เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 76489 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 16:59

 ขอบคุณคุณนทีสีทันดร และคุณพวงร้อยค่ะที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไข้รากสาด ขอถามได้ไหมคะ ว่าที่เรียกไข้รากสาด...(ต่างๆ) นั้น "ราก" ตัวนี้ใช้ที่แปลว่าอาเจียนหรือเปล่าคะ ถ้าอย่างนั้นสาดใหญ่กับสาดน้อย นี้จะเกี่ยวกับอาการอาเจียนเมื่อเป็นโรคด้วยหรือเปล่าคะ เพราะดูแล้วคนไทยนิยมแบ่งชื่อโรคตามอาการที่ปรากฏ มากกว่าสาเหตุของโรค
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 17:55

 รอคุณนทีมาตอบนะคะ
ขอเล่าเรื่องต่อค่ะ

พระพลานามัยที่ทรุดโทรมลงเรื้อรังทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ แปรพระราชฐานไปประทับในระยะยาวที่ศรีราชา   พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยี่ยม ๓ ครั้งคือคราวเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู   เสด็จประพาสชวา และอีกครั้งหนึ่งในปี๒๔๔๕

ผู้ที่มาอยู่เป็นเพื่อนสมเด็จฯ ก็คือพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงขอไปเป็นพระราชธิดา  บัดนี้ก็เสด็จกลับมาทรงอยู่กับสมเด็จแม่   และมีพระอนุชาของสมเด็จคือกรมพระสวัสดิวัดน์ฯ ทรงอยู่เป็นพระอภิบาลด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

สมเด็จฯประทับอยู่ที่ศรีราชาถึง ๓ ปีเศษ จนพระพลานามัยค่อยดีขึ้น   ทรงสร้างสถานพยาบาล ต่อมาก็พระราชทานที่ดิน อาคารและพระตำหนักให้เป็นโรงพยาบาล พร้อมทั้งเงินค่าใช้จ่ายอีกด้วย
เมื่อพระพลานามัยดีขึ้น ก็เสด็จกลับกรุงเทพ  

พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังแห่งใหม่คือพระราชวังสวนดุสิต  แบ่งที่ดินพระราชทานพระมเหสี เจ้าจอมและพระเจ้าลูกเธอเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนเรียกว่า "สวน" มีคลองระบายน้ำและถนน  พระราชทานชื่อตามชื่อเครื่องลายครามซึ่งนิยมกันในตอนนั้น  ตำหนักที่สมเด็จฯประทับอยู่ ชื่อว่า สวนหงส์

ในสมัยนั้น ผู้น้อยไม่บังอาจเรียกผู้ใหญ่ด้วยชื่อตรงๆ  ถือว่าเป็นการไม่เคารพ   ในวังหลวงมีเจ้านายสตรีชั้นสมเด็จอยู่หลายพระองค์   เพื่อให้รู้กันว่าหมายถึงพระองค์ไหน  ชาววังก็จะเอ่ยถึงพระนามเรียกแตกต่างกันไป
อย่างสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ชาววังเรียกว่า "สมเด็จพระตำหนัก"
ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  เมื่อก่อนเรียกว่า "สมเด็จที่บน" ต่อมาเมื่อสำเร็จราชการก็เรียกกันว่า "สมเด็จรีเยนต์"

ชาววังมีเรื่องสนุกตามพระราชนิยมกันมากมาย   เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรป  สมเด็จรีเยนต์โปรดทรงจักรยาน  เจ้านายและสาวชาววังก็หัดขี่จักรยานกันเป็นทิวแถว   ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาแล้ว   เกิดความนิยมเล่นตลับงาที่ใช้ใส่ขี้ผึ้งสีปาก   ชาววังก็พากันเล่นตามอีก เป็นที่สนุกสนาน
เล่นที่นี้หมายถึงสะสม  ทำให้เกิดไอเดียออกแบบตลับงาแบบต่างๆ   ตั้งแต่ใบใหญ่เรียงลำดับลงไปจนใบเล็กจิ๋ว  ขัดจนขึ้นลายงดงาม   แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯขอถวายชื่อคล้องจองกันเป็นชุด

สมเด็จพระตำหนัก ฯมีพระอัธยาศัยสงบสุภาพ  ไม่โปรดที่จะขัดผู้ใด   สิ่งใดอนุโลมได้ก็ทรงอนุโลม  เรื่องตลับงาก็ทรงมีบ้าง    แต่ก็ทรงมีความสนพระทัยกิจกรรมบางอย่างเป็นส่วนพระองค์ คือการทอผ้า   ตั้งแต่ยังทรงอยู่ที่ศรีราชา    
บรรดาเจ้านายสตรีและนางข้าหลวงในตำหนักพากันทอผ้าเป็น  ถึงขั้นทอจำหน่ายในวังได้  สนพระทัยถึงกับสั่งหูกทอผ้าจากญี่ปุ่นเข้ามาใช้ทอ
ผ้าทอของสมเด็จฯมีตั้งแต่ผ้าแบบง่ายๆอย่างผ้าพื้น(หมายถึงผ้านุ่งไม่มีลาย) ไปจนผ้าทอชนิดยากๆ อย่างผ้ายกดอกไหม และผ้าโหมด(คือผ้าทอสอดเส้นทองในเนื้อผ้า
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจส่วนพระองค์ ที่ไปได้ดีอีกมาก เช่นตั้งโรงสีข้าว   ซื้อขายรับจำนองที่นา    มีผู้จัดการผลประโยชน์คือคุณหญิงเอี่ยมภรรยาเจ้าพระยาอภัยราชา    ทรงเป็นเจ้านายสตรีที่มั่งมีพระองค์หนึ่ง

เวลาก็ผ่านไปอย่างสงบเป็นเวลาหลายปี  ไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองชวนให้อกสั่นขวัญหายอย่างตอนร.ศ. ๑๑๒ อีก  

สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ คือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จกลับจากศึกษาที่อังกฤษ   ทรงปฏิบัติราชการ เป็นผู้แทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย   พระสุขภาพก็ดี  แม้ว่าเคยผ่าตัดมาหนหนึ่งที่อังกฤษ      แต่ว่ายังมิได้คิดเรื่องอภิเษกสมรสกับเจ้านายสตรีองค์ไหนจนแล้วจนรอด  
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมเด็จพระบรมราชินีฯ ทรงกังวลอยู่ไม่มากก็น้อย     ทรงเห็นว่าพระราชโอรสมีพระชนม์มากพอแล้ว     ถึงกับทรงเลือกเจ้านายสตรีที่เหมาะสมให้   แต่ก็ไม่เป็นผล
หนึ่งในเจ้านายสตรีที่ทรงเห็นว่าเหมาะสมคือ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองฯ พระราชธิดาที่ประสูติจากพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฏ    แต่สมเด็จพระบรมโอรสาฯ ก็ทรงยืนกรานปฏิเสธว่า "ไม่ขอเอาน้องเป็นเมียเป็นอันขาด"

ทีนี้มาพูดเรื่องการสืบสันตติวงศ์
เคยอ่านพบในเน็ตว่าสมเด็จพระบรมราชินีฯทรงทูลขอพระเจ้าอยู่หัวว่า ลำดับการสืบราชบัลลังก์นั้น  ขอให้ลำดับพระราชโอรสที่ประสูติจากพระองค์ไปจนหมดสายก่อน แล้วค่อยไปเริ่มที่สายของสมเด็จพระมเหสีพระองค์อื่น
แทนที่จะลำดับตามพระชนม์มากน้อยของบรรดาเจ้าฟ้าชาย (โดยไม่เลือกว่าประสูติจากพระราชมารดาพระองค์ไหน) อย่างเมื่อก่อน

ถ้าหากว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามนี้  ลำดับการสืบ ก็จะผิดไปจากเดิม กลายเป็นตามลำดับดังนี้
๑  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
๒  สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๓  สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  กรมหลวงนครราชสีมา
๔  สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
๕  สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์   กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา
ทั้ง ๕ พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชินีฯ
เมื่อมาถึงที่สุดของสายสมเด็จพระบรมราชินีฯแล้ว    ก็ยังมีเจ้าฟ้าในอีก ๒ สาย คือ
สายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา   เหลือเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
กรมขุนสงขลานครินทร
สายสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เหลือเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทั้งสองพระองค์นี้ ถ้าลำดับตามพระยศของสมเด็จพระราชชนนี ตั้งแต่ต้นรัชกาล  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาเคยมีพระยศสูงกว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี    แต่ถ้าลำดับตามพระชนม์ของเจ้าฟ้า   สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ มีพระชนม์สูงกว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลาฯ

ดิฉันก็ยังหาหลักฐานเรื่องทูลขอไม่พบ  ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่     แต่ถ้าเทียบกับหลักฐานจากที่อื่น ก็ยังแย้งๆกันอยู่
สิ่งที่จริงคือมีการสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แทนตำแหน่งวังหน้า    ก็มีเพียง ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  
ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา หรือพระบรมราชโองการใดๆ ในรัชกาลที่ ๕ ที่มีวี่แววให้เห็นว่า  พระเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าฟ้าในสายของสมเด็จพระบรมราชินีฯ ให้อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ต่อจากเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

เรื่องนี้ก็เลยน่าสงสัยว่าจริงหรือไม่  หรืออย่างน้อยถ้าสมเด็จพระบรมราชินีฯทูลขอจริง  พระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงเอื้ออำนวยตามนั้น  เพราะในตอนปลายรัชกาลที่ ๕   พระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์เป็นอย่างมาก ถึงกับทรงเรียกว่า "เจ้าฟ้าองค์ที่ ๒" คือรองจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ผู้เป็น" เจ้าฟ้าองค์ที่ ๑"
ก็อาจจะพอมองเห็นว่า ยังทรงยึดลำดับอาวุโสมากน้อยของพระราชโอรส มากกว่ายึดฐานะของพระมเหสี

อย่างไรก็ตาม  ในรัชกาลที่ ๕ ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องร้อนใจอะไรนัก    
หากว่าเหตุการณ์เป็นไปเหมือนรัชกาลก่อนๆ   สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯย่อมจะอภิเษกในวันใดวันหนึ่ง  แล้วก็คงจะมีพระราชโอรสหลายพระองค์  และมีพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯสืบราชบัลลังค์ต่อไป    ส่วนสมเด็จพระอนุชาหลายพระองค์นั้น พระองค์ใดจะอยู่ในลำดับใดก็ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะก็จะทรงอยู่ห่างราชบัลลังก์ออกมาอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาจนได้   เพราะเมื่อสิ้นรัชกาลรัชกาลที่ ๕  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นครองราชย์ พระชนม์ได้ ๓๐ พรรษาแล้วก็ยังทรงเป็นโสด  มิได้ถูกพระราชหฤทัยในสตรีใดไม่ว่าเจ้านายหรือสตรีสามัญ

เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน   สมเด็จพระบรมราชินีฯ ก็ทรงเปลี่ยนฐานะเป็น "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี"     ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงเป็น "สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี" ชาววังออกพระนามว่า "สมเด็จพระมาตุจฉา" ตลอดรัชกาลที่ ๖
พระราชโอรสที่ทรงเหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลาฯ เสด็จไปศึกษาต่อ ที่ต่างประเทศ   ได้เสด็จกลับมาสยามเพื่อร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ในตอนนั้นพระชนม์ได้ ๑๘ พรรษา  
แม่ลูกได้พบกันเพียง ๔ เดือนก็ต้องจากกันอีก  เพราะพระราชโอรสจะต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อ   สมเด็จพระมาตุจฉา ก็ทรงข่มความรักความอาลัยไว้อีกครั้งหนึ่ง  ด้วยธรรมะที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่องกันมาหลายปี

เรื่องพระราชกฤษฎีการการสืบราชสันตติวงศ์ในรัชกาลที่ 6  จะนำมาเล่าให้ฟัง  ตอนนี้ขอหยุดดื่มน้ำแก้คอแห้งก่อนค่ะ  ขอเชิญคุยตามสบาย
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 19:31

 ลืมไปค่ะ
มาเข้าแถวต้อนรับการกลับมาของเจ้าเรือนด้วยคนค่ะ

อาจารย์เทาชมพูคะ เคยเห็นกล่าวถึงเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในกระทู้เจ้าวังปารุสก์และกระทู้อื่นๆบ้าง  อาจารย์เคยมีเล่าเรื่องของท่านโดยเฉพาะหรือเปล่าคะ ดูเหมือนเรื่องราวของท่านจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก ทราบแต่ว่าท่านโปรดเล่นดนตรี โดยเฉพาะซอสามสาย
หากอาจารย์พอจะมีเวลาว่างๆแล้ว ขอรบกวนอาจารย์เมตตาเล่าเรื่องของท่านด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
คุณชาย....หูกาง
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 20:09

 ไม่ทราบว่า..พระโอรสและพระธิดา ของสมเด็จฯวังบางขุนพรหม ตอนนี้มีพระองค์ใดที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่บ้าง   ที่ผมทราบ...ล่าสุดคือ  พระองค์จุไรรัตนศิริมาน ทรงถึงแก่พิราลัยแล้ว ประมาณ ปี 2543หรือ 2544 นี่อ่ะครับ
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 21:57

 ชื่อถนนพระราชทานนี้ หนูหมุดจำได้เพียง"ซังฮี้"ค่ะ สะพานซังฮี้ก็คือสะพานกรุงธน เคยได้ยินมาว่าชื่ออื่นๆนั้นปัจจุบันไม่ค่อยมีเรียกแล้ว

อยากทราบเรื่องชื่อตลับงา หนูหมุดไม่เคยได้ยินเลยค่ะ น่าจะเพราะนะคะ พอจะมีตัวอย่างบ้างไหมคะ
อาจารย์คะที่เล่นเครื่องลายครามนี้ ก่อนหรือหลังตลับงาคะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 29 พ.ย. 04, 22:20

 ตามมาอ่านต่อค่ะ  คุณเทาชมพูเพิ่งกลับมาเหนื่อยๆ  ก็อุตส่าห์มาเล่า(พิมพ์)ให้อ่านอย่างสนุกสนานเสียยาวมากเลย  และเป็นรายละเอียดที่คงต้องค้นมาไม่น้อย  ขอบพระคุณมากค่ะ  ขออนุญาตเรียนคุณชายนะคะ  ว่าดิฉันไม่ค่อยทราบเรื่องรายละเอียดของเจ้านายมากเท่าไหร่  ใครเป็นใครก็ยังสับสนอยู่  ขอค่อยๆเรียนรู้ไปทีละสายๆก่อนนะคะ  ขนาดพระโอรสธิดาของสมเด็จพระพันวัสสาพระองค์เดียว  ก็ยังต้องกลับไปทวนอ่านใหม่หลายทีกว่าจะจำได้  อย่าเพิ่งเร่งให้คุณเทาชมพูเล่ารายละเอียดมากๆเลยนะคะ  สมองของดิฉันตามไม่ค่อยทันน่ะค่ะ แฮ่ะๆ  และก็ยินดีที่มีผู้มีความรู้มากมาร่วมวงคุยกันเพิ่มนะคะ

คุณเทาชมพูคะ  ดิฉันเพิ่งมานึกได้ตอนนั่งอ่านเรื่อง "เล่นของ" ที่คุณเทาชมพูเล่ามาถึงตรงนี้เองค่ะ  ว่าก่อนหน้านี้  ชีวิตในวังหลวงดูเรียบๆเงียบๆ  อาจจะเป็นเพราะเรามีศึกสงครามบ่อยๆ  และไม่ได้ติดต่อกับต่างประเทศมาก  พอมาถึงยุคนี้  หลังจาก ร.๕ ทรงครองราชย์มานาน  บ้านเมืองสงบมามาก  แถมพระราชวงศ์ชั้นสูงไปศึกษาต่างประเทศกลับมา ก็เอาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ขอบชาวตะวันตกกลับมาด้วยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  และในจำนวนมากด้วย  

ดิฉันจำได้ว่า  ที่เคยอ่านใน "เกิดวังปารุสก์" นั้น  พระองค์จุลฯทรงเล่าไว้ว่า  สมเด็จพระพันปีหลวง  ทรง"ใจกว้าง"มาก  ประทานของขวัญมีค่าให้พระราชวงศ์ที่ทรงโปรดอยู่เนืองๆ  ในระยะหลังๆ  ก็ทรงประทานรถให้เป็นคันๆเลย  เลยนึกว่า  ปัญหาการคลังที่เคยอ่านว่า  มีเค้ามาตั้งแต่สมัย ร.๖  จนมาเป็นปัญหาใหญ่ในสมัย ร.๗  อาจจะมีต้นเหตุมาตั้งแต่สมัยต้นๆที่ชาววังเริ่มนิยม "เล่นของ" คือมีการจับจ่ายซื้อหาสิ่งของเครื่องประดับราคาแพงกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาในแผ่นดินก่อนหน้านี้กระมังคะ

ส่วนเรื่อง สมเด็จพระพันปีหลวง  จะทูลขอให้พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชสันตติวงศ์ก่อน  ก็เพิ่งเคยได้ยินมาไม่นานนี้เอง  ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปรากฏในหนังสือที่เคยอ่าน(ซึ่งก็ไม่มากเท่าไหร่)เลยค่ะ พอได้ยินก็สงสัยเป็นอย่างมาก  ขอบคุณคุณเทาชมพูมากเลยค่ะ  ที่พยายามหาหลักฐานอ้างอิงให้แน่ชัดน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 พ.ย. 04, 09:06

ตอบคุณหนูหมุดก่อนนะคะ
ชื่อชุดตลับงา ซึ่งเป็นชื่อพระราชทาน   คุณหนูหมุดหาอ่านได้จาก "สี่แผ่นดิน" ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ค่ะ   ล้วนมีชื่อไพเราะมาก  มีเข้ากันเป็นชุดๆ เช่นชุดเครื่องต้น  ชุดปลา ชุดดอกไม้ ชุดนก

ในที่นี้ ขอยกชื่อชุดปลา  ตลับงาจำนวน 33 ใบ ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ มาให้อ่าน
1.อนนต์หนุนพสุธา
2.ปลาวาฬว่ายเทิ่ง
3.โลมาระเริงสินธุ์
4.กระเบนบินฝ่าคลื่น
5.ฉลามดื่นชายหาด
6.ฉนากฟาดชลฉ่า
7.กระโห้อ้าเห็นเพดาน
8.ปลาบึกผ่านแม่โขง
9.ปลากระพงพ่วงพี
10.สีเสียดแทรกพื้นสำเภา
11.กุเลางามสมส่วน
12.ยี่สนอ้วนตอนหน้า
13.อินทรีฝ่าสายสมุทร
14. ทุกังผุดพ่นน้ำ
15.นวลจันทร์ล้ำหลากศรี
16.พิมทองมีชื่อโด่ง
17.ชะโดโพล่งโดดลอย
18.เทโพคล้อยแฝงฝั่ง
19.สวายวังเล่ห์วาด
20.ปลาแรดพาดพักตร์แสยะ
21.ปลาม้าแบะโอษฐ์อ้า
22.ปลาหางพุ่งแฝงตม
23.กรายงามสมส่อชื่อ
24.ตะเพียนถือสีระบาย
25.น้ำเงินคล้ายเงินยวง
26.เนื้ออ่อนช่วงชูสี
27.คางเบือนทีเบือนคาง
28.แบนหล่างฉ่างจารเม็ด
29.ปลาแป้นเกล็ดลวดกระแส
30.ปลาทองแผ่หางกระจาย
31.ปลาเงินว่ายหูกระหวัด
32.ปลากัดหรูสีอร่าม
33.เข็มน้อยตามต่อเพื่อน

จะเห็นว่าทรงบรรยายธรรมชาติของปลาแต่ละชนิดประกอบชื่อด้วย

เครื่องลายคราม หรือสมัยก่อนเรียกว่าเครื่องถ้วย เล่นกันมายาวนานแล้วค่ะ  ไม่ใช่แฟชั่นนิยมอย่างตลับงา
เล่นกันในสมัยรัชกาลที่ 5  จนถึงรัชกาลที่ 6  และรัชกาลที่ 7 ก็ยังมี   มีการประกวดประขันตั้งเครื่องถ้วยเข้าชุดกัน เป็นโต๊ะด้วย
เครื่องลายครามที่มีค่ามาก  เป็นของในวัง  มีพระปรมาภิไธยออกแบบคล้ายลายจีน  สั่งทำจากเมืองจีน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 พ.ย. 04, 09:44

 ตอบคุณพวงร้อย
ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5   มีเค้าปัญหาเรื่องรายจ่ายในราชสำนักแล้วละค่ะ   เพราะว่าเงินรายได้ของแผ่นดินเอาไปลงทุนในกิจการต่างๆเพื่อความก้าวหน้า อย่างเรื่องการรถไฟ  ก็ต้องทอนงบประมาณในราชสำนักลง  พระคลังถวายได้ปีละ 1 ล้านบาท  
ค่าใช้จ่ายที่มากมายนี้รวมเรื่องเงินเดือนข้าราชการทั้งกระทรวงวัง  กรมราชเลขาฯ และอื่นๆทุกแผนก
เงินค่ารักษาซ่อมแซมวัดพระแก้ว   พระที่นั่ง พระราชวัง
ค่าเลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมือง
งานเบี้ยหวัดรายปีพระราชวงศ์ทั้งหมด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยทรงเรียกสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า เดี๋ยวนี้ทรงจนเต็มที เงินไม่พอใช้   จะขอพระคลังเพิ่มก็ทรงลั่นวาจาไว้แล้วว่าขอเพียงแค่นี้   จะทำอย่างไรดี
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตกพระทัยที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีเงินไม่พอใช้  จึงกลับมาคิดตั้งสำนักงานทรัพย์สิน ถวาย  ด้วยการรวมเงินของเจ้านายต่างๆมาลงทุนให้งอกเงยขึ้นเป็นค่าใช้จ่าย

พูดถึงความหรูหราในราชสำนัก ก็มีจริง  ถ้าเทียบกับสมัยก่อนๆที่เรายังไม่มีอิทธิพลตะวันตกเข้ามาให้ซื้ออะไรมาก   แต่ของเหล่านั้นอย่างพวกเครื่องเพชรของเจ้านายฝ่ายใน ก็ตกทอดเป็นมรดกกันไปได้ ไม่ได้สูญเปล่า  ถือเป็นการเก็บออมอย่างหนึ่ง

เรื่องสมเด็จพระพันปี มีพระทัยกว้างขวางนั้น   ก็ได้ยินมาว่าเป็นความจริงค่ะ  ทรงชุบเลี้ยงทะนุบำรุงข้าราชบริพารอย่างดี เป็นที่เคารพรักกันมาก
ตอนต้นรัชกาลที่ 6 ทรงมีรายได้จากพระคลังปีละ สามแสนบาท   นี่หมายถึงว่าจ่ายเงินเดือนข้าราชการในพระองค์ (ซึ่งเทียบเท่ากับกรมหนึ่ง) ด้วยนะคะ ไม่ใช่จ่ายส่วนพระองค์    และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ถวายเพิ่มให้อีกหนึ่งแสนบาท  เพื่อบำรุงพระเกียรติยศ

เรื่องรายจ่ายสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ว่าเปลืองจนทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในรัชกาลที่ 7 ก็เคยมีคนออกมาแย้งว่าไม่จริง ด้วยการแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายให้เห็น
เรื่องหนึ่งที่พูดกันมากคือทรงสร้างบ้านประทานข้าราชบริพารเสียเงินมากมาย   ความจริงมีแค่ 3 หลัง ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ครบทุกหลังคือบ้านนรสิงห์ ตึกไทยคู่ฟ้า  บ้านบรรทมสินธุ์หรือบ้านพิษณุโลก และบ้านมนังคศิลา

มีก๊อสสิปเรื่องนี้ ที่ดิฉันไม่ได้เอามาลงในกระทู้ก๊อสสิปนอกกำแพงวัง  คือผู้เขียนเล่าจากคำบอกเล่าของคุณหลวงอีกน่ะละค่ะ  ว่าบ้านที่ว่าสร้างพระราชทานนั้น ความจริงก็เป็นพระตำหนักของพระองค์ท่านเอง  เพื่อจะเสด็จออกมาประทับ เวลามีพระราชประสงค์ให้พ้นจากพิธีรีตองอันเคร่งครัดต่างๆในพระบรมมหาราชวัง
พูดง่ายๆว่าอยู่แบบสบายๆหน่อย   แต่แทนที่จะสร้างไว้เฉยๆ นานๆจะได้ทรงอยู่เสียที ก็ให้ข้าราชบริพารคนสนิทอยู่ไป    และเมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็พระราชทานให้พวกเขาเป็นสิ่งตอบแทนที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทมา
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 พ.ย. 04, 16:01

 ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ เรื่องสี่แผ่นดินตอนแรกหนูหมุดว่าจะซื้อตอนงานหนังสือที่ผ่านมา (ทุนทรัพย์น้อยแต่อยากได้หลายเล่มค่ะ เลยต้องรอช่วงงานสัปดาห์หนังสือ) ก็พอดีไม่ได้อยู่เมืองไทยช่วงนั้น ตอนนี้รายการหนังสือเลยยาวเป็นหางว่าวเลย

อาจารย์คะเรื่องบ้านที่รัชกาลที่ 6 สร้างพระราชทานนั้น จำนวน 3 หรือ 4 หลังคะ
1. บ้านนรสิงห์
2. ตึกไทยคู่ฟ้า
3. บ้านบรรทมสินธุ์หรือบ้านพิษณุโลก
4. บ้านมนังคศิลา
หรือว่า บ้านนรสิงห์ จะคือตึกไทยคู่ฟ้าคะ

เรื่องสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หนูหมุดรออ่านได้ค่ะ มาขอต่อคิวฟัง lecture เท่านั้นค่ะไม่ได้เร่งอาจารย์นะคะ เพราะเรื่องที่อาจารย์ได้กรุณามาเล่าในwebนี้ เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาในการศึกษามาก แค่ได้ฟัง(อ่าน) ก็ถือว่าอาจารย์กรุณาแล้ว
บันทึกการเข้า
ใบลาน
อสุรผัด
*
ตอบ: 2

เรียนอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ เอกการแนะแนว มหาวิทยาลัยศีนครินทรวิโรฒ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 01 ธ.ค. 04, 12:38

 ผมเป็นสมาชิกใหม่คับ  ขออนุญาตมาอ่านหาความรู้ด้วยคนนะคับ

ผมเคยได้ยินมาเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  กราบบังคมทูลขอพระพรจาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  ให้พระราชโอรสของพระนางเป็นหลักสืบสายสันตติวงศ์ก่อนพระมเหสีเทวีองค์อื่นๆ

ผมรู้มาว่าเดิมนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสที่เกิดจาพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  เรียงพี่เรียงน้องกันในการสืบสันตติวงศ์

แต่เรื่องที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  จะกราบบังคมทูลขอพระพรนั้นจริงหรือเปล่าผมก้ไม่มีหลักฐานคับ  เคยได้ยินแต่เขาเล่ามา  แต่หลักฐานอย่างหนึ่งที่พอจะเป็นพยานได้ว่าภายหลังพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  ได้เป็นหลักในการสืบสันตติวงศืก็คือ  เมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  เสด็จกลบมาจากต่างประเทศ  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานพระชัยนวโลหะ  ประจำรัชกาลที่  5  ให้กับสมเด็จพระบรมฯ  ต่อหน้าพระบรมวงศานุวงศ์  และขุนนาง  ไม่แน่ใจว่าใช่ที่พระที่นั่งอัมริจนทร์หรือเปล่านะคับ

รัชกาลที่  6  ท่านเล่าว่าพระชัยนวโลหะ  ประจำรัชกาลที่  5  หล่อขึ้นที่พระราชวังบางะอิน  แต่เดิมมีพระราชประสงค์จะพระราชทานให้กับเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน  จึงได้พระชทานให้กับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธต่อมา  ทั้งยังทรงบอกว่า  รัชกาลที่  5  ทรงกำชับว่า  พระชัยนวโลหะนี้  ให้พระราชโอรสที่พระชนมายุสูงสุด  ในบรรดาพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  เป็นผู้รักษาไว้จนกว่าจะสิ้นชีวิต  ซึ่งการพระราชทานพระชัยนวโลหะนี้  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทำตามอย่างรัชกาลที่  4  ในการพระชทานพระชัยนวโลหะ  ประจำรัชกาลที่  4  ให้กับพระราชโอรสสายสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย  และถ้าผมจำไม่ผิดต่อใมพระชัยนวโลหะ  ในรัชกาลที่  5  สมเด็จพระราชปิตุลาฯ  ได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้ที่วังบูรพาคับ

ขออนุญาตเล่าเกร็ดเล็กๆ  เมื่อคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  ไปรักษาพระอาการประชวรที่ศรีราชา  กรมพระสวัสดิฯ  ได้ทรงแอบมีรักกับหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณ๊  จนความทราบถึงองค์สมเด็จฯ  ทำให้ทรงกริ้วมาก  ถึงกับมีรับสั่งจะจับขังสนม  กรมพระสวัสดิฯ  จึงพาหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณีหนีไปอยู่ที่วังของกรมหลวงพิชิตปรีชากร  คับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 02 ธ.ค. 04, 08:35

 ดิฉันมาทำลิ้งค์โฮมเพจของคุณใบลานให้ค่ะ   อันที่คุณใบลานแจ้งไว้ในฟอร์มสมัครสมาชิก   ดิฉันเข้าไม่ได้ ไม่ทราบว่าทำไม
 http://www.roybilan.tk  
 http://www.geocities.com/roy_bilan222/

ชีพจรลงเท้าอีกแล้ว จำเป็นจะต้องไปต่างเมืองสองสามวัน  เจอกันวันจันทร์นะคะ
ระหว่างนี้เชิญคุยกันไปพลางๆก่อน
บันทึกการเข้า
หนูหมุด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 88


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 02 ธ.ค. 04, 16:15

 เดินทางปลอดภัยนะคะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 02 ธ.ค. 04, 22:58

 ขอให้เดินทางด้วยดีค่ะ
บันทึกการเข้า
นายชินจัง
อสุรผัด
*
ตอบ: 31



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 06 ธ.ค. 04, 10:58


มาแวะอ่านคร๊าบผม!!  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 06 ธ.ค. 04, 16:48

 พระราชกฤษฎีกาเรื่องเลือกรัชทายาท มีขึ้นในต้นรัชกาลที่ ๖  ส่วนปลายรัชกาล ก็ทรงลำดับเรื่องการสืบสันตติวงศ์โดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
หาอ่านได้ที่
 http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K2798547/K2798547.html

เรื่องรัชทายาทในต้นรัชกาล  พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกทางสายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ด้วยทรงวิเคราะห์ว่า
1) "...พระโอรสในสมเด็จพระบรมราชินีนาถนับว่าเป็นพระโอรสของพระอัคระมเหษีโดยแน่นอน( พูดกันตามภาษาคน ก็คือ เปนลูกเมียหลวง)"
2) เรื่องพระชัยนวโลหะ ก็อย่างที่คุณใบลานเล่าไว้  คือในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพระราชทานพระชัยนวโลหะ ให้พระราชโอรสในสายสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ  ตามลำดับพระชนมายุ
ต่อมาในรัชกาลที่  5 เมื่อพระราชทานพระชัยนวโลหะประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็มีพระราชประสงค์ให้ตกทอดแก่พระเจ้าลูกยาเธอในสายสมเด็จพระบรมราชินีนาถตามลำดับอาวุโส
ทรงยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นน้ำหนักเหตุผลข้อหนึ่ง
3) ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ฉบับหนึ่ง แสดงพระราชประสงค์ว่าถ้าเสด็จสวรรคตเมื่อใด   โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นผู้ถวายน้ำสรงพระบรมศพและ และถวายทรงพระชฎามหากฐิน  แต่ถ้าเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธยังไม่เสด็จกลับจากยุโรป  ก็โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯเป็นผู้ถวายแทน   ทั้งที่ในตอนนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกก็ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ไม่ค่อยจะเข้าเฝ้าและพยาบาลในเวลาพระเจ้าอยู่หัวประชวร   เหมือนไม่ค่อยจงรักภักดีนีก  อาจจะทอดทิ้งพระบรมศพได้  จึงทรงมอบให้เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงกระทำหน้าที่แทน

เหตุผล 3 ข้อนี้จึงทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัย เลือกเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯเป็นรัชทายาท   แต่อย่างไรก็ตามก็ทรงมีข้อตะขิดตะขวงเรื่องพระโอรสของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ที่เกิดจากหม่อมคัทธิน  ว่ามิได้เป็น "อุภโตสุชาติ" คือมีตระกูลสูงทัดเทียมกันทั้งทางฝ่ายพ่อและแม่    ถึงกระนั้น ก็ทรงเห็นว่าจะป้องกันได้ลำบาก   หากราชบัลลังก์ตกไปถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯจริงๆในวันหนึ่งภายหน้า และมีพระประสงค์จะยกพระโอรสขึ้นเป็นรัชทายาท ก็ย่อมทรงทำได้อยู่ดี

แต่ปัญหาที่ทรงกริ่งเกรง ก็จบลงไปเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทิวงคต ในรัชกาลที่ 6 นั้นเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง