เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 58740 ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


 เมื่อ 29 ก.ค. 05, 18:03

 ขออนุญาตเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระมเหสีเทวีนะครับ  ถ้ามีจุดไหนบกพร่องก็ช่วยชี้แนะด้วยครับผม

หากเราพูดถึงราชสำนักฝ่ายในในอดีต สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงจะไม่พ้นเรื่องราวของเหล่าพระมเหสีเทวี ราชนารีผู้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งสตรีชั้นสูงกลุ่มนี้นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในราชสำนักมากกลุ่มหนึ่ง เพราะพระมเหสีเทวีนั้นนอกจากจะมีพระราชโอรสเป็นหลักในการสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ยังเป็นผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์ และในบางครั้งก็ยังมีโอกาสได้ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในทางการบ้านการเมืองอีก


พระมเหสีเทวี ตามความหมายที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปก็คือ พระภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระยศตั้งแต่เจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า หรือที่ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า “พระภรรยาเจ้า” แต่ในความเป็นจริงแล้วพระภรรยาเจ้าบางพระองค์อาจจะไม่ได้ทรงเป็น “พระมเหสีเทวี” ก็ได้ หนังสือพระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ของนายแพทย์จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ได้ให้ความหมายของพระมเหสีเทวีไว้ว่า “พระฐานันดรศักดิ์” หรือ “ตำแหน่ง” ของพระภรรยาเจ้า ซึ่งผมเห็นว่าความหมายนี้ชัดเจนทีเดียวหากกล่าวถึงพระมเหสีเทวีตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นไป แต่หากเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 - 3 นั้น คงจะใช้ไม่ได้ เพราะในช่วงนั้นยังไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือกำหนดตำแหน่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ เป็นแต่เพียงเข้าใจกันว่าทรงเป็นพระอัครมเหสี หรือพระมเหสี เท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้คำจำกัดความของ “พระมเหสีเทวี” ไว้ในธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามว่า “เมียหลวงของนายหลวง” มาถึงตรงนี้ก็อาจมีคนเข้าใจได้ว่าเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น คือ “พระอัครมเหสี” แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะรัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงอธิบายถึงความหมายของเมียหลวงไว้ด้วย

“...ตามลัทธิฝ่ายเรา พวกมีเมียมากที่ถือลูกเมียหลวงเมียน้อย ถือว่าเจ้านายองค์ใดมีพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าฟ้าก็ถือว่า เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง...”

ซึ่งจากคำอธิบายนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า “พระมเหสีเทวี” นั้น คือ พระภรรยาเจ้าของพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชโอรสธิดาเป็น “ เจ้าฟ้า” (เมียหลวง)แต่หากพระภรรยาเจ้าองค์ใดมีพระราชโอรสธิดาเป็น “พระองค์เจ้า” (เมียน้อย)แล้ว ก็ไม่ถือว่าทรงเป็นพระมเหสีเทวี ซึ่งพระภรรยาเจ้าที่จะทรงมีพระราชโอรสธิดาเป็น "เจ้าฟ้า" ได้นั้น ต้องดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้าที่ยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าเท่านั้น  สำหรับหม่อมเจ้านั้นแม้จะทรงเป็นพระภรรยาเจ้า  แต่หากมีพระราชโอรสธิดาก็จะอยู่ในชั้น  "พระองค์เจ้า"  จึงไม่นับว่าทรงเป็นพระมเหสีเทวี

แล้วจะมาเล่าต่อนะครับผม
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ก.ค. 05, 16:25


มาเล่าต่อครับผม

ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างพระมเหสีเทวี  และพระภรรยาเจ้า  เช่น

สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ทรงเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่  4  พระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระนางมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  อาทิ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  ฯลฯ

ในขณะที่หม่อมเจ้าหญิงพรรณาราย  พระขนิษฐาของสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยฯ  ทรงมีฐานะเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่  4  เพราะพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากท่านนั้นเป็น  "พระองค์เจ้า"  อาทิ  พระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าจิตรเจริญ

ซึ่งที่ผมบอกว่า  พระมเหสีเทวี  คือ  เมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน  และเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินต้องมีลูกเป็น  "เจ้าฟ้า"  นั้น  อาจจะมีคนสงสัยและแปลกใจว่า  ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องทรงมีเมียหลวงหลายคนน่ะสิ  ไม่น่าเป็นไปได้  แต่จริงๆ  แล้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆครับ  ดังที่รัชกาลที่  5  ทรงอธิบายว่า  

"...เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง  ขุนนางก็เหมือนกันมีเมียหลวงกี่คน  ลูกก็เป็นลูกเมียหลวง  เมียก็เป็นเมียหลวง  จะมีกี่คนๆ  ก็ได้ไม่กำหนด..."

สำหรับตำแหน่งพระอัครมเหสี  ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งสำหรับเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น  ก็คงจะไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว  เพราะพระมเหสีเทวีทุกองค์ก็อยู่ในฐานะ  "เมียหลวง"  จะต่างกันก็ตรงที่ว่า  "พระอัครมเหสี"  ทรงเป็นใหญ่กว่ามเหสีทั้งปวง  หรือจะเรียกว่าเป็น  "เมียเอก"   ก็คงจะไม่ผิดครับ

(ภาพพระสัมพันธวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าพรรณาราย)
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ส.ค. 05, 17:45

 ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ  นับตั้งแต่สุโขทัยจนถึงสมัยรัชกาลที่  3  ไม่เคยปรากฎว่ามีการแต่งตั้ง  สถาปนา  หรืออภิเษกพระมเหสีเทวีแต่อย่างใด  ไม่มีการกำหนดพระฐานันดรศักดิ์  หรือพระอิสริยยศให้กับตำแหน่งพระมเหสีเทวี  เป็นแต่เพียงเข้าใจกันว่าพระองค์ใดเป็นพระมเหสี  ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  เขียนไว้ว่า

"...แต่พระมเหสีนั้นจะเป็นขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้  เป็นแต่จะเรียกเมื่อไหร่ก็เรียกไม่เห็นมีการตั้งแต่งจนสักครั้งเดียว..."

"...แต่บางทีคนคนเดียวนั้นลางทีก็เรียกว่าพระมเหสี  ลางทีเรียกว่าพระอัครชายา  ลางทีเรียกว่าพระราชเทวี  ไม่รู้ว่าอย่างไรจะเป็นยศสูงกว่ากัน  อย่างไรจะเป็นยศแน่เพราะไม่ได้จาฤกสุพรรณบัฏ  ตั้งพระอัครมเหสีสักครั้งหนึ่ง..."

พระมเหสีเทวีนั้นไม่ว่าเดิมจะทรงเป็นเจ้าฟ้า  พระองค์เจ้า  หรือสามัญชนยกขึ้นเป็นเจ้า  เมื่อเป็นพระมเหสีแล้วก็ยังคงเรียกอยู่เช่นนั้น  เช่น  เจ้าฟ้าสังวาลย์  พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เดิมทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  เมื่อเป็น"  พระมเหสี"  แล้วก็ยังคงรียกว่า  "เจ้าฟ้า"  อยู่

แต่ในช่วงปลายสมัยอยุธยามีการสถาปนาพระมเหสีให้ทรงกรม  เป็นที่  "กรมหลวง"  ต่อมาจึงมีผู้เข้าใจว่า  "กรมหลวง"  นี้  เป็นยศสำหรับพระมเหสี  เช่น

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา  ทรงได้พระขนิษฐา  และพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี  ได้แก่  กรมหลวงโยธาทิพ  เป็นเมหสีฝ่ายขวา  และกรมหลวงโยธาเทพ  เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย  แต่ทั้ง  2  พระองค์นี้  เป็น  "กรมหลวง"  มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  เมื่อมาเป็นพระมเหสีสมเด็จพระเพทราชาก็ยังทรงเป็น  "กรมหลวง"  อยู่

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อทรงชิงราชสมบัติมาได้แล้ว  ทรงสถาปนาหม่อมห้ามเดิมของท่าน  2  คน  ขึ้นเป็นพระมเหสี  และทรงกรมเป็นที่  "กรมหลวง"   ได้แก่  กรมหลวงอภัยนุชิต  เป็นพระอัครมเหสี  กรมหลวงพิพิธมนตรี  เป็นพระราชมเหสี  แม้กระทั่งในสมัยธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ก็ทรงสถาปนา  "ภรรยาเอก"  เดิม  ขึ้นเป็น  "กรมหลวงบาทบริจาริกา"  ที่ตำแหน่งพระอัครมเหสี
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ส.ค. 05, 12:01

 อย่างไรก็ตามแม้ในสมัยอยุธยาจะไม่มีการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ  แต่ในกฎมณเฑียรบาลก็ได้มีการกล่าวถึงตำแหน่งของพระมเหสีเทวีไว้โดยแบ่งเป็นลำดับชั้นดังนี้

พระอัครมเหสี
แม่อยั่วเมือง
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

(สำหรับตำแหน่งแม่หยั่วเมือง  มีผู้ถูกตีความออกเป็น  2  ความหมาย  คือ  ตำแหน่งพระสนมเอก  และตำแหน่งพระอัครชายา  ซึ่งผมสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระอัครชายามากกว่า  เพราะตำแหน่งพระสนมเอกนั้น  มียศปรากฎอยู่แล้ว  เช่น  ท้าวศรีสุดาจันทร์  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เป็นต้น)

ในระยะแรกของสมัยอยุธยาตำแหน่งพระมเหสีเทวีของพระเจ้าแผ่นดินก็คงปรากฎให้เห็น  และเรียกตามกฎมณเฑียรบาล  แต่อยู่มาพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ใคร่จะมีพระอัครมเหสี  ที่จะยกย่องเหลือเกินกว่ากัน(ธรรมเนียมราชตระกูลฯ  :  รัชกาลที่  5)  ลำดับชั้นของตำแหน่งพระมเหสีเทวีจึงเปลี่ยนแปลงไปดังนี้  

พระมเหสี  (ถ้ามีพระมเหสีหลายองค์  พระองค์ใดเป็นใหญ่กว่าบางทีก็จะเรียกว่า  "พระเสาวนีย์"  หมายถึง  พระอัครมเหสี)
พระอัครชายา
แม่อยั่วเมือง  (บางรัชกาลก็มียศสูงกว่าพระอัครชายา)
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

(มาถึงตรงนี้ผมสันนิษฐานว่าตำแหน่งแม่อยั่วเมือง  ตามพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่  5  น่าจะเป็นคนละตำแหน่งกับพระอัครชายา  และมียศต่ำกว่า  อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่ตำแหน่งนี้จะหมายถึงพระสนมเอกนั้นยังไม่ปรากฎ

ตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในช่วงปลายสมัยอยุธยา  พอจะสรุปได้ดังนี้ครับ

พระอัครมเหสีใหญ่  (พระมเหสีกลาง)
พระราชมเหสีฝ่ายขวา  (บางรัชกาลก็ถือว่าตำแหน่งนี้เป็นพระมเหสีใหญ่)
พระราชมเหสีฝ่ายซ้าย
  3  ตำแหน่งข้างบนนี้  เรียกรวมๆ  ว่าเป็นชั้น  "พระมเหสี"
พระราชเทวี
พระอัครชายา
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

สำหรับในปลายสมัยนี้  แม้พระมเหสีเทวีบางพระองค์  จะได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น  "กรมหลวง"  ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแน่นอน  ตามแต่พระราชวินิจฉัยของแต่ละรัชกาล  และ  "กรมหลวง"  นี้ก็ไม่ได้เป็นพระยศเฉพาะสำหรับ  "พระมเหสีเทวี"  เท่านั้น  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  ลูกเธอ  ก็เป็นได้  เพียงแต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า  "กรมหลวง"  ในสมัยอยุธยานี้  มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ได้

ผมขอจบเรื่องเกี่ยวกับพระมเหสีเทวีในสมัยอยุธยาไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ  ที่ผมนำมากล่าวถึงนี้ก็เพื่อที่จะให้ทุกๆ ท่านมองเห็นภาพของวิวัฒนาการของตำแหน่งพระมเหสีเทวีได้อย่างเข้าใจ  อีกอย่างธรรมเนียมราชประเพณีในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยา  จึงได้ปูพื้นให้เข้าใจก่อนครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ส.ค. 05, 12:06

 ขอบคุณ คุณหยดน้ำมากครับ
กำลังจะเข้ามาโพสถามว่า ไม่โพสต่อแล้วเหรอครับ พอดีเจอที่คุณโพส เลยได้อ่าน ขอบคุณมากๆครับ มาเล่าบ่อยๆนะครับ


ปล. ถ้าขอรายชื่อหนังสืออ้างอิงได้ก็ดีครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ส.ค. 05, 13:41

 ขอบคุณคุณหยดน้ำเช่นเดียวกันค่ะ
หวังว่าคงมีเรื่องอื่นๆ
มาโพสต์ให้ความรู้แก่เรือนไทยอีก  
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 ส.ค. 05, 08:18

 ขอบคุณคุณติบอ  กับคุณเทาชมพู  มากครับ  ที่ติดตามอ่าน  เป็นกำลังใจให้ผมมากเลยครับ

หลังจากที่ผมได้ย้อนให้เห็นพัฒนาการของตำแหน่งพระมเหสีเทวีในสมัยอยุธยาและธนบุรีมากันบ้างแล้ว  ทีนี้ผมก็จะกลับมากล่าวถึงตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในสมัยรัตนโกสินทร์  ตามหัวข้อของกระทู้ที่ผมตั้งไว้ครับ

สำหรับตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในสมัยรัตนโกสินทร์  นี้  ผมขอแบ่งออกเป็น  3  ระยะด้วยกัน
ระยะแรก  (รัชกาลที่  1 - 3)  เป็นระยะที่ยังยึดถือธรรมเนียมตามอย่างในสมัยอยุธยา

ระยะที่  2  (รัชกาลที่  4 - ต้นรัชกาลที่  6)  เป็นระยะที่มีการสถาปนาพระอิสริยยศ  และคำนำหน้าพระนามพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ

ระยะที่  3  (ปลายรัชกาลที่  6 - รัชกาลปัจจุบัน)  เป็นระยะภายหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาล  ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  พุทธศักราช  2467

เดี๋ยวมาเล่าต่อนะครับ  +_+
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ส.ค. 05, 13:00

 ระยะแรก (รัชกาลที่ 1 - 3) เป็นระยะที่ยังยึดถือธรรมเนียมตามอย่างในสมัยอยุธยา

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในรัชกาลนี้แม้จะเป็นยุคเริ่มแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งตามธรรมเนียมนั้น พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปราบดาภิเษกขึ้นมา  นอกจากจะทรงประกาศตั้งพระบรมวงศานุวงศ์  และปูนบำเหน็จความชอบแก่ขุนนางข้าราชการแล้ว  ในส่วนของราชสำนักฝ่ายใน  หากทรงมีพระภรรยามาแต่เดิมก็จะต้องมีการเลื่อนฐานะกันไปตามศักดิ์ของแต่ละท่าน  ภรรยาน้อยที่ไม่มีบุตรธิดาก็มักจะได้เป็นเจ้าจอมพระสนม  แต่หากมีบุตรธิดามาก่อนเสวยราชย์ก็จะได้เป็น  "เจ้าจอมมารดา"  พระสนมเอก  ส่วนพระภรรยาที่ทรงยกย่องให้เป็นเอกนั้น  ก็มักจะสถาปนาขึ้นเป็น  "เจ้า"  ในตำแหน่งพระอัครมเหสี  ตลอดจนภรรยาหลวงท่านอื่นก็อาจได้รับการสถาปนาให้ขึ้นเป็น  "เจ้า"  ในตำแหน่งพระมเหสีเทวีรองๆ  ลงไปเช่นกัน

แต่ในรัชกาลนี้ไม่ปรากฎว่าได้ทรงสถาปนา  "ท่านผู้หญิงนาค"  ภรรยาเอกแต่เดิมขึ้นเป็น  "เจ้า"  หรือเป็นพระมเหสีเทวีในตำแหน่งใดๆ  ทั้งนี้จะเป็นด้วยเหตุใดนั้นไม่ปรากฎแน่ชัด  แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพราะทรงมีความขัดแย้งกันมาเรื่อง  "คุณแว่น"  ภรรยาน้อย  มาตั้งแต่รัชกาลที่  1  ยังไม่เสวยราชย์  จึงเป็นเหตุให้ทรงหมางพระทัยกันมาโดยตลอด  อย่างไรก็ตามแม้  "ท่านผู้หญิงนาค"  จะไม่ได้ทรงเป็น  "เจ้า"  แต่รัชกาลที่  1  ก็ยังทรงยกย่องให้ท่านเป็น  "เอก"  แต่เพียงผู้เดียว  ไม่ได้ทรงยกย่องข้างในท่านใดให้สูงศักดิ์กว่า  คุณแว่นซึ่งเป็นคนโปรดมาตั้งปลายสมัยธนุบรี  เมื่อได้เสวยราชย์แล้วก็มียศเป็นเพียง  "เจ้าจอมแว่น"  พระสนมเอกเท่านั้น  เพราะอย่างไรท่านผู้หญิงก็เป็นเมียคู่ทุกข์คู่ยากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

สำหรับประเด็นในความเป็น  "เจ้า"  ของท่านผู้หญิงนาคนี้  หลายคนอาจจะเข้าใจ  หรือแม้แต่ในหนังสือหลายเล่มก็เขียนว่าทรงได้รับการสถาปนาให้เป็น  "เจ้า"  มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  1  ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก  เพราะท่านผู้หญิงนั้นได้รับการสถาปนาให้เป็น  "เจ้า"  อย่างเป็นทางการถูกต้องตามนิตินัย  ก็เมื่อรัชกาลที่  2  พระราชโอรส  ทรงสถาปนาขึ้นเป็น  "กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์"  ที่ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้ทรงเป็น  "เจ้า"  อย่างเป็นทางการตามหลักนิตินัย  แต่ในทางพฤตินัยนั้นคนทั้งปวงต่างก็เข้าใจว่าทรงเป็น  "พระมเหสีเทวี"  และทรงเป็น  "เจ้า"  จึงได้ใช้คำราชาศัพท์ในการกราบทูลกับท่าน  ซึ่งรัชกาลที่  1 เองแม้จะไม่ได้ทรงพระราชทานพระเกียรติยศนี้อย่างเป็นทางการ  แต่ก็ทรงยอมรับและไม่ได้ทรงขัดเคืองในการที่คนทั่วไปถวายพระเกียรติยศพระมเหสีองค์เดียวของพระองค์ว่าเป็น  "เจ้า"

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  สมเด็จพระอมรินทรามาตย์เป็นท่านผู้หญิงเดิม  มีพระราชโอรส  พระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมไหญ่  ถึง  ๔  พระองค์  ก็ไม่เห็นท่านยกย่องตั้งแต่งอย่างไร  แต่คนทั้งปวงเข้าใจว่าท่านเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้า  ก็นับถือท่านว่าเป็นพระมเหสี..." (ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  :  รัชกาลที่  5)

หมายเหตุ
1.  หนังสือบางเล่มจะสะกดพระนามเดิม ของกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ว่า  "นาก"  แต่ในที่นี้ผมขอใช้คำว่า  "นาค"  ตามหนังสือพระมเหสีเทวี  ของลาวัณย์  โชตามระ

2.  หนังสือส่วนใหญ่มักจะเรียกสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ว่า  "คุณหญิงนาค"  แต่ผมเห็นว่าในสมัยปลายกรุงธนบุรี  รัชกาลที่  1  ทรงมีบรรดาศักด์เป็นถึง  "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก"  ภรรยาเอกย่อมมีศักดิ์เป็น  "ท่านผู้หญิง"  มากกว่า  "คุณหญิง"  อีกประการหนึ่งรัชกาลที่  5  ก็ทรงใช้คำว่า  "ท่านผู้หญิง"
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ส.ค. 05, 22:36

 สรุปตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

1.  ในรัชกาลนี้ทรงมีพระมเหสีเทวีเพียงพระองค์เดียว  คือ  ท่านผู้หญิงนาค  ในรัชกาลที่  2  ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

2.  ท่านผู้หญิงนาค  ทรงเป็นพระภรรยาเจ้า  และพระมเหสีเทวีในทางพฤตินัย

3.  ท่านผู้หญิงนาค  จะทรงเป็นพระอัครมเหสีหรือไม่ไม่ปรากฏแน่ชัด  แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระองค์เท่านั้นที่เป็น  “เจ้าฟ้า”  ดังนั้นพระองค์จึงอยู่ในศักดิ์ของ  “พระมเหสี”  ตามธรรมเนียม  และอาจเป็นเพราะทรงเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว  ทั้งยังเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าฉิม  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  (รัชกาลที่  2)  จึงอาจทำให้คนในสมัยนั้นอนุมานว่าทรงอยู่ในฐานะของ  “พระอัครมเหสี”  จึงได้ออกพระนามพระองค์ว่า  “สมเด็จพระพรรษาฟากขะโน้น”  
อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนในสมัยต่อมาเข้าใจว่าทรงเป็นพระอัครมเหสี  เพราะในสมัยรัชกาลที่  6  โปรดเกล้าให้ออกพระนามใหม่ว่า  “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

4.  “สมเด็จพระพรรษา”  เป็นคำถวายพระพรที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดิน  พระราชชนนี  หรือพระมเหสี   เช่นเดียวกับคำว่าพระพันปี  พระพันวสา  พระพันวัสสา  และเหตุที่เรียกพระองค์ท่านว่า  “สมเด็จพระพรรษาฟากขะโน้น”  ก็เพราะทรงประทับอยู่  ณ  พระราชวังเดิม  ฝั่งธนบุรี  โดยไม่ได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเช่นข้างในท่านอื่นๆ

หมายเหตุ
ในปลายสมัยรัชกาลที่  1  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าจันทบุรี  พระราชธิดาอันประสูติจากเจ้าจอมมารดา  เจ้านางคำสุก  พระธิดาพระเจ้ากรุงเวียงจันทร์  ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  “...จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า  พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้  เจ้าจอมมารดาเป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต  สิ้นชีพเสียตั้งแต่ปีกุนเบญจศก  แต่พระองค์เจ้าได้  ๕  พรรษา  ไม่มีมารดา  ทรงพระกรุณามาก  พระองค์เจ้านี้อัยยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่  ควรสถาปนาให้มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า...”  จึงนับว่าเป็น  “เจ้าฟ้า”  อีกพระองค์หนึ่งนอกเหนือไปจาก  “เจ้าฟ้า”  ที่ประสูติจากท่านผู้หญิงนาค
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ส.ค. 05, 09:49

 ขอคุณหยดน้ำเข้ามาเสริมเรื่องสมเด็จพระอมรินทรฯ สักนิดค่ะ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้" ว่า สมเด็จฯ ท่านไม่เคยใช้ราชาศัพท์
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ครองราชย์แล้ว  สมเด็จฯ ก็ยังเอ่ยถึงว่า "เจ้าคุณ" เหมือนเมื่อครั้งท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี
เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดา ก็ยังเป็น พ่อฉิม แม่เอี้ยง พ่อจุ้ย สำหรับท่าน  เหมือนเดิม
ท่านเสด็จเจ้าวังหลวงมาเยี่ยมพระราชธิดา แล้วกลับไปก่อนย่ำค่ำประตูวังปิด ทุกครั้ง
เรียกว่าท่านมี dignity หรือศักดิ์ศรีของท่านเอง เต็มเปี่ยม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และสมเด็จฯ ต่างก็ทรงเคารพในพระเกียรติของกันและกัน
ต่างองค์ก็ต่างอยู่ ไม่ได้เสด็จไปมาหาสู่กัน จวบจนสวรรคต

ส่วนคำว่า ท่านผู้หญิง และคุณหญิง  ดิฉันมาเห็นการใช้คุณหญิงในฐานะภรรยาเอกของพระยา อย่างชัดเจนสมัยรัชกาลที่ 5
ก่อนหน้านี้   ไม่ทราบว่าเขาใช้กันเคร่งครัดมากน้อยเพียงใด
แต่ในวรรณคดีหลายๆเรื่องอย่างขุนช้างขุนแผน และนิราศของสุนทรภู่
ผู้หญิงที่เป็นเอกภรรยาของขุนนางข้าราชการ เรียกว่า "ท่านผู้หญิง"
แม้ว่าขุนนางนั้นไม่ใช่พระยา

นางวันทอง กวีเรียกว่า ท่านผู้หญิงวันทอง  เพราะขุนช้างเป็นมหาดเล็ก ก็เป็นข้าราชการสังกัดวัง
ในนิราศของสุนทรภู่ เรียกภรรยาขุนแพ่ง ว่า ท่านผู้หญิง
ขุนแพ่งนี่ก็ไม่ใช่ขุนนางใหญ่โตอะไร  เป็นสมัยนี้ก็ข้าราชการระดับซี 4 อย่างมาก

ถ้าหากว่าผิดพลาดตรงไหน เชิญผู้รู้แก้ไขให้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ส.ค. 05, 13:40


มาเล่าต่อในรัชสมัยที่  2  ครับ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในรัชกาลที่  2  นี้  ทรงมีพระมเหสีเทวี  2  พระองค์ด้วยกัน  พระองค์แรกคือสมเด็พระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสี  และพระองค์ที่  2  คือ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี  พระมเหสีรอง

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสี

เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ทรงเป็นพระอัครชายาเดิมในรัชกาลที่  2  มาตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะเสวยราชสมบัติ  ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้าฯกรมศรีสุดารักษ์  มีศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  1  ในที่นี้ผมจะขออนุญาตไม่กล่าวถึงเรื่องราวขัตติยราชบริพัทธ์ของทั้ง   2  พระองค์  แต่จะกล่าวเพียงลำดับฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดให้เห็นเท่านั้น

หลายคนอาจจะทราบดีว่าเมื่อรัชกาลที่  1  ทรงทราบว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ซึ่งเวลานั้นพระมารดาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ทรงพระครรภ์กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร  โดยทรงลักลอบมีความสัมพันธ์กันในพระบรมมหาราชวังนั้น  ทรงพระพิโรธมาก  แม้เจ้าจอมแว่นซึ่งเป็นคนโปรดจะเป็นผู้ทูลช่วยเหลือให้ก็ตามก็ยังทรงนิ่งเฉยอยู่  จนในที่สุดเจ้าจอมแว่นได้เข้าไปกราบทูลว่าพระราชกุมารที่จะประสูติออกมาจะเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่  เมื่อทรงตอบว่าเป็นเจ้าฟ้า  ก็พลอยทำให้ทุกฝ่ายต่างโล่งใจไปตามๆ  กัน  เพราะเท่ากับว่ารัชกาลที่  1  ได้ทรงยอมรับว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงมีฐานะ  "พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร"  แต่อย่างไรก็ตามเวลานั้นรัชกาลที่  2  ก็มีหม่อมห้ามที่มีพระโอรสธิดาด้วยอยู่หลายท่านด้วยกัน  ท่านผู้ใหญ่ดำริกันถึงข้อนี้  รัชกาลที่  2  จึงได้ทรงปฎิญาณไว้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจะเป็น  "เมียเอก"  ของพระองค์  และลูกที่เกิดจากพระนางนั้นก็ต้องเป็นใหญ่กว่าลูกของเมียคนใดๆ

ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร  ได้ทรงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น  "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าฯ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล"  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงทรงเปลี่ยนฐานะจาก  "พระชายา"  มาเป็น  "พระอัครชายาในสมเด็จพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า"  ในขณะที่หม่อมห้ามคนอื่นๆ  ก็เลื่อนฐานะมาเป็นเจ้าจอม  สำหรับพระโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดนั้นดำรงพระยศเป็น  "สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้า"  เพราะพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า   ในขณะที่พระโอรสธิดาที่ประสูติจากท่านอื่นๆ  มีพระยศเป็นหม่อมเจ้า

และเมื่อรัชกาลที่  2  เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงทรงอยู่ในฐานะพระภรรยาเจ้า  และพระมเหสีเทวี  แต่อย่างไรก็ตามรัชกาลที่  2  ได้ทรงยึดธรรมเนียมอย่างในรัชกาลที่  1  คือไม่ทรงสถาปนาพระอิสริยยศหรือพระอิสริยยศักดิ์ของพระมเหสีอย่างเป็นทางการ  แม้แต่การเลื่อนกรมอย่างในปลายสมัยอยุธยาก็ไม่มี  ก็เป็นแต่เข้าใจกันว่าทรงเป็น  "พระมเหสีเอก"  แม้ในภายหลังจะทรงมีพระมเหสีอีก  1  พระองค์ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงแต่ก็หาได้มีศักดิ์และสิทธิ์ใดสูงไปกว่า"สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด"  แต่อย่างใด

(พระบรมฉายาลักษณ์  :  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
บันทึกการเข้า
หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า
มัจฉานุ
**
ตอบ: 78


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ส.ค. 05, 18:49

 สมัยก่อนหน้านี้นิดหน่อยเคยมีคนพูดเข้าหูว่า สมัยนี้ถึงแม้ผู้หญิงใดได้เครื่องราชฯจัตุตถจุลจอมเก้า แต่สามีไม่มีตำแหน่งราชการ ก็ใช้คำว่า คุณหญิง ไม่ได้ จริงรึเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 ส.ค. 05, 14:42

 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี  พระมเหสี

หากเราเปรียบเทียบ  "เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด"  เป็น  "จินตะหรา"  ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาแล้ว  "เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล"  ก็คงจะเปรียบได้กับ  "บุษบา"  ผู้เป็นวงศ์เทวัญอสัญแดหวา

หากเราพิจารณาถึงพระอิสริยยศของพระมเหสีในรัชกาลที่  2  ทั้ง  2  พระองค์แล้ว  จริงอยู่ที่ทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  เหมือนกัน  แต่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลนั้น  ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่  1  ในขณะที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเป็นพระราชนัดดา  ซึ่งตามหลักแล้วพระภรรยาเจ้าผู้ทรงเป็นลูกหลวงในรัชกาลก่อน  ย่อมทรงศักดิสูงกว่าพระภรรยาเจ้าผู้เป็นหลานหลวง  แต่เหตุที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงมีฐานะเป็นพระมเหสีรอง  ในขณะที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็น  "เอก"  นั้น  ก็เพราะว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระอัครชายามาตั้งแต่ก่อนที่รัชกาล  2  จะเสวยราชย์  ดังนั้นเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ก็ย่อมจะทรงมีพระอิสริยยศักดิ์สูงยิ่งกว่าพระมเหสีที่มาเป็นพระภรรยาเจ้าในภายหลัง

ก็เหมือนกับ  "บุษบา"  พระธิดาของท้าวดาหา  กษัตริย์วงศ์เทวัญ  แม้จะสูงศักดิ์กว่า "จินตะหรา"  ซึ่งเป็นพระธิดาเจ้าเมืองประเทศราช  แต่เมื่อมาเป็นชายาของอิเหนาแล้ว  ตนเป็นผู้มาทีหลังจึงต้องไหว้นางจินตะหรา  ซึ่งเป็นชายาเอก
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 09 ส.ค. 05, 16:02

 ความแตกต่างระหว่างพระฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  และเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า  ในเมื่อสมัยรัชกาลที่  2  นั้น  ไม่ได้ทรงสถาปนาพระภรรยาเจ้าพระองค์ใดให้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ  อีกทั้งในหนังสือบางเล่มยังทรงยกย่องให้เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงมีฐานะเท่าเทียมกับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดอีกต่างหาก  แล้วจะทราบแน่ชัดได้อย่างไรว่าองค์ใดเป็น  "เอก"  องค์ใดเป็น  "รอง"  ผมขอสรุปเป้นข้อๆ  ดังนี้ครับ

1.  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระภรรยาเจ้าโดยนิตินัย  แต่ทรงเป็นพระอัครมเหสีโดยพฤตินัย  คือ  เป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าทรงเป็นใหญ่กว่าพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ

2.  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงเป็นพระภรรยาเจ้าโดยนิตินัย  แต่ทรงเป็นพระมเหสีรองโดยพฤตินัย  คือ  เป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าทรงเป็นพระมเหสีรอง  เพราะต้องทรงคมเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  แต่ในหนังสือบางเล่มกล่าวว่ารัชกาลที่  2  โปรดให้มีตำแหน่งเป็น  "พระราชชายานารี"  เรื่องนี้ปรากฎในพงศาวดาร  แต่ยังไม่หลักฐานยืนยันแน่ชัด  เพราะในจดหมายเหตุในสมัยต่อมาไม่ได้กล่าวถึงพระนางในฐานะพระราชชายานารี

3  เจ้าฟ้าหญิงบุรอดทรงเป็นพระอัครชายาเดิมมาก่อนเสวยราชย์  ดังนั้นตามธรรมเนียมจึงต้องทรงเป็น  "เอก"  เหนือพระมเหสีเทวีทั้งปวง

4.  รัชกาลที่  2  เคยทรงปฏิญาณไว้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดและลูกจะทรงเป็นใหญ่กว่าเมียและลูกคนอื่นๆ

เดี๋ยวมาต่อครับ
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ส.ค. 05, 17:47

 หลังจากหายไปหลายวัน  มาต่อครับ

5  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  ตามธรรมเนียมแล้วชาววังต้องออกพระนามของพระราชโอรสที่ประสูติจากพระองค์ว่า  "ทูลกระหม่อม"  แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการออกพระนามเช่นนั้น  คงเรียกันแต่ว่า  องค์กลาง  องค์ปิ์ว  เป็นต้น

6  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง  ตามธรรมเนียมแล้วพระราชโอรสที่ประสูติจากพระองค์ต้องเป็น  "เจ้าฟ้าชั้นโท"  เรียกกันว่า  "สมเด็จ"  แต่ปรากฎว่าพระราชโอรสของพระองค์เป็น  "เจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม"  ทั้งสิ้น  ได้แก่  "ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่"  (รัชกาลที่  4)  และ  "ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย"  (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)  ซึ่งนี่ก็เป็นหลักฐานอันแน่ชัดที่ยืนยันได้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระอัครมเหสี   เพราะนอกจากพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงที่จะมีพระราชโอรสธิดาเป็น  "เจ้าฟ้าชั้นเอก"  แล้ว พระอัครมเหสีก็มีพระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอกเช่นเดียวกัน

7.  ภายหลังจากรัชกาลที่  2  สวรรคตแล้ว  เจ้าจอมมารดาเรียม  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย"  ในตำแหน่งสมเด็จพระพันปีหลวง  ส่วนเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเสด็จกลับไปประทับยังพระราชวังเดิม  ในฐานะ  "สมเด็จพระพันวสา"   ขณะที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล  ยังทรงมีฐานะเช่นเดิม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง