เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 21772 พระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ ๕
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


 เมื่อ 05 มี.ค. 05, 17:17

 พระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเล่นว่า เจ้าอึ่ง ในราชสกุล ณ เชียงใหม่ เป็นพระธิดา องค์สุดท้ายลำดับที่ ๑๑ ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ที่ ๗ กับพระเทวีแม่เจ้าเทพไกรสร ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๖ ที่คุ้มหลวงกลางเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลาจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) สิ้นพระชนม์วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ณ คุ้มรินแก้ว รวมพระชนมายุได้ ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ทรงอุปถัมภ์ด้านการศึกษาแก่เยาวชนที่สำคัญพระองค์หนึ่งของเชียงใหม่ ทรงเป็นประธานจัด ตั้งหอสมุดประจำจังหวัดเชียงใหม่ขึ้น เป็นสาขาของหอสมุดสำหรับพระนคร ทรงสนพระทัยในการศึกษา ศาสนาและโบราณคดี ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาผสมผสานวัฒนธรรมภาคกลาง ฟื้นฟูการฟ้อนพื้นเมือง วรรณกรรม และดนตรีพื้นเมือง
ทางด้านอาชีพทรงส่งเสริมฟื้นฟูการทอซิ่นยกดอก ซึ่งเกือบจะสูญหายไปแล้วขึ้นมาใหม่โดยทรงใช้ซิ่นยกดอกจกด้วยไหมทอง ซึ่งเป็นมรดกของแม่เจ้าเทพไกรสรเหลืออยู่เพียงผืนเดียวให้เป็นตัวอย่างในการเก็บดอกได้สำเร็จ ทรงรวบรวมช่างผู้ชำนาญในการทอ ตีนจกบ้านดวงดีมาทอในวัง เพื่อสอนผู้ที่สนใจทอผ้า
พระเกียรติยศที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทาน คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า มหาวชิรมงกุฏ ปมาภรณ์มงกุฏสยาม เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๒ (ขอบประดับเพชร) ในรัชกาลที่ ๕,๖ และ ๗ ตลอดจนเข็มพระปรมาภิไธย รัชกาล ที่ ๖ "วชิราวุธปร." ชั้น ๑ ประดับเพชร
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี คือ ตัวแทนของผู้หญิงชาวล้านนาไทยที่รักษาเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นไว้อย่างมั่นคงไม่ว่า จะเป็นการแต่งกาย ภาษาพูด และวัฒนธรรมของชาวล้านนาอื่นอีกมากมาย เช่น ศิลปะด้านนาฏศิลป์ ดนตรี พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นบุคคลสำคัญที่สมานลักษณ์ระหว่างวัฒนธรรมกลางกับวัฒนธรรมภาคเหนือ ไม่ให้เกิดการแปลกแยกโดยเฉพาะวัฒนธรรม ของชาวล้านนานั้น ประกอบขึ้นจากวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย พระราชชายาฯ ทรงคิดประดิษฐ์ดนตรี - นาฏศิลป์ ที่แสดง ถึงความเป็นพื้นบ้านของชาติพันธุ์นั้นๆ เช่น ฟ้อนเงี้ยว (ไทยใหญ่) ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา (ม่านคือพม่า) เป็นต้น  
บันทึกการเข้า
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 มี.ค. 05, 17:24

 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

วันอังคารเดือน 10 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2416 เป็นวันคล้ายวันประสูตของเจ้าดารารัศมี พระธิดาองค์สุดท้าย ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ประสูติจากแม่เจ้าทิพไกสร เจ้าดารารัศมีทรงมีเชษฐา ๖ ท่าน และเชษฐภคินีถึง ๕ ท่านด้วยกัน
ครั้นยังทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาอักษรไทยเหนือและไทยกลาง ทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมขัติยประเพณีเป็นอย่างดี เมื่อพระชนม์มายุ ๑๑ พรรษาเศษ พระบิดาโปรดให้มีพิธีโสกันต์ ภายหลังเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหก ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระกุณฑลประดับเพชรมาพระราชทานเป็นของขวัญด้วยและโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นางเต็มเป็นแม่นางกัลยารักษ์ ให้นายน้อยบุญทาเป็นพญาพิทักษ์เทวี ตำแหน่งพี่เลี้ยงทั้งสองคนตั้งแต่ครั้งนั้น
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๒๙ ปีจอ ได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ทรงอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเป็นการรับรอง พระราชชายาฯได้รับพระราชทานตำหนักที่ประทับ ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมาได้ทรงขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบิดาเพื่อมาต่อเติมพระตำหนักสำหรับให้พระประยูรญาติที่ตามเสด็จไปพักอยู่ด้วย ต่อมาดูเหมือนภายในพระบรมมหาราชวังดูจะคับแคบลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักที่ประทับพระราชทานแก่เจ้าจอมและพระราชวงศ์ในบริเวณพระราชวังสวนดุสิตมีชื่อว่า "สวนฝรั่งกังไส" ในระหว่างที่พระราชชายาเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรก ปัจจุบันตำหนักนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
ตลอดเวลาที่ประทับรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯได้อนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ทรงโปรดให้ผู้ที่ติดตามจากเชียงใหม่แต่งกายแบบชาวเหนือ คือนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงและไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งต่างจากการนุ่งโจงกระเบน ไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่มของชาววัง แม้แต่ภายในพระตำหนักยังเต็มไปด้วยบรรยากาศล้านนา โปรดให้พูด"คำเมือง" มีอาหารพื้นเมืองรับประทานไม่ขาด แม้กระทั่งการ "อมเหมี้ยง" ซึ่งชาววังเมืองกรุงเห็นเป็นของที่แปลกมาก
พระราชชายาฯทรงเปิดพระทัยรับวัฒนธรรมอื่นด้วย โดยโปรดให้มีการเล่นดนตรีไทยและสากล ดำริให้มีการเรียนดนตรีไทยในพระตำหนัก ทรงตั้งวงเครื่องสายประจำตำหนัก และทรงดนตรีได้หลายอย่าง ทั้งซออู้ ซอด้วง และจะเข้ แต่ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมากคือ "จะเข้" ทั้งยังสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งเพิ่งเข้ามาจากต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ ทรงสนับสนุนให้พระญาติคือเจ้าเทพกัญญาได้เรียนรู้และกลายเป็นช่างภาพอาชีพหญิงคนแรกของเมืองไทยไปด้วย
หลังจากทรงประสูติพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (ประสูติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนม์มายุได้เพียง ๓ พรรษาเศษ ก็สิ้นพระชนม์) ทรงได้รับพระเกียรติยศสูงขึ้นตามโบราณราชประเพณีจากเจ้าจอมเป็นเจ้าจอมมารดา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯสร้างตราปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานแก่ผู้รับราชการฝ่ายใน พระราชชายาทรงได้รับพระราชทาน พร้อมกับพระมเหสีและพระราชธิดารวมทั้งหมด ๑๕ พระองค์เท่านั้น พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น "พระราชชายา" เป็นตำแหน่งพระมเหสีเทวี ที่เพิ่งจะมีการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐาของพระราชชายาฯลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระบรมมหาราชวัง พระราชายาฯ จึงได้กราบบังคมทูลลาขึ้นมานครเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนมาตุภูมิ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ได้เสด็จจากพระราชวังสวนดุสิตไปขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปส่งพระราชชายาฯพร้อม บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบรรดาข้าราชการเป็นจำนวนมาก ไปส่งถึงสถานีรถไฟปากน้ำโพมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทรงรถไฟสายเหนือเวลานั้น และประทับลงเรือพระที่นั่งเก๋งประพาสมีขบวนเรือตามเสด็จกว่า ๕๐ ลำ ในการเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาหัวเมืองที่เสด็จผ่าน จัดพิธีต้อนรับให้สมพระเกียรติ พระราชชายาฯ ทรงเห็นว่ามากเกินไป ได้มีพระอักษรกราบบังคมทูลขอพระราชทานรับสั่งให้เพลาพิธีการลงบ้าง ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๕๖ วัน จึงเสด็จถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน
ระหว่างประทับอยู่ที่เชียงใหม่ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครลำพูน ลำปาง และพระประยูรญาติในจังหวัดนั้น ๆ และเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ และปูชนียสถาน สำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง ในการเสด็จนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเอาพระธุระโปรดเกล้าฯ ให้ทำแผ่นกาไหล่ทองมี สัญลักษณ์ของพระราชชายาฯ คือรูปดาวมีรัศมีอีกทั้งพระราชทานข้อความที่โปรดเกล้าฯ ให้จารึกเป็นเกียรติยศแก่พระราชชายาฯ
ในระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่ พระราชชายาฯทรงดำริเห็นว่าบรรดาพระอัฐิของพระประยูรญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ที่สร้างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณข่วงเมรุ เป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายตระกูล ณ เชียงใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมและอัญเชิญพระอัฐิไปสร้างรวมกันไว้ ณ บริเวณวัดบุบผาราม (วัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานฉลองอย่างมโหฬาร มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการจัดมหรสพต่าง ๆ เช่น หนัง ละคร ซอ มวย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรีญทองคำทำด้วยกะไหล่ทองและกะไหล่เงินมีตัวอักษร "อ"และ"ด" ไขว้กัน พระราชทานเป็นของแจกในงานเฉลิมฉลองกู่ พระราชชายาฯเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จโดยลงเรือพระที่นั่งที่ท่าหน้าคุ้ม มีกระบวนเรือรวม ๕๐ ลำ เมื่อถึงอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จมารับถึงที่นั่น แล้วทรงพาไปประทับที่พระราชวังบางปะอินและพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ ณ ที่นั่น
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจ้าแก้วนวรัฐฯเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯ ได้กราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่
วันที่๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟซึ่งวิ่งไปถึงเพียงสถานีผาคอ จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้น จากนั้นเสด็จโดยขบวนช้างม้านับร้อย คนหาบหามกว่าพัน ข้าราชการจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จัดไปคอยรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อพระราชชายาฯ ประทับอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ทรงมีพระตำหนักหรือคุ้มที่ประทับอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ
ตำหนักแรก ตำหนักที่เจดีย์กิ่วเรียกว่า "คุ้มเจดีย์กิ่ว" ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรป ปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่
ตำหนักที่สอง สร้างขึ้นที่ถนนห้วยแก้ว เรียกว่า "คุ้มรินแก้ว" เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรป เป็นตำหนักที่พระราชชายาฯเสด็จมาประทับเป็นครั้งสุดท้ายและสิ้นพระชนม์ที่นั่น
ตำหนักที่สาม สร้างบนดอยสุเทพสำหรับประทับในฤดูร้อน เรียกว่า "ตำหนักพระราชชายา" เป็นอาคารไม้หลังใหญ่ชั้นเดียว ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้ จึงได้ทรุดโทรมผุผังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนไปในที่สุด
ตำหนักที่สี่ ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม พระราชชายาฯทรงโปรดตำหนักแห่งนี้และทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักอื่นๆ เรียกว่า "ตำหนักดาราภิรมย์" โปรดให้เรี่ยกชื่อว่า"สวนเจ้าสบาย" ตัวตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐปนไม้ลักษณะค่อนไปทางทรงยุโรป
เมื่อพระราชชายาฯ เสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่ พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจหลายด้านตลอดเวลา ๑๙ ปี ที่ดำรงพระชนม์อยู่ สรุปได้ดังนี้
ทรงส่งเสริมการเกษตร

ทรงให้มีการทดลองค้นคว้าปรับปรุงวิธีการปลูกพืชเผยแพร่แก่ประชาชน ณ ที่ตำหนัก สวนเจ้าสบายอำเภอแม่ริม ทรงควบคุมการเพาะปลูก และปลูกเพื่อขายทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพในด้านการเกษตรแก่ราษฎร
ทรงทำนุบำรุงศาสนา

โดยปกติ พระราชชายาฯ จะถวายอาหารบิณฑบาตและถวายจตุปัจจัยสำหรับวัดและพระสงฆ์ สำหรับพระสงฆ์บางรูปได้รับการสนับสนุนเป็นรายเดือนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงทำบุญวันประสูติและถวายกฐินทุกปี นอกจากนั้นยังทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานเป็นจำนวนมาก อาทิ สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ วัดพระธาตุจอมทอง ยกตำหนักบนดอยสุเทพถวายเป็นของวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ทรงส่งเสริมการศึกษา

ทรงอุปการะส่งเสริมให้เจ้านายลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียน แม้กระทั่งส่งไปเรียนที่ทวีปยุโรป ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนต่าง ๆ ในนครเชียงใหม่ อาทิเช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ได้ประทานที่ดินทั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กับทรงอุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย
ทางด้านวรรณกรรม

ทรงสนับสนุนวรรณกรรมประเภท "คร่าวซอ" จนเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุคนั้น พระองค์มีนักกวีผู้มีความสามารถประจำราชสำนักหลายคน เช่นท้าวสุนทรพจนกิจ ได้ประพันธ์บทละครเรื่อง "น้อยไชยา" ถวาย พระองค์มีส่วนในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ยังได้นิพนธ์บทร้องเพลงพื้นเมืองทำนองล่องน่านเพื่อขับร้องถวายสดุดีพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๖๕
ทางด้านการหัตถกรรม

ทรงเห็นว่า ซิ่นตีนจก เป็นเครื่องนุ่งห่มตามประเพณีวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณเป็นผ้านุ่งที่ต่อชาย(ตีน)ด้วยผ้าจกอันมีสีสันลวดลายสวยงาม การทอตีนจกเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องใช้ฝีมือในการทอมาก จึงทรงรวบรวมผู้ชำนาญก  
บันทึกการเข้า
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 มี.ค. 05, 17:31

 พระตำหนักดาราภิรมย์
พระตำหนักดาราภิรมย์ สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงย้ายกลับมาประทับที่เชียงใหม่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าดารารัศมีทรงใช้พระตำหนักหลังนี้ปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการทั้งทางด้านการเกษตร และศิลปวัฒนธรรม อาทิทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมล้านนาให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือทรงสร้างสวนทดลองการเกษตรชื่อ "สวนเจ้าสบาย"  

         เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเกษตร และทรงหวังที่จะช่วยการกสิกรรมของภาคเหนือ ทรงทดลองปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทรงได้มาจากสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษที่ทรงเป็นสมาชิกและพันธุ์ที่โปรดที่สุดเป็นกุหลาบดอกใหญ่สีชมพูกลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า"จุฬาลงกรณ์" และก่อนสิ้นพระชนม์ เจ้าดารารัศมีได้ทรงทำพินัยกรรมประทานที่ดินนี้เป็นมรดกแก่ทายาท ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ซื้อที่ดินต่อจากทายาทโดยมีการมอบโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องในเวลาต่อมา เจ้าดารารัศมีเป็นเจ้าจอมที่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากองค์หนึ่ง เพราะนอกจากเจ้าดารารัศมีจะมีพระอัธยาศัยอันงดงามแล้ว ยังทรงเป็นผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระบรมราชวงศ์จักรีกับดินแดนล้านนา ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดียังประโยชน์แก่อาณาจักรสยามเป็นอย่างยิ่ง พระตำหนักดาราภิรมย์ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้สืบทอดและพิทักษ์รักษา จึงได้บูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์งดงามใกล้เคียงกับสภาพเดิมเมื่อกาลก่อน  เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างบรรพชนในอดีต กับอนุชนรุ่นหลังเพื่อให้ได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถ และพระกรุณาธิคุณของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติยนารีผู้ทรงอุทิศพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งดินแดนล้านนา นอกจากนี้พระตำหนักดาราภิรมย์ยังเป็นพระตำหนักที่ประทับสุดท้ายที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงรักและผูกพันอย่างยิ่ง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้า และประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคและเสาะหาสิ่งของเครื่องใช้เพื่อจัดตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถาน



 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสด็จไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับทายาทเชื้อพระวงศ์  และประชาชนชาวล้านนาดำเนินการรวบรวมสิ่งของอันเกี่ยวกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อตั้งแสดงในพระตำหนักดาราภิรมย์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เพื่อระลึกถึงพระปรีชาสามารถและกรุณาธิคุณของพระองค์เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีครบปีที่๖๖สิ่งของที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ได้รับมอบจากเจ้านายฝ่ายเหนือ ณ เมืองเชียงใหม่และประชาชนที่ครอบครองอยู่ โดยได้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อพระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานและให้เป็นสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีนับร้อยชิ้นจัดแสดงในห้องต่าง ๆ ๗ ห้องโดยใต้ถุนโล่งจัดแสดงเครื่องมือเกษตรที่ทรงใช้ในการทดลองการเกษตรแผนใหม่ในสวนเจ้าสบายรอบพระตำหนัก เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงต้องการช่วยเหลือการกสิกรรมของภาคเหนือส่วนชั้นบน มี ๗ ห้องดังนี้ โถงทางเดิน จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระปฐมวงศ์ที่สืบเชื้อสายในการครองเมืองเชียงใหม่และพระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อประชาชน ล้านนาจนสิ้นพระชนม์ ห้องรับแขก จัดแสดงของถวายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีและเครื่องเรือนร่วมสมัย ห้องบรรทม จัดแสดงเตียงนอนที่พระราชชายาฯ บรรทม คันฉ่องโบราณโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้เสื้อผ้า ฉากไม้ประดับรูปโบราณ ฯลฯ ห้องพักผ่อนพระอิริยาบท จัดแสดงจานชาม เครื่องเสวย ของใช้ส่วนพระองค์ ห้องแสดงพระกรณียกิจ ด้านศาสนา เกษตร และศิลปศาสตร์ ห้องแสดงชุดเครื่องทรง ได้แก่ ผ้าทอที่ทรงออกแบบลวดลายดูงดงามมาก และผ้านุ่งที่ทรงใช้ ได้แก่ ผ้าซิ่นต่อตีน ผ้าซิ่นยกทองคำ ผ้าซิ่นไหม ผ้าซิ่นตีนจก สอดดิ้นเงิน ฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นชุดแสดงศิลปะภาคกลางที่ผสมกับศิลปะภาคเหนือที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นและห้องสรงก็จัดแสดงไว้อย่างน่าชม

          สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ที่ได้จัดไว้ใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด การบูรณะพระตำหนักนั้นได้มีการศึกษาอย่างละเอียดในทุกห้อง สีและส่วนประกอบต่าง ๆ สืบค้นเทียบเคียงกับอาคารในยุคเดียวกันและได้ข้อมูลจากผู้ใกล้ชิดพระราชชายาเจ้าดารารัศมี หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จทอดพระเนตร "กาดแลง" ซึ่งมีผู้ถวายของกินของใช้พื้นเมืองมากมาย

         สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพอพระทัยการจัดงานในครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งแก่อธิการบดีและชาวจุฬาฯ ทั้งมวล พระองค์ทรงประทับอยู่จนโคมดวงสุดท้ายลอยขึ้นฟ้า การปล่อยโคมลอยซึ่งเป็นประเพณีของทางเหนือคือการลอยทุกข์ลอยโศกของทุกคนไปสู่ท้องฟ้ายามค่ำคืนซึ่งงดงามนัก โคมไฟที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเหนือพระตำหนักนั้นงดงามเหมือน ดวงดาวหลายร้อยดวงกระจายทั่วท้องฟ้า การแสดง ๓ ชุดได้แก่ รำถวายพระพร โดย อ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ และคณะนาฏศิลป์ ๙ คู่ ละครพระลอกำเมือง ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ในพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และการแสดงฟ้อนเทียนเทิดพระเกียรติที่สืบทอดมาจากคุ้ม พระราชชายาเจ้าดารารัศมีและทรงเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำต่าง ๆ โดยมีการแปรขบวนเป็นรูปดาวดวงใหญ่ในความมืดที่ระยิบระยับด้วยแสงเทียนงดงามตระการตาได้ตรึงผู้ชมอยู่กับการแสดงอันน่าประทับใจตลอดจนการแสดงทั้ง ๓ ชุด

ประเพณีลอยกระทง หรือ ลอยโขมด มีมาแต่โบราณเป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาไท ที่นับถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ นับตั้งแต่อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรล้านนา โดยเมื่อถึงเดือนยี่เป็งก็กระทำพิธีลอยโขมด เป็นการลอยกระทงความหมายคือ
๑.การลอยเพื่อ บูชาท้าวพกาพรหม
๒.การลอยเพื่อ ลอยเคราะห์ลอยบาป
๓.การลอยเพื่อ ส่งสิ่งของ
๔.การลอยเพื่อ บูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
๕.การลอยเพื่อ บูชาอุบคุดด์เถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

ประเพณีลอยกระทงทางภาคเหนือเรียก ประเพณียี่เป็ง ตรงกับเดือนยี่ ขึ้น ๑๔–๑๕ ค่ำ ประเพณีลอยกระทงทางภาคเหนือนี้ ตามหนังสือพงสาวดารโยนก และหนังสือ จามเทวีวงศ์ กล่าวสอดคล้องเหมือนกันว่า เมื่อจุลศักราชได้ ๓๐๙ (พ.ศ. ๑๔๙๐) พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัยสมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดขึ้น ที่ตำนานเรียกว่า “โรคหิว” หรือ “โรคห่า” หรือ “โรคอหิวาตกโรค” ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บางพวกที่มีชีวิตอยู่เห็นว่าถ้าอยู่ต่อไปต้องตายแน่ จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมือง สุธรรมวดี คือเมืองสะเทิม ประเทศรามัญ หรือ มอญ ต่อมาพระเจ้าพุกาม กษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม ได้เก็บเอากุลธิดาของชาวเมืองไปเป็นบาทบริจาริกาเป็นจำนวนมาก เมื่อเบื่อหน่ายก็ทอดทิ้งไม่ชุบเลี้ยงเหมือนดั่งก่อน พวกชาวเมืองหริภุญชัยก็อพยพหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความอนุเคราะห์ ชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี หลังจากที่อาศัยอยู่ไม่นาน ชาวเมืองได้ทราบข่าวว่าโรคระบาดทางนคร หริภุญชัยสงบแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็พากันกลับมายังนครหริภุญชัยอีกครั้ง บางคนต่างก็แต่งงานมีครอบครัวก็ไม่กลับมายังนครหริภุญชัย ยังคงอยู่ที่เดิม ในเมืองหงสา ครั้นถึงเดือนยี่เป็ง ที่ครบรอบที่ได้จากพี่น้องทางเมืองหงสามา ก็ได้จัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการะ บูชา อาหาร เสื้อผ้า วัตถุข้าวของ ใส่ในแพไหลล่องลอยตามแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงยังญาติพี่น้อง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะล่องลอยไปถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาอันไกลโพ้น การกระทำพิธีดังกล่าวเรียกกันว่า ลอยโขมด หรือลอยไฟ และถือเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (การลอยกระทงนั้นในสมัยอาณาจักรล้านนาโบราณเรียกว่า ลอยโขมด คำว่าโขมดเป็นชื่อผีป่า เรียกกันว่าผีโขมด ชอบออกหากินเวลากลางคืน จะมีพะเนียงแสงไฟเห็นเป็นระยะคล้ายผีกระสือ ดังนั้น กระทงที่จุดเทียนลอยน้ำแสงไฟจะกระทบกับน้ำทำให้ เงาเกิดขึ้นสะท้อนวับๆแวมๆ จะเหมือนแสงไฟของผีโขมด ดังนั้นทางล้านนาโบราณ จึงเรียกการลอยกระทงว่า “ลอยโขมด” )

ในสมัยอาณาจักรล้านนาไท พุทธศักราชได้ ๒๐๖๑ ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) แห่งราชวงศ์มังราย เทศกาลเดือนยี่เป็งเป็นประเพณี ที่ยิ่งใหญ่มาก อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันไปบูชาพระเจ้าในอารามข่วงแก้วทั้งหลาย มากมายไปด้วยผู้คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ รื่นเริงม่วนเล่นมหรสพสมโภชคึกครื้น เป็นที่พึงพอใจอย่างยิ่ง ดังโคลงนิราศหริภุญชัยกล่าวไว้ถึงเดือนยี่เป็ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง กวีในสมัยนั้นมีความนิยมชมชอบจึงได้นำมาสอดแทรกไว้ในนิราศของตน

รัศมีเพิงพุ่มแจ้ง จวนตะวัน

แสงส่องรังสีจันทร์ แจ่มฟ้า

ราตรีดุจดูวัน รวีแอ่น ยังเอ

สนุกสนานปานด้าวหล้า หล่มถล่มเมทนี

(พระจันทร์ส่องแสงสว่างดังแสงพระอาทิตย์ แสงสว่างท้องฟ้ายังเป็นเวลากลางคืนอยู่แต่ดูเหมือนเป็นกลางวันสนุกสนานประหนึ่งพื้นแผ่นดินจักรถล่มทลายลงปานนั้น)

ตามหนังสือโบราณล้านนาหลายเล่มหลายฉบับได้กล่าวถึงเดือนยี่เป็งไว้ตอนหนึ่งว่า

“เวสสันดรปริปุณณัง มาเถิงนครกัณฑ์ สุดช้อยหล้าเดือนยี่เป็ง พระจันทร์เพ็งเปล่งฟ้ามณฑลทั่วฟ้า สุกใสยวาดยำยวา..”

ประเพณีเดือนยี่เป็ง มาถึงพอเริ่มขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ ทุกวัดวาอารามจะจัดเตรียมสถานที่ในวัดปัดกวาดพระวิหารศาลาให้สะอาด และจัดเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้

๑. ทำราชวัตร รอบวิหาร เจดีย์ ทำซุ้มประตูป่าทางเข้าวัด
๒. ทำโคมแขวน โคมค้าง โคมรูปต่างๆ
๓. ทำว่าว หรือ โคมลอย ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ชนิดคือ
   ๓.๑ โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวันจะเรียกว่า ว่าว โดยใช้วิธีรมควัน
   ๓.๒ โคมปล่อยตอนกลางคืนใช้วิธีรมควันเหมือนว่าวที่ปล่อยกลางวัน แต่จะจุดไฟที่ท่อนผ้าผูกติดกับปากโคมลอยปล่อยสู่อากาศ โคมจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยในเวหา
๔. การทำบอกไฟ ( บั้งไฟ ) ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟเทียน บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจั๊กจั่น บอกไฟท้องตั๋น บอกไฟขี้หนู ทำขึ้นเพื่อ จุดในวันยี่เป็ง มีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอย ทำว่าวไว้ด้วยว่า หากคนใดทำจะมีอานิสงส์ ๑ กากณึก (ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกานำไปได้ เป็นชื่อมาตราเงินต่ำที่สุด) การปล่อยโคมลอย ว่าว จุดบอกไฟนั้นเป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกประการหนึ่งด้วย

สำหรับชาวบ้านชาวเมืองจะจัดเตรียมสิ่งของดังนี้

๑.  เครื่องนุ่งหย้อง เพื่อจะโล่ไปวัดในเดือนยี่เป็ง
๒. เตรียมโคมทำราวแขวนโคม เพื่อประดับบูชาหน้าบ้านเรือนของตน
๓. เตรียมผางผะดิ้ด (ถ้วยประทีป) ไว้เท่าอายุของคนที่อยู่ในเรือนนั้น
๔. เตรียมกัณฑ์ธรรม หรือกัณฑ์เทศน์สำหรับจะนำไปถวายพระตอนฟังเทศน์
๕. เตรียมบุปผาลาจาข้าวตอกดอกไม้เพื่อใช้โปรยเวลามีงานในการฟังเทศน์มหาชาติและใส่ขันแก้วตึงสาม
๖. เตรียมอาหาร ผลไม้ ขนม สำหรับพระภิกษุสงฆ์ จัดเตรียมในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ตอนเช้าตรู่
๗. ทำซุ้มประตูป่าแบบต่างๆ ให้เป็นที่สวยงามประกอบด้วย ต้นกล้วย ต้นอ้อย ก้านมะพร้าว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกรัก นำมาประดิษฐ์เป็นอุบะห้อยประตูป่า

วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนยี่เป็ง ประมาณ ๖.๐๐ น. เช้ามืด ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ที่วัดเรียกว่า “ตานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว

ตอนสายชาวบ้านจะไปวัด เพื่อฟังธรรมเทศนา วัดบางแห่งมักจะมีการตั้งธรรมหลวง เรียกว่า เทศน์ธรรมมหาจาติ แบบพื้นเมือง จะมีการเทศน์ทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ให้เสร็จภายในวันเดียว

ตอนเช้าลู่ค่ำ ชาวบ้านชาวเมืองจะพากันไปสู่ที่วัด เพื่อนำมาผางปะดิ้ดไปจุดบูชาพระเจ้าที่วัด จุดโคมบูชาสว่างไสวทั่วพระอาราม หลังจากจุดธูปเทียนบูชาแล้ว จะมีการจุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) ประเภทต่างๆภายในวัด โดยจุดเป็นพุทธบูชา ส่วนผู้เฒ่า ผู้แก่จะกลับไปบ้าน เพื่อจุดผางผะดิ้ดที่บ้าน บูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจ้าที่เจ้าทาง บูชาบ่อน้ำ บูชาประตูบ้าน บูชาครัวไฟ ประตูยุ้งฉาง เทวดาประจำบ้าน

ประเพณีลอยกระทงของภาคเหนือนั้น เป็นประเพณีที่ได้รับการส่งเสริมตลอดมา ปัจจุประเพณีการลอยกระทงทางเหนือได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่  
บันทึกการเข้า
กานตภณ
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 พ.ค. 05, 01:34

 ..ผมได้พบข้อความที่บอกว่า พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส ได้ถูกรื้อไปแล้ว ... แต่ครั้งหลังสุด ที่ได้ไปเยี่ยมชมพระราชวังดุสิต ปรากฏว่า มีตำแหน่ง ตำหนักฝรั่งกังไสอยู่ในแผนที่ด้วย ก็ตามไปดู ก็เจอตึกที่เป็นตำหนักจริง ๆ ที่เหลือก็เพียงแค่ตึก ถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ ท่านก็ยืนยันว่า นี่ตำหนักฝรั่งกังไสจริง ๆ เพียงแต่ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระตำหนักต่าง ๆ ถูกเฉือนให้ส่วนาชการต่าง ๆ ไป ตำหนักฝรั่งกังไส ก็เช่นเดียวกัน กลายเป็นบ้านพักนายทหารไป เวลาผ่านเลยไป จนคนก็ลืม ๆ ไป ว่า ตำหนักไหนเป็นตำหนักไหน
...ผมก็มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า คงประกอบกับตัวสวน ฝรั่งกังไสเองก็คงหายไป ด้วยกระมัง คนจึงเลือน ๆ ไปเสีย แล้วก็กลายเป็นข้อมูลในเอกสาร และ คัดลอกต่อ ๆ กันมา ว่า พระตำหนักฝรั่งกังไส ไม่มีแล้ว
...ที่ได้ไปดู ก็ให้อดรู้สึกหดหู่ไม่ได้ ประการหนึ่งด้วยไม่มีร่องรอยอะไร ที่พอให้รู้ได้ว่า เคยเป็นที่ประทับของพระราชชายาเลย ด้วย ผ่านการเป็นบ้านพักนายทหารมาหลายรุ่น ปัจจุบันจึงเป็นเพียงตึกเก่าๆ  ตึกหนึ่ง อ้ายพวกที่ยึดวังเจ้า ไป เป็นของตัวนี่น่าสาปแช่งให้ตกนรกแท้เทียว
...ประการหนึ่ง ด้วยขนาดตึกไม่ใหญ่นัก ทั้ง ๆ ที่ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวังพระองค์ได้ขอทรัพย์จากเจ้าหลวงเชียงใหม่ผู้บิดามาต่อเติม เพื่อให้พระประยูรญาติอาศัยได้สะดวก แสดงว่า พระตำหนักในพระบรมมหาราชวังต้อง ขนาดใหญ่พอสมควร แต่เหตุใด ตำหนักในพระราชวังดุสิตจึงมีขนาดไม่ใหญ่เท่า จะด้วยเหตุว่าพระประยูรญาติ ไม่ได้ตามออกมาอยู่มากนัก หรือ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ ตำหนักนี้ สร้างเมื่อพระราชชายาเสด็จกลับเชียงใหม่ ขนาดตึกจึงน่าจะกำหนดขึ้นก่อน หรืออาจมีตึกอื่น ๆ ประกอบอยู่ มาก แต่ ชำรุดหายไปตามกาลแล้ว เพราะมิได้สร้างเป็นตึกแบบฝรั่งก็เป็นได้ หากมีเวลาก็จะพยายามไปเสาะค้นมานำเสนอกัน
บันทึกการเข้า
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 พ.ค. 05, 23:06

 ผมว่าไม่แปลกนะครับที่  พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส  ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก  เพราะแม้แต่พระตำหนักสวนสี่ฤดูของสมเด็จพระพันปีกับพระตำหนักสวนหงษ์  ของสมเด็จพระพันวัสสา  ก้ดุแล้วไม่ได้ใหญ่โตสมกับเป็นตำหนักพระอัครเหมสีเลยนะครับ  ผมว่าตำหนักในวังสวนดุสิตน่าจะใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนของบรรดาเจ้านายที่ตามเสด็จรัชกาลที่  5  มาจากวังหลวงมากกว่า  เลยไม่ค่อยมีข้าหลวงตามเสด็จมากนัก  เพราะยังไงก็ต้องกลับเข้าไปประทับในวังหลวงอยู่ดี
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 พ.ค. 05, 22:44

 สำหรับ ตำหนักของพระราชชายาในวังหลวง เหมือนผมได้ยินมาว่า เจ้าท่านปลูกเองทั้งหลัง โดยเจ้าพ่อส่งเงินค่าตอไม้ มาจากเชียงใหม่มาให้ปลูกน่ะครับผม
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
vun
พาลี
****
ตอบ: 374


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 พ.ค. 05, 15:37

 ผมว่ามันถูกบำรุงใหม่เยอะมากนะครับ ถึงกับรื้อเพดานมาผังช่องแอร์เลยนะครับ ช่วยแสดงความคิดเห็นเยอะๆนะครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ต.ค. 05, 22:10

 ขอแก้ไขเรื่องที่ประสูติของพระราชชายาฯ ที่ว่า ประสูติที่คุ้มหลวงกลางเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลาจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) นั้น  จากหลักฐานแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ที่พระวิภาคภูวดล (แมคคาร์ธี) ทำไว้เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น  ที่ตั้งคุ้มหลวงกลางเวียงคือ บริเวณที่เป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน  ส่วนที่ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพที่ได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดต่อมานั้น  บริเวณนั้นเดิมเป็นหอพระแก้วร้าง  ซึ่งว่ากันว่า พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้จำลองแบบโลหะปราสาทจากกรุงลังกามาสร้างขึ้นด้วยไม้เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระแก้วขาว  ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เจดีย์หลวง

เรื่องชื่อสวนในพระราชวังดุสิตนั้น  เท่าที่ทราบเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ซื้อที่ดินสร้างพระราชวังดุสิตนั้น  เป็นยุคที่กำลังทรงเล่นเครื่องกังไส  จึงได้โปรดพระราชทานชื่อสวนหรือพื้นที่ต่างๆ ในบริเวณพระราชวังดุสิตตามชื่อลายจีน  เช่น  สวนพุฒตาลก็มาจากชื่อลายพุดตาล  สวนฝรั่งกังไสก็มาจากชื่อลายฝรั่งกังไส  สวนนกไม้ก็มาจากชื่อลายนกไม้  สวนหงส์ก็มาจากชื่อลายหงส์  หรือบริเวณที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันเดิมก็ชื่อว่า สวนกระจังมาจากชื่อลายกระจัง
บันทึกการเข้า
Plearn
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 23:37

ได้แวะไป เที่ยวพระตำหนักดาราภิรมย์ แล้วค่ะ
ขอบคุณ จุฬาฯ ที่ยังรักษาสภาพพระตำหนักเป็นอย่างดี รวมถึงบรรยายกาศด้วยค่ะ

เพิ่มเติมซักนิดค่ะ

ช่วงที่พระเจ้าลูกเธอวิมลนาคนพีสี ส้นพระชนม์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่า "ฉันผิดเอง ลูกเค้าควรเป็นเจ้าฟ้า แตฉันลืมตั้ง จึงตาย"

พระราชชายาฯทรงเป็นเจ้านายที่ ตรัสชัดทั้งภาษาไทยเหนือ(คำเมือง) และภาษาไทยภาคกลาง
ทรงชนะใจผู้ที่ได้เข้าเฝ้าได้ทั้งหมด แม้แต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ก็ยังทรงตรัสกับพระธิดา(มจ.พูนพิศมัย)
ว่า"กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถอะลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน"
บันทึกการเข้า
Lonelybankz
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ก.พ. 10, 21:04

มีความสงสัยมานานแล้วเช่นกันครับ สำหรับเรื่องของตำหนักในสวนต่างๆในบริเวณพระราชวังดุสิต ซึ่งหลายหลังยังดูเป็นตึกเก่า แต่ไม่ตรงกับภาพถ่ายโบราณที่เคยเห็นนัก อย่างตำหนักสวนฝรั่งกังไสนั้น ที่เคยเห็นในภาพเก่า เป็นลักษณะของอาคารไม้ ๒ ชั้น คล้ายคลึงกับตำหนักสวนหงษ์ แต่มีขนาดย่อส่วนลงมา หรือตำหนักสวนนกไม้ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงภาพถ่าย กลายเป็นลานจอดรถบัส ไปแล้ว ต่างกับภาพที่เห็น ในปัจุบัน ตำหนักสวนฝรั่งกังไส มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้นตามแบบตะวันตก หรือ อย่าง ตำหนัก ๖ หลัง บนเกาะกวาง ซึ่งเป้นที่ประทับของพระขนิษฐา ในรัชกาลที่ ๕ นั้น มีใครพอจะมีภาพเดิมของตำหนักให้ชมบ้างมั๊ยครับ หรือ เป็นแบบนี้มานานแล้ว ไม่เข้าใจการอนุรักษ์ ของสำนักพระราชวัง เหตุใดอาคารที่ปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงมีรุปทรงคล้ายกับ บ้านพักข้าราชการ ในยุคหลัง หรือ ไดรับการเปลี่ยนแปลงในสมัยที่เป็นของทหาร จนไม่เหลือเค้าเดิมขนาดนี้เลย หรอ ทุกวันนี้เวลาไปเที่ยวพระที่นั่งวิมานเมฆ และ พระราชวังดุสิต มีความรุ้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกที่ รุ้สึกว่า พระราชวังดุสิตแตกต่างกับเมื่อก่อนมาก อะไรๆก็ดูใหม่ไปหมด ที่สวยๆก็มี ตำหนักสวนหงษ์ ส่วนตำหนักอื่นๆอย่าง ตำหนักสวนบัวเปลว ซึ่งเดิมเคยเป็นห้องเครื่องของพระวิมาดาฯ ตำหนักสวนบัว นั้นค่ดว่าคงได้รับการปรับปรุงในสมัยเป็นหอพักนักศึกษา ธรรมศาสตร์


ตำหนักสวนฝรั่งกังไส

บันทึกการเข้า
Lonelybankz
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ก.พ. 10, 21:16

คำหนักสวนฝรั่งกังไส สมัยเป็นที่ตั้งของ บก พล1





ตำหนักสวนนกไม้ ซึ่งปัจจุบัน ไม่ปรากฎแล้ว

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 19 คำสั่ง