เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 47401 ทำไมพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ถึงไม่ได้ครองราชย์คะ
หนิง USA
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 28 ต.ค. 00, 12:00

ความจริงแล้วควรจะได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 6 ไม่ใช่หรือคะ
บันทึกการเข้า
VGB
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ต.ค. 00, 00:00

His mother is a foreigner, Russian, which is prohibited by succession laws, not accounting on that his rank was not the first on the list after King Vachiravudth.

Sorry to everyone that I can't post in Thai.
บันทึกการเข้า
เอมี่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 ต.ค. 00, 00:00

แค่ได้อ่านกระทู้ก็ดีใจแล้วค่ะที่มีคนสนใจประวัติศาสตร์
เชิงวิเคราะห์  ซึ่งจะทำให้มีความรู้แตกฉานขึ้นเรื่อย ๆ
บันทึกการเข้า
หนิง USA
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ต.ค. 00, 00:00

ขอบคุณค่ะ คุณ VGB ถ้าไม่ใช่พระองค์จุลฯ แล้วใครอยู่ในลำดับครองราชย์ถัดจากรัชกาลที่ 6 คะ
บันทึกการเข้า
หน่อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ต.ค. 00, 00:00

คัดลอกมาให้อ่านจาก  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านปรีดี และ กรณีสวรรคต  จากหนังสือสารคดีครับ

     กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ มีด้วยกัน ๘ หมวด ๒๑ มาตรา หมวดที่สำคัญคือหมวดที่ ๔ ว่าด้วยลำดับขั้นผู้สืบราชสันตติวงศ์ และหมวดที่ ๕ ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์
    หมวดที่ ๔ มาตรา ๙ บัญญัติไว้ว่า
    "ลำดับขั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถเลือกทางก็ตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย"
    "เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้" "
    ครั้นแล้วท่านก็ลำดับพระญาติวงศ์ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ นับแต่สมเด็จหน่อพุทธเจ้าเป็นปฐมลงไป สรุปเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
    ลำดับที่ ๑ พระราชโอรสหรือพระราชนัดดา
    ลำดับที่ ๒ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา แต่ทรงมีสมเด็จอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชา
    ลำดับที่ ๓ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับไร้ทั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี แต่ทรงมีสมเด็จพระเชษฐา หรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือพระอนุชา
    ลำดับที่ ๔ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับทั้งไร้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และไร้สมเด็จพระเชษฐา หรือพระอนุชาต่างพระราชชนนี แต่ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ
    ลำดับที่ ๕ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและไร้พระราชนัดดา พระอนุชาร่วมพระราชชนนีและพระอนุชาต่างพระราชชนี พระเจ้าพี่ยาเธอ น้องยาเธอ แต่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอหรือพระโอรส
    ดังกล่าวนี้คือลำดับพระองค์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ แต่มีข้อบังคับว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสมบัติไว้ในหมวด ๕ มาตรา ๑๑ ว่าดังนี้
    ๑. มีพระสัญญาวิปลาศ
    ๒. ต้องราชทัณฑ์ เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคณดีมหันตโทษ
    ๓. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
    ๔. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
    ๕. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนออกแล้ว จากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอดถอนจะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
    ๖. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสีย จากลำดับสืบราชสัตติวงศ์
    กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสัตติวงศ์ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงตราขึ้นก่อนที่ พระองค์จะเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งปี (คือตราขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๗ และพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๖) และก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต ๒ เดือน พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๖ ถึงเสนาบดีวัง เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อจากพระองค์ท่าน (ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี กำลังทรงพระครรภ์ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา) พระบรมราชโองการมีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้  
      "...ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์..."
    ต่อมาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ได้ประสูติพระราชธิดา (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ราชสุดารามฯ) จึงเป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสัตติวงศ์ การสืบราชสันตติวงศ์จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อ ๒ แห่งกฎมณเฑียรบาล เงื่อนไขข้อ ๒ ได้บัญญัติไว้ว่า
    "กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชชนนีหรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชา"
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระราชชนนีด้วยกันเก้าพระองค์ คือ
    ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย (ประสูติเมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๒๑ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๓๐)
    ๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง
    ๔. จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ต้นสกุลจักรพงษ์ ณ อยุธยา)
    ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
    ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ประสูติและสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน)
    ๗. พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎาวงศ์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (ต้นสกุลอัษฎางค์ ณ อยุธยา)
    ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช กรมขุมเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต้นสกุลจุฑาธุช) และ
    ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ ๗)
    ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตนั้น พี่น้องร่วมพระราชชนนีกับพระองค์ท่าน ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระองค์เดียว ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง และมีนัดดาสององค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โอรสของกรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ กับหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย
    กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ดำรงฐานะเป็นรัชทายาทของพระมงกุฎเกล้าฯ ด้วยเป็นพระอนุชาถัดจากพระองค์ และขณะนั้นกรมหลวงพิษณุโลกฯ มีหม่อมแคทยาเป็นพระชายา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชบิดาทรงรับเป็นสะใภ้ หลวง ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เล่าไว้ในหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม ว่าชื่อ จุลจักรพงษ์ เป็นชื่อที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงประทานตั้งให้ โดยเปลี่ยนจากชื่อ พงษ์จักร ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสาวภาผ่องศรี ประทานตั้งให้แต่แรก
    ดังนั้นตามเงื่อนไขข้อ ๒ แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสัตติวงศ์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงอยู่ในฐานะที่จะได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระมงกุฎเกล้าฯ เพราะเป็นพระโอรสของสมเด็จพระอนุชา องค์รัชทายาท (กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
    ส่วนหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้น ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาล ก็มีสิทธิ์สืบราชสัตติวงศ์เป็นพระองค์ถัดไป จากพระองค์เจ้าจุลฯ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ท่านทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ข้ามไปเสียดังที่ยกมาข้างต้น
    จากพระบรมราชโองการฉบับวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๘ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงรับในสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ของพระองค์เจ้าจุลฯ เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงรับในสิทธิ์ดังกล่าวนี้ พระองค์จะต้องระบุไว้ ในพระบรมราชโองการฉบับเดียวกันนี้ว่าให้ข้ามไปเสีย (เพราะมีแม่เป็นนางต่างด้าว) เช่นเดียวกับที่ทรงระบุให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช (เพราะมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล) นั้นแล้ว
      แต่มีแม่เป็นนางต่างด้าวไม่อยู่ในข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ (๔) ห้ามแต่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเท่านั้น
    ในที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ในคืนวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ซึ่งมี จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าพระยาภาณุพันธ์วงศ์วราเป็นประธานของที่ประชุม อันประกอบด้วย จอมพลสมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เปี่ยมไปด้วยพระบารมี ได้มีความเห็นไห้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี
บันทึกการเข้า
หน่อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ต.ค. 00, 00:00

(ต่อ)

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ โดยกฎมณเฑียรบาล พระองค์ผู้สืบราชสัตติวงศ์คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นสายตรงคือ โอรสของพระเชษฐา (กรมหลวงพิษณุโลกฯ) ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ก่อนกรมขุนสุโขทัย (รัชกาลที่ ๗ ) แต่ด้วยบารมีของจอมพล สมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ช่วยส่งให้กรมขุนสุโขทัยขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ข้ามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไป
    ส่วนกรมหลวงสงขลาฯ สมเด็จพระราชบิดานั้น เป็นอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทรบรมราชเทวี พระพันวัสสอัยยิกาเจ้า)
    แต่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาสมเด็จพระราชบิดา พระจุลจอมเกล้าฯ ได้สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภา ผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (แทนที่จะเป็นกรมหลวงสงขลาฯ พระอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชมารพระองค์ก่อน) และถ้านับโดยศักดิ์ทางพระมารดาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระมารดาของกรมขุนเทพทวาราวดี (รัชกาลที่ ๖) เป็นพระน้องนาง (ประสูติ ๑ มกราคม ๒๔๐๖) ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (ประสูติ ๑๐ กันยายน ๒๔๐๕ นับตามปีปฏิทินเก่า) ในสมเด็จพระมารดาสมเด็จพระปิยมาวดี ที่มีพระพี่นางองค์โตร่วมครรภ์พระมารดาเดียวกันคือ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ (ประสูติ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๐๓) หรือพระนางเรือล่ม
ที่ผมอุตส่าห์ลำดับความการสืบราชสัตติวงศ์มานั้น ก็เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ มีส่วนสำคัญอย่างไรบ้าง ในการสนับสนุนเชื้อสายของ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ขึ้นนั่งบัลลังก์พระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ทั้ง ๆ ที่ถูกข้ามมาแล้ว
    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ ๒-๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ครั้งนั้น ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกัยพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
    "(๑) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ ๖ ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า "โดยนัย" แห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะต้องยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งกฎมณเฑียรบาลหรือไม่ เพราะมารดามีสัญชาติเดิมเป็นต่างประเทศ ซึ่งตามตัวยากโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียง ยกเว้นผู้สืบราชสัตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว) รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช่กรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สถาปนาเป็นรัชทายาทนั้น ก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้ว และทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถูกต้อง แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความคำว่า "โดยนัย" นั้น ย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ ผู้ซึ่งจะสืบราชสัตติวงศ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย"
    รัฐมนตรีส่วนข้างมากที่ตีความคำว่า "โดยนัย" ดังกล่าวนี้ มีท่านปรีดีฯ ร่วมอยู่ด้วย และเป็นคนสำคัญในการอภิปรายชักจูง ให้รัฐมนตรีส่วนข้างมากมีความเห็นร่วมกับท่าน
    ที่ประชุมจึงได้พิจารณาถึงพระองค์อื่น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของกฎมณเฑียรบาลที่ระบุไว้ว่า "...ต่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่มีสนิทมากและน้อย"
    ในบรรดาพระองค์ที่สนิทมากและน้อยนี้มีอาทิ กรมพระนครสวรรค์ และพระโอรส พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคล ตามการชี้นำของท่านปรีดีฯ ที่เห็นสมควรสถาปนาพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สือต่อจากพระปกเกล้าฯ อันเป็นการกลับคืนเข้าสู่สายเดิม คือสายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหัสสยามมกุฎราชกุมาร
    การสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นการกลับสู่สายเดิมโดยชอบธรรมแล้ว ยังเป็นไปตามพระดำริของพระปกเกล้าฯ อีกด้วย บันทึกลับที่จดโดยพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าดังนี้
    "วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีสารฯ พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ อีกอย่างหนี่ง อยากจะแนะนำเรื่องสืบสัตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริ ที่จะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ"
    ดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการอัญเชิญในหลวงอานันท์ฯ ขึ้นครองราชย์ เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗
บันทึกการเข้า
หน่อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ต.ค. 00, 00:00

คำว่า ผม ในข้อความข้างบนนี้  หมายถึง คุณสุพจน์ ด่านตระกูล  ผู้เขียนบทความนี้นะครับ
บันทึกการเข้า
หนิง USA
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ต.ค. 00, 00:00

ข้อมูลเพียบเลย ดีจังค่ะ ขอบคุณมากค่ะคุณหน่อง
บันทึกการเข้า
เอมี่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ต.ค. 00, 13:05

ที่จริงการสืบสันตติวงศ์มีเรื่องของ "ดวง" เข้ามาเกี่ยวด้วย
เดิมทีนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้าชั้นเอก (คือผู้ที่ประสูตรแต่
พระมเหสี (ซึ่งมี 4 พระองค์คือ พระนางเจ้าสุนันทากุมารรัตน์  พระนางเจ้าสว่่างวัฒนา
พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี)มีฐานะเท่าเทียมกัน จะต่างกันที่อายุอ่อนแก่
ดังนั้นถ้าเรียงตามอาวุโส  ก็จะได้แก่ เจ้าฟ้นมหหาวชิรุณหิส  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เจ้าฟ้า
บริพัตรสุขุมพันธ์ และองค์อื่น ๆ  ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิสทิวงคต
จึงสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวขิราวุธเป็นสยามมกุฎราชกุมาร  ต่อมาพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีได้ทูลขอรับพระราชทาน
"พรพิเศษ" คือให้สายการสืบราชสันตติวงศ์เป็นเฉพาะสายพระราชโอรสของพระองค์เท่านั้น  ซึ่งเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 6
ทรงออกกฎมณเทียรบาลก็ยึดแนวทางนี้  เหตุการณ์จึงเป็นอย่างที่ปรากฏ
ส่วนการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากรัชกาลที่ 7 นั้นต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนอย่างมากเพราะอย่าลืมว่ายังมี
เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์อยู่  แต่ไม่ถูกกับคณะราษฎรถึงขนาดต้องออกไปประทับที่ชวา
ในที่สุดก็กลับไปสู่สายของพระนางเจ้าสว่างวัฒนาตามเดิม  โดยท่านปรีดีมีส่วนอย่างมากดังที่ทราบกันอยู่
ขอนอกเรื่องไปนิดว่า  ศิลปวัฒนธรรมฉบับใหม่ (ตุลาคม 2543)มีประวัติท่านชิ้น  น่าสนใจมาก มีการพูดถึงกรณีสวรรคตของ
ในหลวงรัชกาลที่ 8 อย่างตรงไปตรงมา  ใครชอบประวัติศาสตร์ควรอ่าน
บันทึกการเข้า
ciri
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 ต.ค. 08, 16:56

พอดีเพิ่งเปิดมาเจอครับ

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูลเรื่องนี้ เคยมีการวิเคราะห์กันไปแล้วครับ

กรณีของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สรุปว่า เคยมีพระราชสาส์นจาก ร.6 ประมาณว่าขอให้ยกเว้นครับ

เกิดขึ้นก่อนหน้าหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช จึงไม่มีการพูดถึงเมื่อตอน ร.7 ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากทราบกันอยู่แล้วว่าถูกยกเว้น

เท่ากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เข้าข่ายถูกประกาศยกเว้นครับ

ครั้ง ร.7 สละราชย์ ถ้าพิจารณาตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว ร.8 เข้าข่ายเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชาต่างพระมารดาของ ร.7 ครับ

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 ต.ค. 08, 20:07

เมื่อมีการขุดกระทู้นี้ขึ้นมา  และประเด็นที่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ คือ บทบัญญัติที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงห้ามผู้ที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวมิให้รับรัชทายาทสืบราชสมบัติ  โดยกรณีของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ว่ามีมารดาเป็นนางต่างด้าว  จึงเข้าข่ายต้องห้ามมิให้รับรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗ ในเวลานั้นยังไม่มีการนำข้อมูลในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระราชบันทึกไว้ว่า  เมื่อจะทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเป็นพระรัชทายาทเมื่อตอนต้นรัชกาล  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ถวายสัญญาไว้แล้วว่า ถ้าได้ทรงรับราชสมบัติจะไม่ทรงตั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท 

ข้อสัญญาลับนี้ทรงจดไว้ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖  เมื่อมีการพิจารณาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์คราวล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัตินั้น  หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์) จึงได้ตีความกฎมณเฑียรบาลไปในทางที่ห้ามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์รับรัชทายาท  ประเด็นที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงให้ข้ามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นั้นยังมีข้อที่น่าคิดคือ เมื่อแรกที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ประสูตินั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงรับหม่อมคัทรินเป็นสะใภ้หลวง  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงทรงมีฐานันดรศักดิ์เมื่อแรกประสูติเพียงหม่อมเจ้า  ทั้งที่เป็นพระนัดดาพระองค์แรกที่ประสูติจากสมเด็จเจ้าฟ้า  แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดเลื่อนหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหฯในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระอิศริยยศในขณะนั้น) เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้รับพระมหากรุณาเลื่อนเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าก็เมื่อทูลกระหม่อมจักรพงษ์ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ไปแล้ว 

นอกจากนั้นยังมีบันทึกของพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล  ณ ระนอง) ที่ได้บันทึกไว้ใน “เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ” ว่า 
“...ระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรส (รัชกาลที่ ๖) ประทับอยู่ที่ญี่ปุ่นนี้  วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า  โดยรับสั่งของเอ็มเปอเรอ  พระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามพระองค์แก่สมเด็จพระบรมราชโอรส  พระธิดาสาวทั้งสามนี้มิใช่พระธิดาของเอมเปรส  แต่เรียกเอมเปรสเป็นพระมารดา  ส่วนเอมเปรสไม่มีพระธิดา  พระธิดาทั้งสามจะเสด็จประพาสสวน  ให้เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย  แต่ให้คนตามเสด็จได้คนเดียวเท่านั้นคือตัวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้ไปชมด้วย  แต่สมเด็จพระบรมโอรสสั่งว่า “ไม่ได้  กลับไปบอกเขาเถอะว่า เรายังเด็กนักที่จะมีภรรยา”  ข้าพเจ้ากราบทูลว่า  “ทำไมไม่เสด็จเพราะเป็นโอกาสดี”  ทรงตอบว่า “ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน  ถ้าเราเอาลูกสาวเขามา  เดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน  เขาบอกให้พ่อเอาเรือรบมาเมืองเราสัก ๒ ลำ  เราก็แย่เท่านั้น”

เรื่องนี้พวกทูต ๆ เช่น อังกฤษ  เคยถามข้าพเจ้าว่า  ได้ข่าวเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่นจะถวายพระธิดาแก่พระโอรสของพระมหากษัตริย์ไทยจริงไหม  ข้าพเจ้ารับว่าจริงเช่นนั้น.
..”

ในเรื่องที่มีรับสั่งกับพระยาประดิพัทธฯ นั้น  พิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นเพราะทรงเห็นว่าประเทศในยุโรปต้องมีการทำสงครามประหัตประหารกันหลายครั้ง  ก็เพราะชายาที่เป็นนางต่างด้าวนั้นเป็นสาเหตุ  เพื่อตัดปัญหาในข้อนี้จึงได้ทรงบัญญัติห้ามผู้ที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวมิให้รับรัชทายาทไว้ในกฎมณเฑียรบาล  ซึ่งก็มีปลรวมไปถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง