เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 11600 "นางงามสามโลก" ... งามยิ่งกว่านางใดในสามโลก ...
...
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 29 ต.ค. 00, 13:00

ลอกมาจากคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน"
ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันอาทิตย์ ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๓  

"นางงามสามโลก"

                             ทุกนางงามในวรรณคดี ไม่ว่าจะโมรา กากี วันทอง เพื่อนแพง หรือสีดา จะหานางใด
                            อานุภาพความงาม ทำให้สามโลกสะท้านหวั่นไหว เท่ากับนาง ติโลตตมา เป็นไม่มีอีกแล้ว

                            นางติโลตตมา... เป็นใคร มาจากไหน... ชื่อก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน คัมภีร์มหาภารตะ
                            อธิบายเอาไว้ดังต่อไปนี้

                            เบื้องบรรพนมนานไกลเป็นอสงไขยปี มีอสูรพี่น้องสองตน ชื่อสุนทะ และอุปสุนทะ
                            ปรารถนาจะเป็นใหญ่ในสามโลก เพื่อให้นาค - มนุษย์และ - เหล่าเทพเทวาครั่นคร้ามเกรงขาม
                             จึงเดินทางไปที่เขาวินไธย บำเพ็ญตบะ ทรมานกาย ด้วยการกินอากาศเป็นภักษา
                            และสุดท้ายยืนเขย่งขาเดียว ตาจ้องพระอาทิตย์

                            ผลของตบะแรงกล้ามาก ภูเขาวินไธยก็กลายเป็นภูเขาไฟ พวยพุ่งไปถึงสวรรค์ ร้อนถึงจอมเทพสำคัญ
                            คือพระพรหม ต้องเสด็จมาถาม

                            พูดถึงพระพรหมแล้ว ต้องเว้นวรรคพูดกันก่อนว่า ในคัมภีร์พราหมณ์ทั่วไป
                             แม้จะถือว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก แต่ส่วนใหญ่ก็เน้นความสำคัญไปที่พระศิวะ พระผู้คุ้มครองรักษา
                             และพระนารายณ์ พระผู้ทำลาย

                             นานๆ หรือมีคัมภีร์ น้อยเล่มนัก ที่จะเขียนให้พระพรหมเป็นใหญ่ สักที

                            เรื่องก็ตามฟอร์ม ฟังไปก็คล้ายๆ กำเนิดรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก นั่นแหละครับ
                             เพียงแต่เรื่องนี้ เปลี่ยนจากพระอิศวร เป็นพระพรหม ดูตั้งใจจะให้พระพรหมใหญ่ที่สุดด้วย

                             สองอสูรขอพร ขอให้ตัวเองเก่งกว่าใครในสามโลก ชีวิตเป็นอมตะ ใครฆ่าไม่ตาย
                            พระพรหมก็ให้แบบไว้เชิง... ให้แค่ ใครฆ่าก็ไม่ตาย ยกเว้นฆ่ากันเอง

                             สองอสูร ได้พรแล้ว ก็เล่นบทนักเลงโตตามสูตร อาละวาดฟาดงวดฟาดงา ไล่ฆ่านาคในบาดาล
                            ฆ่าฤาษีชีไพร อสูรด้วยกัน ตายเป็นเบือ ขนาดท้าวกุเวร หัวหน้ายักษ์ที่ว่าแน่ๆ ยังต้องหนี ไม่หนำใจ
                            อสูรพี่น้องบุกไปถึงสวรรค์ราวีพระอินทร์ พระอินทร์สู้ไม่ไหว ต้องอพยพหนีไปตั้งหลักที่พรหมโลก

                             เทพทุกชั้นฟ้าทนไม่ไหว ไปร้องทุกข์พระพรหม พระพรหมออกใบสั่ง ให้เทพวิศวกรรม นิรมิต

                            นางงามที่เลิศกว่านางงาม ดูดดวงฤทัยบุรุษแม้แต่เทพให้ตามมา เหมือนดวงจันทร์ดูดน้ำในโลกให้ขึ้นลง

                             เทพวิศวกรรม ก็สำแดงฤทธิ์ รวมเอารัตนณีจากทุกสวรรค์ชั้นฟ้า ความหอมของมาลีทุกชนิด
                            รัศมีดวงอาทิตย์ ศัพท์สังคีตโหยหวนทุกกระแสเสียง สรรพสิ่งที่งามเลิศ ที่ได้เห็นและสัมผัส เอามาปั้น

                            เป็นตัวนางติโลตตมา ขึ้นมาทันใด

                            นางติโลตมา รับบัญชาพระพรหม ให้ไปใช้เสน่ห์ ทำให้อสูรพี่น้องฆ่าฟันกันเอง
                             แล้วก็ลีลาสลงจากสวรรค์ ตอนนี้เอง ที่พิสูจน์ว่า ติโลตตมา งามล้ำสาวใดในสามโลกจริงๆ คัมภีร์เล่าว่า
                            ทวยเทพเหลียวตามนางไปตาค้างทุกองค์

                             พระอิศวร เดิมทีมีพักตร์เดียว เหลียวดูนางจนคอหมุนรอบ จึงได้พักตร์เพิ่มอีกสามเป็นสี่พักตร์
                            พระอินทร์นั้น อาการหนักกว่าใคร สอดส่ายตาตามไป ดวงตาก็เพิ่มทีละดวงจนถึงพันดวง

                             งามขนาดเทพใหญ่น้อย สติวิปลาสคลาดเคลื่อนกัน ทุกชั้นฟ้าอย่างนี้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
                            เมื่อนางติโลตตมา ไปถึงอสูรสุนทะ ก็แย่งชิงนางกับอสูร อุปสุนทะ ฆ่ากันจนตาย
                             สมเจตนาของพระพรหม

                             เรื่องควรจะจบแค่นี้ แต่ก็ยังจบไม่ได้ เพราะความงามเกินไปเป็นเหตุ นางติโลตตมารับรางวัล
                            ขอเลือกอยู่สวรรค์ แต่พระพรหมคงทนเห็นอาการ ของเทพเพื่อนพ้องน้องพี่ไม่ได้
                             ขอร้องให้ไปอยู่สวรรค์ชั้นใกล้ๆ กับสูรยเทพ

                             "เจ้ามันงามนัก อยู่สวรรค์สวรรค์ก็ปั่นป่วน ต้องให้แสงอาทิตย์ (จากสูรยเทพ) ปิดบังความงามเจ้าไว้
                             ไม่มีใครเห็นเจ้า เรื่องร้ายๆ จะได้ไม่เกิดในสามโลก"

                            พระพรหมว่าดังนั้น... เรื่องนางงามสามโลก ชื่อนางติโลตตมา ก็จบลงตรงนี้.

                                                                     "บาราย"
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 ต.ค. 00, 00:00

ไม่ใช่ความผิดของหนูสักหน่อย ก็สร้างมาให้หนูงามเอง แล้วก็หลงใหลกันเอง- เอ๊อ ... ผู้ชายละก็- พิลึก!
แล้วพระอาทิตย์ท่านไม่เป๋ไปด้วยหรือครับ เทพอื่นๆ เป๋ยังพอทน พระพรหมจะมีสี่หน้าก็เรื่องของพระพรหม แต่ถ้าพระอาทิตย์เป๋จากวิถีโคจรนี่ เดือดร้อนมาถึงผมมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
อินทาเนีย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ต.ค. 00, 16:38

ในบทความข้างบนน่าจะมีข้อผิดพลาดอยู่จุดหนึ่ง คือที่บอกว่าพระศิวะเป็นพระผู้คุ้มครองรักษาและพระนารายณ์เป็นพระผู้ทำลายนั้น ที่ถูกควารเป็น...

พระศิวะ - พระผู้ทำลาย
พระนารายณ์ - พระผู้รักษา
(พระพรหม - ผู้สร้าง)

ใช่ไหมครับ?

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ต.ค. 00, 22:20

ขึ้นอยู่กับว่ายุคไหน นิกายไหนขึ้นมาเป็นใหญ่ก็ยกย่องเทพเจ้าของตนว่าสูงสุด  จะบวกลบเพิ่มลดบทบาทขององค์ท่านและองค์อื่นๆก็ทำได้ค่ะ ทั้งพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์
เคยอ่านพบว่า
พระพรหม--ผู้สร้าง
พระศิวะ - ผู้ทำลาย  การทำลายนี้ไม่ใช่ถล่มท่าเดียว แต่เป็นการทำลายสิ่งที่ไม่ดี เพื่อให้โลกดีขึ้น
พระนารายณ์- เป็นผู้ปราบยุคเข็ญ ด้วยการอวตารเวลาโลกเกิดปัญหา    
ใครสนใจหาอ่านได้จากหนังสือ พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ เรื่องนารายณ์สิบปาง ค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ต.ค. 00, 23:20

ผมเห็นว่า บทบาทของมหาเทพทั้งสามค่อนข้างกำหนดแน่แล้วนะครับ ว่าพระพรหมผู้สร้าง พระศิวะผู้ทำลาย พระนารายณืผู้บำรุงรักษา ถึงแม้จะเป็นพราหมณ์ไศวนิกายหรือไวษณวนิกายก็ไม่น่าจะหนีบทบาทนี้ (พระพรหมไม่ยักกะมีนิกายย่อยที่นับถือพระองเป็นของพระองค์เอง)
แต่ว่าที่จริงแล้วในทางปรมัตถ์ของฮินดู มหาเทพทั้งสาม ก็เป็นภาวะอันเดียวกันนั่นเองที่เรียกว่า ตรีมูรติ อันเปิดช่องให้ผู้นับถือพระวิษณุเบ่งได้ว่า สามมหาเทพ ที่จริงแล้วมีองค์เดียว คือวิษณุของฉันไง ดังนั้น (และผู้นับถือพระศิวะก็เบ่งได้ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน)
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ต.ค. 00, 00:33

การบำรุงบริรักษ์โลกให้เป็นไปด้วยดี ของพระนารายณ์นั้น ใช้การอวตารลงมากู้โลกปราบยุคเข็ญเป็นสำคัญ พระนารายณ์จึงทรงมีภาพลักษณ์เป็นเทวดามือปราบ

ในขณะที่พระอิศวรหรือพระศิวะ มีหน้าที่ผู้ทำลายก็จริง แต่มุ่งไปที่การทำลายคือการชำระให้บริสุทธิ์ ถือว่าเป็นเรื่องดี การชำระให้บริสุทธิ์ ค่อนข้างจะเกี่ยวกับการบำเพ็ญตบะเผาผลาญทำลายบาป จึงมีปรากฏว่าท่านครองเพศเป็นโยคี และถ้าไม่ได้อยู่ในสมัยที่จะต้องล้างโลกหรือสมัยที่พิโรธแล้ว พระทัยท่านก็มักจะดี ใครบำเพ็ญตบะขออะไรท่านในฐานะที่ท่านเป็นโยเคศวรท่านก็มักจะให้พรนั้น (จนบางทีมีเรื่องร้อนถึงพระนารายณ์ต้องไปปราบผู้ได้พรแล้วใช้พรในทางผิดบ่อยๆ)

ความที่พระนารายณ์บำรุงรักษาโลกด้วยการเป็นหน่วยกู้ภัย อันทำให้ต้องทรงเป็นเทวดามือปราบ กับที่พระศิวะเวลาไม่ได้ทำลายล้างใครแล้วพระทัยดีชอบให้พร อาจจะทำให้ผู้เขียนบทความของไทยรัฐข้างบนสับสนได้ครับ ว่า พระวิษณุน่าจะเป็นเจ้าแห่งการทำลายล้าง เพราะอ่านกี่เรื่องๆ ก็เห็นอวตารลงมาทำลายยักษ์มารทั้งนั้น แล้วเลยหลงว่าพระศิวะเป็นเจ้าแห่งการบำรุงรักษาโลกให้เป็นไป เพราะเห็นพระทัยง่ายให้พรบ่อย

อย่าว่าแต่คนไทย พราหมณ์เอง ที่อยู่ในเมืองไทย (ผมไม่ชัดเจนว่าเป็นไศวนิกายหรือไวษณวนิกาย) ก็คงจะคิดคล้ายๆ อย่างนี้ เคยอ่านเรื่องพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้าหรืออะไรก็ลืมไปแล้ว ว่า เชื่อกันว่าในช่วงเทศกาลคืนที่บูชาพระนารายณ์ ซึ่งทรงเป็นพระเดช มักเกิดเหตุตีรันฟันแทงกันบ่อย แต่ช่วงที่บูชาพระอิศวร ที่ถือว่าเป็นพระคุณ ไม่ค่อยมีเรื่อง ซึ่งเห็นได้ว่ากลับกันกับบทบาทจริงๆ ของแต่ละพระองค์ และมีคนอธิบายให้เหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (ใครอธิบายก็ลืมไปแล้วอีก) ว่า ที่จริงก็ง่ายๆ ช่วงบูชาพระนารายณ์มันคืนเดือนมืด อาชญากรรมก็เยอะหน่อย ช่วงบูชาพระศิวะคืนเดือนหงาย ก็เท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
อินทาเนีย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ต.ค. 00, 07:08

ที่ผมพูดไว้ข้างบนนั้นหมายถึง "ฉายา" นะครับ... เป็นที่ทราบกับโดยทั่วไปว่าฉายาของเทพตรีมูรติ (The Trinity) ทั้ง ๓ คือ...

พระพรหม - พระผู้สร้าง (Creator)
พระวิษณุ - พระผู้รักษา  (Preserver)
พระศิวะ - พระผู้ทำลาย (Destroyer)

"สฺฤษฺฏิ - สถิติ - ปฺรลย" เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไปครับ...

บันทึกการเข้า
นิลกังขา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ต.ค. 00, 16:22

เทียบกับทางพุทธ ภาวะปกติของสรรพสิ่งก็คือ มีเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - แล้วก็ต้องดับไป เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ตราบใดที่กฏแห่งพระไตรลักษณ์ท่านยังทำหน้าที่ของท่านอยู่ (อันนี้คือแนวคิดพุทธแท้ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับนิพพานฉบับธรรมกายนะครับ และไม่เกี่ยวกับนิยายเรื่อง อมตะ ด้วย)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง