เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 21130 อาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


 เมื่อ 24 ก.ค. 05, 11:53

 เห็นสื่อมวลชนเขียนกันว่า “บ้านพิษณุโลก” มีอาถรรพณ์ ใครเข้าไปอยู่แล้วไม่เจริญ รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณเข้าไปใช้เป็นสำนักงานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังอยู่ไม่ได้ ถูกปฏิวัติ และเมื่อแรกเริ่มที่ดำริใช้เป็นบ้านพักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดเข้าไปอยู่อาศัยอย่างจริงจัง ตั้งแต่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นต้นมา คุณพายัพว่าจริงไหมครับ เห็นด้วยไหมครับ

ถ้าไม่จริง หรือไม่เห็นด้วย ที่มาของเสียงร่ำลือ (หรือความเชื่อ) ที่ว่า “อาถรรพณ์” นั้น...ประการใด ??

“บ้านพิษณุโลก” มาพูดกันมามี “อาถรรพณ์” ก็เมื่อยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณนี้เอง ที่มีคนนำไปโยงกับพฤติกรรมของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่มีความคิดใหม่ ๆ ออกมามากมาย ไม่เป็นที่ต้องหูต้องตาของข้าราชการประจำ จนกระทั่งถูกกล่าวว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งผมว่าไม่จริงทั้งหมด

ประกอบกับเรียกสั้น ๆ ว่า “บ้านพิษฯ” ฟังดูคล้าย ๆ “บ้านพิษ” เลยดูไม่เป็นมงคลกระมัง !

นอกจากเหตุผลนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอื่น

ยกเว้นบางความเชื่อที่สืบไปถึงต้นวงศ์ของท่านเจ้าของเดิม คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไกรสร” โน่นแหละครับ!

เรื่องนี้ต้องย้อนทวนความเป็นมาในอดีต....

บ้านพิษณุโลกนี้เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นคฤหาสน์คู่บุญกับตึกไทยคู่ฟ้า หรือ “ตึกไกรสร” หรือ “บ้านนรสิงห์” ที่ปัจจุบันเป็นทำเนียบรัฐบาล

เป็นสถาปัตยกรรมอิตาลี อายุกว่า 70 ปีแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างบ้านให้กับ 2 พี่น้องมหาดเล็กประจำพระองค์

เจ้าพระยารมราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) – บ้านนรสิงห์

เจ้าพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) – บ้านบรรทมสินธุ์

ต่อมาทั้ง 2 ท่านทูลเกล้าถวายให้กับรัชกาลที่ 7 เพราะจ่ายค่าบำรุงรักษาไม่ไหว แต่ทรงปฏิเสธ กระทั่งท้ายที่สุดรัฐบาลไทยสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามได้ตัดสินใจซื้อไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ญี่ปุ่นมาขอซื้อเพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ที่จะขายให้ญี่ปุ่นไม่ได้ก็เพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เนื่องเพราะในยุคนั้นคฤหาสน์ทั้งสองอยู่ติดกับกองพันทหารราบที่ 3

หลังจากนั้นรัฐบาลก็ใช้บ้านนรสิงห์เป็นทำเนียบรัฐบาล

ส่วนบ้านบรรทมสินธุ์ตั้งใจให้เป็นเสมือนสถานที่รับรองแขกเมือง แต่ก็ไม่ค่อยใช้กันมากนัก เลยมีลักษณะเหมือนบ้านร้าง และทรุดโทรมลงไปมาก

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2522 มีแนวคิดให้ปรับปรุงซ่อมแซมเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ก็พ้นจากตำแหน่งไปก่อน งานปรับปรุงจึงมาเสร็จในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เคยเข้าไปพักอยู่เพียง 2 คืน จากนั้นก็ต้องกลับไปนอนที่บ้านสี่เสาเทเวศร์เหมือนเดิม

ก็เลยเริ่มร่ำลือกันต่าง ๆ นานา

เรื่องอาถรรพณ์ที่เล่าลือต่อ ๆ กันมา แต่ไม่รู้ว่ามีใครเคยเห็นจริงหรือไม่ ก็จะเป็นเรื่องของ “เจ้าที่” ที่ “แรง” มีเสียงแปลก ๆ ที่มาจากรูปปั้นต่าง ๆ ภายในบริเวณบ้าน เช่น ม้า รูปปั้นโรมัน รวมไปถึงงูยักษ์ที่ออกมาเลื้อยให้เห็น

ซึ่งก็ออกจะเป็นธรรมดาของบ้านเก่าในยุคเดียวกัน เช่น ที่ “บ้านพระอาทิตย์” นี่ก็มี

ส่วนต้นวงศ์ของท่านเจ้าของเดิม (ม.ล.เฟื้อ – ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) คือ พระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไกรสร” นั้นท่านทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 จำนวน 1 ใน 4 พระองค์ที่ดำรงพระชนมชีพอยู่ในขณะที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต คือ

พระเจ้าน้อยยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าอภัยทัต) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร)

ทั้ง 4 พระองค์มีพระนามผูกอยู่ในคำกลอนบาทแรก ที่ว่ากันว่าเป็นกลอน “พระนามลูกรัก” ในรัชกาลที่ 1 คล้องจองกันดังนี้

อรุโณทัย อภัยทัต ฉัตร ไกรสร

สุริยวงศ์ สุริยา ดารากร

ศศิธร คันธรส วาสุกรี

สุทัศน์ อุบล มณฑา

ดวงสุดา ดวงจักร มณีศรี

ธิดา กุณฑล ฉิมพลี

กระษัตรี จงกล สุภาธร

พระองค์เจ้าไกรสรประสูติเมื่อปี 2334 ทรงร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับพระองค์เจ้าอภัยทัต คือเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว

ได้ทรงกรมในรัชกาลที่ 2 เป็น กรมหมื่นรักษ์รณเรศ พระชันษา 25

พระองค์ทรงถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถอดถอนพระยศจาก “พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไกรสรกรมหลวงรักษ์รณเรศ” ลงเป็นเพียงที่ “หม่อมไกรสร” และโปรดฯให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกลัวว่าจะเป็นภัยต่อราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ด้วยเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าไม่ทรงตั้งวังหน้าพระองค์ใหม่ เพราะทรงตั้งพระทัยจะมอบราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงผนวชอยู่ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว

ในการนี้ทรงตั้งกรมเจ้านายหลายพระองค์ หนึ่งในนั้นก็มีกรมหลวงรักษ์รณเรศอยู่ด้วยพระองค์หนึ่ง

ว่ากันว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงผิดหวัง และทรงมีพฤติกรรมในทำนองซ่องสุมผู้คนไว้

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าให้ชำระคดีความ

กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงให้การในทำนองว่า...

"ไม่ได้คิดร้ายต่อราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่จะไม่ขอเป็นข้าแผ่นของผู้ใดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินใหม่"

นั่นถูกแปลความหมายว่า ทรงหมายถึงว่าเมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ก็จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ลงโทษดังกล่าว

ราชสกุล “พึ่งบุญ ณ อยุธยา” เข้ารับราชกาลในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ มากมายที่ได้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เช่น พระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนม (แม่นม) ในพระองค์, เจ้าพระยาราราฆพ และพระยาอนิรุทธ์เทวา เป็นต้น

นี่ก็อาจจะเป็นที่มาที่ร่ำลือกันว่า “เจ้าที่” ที่บ้านพิษณุโลกนั้น “แรง” ก็เป็นได้

เรื่องก็มีอยู่เท่านี้แหละครับ  
บันทึกการเข้า
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ก.ค. 05, 11:56

 บ้าน ที่เคยมีคนอยู่มาหลายรุ่น อาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะเข้ามาอยู่ใหม่ เพราะทางเข้า ทางออก จะมีซ่อนไว้ตรงไหนบ้างก็ไม่น่าไว้ใจ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่มีใครต้องการอยู่
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ก.ค. 05, 12:32

 ว่ากันว่าบ้านทั้ง 3 หลัง (ไม่ได้อยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติไหนนะครับ) คือ บ้านมนังคศิลา บ้านนรสิงห์ และบ้านพิษณุโลก เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงใช้แปรพระราชฐานเป็นการส่วนพระองค์เงียบๆนอกวังหลวง

ถ้าใครจะไปอยู่ในพระตำหนัก ไปนอนทับพระแท่นบรรทม ผมว่าผมก็คงไม่เห็นด้วยคนนึงล่ะ

เว้นแต่ว่าจะใช้เป็นส่วนราชการ เหมือนพระตำหนักที่จันทบุรีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หรือ ทำเนียบรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องนึง


ขอออกความเห็นเท่านี้นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ก.ย. 23, 10:10

ล่าสุด บ้านพิษณุโลกกลับมาเป็นข่าวอีกแล้ว   เมื่อเรามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

เดิมบ้านหลังนี้ถูกกำหนดให้เป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีในปี 2522 ยุคพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

นับตั้งแต่นั้นมา บ้านพิษณุโลกก็กลายเป็นบ้านพักหลังอาถรรพ์  มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีหลายคนที่เคยเข้าพักบ้านหลังนี้ต่างก็ประสบกับเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมาย เช่น ได้ยินเสียงคนเดินหรือเสียงเปิด-ปิดประตูยามวิกาล เห็นเงาคนเดินผ่านหน้าต่าง เห็นหญิงสาวแต่งชุดไทยโบราณปรากฏตัวให้เห็น เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีที่ประสบกับเหตุการณ์อาถรรพ์มากที่สุดคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เล่ากันว่า พลเอกเปรมได้เข้าพักบ้านพิษณุโลกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็ย้ายออกไปพักที่อื่น เพราะทนกับเหตุการณ์อาถรรพ์ไม่ไหว เหตุการณ์อาถรรพ์ที่ พลเอกเปรม ประสบคือ ได้ยินเสียงคนเดินหรือเสียงเปิด-ปิดประตูยามวิกาล เห็นเงาคนเดินผ่านหน้าต่าง

ในยุคของนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ มีเรื่องเล่าเช่นกัน เช่น ยุคของนายชวน หลีกภัย เล่ากันว่า เคยได้ยินเสียงม้าร้องยามดึก ส่วนยุคของนายทักษิณ ชินวัตร เล่ากันว่า เคยเห็นหญิงสาวแต่งชุดไทยโบราณปรากฏตัวให้เห็นยามดึก
ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบ10ปี  ก็ไม่เคยเข้าไปพำนักในบ้านพิษณุโลก

ปัจจุบัน บ้านพิษณุโลก ใช้เป็นที่ประชุมทีมทำงานของนายกรัฐมนตรีหลายคนมาแล้ว เช่นในยุคของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่ประชุมทีมเศรษฐกิจ จนทำให้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าประสบความสำเร็จมาแล้ว

ในตอนแรก มีข่าวว่านายเศรษฐาอาจจะพำนักเพื่อตอบสนองนโยบายการทำงานที่จะไม่มีวันหยุด และไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อยตามที่ประกาศเอาไว้  การมาพักที่บ้านนี้เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางจากบ้านมาที่ทำเนียบรัฐบาล  เพราะบ้านนี้อยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงต่างๆที่รายล้อมตลอดแนวถนนราชดำเนิน  ถ้าไปร่วมกับประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภาก็ทำได้สะดวก

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566  นายเศรษฐาได้เข้าไปในบ้านพิษณุโลก เพื่อรวมประชุมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว  ได้นำพวงมาลัยมาสักการะพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ สิ่งศักดิ์ที่อยู่คู่กับบ้านพิษณุโลกมาเป็นเวลาช้านาน
 
ล่าสุด   นายกฯเศรษฐาแจ้งสื่อมวลชนว่า   จะไม่อาศัยบ้านพิษณุโลกเป็นที่พำนัก แต่ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกของรัฐบาลและจัดเลี้ยงในวาระสำคัญเท่านั้น

อ่านรายละเอียดได้ที่
https://mgronline.com/crime/detail/9660000082819
https://www.sanook.com/news/9014986/
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ต.ค. 23, 13:07

นายกฯ เข้าบ้านพิษณุโลก ใช้ "ประชุม-จัดเลี้ยง" | 11 ก.ย. 66

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ต.ค. 23, 13:35

บ้านพิษณุโลกในอดีต


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง