เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 76516 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 พ.ย. 04, 08:21

 ตามมาอ่านค่ะ  มีข้อสงสัยหลายข้อเหมือนกัน  แต่ส่วนมากเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์  เลยจะรอไว้ถามตอนหลังค่ะ

แต่อยากทราบ  ถ้าคุณเทาชมพูพอจะมีเวลาหารายละเอียดตอนที่  ร ๕ ทรงรับพระน้องนางเธอเหล่านี้เป็นพระชายาว่า  เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน  หรือต่างเวลากันมากรึเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 พ.ย. 04, 08:40

 ลำดับตามพระชนมายุ   อาจจะทำให้มองออกง่ายขึ้น

1) สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ประสูติ 2421)----->สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
2)สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ประสูติ 2423 ถ้านับแบบปัจจุบันเป็น 2424)-----> พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
3) สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (ประสูติ 2424) ------ > พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี

เจ้าฟ้าพระองค์ต่อๆไป (เว้นที่สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) ก็คือ
4) สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (ประสูติ 2424  ถ้านับแบบปัจจุบันเป็น 2425)----->พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
5) สมเด็จเจ้าฟ้าชายสมมติวงศ์วโรทัย (ประสูติ 2425)-----> สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
6) สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงศภูวนาถ  (ประสูติ 2425))----->พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
7)สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ(ประสูติ 2432))----->พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
เจ๋ง สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช (ประสูติ 2434---->)สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
9) สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก(ประสูติ 2435)--->พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
10) สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประสูติ 2436) ----> พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 พ.ย. 04, 14:18

 ดิฉันตาลายไปจริงๆด้วย เมื่อวานตื่นขึ้นมาก็ปวดศีรษะเลย ตอนไปเปิดหนังสือดูปีพระราชสมภพ คงอ่านผิด

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯขึ้นครองราชย์แล้ว เป็นที่เข้าใจกันว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทใช่ไหมคะ ไม่ใช่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เป็นไปตามที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงขอพระราชทานจากร.5 ไว้

ขอเรียนถามเรื่องพระจริยาวัตรของสมเด็จพระพันวัสสาในเวลาต่อมาด้วยค่ะ ทรงออกมาประทับที่วังสระปทุมเมื่อไร และความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และสมเด็จพระพันปีหลวง ยังคงใกล้ชิดสนิทสนมตามประสาเจ้าพี่เจ้าน้องจนสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตหรือไม่คะ  

รวมไปถึงพระจริยาวัตรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยค่ะ และดูเหมือนจะทรงเลี้ยงดูสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเหมือนพระโอรสในอุทรใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 พ.ย. 04, 18:26

 โห คุณนนทิรา เล่นยิงปืนกลที่มีคำถามเป็นกระสุนใส่อาจารย์ผมเลยนะ ฮิๆๆๆๆ
ผมว่าถ้านักเรียนของอาจารย์เทาชมพูถามกันเยอะแบบนี้ สงสัยว่าเมื่อจบกระทู้ คงเป็นรายงานวิทยานิพนธ์ได้เลยนะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ย. 04, 11:10

สมเด็จฯ มีพระราชโอรส ๔ พระองค์ และพระราชธิดา ๔ พระองค์   คือ
 ๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก)
 ๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
 ๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา
 ๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
 ๕. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
เจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้  สมเด็จฯทรงยกให้เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี   ด้วยเห็นพระทัยที่ทรงโศกเศร้าจากการสูญเสียพระเจ้าลูกเธอ
การยกนั้นก็ยกให้เป็นพระราชธิดาจริงๆ  โปรดให้ทรงเรียกพระองค์ว่า "สมเด็จป้า" ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ คือ "สมเด็จแม่"
 ๖. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ
 ๗. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก )
 ๘. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๔ วัน ยังไม่ได้รับพระราชทานนาม)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 พ.ย. 04, 14:45

คุณพวงร้อยถามว่าพระน้องนางเธอทั้งสี่พระองค์  ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งพระภรรยาเจ้าในระยะเวลาห่างกันมากน้อยแค่ไหน   ดิฉันไม่มีหลักฐานระบุวันเดือนปี  แต่ดูจากปีที่ประสูติพระราชโอรสธิดาพระองค์แรกๆ  เห็นว่าใกล้ๆนัก    
เชื่อว่าแต่ละพระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในระยะไม่ห่างกัน  ประมาณว่าพระชนม์อยู่ระหว่าง ๑๕ - ๑๗   ซึ่งสมัยนั้น ถือกันว่าเป็นวัยสาวเต็มตัว

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ มีพระราชโอรสธิดารวม ๘ พระองค์   อยางที่เล่าไว้ข้างบนนี้
สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรีทรงมี ๑๔ พระองค์   (มากที่สุดในบรรดาพระมเหสีและเจ้าจอมมารดา)  คือเป็นพระราชโอรส ๗ พระองค์  พระราชธิดา ๒ พระองค์   และที่ตก(แท้ง)ระหว่างทรงพระครรภ์ ไม่ปรากฏว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา อีก ๕ พระองค์

ลำดับครบ ๑๔ พระองค์ ได้แก่
๑) สมเด็จเจ้าฟ้า(หญิง)พาหุรัดมณีมัย
๒) ตกระหว่างทรงพระครรภ์  
๓)สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)มหาวชิราวุธ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔)สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)ตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
๕) สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)จักรพงษภูวนาถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๖) ตกระหว่างทรงพระครรภ์
๗)สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)ศิริราชกกุธภัณฑ์
๘) ตกระหว่างทรงพระครรภ์
๙) สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
๑๐)สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)อัษฎางค์เดชาวุธ  กรมหลวงนครราชสีมา
๑๑)ตกระหว่างทรงพระครรภ์
๑๒)ตกระหว่างทรงพระครรภ์
๑๓) สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย) จุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
๑๔)สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์  กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเธอสุขุมาลมารศรี  มีพระราชโอรสธิดา ๔ พระองค์ แต่ว่าตกระหว่างทรงพระครรภ์เสีย ๒ พระองค์  เหลือเพียง ๒ พระองค์
คือ
๑)สมเด็จเจ้าฟ้า(หญิง)สุทธาทิพยรัตน์  กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
๒) สมเด็จเจ้าฟ้า(ชาย)บริพัตรสุขุมพันธุ์   กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ย้อนกลับไปเล่าต่อ ถึงช่วงเวลาที่เป็นสุขของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  ทรงมีความสุขอยู่หลายปี เมื่อพระราชโอรสเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นหนุ่ม  มีพระสิริโฉมคมสันคล้ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ  เป็นที่สนิทเสน่หาของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ เหมือนแก้วตาดวงใจ

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ต่างๆเจริญพระชนม์ขึ้น ราว ๑๒-๑๓ พรรษา    ก็ได้เสด็จไปศึกษาต่อในยุโรปกันเป็นส่วนใหญ่         แต่ว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มิได้เสด็จไปศึกษาในต่างแดน     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดที่จะให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เพื่อเรียนรู้งานราชการ  ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร   เพื่อจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไปภายหน้า

ความทุกข์เริ่มมาเยือนสมเด็จฯในรูปของการจากไปของพระราชธิดา  สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา  มีพระชนม์เพียงแค่ ๕ เดือนก็สิ้นพระชนม์   ทรงบรรเทาความเศร้าโศกด้วยการรับพระธิดาในพระเชษฐาสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการมาเลี้ยงแทน  คือหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา  นักเรียนร.ร.ราชินีคงคุ้นกับพระนามดี

เราตงจำวิกฤติการณ์ ร.ศ.112  เหตุการณ์บ้านเมืองในสยามค่อนข้างวุ่นวาย จากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส  ที่เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนและยังต้องจ่ายค่าปรับถึงสามล้านบาท  
เงินสามล้านในสมัยนั้นมากเกินกว่าท้องพระคลังจะหามาได้   อาศัยเงินถุงแดงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วยไว้ได้มาก   สมกับพระราชดำรัสราวกับมีพระเนตรทิพย์มองเห็นอนาคตว่า " เก็บเอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง"

ความเคร่งเครียดจากเรื่องนี้ทำให้พระเจ้าอยู่หัวถึงกับประชวร   เจ้าฟ้าสองพระองค์ที่ทรงทำหน้าที่ราชเลขานุการ คือเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ทรงรับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างหนัก  เป็นเหตุให้ได้ทรงมีโอกาสพบปะกันบ่อย    
อย่างที่เคยเล่าแล้วว่าเจ้าฟ้าหญิงทรงมีพระสิริโฉมงดงามเป็นเอก   แม้ว่าพระชนม์เจ้าฟ้าชายน้อยกว่าเจ้าฟ้าหญิงก็หาเป็นอุปสรรคอย่างใดไม่   เป็นเรื่องก๊อสสิปในวัง ว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงประดิพัทธ์  ถึงกับรู้ถึงเจ้าพระเจ้าอยู่หัว  
น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสติดตามเรื่องของเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ เพราะว่าเรื่องยุติลงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น  ยังไม่ทันคืบหน้าไปถึงไหน

สมเด็จฯตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าหญิงพระองค์สุดท้าย   แต่น่าเสียดายว่ามีพระชนม์เพียงแค่ ๔ วันก็สิ้นพระชนม์  นับเป็นทุกข์หนักอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อพ้นวิกฤติการณ์ รศ. ๑๑๒ มาแล้ว  เหตุการณ์บ้านเมืองก็คลี่คลายลงกลับเข้าสู่ความสงบ แต่ก็ยังเงียบเหงาอยู่
พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้บำรุงขวัญราษฎรด้วยการจัดงานขึ้นอย่างครึกครื้นในพระนคร คืองานโล้ชิงช้าหรือพระราชพิธีตรียัมปวาย  มีเสนาบดี เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์(ม.ร.ว. หลาน กุญชร) เป็นพระยาโล้ชิงช้า   มีกระบวนแห่กันคึกคัก เป็นที่สนุกสนานเบิกบานทั้งชาวบ้านและชาววัง

ไม่มีวี่แววมาก่อนว่าพระราชพิธีนี้จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นซ้ำซ้อน      สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศมีพระชันษาได้ ๑๗ ปี  กำลังหนุ่มแน่น พระพลานามัยแข็งแรง  ไม่เคยมีพระโรคประจำพระองค์   แต่ก็เกิดประชวรกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ถึงขั้นเสด็จสวรรคตในวันสุดท้ายของงาน     เป็นเรื่องที่ตื่นตระหนกตกใจกันไปทั้งพระบรมมหาราชวัง  

พระบรมราชชนนีทรงเฝ้าไข้อยู่ตลอดเวลาไม่เป็นอันเสวย   เมื่อพระราชโอรสเสด็จสวรรคต   นับเป็นทุกข์ครั้งใหญ่หลวงที่สุดเท่าที่ทรงประสบมา   สมเด็จฯ ถึงกับทรงล้มลงทั้งยืน  ไม่ได้สติสมปฤดี  เมื่อรู้สึกพระองค์ก็กันแสงรุนแรง   ใคร่จะสวรรคตตามพระราชโอรสไปเพียงประการเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 พ.ย. 04, 15:33

 ขอคั่นรายการตอบคุณนนทิราค่ะ

สมเด็จฯเป็นผู้ที่มีพระเมตตาสูง โดยเฉพาะกับเด็ก  ปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชัง
พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ว่าประสูติจากพระมเหสีหรือเจ้าจอม  สมเด็จฯทรงถือเป็นลูก   ไม่มีคำว่า "แม่เลี้ยง" "ลูกเลี้ยง"
พระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นพระอัธยาศัย   เมื่อเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว. เนื่องและเจ้าจอมมารดาพร้อมถึงแก่อนิจกรรม
ทิ้งพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ไว้   4 พระองค์ คือพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิธ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์   พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานให้สมเด็จ ทรงเลี้ยงไว้     สมเด็จทรงทะนุถนอมให้ความรักความเมตตาเทียบเท่ากับพระราชโอรสธิดาในอุทร

ทรงโทมนัสแสนสาหัสอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์(สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร)ถูกรัฐบาลจอมพล ป.  จับในข้อหากบฏ   ถูกถอดพระอิศริยยศ กลายเป็นนักโทษ ทั้งที่มิได้ทรงกระทำผิดทางการเมือง เป็นความระแวงของรัฐบาลในยุคนั้น

สมเด็จฯซึ่งทรงพระชราแล้ว  ทรงโทมนัสมีพระอาการรุนแรง อย่างเดียวกับเมื่อครั้งเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต    รับสั่งให้เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินเข้าเฝ้า  ตรัสว่า
"เธอกับฉันเห็นกันมาแต่ครั้งไหนๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด  ขอให้ไปช่วยบอกจอมพลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทเข้าห้องขัง  มีผิดอะไรส่งมาที่ฉัน  ฉันจะขังไว้ให้เอง  ให้มาอยู่ที่บ้านนี้  ข้างห้องฉันนี่  เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ 12 วัน  พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง   ถ้ากรมชัยนาทฯ หนีหาย   ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ฉันมีอยู่  ถ้าหนีหายฉันก็จะยอมเป็นคนขอทาน"
แต่รัฐบาลปฏิเสธ
สมเด็จก็กันแสง  ค่อนพระทรวง ตรัสว่า
" เขาจะแกล้งให้ฉันตาย    ฉันไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม  ลูกตายไม่ได้น้อยใจเหมือนครั้งนี้  เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก  ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว"
บันทึกการเข้า
Marty
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 พ.ย. 04, 18:06

 เรื่อง สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ นี่มีที่มาที่ไปอีกไหมครับ ว่าทำไมอยู่ ๆ รัฐบาลถึงไปหาเรื่องท่าน เพราะท่านไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในรัฐบาล (สมัยสมบูรณาญาฯ) มาเป็นเวลานานแล้ว (เท่าที่จำได้ท่านลาออกจากราชการตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6) และก็ไม่ได้เป็นทหาร จะมีเรื่องทางการเมืองใดอีกหรือครับที่จะเป็นเหตุให้รัฐบาลระแวง ไปหาเรื่องท่านได้

ขอถามอีกเรื่องครับ อดถามไม่ได้ ราชสำนักในสมัยนั้นมีความคิดเห็นอย่างไรครับ เกี่ยวกับเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงเสกสมรสกับสตรีชาวอังกฤษ แต่ถ้าคุณเทาชมพูเห็นว่าไม่เหมาะที่จะคุยกันเรื่องนี้ จะไม่ตอบก็ได้นะครับ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 พ.ย. 04, 21:52

 ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้องเลยนะคะ คงไม่ทรงนึกฝันเลยว่าพระเชษฐาจะสิ้นไปทีละองค์ๆจนตำแหน่งรัชทายาทมาตกอยู่ที่พระอนุชาองค์เล็กสุด

เรื่องสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ดิฉันไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวเนื่องกับการที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการหรือไม่ รอคุณเทาชมพูมาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 พ.ย. 04, 08:34

 เรื่องสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯคงจะต้องเก็บไว้เล่าในตอนท้ายๆค่ะ เพราะเป็นเหตุการณ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  เล่าตอนนี้จะกระโดดไกลไปหน่อย

การเสด็จสวรรคตของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศมิได้มีผลแค่กระทบกระเทือนพระทัยสมเด็จฯ และพระสุขภาพอย่างรุนแรง เท่านั้น
แต่ผลกระทบใหญ่หลวงอีกอย่างคือพระอิศริยยศ    ตำแหน่งพระอัครมเหสี ได้เปลี่ยนมือไปสู่สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรีอีกด้วย

คงจะจำได้ว่า ในตอนแรกก่อนสถาปนา  พระภรรยาเจ้าทุกพระองค์ทรงมีศักดิ์เสมอกัน
ต่อมาเมื่อมีการสถาปนา สมเด็จฯทรงเป็นพระอัครมเหสี อีกสองพระองค์อยู่ในลำดับรองลงไป

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต หากคำนึงถึงตำแหน่งพระอัครมเหสีเป็นหลัก  พระราชโอรสพระองค์ต่อไปของสมเด็จฯ ที่อยู่ในลำดับรองจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์  พระชันษา 12 ปี
แต่ว่าพระเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงลำดับอาวุโสของเจ้าฟ้าเป็นหลัก  พูดภาษาชาวบ้านคือนับอายุแก่อ่อนทางลูก มากกว่านับตำแหน่งหนึ่งสองทางแม่

พระราชโอรสพระองค์ที่มีพระชนม์รองลงไปจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ   คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระชันษา 13 ย่าง 14 ปี

ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  จึงเลื่อนไปสู่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ
พร้อมกันนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ได้ทรงเลื่อนขึ้นตามพระราชโอรส เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอัครราชเทวี
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 พ.ย. 04, 21:41

 มาอ่านทวนอีกที  ที่ความเห็นที่ ๑๐ คุณเทาชมพูบอกว่า  

"ส่วนพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ลำดับที่สอง
พระนางเธอสุขุมาลมารศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี ลำดับที่สาม"

เลยงงหน่อยๆ  ไม่ทราบว่า  ใครเป็น พระมารดาของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์  คะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 พ.ย. 04, 08:24

 พระบรมราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์  คือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ หรือสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าค่ะ  
ดิฉันใช้คำสั้นๆว่า สมเด็จฯ

พระนามพระราชโอรสธิดาบอกไว้ในคห.19   ขออภัยลำดับพระนามเยอะมากไปหน่อย คุณพวงร้อยเลยงง

งั้นอธิบายอีกทีนะคะ

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงมีพระราชโอรส 4 พระองค์    เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นพระองค์ใหญ่    
พระองค์ที่สองคือเจ้าฟ้าชายอิศริยาลงกรณ์  แต่ประสูติได้ 21 วันยังไม่ทันครบ 1 เดือนก็สิ้นพระชนม์
พระองค์ที่สาม คือ   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
และพระองค์ที่สี่ คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก )

ถ้าอธิบายด้วยภาษาง่ายที่สุด  ตัดราชาศัพท์ออกไป คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ เป็น Queen#1  มีลูกชายที่ยังมีชีวิตอยู่ 3 คน
คนแรกเป็น Crown Prince  เมื่อสิ้นไป  ก็ยังมีน้องชายของท่านอีก 2
แต่แทนที่ตำแหน่ง Crown Prince จะเลื่อนลงมาอยู่กับหนึ่งในสองนี้  กลับเลื่อนไปที่ลูกชายคนแรกของ Queen #2
เพราะว่าลูกชายคนแรกของ Queen#2 มีอายุรองลงมาจาก Crown Prince ที่สิ้นไป  มากกว่าลูกชายอีกสองคนของ Queen#1

เมื่อตำแหน่ง Crown Prince เลื่อนไปที่ลูกชายของ Queen#2
ก็ทำให้ Queen#2  เลื่อนขึ้นเป็น Queen #1 แทน  ตามเกียรติยศของลูกชาย
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 พ.ย. 04, 13:24

 อ้อ เป็นเพราะดิฉันไม่ทันเห็นเองค่ะว่า สมเด็จพระพันวัสสาทรงเป็นพระชนนีของ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย  ตาลายจริงๆแหละค่ะ  ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า  พระมเหสีแต่ละพระองค์จะทรงมีราชโอรสธิดามากขนาดนี้  โดยเฉพาะสมเด็จพระพันปีหลวงทรงครรภ์ถึง ๑๔ ครั้ง  ดิฉันเคยท้องสองครั้งก็ไม่ไหวแล้วค่ะ  คิดแล้วเหลือเชื่อจริงๆ  ขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาแจกแจงอย่างละเอียดอีกครั้งค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 พ.ย. 04, 18:08

 ต่อค่ะ

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงรับรู้ความเปลี่ยนแปลงในพระเกียรติยศอย่างสงบ ปราศจากความโทมนัส  จะเป็นเพราะทรงปลงตกถึงความเป็นอนิจจังของทุกสิ่ง  หรือเป็นเพราะไม่มีความโทมนัสเหลือให้เป็นทุกข์อีกแล้ว ก็ไม่อาจทราบได้

อย่างไรก็ตาม  ฐานะของพระอัครราชเทวี และพระบรมราชเทวี ก็ยังก้ำกึ่งกันอยู่  เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีหลวงต่างๆ   พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯเสด็จนำหน้าสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีอยู่ดี  รับสั่งว่า ให้พี่เดินหน้าน้อง

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯจึงมักจะทรงเลี่ยงที่จะเสด็จไปพร้อมกัน  อย่างตอนตามเสด็จประพาสชวา  ก็ทรงเลี่ยงไปประทับอยู่ในเมือง นอกเส้นทางเสด็จประพาส  เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่เจ้าภาพว่าใครคือควีนพระองค์จริงกันแน่  
เพราะทรงยอมรับว่าพระน้องนาง ในฐานะพระบรมราชชนนีของสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ คือพระราชินีแห่งสยาม

พระเกียรติยศของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีในฐานะสมเด็จพระบรมราชินี ปรากฏชัดตามกฎหมาย เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรปครั้งแรก     ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์   จนกว่าพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จคืนพระนคร

ในพ.ศ. ๒๔๓๙ สยามจึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก  ตรงกับคำว่า Queen แทนตำแหน่งพระบรมราชเทวี โปรดเกล้าฯประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนจะเสด็จยุโรป  
ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จรีเยนต์ แทน สมเด็จที่บน อย่างเมื่อก่อน  ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงเป็น สมเด็จพระตำหนัก มาตั้งแต่ต้น

ในการเสด็จยุโรป  พระเจ้าอยู่หัวทรงพาสมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย ตามเสด็จไปด้วย
พระสุขภาพของสมเด็จพระตำหนัก ที่อ่อนแอมาหลายปี เริ่มฟื้นขึ้นมากหลังพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากยุโรปพร้อมพระราชโอรส    
สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์ฯบัดนี้เจริญพระชนม์ขึ้นเป็นหนุ่ม มีพระโฉมงดงามคล้ายสมเด็จพระบรมเชษฐาที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว   ทรงกรมเป็นกรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์  กำกับราชการกรมมหาดเล็ก

แต่ความสุขของสมเด็จฯ ก็ยั่งยืนมาได้อีกเพียง ๓ ปี ก็สูญเสียพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์ฯ ที่พระชนม์ ๑๑ กำลังน่ารักน่าชมเป็นที่รักของชาววังโดยทั่วกัน    ด้วยโรคนิวมอเนีย สิ้นพระชนม์กะทันหัน
สมเด็จฯทั้งตกพระทัยและเสียพระทัยสุดขีด  พระสุขภาพที่ดีขึ้นก็ทรุดลงไปอีก
แพทย์ถวายคำแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ชายทะเล   พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จไปศรีราชาเพื่อจะดูสถานที่ปลูกตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯในปีต่อมา
ระหว่างเสด็จไปศรีราชา  เรื่องร้ายที่ไม่คาดฝันก็เกิดเป็นคำรบสองเหมือนเมื่อหลายปีก่อน    สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย เกิดประชวรกะทันหันด้วยโรคไข้ราดสาดน้อย  เพียงไม่กี่วันก็สิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับกรุงเทพ

ส่วนสมเด็จฯ นั้น  พระอาการทรุดเพียบหนักลงไปทันทีเมื่อรู้ข่าว ถึงกับ ดำเนินไม่ได้  ทรงสูญสิ้นความรัก ความหวัง ความชื่นชมในพระราชโอรส ทรงกลายเป็นคนไข้หนักอย่างไม่มีหมอคนใดเยียวยาได้
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 พ.ย. 04, 17:51

 ต้องผิดหวังและเสียพระทัยซ้ำแล้วซ้ำเล่านะคะ

ตอนมีพระราชนัดดาเล็กๆสามพระองค์มาประทับใกล้ๆในบริเวณวังสระปทุม คงทรงรักพระราชนัดดาเล็กๆทั้งสามพระองค์ดังแก้วตาดวงใจ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง