เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 58690 ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 23 ก.ย. 05, 15:44

 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ในรัชกาลนี้มีการกำหนดคำนำพระนาม  และลำดับพระอิสสริยยศแห่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการ  และมีแบบแผนที่ค่อนข้างแน่นอนกว่าในรัชกาลก่อนๆ  ส่วนการเพิ่มพูนพระอิสสริยยศของพระภรรยาเจ้านั้น  ขึ้นอยู่กับการมีพระราชโอรสเป็นสำคัญ


ในระยะแรกของรัชสมัยนี้มีเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ที่เข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า  ซึ่งมีทั้งที่เป็นลูกหลวง  และหลานหลวง  ดังนี้


พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  (พระราชธิดาในรัชกาลที่  4)  ลำดับตามพระชันษา  และการเข้ารับราชการ

พระเจ้าพี่นางเธอ  พระองค์เจ้าทักษิณชา  นราธิราชบุตรี
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุนัทากุมารีรัตน์
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เสาวภาผ่องศรี

พระองค์เจ้าทักษิณชา  เป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกสุด  และเป็นเพียงพระองค์เดียวในขณะนั้น  ต่อมาเมื่อพระประชวรจนไม่อาจถวายงานได้  รัชกาลที่  5  จึงได้ทรงรับพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์อื่นมาถวายงานแทน  โดยเริ่มตั้งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารรีรัตน์  และเรียงลำดับกันไปพระองค์ละปี  4  "...โดยพระภรรยาเจ้าทั้ง  ๔  พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการทรงยกย่องไว้เสมอกันทุกพระองค์  พระเกียรติยศที่จะทรงเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการที่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ..."  จากหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  จันทรประภา


พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง  (หม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  3)

หม่อมเจ้าปิ๋ว  (หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์)
หม่อมเจ้าบัว  (หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค)
หม่อมเจ้าสาย  (หม่อมเจ้าสายสวลีภิรมย์)


เดิมพระภรรยาเจ้าทั้ง  3  พระองค์นี้ไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะแห่งพระมเหสีเทวี  เพราะพระราชโอรสธิดาที่ประสูติออกมาเป็น  "พระองคืเจ้า"  ตามธรรมเนียม  ต่อมาภายหลังเมื่อทรงยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้า  ตลอดจนพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากทั้ง  3  พระองค์ก้ได้เลื่อนพระอิสสริยยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  แล้ว  จึงได้ทรงเป็นพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 23 ก.ย. 05, 16:03

 พระมเหสีพระองค์ที่  1  พระเจ้าพี่นางเธอ  พระองค์เจ้าทักษิณชา  นราธิราชบุตรี


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม่ผมถึงได้ยกล่าวถึงเจ้านายพระองค์นี้ในฐานะพระมเหสี  เพราะไม่ปรากฎว่ารัชกาลที่  5  ได้ทรงยกย่องให้มีพระอิสสริยยศของพระมเหสีเทวีอย่างใดอย่างหนึ่งเลย  เหตุผลก็คือเพราะเจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  ตามธรรมเนียมพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระองค์ก็ย่อมต้องมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  อย่างไม่ต้องสงสัย  ดังนั้นทันที่ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าชาย  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  13  มิถุนายน  พ.ศ.  2515  ก็ทรงเปลี่ยนฐานะจากพระภรรยาเจ้า  มาเป็นพระมเหสีพระองค์ที่หนึ่งในรัชกาลนั้น  อนุโลมตามอย่างเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  2  ที่แม้จะไม่ได้ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสสริยยศอย่างเป็นทางการ  แต่ก็ทรงเป็น  "พระมเหสี"  ตามธรรมเนียม  เพราะทรงเป็นพระราชมารดาเจ้าฟ้า


แต่แล้วเหตุการณ์อันโศกเศร้าได้เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์นั้น  สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ  "...ทำให้พระองค์เจ้าทักษิณาชาฯ  ทรงเสียพระทัยมากจนกระทั่งถึงสูญเสียพระจริต  ไม่อาจรับราชการสนองพระยุคลบาทได้อีกต่อไป  จึงไม่ได้มีพรอิสสริยยศอย่างใดอย่างหนึ่ง  หลังจากนั้นรัชกาลที่  ๕  ก็ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์  กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช  .พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา...  ทรงรับไปอภิบาลดุแลที่วังของท่าน  ...  สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่  ๑๓  กันยายน  พ.ศ.  ๒๔๔๙  ..."  พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่  ๕  ของนายจิวัฒน์  อุตตมะกุล
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 23 ก.ย. 05, 17:03

 ขอออกตัวว่าน่าเสียดายแทนพระองค์เจ้าทักษิณชายิ่งนักครับ ที่ต้องมาสูญเสียพระราชโอรสพระองค์แรกในเศวตฉัตร ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นพระโอรสของพระองค์มีพระพลานามัยดูสมบูรณ์ แต่กลับทรงพระชนมชีพเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้นครับ(ไม่ทราบเพราะเหตุใด?)
เท่าที่จำได้ก็คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา(พระธิดาลำดับที่ 5 ในพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)เป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรองจากพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรควรราชสุดา
หรือถ้าจะแสดงเอาง่าย ๆ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระเชษฐาและพระกนิษฐภคินี 8 พระองค์ ที่ทรงพระชนมชีพจนถึงรัชกาลนี้มีเพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้น และทุกพระองค์ประสูติต่างมารดาทั้งสิ้นครับ
ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์(ลำดับที่ 3) พระองค์เจ้าทักษิณชา และกรมหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์(ลำดับที่ เจ๋ง
ป.ล.ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้ขออนุญาตลงเสริมนะครับ    
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 26 ก.ย. 05, 15:30

 พระมเหสีพระองค์ที่  2  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  เป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์ต่อมาที่ได้ทรงเลื่อนฐานะเป็นพระมเหสี  ภายหลังที่มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์  สุขุมขัตติยกัลยาวดี  เมื่อวันที่  14  กันยายน  พ.ศ.  2420  และเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศให้สมกับตำแหน่งพระมเหสี

โดยปรากฎพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพนักงานจ่ายเงิน  กรมพระคลังมหาสมบัติ  เมื่อวันอังคาร  แรม  11  ค่ำ  เดือน  11  ปีฉลู  นพศก  1239  ความว่า

"ให้ตั้งเงินเดือนสุขุมาลย์มารศรีเติมขึ้น  เดิม  ๘  บาท  ขึ้นอีก  ๑๒  บาท  เก่าใหม่เป็นเดือนละ  ๒๐  บาท  ตั้งแต่เดือน  ๑๐  ปีฉลู  นพศก  นี้ไป ..."

และในวันที่  17  พฤษภาคม  พ.ศ.  2421  ได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสสริยยศพระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรี  "...สุขุมาลย์มารศรี  ได้มีบุตรีกับข้าพเจ้าคนหนึ่ง  คือ  เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน  เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นสมควรว่าสุขุมาลย์มารศรีควรจจะได้รับเครื่องยศตามตำแหน่งเช่นนี้สมควรแก่ราชตระกูล..."

เครื่องประกอบพระอิสสริยยศพระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  พระมเหสี  มีดังนี้

พานหมากทองคำลงยาราชาวดี  1
ผอบลงยาราชาวดีปริกประดับดับเพชร  1
จอกหมากลงยาราชาวดี  2
ซองพลูลงยาราชาวดี  1
ตลับขี้ผึ้งเป็นลุกลิ้นจี่ประดับทับทิมมีสายสร้อยห้อย  -  ไม้ควักหูเป็นต้นประดับเพชรเล็กน้อย  1
มีดพับด้ามลงยาราชาวดี  1
หีบหมากลงยาราชาวดีลายสระบัวประดับเพชรพลอย  1
ตลับเครื่องในประดับมรกตเพชรสามใบเถาสำรับ  1
ขันครองลงยาราชาวดีสำรับ  1
ข้นล้างหน้าพานรองทองคำลงยาราชวดีสำรับ  1
กาน้ำร้อนหูหิ้วมีถาดรองทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสำรับ  1

เครื่องยศเหล่านี้สร้างขึ้นจากเงินพระคลังข้างที่  ส่วนเพชรพลอยที่ประดับเป็นของกรมพระคลังมหาสมบัติ  โดยพระราชให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

หมายเหตุ

เครื่องยศทองคำลงยาราชาวดีนี้  จะพระราชทานให้กับสมเด็จเจ้าพระยา  พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง  จนถึงพระอัครมเหสีครับ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 08:04

 พระมเหสีพระองค์ที่  3  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

หลังจากพระองค์ิเจ้าสุขุมาลมารศรี  ได้่ัรับพระราชทานพระเกียรติยศให้อยู่ในศักดิ์ของพระมเหสีได้เพียง  1  เดือน  วันที่  27  มิถุนายน  พ.ศ.  2421  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  ก็มีพระประสูติกาล  "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ"  ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาจึงได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นพระมเหสีพระองค์ที่  3  ในรัชกาล

พระมเหสีพระองค์ที่  4  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ได้เลื่อนเป็นพระมเหสี  เมื่อมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางคทัศนิยลักษณ์  อัครวรราชกุมารี  เมื่อวันที่  12  สิงหาคม  พ.ศ.  2421

พระมเหสีพระองค์ที่  5  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

ได้เลื่อนเป็นพระมเหสี  เมื่อมีพระระสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย  ประไพพรรณพิจิตร  นริศราชกุมารี  เมื่อวันที่  19  ธันวาคม  พ.ศ.  2421

สำหรับการพระราชทานพระเกียรติยศนั้น  ได้ทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงเจ้าพนักผู้รักษาเงินกรมพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ.  2421  ให้เพิ่มเงินเดือนพระมเหสีทั้ง  4  พระองค์เป็น  7  ตำลึงเสมอกันทุกพระองค์  และสังเกตว่าพระราชหัตเลขาสั่งราชการฉบับนี้  มีหลังจากพระองค์เจ้าสว่างวัฒนามีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ได้  1  เดือน  และหลังจากงานพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ได้  3  วัน

แต่การพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศให้กับพระมเหสีทั้ง  3  พระองค์ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ในพระราชหัตถเลขาแบ่งทรัพย์มรดกของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้น  ได้ระบุว่าพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ทรงได้พระราชทานหนังสือสำคัญมอบเครื่องประกอบพระอิสริยยศ  เมื่อวันศุกร์  ขึ้น  3  ค่ำ  เดือน  12  ปีเถาะ  เอกศก  จุลศักราช  1241 หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย  ประสูติแล้วประมาณ  1  ปี

และสัีนนิษฐานว่าพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  พระองค์เจ้าสุนันทาฯ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ  น่าจะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสสริยยศพร้อมกันทุกพระองค์

และในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันวันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ. 2421  ได้ออกพระนามพระมเหสีทั้ง  4  พระองค์อย่างไม่เป็นทางการว่า  "พระนางเธอ"

"...ทรงด้วยเงินพระนางเธอทั้ง  4  พระองค์  ก็ยังไม่สมกับเบี้ยหวัด.."

จึงสันนิษฐานได้ว่าอย่างน้อย"ก่อน"หรือตั้งแต่วันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ.  2421  เป็นต้นไป  ได้เปลี่ยนคำนำพระนาม  "พระมเหสี"  ทุกพระองค์  จาก  "พระเจ้าน้องนางเธอ"  เป็น  "พระนางเธอ"

อนึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทรงยกย่องพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ให้เป็นใหญ่กว่าพระมเหสีทุกพระองค์  เพราะมีแต่สร้อยพระนามพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติจากพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  เท่านั้น  ที่ใช้ว่า  "อัครวรราชกุมารี"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 11:46


พระฉายาลักษณ์ พระมเหสีเทวีและพระเจ้าลูกเธอ
เท่าที่ดิฉันดูออกคือ
แถวบน  ซ้ายสุด  พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฎ
แถวกลาง  ที่สามจากซ้าย สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ถัดจากพระองค์ท่าน  พระองค์ที่สี่นับจากทางขวา คือสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
แถวนั่ง (ไม่ใช่แถวหมอบด้านหน้าสุดนะคะ) ขวาสุด  สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์  กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
เจ้านายสตรีองค์ที่ประทับบนพระเก้าอี้ยาว อีกพระองค์หนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 27 ก.ย. 05, 17:23

ขอบคุณคุณเทาชมพูสำหรับรูปนะครับ

................................................

เมื่อพระภรรยาเจ้าทั้ง  4  พระองค์  อันได้แก่  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี  ประสูติพระราชโอรสธิดาถวาย  และได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  "พระมเหสี"  ตามลำดับทุกพระองค์แล้ว  รัชกาลที่  5  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ใช้คำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เป็นพระอิสสริยยศเสมอกันทุกพระองค์  แต่ไม่ได้มีการใช้อย่างเป็นทางการ


จนกระทั่งปี  พ.ศ.  2423  เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม  ที่ตำบลบางพูด  พร้อมด้วยพระราชธิดา  จึงได้เกิดปัญหาเรื่องการออกพระนามขึ้น  ผสมกับพระราชดำริของรัชกาลที่  5  ที่ทรงต้องการกำหนด  และลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีให้เหมือนกับนานาอารยะประเทศ  จึงโปรดเกล้าฯ  ใหมีการออกพระนามพระมเหสีเทวีในเวลานั้นใหม่ทุกพระองค์


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

จากหลักฐานจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  และพระราชหัตถเลขา  สรุปได้ดังนี้

31  พฤษภาคม  2423  พระองค์เจ้าสุนันทากุมารรัตน์  สิ้นพระชนม์

3  มิถุนายน  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้ออกพระนามพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  เป็น  "สมเด็จพระนางเจ้า  สุนันทากุมารีรัตน์"  เหมือนอย่างสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี  ในรัชกาลที่  4

4  มิถุนายน  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้เปลียนการออกพระนามใหม่เป็น  "สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์"  ด้วยมีกระแสพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้ให้แปลเป็นคำอังกฤษว่ากวีน

5  มิถุนายน  2423  ในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี  ระบุว่าพระยศของสมเด็จพระนางเธอสุนันทาฯ  นั้น  ในภาษาอังกฤษให้ใช้คำว่าปรินเซส  สำหรับผู้ที่จะเป็นควีนนั้นจะให้ทรงมีคนเดียว  โดยมีพระอิสสริยยศเป็นที่สมเด็จพระนางเจ้า  ...  พระราชเทวี*  (เข้าใจว่าพระอิสริยยศนี้น่าจะทรงดัดแปลงมาจากคำในสมัยรัชกาลที่  4  ได้แก่  สมเด็จพระนางนาฏ  ... พระบรมอัครราชเทวี,  สมเด็จพระนางนาถ  ...  ราชเทวี)

24  กรกฎาคม  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนพระนามเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์"

จึงอนุโลมว่านับตั้งแต่วันที่  3  มิถุนายน  พ.ศ.  2423  เป็นต้นไป  พระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์"  และยังไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะพระอัครมเหสี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 08:52


ติดตามตลอดค่ะ

วันนี้ ขอเชิญพระฉายาลักษณ์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  มาลง
ทรงฉายพร้อมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี  
และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ค่ะ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 ก.ย. 05, 08:17

 สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  5
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี


ภายหลังจากการเฉลิมพระนามสมเด็จพระนางเธอ  เป็น  “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์”  เมื่อวันที่  24  กรกฎาคม  พ.ศ.  2423  แล้ว  ก็ได้ทรงสถาปนาพระมเหสีอีก  3  พระองค์  ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์ในตำแหน่งพระมเหสีเทวี

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  พระอัครมเหสี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

สันนิษฐานว่าทรงได้รับการสถาปนาในคราวเดียวกันทั้ง  3  พระองค์  แต่จะได้รับการสถาปนาเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  ในหนังสือพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่  5  ของนายแพทย์จิรวัฒน์  กับหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  ระบุว่าสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  ทรงได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่  12  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  ซึ่งภายหลังจาการเสร็จสิ้นพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่

สำหรับผู้เขียนเห็นด้วยกับหนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ฯ  ของคุณเจฟฟรี่  ไฟน์สโตน  ที่ระบุว่าทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเมื่อวันที่  6  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในวันที่  6  สิงหาคมนั้นว่า

“วันนี้เป็นวันเริ่มหมายลงพระนามสมเด็จพระนางเจ้า  ขึ้นพระตำหนัก  เป็นพระฤกษ์...”

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการออกพระนาม  “สมเด็จพระนางเจ้า”  ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดพระมเหสีทั้ง  3  พระองค์ต้องได้รับการสถาปนาในวันที่  6  สิงหาคม  หรือก่อนหน้านั้น  แต่ต้องหลังจากการเฉลิมพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว

การพิจารณาพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่  เป็นพิธีเดียวกับการเฉลิมพระอิสริยยศพระมเหสีนั้น  ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะประการแรกตามหลักฐานต่างๆ  พบว่าได้มีการออกพระนาม  “สมเด็จพระนางเจ้า”  และ  “พระนางเธอ”  ตั้งแต่ก่อนวันที่  12  สิงหาคม  ซึ่งแสดงว่าต้องได้รับการสถาปนาก่อนหน้านั้นแล้ว  มิฉะนั้นผู้บันทึกจะออกพระนามเช่นนั้นได้อย่างไร  เป็นการผิดธรรมเนียม  ประการที่  2  ในพิธีขึ้นพระตำหนักนั้นกล่าวถึงเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  และพระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ  โดยไม่ได้กล่าวถึงพระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ  แต่อย่างใด  ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเฉลิมพระอิสริยยศ

สำหรับพระอิสริยยศ  “พระราชเทวี”  นั้น  ไม่ปรากฏว่ามีออกพระนามเช่นนี้แต่อย่งใด  แต่อาศัยจากพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี  ลงวันที่  5  มิถุนายน  พ.ศ.  2423  ที่ทรงระบุว่า

“…ที่กวีนนั้นจะใช้ให้แปลกกับสมเด็จพระนางเจ้ามีชื่อแล้วจึงใช้พระราชเทวีเติมข้างท้าย…”
นอกจากนี้พระราชหัตถเลขาถึงพระยาราชภักดี  ลงวันที่  16  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  กล่าวว่า

“ด้วยเงินเดือนสว่างวัฒนา  เดิมมีอยู่เดือนละเจ็ดตำลึง  บัดนี้เลื่อนยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้า  ให้เงินเดือนกึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  คือจำนวนเดือนละชั่ง  สุขุมาลมารศรี  เสาวภาผ่องศรี  เดิมเดือนละเจ็ดตำลึงเป็นพระนางเธอให้ขึ้นเงินเดือนคนละสิบตำลึง  ตั้งแต่เดือนเก้า  ปีมะโรง  โทศกนี้ไป”

ส่วนพระอิสริยยศ  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  นั้น  บางคนอาจจะสงสัยว่าต้องออกพระนางเธอเฉยๆ  เช่น  พระนางเธอสุขุมาลฯ  หรือต้องมีพระองค์เจ้าต่อท้ายด้วย  เช่น  พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ  นั้น  จริงๆ  แล้วออกพระนามได้ทั้ง  2  อย่าง  แต่ที่เป็นทางการและถูกต้องควรออกพระนามว่า  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาเทพประชุน  ลงวันที่  4  พฤศจิกายน พ.ศ.  2423  ว่า  “...แต่ว่าการในครอบครัว  ได้ยกหญิงกลางสว่างวัฒนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า  อีกสองคนนั้นเป็นพระนางเธอ  พระองค์เจ้า...”

สำหรับพระอิสริยยศ  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  นั้นเป็นพระอิสริยยศของพระมเหสีเทวีที่กำหนดไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  4
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 12:04


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี
สมเด้จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี

พระมเหสีทั้ง  2  พระองค์นี้จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระบรมราชเทวี"  เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการเฉลิมพระยศในคราวเดียวกัน  คือ  ในช่วงงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  


หลักฐานแรกสุดที่มีการออกพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี  ได้แก่หนังสือที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พิมพ์พระราชเทานเนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ  ในปีพ.ศ  2423  ปรากฎความว่า  "...ทรงพระราชดำริจะทรงสร้างหนังสือสวดมนต์  รวมพระสูตร  และพระปริตต่างๆ  เพื่อเป็นก่ารพระราชกุศลในงานพระเมรุ  การพระศพสมเด้จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี..."  โดนหนังสือเล่มนี้พิมพ์เสร็จเมื่อวันที่  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  จึงสันนิษฐานได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น  "พระบรมราชเทวี"  ในระหว่างวันที่  1  สิงหาคม  -  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  


แต่หนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ฯ  ของคุรเจฟฟรี่  ไฟน์สโตน  ระบุว่าทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  ทรงได้รับเฉลิมพระอิสริยยศพร้อมกันเมื่อวันที่  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423


ซึ่จะสอดคล้องกับหนังสือเรื่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  จันทรประภา  ที่ระบุว่า  "...เมื่อถึงงานพระเมรุฯ  สมเด้จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  ก็ได้มีประกาศฐานะพระอัครมเหสีให้ปรากฎหนาแน่นยิ่งขึ้น  โดยเพิ่มคำว่า  "บรม"  ลงไปเป็นคำคุณศัพท์ของพระราชเทวีอีกคำหนึ่งด้วย  ซึ่งสมเด็จฯ  ก็ทรงอยู่ในฐานะ  "พระบรมราชเทวี"  ในคราวเดียวกันนั้น..."

แต่หลักฐานแรกสุดที่มีการออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  คือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  วันที่  28  กรกฎาคม  พ.ศ.  2426

"...เวลา  ๒  โมงเช้า  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี..."

ในขณะเดียวกันจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันฉบับแรกที่ออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้สุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี  คือวันที่  30 พฤษภาคม  พ.ศ.  2426  ภายหลังจากสวรรคตแล้ว  3  ปี  ความว่า

"...ในการเปิดอนุสาวรีย์ที่ระลึกแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี..."

ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันออกพระนามทั้ง  2  พระองค์ว่า  "พระบรมราชเทวี"  ในปี  พ.ศ.  2426  เหมือนกัน


สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  นั้นผมสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น  "พระบรมราชเทวี"  ระหว่างวันที่  5  พฤศจิกายน  -  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  เพราะในพระราชหัตถเลขาถึงข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ลงวันที่  4  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2423  ยังทรงระบุเพียงว่า  "...ได้ยกหญิงกลางสว่างวัฒนา เป็นสมเด็จพระนางเจ้า"


เดิมนั้นรัชกาลที่  5  มีพระราชประสงค์จะให้ตำแหน่ง  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี"  เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี  และพระองค์เองก็ทรงเข้าพระทัยว่าในสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  กับสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ต่างก็ทรงอยู่ในศักดิ์ของพระราชเทวี  ทั้ง  2  พระองค์  (สันนิษฐานจากพระราชนิพนธ์ธรรมเนียมราชตระกูลฯ  และรัชกาลที่  4  ก็ทรงกล่าวไว้เช่นนั้น)  แต่ในความจริงแล้วในสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ทรงอยู่ในฐานะ  "พระบรมราชเทวี"  หรือ  "พระบรมอัครชายา"  ในขณะที่สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ทรงอยู่ในฐานะ  "พระราชเทวี"  แต่ในภายหลังเข้าใจว่าอาจจะเป็นเรื่องฐานะขององค์รัชทายาท  จึงโปรดให้ออกพระนามพระมเหสีทั้ง  2  องค์เป็น  "สมเด็จพระนางเธอ"  เสมอกัน


และเราจะยังสังเกตได้ว่า  อย่างไรก็ตามรัชกาลที่  5  ก็ยังไม่ทรงแน่พระทัยเรื่องการลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีในรัชกาลก่อน  เพราะอย่างไรก็ยังทรงมีพระราชดำริว่า  พระยศของสมเด็จพระนางโสมนัสนั้น  สูงกว่าสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระองค์   เช่น  "ให้ใช้สมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางโสมนัส"  ข้อความนี้พิจารณาได้ว่าถ้าพระมเหสีในรัชกาลที่  2  มีพระอิสริยยศเท่ากันจริง  ทำไมรัชกาลที่  5  ไม่ตรัสว่า  "ให้ใช้อย่างสมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางรำเพย"  ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระองค์  และดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีนานกว่าสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดต้องการให้ผู้อ่านยเห้นว่า  รัชกาลที่  5  ทรงลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีในระยะแรกตามอย่างในสมัยรัชกาลที่  4
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 12:13

 ในสมัยรัชกาลที่  4

พระบรมอัครชายา/พระบรมราชเทวี  --  สมเด็จพระนางนาฏ  บรมอัครราชเทวี/สมเด็จพระนางเธอ

พระราชเทวี  --  พระนางเธอ  พระองค์เจ้า/สมเด็จพระนางเธอ


ในสมัยรัชกาลที่  5  ช่วงแรก

พระบรมอัครชายา/พระบรมราชเทวี  --  สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี  ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น  "พระบรมราชเทวี"

พระราชเทวี  --  พระนางเธอ  พระองค์เจ้า  ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  บางรั้งจะออกพระนามพระนางเธอ  แล้วตามด้วยพระราชเทวี  ต่อมาในภายหลังเมื่อมีการสถาปนาตำแหน่ง  สมเด็จระนางเจ้า  พระวรราชเทวี  กับพระนางเจ้า  พระราชเทวี  แล้วพระอิสริยยศ  "พระนางเธอ"  นี้จึงลดลำดับชั้นไป
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 12:13


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 08:20

 พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี(พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี)


หลายๆ  ท่านที่เคยทราบพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  ก็จะทราบว่าเมื่อพระนางมีพระประสูติกาลสมเด็จฯ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธแล้ว  ก็ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศจาก  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้า"  เป็น  "พระนางเจ้า  พระวรราชเทวี"  ...  แต่ความเข้าใจนี้อาจจะคลาดเคลื่อนก็เป็นได้


สมเด็จฯ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ประสูติเมื่อวันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2423  ซึ่งหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ"  ได้เลื่อนพระอิสริยยศในคราวนี้  หรือภายหลังจากพระราชพิธีสมโภชเดือนตั้งพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ


แต่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  ตั้งแต่วันพระราชพิธีสมโภชเดือนตั้งพระนามในวันที่  4  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  -  11  กันยายน  พ.ศ.  2426  ยังคงออกพระนามว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้า"  อยู่  ดังนั้นประเด็นที่ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศในปีพ.ศ.  2423  -  2424  จึงตกไป


จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  วันที่  21  กันยายน  พ.ศ.  2426

"...เสด็จเรือพระที่นั่งกลไฟพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  พระราชเทวี  และข้างใน..."

วันที่  3  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426

"...ทรงเรือพระที่นั่งรัตนดิลกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  และพระนางเธอพระราชเทวี  และเจ้าจอม..."

วันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426

"...สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  และพระนางเธอ  พระราชเทวี  และเจ้าจอมข้างใน..."

จากจดหมายเหตุฯ  ทั้ง  3  วันนี้  ทีแรกมีผู้เข้าใจว่าทรงได้เลื่อนเป็นพระราชเทวีแ้ล้ว  แต่ก็ปรากฎว่าในวันที่  19  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426  ก็กลับไปออกพระนามว่า  "พระนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาฯ"  อีก  อย่างไรก็ดีทำให้เราได้ทราบว่าคำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เป็นพระอิสริยยศสำหรับผู้มีตำแหน่ง "พระราชเทวี"


ในจดหมายเหตพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  ได้ออกพระนาม  "พระนางเจ้า"  เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2428  "เวลาบ่าย  ๒  โมง  ๖  นาที  พระนางเจ้าเสาวภาผ่องสรีประสูติ..."


และออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี"  ครั้งแรกเมื่อวันที่  30  ตุลาคม  พ.ศ.  2429


ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า  พระนางเจ้าเสาวภาฯ  ทรงน่าจะได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่  27  กันยายน  พ.ศ.  2427(เป็นวัดสุดท้ายที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเธอ")  -  วันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2428(เป็นวันแรกที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้า")


แต่ในระยะแรกที่มีการออกพระนามเพียง  "พระนางเจ้า"  โดยไม่มีพระราชเทวีต่อท้ายนั้น  เป็นการเขียนเพียงย่อๆ  ของผู้บันทึก  หรือทรงเป็นพระนางเจ้าก่อน  แล้วจึงได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้า  พระราชเทวีกันแน่

แต่โดยส่วนตัวของผมเห็นว่าทรงเป็น  "พระนางเจ้า  พระราชเทวี"  มาตั้งแต่แรก  อนุโลมเช่นเดียวกับ  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี"  ที่ใในระยะแรกแม้จะเป็น  "พระราชเทวี"  แล้ว  ก็ยังคงออกพระนามเพียงว่า  "สมเด็จพระนางเจ้า"
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 06 ต.ค. 05, 09:05


3  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  5

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารรัตน์  พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระบรมราชินีนาถ
(จากซ้ายไปขวาครับ)
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 31 ต.ค. 05, 17:07


พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี


สำหรับการสถาปนาพระอิสริยยศพระนางเธอสุขุมาลมารศรี  ขึ้นเป็น  "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี"  นั้น  ก็เช่นเดียวกับพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีซึ่งไปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ได้มีผู้สันนิษฐานถึงช่วงเวลาที่ทรงน่าจะได้รับการสถาปนาไว้  2  กรณีด้วยกัน

1.  ภายหลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ  ประสูติเมื่อวันที่  29  มิถุนายน  2424  ซึ่งถ้าดูตามปฏิทินใหม่  ก็จะเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประสูติ  ดังนั้นข้อสันนิษฐานนี้จะไปสนับสนุนประเด็นที่ว่า  พระนางเธอเสาวภา  ได้เป็นพระนางเจ้าในปีนี้พร้อมกับพระนางสุขุมาล  แต่ในกรณีของพระนางเจ้าเสาวภา  ข้อสันนิษฐานนี้ตกไปตามความเห็นที่  42  

ในขณะเดียวกันความน่าจะเป็นที่พระนางเธอสุขุมาล  จะได้เป็นพระนางเจ้าในปีนี้ก็ตกไปเช่นกัน  เพราะนับตั้งแต่วันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร  จนถึงวันที่  12  กุมภาพันธ์  2426  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  ก็ยังคงออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เรื่อยมา


2  มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้าพระราชเทวี  ในปีเดียวกับที่สถาปนาพระนางเจ้าเสาวภา  เป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี  ซึ่งก็คือ  ในปี  2438  แต่ประเด็นนี้ก็ตกไปเช่นกัน  เพราะในวันที่  27  ธันวาคม  พ.ศ.  2429  ก็ได้มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี"  แล้ว


ดังนั้นจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  7  พอจะสันนิษฐานได้ว่า  พระนางเธอสุขุมาลมารศรี  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี    ระหว่างวันที่  13  กุมภาพันธ์  2426  ถึงวันที่  26  ธันวาคม  2429  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  และก่อนวันแรกที่จะมีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้า"


ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีตามข้อสันนิษฐานนี้

พระนางเจ้าเสาวภาฯ ได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2427 - วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  ได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่  13  กุมภาพันธ์  2426(ปฏิทินใหม่  2427)  - วันที่  26  ธันวาคม  2429

จะเห็นว่าถ้าดูตามปฏิทินใหม่  คือเอาวันที่  1  มกราคม  เป็นวันขึ้นปีใหม่  ปี  2427  เป็นปีสุดท้ายที่การออกพระนามพระมเหสีทั้ง  2  พระองค์ว่า   "พระนางเธอ"  ในขณะที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าเสวภา"  ก่อน  "พระนางเจ้าสุขุมาล"  ถึง  1  ปี  ซึ่พอจะสันนิษฐานได้  2  ประเด็นคือ

ประเด็นที่  1  ได้รับการสถาปนาใรคราวเดียวกันทั้ง  2  พระองค์
ประเด็นที่  2  พระนางเจ้าเสาวภา  ได้สถาปนาก่อนแล้วจึงสถาปนาพระนางเจ้าสุขุมาลในภายหลัง


อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะมีการสถาปนาพระมเหสีทั้ง  2  พระองค์ในปี  พ.ศ.  2428  นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก  เพราะในปีนั้นเจ้าจอมมารดาเปี่ยม  ได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม  แต่จะเลื่อนเจ้าจอมมารดาสำลีด้วยหรือไม่นั้นผมไม่แน่ใจ  เนื่องจากเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม  เป็นพระชนนของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระนางเจ้าเสาวภา


ส่วนพระอิสริยยศ "พระราชเทวี"  ของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  มีการออกพระนามนี้ครั้งแรกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันเมื่อวันที่  13  กุทภาพันธ์  2432

"...แลเครื่องสังเคตของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  แลพระนางเจ้าพระราชเทวี  พระนางเจ้าพระราชเทวี  แลของพระเจ้าพี่นางเธอน้องนางเธอฝ่ายใน..."
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง