
• เสาชิงช้า
ประวัติที่มา
คอลัมน์รู้โม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น
อยากทราบประวัติเสาชิงช้าที่หน้าวัดสุทัศน์ครับ/ล่ะอ่อนยอง
ตอบ
เสาชิงช้าขนาดใหญ่ สูง 21.15 เมตร ทาสีแดงชาด ตั้งอยู่บนแท่นหิน โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักงดงาม ใช้ในพิธีพราหมณ์คือโล้ชิงช้าอันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย จัดถวายพระอิศวรยามเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่
ยังอัญเชิญเทวดาองค์อื่นๆ มาเฝ้าพระอิศวรด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์จะแกะเป็นเทวรูปลงในไม้กระดาน 3 แผ่น เมื่อบูชาในเทวสถานแล้วจะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาที่พระยายืนชิงช้าจะมานั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุมที่สมมติเป็นองค์พระอิศวรคือขุนนางชั้นพระยาพานทอง มีขบวนแห่ไปที่เสาชิงช้าซึ่งพราหมณ์ 4 คน จะขึ้นโล้ชิงช้า รวม 3 กระดานเป็น 12 คน การโล้ชิงช้ากระทำ 2 วัน คือเช้าของวันขึ้น 7 ค่ำ และเย็นของวันขึ้น 9 ค่ำ อันชาวบ้านจำขึ้นใจว่า ?เจ็ดค่ำถีบเช้าเก้าค่ำถีบเย็น?
ตำนานเล่าว่า เมื่อพระอิศวรร่วมกับพระนารายณ์และพระพรหมสร้างโลกเสร็จแล้ว อุมาเทวี มเหสีพระอิศวร จินตนาการไปว่าโลกที่สร้างขึ้นนี้มีแผ่นดินน้อยกว่ามหาสมุทรเป็นแน่ บังเกิดความสลดในพระทัยที่มนุษย์และสรรพสัตว์จะต้องถึงกาลวิบัติเพราะน้ำ แผ่นดินจะไม่มั่นคง พระนางไม่ยอมบรรทม ไม่ยอมเสวย จนพระวรกายซูบผอม แม้พระอิศวรจะทรงปลอบ ก็ไม่คลายปริวิตกไปได้
พระอิศวรจึงท้าพนัน โดยให้พญานาคเอาหางเกี่ยวกับต้นพุทราที่ริมฝั่งน้ำฟากหนึ่ง ส่วนหัวเกี่ยวกับต้นพุทราอีกฟากหนึ่ง แล้วให้โยนตัว จากนั้นพระอิศวรจะขึ้นยืนเท้าเดียวในลักษณะไขว่ห้างบนลำตัวนาค ถ้าโลกไม่มั่นคงแน่นหนา พอได้รับความสะเทือนจากการแกว่งไกวของตัวพญานาค เท้าที่ไขว่ห้างอยู่นั้นจะตกลง พระอิศวรจะแพ้พนัน ต้องปรับปรุงแก้ไขโลกใหม่ แต่ถ้าเท้าไม่ตกแสดงว่าโลกแข็งแรงดี อุมาเทวีต้องคลายกังวล ผลคือพระอิศวรเป็นฝ่ายชนะ
เสาชิงช้าสมมติเป็นต้นพุทรา ขันสาครที่ตั้งอยู่ระหว่างเสาชิงช้าสมมติเป็นแม่คงคา พวกนาลีวันสวมหมวกนาคขึ้นโล้ชิงช้าสมมติเป็นพญานาค พระยายืนชิงช้าที่นั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศสมมติเป็นพระอิศวร
เสาชิงช้าเดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมืองด้านจะเลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่พ.ศ.2327 ย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบันสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 นายหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายแหม่มแอนนา ซึ่งทำกิจการค้าไม้ ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ แล้วเสร็จเมื่อ 12 เมษายน 2463 และซ่อมใหม่ พ.ศ.2502
พิธีโล้ชิงช้าจัดเป็นการใหญ่โตครึกครื้นที่สุดงานหนึ่ง ถือปฏิบัติในสังคมไทยมาเนิ่นนาน กระทั่งเลิกไปในปี 2478 แต่คติพราหมณ์ยังคงฝังรากแน่นแฟ้นเช่นเดียวกับคติความเชื่ออื่นๆ ซึ่งมาพร้อมกับความหลากหลายของกลุ่มคนที่เข้าอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้
(6 ก.ค. 2547)