เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 76512 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 10 พ.ย. 04, 13:07


" เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชตระกูลนี้ว่า "สว่างวัฒนา" ดังนี้   ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข  เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค  ไม่มีอุปัทวันตราย  มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก  มีโภคสมบัติมาก  ดำรงอิศริยยศ ตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดา  ยั่งยืนสิ้นกาลนานเทอญ"

ข้อความข้างบนนี้  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลจากพระราชนิพนธ์พระราชทานพรภาษามคธในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
ที่พระราชทานพระราชธิดาซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม  (ต่อมาในรัชกาลที่ 6  ได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕  เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก คือลำดับที่ ๖๐ ในจำนวนทั้งหมด ๘๒ พระองค์

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงตรวจสอบดวงชะตาก่อนพระราชทาน  พรพระราชทานจึงสอดคล้องและเหมาะสมกับดวงชะตาของพระราชโอรสและพระราชธิดาแต่ละพระองค์    

อย่างพรที่พระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  ก็ตรงกับพระชะตา โดยเฉพาะประการท้าย
"ดำรงอิศริยยศ ตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดา"

และประการแรก  "เป็นผู้มีสุข" ก็ทรงเป็นสุขจริง ไม่มีใครเทียบเท่า ในเบื้องต้นของพระชนม์ชีพ   ก่อนจะกลายเป็น "ทุกข์จริง" ยิ่งกว่าคนทั้งแผ่นดินในเวลาต่อมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 พ.ย. 04, 13:12

 ขอเริ่มด้วยการย้อนกลับไปถึงเจ้าจอมมารดาเปี่ยมก่อนนะคะ

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นธิดาหลวงอาสาสำแดง(แตง) ขุนนางในรัชกาลที่ ๓  มารดาชื่อนาค ต่อมาเป็นท้าวสุจริตธำรง ต้นราชินิกุลสุจริตกุล

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเข้าวังตั้งแต่ยังเยาว์   เมื่อเจริญวัยก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นนางละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔   ท่านได้รับบท อุณากรรณ ในพระราชนิพนธ์ละครในเรื่องอิเหนา
อุณากรรณก็คือบุษบานางเอกของเรื่อง ตอนปลอมตัวเป็นชาย     แต่ยังงามตามเพศสตรีไม่ผิดจากเดิม   ดังที่มีบทชมโฉมไว้ว่า

" ต่างพินิจพิศโฉมอุณากรรณ
ว่างามดังอสัญแดหวา
อันบุรุษสุดสิ้นแดนชวา
ทั้งในใต้ฟ้าไม่เทียมทัน

บ้างว่าเปรียบเทวัญนั้นเห็นผิด
ดูจริตรูปร่างเหมือนนางสวรรค์
นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ
ดังบุหลันวันเพ็ญอำไพ"

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นเจ้าจอมผู้เป็นที่โปรดปรานท่านหนึ่ง   มีพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอรวม ๖ พระองค์
๑      พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย  (พระองค์นี้ได้รับพระนามตามบทบาทของเจ้าจอมมารดา)
๒     พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)
๓     พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์( สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕)
๔     พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๕    พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)
๖    พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์)
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 พ.ย. 04, 05:22


ตามมาเกาะขอบจอรออ่านค่ะ  ขอบคุณมากที่มาเขียนเรื่องนี้ให้นะคะ
บันทึกการเข้า
Marty
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 พ.ย. 04, 10:03

 มาทักทายครับ ผมมีคำถามสงสัยเกี่ยวกับพระองค์ท่านอยู่ด้วย แต่เป็นเรื่องในตอนปลายพระชนม์ชีพ
ไว้คุณเทาชมพูเล่าถึงช่วงนั้น เดี๋ยวผมตามมาถามครับ ขอบคุณครับที่เขียนเรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 พ.ย. 04, 16:08

 ภาพดอกไม้ฝีมือคุณพวงร้อย สวยมากค่ะ   เทคนิคการทำภาพแบบลอยขึ้นมาจากฉากหลัง ใช้โปรแกรมอะไรคะ อยากทำบ้าง
คุณ Monty จะเล่าเสริมในบางตอนก็ได้นะคะ ขอเชิญ

คนมักจะวาดภาพกันว่า เจ้านายในวังคงจะมีความเป็นอยู่โอ่อ่าฟุ่มเฟือยไปเสียทุกอย่าง ห่างไกลจากความประหยัดอดออมอย่างชาวบ้าน   แต่ในความเป็นจริงแล้ว  พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา แม้เป็นพระราชธิดา ก็มิได้ทรงมีชีวิตที่หรูหรามากมายอะไร
ในฐานะ "ลูกคนกลาง" ก็เป็นธรรมดาที่รับเสื้อผ้าที่คับแล้วของพี่สาวคนโต มาสวมใส่อีกทีหนึ่ง ในเมื่อเสื้อผ้านั้นยังไม่ขาด   ส่วนขนาดจะพอดีหรือไม่พอดีตัวก็ต้องรับมาอยู่ดี  ใช้จนหมดอายุ  ส่วนน้องสาวคนเล็กถึงจะมีเสื้อผ้าใหม่
ด้วยเหตุนี้ ฉลองพระองค์จึงตกทอดมาจากพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ไม่ใคร่จะมีของใหม่
ทางด้านของเสวย    ทรงเล่าประทานผู้ใกล้ชิดว่า โปรดเสวยเซ่งจี๊มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  แต่เป็นของหายาก ราคาแพงจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เสวย   ได้แต่หมูสับซึ่งเป็นของหาง่ายกว่า
"ฉันน่ะได้กินแต่บะช่อ   พอวันไหนมีพวกพ้องทางบ้านเขาเอาหมูมาให้  แกงบะช่อวันนั้นก็มีหมูมาก    ถ้าวันไหนต้องจ่ายเอง ก็มีหมูน้อย  มีแต่ต้นหอม"
เมื่อเฉลิมพระยศขึ้นเป็นสมเด็จฯ   เครื่องเช้าที่เสวยเป็นประจำจนถึงสวรรคต ที่ขาดไม่ได้คือแกงเซ่งจี๊

ความหรูหราตามประสาเด็กมีอยู่ประการหนึ่ง คือเมื่อใดได้เงินพระราชทานมาจากสมเด็จพระบรมราชชนก  ก็ทรงให้พี่เลี้ยงไปซื้อลูกกวาดซึ่งเป็นของใหม่สั่งเข้ามาจากนอก มาเสวยกันองค์ละ ๑ ขวด ในหมู่พี่ๆน้องๆ

  แต่พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระขนิษฐาเสวยส่วนของพระองค์หมดก่อน  ก็มารบเร้าเอากับพระพี่นางองค์กลางขอเสวยส่วนที่ยังมีอยู่    จะไม่ทรงให้ก็ไม่ได้ เพราะเจ้าจอมมารดาเปี่ยมจะเตือนว่า
"หวงน้องไม่ได้"
ก็ต้องประทานให้ตามคำขอ   บางครั้งถึงกับต้องทรงซ่อนขวดลูกกวาดไว้ไม่ให้ทรงเห็น  จึงจะหมดปัญหาไปได้

พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาอย่างดีแบบกุลสตรีในวังหลวง ในยุคที่อิทธิพลตะวันตกแพร่เข้ามาในสยาม     สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเห็นประโยชน์ของการศึกษาทั้งชายหญิง   พระราชโอรสและพระราชธิดาจึงได้เล่าเรียนเขียนอ่านเหมือนๆกันตั้งแต่พระชันษา  ๓ ขวบไปจน ๗ ขวบ    แล้วจึงแยกกันไปเรียนวิชาที่เหมาะสมของชายและหญิง    

พระราชธิดาทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย  แต่ว่าไม่โปรดที่จะรับสั่ง

ความสุขเมื่อครั้งทรงพระเยาว์อีกเรื่องหนึ่งคือได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนกและได้ตามเสด็จไปไหนๆเวลาเสด็จออกข้างนอก  ถ้าเสด็จโดยพระราชยาน พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอพระองค์เล็กๆก็ได้โดยเสด็จประทับไปด้วย  พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาเป็นพระเจ้าลูกเธอชุดสุดท้ายที่ได้ตามเสด็จ  
ถ้าเป็นทางใกล้ก็ประทับบนพระเพลา(ตัก)  ถ้าเป็นทางไกลก็ประทับข้างๆพระองค์    สิ่งที่สนุกสนานที่สุดก็คือเสด็จแวะห้างฝรั่ง  ทรงซื้อของเล่นหรือของเสวยมาพระราชทานเจ้านายพระองค์เล็กๆเสมอ

แต่ความสุขในวัยเยาว์ของพระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาก็ต้องสะดุดหยุดลงเมื่อพระชนม์เพียงแค่ ๖ พรรษา   เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตหลังจากเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ แล้วทรงติดเชื้อไข้ป่าอย่างรุนแรง  จนพระอาการทรุดหนัก เสด็จสวรรคตภายในเวลาไม่กี่วัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 พ.ย. 04, 16:13

 การเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ มิได้มีผลเพียงแค่ทำให้พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงเปลี่ยนฐานะจากพระเจ้าลูกเธอเป็นพระเจ้าน้องนางเธอในพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เท่านั้น    ชีวิตความเป็นอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ผันแปรไปจากเดิมเช่นกัน  

ความผันแปรที่ว่า เห็นได้ตั้งแต่ราชการงานแผ่นดินทั้งปวงไม่ได้มีศูนย์รวมที่พระเจ้าแผ่นดินอย่างในรัชกาลก่อน  แต่ว่าอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการ คือเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  
ส่วนเรื่องของราชสำนัก ถ้าเป็นฝ่ายหน้าก็อยู่ในความดูแลของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒  ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลฯ

แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในเขตพระราชฐานชั้นใน หรือเรียกว่าฝ่ายใน  เจ้าฟ้ามหามาลาถวายให้พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (ภายหลังสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ทรงเป็นที่รักและเคารพและยกย่องว่า "เสด็จยาย"  ส่วนชาววังเรียกว่า "ทูลกระหม่อมแก้ว"

สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯทรงมอบหมายให้เจ้าคุณหญิงนุ่ม บุนนาค ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นผู้ดูแลเจ้าจอมท้าวนางทั้งหลาย    

พร้อมกันนั้นก็เริ่มมีการจัดระเบียบอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง  เช่นมีการสำรวจทรัพย์สินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเคยพระราชทานให้พระราชโอรสธิดาว่าอยู่ครบหรือไม่
เนื่องจากในวังมีการเล่นการพนันกันอยู่ประปราย เจ้าจอมมารดาบางท่านก็อาจจะทำให้ทรัพย์สินร่อยหรอลงไป  
เมื่อสำรวจแล้วก็ลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน  

เรื่องต่อมาคือกำหนดการแต่งกายชาววัง เปลี่ยนจากนุ่งโจงกลับมานุ่งจีบอย่างที่เคยเป็นในรัชกาลที่ ๓
ความเปลี่ยนแปลงในระเบียบใหม่ๆนี้ บวกกับความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนลงเมื่อสิ้นแผ่นดินที่สี่   เพราะขาดลาภผลพิเศษที่ได้รับพระราชทานอย่างเมื่อก่อน มีแต่เงินปีจำนวนไม่มาก  
ทำให้เจ้าจอมหลายท่านปลีกตัวจากวังหลวงออกมาอยู่ข้างนอก ด้วยรู้สึกว่าสบายเป็นอิสระกว่า   หนึ่งในจำนวนนั้นคือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม  

ท่านมีโอกาสดีเพราะพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยเจริญพระชนม์มากพอจะมีวังส่วนพระองค์เอง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด ตรงโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน    เจ้าจอมมารดาเปี่ยมก็ออกจากวังหลวง

มาพำนักที่วังครั้งละนานๆ  พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาจึงได้ตามออกมาด้วย   เป็นเหตุให้ว่ายน้ำได้เก่งและแจวเรือเป็น    เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทรงมีความสุขมาก จนกระทั่งถึงปีที่ต้องโสกันต์(โกนจุก)ซึ่งหมายถึงการจบของช่วงชีวิตวัยเด็กลงเพียงแค่นั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 พ.ย. 04, 16:16

 พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นเด็กสาวที่ร่าเริง แจ่มใส ช่างเล่น  ทรงมีพระพี่นางพระน้องนางต่างเจ้าจอมมารดาที่สนิทสนมกลมเกลียวเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน
คือพระองค์เจ้าแขไขดวง  พระองค์เจ้านภาพรประภา(ต่อมาทรงกรมเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี   (ในสี่แผ่นดิน เรียกว่า เสด็จอธิบดี) พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์   และอีกพระองค์ที่สนิทกันมากก็คือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

นอกจากเสน่ห์ตามธรรมชาติในพระอุปนิสัยแล้ว  พระโฉมนั้นก็งดงามเป็นที่ยกย่องกันมาก   จะเห็นได้จากบันทึกของ Prince Oscar, Duke of Cotland  แห่งสวีเดนที่เสด็จมาถึงสยาม  ทรงเล่าไว้ว่า

" ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้าผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นบอบาง  อายุราวๆ ๑๙ ปี แต่งกายคล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดีในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อยแสนจะหรูหรา  พระเจ้าแผ่นดินแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์...
ท่านงามสะดุดตาที่สุดอยู่แล้ว ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง  กับทรงมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร    บริวารของฉันซึ่งได้รับอนุญาตให้ตามฉันเข้าไปในที่นี้ด้วย ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน  คืองงงัน  ซาบซึ้งและปีติยินดีในสิ่งที่ได้พบเห็น  โดยเฉพาะในพระราชินีที่งามเลิศ"

ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีเจ้าจอมอยู่แล้ว ๒ ท่าน  เมื่อเสวยราชย์แล้วก็มีเจ้าจอมอีกหลายท่านก่อนจะมีพระภรรยาเจ้า
เจ้านายสตรีที่อยู่ในฐานะ "พระภรรยาเจ้า" มีทั้งหมด ๘ พระองค์   มี ๓ พระองค์ที่เป็นเชื้อสายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    ส่วนอีก ๕ พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

ใน ๕ พระองค์นี้  พระองค์แรกคือ พระองค์เจ้าทักษิณชา   เมื่อประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์แรก  พระราชโอรสสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ ทำให้พระชนนีเสียพระทัยมากจนประชวร มีพระอาการทางประสาทจนไม่อาจรับราชการฝ่ายในได้อีกตลอดพระชนมายุ
ส่วนอีก ๔ พระองค์ แบ่งได้เป็น ๑ กลุ่ม กับ ๑ พระองค์    
๑ กลุ่มคือพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยมทั้ง ๓ พระองค์ คือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี  
ส่วน ๑ พระองค์คือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในเจ้าจอมมารดาสำลี บุนนาค  ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 พ.ย. 04, 10:24

หายสงสัยไปอยางนึงค่ะ  เมื่อก่อนอ่านเรื่อง เกิดวังปารุสก์ แล้ว  ที่พระองค์จุลฯทรงเรียก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ว่า เสด็จปู่น้อย  ก็เคยนึกว่า  คงเป็นเพราะทรงเป็นพระอนุชาของทูลกระหม่อมปู่  แต่ก็สงสัยว่า  ท่านมีพระอนุชาหลายพระองค์  ทำไมถึงมี เสด็จปู่น้อย อยู่เพียงพระองค์เดียว  เป็นเพราะท่านเป็นพระเชษฐาของ สมเด็จย่า นั่นเอง

ไปตั้งกระทู้ทำกรอบรูปต่างหากนะคะ  จะได้ไม่รกกระทู้นี้  ดิฉันก็ยังทำไม่ค่อยเป็นหรอกค่ะ  ไม่มีเวลาเรียน  แล้วก็ใจร้อน ทำมั่วๆเอามากกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 พ.ย. 04, 15:03

 ต่อค่ะ

พระภรรยาเจ้าทั้ง ๔ พระองค์นี้ในตอนแรก  พระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องไว้ในที่เสมอกัน ไม่ได้เรียงลำดับหนึ่งสองสามสี่    พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับการมีพระราชโอรสธิดาเป็นหลักสำคัญ

พระภรรยาเจ้าพระองค์แรกที่ประสูติเจ้าฟ้า  คือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี   ประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้า(หญิง) สุทธาทิพยรัตน์  (ต่อมาเฉลิมพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์)
นับเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิดพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5  

ขอแทรกเกร็ดนิดหนึ่งค่ะว่า เจ้าฟ้านั้นมี 2 อย่าง คือเจ้าฟ้าโดยกำเนิด บางแห่งเรียกว่าเจ้าฟ้าชั้นเอก ชาววังเรียกกันว่าทูลกระหม่อม        และอีกอย่างคือเจ้าฟ้าชั้นโท  คือมิได้เป็นเจ้าฟ้าแต่แรกประสูติ แต่เลื่อนขึ้นภายหลัง ชาววัง เรียกว่าสมเด็จ(ชาย/หญิง)

เจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกทรงพระสิริโฉมงดงามมาก  เมื่อประสูติพระวรกายขาวผ่องปราศจากตำหนิใดๆทั้งพระองค์  ทำให้ในวังกลัวกันมากว่าจะพระชนมายุไม่ยืน
เพราะเชื่อกันว่าเด็กที่งามพร้อมจะถูกผีเอาตัวไปในเวลาไม่นาน  จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อสรงน้ำ พระพักตร์ไปกระทบขอบพาน  ถึงขั้นปลายพระขนงมีพระโลหิตตก เป็นแผลเป็นเล็กน้อย  ก็เลยโล่งอกกันว่าเมื่อมีตำหนิแล้วก็พ้น
เคราะห์ไป   ก็ทรงเจริญพระชนมายุมาจนสี่สิบกว่าถึงสิ้นพระชนม์

เมื่อมีพระราชธิดา   พระองค์เจ้าสุขุมาลฯได้รับพระราชทานเครื่องยศ ทองคำประดับเพชรงดงามหลายชิ้นด้วยกัน เป็นสิทธิ์ส่วนตัว ไม่ใช่ของหลวง
และได้รับพระราชทานเงินรายเดือนเพิ่มจาก 2 ตำลึง(8 บาท) เป็น 5 ตำลึง (20 บาท) ส่วนเบี้ยหวัดเงินปีได้ 20 ชั่ง (1600 บาท)เท่ากับพระองค์อื่นๆ

หลังจากนั้น 9 เดือนเศษ    พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าพระองค์แรก ก็ประสูติจากพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
2 เดือนต่อมา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระธิดาพระองค์แรก สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
ถัดมาอีก  4 เดือน พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี ก็ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย
ทุกพระองค์ต่างได้รับเงินรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น  7 ตำลึง (28 บาท) เท่ากัน
บันทึกการเข้า
ศสา
อสุรผัด
*
ตอบ: 13

กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 พ.ย. 04, 17:15

 ขอบคุณทุกท่านที่นำข้อความมาให้อ่านเพื่อประดับความรู้ค่ะ ติดตามอ่านมานานแล้วค่ะ แต่เพิ่งเป็นสมาชิก ขอร่วมวงด้วยคนนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 พ.ย. 04, 11:36

 ขอต้อนรับคุณศสาค่ะ

ชีวิตในช่วงนั้นดำเนินไปด้วยความสุขราบรื่น     พระภรรยาเจ้าทั้งสามพระองค์ประทับอยู่ในพระตำหนักเดิมแห่งเดียวกัน  แต่ได้ตกแต่งและซ่อมแซมขยายให้กว้างขวางสมพระเกียรติ     ทรงเคารพกันตามอาวุโส    

พูดถึงความเป็นอยู่ในพระมหาราชวังก็ชื่นบาน และผ่อนคลายความจำเจกว่าเมื่อสมัยก่อน  เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดที่จะแปรพระราชฐานไปประทับที่อื่นๆ เป็นการเยี่ยมพสกนิกรด้วยในตัว    พระราชวงศ์ฝ่ายในลงมาถึงนางข้าหลวงก็ได้ตามเสด็จ ออกจากพระบรมมหาราชวังไปด้วย หลายครั้งหลายคราว
หนึ่งในสถานที่ที่แปรพระราชฐานไปประทับคือพระราชวังบางปะอิน ที่ปลูกสร้างมาแต่โบราณ  เป็นที่อากาศดี  ทำเลดี  มีที่ท่องเที่ยวตามแม่น้ำลำคลองใกล้ๆหลายแห่ง  
ได้พายเรือไปตามทุ่งนาหน้าน้ำ ชมธรรมชาติสวยงาม  เป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับชาววัง    เวลาเสด็จไปก็เสด็จทางเรือเพราะว่าเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด
ถ้าหากว่าใครอ่าน "สี่แผ่นดิน" คงจำฉากที่บางปะอินได้ว่าพลอยกับช้อยสนุกสนานกันแค่ไหน
ก็ไม่มีใครนึกฝันว่าจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาจนได้  ในพ.ศ. ๒๔๒๓

คราวนั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชวังบางปะอิน พร้อมด้วยพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมตลอดจนนางข้าหลวงอีกมาก   แต่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง   เรือปานมารุตที่พระองค์เจ้าสุนันทาฯประทับไปกับเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์  พระราชธิดา
ถูกเรือในขบวนเดียวกันชน จนพลิกคว่ำ   ถึงสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยพระราชธิดาและในเมื่อกำลังทรงพระครรภ์  พระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นก็พลอยสิ้นพระชนม์ไปด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนั้น   พระภรรยาเจ้าทุกพระองค์ยังไม่มีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีเทวีแต่อย่างใด    จนกระทั่งถึงเวลาต้องทำประกาศทางราชการเรื่องงานพระศพ  พระเจ้าอยู่หัวจึงตกลงพระทัย กำหนดให้ใช้คำว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์"
ต่อมาก็ทรงจัดระเบียบเกี่ยวกับตำแหน่งพระภรรยาเจ้า ให้ลงตัวเรียบร้อย    พระองค์
เจ้าสว่างวัฒนาในฐานะพระราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ อันอยู่ในฐานะรัชทายาทตามกฎมนเทียรบาล  ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  
ทรงพระนามในตอนนั้นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี

ส่วนพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี  เป็น" พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี"  และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เป็นพระนางเธอสุขุมาลมารศรี"
ในปีเดียวกัน เมื่อถึงงานพระเมรุฯ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์   ก็มี
ประกาศที่เป็นการยืนยันฐานะพระอัครมเหสีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น   โดยเพิ่มคำว่า "บรม" ลงไป เป็น " พระบรมราชเทวี"  ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ไร่  

ส่วนพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ลำดับที่สอง
พระนางเธอสุขุมาลมารศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี ลำดับที่สาม

เมื่อผ่านพ้นความทุกข์โศกที่สูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯไปแล้ว  ชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ก็ดำเนินต่อไปด้วยความราบรื่นต่อมาอีกหลายปี  

พระราชโอรสเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นเด็กชายที่เฉลียวฉลาด ช่างเจรจา เป็นที่สนิทเสน่หาของพระบรมราชชนนีอย่างยิ่ง    เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ    
สมเด็จฯทรงมีครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก   ในยามเล่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จ ฯ ก็ทรงเล่นเป็นแม่งูกับพ่องู ให้พระราชโอรสเป็นลูกงู   สำราญพระราชหฤทัยเหมือนพ่อแม่ลูกทั่วไปที่สนิทชิดใกล้กัน

ขอหยุดพักดื่มน้ำแก้คอแห้งก่อนค่ะ  ใครที่นั่งร่วมวงสนทนาอยู่จะคุยก็เชิญนะคะ  
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 พ.ย. 04, 17:26

 ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ กำลังสนุกดีจริงๆ

ขอยกมือถามตรงนี้นิดนึงนะคะ แต่คุณเทาชมพูจะยกไปตอบตอนท้ายก็ได้

เมื่อมีการสถาปนาสถานะของพระภรรยาเจ้า ทำไม "พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ลำดับที่สอง
พระนางเธอสุขุมาลมารศรี ทรงเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี ลำดับที่สาม"  ทั้งๆที่ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงทั้งสองพระองค์
และทั้งๆที่ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงมีพระโอรส สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ซึ่งแก่พระชันษากว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ทรงแต่งตั้งพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เป็นพระมเหสีลำดับที่สอง จะเป็นเพราะทรงสนิทเสน่าหาพระนางเธอเสาวภาผ่องศรีมากกว่าหรืออย่างไรคะ

และเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จสวรรคต ก็ทรงข้ามสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯไป และแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช นอกจากเหตุผลที่ว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเป็นพระโอรสในพระมเหสีอันดับสองแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นใดอีกไหมคะ เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงอ่อนพระชันษากว่าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรอยู่ไม่น้อย

ขอประทานโทษนะคะ ดูเหมือนวันนี้ดิฉันจะตั้งคำถามวกวนไปมา ปวดศีรษะตั้งแต่ตื่นเช้ามาเลยค่ะ ถ้าคุณเทาชมพูอ่านคำถามแล้วงง คุณเทาชมพูกรุณาบอกนะคะ แล้วดิฉันจะเรียบเรียงคำถามใหม่อีกที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 พ.ย. 04, 18:30

 ขอตอบคุณนนทิราว่าการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้า   ถูกต้องแล้วค่ะ คือเป็นไปตามลำดับอาวุโสของพระราชโอรส

คุณนนทิราคงจะจำผิดนะคะ  สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  อ่อนพระชันษากว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ค่ะ
สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2423  (ในตอนนั้นถือเดือนมีนาคมเป็นปลายปี  มกราคมก็เลยอยู่ในปี 2423)
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ประสูติเมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน 2424  
ถ้านับเดือนกันแล้ว ทรงแก่อ่อนกว่ากันเพียง 7 เดือน

แต่ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์   ทรงแก่พระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   ในรัชกาลที่ 7 จึงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ

ในเมื่อเป็นอย่างนี้    การสถาปนาพระราชชนนี ก็เป็นไปตามลำดับอาวุโสของพระราชโอรส  ไม่ได้ข้ามอย่างที่คุณนนทิราเข้าใจ
แต่ก็มีประเด็นบางอย่างที่จะพูดถึงต่อไป เกี่ยวกับลำดับการสืบสันตติวงศ์  เอาไว้เมื่อถึงตอนนั้นจะเล่าให้ฟัง  ยกมาเล่าตอนนี้เดี๋ยวจะเสียการลำดับเรื่อง  อ่านแล้วอาจจะงงได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
ศสา
อสุรผัด
*
ตอบ: 13

กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 พ.ย. 04, 20:20

 ดิฉันก็ไม่ทราบว่าต้องเรียงลำดับอย่างไร แต่ขอเดาว่าพระองค์
เจ้าสว่างวัฒนาในฐานะพระราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ อันอยู่ในฐานะรัชทายาทตามกฎมนเทียรบาล ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี หลังจากที่เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯเสด็จสวรรคต ผู้ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นรัชทายาทองค์ต่อไปคือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประสูตรแต่พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ทำให้ตำแหน่งมเหสีเทวีมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยายใช่มั้ยคะ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 พ.ย. 04, 08:20

 ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูมากๆเลยครับที่ตอบคำถามผมในกระทู้โน้นนนนนนนนน   ด้วยการเล่าเรื่องเต็มๆแบบนี้
จะมาอ่านอยู่เรื่อยๆนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.097 วินาที กับ 19 คำสั่ง