เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 117026 ก็อสสิปนอกกำแพงวัง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 16 ต.ค. 04, 15:37

 ขึ้นชื่อว่าผลไม้ดังที่สุดของไทยเห็นจะไม่มีอะไรเกินทุเรียน    
เมื่อสมัยโบราณ ที่ยังไม่มีทุเรียนกินกันทั้งปีเหมือนเดี๋ยวนี้   มีแต่เฉพาะหน้าของมัน   ราคาทุเรียนแพงมากเมื่อเทียบกับของกินอย่างอื่น    ถึงกับเปรียบกันว่าแพงเหมือนกินทองคำ แต่คนไทยก็ไม่ย่อท้อ  แพงแสนแพงก็ขวนขวายหามากิน   ถือว่าทุเรียนอร่อยที่สุด
ทบทวนชื่อเก่าๆของทุเรียน  หลายอย่างไม่ค่อยเห็นแล้ว บางชนิดก็หายไปเลยไม่รู้หน้าตาเป็นยังไง   เช่นย่ำมะหวาด  กำปั่น อีรวง กบ   ที่เห็นบ่อยคือหมอนทองกับชะนี  แต่ที่เขาว่าแพงที่สุดและอร่อยที่สุดคือก้านยาว

คุณหลวงวรภักดิ์ภูบาลเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่โปรดทุเรียน เพราะทรงเหม็นกลิ่นของมัน  จึงทรงห้ามเด็ดขาดในต้นรัชกาล ห้ามนำเข้าในพระบรมมหาราชวัง
จนถึงปลายรัชกาลจึงทรงผ่อนผันให้นำเข้าไปได้  แต่ต้องเป็นทุเรียนชนิดเนื้อแน่นไม่เละ  
พระเจ้าอยู่หัวเสวยแต่ทุเรียนเนื้อแข็ง  ไม่โปรดชนิดเนื้อเละเอาเลย
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 17 ต.ค. 04, 02:02

แปลกดีนะคะ  ตอนเด็กๆดิฉันก็ไม่ทานทุเรียนค่ะ  ทนกลิ่นไม่ได้เลย  มาอยู่นี่นานๆก็ไม่เคยอยาก  เมื่อหลายเดือนก่อนเห็นเค้าแกะเป็นพูมาขาย  นึกอย่างไรก็ไม่ทราบ  เลยซื้อมาทานพูนึง  ก็ไม่เหม็นแล้วค่ะ  

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพวกนี้น่าสนใจดีนะคะ  เราอ่านประวัติศาสตร์อย่างเดียวนี่ก็ไม่ค่อยได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยโน้นเท่าไหร่  ดิฉันมีหนังสือเล่มหนึ่ง  ซื้อมานานแล้ว  ชื่อ อาหารทรงโปรด  เป็นตำราทำกับข้าวที่ ร ๕ ทรงโปรด และที่ทรงปรุงเองตอนเสด็จประพาสต้น  ดิฉันชอบ แกงเทโพ มาก  นานๆทำทีนึงก็อาศัยตำราเล่มนี้  แต่แปลกมากที่ตำราทำกับข้าวเล่มอื่นๆที่มีเยอะแยะ  ไม่มีสักเล่มที่ให้ตำราแกงเทโพไว้เลยค่ะ  ไม่ทราบเดี๋ยวนี้คนไม่นิยมทานแล้วหรือไรนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 17 ต.ค. 04, 09:44

แกงเทโพตามร้านอาหารไทยยังพอมีให้เห็น ทั้งกรุงเทพและจังหวัดต่างๆ  ดิฉันลอง search ก็ได้มาหลายร้านเหมือนกัน  แต่ไม่ทราบว่ารสชาติจะดัดแปลงไปจากเดิมหรือว่าคงเดิม    

 http://www.siamguru.com/cgi-bin/search?q=%E1%A1%A7%E0%B7%E2%BE&t=1

ถ้าใครสนใจจะทำ  มีตำราของคุณหนานคำ ซึ่งเขียนคอลัมน์ "พ่อบ้านทำครัว" ในสกุลไทย  ตัดตอนมาฝาก.
*****************************
เมื่อเห็น”ผักบุ้งน้ำ” ก็อยากกิน”แกงเทโพ” เมื่อก่อนเขาใช้ปลาเทโพซึ่งมีรูปร่างคล้ายปลาสวายขนาดก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันแหละครับ แต่ตัวสั้นและกว้างกว่าปลาสวาย ที่สำคัญตรงเหนือเงี่ยงที่หัวปลาทั้งสองด้านจะมีจุดดำคล้ายปานอยู่ทุกตัวเห็นชัดเจนนำมาแกง เพราะเป็นปลาที่มีไขมันมาก โดยเฉพาะตรงพื้นท้องด้วยแล้วมีเยอะมากและแทรกอยู่ในเนื้อปลาเสียด้วยกินอร่อย แต่หาปลาแม่น้ำยาก มีแต่ปลาเลี้ยงซึ่งเนื้อเหม็นสาบโคลนคาวจัด  ระยะหลังก็เลยใช้เนื้อหมูสามชั้นแกงแทน
        สำหรับ“แกงเทโพ” เป็นแกงคั่วชนิดหนึ่ง วันนี้ผมซื้อ”ผักบุ้งน้ำ” มา 2 กำ ,หมูสามชั้น 1 แพ็ค เกือบ 800 กรัม แต่จะใช้แค่ครึ่งเดียว,กะทิสำเร็จรูป 1 กล่อง(ขนาด 500 ML.) เครื่องแกง-เครื่องปรุงอย่างอื่นที่บ้านมีครบ

เข้าครัวหาน้ำพริกแกงก่อนอย่างอื่น ประกอบด้วยพริกแห้งบางช้าง 7-10 เม็ด ปลิดก้าน ผ่ากลางตามความยาวของเม็ดแคะเอาเมล็ดออกให้หมด แช่น้ำให้น่าย, กระเทียมปอกเปลือกให้เกลี้ยง 5-7 กลีบ, หอมแดงปอกเปลือก 3-5 หัว,กะปิ อย่างดีครึ่งช้อนคาว,ข่า ซอยละเอียด 1 ช้อนหวาน,ผิวมะกรูด 1 องคุลี ซอยละเอียด,ตะไคร้ซอยละเอียด 1 ช้อนคาว,พริกไทย 5 เม็ด,ปลาย่างแกะเอาแต่เนื้อป่นละเอียด 1 ช้อนคาวพูนๆ หรือจะใช้ปลาอินทรีเค็มปิ้งให้หอมแกะเอาแต่เนื้อขนาดหัวแม่มือก็ได้ และ เกลือ 1 หยิบมือ
          ใช้ครกโขลกเกลือ ผิวมะกรูด,ข่า เข้าด้วยกันให้ละเอียด ใส่ตะไคร้,พริกไทยโขลกต่อให้ละเอียด ใส่หอมและกระเทียมลงไปบุบพอแหลก  ต่อไปให้ตักเครื่องแกงจากครกทั้งหมดไปใส่เครื่องปั่นน้ำผลไม้ สงพริกแห้งขึ้นจากน้ำด้วยมือ บีบให้สะเด็ดน้ำ หั่นหยาบๆใส่ลงในเครื่องปั่น พร้อมกับปลาป่นหรือปลาเค็ม  เติมกะทิสำเร็จรูปตามลงไป 3 ทัพพี น้ำสุก 2 ทัพพี แล้วเปิดสวิตช์ปั่นให้ละเอียดเข้ากันแบบน้ำผลไม้  ได้น้ำพริกแกงแล้วพักไว้ก่อนครับ

   หันกลับมาล้างหมูสามชั้นถ้ามีขนก็ขูดให้สะอาด หั่นหมูตามขวางให้ติดกันมาทั้งหนัง-มัน-เนื้อขนาดหนาครึ่งเซ็นติเมตร  ส่วนผักบุ้งล้างให้สะอาดตัดโคนทิ้งเสียบ้าง ใบที่เหลืองและช้ำมากปลิดทิ้งไป หยิบผักบุ้งมาทีละ 4-5 ต้น กำทางโคนให้โผล่ออกมาสัก 2 องคุลีด้วยมือที่ไม่ถนัด  ตบด้วยมือที่ถนัดเข้าหามือที่กำไว้แล้วบิดผักบุ้งที่ตบแล้วแช่น้ำ(ควรผสมน้ำยาล้างผักหรือผงฟูลงในน้ำที่แช่ผักด้วย เพราะผักบุ้งอยู่ในน้ำและไม่ทราบแหล่งที่มา) “ตบและบิด” ไปเรื่อยๆจนหมดผักบุ้ง,
         ผลมะกรูด 2 ผล ล้างให้สะอาด หั่นตามขวางผลเป็น 2 ส่วน แคะเมล็ดทิ้งให้หมด, มะขามเปียก 10 ฝัก(ถ้าไม่เป็นฝักก็ประมาณ 1 กำมือ คั้นกับน้ำปลาดี 2 ช้อนคาวและน้ำสุก 1 แก้ว(หรือจะใช้น้ำมะขามเปียกแบบขวดที่มีขายก็ได้ สะดวกดี),ฉีกใบมะกรูดแช่น้ำไว้ 4-5 ใบ  พร้อมที่จะเริ่มแกงกันแล้วใช่ไหมครับ

   เทกะทิที่เหลือในกล่องใส่หม้อ  เปิดปากกล่องให้กว้างตวงน้ำสะอาดด้วยกล่องนี้ 2 กล่อง ตั้งไฟให้เดือดเคี่ยวจนแตกมัน  จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อนโดยใช้ไฟกลาง เทน้ำพริกแกงจากเครื่องปั่นลงในกระทะผัดให้หอม ระหว่างน้ำพริกแกงยังไม่ได้ที่ ค่อยๆช้อนหน้ากะทิในหม้อที่เคี่ยวไว้โรยรอบกระทะเป็นระยะ พร้อมคนน้ำพริกแกงไปมาเพื่อไม่ให้น้ำพริกแกงไหม้  เมื่อผัดน้ำพริกแกงได้ที่ใส่เนื้อหมูสามชั้นลงไปผัด ตักกะทิที่เคี่ยวไว้จากหม้อ 5 ทัพพีใส่ลงในเครื่องปั่นที่เพิ่งเทน้ำพริกแกงออกไป เขย่าล้างให้ทั่ว เทลงในกระทะที่กำลังผัดน้ำพริกแกงกับหมูอยู่ เมื่อหมูสุกเทกะทิจากหม้อลงในกระทะทั้งหมดคนให้เข้ากัน  
          พอแกงเดือด ใส่ผักบุ้งที่แช่น้ำไว้ลงไป ปล่อยให้เดือดนานหน่อย คะเนว่าหมูและผักเปื่อยได้ที่ ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก,น้ำตาลปีบ,น้ำปลา,บีบน้ำมะกรูดที่ผ่าเป็นสองซีกลงในแกงทั้งสองผล เปลือกมะกรูดอย่าทิ้งนะครับใส่ตามลงไปในแกงด้วย  ชิมรสดูครับ ได้ที่แล้วใส่ใบมะกรูด ตักใส่หม้อตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง ยกลงพร้อมเสิร์ฟ

 แกงเทโพจะมีรสชาติเปรี้ยวกับหวานเท่ากัน ตามด้วยเค็มและเผ็ดเล็กน้อยเวลารับประทานแนมด้วย ไข่เค็ม หรือ ปลาสลิดเค็ม หรือ ปลาช่อนแดดเดียวทอด อร่อยจนคิดไม่ออกว่าพรุ่งนี้จะรับประทานข้าวกับอะไรจึงจะอร่อยได้เท่านี้เลยครับ

   หมายเหตุ และ ที่เด็ดเคล็ดไม่ลับ

1.   การ ”ตบและบิด” ผักบุ้งใช้ทั้งแกงเทโพและแกงส้ม เพราะจะทำให้ผักบุ้งอมน้ำแกงและเปื่อยเร็ว เวลาที่ผมแกงเทโพผักบุ้งหมดก่อนทุกทีเหลือแต่หมูสามชั้น จนบางครั้งต้องเติมผักบุ้ง”ตบและบิด” เพิ่มและปรุงรสใหม่
2.   น้ำมะขามเปียกหากคั้นเองควรคั้นกับน้ำปลาและน้ำสะอาดอย่างที่บอก  ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นเมื่อล้างมะขามเปียกจนสะอาดใส่ในถ้วยแล้ว  ใช้น้ำร้อน(แทนน้ำสะอาด)และน้ำปลาใส่ลงไปจะทำให้คั้นง่ายมาก  ส่วนน้ำมะขามเปียกสำเร็จรูปที่มีขายเปรี้ยวอย่างเดียวแต่ดีที่สะดวก เหลือใช้ก็เก็บไว้ในตู้เย็นได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 17 ต.ค. 04, 10:08

 ขอออกจากครัว   กลับมานั่งสนทนากันนอกกำแพงวังเหมือนเดิมค่ะ

เกร็ดในคห.นี้  เกี่ยวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5    ทรงเป็นนายช่างเอกพระองค์หนึ่งของรัตนโกสินทร์
ผลงานสวยที่สุดชิ้นหนึ่งคือโบสถ์หินอ่อนวัดเบญจมบพิตร    พระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งก็คือ "สาส์นสมเด็จ" ที่ทรงมีไปมากับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม   วันที่เกิดเหตุ   พระองค์เสด็จจากวังที่ประทับ คือวังท่าพระ(ตรงมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปัจจุบัน) จะไปหาเจ้าพระยาเทเวศร์ที่บ้านหม้อ   เพราะทรงสนิทสนมคุ้นเคยด้วย
เสด็จไปเพียงลำพังพระองค์เดียว  แต่งพระองค์ลำลอง ไม่ได้ทรงเครื่องแบบทหาร    มีแต่ไม้เท้ากับหมวกปานามา  
ขณะดำเนินไปใกล้ป้อมเผด็จดัสกร   ก็มีคนวิ่งตึ้กๆ มาทางด้านหลัง แล้วฉวยพระมาลาวิ่งแน่บหายไปทางสนามหลวง

ลักษณะนี้เรียกว่าวิ่งราวหมวก     หมวกแพงๆอย่างหมวกหางนกยูงและหมวกปานามา ถูกฉกไปบ่อยถ้าเจ้าของไม่ระวัง
สมเด็จฯก็ไม่ได้ทรงว่าอะไร   จะวิ่งตามก็ไม่ทัน   ก็เสด็จต่อไปจนถึงบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์
ยังไม่ทันถึงที่หมาย ก็มีฝีเท้าวิ่งตึ้กๆไล่หลังมาอีก     แล้วพระมาลาใบเดิมก็ถูกแปะคืนกลับลงบนพระเศียร  ก่อนอ้ายหัวขโมยจะห้อแน่บหายลับตัวไปอีกทางสนามหลวง

วันรุ่งขึ้น สมเด็จฯทรงเรียกแถวทหารกลางกระทรวงกลาโหม  เพราะทรงแน่พระทัยว่า ไม่ใช่ใครอื่นต้องหนึ่งในพวกนี้แหละ
ตรัสเล่าเรื่องให้ฟังแล้วสำทับว่า " ไม่มีใครหรอก พวกเรานี่แหละ" ให้ไปหาตัวมา

ก็ได้ตัวมาจริงๆ  เป็นพลทหารปืนใหญ่    ตอนวิ่งราวพระมาลาได้   เพื่อนๆเห็น  รีบบอกว่าเป็นองค์เสนาบดี
หัวขโมยกลัวเลยวิ่งเอาพระมาลามาสวมคืน  

ในเรื่องไม่ได้เล่าต่อว่าถูกโทษขนาดไหน  แต่เดาว่าระดับนี้คงถูกขังหรือเข้าคุกไประยะหนึ่งตามระเบียบ
บันทึกการเข้า
เหน่ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 17 ต.ค. 04, 18:11

 สวัสดีค่ะ
เป็นสมาชิกใหม่เดี๋ยวนี้เอง ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ
อ่านเวบนี้มานาน เกิดคันขึ้นมา อยากแสดงความเห็นบ้างน่ะ ไม่มีอะไรหรอก แล้วจะโพสต์เข้ามาใหม่นะค่ะ ตอนนี้มีไอ้ตัวเล็กมาป้วนเปี้ยนอยู่ข้าง ๆ
บันทึกการเข้า
เหน่ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 17 ต.ค. 04, 21:05

 สวัสดีอีกครั้งค่ะ

ไม่ทราบมีใครเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดย เทพ สุนทรศารทูล หรือยัง เพิ่งซื้อมาอ่าน ชื่อเล่ม ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง เกี่ยวกับสารคดีชีวิตจริง ของ พระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ และนางเทพจิตรา สละประเวศน์ ซึ่งในเนื้อเรื่องนี้เข้าหัวข้อกระทู้นี้มาก

จะยกตัวอย่างบทกลอนของพระองค์เจ้าหญิงพิสมัยพิมลสัตย์ ที่ปกหลัง เขียนว่า
ฉันอยากเกิดเป็นนกผกผิน
โผบินสู่ไพรสัณฑ์
มีอิสระเสรีในชีวัน
ไม่อุดตันถูกขังในวังทอง
พระองค์หญิงประสูติ เจริญชันษาจนล่วงมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประสพวิบากกรรมมากมาย ถึงกับตัดพ้อกับนางเทพจิตรา อดีตข้าหลวงว่า "แม่เทพจิตราเอ๋ย แกอย่าเกิดเป็นเจ้าเหมือนข้าเลยนะ แกอธิษฐานให้ดีเถิดว่าชาติหน้าขอเกิดเป็นสามัญชนคนธรรมดา อย่ามาเกิดเป็นเจ้าเป็นอันขาด ฉันตายไปแล้ว ฉันจะไปกราบทูลพระทูลกระหม่อมแก้วว่าทูลกระหม่อมปล่อยทาสทั่วบ้านเมืองให้เขามีอิสระเสรีภาพ แต่ทูลกระหม่อมแก้ว ไม่ยอมปล่อยพระราชธิดาให้เป็นอิสระเสรีภาพ ถ้าทูลกระหม่อมปล่อยลูกไปเสียแต่ยังสาว ข้าก็จะไม่มีสภาพเป็นนางหงส์ปีกหักอย่างนี้"

หนังสือเล่มนี้หนาแค่ 84 หน้ารวมปก แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็นหรืออ่านจากที่ไหน อย่างเช่นสาเหตุเรื่องพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์ถูกถอดออกจากฐานันดร และลูกที่เกิดไปไหน ชื่อ สกุลอะไร กิจกรรมภายในวังหลวง การสันนิษฐานสาเหตุที่ทำไมพระราชโอรส พระราชธิดาในรัชการที่ 5 ถึงมีพระชนมายุสั้น รวมไปถึงเหตุผลที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ การก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการถ่ายทอดผ่านทางนางเทพจิตรา อดีดข้าหลวงของพระองค์หญิงพิสมัยพิลัยลักษณ์

มีหลายครั้งที่อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ทั้งในสมัยก่อน และปัจจุบันจากการเล่าลือ สงสัยเสียจริงว่าเป็นจริงเท็จขนาดไหน เคยมีสักครั้งมั้ยที่ตัวเชื้อพระวงศ์ หรือทายาทของท่านที่ถูกกล่าวถึงได้มีโอกาสออกมาแสดงตัวชี้แจงข้อเท็จจริงบ้าง
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 03:00

โอ๊ยยยย คุณเทาชมพู อ่านสูตรแล้วต่อมน้ำลายทำงานหนักเลยค่ะ ฮ่าๆๆ  อยากทานผักบุ้งไทยมากๆเลยค่ะ  ที่นี่หาเมล็ดผักบุ้งไทยไม่ได้  แต่ผักบุ้งจีนนี่มีขายมาก  ขอบคุณมากนะคะที่หาสูตรมาให้ค่ะ  เพิ่งทราบนะคะเนี่ยะว่า  เค้าใช้ปลาเทโพมาทำถึงได้เรียกชื่ออย่างนั้น  งงมาก่อนว่าทำไมถึงเรียก แกงเทโพ เดี๋ยวนี้ปลาแม่น้ำพวกนี้ไม่ทราบสูญพันธุ์ไปหมดแล้วยังนะคะ  คิดแล้วน่าเสียดาย

ขอบคุณคุณเหน่งมากเลยค่ะ  วันหลังมีโอกาสกลับไปเมืองไทยอยากไปหาหนังสือที่ว่าดูว่ายังมีขายหรือไม่  คิดว่าน่าเป็นไปได้มากนะคะ  ที่จะมีพระราชธิดาหลายพระองค์ทรงชีพด้วยความตรอมพระทัยขนาดนั้น  ความรักไม่เข้าใครออกใครจริงๆแหละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 08:22

 ขอสวัสดีและต้อนรับคุณเหน่งค่ะ
ดิฉันได้อ่านหนังสือของคุณเทพ สุนทรศารทูลแล้วค่ะคุณเหน่ง
แต่ไม่เคยนำมากล่าวถึงหรืออ้างอิงในที่นี้ เพราะดิฉันเคลือบแคลงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งหรือว่าสารคดีกันแน่    
คุณเทพไม่ได้ระบุออกมาชัดเจน    บก.ของสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้แถลง  เป็นเรื่องที่ตีพิมพ์โดยไม่มีคำนำ ไม่มีคำอธิบายหรือหนังสืออ้างอิงอะไรเลย  แม้ว่าตัวบุคคลในเรื่องมีตัวจริงก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าเรื่องที่เขียนขึ้นนั้นมีเค้าความจริงอยู่มากน้อยแค่ไหน

ดิฉันรู้จักคุณเทพ สุนทรศารทูล ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว  จนปัญญาที่จะไปถามได้   ท่านเป็นผู้สนใจเรื่องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  ได้เคยเสนอข้อคิดใหม่ๆในเอาไว้หลายเรื่อง   เรื่องหนึ่งในจำนวนนี้คือคุณเทพเสนอว่า ผู้แต่งนิราศนรินทร์ ไม่ใช่นายนรินทรธิเบศร์ มหาดเล็กวังหน้ารัชกาลที่ ๒   แต่เป็นตัววังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เองน่ะแหละเป็นผู้แต่ง แต่อ้างว่ามหาดเล็กของท่านแต่ง
ดิฉันไม่เห็นด้วยกับคุณเทพ   เหตุผลของคุณเทพคือกวีได้บรรยายถึงนางในเรื่องไว้ สูงส่งเหนือหญิงสามัญชนมาก  เช่นสวมแหวนนพเก้า  นั่งเรือแผง ห่มสไบกรองทอง   เป็นนางในวังระดับเจ้านาย เกินกว่าจะเป็นภรรยาคนชั้นมหาดเล็ก ก็เลยเชื่อว่าคนแต่งต้องเป็นเจ้านายระดับสูง แต่ในบทท้ายเมื่อระบุชื่อผู้แต่งว่าเป็นมหาดเล็กชื่ออิน   คุณเทพก็เชื่อว่าเป็นการปิดบังตัวตนผู้แต่งแท้จริง
นอกเหนือจากภาพนางในฝัน ซึ่งกวีจะบรรยายให้หยดย้อยยังไงก็ได้ ไม่ได้หมายถึงตัวจริง  ดิฉันไม่เคยเห็นขนบธรรมเนียมการปิดบังตัวตนผู้แต่งด้วยการอ้างชื่อคนอื่นแทนในวรรณคดีไทย   เห็นแต่การไม่เปิดเผยตัวตนด้วยการไม่บอกชื่อ  กับการเปิดเผยด้วยการระบุชื่อไว้สั้นๆท้ายเรื่อง
จะว่าคนแต่งนิราศนรินทร์ปิดบังตัวเอง ไม่ใช่แน่นอน
เพราะในเรื่องบอกชัดว่าแต่งไว้ให้คนอื่นได้อ่านด้วย  ถึงกับบอกว่าถ้าใครอ่านแล้วเห็นว่าผิดพลาดตรงไหนจะติก็ได้ตามใจ  

ก็ในเมื่อแต่งอย่างเปิดเผย ให้คนอื่นอ่าน  กรมพระราชวังบวรฯ จะใส่ชื่อมหาดเล็กว่าเป็นคนแต่งทำไม    และไม่มีเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรสักอย่างที่ทำให้ท่านต้องงุบงิบบอกใครไม่ได้ว่าเป็นกวี
ยุคของท่านก็เป็นยุคกวีนำหน้าเสียด้วย  ใครแต่งหนังสือได้ก็เป็นคนโปรดของรัชกาลที่ ๒  ไม่ต้องปิดบัง

ย้อนกลับมาถึงหนังสือเรื่องนี้
พระนามพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕  ผู้เป็นเจ้าของคำพูดที่คุณเหน่งยกมา   ดิฉันค้นแล้วมีพระองค์จริง   แต่...
ดิฉันไม่คิดว่าท่านจะพูดอะไรแบบนั้นกับผู้หญิงที่เป็นเพียงบ่าวในวัง  อย่างแม่เทพ  ตัวในเรื่องที่คุณเทพบอกว่าเป็นชาววังที่เล่าเรื่องให้ศึกษาธิการหนุ่มนิรนาม ฟัง
ชาววังมีหลายระดับ   ไม่ได้มีแต่เจ้านายแล้วก็สามัญชนที่ไปรับใช้เจ้านายเท่านั้น
สามัญชนก็แบ่งระดับลดหลั่นกันลงมาด้วย

หญิงชาววังที่ใกล้ชิดเจ้านาย เรียกว่านางข้าหลวง  มักเป็นลูกผู้ดีหรือเชื้อพระวงศ์ระดับม.ร.ว. หรือ ม.ล. ที่พ่อแม่เอาไปถวายตั้งแต่ยังเล็ก   คนเหล่านี้จะได้ขึ้นไปเฝ้าบนตำหนัก เรียนวิชาชั้นสูงต่างๆสำหรับแม่บ้าน เช่นร้อยดอกไม้ แกะสลักผัก   จีบพลู  ปอกมะปรางริ้ว  ทำกับข้าวประเภททำยาก   ผู้หญิงพวกนี้แหละที่ได้ใกล้ชิดเจ้านาย  มีโอกาสได้รู้ได้เห็นเรื่องราว และได้เรียนหนังสือ

แต่อีกระดับหนึ่ง คือบ่าว  เป็นลูกมืออยู่ในครัว  ใช้แรงงานแบกหาม ไปตลาด ทำสวน  ทั้งหมดใช้แรงงานหญิงเพราะผู้ชายเข้าไปไม่ได้
แบบหลังนี้จะไม่มีโอกาสได้พูดจากับเจ้านายเลย  และไม่ได้เรียนหนังสือด้วย  จะออกจากงานเมื่อไรก็ได้  จะไปเช้าเย็นกลับออกจากวังไปไหนมาไหนก็ได้

ดิฉันดูจากพื้นฐานของแม่เทพตัวละครในเรื่อง  แล้วคิดว่าหล่อนอยู่ในระดับบ่าว    เป็นการยากที่จะเชื่อว่าเจ้านายจะทรงข้ามนางข้าหลวงทั้งหลายมาเล่าความในพระทัยให้ฟังถึงขนาดนี้    ในหนังสือก็ไม่เห็นแม่เทพบอกสักนิดเดียวว่าข้าหลวงทั้งหลายหายไปไหนหมด   ไม่มีกล่าวถึงสักคน

 ตามธรรมเนียมเจ้านายแม้ว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องออกมาประทับอยู่นอกวัง ก็ต้องมีข้าหลวงเก่าแก่ตามเสด็จมาอยู่ด้วย  ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวอย่างในเรื่อง   ยิ่งเป็นระดับพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวยิ่งไม่มีทาง  

เดี๋ยวมาต่อค่ะ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 08:48

 คุณเทพ เป็นผู้ที่สนใจเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์   เคยเขียนบทความลงในวารสารศิลปวัฒนธรรมบ่อยๆ    ดิฉันไม่แปลกใจที่คุณเทพรู้เรื่องพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์  และเรื่องอื่นๆ  บางเรื่องก็ตรงกับที่รู้กันอยู่แล้ว  บางเรื่องก็เป็นการค้นคว้าของคุณเทพเอง

ข้อมูลของคุณเทพที่เขียนในเรื่องนี้  ผ่านทางคำบอกเล่าของแม่เทพจิตรา   หลายเรื่องดิฉันรู้สึกว่าหล่อนรู้ตรงกับคุณเทพ  จนทำให้อ่านแล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า  เทพจิตรานั่นแหละคือตัวคุณเทพเอง
เสด็จพระองค์หญิง พระราชธิดาที่คุณเทพเอ่ยถึง   เจ้าจอมมารดาของท่านมาจากตระกูลสุนทรศารทูล  เป็นไปได้ว่าคุณเทพอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าถึงเรื่องราวต่างๆในวัง เกี่ยวกับเจ้านายสตรีพระองค์นี้
แต่รายละเอียดหลายอย่างมันค่อนข้างผิดแผกแปลกกว่าชีวิตในวัง
ยกตัวอย่างเช่นชื่อแม่เทพจิตราที่ว่าเสด็จพระองค์หญิงพระราชธิดาประทานให้บ่าวคนนี้แหละ     ธรรมเนียมการตั้งชื่อสามัญชนในสมัยนั้น เขาไม่ตั้งชื่อยาวๆเพราะๆ ถือว่าทำเทียมเจ้านาย เขาจะตั้งชื่อสั้นๆคำเดียวหรือสองคำอย่างมาก    ยิ่งในรั้วในวังแล้วเจ้านายย่อมจะทรงรู้ขนบธรรมเนียมข้อนี้ดี  
ท่านไม่น่าจะตั้งชื่อบ่าวซึ่งต่ำกว่านางข้าหลวงด้วยซ้ำไป ว่าเทพจิตรา   ชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อหม่อมเจ้าเป็นอย่างต่ำ
ถ้าบ่าวชื่อเทพจิตรา  คนในวังเขม่นตายเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 09:04

 ฉันอยากเกิดเป็นนกผกผิน
โผบินสู่ไพรสัณฑ์
มีอิสระเสรีในชีวัน
ไม่อุดตันถูกขังในวังทอง

สำนวนกลอนและวิธีแต่งกลอนแบบนี้ ไม่เหมือนวิธีแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ ๖     แต่คล้ายกับการแต่งสมัยหลัง ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
คือไม่บังคับจำนวนคำในแต่ละบาทเคร่งครัด    ไม่ใช่กลอนสุภาพ  เป็นกลอนหกบ้าง ห้าบ้าง แปดบ้าง  
คำว่า อิสระเสรี  เป็นคำที่ไม่ค่อยพบกันนักในกลอนสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗  เขามักจะใช้ว่า เป็นไทแก่ตัว หรืออะไรคล้ายๆอย่างนั้น

อีกข้อหนึ่งที่ดิฉันอ่านแล้วตะขิดตะขวงใจ  คือเรื่องนี้ เสด็จพระองค์หญิงในเรื่องท่านรู้สึกว่าชีวิตในวังเหมือนนกในกรงทอง   ท่านอยากจะมีชีวิตคู่ อยากแต่งงานกับคนสามัญแล้วสืบสกุลกันทางฝ่ายหญิง   ย้ำข้อนี้อยู่หลายบทด้วยกัน  แต่ในเรื่องก็ไม่เห็นมีตอนไหนบอกว่าท่านเคยพบชายหนุ่มคนไหนจนเกิดความรัก      ฟังเหมือนกับว่าเป็นความอยากมีชีวิตอีกแบบหนึ่งเท่านั้น
โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ในสังคม  ว่าพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินจะทำตัวให้เข้ากันอย่างไรกับครอบครัวของสามัญชน ในยุคที่คนไทยยังอยู่รวมกันปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาในบ้านเดียวกัน

การไม่พอใจกับชีวิตที่ถูกจำกัดขอบเขตก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การแต่งงานกับสามัญชนก็อีกเรื่องหนึ่ง   แยกได้เป็น ๒ ประเด็น

ความคิดเรื่องดอกฟ้าสละฐานันดรมารักกับสามัญชน เป็นแนวคิดที่แพร่หลายอยู่ในนิยายรักยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
เรื่องดรรชนีนางของอิงอร ก็มีตัวอย่างให้เห็น
ดิฉันมีความเห็นส่วนตัว  ผิดถูกอย่างไรขอรับไว้แต่ผู้เดียว ว่าแนวคิดของเสด็จพระองค์หญิงในเรื่องนี้ช่างเหมือนนิยายรักในยุคนั้น
และมองอีกที ก็เหมือนกับความคิดของสามัญชน  มองว่าเจ้านายคิดอย่างไร  มากกว่าจะเป็นความคิดของเจ้านายมองเองจริงๆ

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าดิฉันผูกขาดความคิดตัวเองว่าเป็นคำตอบเบ็ดเสร็จ ของเรื่องนี้    เป็นแค่ความคิดเห็นของคนหนึ่ง จะผิดหรือถูกก็ได้   แต่เห็นอย่างนี้จริงๆ   เมื่อเกิดความเคลือบแคลงขึ้นมายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าตัวเองคิดผิดหรือถูก  ก็เลยลังเลไว้ก่อนไม่อ้างหนังสือเรื่องนี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 11:25

ดิฉันย้อนนึกดู  ว่าเจ้านายสตรีระดับพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่  5  ไม่มีพระองค์ไหนเสกสมรสก็จริง  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเจริญพระชนมายุขึ้นมาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ซึ่งมีกฎมณเฑียรบาลบังคับอยู่  
แต่มาถึงยุคประชาธิปไตย   เจ้านายชั้นหลานเธอ   คือระดับหม่อมเจ้าหญิง ทรงสมรสไปกับสามัญชน ก็มีอยู่มากหลายองค์อยู่เหมือนกัน

ขอยกพระนาม พร้อมชื่อสวามีเป็นตัวอย่างก็คือ
-หม่อมเจ้าหญิงโสมะกานดา จันทรทัต  ทรงสมรสกับ พลตำรวจตรีพิบูลย์ ภาษวัธน์
-หม่อมเจ้าหญิงพิศเพี้ยงแขไข  ชยางกูร ทรงสมรสกับเรือเอกเพิ่ม วณิกสัมบัน
ยังมีหม่อมเจ้าหญิงในราชสกุลชยางกูร สมรสกับสามัญชนอีก 2 องค์คือ
-หม่อมเจ้าหญิงประไพพงษ์  ทรงสมรสกับพันเอกสมบูรณ์ ศิริเวทิน และหม่อมเจ้าหญิงทิพยลักษณสุดา ทรงสมรสกับขุนประทนคดี

ราชสกุลวรวรรณ
หม่อมเจ้าหญิงบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ ทรงสมรสกับพลเอกมังกร พรหมโยธี
หม่อมเจ้าหญิงอุบลพรรณี วรวรรณ  ทรงสมรสกับนายฮาโรลด์ แคร็บบ์
หม่อมเจ้าหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ ทรงสมรสกับนายปุ๊ ประไพลักษณ์ และต่อมากับนายโรเบิร์ต ส. อาร์โนลด์

ราชสกุลดิศกุล มี 2 องค์
หม่อมเจ้าหญิงสุมณีนงเยาว์ ดิศกุล ทรงสมรสกับพันเอกสุวัฒน์ วินิจฉัยกุล
หม่อมเจ้าหญิงพรพิลาศ  ดิศกุล ทรงสมรสกับ นายชวน บุนนาค

ในราชสกุลสวัสดิวัตน์ มี 4 องค์คือ
หม่อมเจ้าหญิงสุเลสลัลเวง สวัสดิวัตน์ ทรงสมรสกับนายประพันธ์ สิริกาญจน
หม่อมเจ้าหญิงอมิตดา  สวัสดิวัตน์ ทรงสมรสกับนายแพทย์สภร ธรรมารักษ์
หม่อมเจ้าหญิงมัทรโสภานา ทรงสมรสกับนายฟื้น ดุลยจินดา
หม่อมเจ้าหญิงวิสาขานุจฉวีย์  ทรงสมรสกับนายโนบูซูกุ  อุตากาว่า
หม่อมเจ้าหญิงศกุนดาลา(หรือศกุนตลา) ทรงสมรสกับนายราศี ปัทมะสังข์

ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่ครบ  ขอยกเป็นตัวอย่างเท่านี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เหน่ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 12:50

 เท่าที่คุณเทาชมพูให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณเทพมา ก็เห็นจะเป็นจริง ตัวเองก็เพิ่งจะมาศึกษาเกี่ยวกับราชวงศ์ก็เมื่อมีสี่แผ่นดินทางช่อง 9 เค้าทำดีเหลือเกิน เรียกว่าสี่แผ่นดินฟีเวอร์ก้ได้ ไม่ว่าใครจะวิจารณ์อย่างไร เกี่ยวกับการผลิตละครเรื่องเปรียบเทียบของเก่าที่เขาทำมาแล้ว

สำหรับตัวอย่างที่คุณเทาชมพูยกมาเกี่ยวกับเจ้านายผู้หญิงที่สมรสกับสามัญชน สงสารแต่พระราชธิดาของรัชกาลที่ 5 ที่ไม่มีโอกาสได้สมรสเลย ในหนังสือของคุณเทพกล่าวไว้ว่าทูลกระหม่อมทรงรักลูกจนหลง ไม่อยากให้แต่งออกไป กลัวเขาจะเลี้ยงไม่ดีเหมือนตัว ไม่รู้สิ บางทีรักมากเกินเลยกลายเป็นการบังคับจิตใจ โดยเฉพาะพระองค์ท่านมีอำนาจล้นฟ้า ลูกเต้าถูกสั่งสอนให้เคารพนับถือเฉกเช่นเจ้าฟ้าเทวดา เสียมากกว่าที่จะเป็นพ่อ เลยไม่มีใครกล้าหือ คิดว่าอย่างนั้นนะ

อ้อ มีข่าวมาฝากนิดนึง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22-30 พฤศจิกายนนี้ จะมีหนังสือเกิดวังปารุสก์ขายด้วย เพิ่งจะโทรไปสอบถามมา เราติดตามมาเป็นปีแล้ว ราคา 895 บาท ไม่รู้เค้าจะลดราคาบ้างหรือเปล่า เราอยู่ไกลตั้งภูเก็ต เห็นทีจะต้องหาทางไปหาซื้อมาให้ได้เสียที เมื่อก่อนที่ยังอยู่กรุงเทพ เห็นขายเต็มไปหมด แต่ไม่มีปัญญาซื้อ เวลานี้มีทั้งกำลังทรัพย์และเวลา แต่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ กลับหายากเต็มทน ใครที่พอจะทราบแหล่งขายหนังสือเกี่ยวกับราชวงศ์ทั้งหลาย กรุณาเลียบ ๆ เคียง ๆ ให้ทราบบ้าง จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

อีกอย่างที่สงสัยมาก คุณเทาชมพูค่ะ ทำไมคุณรู้เรื่องพวกนี้เยอะจังเลย นอกจากอ่านมาก ก็คงต้องทำอะไรเกี่ยวกับพวกนี้ด้วยเป็นแน่แท้ เพราะลำพังตัวเอง ถ้าหากไม่มีความสนใจส่วนตัว และกำลังซื้อที่พอเพียงก็คงจะเป็นการยากที่จะจัดซื้อจัดหามาอ่านได้ ราคาสูงใช้ได้ทีเดียวหากจะต้องซื้อมาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ห้องสมุดในจังหวัดภูเก็ตเองก็มีไม่มากมายอะไร หอสมุดแห่งชาติก็อยู่ไกลเกินกว่าเวลาและเงินจะอำนวยได้ มีแหล่งความรู้ผ่านทางอินเตอร์เนตและร้านหนังสือในจังหวัดเท่านั้นที่พอจะจัดสรรมาประดับความอยากรู้อยากเห็นได้ คุณเทาชมพูจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้นะค่ะ ถ้าไม่เป็นรบกวนความเป็นส่วนตัวมากจนเกินไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 13:16

ถ้าหากว่าคุณเหน่งขึ้นมากรุงเทพ ตรงไปที่ศูนย์หนังสือจุฬา ที่สยามสแควร์  ในนั้นมีหนังสือแบ่งเป็นหมวดหมู่   และมีคอมพิวเตอร์ให้ค้นชื่อหนังสือได้  
ดูหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนะคะ มีเยอะเชียว  หนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ก็มีมาก  โดยเฉพาะที่พิมพ์ใหม่    มติชนเอาหนังสือรุ่นเก่าแก่หายากมาพิมพ์ใหม่หลายเล่มค่ะ
ในงานมหกรรมหนังสือก็จะมีให้เลือก    ดิฉันชอบแวะบูธคุรุสภา บางปีเอาหนังสือเก่าๆมาขายด้วยราคาถูกมาก  บางปีก็ไม่เอามา น่าเสียดาย
ถ้าจะไปลุยอีกทีก็ร้านหนังสือเก่าที่จตุจักร   แต่ต้องต่อราคานะคะ เพราะขายแพงกว่าหนังสือใหม่เสียอีก

ดิฉันน่ะหรือคะ เป็นคนชอบอ่านหนังสือเก่า   อ่านหนักๆเข้า ก็อยากเล่าสู่กันฟัง   แต่ไม่ได้มีอาชีพตั้งสำนักพิมพ์หรือขายหนังสือค่ะ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 16:02

 กำลังอ่านสนุกเชียวค่ะ เกร็ดเรื่องน่าสนใจทั้งนั้น

ถ้าคุณเทาชมพูพอจะมีเวลา กรุณาเล่าเรื่อง ย่าเหล ให้ฟังบ้างนะคะ ย่าเหลเป็นสุนัขที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ย่าเหลยังเล็กๆ หรือเป็นสุนัขที่มีใครถวายคะ และท้ายสุดคือ เกิดอะไรขึ้นกับย่าเหลคะ จึงมีท่อนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ว่า

อันความตายเป็นธรรมดาโลก....กูอยากตัดความโศกกมลหมอง
นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง.....เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี
เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน....เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี
เป็นคนจริงหรือจะปราศซึ่งปรานี....นี่รากษสอัปรีย์ปราศเมตตา

ทูลกระหม่อมรัชกาลที่ 6 ทรงโศกเศร้าอาดูร จนทรงพระราชนิพนธ์เหมือนเรื่องความตายของย่าเหล ไม่ใช่อุบัติเหตุ อ่านแล้วงงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
เหน่ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 17:29

 เคยอ่านจากที่ไหนจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องทางการเมืองอะไรทำนองนี้ เห็นว่ารู้ตัวผู้ประทุษร้ายย่าเหล จำไม่ได้อีกนั่นแหละว่าเพราะอะไรจึงไม่มีการลงโทษ คงเพราะการเมืองในหลวงเลยต้องโศกเศร้าอยู่แต่ผู้เดียว

ก็คงเช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เราไม่ทราบสาเหตุและเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดขึ้น แล้วปรากฎภายหลังว่าทั้งหมดเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง

ในหนังสือของคุณเทพเล่าถึงการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 8 ว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุ เพราะว่าพระองค์ท่านชอบเล่นปืน แล้วเกิดปืนลั่น ขณะเดียวกันที่ฝ่ายตรงข้ามของนายปรีดี กำลังหาเหตุอยุ่ ก็เลยโยงเข้าด้วยกัน เรามีญาติคนหนึ่งที่ตายเพราะสาเหตุเดียวกันกับพระองค์ คือ นอนลูบคลำปืนคนเดียวอยู่ในห้อง ซึ่งปกติก็ทำอย่างนั้นทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วันที่เสียชีวิตก็ลักษณะท่าที่เสียชีวิตไม่แตกต่างจากพระองค์ท่านเท่าไหร่ ทั้งยังมีคนได้ยินเสียงปืนแต่เพียงเล็กน้อย พี่ ๆ ที่อยู่นอกห้องเอะใจนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เข้าไปดู จนกระทั่งถึงเวลาอาหารเย็นจึงเข้าไปเรียก พบว่าเสียชีวิตแล้ว ตัวยังอุ่นอยู่เลย

ไม่รู้สิ สำหรับรัชกาลที่ 8 คนก็พูดกันไปต่าง ๆ นา ๆ หาข้อสรุปไม่ได้ แม้แต่คนที่รับกรรมการจากการณ์นี้ เมื่อวาระสุดท้ายจะมาถึงจำได้ว่าได้กระซิบบอกจอมพลคนหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่เป็นคนที่พยายามจะรื้อฟื้นคดีแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายเรื่องที่กระซิบก็ตายไปพร้อมกับตัว บางทีเรื่องที่กระซิบนั้น อาจจะเคยถูกเปิดเผยในหนังสือบางเล่มที่เราไม่เคยได้อ่าน ถ้าใครรู้เฉลยที จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง