เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 15125 ๖๐ ปีเสรีไทย วีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ - จาก นิตยสารคดี
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
 เมื่อ 07 ก.ค. 05, 18:51

บังเอิญเห็นบทความเรื่อง ๖๐ ปีเสรีไทย วีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ ใน google ด้วยความบังเอิญ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เลยขอทยอยก็อปปี้มาใส่ไว้ในเรือนไทยครับ

************************************

บทนำ

"การที่จะอนุญาตหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่มีอำนาจแต่อย่างใด เพราะท่านก็ทราบดีแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อำนาจสั่งไม่ให้ต่อสู้นั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่ง ... ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศเป็นคำสั่งประจำไว้แล้วว่า ไม่ว่ากองทหารประเทศใด ถ้าเข้ามาแผ่นดินไทย ให้ต่อต้านอย่างเต็มที่ ฉะนั้นผู้ที่จะยกเลิกคำสั่งนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด"

นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวภายหลังเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ยื่นคำขาดขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อไปโจมตีพม่าและมลายู ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของอังกฤษ ในเวลา ๒๒.๓๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยขอให้รัฐบาลตอบภายใน ๔ ชั่วโมง

แต่ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังตรวจราชการอยู่ที่ชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สงครามกับมหามิตรที่กลายเป็นผู้รุกรานเพียงข้ามคืน ก็มิอาจเลี่ยงได้

ระหว่างรอยต่อของคืนวันที่ ๗ ถึง ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นเริ่มยุทธการสายฟ้าแลบ ด้วยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ล ฮาเบอร์ เกาะฮาวาย หลังจากนั้นจอมพล เคานท์ ฮิซะอิจิ เทราอูจิ แม่ทัพใหญ่ภาคใต้ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ได้สั่งการให้กองทัพญี่ปุ่นทุกหน่วยเคลื่อนเข้าประเทศไทยตามจุดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้

การเคลื่อนทัพผ่านไทยผ่านมาทางพระตะบอง ไม่ปรากฏการต่อต้านจากกองทัพไทย เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัฐบาลอาจจะทำความตกลงกับกองทัพญี่ปุ่นไว้แล้ว เนื่องจากจอมพล ป. เพิ่งเดินทางออกจากพระตะบองเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า

ขณะที่การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นที่สมุทรปราการ ต้องพบกับการเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรัดกุม ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำได้เพียงการคุมเชิงกัน

แต่การยกพลขึ้นบกที่ภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันทั้งจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีทั้งการตอบโต้การโจมตีทางอากาศ การต่อสู้ระยะใกล้ จนถึงการรบที่มีลักษณะประชิดและถึงขั้นเข้าตะลุมบอนกันของทั้งสองฝ่าย

ขณะที่คณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมตั้งแต่ ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ทำได้แต่เพียงส่งตัวแทนไปเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อยืดระยะเวลาเท่านั้น แต่ก็ไร้ผล

เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม เวลา ๐๖.๕๐ น. จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อได้รับฟังการประเมินศักยภาพทางการทหารแล้วว่ามิอาจต่อต้านญี่ปุ่นได้ ขณะเดียวกันความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรก็เป็นไปได้อย่างยากยิ่ง คำตอบที่ได้จากนายกรัฐมนตรีก็คือ

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน เพราะไทยไม่มีกำลัง ทางที่ดีที่สุดคือรักษาชีวิตของชาติและพลเมืองไว้ก่อน

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในเวลา ๐๗.๓๐ น. ให้ยุติการสู้รบ และได้มีการลงนามในยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้โดยมีเงื่อนไข คือ
๑. ญี่ปุ่นต้องไม่ปลดอาวุธฝ่ายไทย
๒. ญี่ปุ่นจะไม่พักอยู่ที่กรุงเทพฯ
๓. ให้มีข้อตกลงเฉพาะทางทหารเท่านั้น
๔. ข้อตกลงนี้เด็ดขาดจะไม่มีการขออะไรมากกว่านี้


รัฐบาลได้แถลงต่อประชาชนในเวลา ๑๒.๐๐ น. ว่า

"จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นและผ่อนผันให้ทางเดินแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รับคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น การต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง"

แต่ความเป็นจริงแล้วการสู้รบหาได้ยุติลงเมื่อรัฐบาลแถลง เพราะในเวลานั้นการสื่อสารยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับในเวลาสงครามข่าวสารที่ได้รับนั้นถ้ามีความไม่มั่นใจก็เป็นการยากที่จะยอมรับได้ ความเชื่อที่ว่ารัฐบาลจะสั่งยอมแพ้อย่างง่ายดายนั้น ไม่เคยมีอยู่ในความคิดของผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น

จุดสุดท้ายที่ยุติการสู้รบคือบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเวลา ๑๒.๐๐ น. ของวันที่ ๙ ธันวาคม

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ก็ถลำลึกมากขึ้น ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีการทำสัญญาพันธมิตรร่วมรบ อีก ๑๐ วันต่อมาก็ทำสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ ในสงครามมหาเอเชียบูรพากับญี่ปุ่น

สุดท้ายก็นำมาสู่การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งก็เท่ากับการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว

กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความไม่พอใจที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ก่อนหน้านั้นมีท่าทีแข็งกร้าวในอันที่จะต่อต้านผู้รุกราน คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่ไม่พอใจนโยบายของจอมพล ป. เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลุ่มคนไทยในต่างประเทศกรรมกร หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เคยสนับสนุนนโยบายชาตินิยม เมื่อคราวเรียกร้องดินแดนคืน แต่ละกลุ่มได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาล และการเข้ามารุกรานของญี่ปุ่น แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความ "ชอบธรรม" อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่ได้ตราไว้ก่อนหน้านั้น เช่น การกำหนดหน้าที่คนไทยในการรบ การจำกัดสิทธิคนไทยผู้กระทำการอันเป็นภัยต่อชาติ ฯลฯ โดยมีบทลงโทษมีตั้งแต่การจำคุก ไปจนถึงการประหารชีวิต อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่า ดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น


ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกราน จึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ แม้แต่คนใกล้ชิดก็ให้รับทราบไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องจำกัดวงของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละฝ่าย เป็นการรักษาความลับในกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดถูกจับกุม เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อขบวนการโดยรวม


จากจุดเริ่มต้นของแต่ละกลุ่ม ที่มีความหลากหลายทางความคิด หรือแม้กระทั่งเคยขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้น แต่เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต และจุดหมายเฉพาะหน้าคือการรักษาเอกราชอธิปไตยและขับไล่ผู้รุกราน ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานร่วมกันจนกลายเป็นขบวนการเสรีไทย

และเมื่อรำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ก็ขอให้เป็นอย่างที่ "นายฉันทนา" ได้เขียนไว้ในหนังสือ XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย ว่า

"ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคลซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ขอให้นึกถึงงานอันอมตะของเขา บุคคลอาจจะแตกต่างด้วยกำเนิด ด้วยฐานะและการศึกษา แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรม ที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน"

ธันวาคม ๒๕๔๔ ในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีการรุกรานของญี่ปุ่นและการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย สารคดี ขอย้อนอดีตกลับไปรำลึกวีรกรรมของบุคคลที่รวมกันเป็น ขบวนการเสรีไทย ทั้งในด้านความเป็นมา ภารกิจ และผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.ค. 05, 19:01



องค์การต่อต้านญี่ปุ่น



ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าความรู้สึกของคนไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เมื่อทราบข่าวการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น ผ่านข้อเขียน "การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย" ว่า



"ความรู้สึกของราษฎรส่วนมาก ที่ได้ประสบและเห็นภาพที่กองทัพญี่ปุ่นที่เป็นทหารต่างด้าว เข้ามารุกรานประเทศไทย และการที่ราษฎรหลั่งน้ำตานั้นมิใช่ด้วยความขลาดหรือกลัวตาย หากหลั่งเพราะ 'เจ็บใจ' และ 'แค้นใจ' ที่ว่า 'เจ็บใจ' นั้นเพราะถูกต่างชาติรุกราน ที่ว่า 'แค้นใจ' นั้นเพราะรัฐบาลไม่ทำตามที่ได้โฆษณา เรียกร้องทั้งทางหนังสือพิมพ์ และวิทยุกระจายเสียง ให้ราษฎรเสียสละและต่อสู้ผู้รุกราน ถ้าสู้ด้วยอาวุธไม่ได้ ก็ให้เผาอาคารบ้านเรือน ยุ้งฉาง ก่อนที่ศัตรูจะเข้ามารุก ให้เหลือแผ่นดินเท่านั้นที่ศัตรูจะยึดเอาไปได้ ดังที่รัฐบาลได้ตั้งคำขวัญว่า 'ให้ศัตรูยึดได้แต่ปฐพี' อีกทั้งโฆษกของรัฐบาลได้โฆษณาให้ใช้อาวุธทุกชนิดที่พลเมืองมีอยู่ เช่น ปืน, ดาบ, หอก, หลาว รวมทั้งสัตว์และพืชที่มีพิษ เช่น งู, ตะขาบ, แมลงป่อง, หมามุ่ย



แต่เมื่อคราวญี่ปุ่นรุกรานเข้ามาจริง ๆ ทหาร ตำรวจ และราษฎรที่ชายแดน ก็ได้พร้อมกันเสียสละชีวิตกันต่อสู้ แต่รัฐบาลก็ทำตามรัฐบาลญี่ปุ่น โดยไม่ทำตามที่ตนชักชวนเรียกร้องให้ราษฎรต่อสู้"




นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย



ในฐานะผู้ที่ยืนยันความเห็นในการรักษาความเป็นกลางของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด และเป็นผู้ที่พอจะมีบารมีทางการเมืองทัดเทียมกับจอมพล ป. ปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นเป้าหมายที่ผู้มีความต้องการก่อตั้งขบวนต่อต้านญี่ปุ่นยึดถือเป็นที่พึ่ง



"เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านพัก (ถนนสีลม ตอนค่ำ) แล้วพบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล. กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ... เพื่อนที่มาพบก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเอง และความรู้สึกของราษฎร เพื่อนที่ร่วมปรึกษาหารือในขณะนั้น เห็นว่าราษฎรไทยไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาล ว่าจะรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไทยให้สมบูรณ์อยู่ได้ คือต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งนำประเทศชาติเข้าไปผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว เมื่อได้ปรึกษาหารือพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชสมบูรณ์ของชาติ เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง 'องค์การต่อต้านญี่ปุ่น' ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนปฏิบัติการต่อไป"



ดังนั้นขบวนการเสรีไทยที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน ก็ริเริ่มขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง ในนาม "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือ

๑. ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังของคนไทยผู้รักชาติและร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร

๒. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย มิได้เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาแล้วได้เพิ่มภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปฏิบัติการให้สัมพันธมิตรรับรองว่า ประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ก.ค. 05, 19:10

 ขบวนการกู้ชาติ

จำกัด พลางกูร อักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดแกนนำคนหนึ่งของขบวนการกู้ชาติ ได้เล่าไว้ในหนังสือ การกู้ชาติ ว่า

"เมื่อข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษข้าพเจ้ารวบรวมสมัครพรรคพวกได้เป็นอันมาก เพื่อจะมาตั้งคณะต่อสู้กับจอมพลแปลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้นทางลับ ๆ ในประเทศไทยแต่ครั้นข้าพเจ้าถูกไล่ออกจากทางราชการ เพราะข้าพเจ้าไม่ไปประกาศทางวิทยุกระจายเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตยของข้าพเจ้าเพื่อนฝูงก็เริ่มเหินห่างออกไป"

แต่เมื่อทราบข่าวญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมต่อต้านญี่ปุ่น ความพยายามในการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติก็กลับมาอีกครั้ง

"ตอนบ่ายวันที่ ๙ ธันวาคม (๒๔๘๔) ...ข้าพเจ้าได้ปรึกษานายเตียง หาทางออกไปนอกอาณาจักรไทยไปยังพม่า ทราบว่ามีทางออกอยู่ทางแม่สอดและกาญจนบุรี แต่ต่อมาอีกสองวันก็ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยึดสองทางนั้นเสียแล้ว เป็นอันว่าการเตรียมตัวของเราต้องล้มเหลวไปข้าพเจ้าจึงรวบรวมเพื่อนพ้องเพื่อตั้งขบวนการกู้ชาติ ... หลักการของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะรวบรวมพรรคพวกเท่าที่จะหาได้ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ พวกที่รู้แผนการของข้าพเจ้า ชั้นที่ ๒ คือพวกที่รู้เลา ๆ ว่าข้าพเจ้าทำอะไร และชั้นที่ ๓ คือพวกที่มีความเลื่อมใสและนิยมในตัวข้าพเจ้า พวกเหล่านี้ให้ล่วงรู้อะไรโดยตรงไม่ได้ และถึงเวลาจำเป็นก็คงใช้บริการได้ พวกนี้ได้แก่ศิษย์ข้าพเจ้าโดยมาก

พวกชั้นที่ ๑ เท่าที่รวบรวมได้ก็มีนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายเรือโท โกเมศ เครือตราชู นายยล สมานนท์ ชั้นที่ ๒ ภรรยา ข้าพเจ้า (นางฉลบชลัยย์ พลางกูร) ได้ไปชวน นางปิ่น บุนนาค (นางราชญาติรักษา) และพวก ข้าพเจ้าได้ไปชวนนายแพทย์เฉลิม บุรณนนท์ ฯลฯ ชั้น ๓ นั้นมีมากมาย

แต่ข้อที่สำคัญก็คือ แม้ว่าพวกเราจะหนีไปตั้งรัฐบาลได้ เราก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกองทัพของจอมพลได้ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ในระหว่างผู้มีอำนาจคงมีใครบ้างที่คิดอย่างเรา แล้วรวมคณะเราเข้าไป คงทำประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย ข้าพเจ้าส่ายตาดูก็เห็นมีแต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวซึ่งจะเป็นหัวหน้า เป็นกำลังสำคัญของคณะกู้ชาติของเราได้ ข้าพเจ้าจึงตรงไปหาท่านที่บ้านสีลมทันที"

ต่อมา ขบวนการกู้ชาติและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นได้รวมตัวกันในปลายปี ๒๔๘๔
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ก.ค. 05, 19:12

กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น



ดำริห์ เรืองสุธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกรรมกรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เล่าเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการแรงงานไทยอย่างน่าสนใจว่า



"๕ วันภายหลังจากกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในกรุงเทพฯ องค์กรนำต่อต้านพรรคใต้ดินก็ได้มีมติชูธง 'ต่อต้านญี่ปุ่น คัดค้านเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม' และดำเนินการจัดตั้ง 'กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น' ขึ้น เพื่อเตรียมตัวต่อสู้ด้วยอาวุธเมื่อเงื่อนไขสุกงอม พลพรรคกองอาสาต่อต้านญี่ปุ่นประกอบด้วย นักปฏิวัติรักชาติ รักประชาธิปไตยของชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของขบวนการนี้ก็คือ การ 'ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย ฟื้นฟูเอกราชและอิสระเสรีของชาติไทย' "



ภารกิจแรกของกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่นก็คือการออกใบปลิวออกมาในนาม "คณะไทยอิสสระ" ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๔ ส่งไปยังสื่อมวลชน เรียกร้องให้ประชาชนไทยร่วมใจต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน และได้แจกเครื่องหมายรูปตัว "อ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนคำว่า "อิสสระ" ให้เป็นเครื่องหมายไว้ใช้ร่วมกัน



เนื้อหาในใบปลิว "คณะไทยอิสสระ" มีเนื้อหาโจมตี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสองโฆษกประจำกรมโฆษณาการ ที่มีส่วนในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลก็คือ นายมั่น ชูชาติ (ชื่อจริงคือสังข์ พัธโนทัย) นายคง รักไทย (ชื่อจริงคือ คงศักดิ์ ขำศิริ) ว่า เป็นเครื่องมือของญี่ปุ่นในการรุกรานเอเชียบูรพา ส่งผลให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม โกรธแค้นเป็นอย่างมาก มีการกวาดจับนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หนึ่งในผู้ถูกจับในครั้งนั้น ได้บรรยายความรู้สึกไว้ใน ทินกรณ์ของผู้ต้องคุมขังโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๕ ว่า



"เราต้องข้อหาว่าเป็นกบฏในราชอาณาจักร เราสะเทือนใจเมื่อทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ตกใจเท่าใดเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน"



เป็นที่รับทราบกันต่อมาว่า ผู้ที่จัดทำใบปลิวชิ้นนี้ก็คือคณะคอมมิวนิสต์สยาม โดยผู้ที่จัดทำใบปลิวนั้นก็คือ นายเล้ง โบราณวงศ์ ซึ่งถูกจับได้ที่ตึกวรจักร ขณะกำลังจัดทำใบปลิว "คณะไทยอิสสระ" ฉบับที่ ๒



ดังนั้นนอกจากการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศโดยมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำแล้ว ในขณะนั้นยังมีคณะคอมมิวนิสต์สยาม ซึ่งยังไม่มีการการจัดตั้งองค์กรที่แน่นอน เข้าร่วมด้วยในนาม "กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น" โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการกอบกู้เอกราชอธิปไตยที่สูญเสียไปเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ก.ค. 05, 19:20

เสรีไทยสายอเมริกา

"ประเทศไทยและคนไทยทุกคนเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะขอความร่วมมือจากอเมริกาต่อต้านการบีบบังคับรุกรานจากญี่ปุ่น"
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้เข้าพบนายคอเดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศคู่สงครามกับญี่ปุ่น ภายหลังจากทราบข่าวการยินยอมให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ในประเทศไทยมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ต่อต้านญี่ปุ่น การยินยอมต่อญี่ปุ่นนั้น เป็นเพียงการตัดสินใจของรัฐบาลเท่านั้น

ต่อมา ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์และส่งโทรเลขมายังรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ว่า สถานทูตที่วอชิงตันจะทำตามคำสั่งของรัฐบาลเฉพาะที่เห็นว่าไม่ใช่เป็นคำสั่งที่ญี่ปุ่นสั่งให้ทำเท่านั้น


ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

สถานการณ์ยิ่งแล้วร้ายลงเรื่อย ๆ เมื่อรัฐบาลประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๘๕ แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แจ้งให้สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่า ได้เก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าเสื้อ ขณะเข้าพบกับนายคอเดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อว่าการประกาศสงครามของรัฐบาล มิได้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนไทย

แม้ว่าในความจริงรัฐบาลไทยจะแจ้งการประกาศสงครามให้แก่กงสุลสวิตเซอร์แลนด์ที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบ ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและอเมริกา ซึ่งในทางการทูตถือว่าการประกาศสงครามสมบูรณ์แล้ว แต่รัฐบาลอเมริกาไม่รับรู้การประกาศสงครามของประเทศไทย เนื่องจากถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ข้าราชการและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ เดินทางกลับระหว่างแลกเปลี่ยนเชลยกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ปรากฏว่ามีคนไทยเดินทางกลับเพียง ๑๘ คน ยังเหลือข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยอยู่ในสหรัฐฯ และแคนาดาจำนวน ๘๒ คน

๔ มีนาคม ๒๔๘๕ สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาได้ออกหนังสือเวียนเรื่องการแบ่งงานของ "คณะไทยอิสระ"

"แผนกที่หนึ่ง หน้าที่ของข้าราชการสถานทูต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต มีหน้าที่เจรจากับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านการเมือง ม.ล. ขาบ กุญชร มีหน้าที่เจรจากับเจ้าหน้าที่ด้านการทหาร หลวงดิษฐการภักดี มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน นายมณี สาณะเสน ร่างตรวจแก้เอกสารที่จะออกจากสถานทูต นายอนันต์ จินตกานนท์ พิมพ์และจเรทั่วไป

แผนกที่สอง ดำเนินงานด้านการเมือง เน้นหนักในเรื่องสถานทูต จะต้องคอยติดต่อรักษาความเห็นอกเห็นใจจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

แผนกที่สาม งานสร้างชาติใหม่ เพื่อกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติ

แผนกที่สี่ งานช่วยเหลือคนไทย จัดทำบัญชีการได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยเพื่อตอบแทนความดี ความรักชาติ"

กำเนิดชื่อเสรีไทย

แม้ว่าทุกคนจะอยู่ในสหรัฐอเมริกาจะมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยและต้องการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น แต่ด้วยพื้นฐานที่แตกต่างกัน ประกอบกับความขัดแย้งที่มีก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต กับ ม.ล. ขาบ กุญชร ทูตทหารประจำสถานทูต หรือการที่คณะนักเรียนไทย ไม่ยอมรับบทบาทของสถานทูตโดยเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ดังคำกล่าวของ จก ณ ระนอง เมื่อทราบภารกิจของนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกส่งไปรบในนามตัวแทนของสถานทูตไทย
"ถ้าอย่างนั้นให้สถานทูตไปรบเอง พวกผมจะยอมตายเพื่อรบให้เมืองไทยเท่านั้น"


ดังนั้นจึงมีการประชุมร่วมกันบนเรือ Gripholms ในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ ก็ได้ทางออกของภารกิจการกู้เอกราชของคนไทยในสหรัฐฯ ก็คือ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของขบวนการ โดยมีข้าราชการสถานทูตและคณะนักเรียนไทยเป็นกรรมการ และมอบให้อัครราชทูตเป็นประธาน ซึ่งการดำเนินการใด ๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการเสมอ และให้ใช้ชื่อคณะกรรมการดังกล่าวว่า เสรีไทย (Free Thai)

หลังจากนั้นความเกี่ยวข้องระหว่างสถานอัครราชทูตกับคณะนักเรียนไทยก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยคณะนักเรียนไทยจะเป็นทหารรับคำสั่ง และอยู่ใต้การบังคับบัญชาจากหน่วยกิจการยุทธศาสตร์ (The Office of Strategic Serviceo : O.S.S.) โดยเฉพาะกองบังคับการกองบัญชาการ ๔๐๔ (Detachment 404) ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองแคนดี เกาะลังกา
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 07:45

 เสรีไทยสายอังกฤษ

"การเข้าข้างผู้รุกราน แม้เป็นฝ่ายชนะก็น่าอับอาย เชื่อว่าคนไทยทั้งมวลไม่เห็นชอบในการร่วมมือกับผู้รุกราน ดังนั้นแม้สัมพันธมิตรจะแพ้ และขบวนการเสรีไทยจะล้มเหลว เพื่อนร่วมชาติของเราก็จะเห็นว่า เราทำหน้าที่ของคนไทยผู้รักชาติรักความเป็นไทย"
ทศ พันธุมเสน

เช่นเดียวกับคนไทยในอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษต่างไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และได้ประณามการกระทำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทว่าสถานการณ์ในประเทศอังกฤษต่างจากสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ พระมนูเวทวิมลนาท (เบี๋ยน สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทย ไม่เพียงแต่ไม่คัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ยังได้ปรามนักเรียนไม่ให้เคลื่อนไหว โดยการอ่านโทรเลขที่ได้รับจากประเทศไทยให้คณะนักเรียนไทยฟังว่า

"รัฐบาลเปรียบเหมือนช้างเท้าหน้า พวกเราเป็นช้างเท้าหลัง ฉะนั้นขอวิงวอนให้คนไทยทุกคนร่วมใจกันสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลทุกประการ"

ดังนั้นการทำงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลมากกว่า ดังข้อความใน บันทึกลับของพันโท อรุณ เสรีไทย ๑๓๖ ของ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น ซึ่งเล่าไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายถึงนายเชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อขอรับอาสาเข้าช่วยร่วมมือทำการสู้รบญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เขียนจดหมายลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๕ แสดงความขอบใจที่จะเข้าร่วมมือ และขอให้ข้าพเจ้าช่วยทำการในกรมเสนาธิการข่าวของอังกฤษ ในการทำแผนที่ในประเทศไทย และรวบรวมข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศไทย"

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และรัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามตอบในเวลาต่อมา สถานภาพของคนไทยในตอนนั้นจะอยู่ในสภาพ คนของชนชาติศัตรู

เมื่อจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ มีคนไทยเดินทางกลับเพียง ๓๓ คนจากทั้งหมด ๙๑ คน ส่งผลให้รัฐบาลประกาศถอนสัญชาติคนไทยที่ไม่เดินทางกลับประเทศ

มีนาคม ๒๔๘๕ หลังจาก เสนาะ ตันบุญยืน เข้าพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ เพื่อแจ้งความจำนงว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษเป็นจำนวนมากต่อต้านญี่ปุ่น ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ ก็ทำหนังสือเสนอ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อก่อตั้งกองทหารสู้รบกับญี่ปุ่นในประเทศไทย

แต่เมื่อสรรหาบุคคลที่จะมารับตำแหน่งหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ กลับไม่มีบุคคลใดได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ เสนาะ ตันบุญยืน ต้องเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

มณี สาณะเสน ในฐานะผู้ที่เคยทำงานในอังกฤษ ได้รับหน้าที่ช่วยรวบรวมคณะเสรีไทยในอังกฤษ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่นเนื่องจากเขาไม่เป็นที่รู้จักกันของนักเรียนไทยในอังกฤษมาก่อน แม้สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะไม่มีบทบาทนำในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มีคนไทยและนักเรียนไทยสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกองทัพอังกฤษจำนวน ๕๐ คน ผ่านการคัดเลือกเป็นทหาร ๓๕ คน ที่เหลือเป็นอาสาสมัครในแนวหลัง รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วย

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในเสรีไทยได้เขียนถึงความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษไว้ว่า

"(คนเหล่านี้)อาจจะอาสาสมัครเสรีไทยด้วยเหตุต่าง ๆ กัน ได้มีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างสมัครเข้ามาใหม่ ๆ ... บางคนก็ว่าสมัครเพื่อกู้ชาติ บางคนสมัครเพื่อเสรีภาพและความชอบธรรมแห่งชีวิต บางคนก็พูดไม่ออก นอกจากนี้ก็เห็นว่าเป็นหน้าที่ อย่างไรก็ตามพอพูดได้ว่า ความมุ่งหมายร่วมกันของพวกเราคือ
๑. พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษ มิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทย โดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ
๒. คณะของเรามิต้องการเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ และไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดเป็นเสรีไทยในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น พวกเราจะร่วมมือทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้ว คณะเสรีไทยอังกฤษจะสลายตัวไป
๓. คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างความดีใด ๆ มาเรียกร้องแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในด้านลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด
๔. คณะเสรีไทยสายอังกฤษได้แสดงให้ทางอังกฤษเห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรกว่า ขณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นทหารก็ยินยอม ทั้งหมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชน ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานะทหาร"

นอกจากจะมีกลุ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ดำเนินการเป็นขบวนการแล้ว ยังมีประชาชนชาวไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล และการที่ญี่ปุ่นรุกล้ำอธิปไตยไทย หากไม่สามารถแสดงออกมาได้ แต่พร้อมที่จะเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ภายหลังจากมีการรวมตัวเป็นขบวนการที่แน่นอน

ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 07:50



รัฐบาลพลัดถิ่น : เป้าหมายแรกของเสรีไทยในประเทศ



รัฐบาลพลัดถิ่นต้นแบบคือรัฐบาลพลัดถิ่นที่นายพล ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เข้าไปจัดตั้งในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง หลังการประชุมระหว่างนายปรีดีกับมิตรสหายในคืนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ หลวงกาจสงครามได้เสนอแผนแรกให้นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศ โดยลอบหลบหนีออกไปทางกาญจนบุรี เข้าทวาย ประเทศพม่า และออกไปสู่ประเทศอินเดีย แต่แผนการนี้ล้มเหลว เพราะญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางดังกล่าวลำเลียงทหารเพื่อเข้าไปโจมตีพม่า





นายพล เดอ โกลล์ ผู้ก่อตั้งฝรั่งเศสเสรี



แผนต่อมา ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ได้เสนอพื้นที่ภาคเหนือที่ติด เนื่องจากมีหลังยันกับพม่า ซึ่งมีอังกฤษอยู่ เพราะเชื่อว่าถ้าญี่ปุ่นบุกเข้ามา อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรจะให้ความสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาล ที่ประชุมตกลงกันโดยจะใช้นครสวรรค์เป็นสถานที่ตั้งรัฐบาลอิสระ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องยึดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ และเส้นทางรถยนต์สายเหนือ คือ เส้นทางสระบุรีและลพบุรี ให้ได้เสียก่อน แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นยึดเส้นทางดังกล่าวไว้หมดแล้ว ทั้งนี้เพราะว่าญี่ปุ่นจะใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางไปยึดพม่า



ความพยายามที่จะก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นยังมีต่อไป เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ได้ส่งผู้แทนเดินทางไปสำรวจเส้นทางไปจุงกิง ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเจียงไคเช็ค และฝ่ายสัมพันธมิตร ปรากฏว่าผู้แทนที่ส่งไปสำรวจเส้นทาง ๒ ชุด จำนวน ๑๑ คน เหลือรอดกลับมา ๒ คน เพราะเส้นทางเข้าสู่จุงกิงโดยทางภาคเหนือนั้น เป็นทางทุรกันดารไม่มีใครสามารถผ่านไปได้



แม้ว่าการดำเนินการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจะล้มเหลวในช่วงต้น เพราะญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองประเทศไทยแทบจะทุกจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว แต่ความพยายามที่จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรยังมีต่อไป



ต้นปี ๒๔๘๖ ขบวนการเสรีไทยในประเทศ ก็ได้รับข่าวดีเมื่อทราบว่า มีเส้นทางออกจากอีสานผ่านอินโดจีน สามารถเดินทางเข้าสู่เมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้

จำกัด พลางกูร ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รับเงื่อนไข ๔ ประการ คือ



๑. การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ

๒. เมื่อสถานะสงครามไม่เกิดขึ้น สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เป็นอันว่ายังคงใช้ได้ตามเดิม

๓. ขอให้รัฐบาลอังกฤษให้ความเอื้อเฟื้อและให้เกียรติรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยตามสมควร เช่นเดียวกับรัฐบาลนอรเวย์ และฮอลแลนด์

๔. ขอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกาปล่อยเงิน และทรัพย์สินที่ยึดฝากไว้ในประเทศอังกฤษ และอเมริกาเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้ชาติ



ก่อนออกเดินทาง จำกัด พลางกูร ได้เข้าพบ ปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖



"... ท่านกล่าวว่า 'เพื่อชาติ' เพื่อ Humanity นะคุณ เคราะห์ดีอีก ๔๕ วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้า ๒ ปีได้พบกันและถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป"
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 07:57

 จุงกิง นครแห่งความหวัง ?

การออกเดินทางไปจุงกิงของ จำกัด พลางกูร พร้อมกับ ไพศาล ตระกูลลี้ ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ แม้ว่าจะไปถึงจุงกิงเมื่อเดือนเมษายน แต่จากการที่ไม่เคยมีการติดต่อกัน ระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศกับฝ่ายสัมพันธมิตร หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทยนอกประเทศ ทำให้จำกัดต้องถูกทางการจีนควบคุมตัวไว้ และเมื่อทางการจีนสอบถามไปยัง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็ไม่ได้รับคำยืนยันสถานภาพของจำกัด ทำให้การเดินทางไปถึงจุงกิงของจำกัดยังไม่ประสบผลในเบื้องต้น และไม่สามารถติดต่อกลับเมืองไทยได้อีกด้วย

ขณะที่เสรีไทยสายอังกฤษ คือ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ กับเสรีไทยสายอเมริกา ม.ล. ขาบ กุญชร แม้ว่าจะอยู่ที่จุงกิงแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้พบกับนายจำกัด ทั้งนี้เนื่องมาจากการเมืองภายในของประเทศไทยเอง ทำให้การประสานงานของเสรีไทยสายต่าง ๆ ต้องล่าช้าออกไป

กรกฎาคม ๒๔๘๖ ปรีดี พนมยงค์ ได้ส่ง สงวน ตุลารักษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนายการโรงงานยาสูบ พร้อมครอบครัว และ แดง คุณะดิลก เจ้าหน้าที่สถานทูต เดินทางไปจุงกิง โดยอ้างว่าจะเดินทางไปซื้อเครื่องจักรที่ประเทศญี่ปุ่น คณะของสงวนแก้ปัญหาการที่ไม่มีผู้รับรองสถานภาพของตน ด้วยการติดต่อไปยังหมอล้วน ว่องวานิช เจ้าของห้างขายยาอังกฤษตรางู ซึ่งขณะนั้นได้มาจัดตั้งหน่วยพยาบาล ของชาวจีนโพ้นทะเลของประเทศสยาม ช่วยเหลือทหารจีนในการรบกับญี่ปุ่น ในที่สุดคณะของนายสงวน ก็เดินทางไปถึงจุงกิงเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๖ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลเจียงไคเช็ค พร้อมกับที่ ม.ล. ขาบ กุญชร เข้าหารือกับนาวาเอก มิลตัน ไมล์ แห่ง O.S.S. คณะของนายสงวนได้พบกับ จำกัด พลางกูร แต่หลังจากนั้นไม่นานจำกัดก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้และเสียชีวิตในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๘๖

หลังจากนั้นนายสงวนและนายแดงได้เดินทางต่อไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อนำข้อเสนอทั้ง ๔ ข้อที่จำกัดได้รับมอบหมายจากเมืองไทย โดยที่ครอบครัวของนายสงวน คือ นางบุญมา ภริยาและบุตรทั้งสองจะต้องอยู่ที่จุงกิงต่อ ขณะที่ กระจ่าง ตุลารักษ์ ต้องเดินทางกลับมาเตรียมปฏิบัติการในประเทศไทย

ถ้านับว่าความพยายามที่จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต่างประเทศเป็นความยากลำบากแล้ว ความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า มีขบวนเสรีไทยเกิดขึ้นจริงในประเทศ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งกว่า เพราะในสถานการณ์สงครามนั้นไม่มีใครสามารถไว้ใจใครได้ แม้แต่คนไทยด้วยกันเองก็ยังมีความระแวงกันเป็นอย่างมาก

ทว่าภารกิจที่คณะผู้แทนจากในประเทศได้รับมา ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดยทันที แต่ก็เปิดช่องให้เจรจากันมากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่เสรีไทยในสหรัฐฯ และอังกฤษได้รับทราบว่าเมืองไทยมีขบวนการเสรีไทยขึ้น
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:00

ล้มจอมพล ป. : ก่อตั้งรัฐบาลเสรีไทย


จอมพล ป. พิบูลสงคราม

คุณูปการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ก็คือการสร้างระบบรัฐสภาเอาไว้เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นวิถีทางรัฐสภา ซี่งก็คือการใช้วิธีการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่สถานการณ์ในขณะนั้นจอมพล ป. มีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภา สิ่งแรกที่ขบวนการเสรีไทยในประเทศทำก็คือ ขยายแนวร่วมไปยังผู้แทนราษฎรให้มากที่สุด จากที่เคยมีแต่ผู้แทนภาคอีสาน

ชิต เวชประสิทธิ์ ส.ส. จังหวัดภูเก็ต ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

"กลุ่มผู้นำอีสานและแนวร่วมที่เกาะกลุ่มอยู่ก่อนได้ตกลงกันว่า ต่างคนต่างดำเนินการหาสมัครพรรคพวกเป็นอิสระ โดยมีหลักการสำคัญข้อแรก คือ ต้องสามารถมั่นใจว่าผู้แทนคนนั้นสามารถรักษาความลับได้เป็นอย่างดี ข้อสองคือมีทัศนะโน้มเอียงไปทางต่อต้านญี่ปุ่น"

ต่อมาขยายไปยังกลุ่มผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ โดยบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย คือ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีความสำคัญมาก นอกจาก พล.ต.อ. อดุลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ แล้ว ยังสามารถใช้กลไกของตำรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

ผลจากการที่ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นกองบัญชาการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของทหารญี่ปุ่นที่ก้าวร้าวและข่มเหงคนไทย ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ถี่ขึ้นเป็นลำดับ กรุงเทพมหานครในช่วงปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗ ถูกโจมตีทางอากาศถึง ๔,๐๐๐ ครั้ง ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คะแนนนิยามในตัวรัฐบาลลดน้อยลงทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายย้ายเมืองหลวง ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นดินแดนทุรกันดารเนื่องจากมีไข้ป่าชุกชุม จากรายงานของสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า ในปี ๒๔๘๗ มีราษฎรที่ถูกเกณฑ์จำนวน ๑๒๗,๒๘๑ คน มีผู้บาดเจ็บ ๑๔,๓๑๖ คน เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ๔,๐๔๐ คน และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ส่งผลให้มีการใช้ประเด็นนี้มาเป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลนำเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครหลวงเพชรบูรณ์ เพื่อขออนุมัติในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้หยิบเอาประเด็นนี้มาอภิปราย ผลของการลงคะแนนลับ ปรากฏว่ารัฐบาลพ่ายไปด้วยคะแนน ๓๖ : ๔๘

สองวันต่อมา เมื่อรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ฝ่ายต่อต้านได้หยิบยกประเด็นเรื่องความสิ้นเปลืองงบประมาณมาอภิปราย ผลของการลงคะแนนลับปรากฏว่ารัฐบาลพ่ายไปด้วยคะแนน ๔๑ : ๔๓

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้นำรัฐบาลยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปรากฏว่า ควง อภัยวงศ์ ภายใต้การสนับสนุนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็ได้มีการลดอำนาจทางการทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยข้ออ้างว่าไม่มีในทำเนียบราชการทหาร

การที่สามารถโค่นอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงได้ นับว่ามีความสำคัญต่อขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นอันมาก เพราะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยหน้าฉากมี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจากับญี่ปุ่น ขณะที่หลังฉากมี ทวี บุณยเกตุ ตัวแทนขบวนการเสรีไทย รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า

"ที่เลือกระทรวงศึกษาธิการก็เพื่อจะได้ทำงานต่อต้านญี่ปุ่น ในขบวนการเสรีไทยได้เต็มที่ โดยใช้กำลังสนับสนุนจากนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์จากโรงเรียน วิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"

สุดท้าย กลไกรัฐไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ที่เคยขัดขวางการทำงานของเสรีไทย กลับสามารถใช้เป็นเครื่องมืออย่างดีในการต่อต้านญี่ปุ่น
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:04

 ปฏิบัติการมวลชน ของเหล่ากรรมกรไทย

"มติเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ เรียกร้องให้แกนนำและสมาชิกลงสู่มวลชนไปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมวลชน... ขยายงานจัดตั้งมวลชนด้วยรูปแบบต่าง ๆ เริ่มจากรูปแบบไร้สีสันทางการเมือง ค่อย ๆ ยกระดับความตื่นตัวทางการเมืองให้สูงขึ้นทีละขั้น"
ดำริห์ เรืองสุธรรม

ขณะที่เสรีไทยในประเทศโดยการนำของ ปรีดี พนมยงค์ ประสบความสำเร็จในการขยายแนวร่วมในหมู่ชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะใช้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังมวลชนที่เป็นประชาชนในเขตจังหวัดต่าง ๆ ของผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ แต่สำหรับกองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น ได้ใช้รูปแบบเข้าถึงมวลชนโดยตรงด้วยการเข้าไปจัดตั้งกลุ่มศึกษาพร้อม ๆ กับช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในรูปแบบชมรมช่วยเหลือกันของกรรมกร แล้วยกระดับเป็นความคิดทางการเมือง โดยเป้าหมายมุ่งไปที่กรรมกร ที่ผลิตสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังกอบโกยแรงงานและทรัพยากร เพื่อใช้ในการสงครามอยู่นั้น พลพรรคของกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น ก็เริ่มนำกรรมกรต่อสู้เพื่อปรับปรุงค่าครองชีพ อย่างต่อเนื่องพร้อมกันด้วย

สัญลักษณ์สำคัญของการจัดตั้งมวลชน เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในขณะนั้น คือการที่กรรมกรโรงงานต่อเรือกัมปะนี หยุดงานและเรียกร้องสวัสดิการเพิ่ม ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้ามาจับกุมตัวแทนกรรมกร ปรากฏว่าเหล่ากรรมกรได้เผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นอย่างไม่สะทกสะท้าน จนในที่สุดทหารญี่ปุ่นจำต้องปล่อยตัวแทนกรรมกรออกมา หลังจากนั้นก็มีการหยุดงานต่อเนื่องอีก ๒๐ วัน

แม้ว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่สำเร็จ แต่การที่กรรมกรออกมาเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ นับว่าเป็นผลสำเร็จในทางการเมือง

หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมสหการช่างกลกรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่ประสานงานของกรรมกรที่จะทำการสไตรค์ เฉื่อยงาน รวมทั้งการทำลายผลิตผลของโรงงานที่จะเตรียมส่งไปให้กองทัพญี่ปุ่นโดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์

นอกจากนี้ในต่างจังหวัดก็มีการจัดตั้งเป็นองค์กรช่วยเหลือกันเช่นในกรุงเทพฯ และอาศัยจังหวะที่ญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นกรณีญี่ปุ่นมีแผนการสร้างทางรถไปสายคอคอดกระในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖ พลพรรคกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น ก็เข้าไปจัดตั้งกองกำลังขัดขวางการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว ที่อำเภอละอุ่นและอำเภอกระบุรี ด้วยการยุยุงให้กรรมกรจากมลายู โยนรางรถไฟลงข้างทางระหว่างลำเลียงมาจากมลายู หรือยุยงกรรมกรไต้หวันที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟให้เฉื่อยงาน และร่วมแผนทำลายการสร้างทางโดยการงัดตะปูเหล็กที่ยึดรางรถไฟแล้วทำลายไม้หมอนเหล่านั้นเสีย

แม้ว่าการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวจะเริ่มสร้างในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๖ และสร้างเสร็จในวันที่ ๒๕ ธันวาคมปีเดียวกัน แต่กว่าจะเริ่มใช้จริง ๆ ก็ล่วงเข้าเดือนมิถุนายน ๒๔๘๗ ญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าการก่อสร้างทำไปด้วยความเร่งรีบ จึงทำให้เกิดความบกพร่องมากมาย โดยเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า การก่อสร้างสะพานล่าช้าเพราะเหล่ากรรมกรขัดขวางการทำงาน

จนถึงต้นปี ๒๔๘๘ องค์กรของกรรมกรต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเป็นสหสมาคมต่อต้านญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และได้เข้าร่วมงานกับขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:09

ปฏิบัติการเสรีไทยสายอเมริกา

ปัญญาชนชั้นหนึ่งเท่าที่ O.S.S. เคยมีมา แต่ละคนมีปริญญาเอก ปริญญาโท จากฮาวาร์ด เอ็มไอที และมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ในสหรัฐ"
นิคอล สมิธ

คณะนักเรียนไทยได้รับการจัดตั้งเป็น "กองทหารเสรีไทย" ซึ่งเป็นหน่วยทหารไทยที่ใช้เครื่องแบบของไทย มีธงไทยเป็นเครื่องหมาย มีฐานะทัดเทียมกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมี ม.ล. ขาบ กุญชร เป็นผู้แทน กองกำลังเสรีไทยสายอเมริกาแบ่งได้เป็นสี่รุ่น คือ

รุ่นแรก มี ม.ล. ขาบ กุญชร ทูตทหาร เป็นหัวหน้าประสานงานร่วมกับ พ.ท. นิคอล สมิธ ผู้เป็นตัวแทนหน่วย O.S.S. คณะนักเรียนไทยชุดแรกจำนวน ๒๑ คนนี้เข้าฝึกการรบพิเศษในวิชาการต่าง ๆ เช่น วิชาแผนที่ วิชาเดินเรือ วิชาสื่อสาร โดยกำหนดหลักสูตรเวลา ๔ เดือน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการในประเทศไทย เป้า ขำอุไร เล่าถึงการฝึกไว้ว่า

"เราเข้าฝึกในค่ายของ U.S. Marrine ซึ่งเป็นค่ายลับอยู่ในป่าใน Maryland หลายแห่งฝึกหนักยิ่งกว่าทหารธรรมดาหลายเท่าในด้านการรบ การใช้อาวุธการต่อสู้ทุกรูปแบบ ในด้านการจารกรรม ก่อวินาศกรรม ฝึกเป็น Jame Bond กันเลย ทำการฝึกหนึ่งปีจนจบหลักสูตร ทางสถานทูตก็ทำการประดับยศให้เป็นร้อยตรีทุกคน... พิธีประดับยศนี้เป็นการประกาศให้อเมริกันทราบว่า เรามิใช่เป็นเสรีไทยแต่ปากเท่านั้น เรามีกำลังรบด้วย"


ม.ล. ขาบ กุญชร

หลังจากนั้นได้แบ่งเป็นสองสาย
-สายที่ ๑ นำโดย ม.ล. ขาบ กุญชร และ พ.ต. เคฟแลน นายทหารอเมริกา ได้เดินทางล่วงหน้าไปที่เมืองจุงกิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเจียงไคเช็ค และเป็นที่ตั้งของหน่วย O.S.S. ประจำประเทศจีน เพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านในประเทศไทย

-สายที่ ๒ ทหารเสรีไทยที่เหลืออีก ๑๙ คน นำโดย พ.ท. นิคอล สมิธ และนายทหาร O.S.S. ๓ นาย เดินทางมายังค่ายฝึก ๑๐๑ ของ O.S.S. ที่ตั้งอยู่ในแคว้นอัสสัมเพื่อฝึกเพิ่มเติม ภารกิจของหน่วยนี้คือการสืบเหตุการณ์ภายในประเทศไทยให้แก่หน่วย O.S.S. ส่งอาวุธและทหารมาช่วยฝึกแบบกองโจร การบ่อนทำลายกองทหารญี่ปุ่น ตลอดจนแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับจีนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น

รุ่นที่ ๒ มีจำนวน ๓ คน คือบุญมาก เทศะบุตร วิมล วิริยะวิทย์ อานนท์ ศรีวรรธนะ สมัครเข้าฝึกกับหน่วย O.S.S. โดยตรง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษในประเทศไทย เพื่อหาทางติดต่อกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย วิมล วิริยะวิทย์ เล่าถึงการฝึกว่า

"เพื่อรับภารกิจเร่งด่วน... ผมต้องฝึกการจารกรรมทั้งหมด การฝึกหนักมากเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้เข้าไปเป็นแนวที่ ๕ (Fifth Column) ฝึกการใช้วิทยุรับส่ง... การจู่โจมข้าศึก และป้องกันตัวเองการฝึกเอาตัวรอดหรือให้อยู่รอด สอดแนม สะเดาะกุญแจ โจรกรรม ฯลฯ เป็นการฝึกที่หนักมาก ตื่นแต่เช้าตรู่ จมอยู่ในน้ำทั้งวัน แทบจะไม่รู้สึกว่าแดดร้อน น้ำจืดหรือว่าน้ำเค็ม...ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่งขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะออกไปทำภารกิจที่แลกด้วยชีวิตกับความสำเร็จ"

แม้ว่าเสรีไทยสายอเมริกาจะเดินทางถึงจุงกิง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๖ แต่เนื่องจากความไม่มั่นใจซึ่งกันและกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์กับ ม.ล. ขาบ ทำให้การปฏิบัติการในประเทศไทยต้องล่าช้าออกไป หลังจากนั้นเสรีไทยสายอเมริกา ได้มาตั้งฐานปฏิบัติการสำหรับส่งทหารเข้าปฏิบัติการ ในประเทศที่เมืองซือเหมา โดยชุดแรกออกเดินทางในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ ซึ่งประกอบด้วย

"ปอล (โผน อินทรทัต) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสอายุกว่าเพื่อนจะเดินทางโดยลำพัง เขาเป็นคนที่ได้รับการศึกษาทางวิชาทหารมากที่สุด เป็นคนผิวคล้ำ สูงขนาดธรรมดา ...หน้าที่ของเขาคือหาทางเดินประจำจากชายแดนอินโดจีนไปอุตรดิตถ์ ศูนย์กลางทางรถไฟในภาคกลางสยาม เขาจะเป็นผู้ติดต่อกับผู้สื่อข่าวอื่น ๆ นำสิ่งของที่ต้องการไปให้ ถือเอกสารสำคัญที่ส่งทางวิทยุไม่ได้

แครี่ (การะเวก ศรีวิจารณ์) รู้จักชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างดี เขาเป็นคนขรึม กำลังกายปานกลางและรู้จักชั่งใจ พ.อ. ขาบถือว่าเขาเป็นสื่อสารดีที่สุด คู่ของเขา คือ ทาซานแซล (สมพงษ์ ศัลยพงศ์) ขี้โกรธและใจเร็ว ไม่กลัวใครหรือสิ่งใด ทั้งสองทำงานร่วมกันดี แครี่สามารถนำกำลังของแซลให้เป็นประโยชน์

เอียน (การุณ เก่งระดมยิง) เคยอยู่ลำปางหลายปี เคน (เอี่ยน ขัมพานนท์) และเอียนจะไปเข้าทำงานในเขตนี้ สองคนตรงกันข้ามทางจิตต์ เอียนช่างคิดและเป็นนักทฤษฎีแต่เคนเป็นนักปฏิบัติ เอียนเป็นสมาชิกไฟบีตาแคปปา ฝันแต่ในการหาวิธีทำเครื่องวิทยุให้ดีขึ้น และเคนเป็นวิศวกรรมเมคานิกซ์จะทำให้มันใช้ได้"

ในการเดินทาง ทุกคนแต่งตัวเป็นชาวพื้นเมือง มีเครื่องวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งดัดแปลงให้สามารถส่งได้ถึง ๕๐๐ ไมล์ติดตัวไปด้วย พร้อมทองคำไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ปรากฏว่าคนนำทางชาวจีน พยายามถ่วงเวลาการเดินทางให้ช้าลง ทำให้ โผน อินทรทัต ต้องรายงานกลับไปยัง ม.ล. ขาบ เพื่อให้ส่งเสรีไทยชุดที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วย "บันนี่ (บุญเย็น ศศิรัตน์) เพา (เป้า ขำอะไร) พีท (พิสุทธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา) แซม (สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล) ปลอมตัวเป็นคนขายของ" เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นชุดต่อไป ทางการจีนจึงไม่สามารถหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้เสรีไทยสายอเมริกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีกต่อไป

เนื่องจากเป็นการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นครั้งแรกของเสรีไทยสายอเมริกา โดยที่ยังไม่มีการประสานงานมาก่อน ทำให้คณะของการะเวกและสมพงษ์ ที่มีนายบุญช่วยเป็นผู้นำทาง ถูกตำรวจคุมตัวที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง (ซึ่งเป็นของไทยในขณะนั้น) ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๘๗ ระหว่างทางทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสามขัดขืนและต่อสู้เจ้าหน้าที่ แต่จากคำให้การของ โล่ห์ โจ๊ะทอง ซึ่งเป็นนายท้ายเรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ให้การต่อศาลในเวลาต่อมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าคนทั้งสามเพื่อชิงทรัพย์

แต่การเสียชีวิตของการะเวกและสมพงษ์ไม่สูญเปล่า เพราะการที่ตำรวจได้นำหลักฐานเช่นวิทยุและเอกสารต่าง ๆ รายงานให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รับทราบ จึงรู้ว่ามีความพยายามในการติดต่อจากต่างประเทศเข้ามา ขณะที่อีกสาม คนถูกตำรวจไทยจับเช่นกัน และนำมาคุมตัวไว้ที่กองสันติบาล กรุงเทพฯ ที่นั่นเอง การุณและนายเอียนได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รับทราบ

๙ กันยายน ๒๔๘๗ วิมล วิริยะวิทย์ และ บุญมาก เทศะบุตร เสรีไทยสายอเมริกาที่ไปฝึกรุ่นพิเศษ ได้กระโดดร่มลงกลางป่าอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ วิมลถูกคุมตัวมาพบ พล.ต.อ. อดุล ภายหลังจากแจ้งภารกิจให้ทราบ ทั้งคู่ได้เดินทางไปพบ ปรีดี พนมยงค์ วิมลแจ้งให้ทราบว่าทางอเมริกา ยินดีให้การสนับสนุนเสรีไทยทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นทางการทหารหรือในทางการเมือง รวมทั้งรับทราบด้วยว่ามีปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่น เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

ต่อมาเสรีไทยชุดที่ ๒ ก็ถูกตำรวจไทยจับเช่นกัน แต่ถูกคุมตัวมาไว้ที่กองสันติบาล กรุงเทพฯ และจุดนี้เองที่ทำให้ทหารเสรีไทยสามารถติดต่อวิทยุกลับไปยังซือเหมาได้ เพราะ พล.ต.อ. อดุลให้ความร่วมมือ นิคอล สมิธ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

"ภายในหนึ่งชั่วโมง ข่าวถูกส่งต่อไปยังคุนหมิง เดลลี จุงกิง แคนดี และวอชิงตัน อาณาจักรไทยสองแสนสองหมื่นตารางไมล์ ไม่เป็นจุดมืดสำหรับข่าวต่อไปแล้ว ได้มีโคมไฟจุดขึ้นในเมืองหลวงของสยามกว่าห้าร้อยไมล์ไปทางทิศใต้ และเรารู้ว่ามันจะส่องแสงสว่างขึ้นทุกที"

พฤศจิกายน ๒๔๘๗ เสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๓ ประกอบด้วย สิทธิ เศวตศิลา อุดมศักดิ์ ภาสวนิช เฉลิม จิตตินันท์ กระโดดร่มลงที่บ้านสบเปา อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกตำรวจไทยควบคุมตัวมาที่กรุงเทพฯ ต่อมาทั้งสามถูกทางญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ที่ค่ายเชลยศึก สิทธิ เศวตศิลา เล่าบรรยากาศช่วงนั้นว่า

"ขณะที่ญี่ปุ่นซักถามเราซึ่งอยู่ในชุดกางเกงขาสั้น เสื้อคอกลม นายทหารญี่ปุ่นนำดาบซามูไรมาวางที่ตักขณะซักถามเรา ระหว่างสัมภาษณ์เราก็หวังอย่างเดียวว่าญี่ปุ่นจะไม่บุ่มบ่ามชักดาบออกมาไล่ฟันเรา ...เราถูกกักตัวไว้ที่ตึกเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร

เรารู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถไปช่วยกิจกรรมข้างนอกค่าย แต่ก็ปลื้มใจที่ได้นำ Crystal (ก้อนแร่คลื่นวิทยุ) และสมุดรหัสของเรา มาให้ฝ่ายเสรีไทยในประเทศ"
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:14



ปฏิบัติการของเสรีไทยสายอังกฤษ



"ในขณะที่เราเข้าไปนั้น คนไทยในประเทศยังไม่เข้ากับพวกเรา เราต้องเข้าไปเป็นทหารหน่วยย่อม ๆ จึงจะสามารถเกลี้ยกล่อมผู้คนได้ และจะสามารถป้องกันตัวและรบกวนข้าศึกได้ โดยอาศัยความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่"

ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ



หลังจากผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นทหารแล้ว เสรีไทยทั้ง ๓๕ นายยกเว้น ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ ต้องเข้ารับการฝึกที่ ศูนย์ฝึกพิเศษทหารบกบร็อกฮอลส์ (Block Hall) ที่นอร์ทแทมตัน ประมาณเดือนเศษ



"บร็อกฮอลส์ เป็นศูนย์ฝึกพิเศษของทหารบก สำหรับทดสอบและประเมินความสามารถของของทหาร ที่ถูกคัดเลือกว่ามีกำลังใจ กำลังกาย และไหวพริบเหมาะสมสำหรับปฏิบัติการพิเศษ ได้แก่ ปฏิบัติการแบบเล็ดลอดเข้าไปยึดจุดยุทธศาสตร์ ก่อวินาศกรรมทำลายเส้นทางคมนาคม



การฝึกที่ผมเห็นว่าทุลักทุเลสิ้นดี ก็คือการฝึกคลานพังพาบอกทาบปฐพี ทำท่าคล้ายว่ายน้ำบนบก ใช้มือตะกุยดินและเท้าถีบดินทีละข้าง สลับมือสลับตีน นัยว่าเคลื่อนที่แบบทุกรกิริยานี้เพื่อกำบังกายเข้าจู่โจม หรือตีข้าศึกโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว"



แม้ว่าการฝึกจะหนักเพียงใด แต่เมื่อ มณี สาณะเสน และนายทหารอังกฤษมาสอบถามความสมัครใจ ของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษว่าจะฝึกต่อหรือไม่ ทั้งหมดก็ยืนยันว่าจะเป็นทหารตามความตั้งใจเดิม ไม่มีใครเปลี่ยนใจเลยสักคน



หลังจากนั้นทั้งหมดต้องย้ายมาที่ค่ายเมืองเด็นบี้ ในแคว้นเวลส์ตอนเหนือ และที่นี่เองที่ก็รู้ว่าจะต้องสังกัดหน่วย Pioneer Corps



"(เมื่อ) รู้ว่าอังกฤษเอาเราเข้าสังกัดหน่วยการโยธาที่เขาเรียกว่า Pioneer Corps ความเผยอลำพองของเราเมื่อรับการฝึกอบรมพิเศษ ที่ค่ายบร็อกฮอลส์เหือดหายไปหมดสิ้น ป๋วยปลอบใจพวกเราว่าพวกเราจำต้องสังกัด Pioneer Corps (ซึ่งผมเรียกว่ากองกุลี หรือหน่วยสวะ) ไปพลางก่อน ตามกฎเกณฑ์ปกติของกองทัพอังกฤษที่ว่า ชนชาติศัตรูจะเป็นทหารประจำการหน่วยอื่นมิได้ นอกจากหน่วยสวะนี้ ... หน้าที่หลักของทหารหน่วยสวะคือดายหญ้า กวาดถูโรงเรือน ล้างส้วม ขุดและปอกมันฝรั่ง คุณหลวงทั้งสอง หม่อมเจ้าทั้งสี่ ลูกเศรษฐี ลูกคนยากจนล้วนต้องแสดงบทบาทกุลีอย่างกุลีกุจอด้วยกันถ้วนหน้า"



สุดท้ายของการฝึกในอังกฤษ ทั้งหมดได้ย้ายมาฝึกที่ค่ายทอร์นตัน นอกเมืองแบรดฟอร์ด ซึ่ง ม.จ. จิรีดนัย กิติยากร มาร่วมเป็นพลทหารเพิ่มที่นี่ กองกำลังเสรีไทยกลุ่มนี้มีจำนวนรวมกัน ๓๖ คน



การที่เสรีไทยสายอังกฤษทุกคนเข้ารับการฝึก และยินยอมปฏิบัติงานให้แก่กองทัพอังกฤษโดยไม่เลือกงาน ทำให้อังกฤษเริ่มรับรองเสรีไทยสายอังกฤษ โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ที่รับรองนี้มิใช่เป็นการรับรองเป็นรัฐบาลนอกประเทศ แต่เป็นการรับรองทหารอาสาสมัครได้ทำงานในหน่วยโยธา



หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษจำนวน ๓๖ คน (ยกเว้นท่านชิ้น) ได้เดินทางไปฝึกเพิ่มเติมที่อินเดีย เมื่อหน่วยกองทหารอาสาเดินทางมาถึงอินเดีย ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม



กลุ่มแรก จำนวน ๒๒ คน หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มช้างเผือก (White Elephant) ถูกนำไปฝึกการรบแบบกองโจรที่เมืองปูนา ประเทศอินเดีย และสังกัดแผนกประเทศไทยของกองกำลัง ๑๓๖ แห่งหน่วยบริการพิเศษ (Specialy Operation Executive - SOE)



ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยานายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย นอกจากนั้นได้มีการคัดเลือกเสรีไทยสายอังกฤษไปสังกัดหน่วยอื่น ๆ อีกเช่น หลวงพิศาลกิจ สวัสดิ์ ศรีศุข พัฒน์พงศ์ รินทกุล สังกัดแผนกประสานงานระหว่างหน่วย (Interservice Liasion Department) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับ ต่อมาสองคนหลังได้ถูกส่งไปฝึกอบรมพิเศษที่กัลกัตตาเพื่อเตรียมตัวเดินทางมาประเทศไทย




ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์




๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๖ เสรีไทยสายอังกฤษคณะแรกนำโดย สวัสดิ์ ศรีสุข และ พัฒน์พงศ์ รินทกุล ได้เดินทางจากเรือดำน้ำมาขึ้นฝั่งที่บ้านท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยมีภารกิจคือการสืบสถานการณ์ทั่วไปในภาคใต้ ตามกำหนดการทั้งสองต้องกลับไปรายงานให้ทางอังกฤษได้รับทราบ แต่เนื่องจากมีความผิดพลาดในการนัดหมาย ทั้งสองจึงต้องอยู่เมืองไทยต่อ พัฒน์พงศ์ต้องทำงานเหมืองแร่ ขณะสวัสดิ์ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำงานในโรงรัดแผ่นยางที่บางปู



ต่อมากองกำลัง ๑๓๖ ได้ส่ง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะ เดินทางโดยเรือดำน้ำเพื่อมาขึ้นบกที่บ้านท้ายเหมืองอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ท่านชิ้นซึ่งขณะนั้นอยู่ประเทศจีน ได้ส่งให้คนนำสารลับไปส่งให้นายปรีดี เพื่อเตรียมรับเสรีไทยสายอังกฤษชุดนี้ แต่การประสานงานผิดพลาด ทำให้ทั้งสามต้องลอยเรืออยู่ในน่านน้ำทะเลอันดามัน



หลังจากล้มเหลวในการติดต่อผ่านทางจีน เสรีไทยสายอังกฤษก็ตัดสินใจส่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยตรง โดยแบ่งเป็นสองชุด คือ ชุดแรกนำโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะที่ชุดที่ ๒ นำโดย สำราญ วรรณพฤกษ์ ภารกิจสำคัญคือการพยายามติดต่อกลับกองกำลัง ๑๓๖ ที่ตั้งอยู่ในกัลกัตตา รอรับคนที่จะกระโดดร่มตามมา และติดต่อขบวนการเสรีไทยในประเทศ



แต่เมื่อเสรีไทยชุดแรกกระโดดร่มลงมาในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๘๗ กลับห่างจากจุดหมาย ๒๕-๓๐ กิโลเมตร โดยไปลงที่น้ำขาว จังหวัดชัยนาท และถูกจับในเวลาต่อมา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าความรู้สึกในขณะนั้นว่า



"คิดถึงคู่รักของข้าพเจ้าที่ลอนดอน คิดถึงคำสุดท้ายของคุณมณี สาณะเสน ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้าเมื่อก่อนเราเดินทางออกจากอังกฤษ คิดถึงเพื่อนข้าพเจ้าที่ยังอยู่ในอินเดีย คิดถึงเพื่อน ๒ คนที่อยู่พุ่มไม้ใกล้เคียง คิดถึงญาติมิตรที่อยู่กรุงเทพ คิดถึงสาส์นจากกองบัญชาการถึง 'รู้ธ' ที่ยังอยู่ในกระเป๋าของข้าพเจ้า และคิดถึงยาพิษ ? ยังอยู่ในกระเป๋าหน้าอกของข้าพเจ้าหรือจะยอมให้จับเป็น ให้เขาจับตายเถิดเพราะความลับที่ข้าพเจ้านำมานั้นมีมากเหลือเกิน ...แต่เห็นแล้วว่าญี่ปุ่นไม่มีอยู่ในหมู่คนที่จะมาจับข้าพเจ้า อย่ากระนั้นเลยเมื่อปะเสือก็ยอมสู้ตายเลยให้เขาจับเป็นดีกว่า อย่าเพิ่งตายเลย"



ขณะที่ชุดที่ ๒ ที่กระโดดร่มลงที่นครสวรรค์ ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๘๗ ก็ถูกควบคุมตัวไปไว้ที่สันติบาลในกรุงเทพฯ เช่นกัน



หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษทั้งหกคนก็ถูกนำตัวมาขังรวมกันไว้ที่กองตำรวจสันติบาลกรุงเทพฯ มี ร.ต.อ. โพยม จันทรคะ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เป็นผู้ดูแลเสรีไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การติดต่อกลับไปยังกองบัญชาการ ๑๓๖ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในต้นเดือนกันยายน ๒๔๘๗



ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมที่สันติบาลนั้น ป๋วยซึ่งถือสารลับจากกองบัญชาการ ๑๓๖ ก็ลอบเดินทางไปพบ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ถือได้ว่าเป็นการติดต่อกันเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศกับ ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบตแทน ผู้บัญชาการสูงสุด หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษ ที่เดินทางเข้ามาปฏิบัติการภายในประเทศไทย หรือเดินทางออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ไทย
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:28

เตรียมพร้อมปฏิบัติการวัน D-DAY

ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องตามตำแหน่งหน้าที่ของแต่ละฝ่าย "ขบวนการเสรีไทย" ที่เรารับรู้กันในปัจจุบันก็รวมตัวกันเป็นขบวนการได้ตั้งแต่ปลายปี ๒๔๘๗ ถึงต้นปี ๒๔๘๘ พร้อม ๆ กับที่ฝ่ายอักษะเริ่มพ่ายแพ้ในยุโรปไล่ไปตั้งแต่การที่เยอรมนีพ่ายแพ้ต่อสหภาพโซเวียต ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๗ ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบก ที่บริเวณชายฝั่งนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสจากการยึดครองของเยอรมนีได้ ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗ เยอรมนีเริ่มประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิสำคัญหลายจุด ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตร สามารถเข้ามาหนุนช่วยในภาคพื้นเอเชียได้เต็มที่

แต่กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นที่ยึดครองภาคพื้นเอเชียบูรพา ก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะยอมแพ้แต่อย่างใด ดังนั้นปฏิบัติการปลดอาวุธทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ จึงเกิดขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นสืบทราบว่าทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้ทำงานช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร นั่นก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนขบวนการเสรีไทยว่า การที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้มิได้ง่ายดาย เหมือนอย่างที่ใครบางคนคิด เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งกองบัญชาการเสรีไทยขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบดังนี้

- นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้า
- พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าและหัวหน้าฝ่ายตำรวจ
- หลวงสินาด โยธารักษ์ หัวหน้าฝ่ายทหาร
- หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ หัวหน้าฝ่ายทหารเรือ และให้ความคุ้มครอง
- นายดิเรก ชัยนาม หัวหน้ากองกลาง
- นายทวี บุณยเกตุ หัวหน้าพลพรรคและผู้ติดต่อกับรัฐบาล
- นายวิจิตร ลุลิตานนท์ หัวหน้ากองกลาง หัวหน้าการเงิน และพลาธิการ
- นายชาญ บุนนาค หัวหน้าสืบราชการลับ วิทยุสื่อสาร การรับส่งคนและจ่ายอาวุธ
- นายทวี ตะเวทิกุล หัวหน้าเศรษฐกิจและการคลัง
- หลวงบรรณกรโกวิท หัวหน้ารับส่งทางเรือ
- นายสะพรั่ง เทพหัสดิน หัวหน้ารับส่งทางบก
- หลวงศุภชลาศัย หัวหน้าอาสาพลเรือน

ต่อมาได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กับพลจัตวา วิคเตอร์ จ๊าค ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ และร้อยเอก โฮเวิต ปาลเมอร์ และได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบดังนี้

พื้นที่ทำงานร่วมกับอังกฤษ ได้แก่ อ่างทอง อยุธยา อุทัยธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชุมพร แพร่ เชียงราย

พื้นที่ทำงานร่วมกันอเมริกา ได้แก่ ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม หนองคาย นครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี ตาก ลำปาง

หลังจากนั้นก็ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่าวัน D-Day ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะโจมตีญี่ปุ่นพร้อมกันทุกจุด และให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศ ออกมาปฏิบัติการพร้อมกัน โดยมีการดำเนินการ คือ

การรับอาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตร

การที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่นได้นั้นจำเป็นต้องมีอาวุธที่ทันสมัยพอ ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรโดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ขบวนการเสรีไทยจะไม่ลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนด ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๔๘๘ อาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มลำเลียงเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

เริ่มต้นจากการขนส่งทางเรือมาทางทะเลบริเวณอ่าวไทย มีเรือของกรมศุลกากร ในความดูแลของหลวงบรรณกรโกวิท รองอธิบดีกรมศุลกากร ออกไปรับแล้วลำเลียงมาไว้ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสรีไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป

ต่อมามีการจัดส่งทางอากาศโดยการทิ้งร่มตามเขตรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย มีการนัดหมายกันล่วงหน้าเพื่อรับอาวุธ ท้าวอุ่น ชนะนิกร ผู้ลี้ภัยชาวลาวหลบหนีการปกครองของฝรั่งเศสและเข้าร่วมเป็นเสรีไทยในภาคอีสานร่วมกับ เตียง ศิริขันธ์ ได้บันทึกเรื่องการรับส่งอาวุธไว้ว่า

"การรับและเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์เขามาทั้งนั้นไม่ใช่ของง่าย ๆ ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อเขาทิ้งลงนั้น ร่มจะพาอาวุธยุทธภัณฑ์ ไปลงที่ไหนก็ได้ตามแต่กระแสลมจะพัดพาไป บางร่มก็ค้างอยู่บนต้นไม้ ซึ่งพวกเราจำเป็นต้องรวบรวมเอามันมาให้หมด แล้วขนเก็บซ่อนไว้ในถ้ำก่อนจะสว่าง ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งคือการทำลายร่มชูชีพ เนื่องจากร่มชูชีพไม่ไหม้ไฟ พวกเราต้องขุดหลุมฝังกันให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำอาวุธไปเก็บ

...อีกอย่างหนึ่งขณะที่พวกเราทำงานอย่างเร่งรีบนั้น จิตใจของพวกเราก็กลัวว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาพบเราเข้าอีก"

อาวุธที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งให้ขบวนการเสรีไทยนั้น ประกอบด้วย ปืนสั้น (พิสตอล) ปืนยาวใหญ่ (ไรเฟิล) ปืนยาวเล็ก (คาไบน์) ลูกระเบิดมือ (แฮนด์ครีเมต) ปืนครกเบา (แอล มอตาร์) ปืนครกหนัก (ดับลิว มอตาร์) ทุ่นระเบิด ฯลฯ

นอกจากการส่งอาวุธแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรยังทำสงครามจิตวิทยากับญี่ปุ่นโดยกรส่งฝูงบิน B-24 จำนวน ๑๘ เครื่อง นำร่มเวชภัณฑ์มาทิ้งบริเวณท้องสนามหลวง โดยที่ พล.ท. นากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์โดยไม่สามารถทำอะไรได้

การทิ้งร่มลดน้อยลงในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางเครื่องบิน สู่สนามบินลับที่ขบวนการเสรีไทยลักลอบสร้างขึ้น

การฝึกพลพรรคเสรีไทย

"ปฏิบัติการของเราในขณะนั้นเป็นหน่วยกำลังที่ต้องดำเนินการไปตามแผน เราคงเป็นเบี้ยหรือเม็ดที่ต้องถูกเดินให้เขากิน เพื่อหวังผลได้เปรียบหรือประโยชน์ส่วนรวมในด้านอื่น ถึงแม้จะทราบอยู่แก่ใจพวกเราก็เต็มใจ"
พล.อ.ต. กำธน สินธวานนท


เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการขับไล่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีกองกำลังเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงมีการฝึกพลพรรคเสรีไทยซึ่งมีอยู่สองขั้นตอน

ขั้นตอนที่ ๑ การจัดเตรียมบุคคล เพื่อที่จะเป็นหัวหน้าทำการฝึกอาวุธ และสอนยุทธวิธีการสู้รบให้แก่พลพรรคเสรีไทย ที่มีการจัดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะจัดส่งตำรวจ ทหาร พลเรือน ในค่ายของสัมพันธมิตรในอินเดียและเกาะลังกาแล้ว ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรขึ้นอีกด้วย

พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ เจ้ากรมทหารสารวัตร ได้รับมอบหมายจาก ปรีดี พนมยงค์ ให้จัดหาผู้ที่จะเข้ามาฝึกภายใต้เงื่อนไขที่ห้ามใช้กองกำลังทหารไทยของฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิบัติการเพื่อพรางไม่ญี่ปุ่นได้ทราบว่ามีการฝึกกองกำลังเสรีไทยภายใต้จมูกญี่ปุ่น ดังนั้นทางออกของ พล.ร.ต. สังวร ก็คือ การใช้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาทำการฝึก (ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยปิดทำการสอนเพราะอยู่ระหว่างสงคราม) ขณะเดียวกันก็ต้องบอกกับญี่ปุ่นว่า การจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรรุ่นพิเศษขึ้นมา ก็เพื่อจัดการรักษาความสงบภายในประเทศ ม.ร.ว. ยงสุข กมลาสน์ ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ในวันนั้นได้เล่าว่า

"ท่านพูดกับเราอย่างชายชาติทหาร ขอให้พวกเราไปช่วยงานของชาติ ท่านพูดกับเราน้อยมาก แต่ได้ความชัดเจนดี ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีคำพูดหว่านล้อมเอาสิ่งใดเป็นเครื่องล่อใจ พูดอย่างลูกผู้ชายกับลูกผู้ชาย พูดอย่างทหารกับทหาร"

จากนิสิตจุฬาที่เข้าประชุมประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน ได้มีการคัดเลือกให้เหลือ ๒๙๘ คน หลังจากนั้นก็มีการฝึกที่โรงเรียนนายทหารสารวัตร พล.ร.ต.สังวร เล่าถึงกองกำลังส่วนนี้ว่า

"เปิดโรงเรียน สห. ซึ่งมีกำลัง ๓ กองร้อย ทหารราบ ๑ หมวด หมวดฝึกกลหนักได้รับอุปการะจากครูทหารบก เรือ เรือตำรวจ ซึ่งทางการจัดมาอบรมสั่งสอน เพื่อก้าวไปตามหลักสูตร ๑ ปี การเปิดโรงเรียนทำต่อหน้า พล.ร.ต. หลวงสินธุ์สงครามชัย รัฐมนตรีกลาโหม นายพลโทนากามูระและพันเอกทูโคตะ ...ซึ่งเราต้องแสดงกลบเกลื่อนว่าตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น ก็เพื่อให้ได้จำนวนนายทหารที่ต้องจัดกองทหารสารวัตรใหม่"

หลังจากนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายไปยังค่าย "สวนลดาพันธ์" อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยพรางญี่ปุ่นว่าไปทำการฝึกภาคสนามเพื่อหาความชำนาญพิเศษ แต่ความจริงที่นั่นได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารอเมริกันที่ทิ้งร่ม ไว้ ณ อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ลำเลียงมาไว้เป็นระยะ ๆ และมีทหารอเมริกันได้กระโดดร่มมาประจำการอยู่แล้ว

ขั้นตอนต่อมา คือการจัดฝึกพลพรรคใต้ดินโดยแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบของผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด ประสานกับนายทหารเสรีไทยทั้งอังกฤษและอเมริกาที่แบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน

ม.จ. การวิก จักรพันธุ์ เสรีไทยสายอังกฤษที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดตั้งค่ายพลพรรคใต้ดินที่จังหวัดตาก เล่าถึงการทำงานว่า...

ปิยะ จักกะพาก นักเรียนเตรียมแพทย์จุฬาฯ พลเรือนชุดแรก ที่เดินทางไปฝึกต่างประเทศ "ผมสอนวิชาพื้นฐานทางทหารป่า หัดแถวสำหรับระเบียบวินัย พละ ยิงปืน ขว้างลูกระเบิด อ่านแผนที่ สอดแนม วิธีรบแบบเงียบ ๆ โดยไม่ใช้เสียง และที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่สู้ตาย ต้องกลับมารายงานผล ต้องอยู่เพื่อรบคราวต่อไป

ค่ายที่ห้วยเหลืองมีกำลังไม่เกิน ๕๐๐ คน ระเบียบวินัยดีและคล่องตัวมาก พร้อมรบตั้งแต่เดือนมิถุนายน เราก็รอว่าเมื่อไหร่คำสั่งโจมตีจะมา "

แปลง คำเมือง ผู้ที่ได้เดินทางไปฝึกร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ค่ายทหารเกาะลังกา และกลับมาปฏิบัติงานที่ค่ายพลพรรคที่จังหวัดแพร่ เล่าถึงบรรยากาศที่นั่นว่า

"จำนวนพลพรรคที่รอการฝึกนี้มีประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ คน ส่วนพลพรรคที่ต้องฝึกจริง ๆ มีประมาณ ๒,๐๐๐ คน เขาทยอยมารับการฝึก ไม่ใช่ฝึกพร้อมกันหมด ได้เท่าไหร่ก็แล้วแต่จะหามาได้ คุณทอง กันทาธรรม (ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และเป็นหัวหน้าเสรีไทยในจังหวัดด้วย) มีหน้าที่หาพลทหารมารับการฝึก ผมมีหน้าที่ช่วยฝึกและรับ-ส่งวิทยุ"

จากการรวบรวมของนายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) ใน XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย แสดงจำนวนพลพรรคที่ผ่านการฝึกแล้วดังนี้
๑. เพชรบุรี พลพรรคที่ผ่านการฝึกแล้ว ๑,๐๐๐ คน ทหารในบังคับบัญชาของ พ.ท. หวังชัย นามสนธิ อีก ๓,๓๐๐ คน
๒. หัวหิน พลพรรคที่ได้รับการฝึกอย่างดี มีอาวุธสำหรับจ่ายได้ครบตัว ๑,๐๐๐ คน
๓. สกลนคร มีกำลัง ๓,๕๐๐ คน
๔. นครพนม มีกำลัง ๘๐๐ คน
๕. อุดรธานี มีกำลัง ๑,๒๐๐ คน
๖. หนองคาย มีกำลัง ๒๐๐ คน
๗. มหาสารคาม มีกำลัง ๔,๐๐๐ คน
๘. ฉะเชิงเทรา มีกำลัง ๑๓๒ คน
๙. ชลบุรี มีกำลัง ๒,๐๐๐ คน
๑๐. อุบลราชธานี มีกำลัง ๓,๐๐๐ คน
ทั้งนี้ ยังไม่นับกำลังทหารและตำรวจสนามในภาคพายัพ ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ ตลอดจนพลพรรคอีกหลายหน่วยในหลายจังหวัด หลายตำบล ซึ่งนายทหารเสรีไทยจากต่างประเทศช่วยกันฝึกหัดอบรมอยู่อย่างเร่งรัด

การสร้างสนามบินลับ

การรับส่งอาวุธโดยการทิ้งร่มชูชีพมีข้อจำกัดว่าทำได้เฉพาะคืนเดือนหงาย คือประมาณระหว่างขึ้น ๑๒ ค่ำ ถึงแรม ๔ - ๕ ค่ำ และอาวุธที่จะส่งมาให้นั้นมีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงมีการจัดสร้างสนามบินลับขึ้น ฝ่ายสัมพันธมิตรมอบหมายให้ขบวนการเสรีไทยจัดสร้างขึ้นในภาคอีสาน เพื่อรับเครื่องบินดาโกต้า (C-47) มี เตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนจังหวัดสกลนคร เป็นผู้ควบคุมดูแล โดยจัดสร้างขึ้นที่บริเวณอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอโนนหัน จังหวัดเลย ต่อมาได้มีการขยายเพิ่มอีก รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๔ แห่ง แต่ก็ใช่ว่าการสร้างสนามบินลับจะราบรื่น เมื่อญี่ปุ่นค้นพบสนามบินลับที่พลพรรคเสรีไทยได้สร้างขึ้นในภาคอีสาน เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๘ และบอกให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงกับฝ่ายญี่ปุ่นไปว่า สนามบินลับที่ญี่ปุ่นค้นพบนั้นเป็นสนามบินที่ไทยสร้างขึ้น เพื่อฟื้นฟูการบินพาณิชย์ในเขตที่การคมนาคมยังไม่สะดวก แต่ไทยไม่เคยใช้สนามบินนั้นมาก่อน

ทว่าญี่ปุ่นก็ไม่ไว้ใจ เมื่อสืบทราบว่ามีสนามบินลับที่บ้านตาดภูวง ในจังหวัดสกลนคร จึงมีกำหนดการที่จะบินไปสำรวจ พลพรรคเสรีไทยที่นั่นเมื่อทราบเรื่องก็แก้ปัญหาโดยการพรางสนามบิน วิสุทธิ์ บุษยกุล ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นด้วยเล่าให้ฟังว่า

"เสรีไทยประมาณ ๕๐๐ คน ต่างไปที่สนามบินพร้อมกับกล้าข้าวที่ระดมหามาให้มากเท่าที่จะมากได้ ถึงดินจะแข็งแต่เราใช้ไม้ตอกลงเป็นหลุมเพื่อให้กล้าอยู่ได้ และจะต้องทำในตอนดึก เพราะรู้ว่ากล้าอยู่ได้ไม่นานก็จะเหี่ยวเนื่องจากไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง คนตอกหลุมก็ตอกไป คนปักก็ปักไป จนเสร็จก่อนย่ำรุ่งพอดี โชคดีญี่ปุ่นมาตรวจตอนเช้า ทำให้ต้นกล้ายังไม่เหี่ยวตาย และเครื่องบินก็บินผ่านไปโดยไม่รู้ว่านาข้าวที่เห็นนั้น เป็นสนามบินลับที่เราเนรมิตให้เป็นนาข้าวภายในคืนเดียว"

ผลจากการสร้างสนามบินลับสำเร็จ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาในประเทศทำได้สะดวกและ การรับส่งคนทางเครื่องบินในการติดต่อกับฝ่ายพันธมิตรได้ง่ายขึ้นด้วย
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:31

 ไพ่ใบสุดท้าย ขบวนการเสรีไทย

ถึงแม้ความร่วมมือทางการทหารระหว่างขบวนการเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรจะคืบหน้าไปมาก ด้วยมีภารกิจร่วมกันคือการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย แต่การดำเนินการทางการเมืองกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากการส่งนายดิเรก ชัยนาม ไปที่เมืองแคนดี เกาะลังกา เพื่อเจรจาเรื่องสถานภาพทางการเมืองภายหลังสงคราม ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษแจ้งมาในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ว่า

"การประชุมปรึกษากัน...จะจำกัดเฉพาะในด้านการทหาร จะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง"

หรือเมื่อ กนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้เจรจากับตัวแทนสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๘๘ นั้น ก็ได้รับคำตอบเหมือนเช่นอังกฤษ คือ ยังคงสถานะเดิมของการติดต่อ จะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในดินแดนสัมพันธมิตรแต่อย่างใด

การรอให้มีการเจรจาสถานภาพทางการเมืองภายหลังสงครามนั้น ไทยจะตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มั่นใจว่า คณะเสรีไทยที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ จะมีความสามารถในการต่อต้านญี่ปุ่นจริง

ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายโดยการทำหนังสือส่งไปยังตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่วอชิงตัน ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๘๘ แจ้งให้ทราบว่า

"ขบวนการต่อต้านฝ่ายไทยได้ยึดมั่นอยู่ในคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันตลอดเวลา ในการที่จะไม่กระทำการก่อนเวลาในการปฏิบัติทุก ๆ ประการเพื่อต่อต้านข้าศึก แต่ในระยะเวลานี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าความอยากสู้รบของญี่ปุ่นจะถูกทำให้ลดน้อยลง หากขบวนการต่อต้าน (ญี่ปุ่นในประเทศ) จะไม่อยู่ในลักษณะปกปิดอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบังคับให้ยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างปราศจากเงื่อนไขเร็วเข้า
เพราะความกลัวของการสิ้นสุดของวงศ์ไพบูลย์"

ภายหลังมีจดหมายตอบจากวอชิงตัน ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ว่า

"ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งในสารที่ท่านได้ส่งให้รัฐมนตรี เราเข้าใจความปรารถนาของท่าน ที่จะให้ประเทศไทยเข้าต่อต้านศัตรูอย่างเข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าท่านคงตระหนักว่า การต่อต้านทั้งหมดต่อศัตรูร่วมของเรา จะต้องประสานกันกับแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดต่อญี่ปุ่น และจะไม่เป็นการอันดีหากประเทศไทยจะเริ่มต้นปฏิบัติการณ์อย่างเปิดเผยก่อนเวลา"

การตอบจดหมายดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการเจรจาสถานภาพทางการเมืองของไทยภายหลังสงคราม เพราะจะไม่มีเหตุผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรอ้างได้ว่า ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับญี่ปุ่น เพียงแต่ว่าการลุกขึ้นสู้กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการชะลอเวลาให้มีการปฏิบัติการพร้อมกัน
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.ค. 05, 08:37

ความตึงเครียดครั้งสุดท้าย

"อย่าได้หลงผิดว่าญี่ปุ่นจะถูกขับไล่ออกจากประเทศไทยโดยง่าย เพราะทหารญี่ป่นจะต่อสู้จนคนสุดท้าย"
พล.ท. นากามูระ

แม้ไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่จะชี้ชัดไปว่า ญี่ปุ่นรู้หรือไม่ว่าว่ามีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้น และถ้ารู้ รู้เมื่อไหร่ และรู้อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงปลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการต่อต้านญี่ปุ่นโดยการพยายามติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่จุงกิง ประเทศจีน หรือการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ด้วยเหตุผลที่ให้ในภายหลังว่า เพื่อใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์เตรียมรบกับญี่ปุ่นในขั้นสุดท้าย แต่แผนการที่จะยึดประเทศไทยได้ถูกวางไว้แล้วว่าเป็นวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ทว่าแผนดังกล่าวถูกระงับไว้เสียก่อน

ประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็คือ การที่ทหารญี่ปุ่นซึ่งประจำอยู่ที่วิกตอเรียพอยต์ เขตประเทศพม่า ซึ่งไม่ได้รับคำสั่งยกเลิกปฏิบัติการยึดประเทศไทย ได้ดำเนินการตามแผนการเดิมด้วยการเข้ายึดจังหวัดระนอง เกิดการปะทะกัน ส่งผลให้ จ.ส.อ. สวัสดิ์ ดิษยบุตร เสียชีวิตด้วยคมดาบซามูไร ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้จะได้รับคำสั่งยกเลิกปฏิบัติการ แต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็จับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกฝีก้าว จนทำให้นายควงต้องยื่นคำขาดกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นให้เลิกทำตัวเป็นสายลับ โดยขู่ว่าจะลาออก หรือการที่ครั้งหนึ่งเสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองพม่าได้บินมาพบ พล.ท. นากามูระเพื่อขอให้กวาดล้างขบวนการเสรีไทย ถ้าไม่ทำ กองทัพญี่ปุ่นในพม่าจะเข้ามาทำเสียเอง แต่ พล.ท. นากามูระไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ปรีดา ด่านตระกูล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง นายควงกับแม่ทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญหลังสงครามสงบใหม่ ๆ เล่าว่า การประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่คราวหนึ่งเอ่ยถึง แผนการที่จะจัดการกับประเทศไทยในกรณีที่ไทยเตรียมการจะหักหลังญี่ปุ่น ดังนี้

แผนที่ ๑ ญี่ปุ่นจะแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า ญี่ปุ่นทราบแผนการลับของเสรีไทยและขอให้ระงับแผนการดังกล่าวเสีย

รัฐบาลนอกจากจะปฏิเสธข้อกล่าวหาของญี่ปุ่นแล้ว ยังได้เสนอร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิธีปฏิบัติกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าว อันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทย กับประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ในภาวะสงครามออกมาอีกด้วย นายควงเล่าบรรยากาศในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีเสียงลือกันไปจนเข้าหูญี่ปุ่นว่า ทางไทยจะลุกฮือขับไล่ญี่ปุ่น และฝ่ายไทยก็ได้รับข่าวว่าญี่ปุ่นจะลุกฮือยึดกรุงเทพฯ วันที่ ๒๙ จึงเป็นวันที่อลเวงมาก


ม.จ. การวิก จักรพันธุ์
เสรีไทยสายอังกฤษ หัวหน้าฝึกพลพรรคเสรีไทย ในจังหวัดตาก แผนสุดท้ายก็คือการเชิญนายกรัฐมนตรีไปเยือนญี่ปุ่น ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ไป ก็หมายความว่ามีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะปลดอาวุธกองทัพไทยได้ แต่นายควงก็ตอบตกลงทันที ต่างจากเมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธที่จะไปประชุมนานาชาติมหาเอเชียบูรพา ณ กรุงโตเกียว ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๖ โดยส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นตัวแทนประเทศไทย


นายควง อภัยวงศ์

ยิ่งนานวันเข้า ก็เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งร่มกลางสนามหลวงในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นโกรธมาก ค่ำวันนั้นเองได้เชิญนายควงเข้ารับประทานอาหารค่ำ และสอบถามกรณีดังกล่าว นายควงจึงต้องอาศัยไหวพริบในการเอาตัวรอด

"พล.ท. นากามูระเห็นผมก็ทักว่า เอ นายกฯ ทำไมหน้าตาถึงไม่สบายอย่างนี้ ผมก็บอก พุทโธ ปวดศีรษะจะตายไป

ส่วนเอกอัครราชทูตยามาโมโตก็กระแหนะกระแหนว่า ทำไมไม่กินยาที่เขาเอามาทิ้งไว้เมื่อเช้านี้ล่ะ ผมก็ไหวทัน ตอบไปว่าก็ลองกินซี ถ้าเกิดฉันตายไปแล้วท่านจะเอานายกฯ ที่ไหนมาแทนเล่า พวกนั้นก็เลยหัวเราะกัน"

แต่สถานการณ์สงครามกลับตึงเครียดขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อกองทหารไทยทั่วราชอาณาจักร ได้รับคำสั่งให้สร้างป้อม และรังปืนกลภายในเมือง และรอบบริเวณหน่วยที่ตั้งของทหารทุกหน่วย พล.อ. เนตร เขมะโยธิน เล่าบรรยากาศช่วงนั้นผ่านงานใต้ดินของพันเอกโยธินไว้ว่า

"เฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพพระมหานคร ตามสี่แยกต่าง ๆ มีป้อมค่ายของทหารไทยตั้งอยู่ทั่วไป โดยฝ่ายเราให้เหตุผลว่า เราเกรงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรส่งพลร่มลงมาปฏิบัติการยึดพระนคร จุดที่ค่ายทหารไทยกับญี่ปุ่นอยู่ใกล้กัน ทำให้ต้องมีการตั้งป้อมเผชิญหน้ากันเลยทีเดียว"

ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าญี่ปุ่นรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย แต่ยังไม่ทราบว่าใครบ้างอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เริ่มมีปัญหาภายใน เนื่องจากกำลังประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิอื่น ๆ โดยเฉพาะการที่ต้องล่าถอยออกจากพม่าตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๔๘๘ ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องรักษาประเทศไทยในฐานะที่มั่นสุดท้ายทางการทหารนอกประเทศไว้ให้ได้ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สั่งสมมาและกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น ระเบิดปรมาณูลูกแรกก็ถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา อีกสามวันต่อมาระเบิดปรมาณูลูกที่ ๒ ถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ มีผู้เสียชีวิตทันทีรวมกันมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ต้องมีพระบรมราชโองการยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘

วันเดียวกันนั้น ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบตแทน ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้ส่งสารมาถึง ปรีดี พนมยงค์ แนะนำให้ออกประกาศปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกาที่ไทยได้ประกาศในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รวมทั้งยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงทั้งปวงกับญี่ปุ่น

ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์
ข้าราชการ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้คุ้มกันกองบัญชาการ เสรีไทยสายอังกฤษ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศว่า การประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็น "การกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง" และคนไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ร่วมมือกันทุกวิถีทาง ในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นจึงขอประกาศว่า "การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย" และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้
........................................

แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ มาได้โดยไม่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ยืนเคียงข้างญี่ปุ่นตลอดเวลา แต่คำอธิบายว่าไทยรอดพ้นจากการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามมาได้ ด้วยการดำเนินนโยบาย "ตีสองหน้า" โดยด้านหนึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะจอมพล ป. อยู่เคียงข้างฝ่ายอักษะ ขณะอีกด้านขบวนการเสรีไทยอยู่เคียงข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ประเทศไทยก็จะชนะด้วยนั้น คำอธิบายเท่านี้เห็นจะไม่เพียงพอ เพราะแม้ว่าจะดำเนินนโยบายฉลาดเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่ได้มีปฏิบัติการจริงในการต่อต้านญี่ปุ่น และช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยก็ยากที่จะได้รับการรับรอง อีกทั้งการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษ จะรับรองสถานภาพของขบวนการเสรีไทย ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง การเจรจาสถานภาพหลังสงครามแม้ว่าไทยจะไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่อังกฤษก็มีความพยายามที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง การที่จะเจรจาผ่านขั้นตอนดังกล่าว ไปได้ก็ต้องอาศัยสถานภาพของขบวนการเสรีไทย ที่มีการดำเนินการทางการทหารทั้งในและนอกประเทศ มีกองกำลังเป็นของตนเอง มีการปฏิบัติจริง พร้อม ๆ กับการดำเนินการทางการเมือง ที่แสดงให้เห็นว่าเสรีไทยพร้อมที่จะสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดเวลา

และด้วยการกระทำนี้เองที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามมาได้ ดังคำกล่าวของ ปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวแก่กองกำลังเสรีไทยในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองว่า

"ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีก ๑๗ ล้านคนที่ทำหน้าที่โดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ ...ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้รับใช้ชาติเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนั้นก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นโดยพฤตินัยไม่ใช่คนไทย"

ข้อมูลจาก นิตยสารคดี
โดย : ธนาพล อิ๋วสกุล
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง