เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 19691 ก.ศ.ร กุหลาบ คือใครครับ
เหลนนางพญา
อสุรผัด
*
ตอบ: 39

หมื่นลี้ ย่อมมีก้าวแรก


 เมื่อ 13 เม.ย. 05, 18:41

 อ่านเจอในศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด(1 เม.ย.2548) กล่าวว่า "ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้หลักฐานหลังรัชกาลที่ ๔ มีการกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตอย่างละเอียดลออมากขึ้น และอาจเป็นต้นเหตุของเรื่อง "เชื้อเจ้า" ทั้งปวงนี้ ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ในพระราชวงศ์พระองค์ใด แต่กลับเป็นบุคคลที่นักประวัติศาสตร์ในพระราชวงศ์ไม่เคยยอมรับและประณามว่าเป็นจอมโกหก บุคคลที่ว่านี้คือ ก.ศ.ร.กุหลาบ! "
เลยอยากทราบว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ คือใคร มีผลงานอะไรบ้าง มีชีวิตอยู่ในสมัยใด และทำไมจึงไม่เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์หรือครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 เม.ย. 05, 19:20

 http://www.geocities.com/siamintellect/intellects/kularb/biography.htm
ก.ศ.ร. กุหลาบ มีนามว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ เกิดในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม

เด็กชายกุหลาบได้ใช้ชีวิตอยู่ในวังหลวงอยู่จนกระทั่งโกนจุก ก็ย้ายออกมาอยู่นอกเรือนในฐานะมหาดเล็กวังนอก

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์อุปัชฌาย์ ก็ได้ฉายานามว่า เกศโร ซึ่งได้ใช้มาเป็นชื่อหน้าในภายหลัง คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตามความนิยมที่จะมีชื่อหน้าอย่างตะวันตก

  เนื่องจากได้มีโอกาสใกล้ชิดเจ้านายและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาก จึงมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ จึงทำให้ถูกไต่สวนบ่อยครั้ง ในข้อหาแต่งเติมพงศาวดาร ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของเขา ก็เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และมีความรู้ ดังที่เขาได้มีโอกาส

ก.ศ.ร. กุหลาบมีความสนใจและคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก จึงได้อิทธิพลจากตะวันตกมาพอสมควร เรียกได้ว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้า

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งกลุ่มนายทหารหนุ่มได้พยายามที่จะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก.ศ.ร. กุหลาบ ก็ยิ่งถูกเพ่งเล็งมากขึ้น ยังดีที่มิได้ถูกกลั่นแกล้งให้ต้องโทษจำคุกเช่นเดียวกับเทียนวรรณ

งานหนังสือของเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และชีวประวัติบุคคลสำคัญต่าง ๆ

ก.ศ.ร. กุหลาบ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ รวมอายุได้ ๘๗ ปี


ข้อมูลอื่น ก.ส.ร. กุหลาบ โดย มนันยา ธนะภูมิ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 เม.ย. 05, 19:22

 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=20576  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 เม.ย. 05, 19:26

 “ กุ” คำนี้แผลงมาจากชื่อของ นายกุหลาบ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามประเภท” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ซึ่งมีพฤติกรรมแปลกประหลาดพิสดาร ที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านร้านช่องเขาสักเท่าไร
โดยเฉพาะเรื่องของพงศาวดารที่นายกุหลาบเขียนเองตีพิมพ์ ใน “สยามประเภท”      โดยมักจะละเลงพงศาวดารแบบใส่สีตีไข่จนเละเทะเพี้ยนไปหมด ถึงขนาดเขียนประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร โดยอ้างว่า  ในสมัยสุโขทัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระปิ่นเกษ มีพระราชโอรสชื่อ พระจุลปิ่นเกษ

           ข้อความนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ท่านทรงทอดพระเนตรแล้ว เห็นว่าเป็นการบังอาจแต่งพงศาวดารขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย แถมยังเอาพระนามของพระองค์ไปแปลงเป็นพระจุลปิ่นเกษเสียอีก  จึงโปรดเกล้าฯให้มีการสอบสวนก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นผลให้บรรณาธิการ “สยามประเภท” สติเฟื่องผู้นี้ต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้าเสีย 33 วัน

           เรื่องราวของก.ศ.ร.กุหลาบนั้น น่าสนใจพอสมควร  หลายเรื่องที่นายกุหลาบเขียนด้วยหลักฐานและความเป็นจริง อันเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังเป็นอันมาก แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่แกเขียนขึ้นมาเอง  โดยการโยงเรื่องนั้นเข้ากับเรื่องนี้บ้าง สุดแท้แต่อารมณ์จะพาไป

           การอ่านบันทึกหรือจดหมายเหตุของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่เขียนไว้ จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ           เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปเจอเรื่องไหนเข้าที่นายกุหลาบ “กุ” ขึ้นมาเอง
           เพราะเหตุนี้แหละคนทั่วไป จึงเอาชื่อของนายกุหลาบมาเป็นความหมายของการยกเมฆปั้นเรื่องขึ้นมาเอง
           โดยใช้คำนำหน้าชื่อของแกเพียงคำเดียว คือ “กุ”
           แล้วก็เป็นคำที่นิยมใช้กันตลอดมา เพิ่งมาสร่างซาค่อยๆ หายไปเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
           นอกจากคำว่า “กุ” ที่เอามาจากชื่อของนายกุหลาบแล้ว ยังมีบางคนแผลงคำ ก.ศ.ร.กุหลาบ มาเป็น โกหกสดๆ ร้อน ๆ ยังงี้ก็มี โดยแผลงเอาแต่คำว่า ก.ศ.ร. เท่านั้น
 http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNewsType2_View.aspx?NewsID=0503000220  
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ก.ย. 05, 10:34

 ก.ศ.ร.กุหลาบ มีกล่าวในนิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวงอีกครับ ไปหาอ่านดูได้
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 พ.ย. 05, 09:23

 เพิ่งได้ฤกษ์มาเล่าประวัติ ก.ศ.ร. กุหลาบ อย่างละเอียด วันนี้เอง ค่ะ
อ่านแล้ว ขอเชิญตัดสินเองว่า นายกุหลาบ เป็นปัญญาชน หรือคนสติเฟื่อง
หรือว่ามีส่วนผสมของทั้งสองอย่าง

ส่วนดิฉันมองว่านายกุหลาบจะเป็นอะไรก็ตาม  การดำเนินชีวิตของเขาก็น่าสนใจ ควรจะหยิบยกมาให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก
 
ก.ศ.ร. กุหลาบ มีชื่อจริงว่า นายกุหลาบ  ตฤษณานนท์  เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2377 ในรัชกาลที่ 3
บิดาเป็นลูกจีนเกิดในเมืองไทยชื่อนายเส็ง  ได้ภรรยาเป็นหญิงไทยชื่อนางตรุษ
นางตรุษเป็นหญิงไทยที่มีเชื้อสายขุนนางสืบย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา  มีบรรพบุรุษเป็นกรมการเมืองนครราชสีมา ช่วงรัชสมัยไหนของอยุธยาก็ไม่ทราบ
เมื่อหลานปู่ของนายกุหลาบ ผู้เป็นมหาดเล็ก  ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงอ้างประวัติบรรพชนทางฝ่ายมารดา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามสกุลลูกหลานนายกุหลาบว่า ตฤษณานนท์  โดยทรงเลียนชื่อจากมารดานายกุหลาบ

ส่วนนายเส็ง ไม่มีประวัติมากไปกว่านั้น   ที่น่าสังเกตคือถึงนายเส็งเป็นลูกจีน  เขาก็ดำเนินชีวิตอย่างคนไทย  บุตรชายหญิงของเขาเติบโต ดำเนินชีวิตอย่างเด็กไทยกันทุกคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 พ.ย. 05, 09:25

 เมื่อเด็กชายกุหลาบอายุ 4 ขวบ พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากินรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขอไปอุปการะในตำหนัก ในฐานะบุตรบุญธรรม  ไม่ใช่ในฐานะข้ารับใช้  
แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่า ทรงมีความเกี่ยวเนื่องกับเครือญาติฝ่ายพ่อแม่นายกุหลาบทางไหน  

นายกุหลาบอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนครบอายุโกนจุก ต้องออกจากวังมาตามขนบธรรมเนียมประเพณีว่าเด็กผู้ชายโตแล้วอยู่ในวังอีกไม่ได้     แต่พระองค์เจ้ากินรีก็ทรงให้นายกุหลาบเป็นมหาดเล็กเรือนนอก

มหาดเล็กเรือนนอกคืออะไร   ตอบสั้นๆว่าหมายถึงข้าราชบริพารผู้ชายที่พำนักอยู่ข้างนอกวัง  
แต่ว่าเมื่อมีงานการของหลวง  หรือของเจ้านายที่เขาสังกัดอยู่ ที่จะต้องเข้าไปทำฉลองพระเดชพระคุณ ก็เข้าไปทำ
อาจจะเป็นครั้งคราวแล้วแต่จะมีกำหนดการ     ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า ข้าหลวงเรือนนอก

ความสัมพันธ์ของนายกุหลาบกับพระองค์เจ้ากินรี ยังคงดำเนินต่อมาในลักษณะ"ญาติ" มากกว่า "เจ้ากับข้า"
เมื่อนายกุหลาบแต่งงานมีบุตรธิดาหลายคน   เขาก็ถวายธิดาหลายคนเป็นนางข้าหลวงในตำหนักของพระองค์เจ้ากินรีและพระองค์เจ้าฉวีวรรณพระขนิษฐา

คนในตำหนักเรียกเด็กหญิงเหล่านี้ ว่า "หลานเสด็จ"
แต่ก็ไม่มีข้อยืนยันว่า เรียกเพราะนายกุหลาบอยู่ในฐานะบุตรบุญธรรมของเสด็จมาก่อน
หรือว่ามีความเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกันจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 พ.ย. 05, 08:37

 พูดถึงการศึกษา  ก็นับว่ามีการศึกษาที่ดีอย่างกุลบุตร  เมื่ออายุ 13 นายกุหลาบถวายตัวเป็นมหาดเล็กฝึกหัด   เข้าเล่าเรียนเขียนอ่านกับพระรัตนมุนีที่วัดพระเชตุพน
ได้เป็นศิษย์เรียนหนังสือจินดามณี กับความรู้ทางศาสนา กับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสซึ่งผนวชอยู่ที่วัดนั้น
อายุ 14 บวชเป็นสามเณรโดยมีกรมสมเด็จพระปรมาฯ เป็นพระอุปัชฌาย์    ได้ฉายาว่า เกสโร

คำนี้กลายมาเป็นตัวย่อ ก.ส.ร. หรือ บางแห่งสะกดว่า ก.ศ.ร. นำหน้าชื่อเดิม
ทำนองเดียวกับชื่อย่อของฝรั่ง  
เพราะต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น  นายกุหลาบก็ดำเนินชีวิตโก้เก๋ค่อนไปทางชาวตะวันตกมากกว่าคนยุคเดียวกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 พ.ย. 05, 08:40

 นายกุหลาบบวชเป็นสามเณรอยู่หลายปีจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงสึก  แล้วดำเนินชีวิตแบบชายไทย คือเข้ารับราชการ  สังกัดในกองร้อยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
ความสนใจพิเศษของนายกุหลาบอยู่ที่การเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งทั้งสยามมีคนไทยรู้กันไม่กี่คน   นายกุหลาบสมัครไปเป็นศิษย์ของสังฆราชปาเลอกัวซ์  เรียนภาษาละติน อังกฤษและฝรั่งเศส
สังฆราชปาเลอกัวซ์เป็นผู้ถวายพระอักษรเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้งผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศในรัชกาลที่ 3 ด้วย

เมื่ออายุ 25  นายกุหลาบก็แต่งงานกับหญิงสาวชื่อหุ่น มีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน    เป็นลูกสาวเสีย 8 คน มีบุตรชายคนเดียว  
ในการแต่งงาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากินรีทรงรับเป็นผู้ใหญ่ทางฝ่ายชาย
ต่อมามีบุตรกับอนุภรรยา ชื่อเปรม อีก 2 คน

อนาคตในกองร้อยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์คงจะจบลงเมื่อนายกุหลาบบวชเป็นภิกษุ 1 ปีหลังสมรส   เพราะในประวัติไม่ได้กล่าวถึงการงานด้านนี้อีก  
และก็ค่อนข้างแปลกที่นายกุหลาบมาบวชเอาเมื่ออายุ 26 หลังมีครอบครัวแล้ว  ผิดกับชายไทยอื่นที่มักจะบวชเมื่ออายุครบ 20 แล้วจึงค่อยแต่งงาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 พ.ย. 05, 08:44

 ประวัติหลายตอนของนายกุหลาบค่อนข้างคลุมเครือ  แม้แต่บวชที่วัดพระเชตุพนหรือไม่ก็ไม่แน่
ในหนังสือที่เขาเขียน  อ้างถึงกรมสมเด็จพระปรมาฯ หลายครั้งว่าทรงเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อเขาบวช  แต่กรมสมเด็จพระฯ สิ้นพระชนม์เมื่อนายกุหลาบอายุได้ 19 ปี
ก็น่าจะเป็นสมัยบวชเณร ไม่ใช่บวชพระ

ขอข้ามไปจนถึงตอนเขาสึกออกมา   ไม่ได้รับราชการอีก   แต่ว่าไปเป็นเสมียนทำงานห้างฝรั่ง เป็นเวลาติดต่อกันถึง 15 ปี   เปลี่ยนงานหลายห้างด้วยกัน
การเป็นเสมียนห้างฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาชีพใหม่ของชายไทยในเมืองหลวง     ส่วนใหญ่ยังนิยมรับราชการกันอยู่    อาชีพนี้แม้ว่าเงินดี แต่ก็ต้องอาศัยภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีคนรู้น้อยมาก  อย่างที่กล่าวมาแล้ว

นายกุหลาบมีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมาก่อน  จึงทำงานได้ง่ายกว่าคนทั่วไป   ประกอบกับเป็นคนคล่องแคล่วฉลาดเฉลียว คุยสนุก  เรียนรู้ภาษาได้ดี  จึงเป็นที่สบอัธยาศัยของนายห้างฝรั่ง  ได้เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นจาก 20 บาท  ตามลำดับจนถึง 250 บาท
ถ้าเป็นสมัยนี้เห็นจะเป็นเงินหลายแสน

นายฝรั่งได้พานายกุหลาบเดินทางไปติดต่อค้าขายในประเทศใกล้เคียง  เช่นสิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา มนิลา ปัตตาเวีย มาเก๊า ฮ่องกง กัลกัตตา
และเคยเดินทางไปอังกฤษด้วยครั้งหนึ่ง

ครั้งหนึ่งนายกุหลาบมีโอกาสได้เดินทางไปกับขุนนางไทยในฐานะพนักงานบัญชี   ไปประเทศจีน  หยุดพักที่ไซ่ง่อน และญี่ปุ่นเพื่อจัดหาซื้อของสำหรับงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 พ.ย. 05, 13:18

 ในเมื่อมีรายได้สูงมาก   นายกุหลาบก็มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างคนรวย  ปลูกบ้านอยู่ริมคลองระหว่างท่าวาสุกรี และวัดราชาธิวาส  
บ้านของนายกุหลาบเป็นตึก   ไม่ใช่บ้านไม้อย่างราษฎรทั่วไป  ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็ทันสมัยล้ำยุค

ลูกๆทุกคนทั้งชายหญิงมีความรู้อ่านออกเขียนได้   เข้าสังคมเป็น  พูดจาติดต่อกับชาวยุโรปได้

เมื่ออยู่บ้านนายกุหลาบก็อบรมลูกๆทุกคนให้มีกิริยาเรียบร้อยอย่างชาววัง   พูดจาไพเราะ  ตัวเขาเองเรียกภรรยาและลูกๆทุกคนโดยใช้คำนำหน้าว่า "คุณ"   ไม่ได้พูดมึงกูหรือไอ้อี อย่างที่ชาวบ้านทั่วไปถือว่าเป็นคำเรียกปกติในครอบครัว

ลูกๆทุกคนเรียกนางหุ่นว่า แม่  แต่เรียกนายกุหลาบว่า "คุณป๋า" เป็นคำผสมระหว่างไทยกับฝรั่ง  แสดงถึงอิทธิพลทางยุโรปที่ทางบ้านยึดถืออยู่

การรับประทานอาหารในบ้าน เป็นแบบยุโรป  ลูกๆนั่งโต๊ะเก้าอี้  ใช้ช้อนส้อมแบบฝรั่ง ไม่ใช้มือเปิบ จานเป็นกระเบื้องพิมพ์ลายดอกกุหลาบ
โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะยาวแบบโต๊ะดินเนอร์ แกะสลักลายดอกกุหลาบและอักษรย่อ ก.ส.ร. ตามขอบโต๊ะและพนักเก้าอี้  
ก็ต้องถือว่าเป็นบ้านราษฎรไทยที่หรูหรามาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 พ.ย. 05, 13:19

 นายกุหลาบตามใจให้ลูกชายหญิงทุกคนเลือกคู่ครองเอง    ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เลือกให้อย่างธรรมเนียมไทยในยุคนั้น
 เมื่อลูกสาวคนเล็กชื่อสายสร้อยแต่งงาน  นายกุหลาบก็จัดงานฉลองสมรสแบบฝรั่ง  มีเลี้ยงน้ำชาและขนมเค้กแต่งงาน
ราวกับงานแต่งงานเมื่อ 100 ปีหลังจากนั้น

งานแต่งงานนี้ นายกุหลาบผู้เป็นเจ้าภาพออกการ์ดเชิญฝรั่งในกรุงเทพมาร่วมงานเลี้ยง
และบอกแถมไปในการ์ดว่าให้นำสุนัขมาได้เพราะทางบ้านจัดผู้ดูแลไว้ให้แล้ว

ข้อท้ายนี้ ดิฉันเดาว่านายกุหลาบคงเห็นเป็นความเก๋แบบฝรั่ง    แต่ว่าบรรยากาศในเมืองไทยไม่เป็นใจด้วย    อย่างน้อยก็ในงานนั้น
เพราะเมื่อแขกที่เป็นชาวยุโรปพาหมาตัวเองมางานจริงๆ   หมาก็ไล่กัดคนในงานเป็นการโกลาหล  
ผู้เล่าไม่ได้บอกว่ามันจบลงแบบไหน แต่ก็เดาได้ว่าคงวุ่นวายพอสมควร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 พ.ย. 05, 10:54

 อันที่จริงถ้าหากว่านายกุหลาบดำเนินชีวิตเท่เก๋ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอำลาโลกไป  ไม่มีสิ่งใดมากกว่านั้น  
เมืองไทยก็คงมีแค่คหบดีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักและจดจำกันในหมู่ลูกหลานในตระกูลเดียวกัน  
แต่ว่าไม่มีเรื่องราวของนายกุหลาบในประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และถกเถียงกันมาจนบัดนี้

สาเหตุที่ทำให้สามัญชนอย่างนายกุหลาบมีเรื่องราวเป็นที่รู้จักกันยิ่งกว่าบุคคลสำคัญบางคนร่วมสมัยของเขาเสียอีก  ไม่ได้เกิดจากความเท่ในการดำเนินชีวิต  แต่เกิดจากนิสัยรักการอ่านการเขียนของเขาเอง

เราคงมองเห็นจากประวัติส่วนตัวว่า นายกุหลาบเป็นคนฉลาดปราดเปรียว หูตากว้าง  มีโอกาสได้รู้เห็นอะไรๆมากกว่าราษฎรทั่วไป  
ใฝ่ใจในวิชาความรู้  โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีความรู้กันนัก

พ.ศ. 2425 เป็นปีแรกที่บทบาทของนายกุหลาบเริ่มเป็นที่รู้จัก  
ในปีนั้นมีงานใหญ่ในกรุงเทพคือพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี ณ ท้องสนามหลวง  ในงานนี้มีนิทรรศการ "การนาแชนแนลเอกซฮิบิเช่อน” (National Exhibition) ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 พ.ย. 05, 11:21

 "เอกซฮิบิเช่อน" สร้างเป็นโรงชั่วคราว เป็นบริเวณกว้างใหญ่ที่ท้องสนามหลวง  
พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางและคหบดีร่วมกันฉลองพระเดชพระคุณด้วยการนำของต่างๆที่เกี่ยวกับความรู้และฝีมือของคนไทยมาตั้งแสดง  
แบ่งเป็นห้องๆตามประเภทสิ่งของ
นายกุหลาบนำต้นฉบับเอกสารตัวเขียนและสิ่งพิมพ์รุ่นแรกของสยามในความครอบครองจำนวน ๑๕๐ เรื่อง
รวม ๑๐๐๐ กว่าเล่ม  ออกแสดงนิทรรศการให้สาธารณชนได้ชม

ติดกันห้องแสดงเอกสารของนายกุหลาบ  คือห้องสมุดไทยฉบับเขียนจากหอหนังสือหลวง ซึ่งอยู่ในความดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นบดินทรไพศาลโสภณ  ผู้บัญชาการกรมอาลักษณ์
ทรงเป็นผู้เก็บหนังสือเก่าหายาก   ตำรับตำราและจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 พ.ย. 05, 11:22

 นายกุหลาบอาจจะรู้จักกรมหลวงบดินทรไพศาลมาก่อน หรือว่ารู้จักกันในงานนั้นก็ไม่แน่  
แต่ดูจากประวัติที่เคยเป็น "บุตรบุญธรรม" ของพระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3  
เช่นเดียวกับกรมหมื่นบดินทรไพศาลโสภณซึ่งก็เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 เช่นกัน
คงจะทำให้กรมหมื่นบดินทรไพศาลทรงเมตตานายกุหลาบอยู่ไม่มากก็น้อย  
ประกอบกับนายกุหลาบเป็นคนใฝ่ใจเรื่องวิชาความรู้   จึงทำความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นที่ไว้วางพระทัยของกรมหมื่นบดินทรฯ

นายกุหลาบติดใจหนังสือหอหลวงมีเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่างๆที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน  ก็อยากรู้เรื่องเหล่านั้น
เมื่อไปเฝ้ากรมหมื่นบดินทรฯต่อที่วัง  ก็ทูลขอคัดสำเนาหนังสือในหอหลวงบางเรื่อง   แต่กรมหลวงบดินทรฯทรงปฏิเสธว่าหนังสือเหล่านี้เป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก
นายกุหลาบจึงพยายามใหม่ แค่ขอยืมอ่านครั้งละเล่ม สัญญาว่าวันรุ่งขึ้นก็จะเอาไปคืน
กรมหลวงบดินทรฯไม่ทรงระแวงว่านายกุหลาบจะแอบไปคัดลอก ก็ทรงอนุญาต
นายกุหลาบจึงไปจ้างเสมียนเตรียมไว้สองสามคน  สำหรับคัดลอกหนังสือให้ทันส่งคืนในวันรุ่งขึ้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง