|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 20 ธ.ค. 04, 09:57
|
|
ขอแวะออกนอกเส้นทางเล่าถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ในรัชกาลที่ 6 ช่วงปลายในพระชนม์ชีพหน่อยนะคะ
ในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ประทับอยู่ที่วังพญาไท( บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน)จนเสด็จสวรรคต แบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีและบรรยากาศในวังยังดำรงรักษาไว้เหมือนในรัชกาลก่อน สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องบรรม ผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าก็เข้าเฝ้าในห้องบรรทมนั่นเอง แต่อาจจะต้องรออยู่หลายๆชั่วโมงในห้องโถงก่อนถึงเวลา ทรงใช้เวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน คือตื่นบรรทมราวๆตอนค่ำ และเข้าบรรทมอีกครั้งตอนเช้า ถ้าไม่มีพระราชพิธีที่จะต้องเสด็จออกไปก็แทบจะมิได้ลุกจากพระแท่นบรรทมเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในตอนปีท้ายๆก่อนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ มิได้ทรงเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการบ้านเมืองอีกในรัชกาลที่ 6 แต่ก็มิได้ทรงเก็บตัวจากโลกภายนอก ยังทรงสนพระทัยเรื่องความเป็นไปของโลกอยู่มากโดยเฉพาะเรื่องต่างประเทศ ทรงรอบรู้ถึงพระราชวงศ์ต่างๆในยุโรปเป็นอย่างดี รับสั่งกับหมอสมิธแพทย์ประจำพระองค์ได้อย่างละเอียดลออกว่าหมอเองเสียอีก นอกจากนี้ โปรดให้มีผู้เข้าเฝ้าอยู่เสมอ ไม่โปรดที่จะทรงอยู่ตามลำพัง หมอสมิธเล่าตอนหนึ่งว่า "สำหรับสมเด็จพระพันปีหลวง การพูดคุยดูจะเป็นกิจกรรมหลักในฃีวิตของพระองค์ และพระองค์ไม่เคยที่จะทรงเบื่อหน่าย หากจะทรงเศร้าพระทัยมากกว่าถ้าไม่มีใครมาพูดคุยด้วย คืนหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระองค์ภายในห้องบรรทม ข้าพเจ้าได้พบพระองค์กำลังทรงพระกันแสง และดูเหมือนทรงว้าเหว่พระทัยอย่างที่สุด (สะอื้น) พระโอรสต่างก็พากันเสด็จกลับไปหมด ไม่มีใครสักคนที่จะอยู่พูดคุยกับพระองค์(สะอื้น) ทุกคนล้วนแต่ไม่มีความคิดและนึกถึงแต่ตัวเอง ทอดทิ้งพระองค์ไว้เพียงลำพัง ทั้งๆที่รู้ว่าพระองค์กำลังทรงพระประชวร (สะอื้น) แต่หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระพันปีหลวงก็ค่อยๆคลายความโศกเศร้าพระทัยลง ทรงซับพระเนตรและมูลพระนาสิก จากนั้นพระสุรเสียงก็เริ่มแจ่มใส ความทุกข์โศกทั้งปวงกลับจางหายไป เมื่อมีผู้คนมาให้ทรงรับสั่งด้วย"
พระมาตุจฉาฯ ทรงมีกิจกรรมหลายอย่างที่ทำให้ไม่ว้าเหว่พระทัย แม้ว่าพระราชโอรสทรงอยู่ห่างไกลมากก็ตาม ทรงมี "หลานย่า" ที่โปรดปรานอีกองค์หนึ่งคือหม่อมเจ้าปิยะรังสิต โอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งทรงอุปการะประดุจพระราชโอรสแท้ๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
พวงร้อย
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 21 ธ.ค. 04, 13:53
|
|
ดีใจจังที่คุณเทาชมพูกลับมาเล่าต่อ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงประชวรด้วยโรคไตอย่าง ร ๕ เลยนะคะ ดิฉันว่า การที่เคยทรงพระครรภ์มาถึง ๑๔ ครั้งนั้น จะมีส่วนทำให้พระวรกายทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก แม้สมเด็จพระพันวัสสาก็ทรงพระครรภ์มาไม่น้อยเช่นกัน แต่คงทรงได้รับยีนส์ที่แข็งแรงนะคะ ถึงได้ไม่มีโรคประจำพระองค์
เรื่องสมเด็จพระพันปีหลวงทรงบรรทมกลางวัน จนใครจะเข้าเฝ้าต้องเข้าเฝ้าตอนดึกๆนี่ดิฉันเคยได้อ่านมาจาก เกิดวังปารุสก์ มาบ้าง และจำได้ว่า ทรงกริ้ว ร.๖ ที่ไม่โปรดให้ กรมหลวงพิษณุโลก สมรสกับหม่อมองค์ใหม่ จนถึงกับไม่ทรงตรัสด้วยจนสิ้นพระชนม์ไปเลย ทรงมีพระทัยมั่นคงไม่โยกคลอนได้ง่ายเลยนะคะ
พระฉายาของสมเด็จพระพันวัสสาฯข้างบนนี่ งามเหลือเกินค่ะ ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นบุญตาจริงๆค่ะ ขอบคุณมากนะคะ คุณเทาชมพูพอจะมีข้อมูลมั้ยคะว่า ทรงฉายเมื่อไหร่ หรือเมื่อทรงมีพระชนม์ได้กี่พรรษา ทรงงามอย่างคลาสสิคที่ดูวัยไม่ออกเลยค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 24 ธ.ค. 04, 13:12
|
|
ไม่มีข้อมูลเลยค่ะ เดาว่าพระชนม์ประมาณ 20 พรรษา สังเกตจากผ้าจีบสะพายว่าเป็นแฟชั่นช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ส่วนผ้าลูกไม้บางเข้ามาในช่วงกลางรัชกาล ขอเล่าถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ต่ออีกนิดนะคะ จากที่คุณพวงร้อยเล่านำไว้
ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์ท่านกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ค่อนข้างห่างเหิน ไม่สนิทกันเหมือนเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก ฯ และพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมักมาเข้าเฝ้าพระบรมราชชนนี น้อยครั้งมาก ครั้งหนึ่งๆก็เข้าเฝ้าประมาณ 1-2 ชั่วโมงเป็นอย่างมาก ผิดกับพระราชอนุชาพระองค์อื่นๆที่จะเข้าเฝ้าจนดึกดื่นค่อนคืนและมาบ่อย
ความขัดแย้งมีหลายเรื่อง เรื่องสำคัญคือสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ท่านมีพระราชประสงค์ให้พระเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรส เพื่อความมั่นคงของราชบัลลังก์ แต่ก็ไม่สมพระประสงค์จนแล้วจนรอด ขนาดทรงหาเจ้านายสตรีให้ทรงเลือก อยู่หลายพระองค์ ก็ไม่สำเร็จ
เรื่องอื่นๆ ก็คือความรู้สึกของพระเจ้าอยู่หัวว่า " เป็นลูกที่แม่ไม่รัก" ส่วนลูกรักคือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ จะทูลขออะไรก็ได้ บางเรื่องก็ทูลขอให้พระบรมราชชนนีมาบังคับพระเจ้าอยู่หัวอีกที เรื่องเหล่านี้จะจริงหรือว่าทรงเข้าพระทัยผิดไปเองก็ตาม ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ก็มีผลให้ความสัมพันธ์ห่างเหินไปจนกระทั่งสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ สวรรคต
ส่วนความสัมพันธ์กับสมเด็จพระมาตุจฉา กลับราบรื่นกว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงเคารพสมเด็จพระมาตุจฉามาก และทรงพระกรุณาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลาฯด้วยดี ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน แม้จะมีเรื่องการทำงานในกองทัพเรือที่ขลุกขลักบ้าง อย่างที่เล่าข้างบนนี้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะก่อความร้าวฉานระหว่างกันแต่อย่างใด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 30 ธ.ค. 04, 10:47
|
|
สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯเสด็จสวรรคต เมื่อพ.ศ. 2462 สมเด็จพระมาตุจฉาฯ ทรงรับการจัดการพระบรมศพ ตั้งแต่สรงน้ำ อัญเชิญขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท บัญชาการฝ่ายใน ถวายพระเพลิงและเก็บพระบรมอัฐิ แต่พระราชภารกิจก็มิได้สิ้นสุดแค่นี้ เพราะว่างานต่างๆที่เคยเป็นพระราช ภารกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ อย่างสภากาชาดไทย ก็ตกมาเป็นภาระของสมเด็จพระมาตุจฉาฯด้วย ทรงรับเป็นองค์สภานายิกา ด้วยความรับผิดชอบเต็มพระกำลัง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้ทรงพระชรามากพระชนม์ถึง 78 พรรษา ก็ยังเสด็จไปเป็นประธานงานกาชาดประจำปี
หลังจากสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯสวรรคต พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพบสตรีหลายท่านผู้เป็นที่พึงพอพระราชหฤทัย หนึ่งในนั้นคือพระสนมเอก พระสุจริตสุดา พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพิธีเสกสมรสโดยทูลเชิญสมเด็จพระมาตุจฉาฯไปพระราชทานน้ำสังข์ เวลาผ่านไปจนถึงปลายรัชกาล เมื่อเจ้าจอมสุวัทนาตั้งครรภ์ พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อพระราชโอรสธิดาในครรภ์จะได้ประสูติเป็นเจ้าฟ้า เมื่อใกล้ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี สมเด็จพระมาตุจฉาฯทรงรับภาระทั้งหมดตั้งแต่ต้มน้ำ พระราชทานผ้าทรง และพระแท่นที่เคยประสูติพระราชโอรสธิดามาเอง และทรงเฝ้าอยู่ด้วยตลอดเวลาที่เจ็บพระครรภ์ใกล้ประสูติ น้ำอุ่นที่ใช้สรงเจ้าฟ้าหลังประสูติ คุณท้าววรจันทร์เป็นคนต้มและต้องสวด มนตร์อยู่ตลอดเวลา เมื่อประสูติ คุณท้าวก็ฉีกผ้าขาวถวายเจ้าฟ้าเป็นผ้าอ้อม และเบาะ เมื่อประสูติเจ้าฟ้าแล้ว สมเด็จพระมาตุจฉาฯ พระราชทานน้ำลูบพระพักตร์พระนางเจ้าสุวัทนา
พระนางเจ้าสุวัทนา ทรงยกย่องน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า " ไม่ทรงลำเอียงเลย โปรดเสมอกันหมด กระบวนยุติธรรม ๆ จริง ถึงแม้พระมเหสีเทวีองค์อื่นเป็นพระญาติก็ไม่ทรงลำเอียง"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
พวงร้อย
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 30 ธ.ค. 04, 11:25
|
|
 ขอบคุณคุณเทาชมพูมากค่ะ สองสามวันก่อนกำลังจะเข้ามาคุยต่อ ก็มีเหตุเป็นไปให้ต้องไปรีบศึกษาหาข้อมูลเรื่อง สึนามิ อยู่ เลยไม่ได้มีโอกาสกลับเข้ามาอีกเลยค่ะ นี่เขียนจนมึนเต็มทีเลยเข้ามาพักสมองอ่านเรื่องสมเด็จฯสักหน่อย ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจขึ้นมาไม่น้อย มีแรงกลับไปรีเสิร์ชเรื่องที่จะเขียนต่อได้แล้วค่ะ ขอให้คุณเทาชมพูสุขภาพแข็งแรงมีกำลังวังชาดีตลอดไปนะคะ |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 05 ม.ค. 05, 16:45
|
|
ขอบคุณค่ะคุณพวงร้อย ปีใหม่นี้ขอให้คุณพวงร้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงสดชื่น เช่นเดียวกันค่ะ ****************************** อย่างที่เราทราบกันแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต โดยปราศจากพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อไป ราชบัลลังก์ตกอยู่กับสมเด็จพระราชอนุชา "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. 2468
สถานการณ์ทางการเมืองและการเงินในสยาม ประสบความผันผวนหลายประการในรัชกาลใหม่ จนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 7 ปีหลังครองราชย์
สิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมเด็จพระมาตุจฉาฯ อย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือรัฐบาลชุดใหม่หั่นงบประมาณรายได้ของเจ้านายลงไปมาก รายได้ที่สมเด็จฯทรงได้รับบัดนี้เหลือเพียง 75% แต่ว่ารายจ่ายยังคงเดิม
ต้องทรงรับภาระทั้งหมด ไม่ว่าเรื่องวัง ข้าราชบริพารหรือพระราชโอรส พระราชนัดดา พระญาติที่ทรงอุปถัมภ์อยู่ ถึงกับทรงปรารภว่า "ฉันได้ถูกลดเงินปีเงินเดือนถึงบาทละสลึง เต็มที เศรษฐกิจก็ตกต่ำ ก็มาคิดตัดรายจ่ายกับหญิงแต๋ว( หม่อมเจ้าหญิงนราวดี เทวกุล) ในบ้านที่ใช้อยู่ เท่าไรก็ไม่สำเร็จ ตั้งเดือนกว่า นั่งคิดอยู่ทุกวัน จะให้พอกับรายได้"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 05 ม.ค. 05, 16:55
|
|
ขอย้อนหลังกลับไปเล่าว่า ในรัชกาลที่ 6 พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในส่วนใหญ่มิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ว่าหลายพระองค์ทรงมีตำหนักอยู่ในสวนสุนันทา เขตพระราชวังดุสิต
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายอยู่ในสภาพ "วังแตก" ข่าวลือต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ล้วนแล้วแต่ชวนให้วิตกกังวล เจ้านายของตำหนักต่างๆก็ทรงจำต้องปิดตำหนัก ให้ข้าราชบริพารแยกย้ายกันไปดำรงชีวิตเอาเอง ไม่สามารถจะทรงเลี้ยงดูได้เหมือนก่อน พระองค์เองก็ต้องย้ายหลีกเลี่ยงการเมืองไปห่างไกลกรุงเทพ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตรขัติยนารี เสด็จไปประทับกับเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ ที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ทั้งสองพระองค์ไม่ได้เสด็จกลับสยามอีกเลย
พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระองค์เจ้าเหมวดี พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เสด็จไปพักผ่อนชายทะเลก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วตัดสินพระทัยไม่เสด็จกลับมาที่วังอีก
เจ้าจอมทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันออกไป อยู่ต่างจังหวัดถิ่นเดิมบ้าง หรือกลับไปอยู่กับพ่อแม่พี่น้องเดิมบ้าง สวนสุนันทาที่เคยงดงามก็ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง กลายเป็นป่าที่อาศัยของนก หนู กระรอก งู ตำหนักต่างๆก็ทรุดโทรม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 08 ม.ค. 05, 09:30
|
|
ขอโทษที่พิมพ์ลำดับเหตุการณ์สลับกันไปหน่อยค่ะ ความจริงคห.ข้อนี้ควรจะมาก่อนคห. 7-8
เริ่มรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า เป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ความโสมนัสของสมเด็จพระพันวัสสา คือทรงมีพระราชนัดดาพระองค์แรกสมพระทัย พระสุณิสาประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อพ.ศ. 2466 คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเสด็จกลับสยาม สมเด็จหญิงพระองค์น้อยมีพระชนม์ได้ 9 เดือน มีพี่เลี้ยงฝรั่งติดตามมาด้วย เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลาฯ ประทับทรงงานด้านการแพทย์อยู่ในประเทศ เป็นระยะที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงมีความสุขอย่างยิ่ง ต่อมาก็ทรงมีพระราชนัดดาชายอีกสองพระองค์ สมเด็จพระพันวัสสาทรงมี"ลูกหลาน" พร้อมพรั่ง หลังจากทรงรอคอยมานานหลายปี
แต่ความสุขของสมเด็จฯ ก็ไม่ยั่งยืนอยู่นานนัก ทรงผจญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอีกครั้ง
เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการแพทย์ในสยามอย่างหนัก นอกจากในกรุงเทพแล้ว ยังเสด็จไปเชียงใหม่เพื่อทรงงานที่ร.พ. แมคคอมิค ในฐานะแพทย์ประจำบ้าน ทรงตั้งพระทัยจะพาครอบครัวไปอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ถึงกับทรงซื้อที่ดินเตรียมไว้ปลูกวังที่ประทับ แต่ยังไม่ทันลงมือ ก็ประชวร ในหนังสือของคุณสมภพ ระบุไว้เพียงว่า "ประชวรด้วยพระโรคภายใน" ประชวรยาวนานถึงสี่เดือน พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด จนกระทั่งทิวงคต เมื่อพ.ศ. 2472 นับเป็นเหตุการณ์วิปโยคแสนสาหัสของสมเด็จพระพันวัสสาอีกวันหนึ่ง ถึงกับประชวรหนักยาวนานถึง 3 เดือน ผู้ที่ถวายการรักษาดูแลใกล้ชิดคือพระสุณิสา ตั้งพระโอสถถวายวันละ 3-4 ครั้ง จนกระทั่งทุเลาในที่สุด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
  
ตอบ: 165
นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 08 ม.ค. 05, 14:51
|
|
จำได้ว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ทิวงคตด้วยโรคฝีในตับครับ(โทษทีครับ ไม่เก่งราชาศัพท์) ส่วนสาเหตุนี้จำไม่ได้ว่าเป็นฝีในตับจากเชื้ออะมีบาหรือเชื้อแบคทีเรีย
 |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 12 ม.ค. 05, 10:24
|
|
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงเสียผู้ที่เป็นกำลังและมันสมองในเรื่องการจัดหาทุนเข้าสภากาชาดไทย ตลอดจนการติดต่อประสานงานกับนานประเทศ คือเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ต้องเสด็จไปอยู่ต่างประเทศเป็นการถาวร แต่สมเด็จฯ ก็มิได้ทรงท้อถอย ทรงรับภาระเรื่องสภากาชาดไทยเพียงลำพัง นาย L.E. Gielgud เขียนไว้ในหนังสือ About It and About คัดข้อความโดยอาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ว่า
"...สมเด็จฯ ทรงยึดมั่นในการแต่งพระองค์แบบไทย เช่นเดียวกับทรงยึดมั่นในภาษา ซึ่งดูขัดกับการตกแต่งวังแบบยุโรปของพระองค์ท่าน และขัดกับเครื่องแบบทหารของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ภูษาโจง ฉลองพระองค์ที่ดูเบาบางรัดอยู่ที่บั้นพระองค์ มีพระภูษาทรงสะพายจากพระอังสา มองดูคล้ายผ้าคลุมไหล่ของพวกกรีก พระเกษาสีเทาจำเริญไว้สั้น และทรงหวีเป็นพุ่ม พระทนต์ดำเนื่องจากเสวยพระศรี พระราชอัธยาศัยที่ปรากฏดังกล่าวมาเป็นไปในทางโปรดข้างแบบแผนอย่างเก่าๆ ดูขัดกับความสนพระราชหฤทัยในกิจการใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอนว่าเกิดจากการทรงสำนึกในพระราชภารกิจต่อประชาชน ความขัดกันนี้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกว่าเป็นอุดมคติอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าพระมเหสีของพระมหากษัติริย์ทั้งหลายในโลกทรงทำได้เช่นนี้ การปฏิวัติในโลกก็คงมีน้อยกว่าที่มีมาแล้ว และโลกก็คงจะมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐน้อยลงด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 12 ม.ค. 05, 10:24
|
|
แม้ว่าคณะราษฎร์ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยไม่เสียเลือดเนื้อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์บ้านเมืองหลังจากนั้นจะสงบราบรื่น คณะผู้ก่อการ เกิดหวาดระแวงกันเองจนนำไปสู่การยึดอำนาจเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่คาดหวังกันไว้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงเห็นความยุ่งยากในบ้านเมือง จึงทรงส่งพระสุณิสาและพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์เสด็จไปต่างประเทศ ทั้งเพื่อความปลอดภัยและเพื่อพระอนามัยในพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ ที่ไม่สู้แข็งแรงนัก เจ้านายน้อยๆทั้ง 3 พระองค์และพระมารดา จึงได้เสด็จไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2476 ส่วนทางนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ก็ต้องประทับอยู่ ณ วังสระปทุมเพียงลำพังอีกวาระหนึ่ง ทรงศึกษาธรรมะอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น เสด็จไปฟังพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์วัดเทพศิรินทร์ ที่มาเทศน์ ณ เรือน ม.จ.ไขศรี ปราโมช ทุกวันอาทิตย์
วันหนึ่งมีคนจีนหาบตู้ใส่สินค้าเบ็ดเตล็ดกระจุกกระจิกมาขายในวัง ทรงทอดพระเนตรเห็นเข็มกลัดรูปห่วงโอลิทปิคคล้องกันเป็นรูป 3ห่วง ก็โปรดมาก ทรงแปลความหมายตรงๆว่า ทรงมีห่วงอยู่ 3 ห่วงคือพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ จึงทรงซื้อและนำมากลัดติดพระองค์เอาไว้เสมอ เมื่อมีผู้ท้วงว่า ห่วงนั้นเป็นของเก๊ ไม่มีราคา ก็ตรัสตอบว่า
"แกกลัด คนเขานึกว่าเก๊ ฉันกลัดคนเขาไม่นึกหรอก"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
  
ตอบ: 165
นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 12 ม.ค. 05, 16:19
|
|
ขออนุญาตแทรกคุณเทาชมพูหน่อยนะครับ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯทรงประชวรด้วยโรคไตพิการเรื้อรังมาตั้งแต่ประทับศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และหลังจากเข้ารับหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่รพ.แมคคอมิค จ.เชียงใหม่เพียง ๓ สัปดาห์ก็ประชวรด้วยโรคฝีบิดในพระยกนะ(เกิดจากเชื้ออะมีบาครับ... ผู้เขียน) ตามราชกิจจานุเบกษาระบุไว้ว่า"...ประชวรพระโรคฝีบิดเป็นพิษตั้งยอดอักเสบในพระยกนะและพระโรควักกะพิการ สิ้นพระชนม์ที่วังปทุมวัน..."
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 12 ม.ค. 05, 21:41
|
|
ขอบคุณที่มาขยายรายละเอียดค่ะ สำหรับคนที่ไม่ทราบความหมายของคำราชาศัพท์คำนี้ ยกนะ อ่านว่า ยะกะนะ แปลว่า ตับ ค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|