เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 58733 ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 07:36

 8.  พระฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดมีปรากฎหลักฐานชัดเจน  อยู่ในประกาศตั้งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์  เมื่อปีพุทธศักราช  2394  ความว่า

"...พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ  ฯลฯ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ...  มีพระกมลสันดานประกอบด้วยพระกตัญญูระฦกถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี  ซึ่งทรงพระนามตามตำแหน่งพระบรมอรรคราชมเหษี  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า  สมเด็จพระพรรษา..."  (จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์  เล่ม  1)
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 07:44

 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้ไม่ทรงมีพระมเหสีเทวีหรือพระภรรยาเจ้าแต่อย่างใด  หนังสือบางเล่มกล่าวว่าเหตุที่ไม่ทรงมีพระมเหสีเทวีนั้น  เพราะไม่มีพระราชประสงค์จะมีพระราชโอรสเป็น  "เจ้าฟ้า"  เนื่องจากจะทรงเก็บราชสมบัติไว้ให้กับสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ  พระราชอนุชา  ซึ่งทรงมีสิทธิโดยชอบธรรมในพระราชบัลลังก์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 09:05

 เคยอ่านพบว่าเจ้าฟ้าบุญรอด ทรงแยกทางกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตั้งแต่ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระราชชายา
เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิมกับพระราชโอรสพระองค์เล็ก คือเจ้าฟ้าจุฑามณี(หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 2
ไม่เสด็จกลับมาที่วังหลวงอีกเลย ตลอดรัชกาล
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงงอนง้อหลายครั้ง  ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ติดตามอ่านตลอดค่ะ คุณหยดน้ำ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 10:49

 ขอบคุณครับคุณเทาชมพูที่ติดตามอ่าน  เรื่องที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงกลับไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม  ตั้งแต่รัชกาลที่  2  รับเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลมาเป็นพระมเหสี  ผมก็เคยอ่านเจอมาครับ  แต่ดูแล้วความเป็นไปได้ของประเด็นนี้มีน้อยครับ  (ความคิดเห็นส่วนตัวครับ)

เพราะพิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นทำให้ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าน่าจะทรงประทับอยู่ในวังหลวงตลอรัชกาลที่  2  และย้ายออกมาเมื่อรัชกาลที่  2  สวรรคตแล้ว  ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

1.  คุณจุลลดา  ภักดีภูมินทร์  ได้เล่าไว้ในหนังสือเวียงวังว่า  รัชกาลที่  3  เมื่อขึ้นครองราชยแล้ว  ได้เสด็จพร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาเรียม  ซึ่งเวลานั้นเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง  มาส่งเสด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดที่ประตูวังเมื่อคราวที่เสด็จกลับไปประทับยังพระราชวังเดิม  โดยครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยได้เชิญพานพระศรีตามเสด็จ  และเมื่อถึงประตูวังแล้วทั้ง  2  พระองค์ก็ได้ถวายบังคมเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด

ไปเรียนก่อนนะครับเดี๋ยวมาคุยต่อ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 14:52

 ต่อครับผม

2.  หากเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเสด็จออกไปอยู่พระราชวังเดิมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่  2  จริง  เหตุใดถึงทรงพาเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณีไปเพียงพระองค์เดียว  ทำไมสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎถึงไม่ตามเสด็จไปด้วย  ซึ่งถ้าเสด็จในสมัยรัชกาลที่  3  แล้ว  ข้อสงสัยนี้ก็จะหมดไป  เพราะเวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงผนวชอยู่

3.  คุณลาวัณย์  โชตามระ  ได้เล่าเหตุการณ์ภายหลังจากที่รัชกาลที่  2  รับเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลเป็นพระมเหสีไว้ในหนังสือพระมเหสีเทวีว่า

"...ความน้อยพระทัยที่สมเด็จพระอัครมเหสีทรงมีต่อสมเด็จพระบรมราชสวามีนั้นมากมายนัก  ...  ทรงใช้วิธี  "ดื้อแพ่ง"  ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่เสด็จขึ้นเฝ้าดังที่ทรงเคยปฏิบัติ  ไม่ยอมให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ  ได้เสด็จเข้ามาในพระตำหนัก  ไม่ทำเครื่องเสวยที่เคยโปรดปรานขึ้นถวาย  ....

การประกอบอาหารหวานคาวที่พระตำหนักของสมเด็จพระอัครมเหสีนั้นก็ยังคงทำอยู่ตามปกติ  แต่ทว่าเพื่อให้ข้าหลวงขายในบริเวณ  "วังหลวง"  ตลอดจนให้ผู้อื่นรับไปจำหน่ายแก่คนนอก  ..."

หมายเหตุ
ขออนุญาตแก้ไขคำผิดครับ

ในความคิดเห็นที่  8  ที่ถูกต้องต้องเป็น  "สมเด็จพระพันพรรษาฟากขะโน้น"  ครับ

ในความคิดเห็นที่  15  ที่ถูกต้องต้องเป็น  "สมเด็จพระพันพรรษา"  แต่หนังสือบางเล่มก็ใช้ว่า  "สมเด็จพระพรรษา"  และ  "สมเด็จพระพันวษา"  ครับ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ส.ค. 05, 15:52

 ระยะที่ 2 (รัชกาลที่ 4 - ต้นรัชกาลที่ 6) เป็นระยะที่มีการสถาปนาพระอิสริยยศ และคำนำหน้าพระนามพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและพระอิสริยยศสำหรับพระมเหสีเทวี  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ปรากฎว่าได้ทรงประกาศสถาปนาพระมเหสีอย่างเป็นทางการ

รัชกาลที่  4  ทรงมีพระภรรยาเจ้าที่เป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  3  หลายพระองค์ด้วยกัน  แต่ที่ได้เป็นพระมเหสีนั้นมีอยู่  2  พระองค์  คือสมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี  (พ.ศ.  2394  -  2395)  และสมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์  (พ.ศ.  2395  -  2404)  ซึ่งทั้ง  2  พระองค์นี้ทรงเป็นพระมเหสีต่างวาระกัน

เมื่อรัชกาลที่  4  เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  ได้ทรงรับเอาพระเจ้าหลานเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีในรัชกาลที่  3  ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  เมื่อวันที่  2  มกราคม  พ.ศ.  2394  (หนังสือพระบรมราชินี  และเจ้าจอมมารดา  ของ  ส.  พลายน้อย)  ทรงพระนามว่า  

"สมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี  บรมอรรคราชเทวี"  หรือ
"สมเด็จพระนางนาฏ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  บรมอรรคราชเทวี"

ซึ่งคำนำนหน้าพระนามว่า  "สมเด็จพระนางนาฏ"  และพระอิสริยยศ  "บรมอรรคราชเทวี"  นี้  จะได้รับพระราชทานเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ปรากฎว่าได้ออกพระนามนี้ไว้ในประกาศสถาปนาพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  เมื่อปี  พ.ศ.  2395  ความว่า

"...บัดนี้ทรงพระราชดำริว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาไว้  แลพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่แลเสนาบดีได้ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลถวาย  ให้เป็นสมเด็จพระนางนาฏบรมอรรคราชเทวีครั้งนี้นั้น  ก็เสด็จสวรรคตเสียแล้ว..."  (จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์  เล่ม  1)

ซึ่งประกาศฉบับนี้มีขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  ได้เสด็จสวรรตไปแล้ว  โดยทรงดำรงตำแหน่งนี้เพียง  9  เดือน  ภายหลังเมื่อมีพระประสูติกาลเจ้าฟ้าชายโสมนัสแล้ว(สิ้นพระชนม์ในประสูติ)  ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ.  2395

หลังจากนั้นในเดือนมกราคม  พ.ศ.  2395(ปฏิทินใหม่  2396)  ก็ได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ขึ้นเป็น  "พระองค์เจ้าหญิงรำเพยภมราภิรมย์"  ดังประกาศสถาปนาว่า

“...จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง   ให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำเพยซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอผู้ใหญ่ฝ่ายใน  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  เป็นพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์...”

ซึ่งในประกาศฉบับนี้ระบุเพียงว่าทรงเป็นพระองค์เจ้า  แต่จะทรงใช้คำหน้าพระนามหรือดำรงพระอิสริยยศอย่างไรในตำแหน่งพระมเหสีเทวีนั้นไม่ปรากฎ  จนเมื่อภายหลังที่ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  จึงได้ปรากฎการออกพระนามในประกาศชำระเลกในสมเด็จพระนางนาถราชเทวีว่า

“...ด้วยสมเด็จพระนางนาถราชเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว  เลกในกรมก็กระจัดพลัดพลายที่พาระบาดหลบหนี...”

ซึ่งจากประกาศนี้ทำให้พอสันนิษฐานไดว่าทรงมีพระอิสริยยศเป็น

"สมเด็จพระนางนาถรำเพยภมราภิรมย์  ราชเทวี"  หรือ
"สมเด็จพระนางนาถ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  ราชเทวี"

สำหรับประกาศชำระเลกในสมเด็จพระนางนาถราชเทวี  จะประกาศเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด  แต่ต้องหลังจากวันที่  9  กันยายน  พ.ศ.  2404  ซึ่งเป็นวันที่พระนางสิ้นพระชนม์  และต้องก่อนงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล  ในปีพ.ศ.  2406  ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการออกพระนามพระมเหสีในรัชกาลที่  4  ใหม่แล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 22 ส.ค. 05, 12:46

 มาเสริมคุณหยดน้ำค่ะ

ดิฉันไม่แน่ใจว่า พระนางโสมนัสฯ ทรงเป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" หรือ "สมเด็จพระนางเธอ " กันแน่
แต่ทรงเป็นพระอัครมเหสี แน่นอน

ในหนังสือ พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา ของคุณ ส. พลายน้อย อ้างถึงพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ทรงระบุว่า
" เวลา  1 นาฬิกาหลังเที่ยง  สมเด็จพระนางเจ้า พระอัครมเหสี ประสูติพระราชกุมาร  บรมราชโอรสโดนเรียบร้อย  และมีพระชนม์
แต่พระกำลังอ่อน และพระองค์ย่อม
พระกันแสง และแสดงอาการอย่างทารกแรกเกิดโดยปกติ  
แต่ต่อเวลาพระประสูติมาอีก 3 ชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะพระราชกุมารก็หยุดลงเสียเฉยๆ"
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 22 ส.ค. 05, 21:47

 ขอออกความเห็นครับ
ถ้าถือตามหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๑ จะระบุพระอิสริยยศของสมเด็จพระเทพศิรินฯ ว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์ที่ ๒ ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีครับ (คาดว่าประมาณปีใดจำไม่ได้)
อ้อ ไม่ทราบว่าเขาส่งรูปอย่างไรจึงจะได้รูปคั่นกลางข้อความครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 22 ส.ค. 05, 22:01

 ขอบคุณครับคุณเทาชมพู

..........................................

ดังที่ผมบอกไว้แล้วในคราวก่อน  นับตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2406  เป็นต้นมาปรากฎหลักฐานว่าได้มีการออกพระนามพระมเหสีเทวีใหม่  ดังในประกาศงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลมีความตอนหนึ่งว่า


"...อนึ่งเสาและตัวไม้ใหญ่ๆ  สิ่งของที่ทำในครั้งนี้  ก้ไม่ได้ตกทอดกะเกรฑ์มากนัก  เป็นแต่ของเก่าสะสมทับมาแต่ครั้งการพระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์  พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย..."


ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฎหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าทรงเปลี่ยนการออกพระนาม  "พระนางนาถราชเทวี"  เป็น  "พระนางเธอ"  (ชุมนุมประกาศรัชกาลที่  4)


และในปี  พ.ศ.  2409  ประกาศงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  ได้ออกพระนามพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์ว่า  "สมเด็จพระนางเธอ"


"...แล้วพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  แลท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมกันว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ได้เป็นพระองค์เจ้ามียศใหญ่ได้มีการโสกันต์อย่างเจ้าฟ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฎสมควร  จึงได้กราบทูลถวายตั้งเป็นสมเด็จพระนางเธอ  เป็นเจ้าเป็นใหญ่ข้างใน  สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ทรงพระครรภ์ได้  7  เดือน...

.....ครั้งภายหลังมาพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  แลเสนาบดีพร้อมใจกันถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระธิดาของพระเจ้าลุงของสมเด้จพระนางเธอซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น  ให้เป็นสมเด็จพระนางเธอสืบฐานันดรนั้นต่อไป..."


และนับเป็นประกาศสุดท้ายที่ผมค้นเจอเกี่ยวกับการออกพระนามพระมเหสีเทวี  จนกระทั่งในปี  พ.ศ.  2411  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล  ได้มีประกาศการใช้คำนำหน้าพระนามพระบรมวงศานุวงศ์  ทำให้ทราบที่มีของคำว่า  "พระนางเธอ"  ดังนี้


"...คำว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ  พี่นางเธอ  น้องยาเธอ  น้องนางเธอ  ลุกเธอ  หลานเธอ  6  คำนี้หรือเป็น  7  ทั้งคำว่พระเจ้าลูกยาเธอ  ตามดำริในกรมหรือทั้งเป็นคำว่า  พระนางเธอ  ที่ทรงพระราชดำริให้ใช้ขึ้นใหม่โดยอนุโลมนั้น..."


หลักฐานในสมัยต่อมาโดยมากแล้วจะออกพระนามสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ว่า  "สมเด็จพระนาง"  ในขณะที่ออกพระนามสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย"  ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  5  ได้ทรงบรรยาถึงธรรมเนียมพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่  4  ความว่า


"...ครั้งตกมาในแผ่นดิน  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท่านทรงขึ้นใหม่  เรื่องคำนำพระนามพระองค์โสมนัศ  พระองค์เจ้ารำเพย  2  พระองค์  ซึ่งเป็นพระมารดาเจ้าฟ้า  นับว่าเป็นพระราชเทวี  ให้เรียกว่าพระนางเธอ  ฤาสมเด็จพระนางเธอ  ให้สมควรแก่ที่เป็นตำแหน่งเช่นนี้  ...  สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์  นั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้  ก็ได้เป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์..."

สำหรับการออกพระนามสมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้น  ผมยังไม่พบหลักฐานว่าได้มีการใช้คำว่า  "สมเด็จพระนางเจ้า"  เป็นคำนำพระนาม  แต่ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  เรื่องการออกพระนามพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  "...ให้ใช้สมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางโสมนัส..."  และระบุว่าได้มีการค้นในหมายรับสั่งเก่าดูแล้ว  แต่อย่างไรในจดหมายเหตุนี้ก็ยังออกพระนามว่า  "สมเด็จพระนาง"
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 22 ส.ค. 05, 22:28

 ขอบคุณครับคุณศรีปิงเวียง

ในหัวข้อประกาศใช้คำว่าพระนางเธอ  พระองค์รำเพยฯ  ก็จริงครับ  แต่ในคำประกาศสถาปนาไม่ได้ออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  บอกเพียงแต่ว่าเป็น  "พระองค์เจ้ารำเพยฯ"  ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 24 ส.ค. 05, 09:11


ขอบคุณค่ะ คุณหยดน้ำ

ภาพนี้คือพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงฉายคู่กับสมเด็จพระนางรำเพยฯ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 ส.ค. 05, 08:27

 มาโพสต์ต่อก่อนไปแอ่วสุโขทัยครับ

.................................................
พระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์ในรัชกาลที่  4

ในช่วงต้นรัชสมัย  หากเปรียบเทียบว่าพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  ยังทรงมีพระชนม์อยู่  ผมเข้าใจว่าสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสฯ  ทรงมีพระอิสสริยยศสูงกว่าสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยฯ  ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ


1.  ในระยะแรกถึงแม้จะทรงใช้คำนำหน้าพระนามว่า  "สมเด็จพระนางนาฏ(นาถ)"  เหมือนกัน  แต่พระอิสสริยยศที่ต่อท้ายพระนามนั้นแตกต่างกัน  โดยสมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้นทรงเป็น  "บรมอรรคราชเทวี"  ในขณะที่สมเด็จพระนางเธอรำเพยฯ  ทรงเป็นเพียง  "ราชเทวี"  อย่างไรก็ตามแม้จะมีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและพระอิสสริยยศสำหรับพระมเหสีแล้ว  แต่ก็ยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันแน่นอน  จะชี้ชัดว่า  "ราชเทวี"  มีพระอิสสริยยศต่ำกว่า  "บรมอรรคราชเทวี"  ซะทีเดียวก็ไม่ได้  แต่ด้วยความที่ทรงดำรงตำแหน่งต่างวาระกันจึงทรงเป็น  "เอก"  ด้วยกันทั้ง  2  พระองค์


2.  สมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้นทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอผู้ใหญ่ในรัชกาลที่  3  สมเด็จพระบรมอัยกาทรงยกย่องและพระราชเกียรติยศเป็นอันมากเกือบเสมอด้วย  "เจ้าฟ้า"  จึงพอจะเข้าใจได้ว่าเมื่อทรงมาเป็นพระอัครมเหสีแล้วย่อมจะต้องทรงยกย่องให้ยิ่งใหญ่กว่าพระภรรยาเจ้าทั้งปวง  สมเด็จพระนางเธอรำเพยฯ  แม้จะทรงเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่  3  เหมือนกันแต่ก็ทรงมีพระยศเพียง  "หม่อมเจ้า"  ในระยะแรกจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะทรงยกย่องสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ให้มีพระเกียรติยศสูงกว่าสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

3.  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ทรงใช้คำว่า  "สวรรคต"  ตามประกาศในปี  พ.ศ.  2395  แต่สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ทรงใช้  "สิ้นพระชนม์"  ตามประกาศในปีหลังปีพ.ศ.  2404  -  2406

4.  เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  มีพระประสูติกาลพระราชโอรสนั้น  พระราชโอรสทรงมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  โดยอัตโนมัติ  แต่เมื่อสมเด็จพระนางรำเพยฯ  มีพระประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์แรกในปี  พ.ศ.  2396  สมเด็จเจ้่าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  กลับต้องกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  ซึ่งปรากฎประกาศในนปี  พ.ศ.  2404  ว่า

"...สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ  เมื่อแรกประสูติใหม่  สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้กราบทูลพระกรุณาให้เป็นเจ้าฟ้าด้วยกลัวว่าธรรมเนียมเจ้าฟ้าซึ่งเคยมีมาในราชตระกูลจะสาบสูญ..."

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลานั้นสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ไม่ได้ทรงมีพระยศเท่ากับสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "พระองค์เจ้า"  ตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2495  (จากหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย)  แต่ทำไมพระราชโอรสไม่ทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  ตั้งแต่แรกประสูติตามธรรมเนียม  แล้วจะเก็บเรื่องนัีี้ไว้คุยกันต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 26 ส.ค. 05, 18:30

 ขอแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับสมเด็จพระนางโสมนัสฯ ว่า

พระองค์ท่านโปรดละคร   ในพระตำหนักจึงมีการฝึกหัดตัวละครสาวๆชาววังไว้หลายคนด้วยกัน
หนึ่งในจำนวนนั้น ชื่อเขียน   เป็นหลานเจ้าจอมมารดางิ้ว  
ต่อมา ก็คือเจ้าจอมมารดาเขียน  ในรัชกาลที่ ๔
หรือเรียกกันว่า เขียนอิเหนา  เพราะรำเป็นตัวอิเหนา
เจ้าจอมมารดาเขียน มีพระเจ้าลูกยาเธอคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯสวรรคตแล้ว  เจ้าจอมมารดางิ้วได้กราบถวายบังคมลา  ออกจากพระบรมมหาราชวังไปอยู่กับพี่ชาย คือพระยาราชภักดี(ทองคำ สุวรรณทัต)
พร้อมด้วยทรัพย์สินของท่าน

ในตอนหลัง  มีการค้นพบดาบฝักคร่ำทอง ตกทอดกันมาเป็นของเก่าในบ้าน    ลูกหลานของพระยาราชภักดีไม่ทราบว่าเป็นของใคร
พลเอกทวนทอง สุวรรณทัต สันนิษฐานว่าเป็นพระแสงดาบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เจ้าฟ้าชายโสมนัสเมื่อแรกประสูติ  ตามพระราชธรรมเนียมประเพณี
จึงนำดาบนี้ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 31 ส.ค. 05, 10:01

 ก่อนที่จะมาต่อเรื่องพระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  ผมต้องบอกก่อนว่าการที่เปรียบเทียบความแตกต่างของพระราชฐานะให้เห็นนั้น  มิได้มีเจตนาจะหมิ่นพระเกีรติยศพระองค์ใด  เพียงแต่อยากให้เกิดความเข้าใจและได้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณืและฐานะที่แท้จริงของแต่ละพระองค์ในช่วงนั้น

5.  ในประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  ปี  พ.ศ.  2409  ได้กล่าวถึงสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ว่า  "...มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฏสมควร..."  แต่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่  4  ที่มีถึงพระยาศรีพิพัฒฯ  กลับกล่าวถึงสมเด็จพระนางรำเพยฯ  เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วว่า  "...แม่เพยนี้ถึงในกรุงเทพฯ  ท่านทั้งปวงรู้ว่าแต่เป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดี..."

6.  เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  สวรรคตนั้น  โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งพระศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แต่เมื่อสมเด้จพระนางรำเพยฯ  สิ้นพระชนม์นั้น  โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวช  อย่างไรก็ตจามในพระราชพงศาดาร  รัชกาลที่  4  ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ได้ระบุว่าเหตุที่ต้องตั้งพระศพสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  บนพระที่นั่ง  เพราะเวลานั้นหอธรรมสังเวชซ่อมยังไม่แล้วเสร็จ  ส่วนพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่  4  ลงวันที่  20  พฤศจิกายน  2404  ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช  ได้ทรงเขียนถึงการตั้งพระศพสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "...ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน  แต่ตกแต่งเสียใหม่ให้งามดี...  แลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร  ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท  เห็นจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่  แต่เท่านั้นก็ดีแล้ว..."

7.  ในประกาศใช้คำนำหน้าพระนามพระบรมวงศานุวงศ์  ปี  พ.ศ.  2411  ผมเข้าใจว่ารัชกาลท่  4  ได้ทรงแต่งตั้งพระมเหสีตามธรรมโบราณ    โดยทรงแบ่งระดับชั้นพระมเหสีเทวีดังนี้

พระบรมอัครชายา  หรือพระบรมราชเทวี
พระราชเทวี
พระมเหสี  และอื่นๆ

ซึ่งหลักฐานเท่าที่ปรากฎและตราประจำตำแหน่งของสมเด็จพระนางรำเพยฯ  เป็นที่แน่นอนว่าทรงอยู่ในฐานะ  "พระราชเทวี"  ส่วนสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  นั้นเนื่องจากทรงเป็นพระอัครมเหสีในระยะเวลาอันสั้น  เท่าที่ผมค้นยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน  แต่หากดูจากพระอิสสริยยศของพระนางซึ่งทรงเป็น  "พระบรมอรรคราชเทวี"  นั้น  ก็น่าจะทรงอยู่ในตำแหน่งพระบรมอัครชายา  หรือพระบรมราชเทวีครับ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 14 ก.ย. 05, 11:36

 หายไปนาน   ...  กลับมาโพสต์ต่อแล้วคับผม

.................
จากความคิดเห็นเพิ่มเติมที่  20  และ  23  ซึ่งผมได้บอกไว้ว่า

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 เป็นต้นมาปรากฎหลักฐานว่าได้มีการออกพระนามพระมเหสีเทวีใหม่ ดังปรากฎในประกาศงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล  และนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฎหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าทรงเปลี่ยนการออกพระนาม "พระนางนาถราชเทวี" เป็น "พระนางเธอ" (ชุมนุมประกาศรัชกาลที่ 4)

แต่เมื่อผมกลับไปเปิดชุมนุมประกาศรัชกาลที่  4  ใหม่อีกรอบ  พบว่า  ในปี  พ.ศ.  2405  ก็ได้มีการออกพระนามสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์"  แล้ว  ดังปรากฎในประกาศพระราชพิธีลงสรงโสกันต์  พระเจ้าลูกเธอ  ความว่า

"...พระเจ้าลูกเธอ  4  พระองค์ ซึ่งประสูติแต่พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย..."

ดังนั้นข้อสรุปในส่วนนี้ก็คือ  ตั้งแต่ปี  2405  เป็นต้นไปได้มีการใช้คำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  แล้ว

.................

สำหรับเรื่องพระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  นั้นจากการพิจารณาหลักฐานต่างๆ  แล้ว  อย่างน้อยที่สุด  ก่อนปี  พ.ศ.  2409  สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ยังไม่ได้ทรงได้รับการยกย่องให้มีพระอิสสริยยศเสมอด้วยสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

แต่ภายหลังจากงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  แล้ว   ทั้ง  2  พระองค์ก็มีพระอิสสริยยศเป็น  "สมเด็จพระนางเธอ "  เสมอกัน

สรุปการออกพระนามพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่  4

ช่วงแรก  (2394  -  2404)
สมเด็จพระนางนาฏ  บรมอรรคราชเทวี
สมเด็จพระนางนาถราชเทวี

ช่วงที่  2  (2405  -  2408)
พระนางเธอ  มีหลักฐานว่าออกพระนามนี้เฉพาะ "สมเด็จพระนางรำเพยฯ"  เท่านั้น

ช่วงที่  3  (2409  -  2411)
สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้า  ออกพระนามแบบนี้ทั้ง  2  พระองค์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง