครับ
รอฟังคุณเทาชมพูเล่าต่อตรับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 ก.ย. 05, 18:11

 สวัสดีค่ะคุณ book  
ต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ
ต่อนะคะ

ด้วยทุนจากองมรดก  หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงเสด็จไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชันษาได้ 19 ปี  โดยพักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ  
แต่โชคชะตาพัดพาให้ทรงเข้าไปคลุกคลีกับแวดวงหนังสือพิมพ์แทนกฎหมายอย่างที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก
เนื่องจากพระพลานามัยไม่สู้ดี ประชวรหนักจนแพทย์ให้พักการเรียนราว 1 ปี ประกอบกับไม่ได้สนพระทัยวิชากฎหมาย
จึงทรงย้ายไปสหรัฐอเมริกา   แต่ก็ไม่ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันใดอีกเช่นกัน
ทรงอยู่ต่างประเทศ 5 ปีก็เสด็จกลับสยาม  ไม่มีปริญญาบัตรก็จริง แต่ก็ทรงมีประสบการณ์ต่างแดนเป็นต้นทุนอย่างดี สำหรับอาชีพนักประพันธ์ที่ทำให้ทรงโด่งดังขึ้นราวกับพลุ ในปีต่อมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 05 ก.ย. 05, 09:32

 เมื่อเสด็จกลับมาประเทศไทย    ม.จ.อากาศดำเกิงทรงเข้ารับราชการที่กองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  
ตามที่เสนาบดีมหาดไทย  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสนับสนุน

แต่ความสนพระทัยอย่างแท้จริงอยู่ที่การประพันธ์
ดังนั้น ในพ.ศ. 2472  "ละครแห่งชีวิต "จึงออกมาสู่สายตาประชาชน  ในรูปของหนังสือเล่ม ไม่ได้ผ่านการลงเป็นตอนๆมาก่อน
ราคาแพงเป็นประวัติการณ์ถึง 2 บาท  ผิดกับหนังสือนิยายสมัยนั้นที่ราคาเล่มละ 35 สตางค์เท่านั้น

ถ้าหากว่า 35 สตางค์พอเทียบได้กับหนังสือราคา 200บาทสมัยนี้  หนังสือราคา 2 บาท ก็คือเล่มละหนึ่งพันกว่าบาท

"ละครแห่งชีวิต" กลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่  ก่อความตื่นเต้นเกรียวกราวแก่วงการหนังสือ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ขายดี หมดอย่างรวดเร็ว ทั้งที่พิมพ์ถึง 2000 เล่ม ซึ่งเป็นจำนวนมากมายเทียบได้กับหลายหมื่นเล่มในปัจจุบัน

คนอ่านไทย มองเห็นชีวิตในต่างประเทศผ่านสายตาตัวละครไทยเป็นครั้งแรก    
ไม่ใช่เรื่องแปล อย่างก่อนๆที่เคยอ่านกันมา
ท่วงทำนองการเล่า ก็ใช้ภาษาที่กินใจ    แฝงความเศร้าสะเทือนใจ  และมุม
มองแง่คิดที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม อย่างเฉียบคมตรงไปตรงมา
 
ศรีบูรพา ผู้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ร.ร.เทพศิรินทร์ กล่าวยกย่องไว้ว่า

"เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือละครแห่งชีวิต   โดยฝีปากหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ในปีพ.ศ. 2472   สวรรค์เป็นพยานว่าข้าพเจ้าได้อ่านรวดเดียวจบ    
ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านหนังสือขนาด 500 หน้ารวดเดียวจบ  
ละครแห่งชีวิตเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสำเร็จในการอ่านหนังสือ  
ข้าพเจ้าจับใจในความสามารถของเพื่อนผู้นี้อย่างยิ่ง"
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 05 ก.ย. 05, 22:38

 กำลังมันส์ครับ  เรียนอาจารย์ครับ แฟนๆบอกว่า แต่ละตอนขอยาวๆหน่อยได้มั้ยครับ  แบบว่าน่าสนใจอ่ะครับ
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 05 ก.ย. 05, 23:34

 อาจารย์เทาฯคะ เล่าอย่างเดียวไม่พอ ช่วยวิจารณ์หรือสอดแทรก feeling หน่อยค่ะว่าเป็นเรื่องจริงสะท้อนชีวิตท่านอากาศฯหรือเปล่า ดิฉันจำได้ว่าตอนอ่านเป็นหนังสือนอกเวลามัธยม ดิฉันน้ำตาหยดแหมะ รันทดขื่นขมไปกับนายวิสูตรด้วย ทุกประโยคที่นายวิสูตรเอ่ยเอื้อน ช่างเย็นชาและเชือดเฉือน ถ้าเป็นพี่เป็นน้องท่านจะรู้สึกว่าสาวไส้ให้กากินหรือเปล่า แต่นึกอีกทีอาจเป็นแค่ fiction กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาท่านจะไม่แคร์ลูกขนาดนั้นเชียวหรือคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 06 ก.ย. 05, 14:58

 สอดแทรก feeling คืออะไรคะ?

คำถามของคุณ ที่ว่า"ละครแห่งชีวิต" เป็นชีวิตของท่านเองหรือเปล่า  มีผู้ถามกันมาก   หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงเคยทรงแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

" มีเพื่อนฝูงวงศ์ญาติมาถามข้าพเจ้าเนืองๆ ว่าในการที่ได้เขียนและนำหนังสือ"ละครแห่งชีวิต" ออกจำหน่าย  ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจและดีใจอย่างไรบ้าง?
คำถามเช่นนี้จะมีความหมายเพียงใด  ย่อมแล้วแต่ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ถามกับข้าพเจ้า
มีหลายท่านที่ไม่สามารถจะตกลงใจได้แน่นอนว่า "ละครแห่งชีวิต" เป็นเรื่องของข้าพเจ้า-ผู้แต่ง-เอง  หรือเป็นนิยายเริงรมย์ซึ่งแต่งขึ้นโดยความคิดฝัน   มีผู้อ่านบางพวกลงความเห็นอย่างเด็ดขาดว่า  "ละครแห่งชีวิต" เป็นชีวิตของท่านอากาศ   นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยาก็คือท่านอากาศฯ นั่นเอง  ไม่ใช่คนอื่น
...
บางคนที่ได้เคยรู้จักและติดต่อกับตระกูลรพีพัฒน์มาบ้างแต่ครั้งกระโน้น  เชื่อจนถึงกับบ่นว่า ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องความเป็นไประหว่างวงศ์ตระกูลให้คนทั้งโลกฟังอย่างน่าทุเรศ  ทำนองเดียวกับสาวไส้ให้กากิน"

คงจะด้วยเหตุนี้  ท่านอากาศฯ จึงทรงแถลงว่า
"ละครแห่งชีวิต" ไม่ใช่เรื่องจริง  และไม่ใช่เรื่องของท่านอากาศฯ   แต่การที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่องของคนอาภัพ    และเรื่องหนังสือพิมพ์เมืองนอก
ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นวงจรชีวิตดวงเดียวที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น และรู้จักดี
ข้าพเจ้าต้องการจะเขียนให้ใกล้ความจริงที่สุด   และไม่ต้องการให้ใครมาหัวเราะเยาะได้ว่าเปิ่น"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.ย. 05, 11:43

 ตามความเห็นส่วนตัว  ดิฉันคิดว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงก็ทรงจะใช้ภูมิหลังของชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์ เป็นฉากในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย  อาจจะค่อนข้างมาก
เพราะผู้ใกล้ชิดราชสกุลรพีพัฒน์ เล่ากันว่าเมื่อทรงพระเยาว์ ท่านเป็นเด็กที่ค่อนข้างแข็ง  ไม่ประจบเอาใจผู้ใหญ่  
ครอบครัวในสมัยโบราณ มักมีขนาดใหญ่      ทำให้เกิดปัญหาลูกรักลูกชังได้ง่ายกว่าครอบครัวปัจจุบันที่มีลูกคนสองคน  
ลูกๆที่อยากได้ความรักจากพ่อแม่  จึงมักทำตัวให้เป็นที่โปรดปราน  พ่อแม่ก็มักชอบลูกที่ว่านอนสอนง่ายมากกว่าลูกที่ดื้อ หรือทำตัวห่างเหินพ่อแม่
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ไม่รัก

อีกอย่างคือพ่อโบราณ  มีอยู่มากที่ไม่ทำตัวใกล้ชิดเป็นกันเองกับลูก   อาจจะไม่ใช่ทุกบ้าน     แต่ก็มีบ้านที่เป็นแบบนี้เยอะกว่าปัจจุบัน
อย่างบ้านพระยาอนุมานราชธน  (เสฐียรโกเศศ)ท่านก็ไม่คลุกคลีเล่นหัวกับลูก   ท่านรัก แต่ว่ามีระยะห่างพอสมควร ให้เกิดความยำเกรง
เพราะท่านถือหลักว่า Familiarity breeds contempt
เทียบกับสำนวนไทยก็คล้ายๆกับ เล่นกับหมา หมาเลียปาก
คือความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทำให้หมดความเกรงใจ

แต่จะว่าท่านอากาศดำเกิงท่านอาภัพจนเป็นลูกชัง  ก็ไม่น่าจะใช่    ท่านก็ได้รับการอุปถัมภ์จากเชษฐาของท่านเป็นอันดี   ได้ไปเรียนทั้งอังกฤษและอเมริกาถึง 5 ปี  จากเงินมรดกของเสด็จพ่อ
แม้ว่าหม่อมอ่อนไม่มีส่วนในพินัยกรรม  เจ้าพี่ของท่านอากาศดำเกิงก็ไม่ได้ทรงเห็นว่าอนุชาจะต้องพลอยไม่มีส่วนไปด้วย
เป็นไปได้ว่ากรมหลวงราชบุรีฯ ท่านก็ตั้งพระทัยจะให้โอรสของท่านทุกองค์มีอนาคตที่ดี  ไม่ได้กีดกันท่านอากาศดำเกิงออกไปแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.ย. 05, 19:36


Old edition.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง