เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 11654 อยากฟังเพลง บุหลันลอยเลื่อนช่วยหามาให้ฟังหน่อยได้เปล่าครับ
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 มี.ค. 06, 19:57

 ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าบางทีสิ่งที่เป็นนามธรรมเกิดขึ้นมาด้วยความไม่จงใจ
อย่างเช่นความฝัน ของบุคคล คนหนึ่งจะถูกจัดทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นและ
ถูกบอกกล่าวสืบทอดต่อๆกันมาอีกหลายสิบ หลายร้อยปี และอาจถึงปัจจุบัน
นอกจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า มีพระภกษุ หรือคนเฒ่าคนแก่  ฝันถึงองค์
พระพุทธรูป หรือทรัพย์มีค่าที่ถูกซ่อนไว้ฝังไว้ แล้วเจ้าตัวผู้ฝันก็ไปขุด ไปหา
ตามความฝัน แล้วเจอและเก็บไว้จนถึงปัจจุบัน ก็มีเพลงบุหลันลอยเลื่อนนี่แหละ
ที่ผมพอจะจำได้ว่ามีมูลเหตุมาจากความฝันเช่นกัน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธ
เลิศหล้านภาลัยทรงมีพระสุบิน แล้วทรงจดจำเพลงในพระสุบินนำมาเรียบเรียงจน
เป็นเพลงอันไพเราะที่สืบความไพเราะมายาวนานถึงสองร้อยปีในเราๆได้ฟังกัน
น่าประทับใจดีนะครับ
ปล. ใครพอจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความฝันของคนในอดีต(ทั้งไทยและเทศ)
นอกจากนี้ ที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นและได้รับการกล่าวสืบต่อๆกันมา
จนปัจจุบันบ้างไหมครับนำมาแบ่งความรู้ให้กันบ้างดีกว่าไม๊ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 14 มี.ค. 06, 20:38

 ขอเชิญอ่านบทความนี้ค่ะ

 http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=171

เป็นที่รู้กันว่าศิลปินทั้งหลายมีย่อมมีแรงบันดาลใจ จึงสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่เราอาจจะนึกฉงนว่าแรงบันดาลใจมาจากไหน ทำงานของมันอย่างไร จึงได้กลายเป็นงานศิลปะอันงดงามและยั่งยืนเกินช่วงชีวิตของเจ้าของผลงาน

คำตอบไม่ได้มาจากที่เดียว แรงบันดาลใจของศิลปินเกิดขึ้นได้จากหลายอย่างด้วยกัน บางคนได้จากประสบการณ์ บางคนได้จากธรรมชาติรอบตัว หรือไม่ก็อาจจะมีชายหรือหญิงสักคนเป็นที่มา ถ้าเป็นอย่างนี้ แม้จะน่าสนใจ แต่ก็ไม่เรียกว่าน่าอัศจรรย์

ตัวอย่างหนึ่งของความน่าอัศจรรย์คือแรงบันดาลใจในขณะที่ศิลปินไม่รู้ตัว มาถึงในขณะนอนหลับ ดังจะเล่าให้ฟังค่ะ

ย้อนอดีตไปในรัชกาลที่ ๒ เป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ทั้งทางด้านกวีนิพนธ์และการดนตรี โปรดทรงซอสามสาย มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อ "ซอสายฟ้าฟาด" ในยามว่างก็จะหยิบซอมาทรงอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะยามค่ำคืนก่อนเข้าบรรทม

ในคืนหนึ่ง หลังจากทรงซอสายฟ้าฟาดอยู่จนดึกก็เข้าบรรทม ทรงพระสุบินว่าเสด็จไปสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง มีพระจันทร์เต็มดวงค่อยๆลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงกระจ่างไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวานเจื้อยแจ้วมาด้วย ทรงสดับฟังดนตรีอยู่จนพระจันทร์คล้อยเคลื่อนไปก็ตื่นบรรทม แต่เสียงดนตรียังแว่วกังวานอยู่ในพระโสต ก็โปรดฯให้หานางในพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงตามที่ได้ยินในพระสุบิน เกิดเป็นเพลงใหม่ที่ไพเราะจับใจ พระราชทานนามว่า เพลง "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า" หรือ "บุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลันลอยฟ้า"

เพลงนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าเพลง "ทรงพระสุบิน" บางครั้งก็เรียกว่าเพลง "สรรเสริญพระจันทร์" ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่จะมีเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน

เหตุการณ์ละม้ายคล้ายคลึงกันแม้ว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันไป เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเวลาเกือบสองร้อยปีต่อมา

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ละครเวทีเฟื่องฟูอยู่ในแวดวงบันเทิงของไทย คณะศิวารมณ์เตรียมละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" เพื่อแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ใกล้ถึงกำหนดออกโรงในอีกไม่กี่วัน ในบรรดาทีมงานมีผู้ทำหน้าที่เล่นดนตรีให้พวกนาฏศิลป์ซ้อมและต่อเพลงให้นักร้อง คือนักเปียโนหนุ่มชื่อสง่า

เย็นวันหนึ่งหลังจากเลิกซ้อมดนตรี สง่าออกไปกินอาหารกับนักประพันธ์รุ่นพี่ชื่อเรืออากาศโททองอิน บุณยเสนา ผู้มีฝีมือในการแต่งเพลง ใช้นามปากกาว่า "เวทางค์" ทั้งสองปรารภกันถึงเพลงเอกในเรื่องซึ่งยังไม่ลงตัว เพราะทำนองที่มีผู้แต่งส่งมาให้ยังไม่เป็นที่ถูกใจของเจ้าของเรื่องและผู้กำกับการแสดง ซึ่งต้องการเพลงทำนองไทยเดิมที่เย็นและหวานเศร้า "เวทางค์" จึงบอกว่า เพลงไทยที่หวานเศร้าถูกใจมี ๒ เพลงคือ "เขมรไทรโยค" และ "ลาวครวญ" แล้วก็ร้องสลับกันให้ฟัง จนกินเสร็จต่างคนต่างก็แยกกันไป สง่าก็กลับมาที่ศาลาเฉลิมกรุง แล้วเลยนอนหลับอยู่ที่นั่น

คืนนั้นนักเปียโนหนุ่มฝันเห็นคน ๔ คน เป็นผู้หญิงหนึ่งและผู้ชายอีกสาม ผู้ชายคนแรกได้เล่นเปียโนเพลง "เขมรไทรโยค"ให้อีกสามคนฟัง พอเล่นจบ ผู้หญิงก็เล่นเปียโนเพลง "ลาวครวญ" บ้าง ต่อจากนั้นชายคนที่สองก็ลงมือเล่นเปียโนด้วยการเอาเพลงทั้งสองมาผสมผสานกัน จนเกิดเป็นเพลงใหม่ที่ไพเราะอย่างยิ่ง ส่วนชายคนที่สามยืนฟังเสียงเพลงด้วยความพอใจ

วันรุ่งขึ้นในตอนบ่าย สง่าก็ลองเล่นเปียโนเพลงที่ได้ยินจากความฝันดู ปรากฏว่าเป็นที่พออกพอใจของผู้ใหญ่ในคณะละคร จึงมีการแต่งเนื้อร้องประกอบ และให้พระเอกละครคือสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ร้องทันที ใช้เวลาไม่ถึง ๒๐ นาทีก็แต่งเสร็จ

เพลงนั้นคือเพลง "น้ำตาแสงไต้" ที่ยั่งยืนมาจนทุกวันนี้


นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ

ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย

น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว

แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา

นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า

ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม

น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม

ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล

นวลเจ้าพี่เอย................ .นวลเจ้าพี่เอย


นักเปียโนหนุ่มเจ้าของผลงานจากความฝันคือสง่า อารัมภีร ภายหลังได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล)เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ แรงบันดาลใจเรื่องนี้ท่านได้ถ่ายทอดให้บูรพา อารัมภีร์ ผู้เป็นบุตรชายได้รับฟัง จนกลายมาเป็นตำนานในหนังสือชื่อ " เบื้องหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีร" ปัจจุบันแม้ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ล่วงลับไปแล้ว แต่ "น้ำตาแสงไต้" ยังเป็นที่นิยมในความงามทั้งท่วงทำนองและถ้อยคำอยู่ไม่เสื่อมคลาย

แรงบันดาลใจอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับศิลปินไทยเพียงเท่านั้น แม้ในประเทศตะวันตกก็เคยเกิดมาเช่นกัน ใครชอบเพลงคลาสสิคคงเคยได้ยินชื่อฟรานซ์ ลิสซท์ คีตศิลปินชาวฮังกาเรียนผู้เป็นนักเปียโนระดับปรมาจารย์ในยุคปลายศตวรรษที่ ๑๙ เขาได้แต่งเพลงชั้นเยี่ยมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเปียโนไว้หลายเพลง เช่น Sonata in B minor, Hungarian Rhapsodies และ Piano Concertos #1 ในจำนวนนี้มีเพลงวอลทซ์ที่ไพเราะมากอยู่เพลงหนึ่ง มีชื่อแปลกว่า " วอลทซ์ปีศาจ" มีประวัติว่าลิสซท์เข้านอนแล้วฝันไปว่ามีปีศาจมาปรากฏตัวแล้วเล่นดนตรีให้เขาฟัง เป็นเพลงที่เขายังจดจำทำนองได้แม่นยำแม้จะตื่นนอนขึ้นมาแล้ว จึงนำมาเรียบเรียงเสียงประสานเป็นเพลง แล้วตั้งชื่อว่า Mephisto Waltz เพราะ Mephisto ก็คือปีศาจชื่อ Mephistopheles ซึ่งตามตำนานเรื่อง Faust ของเยอรมัน เป็นปีศาจมือขวาของพญามารที่มาเจรจาซื้อขายวิญญาณกับมนุษย์ ด้วยการตกลงมอบทุกสิ่งที่ปรารถนาให้มนุษย์ผู้นั้น มีข้อแม้ว่าวิญญาณหลังจากเขาสิ้นชีวิตต้องตกเป็นทาสของพญามารชั่วกาลนาน

เราจะอธิบายถึงแรงบันดาลใจอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ได้อย่างไร เป็นไปได้ว่าจิตใต้สำนึกของศิลปินเหล่านี้ยังทำงานอยู่ไม่หยุดยั้งแม้ว่าร่างกายอยู่ในภาวะหลับสนิทไม่รู้สึกตัว หรือจะเป็นไปได้ว่าสำหรับบุคคลผู้เกิดมาเป็นศิลปิน สวรรค์ได้ให้" พร" มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยส่งมอบในรูปแบบที่คนธรรมดาทั่วไปไม่ได้รับ หรืออาจจะเป็นคำตอบที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ เกินกว่าสติปัญญาและความเข้าใจของเราจะเอื้อมไปถึง เหมือนเชกสเปียร์เคยสร้างให้แฮมเล็ตพูดกับโฮราชิโอว่า

"There are more things in heaven and earth, Horatio, than are dreamt of in your philosophy." " มีสรรพสิ่งนอกเหนือกว่านี้ ทั้งบนสวรรค์และพื้นพิภพ โฮราชิโอ ที่ปรัชญาของท่านไม่อาจจะหยั่งถึงได้"  

 
*บทความนี้ ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติ ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ของบทความนี้ เป็นของผู้เขียน ซึ่งได้ให้เกียรติ วิชาการ.คอม ในการนำเผยแพร่ เรามีความยินดี หากท่านจะนำบทความนี้ เผยแพร่สู่คนวงกว้างขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษา และไม่มีผลในเชิงธุรกิจ กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างถึงชื่อผู้เขียน และ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้ง ที่มีการทำซ้ำบทความนี้ ห้ามนำบทความนี้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใด ทำการเผยแพร่ต่อ ในสื่อที่ดำเนินการเพื่อธุรกิจทุกรูปแบบ ก่อนได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยร่วมกันสร้าง สังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งปัญญา
บันทึกการเข้า
นิรนารี
อสุรผัด
*
ตอบ: 37

Niranaree


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 มี.ค. 06, 05:42




Full moon and empty arms

The moon is there for us to share

But where are you?

A night like this could weave a memory

And every kiss could start a dream for two

Full moon and empty arms

Tonight I'll use the magic moon to wish upon

And next full moon if my one wish comes true

My empty arms will be filled with you



จันทร์ทรงกลดแจ่มแจ้ง .........เปลี่ยวเปล่า อ้อมอก

เดือนปลั่งดั่งคืนเก่า ...............คู่เคลิ้ม

นางเอยอยู่หนเนาว์ .................เสน่ห์ เดือนดึก

คืนค่ำฉะนี้เยิ้ม ........................เริ่มฟื้น จุมพิต ฯ

บุหลันพลันแจ่มแจ้ง .................ไร้เธอ  อกพี่

มนต์จันทร์ฝันละเมอ ...............ไคว่คว้า

เดือนเพ็ญหนึ่งล้ำเลอ ..............วอนเสก สมสุข

เปลี่ยวเปล่าแห่งอกข้า .............อุ่นล้น  มีเธอ ฯ
บันทึกการเข้า
dreamer
อสุรผัด
*
ตอบ: 3

ฟรีแล้นซ์ ดูแลเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ขนาดเล็ก ๆ ให้กับ 3 บริษัท (บรรจุภัณฑ์, ฟื้นฟูกิจการ, เครื


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 พ.ค. 06, 12:22

 อยากได้เพลง ราตรีประดาวเถา แสนคำนึงเถา  เป็นแบบ วงมโหรี วงเครื่องสายผสม หรือ สังคีตประยุกต์ ก็ได้ครับ

ถ้ามีที่ให้ดาวน์โหลด ก็จะดีนะครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 มิ.ย. 06, 10:29


ขอวกมาเรื่องรัชกาลที่ ๗ กับดนตรีไทยหน่อยนะครับ เล่ากันว่า เมื่อปี ๒๔๗๐ รัชกาลที่ ๗ ทรงศึกษาด้านดนตรีไทย ได้ทรง
ซออู้ และสมเด็จพระบรมราชินีทรงซอด้วง และเมื่อปี ๒๔๗๒ ได้พระราชนิพนธ์เพลงขึ้นคือ "ราตรีพระดับดาว" โดยเล่ากันว่า เมื่อทรงฟังเพลง แขกมอญบางขุนพรหม ที่ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงพระนิพนธ์ ในบทร้องมีวรรคหนึ่งร้องว่า "ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา  เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา  ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา  ฉันได้มาจากวังบางบุนพรหม" จึงทรงเกิดแรงบันดาลใจ นำเพลงมอญดูดาว มาพระราชนิพนธ์เป็นเพลงเถา โดยพระราชนิพนธ์บทร้องตอนหนึ่งว่า "ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง" โดยทำนองเพลงราตรีประดับดาวนี้ แรกเริ่มเดิมที่ยังมิได้ทรงพระราชทานชื่อ และก็มีเจ้านายหลายๆพระองค์ คิดชื่อเพลงถวาย เช่น ดาวประดับฟ้า  และ ดารารามัญ
ต่อมาวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้ออกขับร้องบรรเลง กระจายเสียง ณ สถานี ๑.๑. P.J. ที่ศาลาแดง และได้ประกาศชื่อเพลงนี้ว่า ราตรีประดับดาว ซึ่งเป็นชื่อที่รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งขึ้นเอง จึงเป็นดันตกลงใช้ชื่อนี้ตลอดมา
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 มิ.ย. 06, 10:37


กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรธมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดั่งกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันคอยเคร่าทุกเวลา
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 01 มิ.ย. 06, 10:44

 เคยอ่านเจอว่า ซอสายฟ้าฟาด ได้มีผู้เจอครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซอสายฟ้าฟาดคันนี้ก็อันตธานไป หาไม่พบ นับว่าน่าเสียดายยิ่ง ตอนนี้เวลาพูดถึงซอสายฟ้าฟาด ก็เลยเหมือนเป็นซอในตำนาน (เคยเห็นเครื่องดนตรีไทยโบราณหลายชิ้นอยู่ที่ตาม พิพิธภันฑ์ ต่างๆ และก็มีเคร่องดนตรีไทยอีกหลายชิ้นที่อยู่ในพระราชวัง แต่ก็ไม่มีใครที่จะสามารถระบุลงไปได้ว่าซอสามสายคันไหน คือ ซอสายฟ้าฟาด)
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 01 มิ.ย. 06, 11:40

 บุหลันลอยเลื่อนเป็นเพลงประหลาดนะครับ เล่นไม่เบื่อ ฟังไม่เบื่อ

ผมว่าฟังดูก็คล้ายๆกับแขกสาหร่าย เพียงแต่กระชับกว่า
ออกสำเนียงเหมือนแขกปนมอญ เล่นอยู่กับโน้ตตัว ที แล้วก็ มี

โดยเฉพาะเนื้อร้องนี่จนตอนนี้ยังติดอยู่กับปากเลยครับ

"บุหลันลอยเลื่อนฟ้าหมดราคี  รัศมีส่องสว่างดั่งกลางวัน"

เห็นภาพพระระเบียงตำหนักทองทีเดียว บรรยากาศสมัยรัชกาลที่ 2 ก็คงเป็นเช่นนั้นจริงๆ พระเจ้าอยู่หัวบรรทมโสมนัสในพระที่
แล้วมีมโหรีขับกล่อม ซอสามสายเคล้าครวญอยู่เรื่อยๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง