เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 45451 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 07 ก.พ. 05, 17:41

 ความกังวลพระราชหฤทัยของสมเด็จฯ เมื่อพระราชนัดดาได้ขึ้นครองราชย์ เป็นอย่างไร  สะท้อนในพระราชดำรัสนี้
"ทำกรรมให้กับเด็ก   เพราะลูกแดง( หมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ฯ)ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ลูกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   อยากให้หัดเป็นคนธรรมดา  พลเมืองช่วยบ้านเมือง"

ในเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ยังทรงพระเยาว์   จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์   คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  และเจ้าพระยายมราช

สมเด็จฯทรงเปลี่ยนฐานะ จากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ซึ่งหมายถึงสมเด็จป้า) มาเป็นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(หมายถึงสมเด็จย่า) ในรัชกาลใหม่
การเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่ มิได้ทำให้สมเด็จฯทรงยินดี  แต่กลับเศร้าพระทัย   ดังที่มีพระราชดำรัสในปลายพระชนม์ชีพ  เมื่อความโทมนัสครั้งแล้วครั้งเล่าได้จู่โจมมาถึง

"ดูใครๆก็ตายกันไปหมด    ได้มีชีวิตยืนอยู่นี่ก็ไม่เห็นมีอะไรจะดี   เปลี่ยนชื่อไป  เปลี่ยนชื่อไป จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 07 ก.พ. 05, 17:45

 แม้ว่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่   เหตุการณ์ในบ้านเมืองก็มิได้สงบปลอดโปร่งขึ้น  เรื่องเลวร้ายหลายเรื่องเกิดขึ้น ล้วนเป็นเรื่องน่าสะเทือนพระทัยสำหรับเจ้านายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  
จนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า  ไม่กี่ปีก่อนนี้เอง   บ้านเมืองไม่มีสงครามกลางเมือง   ราษฎรจงรักภักดีอยู่ใต้พระบารมี  พระบรมวงศานุวงศ์เคยเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คนโดยทั่วไป  

มาบัดนี้อย่าว่าแต่เจ้านายสำคัญต้องทรงลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ    แม้แต่เจ้านายสตรีที่พระชนมายุสูงและดำรงพระองค์อย่างสงบเงียบมาหลายสิบปีอย่างสมเด็จฯ ก็ไม่วายเป็นเป้าหมายของการโจมตีใส่ร้าย และถูกบีบคั้นในหลายๆประการ

เรื่องหนึ่งในจำนวนนี้คือ  กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานผู้สำเร็จราชการฯ บังเกิดความคับแค้นพระทัยจากถูกบีบคั้นด้วยอำนาจทางการเมือง  จนถึงขั้นปลงพระชนม์พระองค์เอง  
ข่าวลือที่ปราศจากความจริงก็แพร่ออกมาว่า  เป็นเพราะน้อยพระทัยที่ถูกสมเด็จพระพันวัสสาทรงตำหนิติเตียน
ทำให้สมเด็จฯเสียพระทัยมาก  เพราะไม่ทรงทราบถึงสาเหตุเลยจนนิดเดียว


เรื่องที่สอง ก็คือรัฐบาลยึดทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ   แต่ทรัพย์สินนั้นมีอยู่มากที่มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์    แต่เป็นของสมเด็จพระพันปีหลวงรวมอยู่ด้วย    
ในเมื่อยากจะแยกออกว่าส่วนไหนเป็นของใคร รัฐบาลก็ต้องมาทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาไปเป็นผู้ชี้
สมเด็จฯก็ทรงทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง   ทรงนำหลักฐานไปแสดงเป็นการยืนยัน
แต่ก็ทรงโทมนัส ที่ทรัพย์สินซึ่งเคยเป็นตกทอดกันมาตั้งแต่พระบูรพมหากษัตริย์  กลับต้องตกอยู่ในอำนาจตัดสินของบุคคลกลุ่มใหม่ กระทำตามที่พวกเขาเห็นสมควร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 ก.พ. 05, 09:32

 คุณพวงร้อยเคยถามดิฉันว่าสมเด็จฯ ทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าตั้งแต่เมื่อไร   ดิฉันค้นคำตอบมาให้แล้วค่ะ คือเมื่อสมเด็จฯ ทรงมีพระชนม์ 16 พรรษา  พ.ศ.เดียวกันกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 14 ก.พ. 05, 13:52

 พักนี้ไม่ค่อยได้เข้ามาเรือนไทยเลย  ต้องขออภัยด้วยค่ะ  คุณเทาชมพูคงงานยุ่งด้วยนะคะ  ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากค่ะ  ที่ยังจำคำถามเก่าได้และอุตส่าห์ไปค้นมาให้  ดิฉันไปดูกระทู้แรกที่คุณเทาชมพูได้เล่าว่า  เจ้าจอมมารดาเปี่ยมมีโอรสธิดาคือ (ขอคัดมาลงใหม่นะคะ)

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นเจ้าจอมผู้เป็นที่โปรดปรานท่านหนึ่ง มีพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอรวม ๖ พระองค์
๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (พระองค์นี้ได้รับพระนามตามบทบาทของเจ้าจอมมารดา)
๒ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)
๓ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์( สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕)
๔ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๕ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)
๖ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์)

พระธิดาทั้งสามพระองค์คงมีพระชนม์ไล่ๆกันมังคะ  ในปีที่ทรงเป็นพระชายา สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ คงมีพระชนม์ประมาณ ๑๗-๑๘ พรรษามังคะ  ส่วน สมเด็จพระศรีพัชรินฯ คงเพิ่งจะได้ ๑๔-๑๕ พรรษาในปีนั้น  ไม่ทราบว่า ร.๕ ทรงมีพระชนมายุมากกว่าเท่าไหร่คะ  ขออภัยถ้ารบกวนถามมากไปหน่อยนะคะ
บันทึกการเข้า
สะอาด
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 15 ก.พ. 05, 07:08

 ลำดับเจ้านายผู้ทรงมีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล  พ.ศ. 2467

๑.  สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ    เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์  
๒.  พระวรวงศ์เธอ    พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
๓.  พระวรวงศ์เธอ    พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
๔.  สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ     เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  
๕.  พระเจ้าวรวงศ์เธอ    พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร
๖.  สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ    เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร  
๗.  พระเจ้าวรวงศ์เธอ   พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
๘.  พระเจ้าวรวงศ์เธอ   พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ
๙.  พระเจ้าพี่ยาเธอ    กรมพระจันทบุรีนฤนาท
๑๐. หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์
๑๑. หม่อมเจ้านักขัตมงคล
๑๒. หม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ
๑๓. พระเจ้าพี่ยาเธอ   กรมหลวงปราจิณกิตติบดี
๑๔. หม่อมเจ้ากัลยาณวงศ์    ประวิตร
๑๕. หม่อมเจ้าจิตรปรีดี
๑๖. หม่อมเจ้าวิกรมสุรสีห์
๑๗. พระเจ้าพี่ยาเธอ    กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
๑๘. หม่อมเจ้าประสบศรีจีรประวัติ
๑๙. หม่อมเจ้านิทัศนาธร
๒๐. หม่อมเจ้าขจรจิรพันธุ์
๒๑. พระเจ้าพี่ยาเธอ   กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๒. พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 19 ก.พ. 05, 09:09

ตอบคุณพวงร้อย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชสมภพเมื่อพ.ศ. 2396  มีพระชนมพรรษามากกว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ (ประสูติ 2403) 7 พรรษา และมากกว่าสมเด็จพระพันวัสสาฯ (ประสูติ 2405) 9 พรรษา
พระพันวัสสาฯ ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าเมื่อพระชนม์ 16  ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 25 พรรษาค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 19 ก.พ. 05, 11:50

 ขอบคุณมากค่ะ คุณเทาชมพู ดิฉันเดาไม่ถูกมาก่อนเลยค่ะ  นึกมาว่า ท่านทรงมีพระชนม์ไม่ห่างกันเท่าไรนักนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 04 มี.ค. 05, 17:09

 ระยะเวลาตั้งแต่พ.ศ. 2479-81 เป็นช่วงเวลาสำราญพระทัยช่วงสั้นๆของ สมเด็จฯเมื่อตัดสินพระทัยเสด็จประพาสทางทะเล ออกนอกประเทศไทย ไปทางใต้
ครั้งแรกก็ไปสิงคโปร์   ทรงพบพระบรมวงศานุวงศ์ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปประทับอยู่นอกประเทศ อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 อีกไม่ถึงปีก็เสด็จอีก  ครั้งนี้ทรงพบสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์  ฯสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และกรมหลวงทิพยรัตน์ฯ ที่มาเฝ้ารับเสด็จที่สิงคโปร์
ความสะเทือนพระทัยของเจ้านายที่ต้องทรงพลัดพรากกันไปเพราะการเมืองเป็นอย่างไร   สะท้อนอยู่ในพระดำรัสสั้นๆว่า
" โถ  ถูกรังแก  พลัดบ้านพลัดเมือง  ฉันทนไม่ได้จริง"
กรมหลวงทิพยรัตน์ฯ เสด็จเข้ามาสวมกอด และทรงกันแสงกันทั้งสองพระองค์

ครั้งที่สอง เสด็จทางเรือไปไกลถึงชวา  เพื่อจะได้ทรงพบเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯซึ่งเสด็จอยู่ที่เมืองบันดุง   ในครั้งนี้เกิดประชวรขึ้นมาตอนขากลับ เพราะทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากเกินไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ประทับไปในรถยนต์ด้วย   สมเด็จฯประทับครึ่งบรรทมมาตลอดทาง  ทรงเพ้อเรียกสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯว่า "ลูกแดง "  (ซึ่งหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลาฯซึ่งสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้ว) ด้วยความห่วงว่าจะทรงหิวและเหนื่อย   ทำเอาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ถึงกับน้ำพระเนตรกบพระเนตร   แต่ก็ไม่ทรงปฏิเสธ ทรงรับเป็น "ลูกแดง "ทุกครั้งที่ทรงเรียก

อย่างไรก็ตาม   พระอาการประชวรก็ดีขึ้นในขากลับ  จนเกือบเป็นปกติ  ทรงแวะสิงคโปร์   ณ ที่นี้ทรงพบสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ อีกครั้ง  
แต่ความสุขที่ทรงพบกัน ก็เจือปนด้วยความโทมนัสอีก เพราะเท่ากับเริ่มการพลัดพรากในหมู่พระญาติสนิทอีกครั้ง   เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯตามเสด็จมาส่งได้เพียงแค่นี้ ก็ต้องเสด็จกลับเมืองบันดุง  ไม่เข้ามาในประเทศไทย

สมเด็จฯมิได้ทรงรู้ล่วงหน้าเลยว่า เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ทรงพบผู้ที่เป็นตัวแทนของ "ลูกแดง"     อีก 6 ปีต่อมา   สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็สิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดุงนั่นเอง  พระชันษา 63 ปี  ส่วนสมเด็จฯยังมีพระชนมายุต่อมาอีกยาวนาน
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 04 มี.ค. 05, 23:04

 คุณเทาชมพูคะ  ขอกราบขอบพระคุณจริงๆค่ะ  เคยสะท้อนใจมามากแล้ว  ที่ประวัติศาสตร์ไทยที่มีให้เราได้อ่านได้เรียนรู้กัน  ดูเหมือนจะสะดุดหยุดลงตรงสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง  สิ่งที่ลูกหลานไทยได้อ่าน ได้รับรู้  ก็เพียงแค่ รายชื่อของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา  แต่เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ  หาอ่านได้ยากที่สุด  เกร็ดประวัติศาสตร์ไม่ว่าใหญ่น้อยอย่างไรในยุคตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา  ดิฉันเห็นว่า  เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดเลยค่ะ

การที่เราจะเข้าใจภาพรวมของประวัติความเป็นไปในอดีตของเรา  จำต้องทราบข้อมูลจากทุกๆด้าน  แต่ที่เรามี  ก็เหมือนภาพแหว่งๆวิ่นๆ  เพราะคนต้องการปิดไม่ให้เป็นที่เปิดเผย  เราจึงเหมือนคนไม่รู้จักอดีตใกล้ตัวกันน่ะค่ะ  แรงงานของคุณเทาชมพูเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยจริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
คำฝอย
มัจฉานุ
**
ตอบ: 64

เรียน


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 11 มี.ค. 05, 21:18

 สวัสดีค่ะคุณเทาชมพู
    ขอบพระคุณมากนะคะที่นำเรื่องดีๆ มาให้อ่าน ติดตามอ่านเอาเป็นเอาตาย จนเพื่อนที่ที่ทำงานบอกว่าวันนี้เธอทำตัวโดดเดี่ยวจัง ดิฉันก็ไม่ได้อธิบายว่าอ่านอะไรอยู่ ขี้เกียจแปลเป็นภาษาต่างด้าว วันนี้แวะมาชื่นชม ว่างๆ วันหลังคงจะได้แวะเวียนมาอีก ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 12 มี.ค. 05, 11:46

 ขอโทษที่หลังๆนี้ไม่ค่อยได้เข้ามาเล่าค่ะ  ทิ้งช่วงไปยาวนาน   ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านสม่ำเสมอโดยไม่ปริปากบ่น
จะพยายามเข้ามาโพสต์ถี่ขึ้น ค่ะ

เล่าต่อนะคะ
ปี 2481 เมื่อสมเด็จฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพ  ก็มีเรื่องให้สุขพระราชหฤทัยไปตลอดปีอีกครั้งอย่างไม่เคยเป็นมานานแล้ว  คือข่าวพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์เสด็จกลับจากยุโรป      
สมเด็จฯถึงกับเสด็จโดยทางเรือออกไปรับถึงปากน้ำ    หลังจากไม่ได้ทรงพบกันนานถึง 4 ปี พระราชนัดดาทั้งสามทรงเจริญพระชนมายุขึ้นมาก พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขณะนั้นพระชนมายุ 13 พรรษา  สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงอ่อนพระชันษากว่า 2 ปี   ส่วนสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา พระชันษา 15 ปี
ล้วนทรงพระโฉมน่ารักน่าชม และมีพระพลานามัยแข็งแรงดี   มีพระจริยวัตรอันงดงาม สมกับพระชนนีทรงอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นที่โสมนัสของสมเด็จฯอย่างยิ่ง    ทั้งสามพระองค์และพระชนนีประทับร่วมกันที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 12 มี.ค. 05, 11:50

 ความสุขของเจ้านายทุกพระองค์เป็นไปอย่างเรียบๆง่ายๆ   แต่เต็มเปี่ยม   อย่างในวันคล้ายวันประสูติของพระราชนัดดาพระองค์เล็ก  สมเด็จฯก็โปรดให้จัดละครลิงเข้าไปเล่นถวายในวังสระปทุม   ทรงพระสรวลเมื่อเห็นลิงเล่นอะไรขันๆ อย่างที่ไม่เคยทรงพระสรวลบ่อยนัก

นอกจากนี้ แม้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  สมเด็จฯก็มิได้โปรดให้ฟุ่มเฟือย    เมื่อพระราชนัดดาเสด็จกลับมาใหม่ๆ ยังไม่ทรงรู้จักธนบัตรไทย   สมเด็จฯก็ทรงอธิบายให้ฟังและพระราชทานให้บ้าง  ตั้งแต่ใบละ 1 บาทไปจน 20 บาท
แต่พอถึงธนบัตรใบละร้อยบาท ซึ่งเป็นธนบัตรมูลค่าสูงสุดในสมัยนั้น   ก็รับสั่งว่า
" นี่ใบละร้อย  มากไป อย่าเอาเลย"

แต่ความชุ่มชื่นพระราชหฤทัยของสมเด็จฯก็เปรียบได้กับหยดน้ำกลางแผ่นดินซึ่งแห้งแล้งร้อนระอุเพิ่มขึ้นทุกวัน

เมืองไทยในยุคนั้นได้ผู้นำคนใหม่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี  คือนายทหารหนุ่มที่เคยเป็นแม่ทัพฝ่ายรัฐบาลในการปราบปรามกบฏบวรเดช    เขาคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม     ผู้มีกำลังกองทัพหนุนหลังอยู่อย่างแข็งแกร่ง

นโยบายสำคัญของจอมพลป. เท่าที่จะกล่าวถึงในกระทู้นี้ มี 2 เรื่อง คือ การปลุกความคิดชาตินิยม ให้เกิดสำนึกในความเป็นไทย หวงแหนและภูมิใจในแผ่นดินไทย    ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสที่ไทยสูญเสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5

กระแสเรียกร้องนี้ทำให้เกิดมีผู้หวังได้ดีทางลัด  นอกจากสนับสนุนนโยบายอย่างเต็มที่แล้วยังลามปามไปถึงการตำหนิติเตียนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ว่าทรงเป็นผู้ทำให้ประเทศเสียดินแดนไปมากมาย

นอกจากนี้ ยังรุนแรงขึ้นถึงขั้นมีหนังสือพิมพ์ลงบทความจ้วงจาบหยาบคายถึงพระราชวงศ์   เรียกว่า "ครอบครัวประหลาด" และพาดพิงมาถึงสมเด็จฯ   แม้ไม่ออกพระนามโดยตรงแต่ก็รู้ว่าหมายถึงใคร

ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอดรนทนไม่ได้ ลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับหนังสือพิมพ์    รัฐบาลก็ดำเนินการตามถึงขั้นศาลตัดสินให้จำคุกบรรณาธิการ  แต่มีคำบอกเล่าว่า มีการผ่อนปรนเป็นการภายในในเวลาต่อมา

นโยบายประการที่สองคือมีการกวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล   แม้ว่าไม่เคยมีการกระทำใดๆ ถึงขั้นพิสูจน์ได้ว่ามีการลงมือ หรือตระเตรียมการก่อกบฏ    
แต่อำนาจของรัฐบาลในยุคนั้นกว้างมาก  จนจับกุมได้แม้ว่าไม่มีข้อพิสูจน์  เพียงแต่ตั้งข้อหาก็จับกุมคุมขังได้แล้ว

บุคคลผู้เคราะห์ร้ายอย่างยิ่งในการ "เป็นผู้ต้องสงสัย"   คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเป็นพระราชโอรสที่สมเด็จฯทรงเลี้ยงดูมาตั้งแต่พระชนมายุได้ 12 วัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 12 มี.ค. 05, 12:10

 ถ้าจะถามว่า กรมขุนชัยนาทฯ เคยทรงมีพฤติกรรมหรือบทบาทอะไรแสดงว่าทรงฝักใฝ่ทางการเมืองมาก่อนหรือไม่    ดิฉันเองไม่เคยเห็นหลักฐานว่าทรงเกี่ยวข้องอะไรทั้งตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และตอนกบฎบวรเดช 2476  
ตรงกันข้าม ทรงเป็นเจ้านายที่มีความเป็นอยู่อย่างสงบพระองค์หนึ่ง      แต่ก็ถึงขั้นถูกจับกุมอย่างผู้ต้องหา

ขอเรียบเรียงตัดตอนจากคำบอกเล่าของ หลวงอายุรกิจโกศล มาลง ค่ะ
" ในปี 2481  ระหว่างเดือนสิงหาคม หรือกันยายน จำไม่ได้แน่   เสด็จในกรมฯ(หมายถึงกรมขุนชันนาทฯ) ได้เสด็จไปจังหวัดเชียงใหม่   ก่อนเสด็จได้มีลายพระหัตถ์ถึงข้าหลวงพระจำจังหวัด  
แจ้งพระประสงค์ว่าเพื่อทรงศึกษาลู่ทางที่จะให้หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ พระโอรสองค์เล็กซึ่งทรงศึกษาวิชามนุษย์วิทยา ไปสอบสวนและศึกษาเรื่องชาวละว้า  ซึ่งทางเหนือเรียกชาวลัวะ  
เพื่อนำไปทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในสิ้นปีหน้า"

การขอความร่วมมือไปทางจังหวัด  ทรงตกลงจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์  
และมีผู้ตามเสด็จหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ไปด้วยก็คือหลวงอายุรกิจโกศลซึ่งเป็นสาธารณสุขจังหวัดในช่วงนั้น   ตั้งใจจะไปตรวจและบำบัดไข้มาเรียแก่ชาวบ้านในเวลาเดียวกัน

เรื่องนี้ก็ได้ตระเตรียมกันเรียบร้อยโดยไม่มีปัญหาอะไร    กรมขุนชัยนาทเสด็จเชียงใหม่จนเสร็จการตระเตรียมแล้วก็เสด็จกลับกรุงเทพ   อีก 2 อาทิตย์ก็เสด็จกลับไปอีกครั้งพร้อมด้วยหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์    แล้วทรงแยกทางกันที่เชียงใหม่  
ท่านชายสนิทฯ มุ่งหน้าไปสำรวจข้อมูลที่อำเภอฮอด  เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับกรุงเทพโดยทางรถไฟ  มีข้าหลวงและผู้ที่ทรงคุ้นเคยมาส่งเสด็จที่สถานี ตามปกติ
ไม่มีใครคิดฝันว่าจะเกิดเหตุร้ายให้ตระหนกตกใจกันไปทั่ว  เมื่อวิทยุกระจายเสียงไปทั่วประเทศว่า มีการจับกุมกรมขุนชัยนาทนเรนทรฯ ที่สถานีลำปาง   พอถึงกรุงเทพ  ตำรวจก็ส่งพระองค์เข้าห้องขังรวมกับผู้ต้องขังทั้งหลาย  เหมือนเป็นผู้ต้องหาทั่วไป

ถ้าจะถามว่าเกิดอะไรขึ้น   ก็คือในช่วงนั้น รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมบุคคลต่างๆในกรุงเทพ ที่ต้องสงสัยว่ามีการกระทำเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล   มีแม้แต่ข่าวว่าผู้ถูกจับกุมคนหนึ่งทางภาคใต้พยายามหนีแล้วถูกตำรวจยิงตาย

การกวาดล้าง"ผู้ต้องสงสัย" กินเขตแดนมาถึงพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย   ส่วนหลักฐานมีอะไรอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นเรื่องมืดมนกันอยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 12 มี.ค. 05, 13:09

 เมื่อความทราบถึงสมเด็จฯ  ทั้งตระหนก และเสียพระราชหฤทัยมาก    มีพระอาการโทมนัสเหมือนครั้งที่ทรงสูญเสียสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ทรงรำพันว่า
" ทำไมรังแกอย่างนี้  มันจะเอาชีวิตฉัน   มาทำไมลูกชายฉัน  เห็นได้เทียวว่ารังแกฉัน"

ทรงรวบรวมพระสติได้  ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน(อุ่ม อินทรโยธิน) หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ เข้าเฝ้า    เพราะเจ้าพระยาพิชเยนทรฯเคยเป็นข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ   ทรงคุ้นเคยมาก่อน

ตรัสว่า
" เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆ   ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด  ขอให้เธอไปช่วยบอกจอมพลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯ เข้าห้องขัง   มีผิดอะไรส่งมาที่ฉัน   ฉนจะขังไว้ให้เอง ให้มาอยูที่บ้านนี้  ข้างห้องฉันนี่   เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ 12 วัน   พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทาน
ฉนเอง   ถ้ากรมชัยนาทฯหนีหาย    ฉันขอประกันด้วยทรัพสมบัติทั้งหมดที่ฉันมีอยู่   ถ้าหนีหาย  ฉันก็ยอมเป็นคนขอทาน"

แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธคำขอ  บอกว่าเป็นเรื่องของบ้านเมือง  อะลุ้มอะล่วยกันไม่ได้
ทรงฟังก็กันแสง ค่อนพระทรวง ตรัสว่า
"เขาจะแกล้งให้ฉันตาย   ฉันไม่รู้จะอยู่ไปทำไม   ลูกตาย ไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจเหมือนครั้งนี้เลย   เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก   ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว"

แล้วตรัสกับเจ้าพระยาพิชเยนทรฯอีกว่า
" เธอจะไปทำอย่างไรก็ได้  ขอให้ช่วยด้วย  เห็นแก่ฉันเถอะ   ฉันไม่พูดหรอกกับพระองค์อาทิตย์   เพราะเธอเป็นเด็ก และเป็นญาติด้วย"
เจ้าพระยาพิชเยนทรฯ ถึงกับร้องไห้  กราบพระบาทถวายบังคมลาออกไปทั้งน้ำตา

แต่ผลจากนั้นก็ไม่มีสิ่งใดดีขึ้น  รัฐบาลยังสอบสวนดำเนินการกับกรมขุนชัยนาทฯ ต่อไปอย่างนักโทษการเมืองคนหนึ่ง
สิ่งต่อไปที่สมเด็จฯดำเนินการอย่างฉับไว คือให้ม.จ.สนิทประยูรศักดิ์ เสด็จไปต่างประเทศทันที  

เพราะเกรงว่าจะทรงถูกรังแกมีชะตากรรมเหมือนเสด็จพ่อ     เงินทองที่ทรงเก็บออมไว้ถูกนำมาเป็นค่าเดินทาง  จนท่านชายเสด็จออกพ้นประเทศไทยไป ถึงเบาพระทัย
ต่อจากนั้น  สมเด็จฯทรงห้ามพระประยูรญาติทุกพระองค์ที่ทรงรับราชการ ไม่ให้เข้ามาเฝ้าที่วังสระปทุม    เพราะทรงเกรงว่าจะถูกเพ่งเล็งจากทางการ และถูกข้อหากบฎเช่นเดียวกัน

เคราะห์ไม่ได้มาหนเดียว   ความโทมนัสของสมเด็จฯที่ว่าหนักที่สุดแล้ว ก็ยังมีหนักกว่านี้อีก
เมื่อพระราชธิดาพระองค์เดียว ที่เหลืออยู่คือสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  ประชวรเรื้อรังด้วยโรคพระวักกะ(ไต)พิการ  มีพระอาการทรุดลง จนสิ้นพระชนม์ในปีนั้นเอง
บันทึกการเข้า
Marty
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 12 มี.ค. 05, 17:22

ขอขอบคุณคุณเทาชมพูนะครับ ที่สละเวลาเขียนเรื่องต่าง ๆให้พวกเราอ่าน
ยังติดตามอ่านเสมอมาครับ และจะติดตามต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง