เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 117024 ก็อสสิปนอกกำแพงวัง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 19:50

 เรื่องย่าเหล ขอตัวไปเรียบเรียงก่อนนะคะคุณนนทิรา  ย่าเหลถูกยิงตายค่ะ  ในพระราชนิพนธ์มีอีกบทหนึ่งว่า
มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย
แทบจะม้วยมรณังสิ้นสังขาร์

เรื่องย่าเหลไม่ใช่เรื่องการเมืองค่ะคุณเหน่ง   ความเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมืองเพิ่งจะเล่าลือกันมาราว 30 ปีนี่เอง  ในตอนนั้นกระแสการเมืองกำลังแรง  แม้แต่เรื่องในอดีตบางเรื่องก็ถูกปลุกผีขึ้นมาใส่ไข่ใหม่ว่าเป็นการเมือง

ถ้าคุณเหน่งสนใจเรื่องรัชกาลที่ 8  ไปหาอ่านหนังสือ กรณีสวรรคต ของนายแพทย์ที่ชันสูตรพระบรมศพ  ในนั้นมีรายงานทางการแพทย์เอาไว้  คงจะหาได้ตามร้านหนังสือเก่า    ส่วนในหนังสือคุณเทพ  ดิฉันคิดว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณเทพค่ะ

ขอเล่าเรื่องคะนังให้ฟังนะคะ
คะนังเป็นคนป่า  เข้าใจว่าเป็นพวกที่เราเรียกว่า เงาะป่าซาไก  มีเผ่าพันธุ์อยู่ทางใต้ของสยามใกล้ชายแดนมาเลย์     เจ้าเมืองทางใต้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าตามพระราชประสงค์   โดยเลือกมาจากเด็กกำพร้าในกลุ่มเงาะ  ไม่มีพ่อแม่พี่น้อง    แล้วเอาตัวมาส่งถึงกรุงเทพ  คะเนว่าเกิดราวพ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ตัวเล็กดูเหมือนเด็กกว่าวัย

คะนังมีสีผิวดำ    แต่ไม่ดำสนิทอย่างคนแอฟริกัน ยังมีสีน้ำตาลแก่เจืออยู่มาก แบบที่เรียกว่าดำแดง   ผมหยิกเป็นสปริงขอดติดหนังหัว จมูกแบน ปากหนาตัดกับฟันขาว  
เป็นเด็กร่าเริงฉลาดเฉลียว  พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดมาก ทรงเลี้ยงดังพระราชโอรสบุญธรรม เพียงแต่ว่าไม่ได้ยกให้เป็นเจ้า    ทรงมอบให้พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ  ทรงดูแล    มีเตียงนอนมุ้งหมอนผ้าห่มอย่างดี   คะนังชอบสีแดงก็ได้ผ้าห่มแดงและเสื้อแดงสวมใส่     แต่ปกติแต่งกายอย่างมหาดเล็ก  เข้านอกออกในได้ทุกแห่ง และได้ตามเสด็จอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งคะนังเคยแต่งกายเป็นเจ้าเงาะในละครเรื่องสังข์ทอง   ไม่ต้องสวมหัวเงาะก็เป็นเงาะอย่างสมบูรณ์     เคยเห็นภาพถ่ายคะนัง แต่ไม่ทราบว่าคะนังได้รำละครจริงๆหรือว่าแค่แต่งแฟนซี
คะนังเคยเล่าเรื่องของคนในเผ่าเงาะถวายพระเจ้าอยู่หัว   เรื่องนี้เป็นที่มาของพระราชนิพนธ์ เงาะป่า  มีศัพท์แสงต่างๆของพวกเงาะปนอยู่หลายคำ  เป็นเรื่องราวความรักที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม  สำนวนไพเราะกินใจ

คะนังพูดภาษาไทยได้  แต่ไม่ยอมพูดราชาศัพท์   นอกจากนี้ก็ไม่ค่อยจะรู้จักขนบธรรมเนียม   ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง   พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกพระบรมศานุวงศ์ด้วยพระนามสั้นๆอย่างไร คะนังก็เรียกตามอย่างนั้น    ถือเหมือนตัวเองเป็นเจ้า  คลุกคลีในหมู่เจ้านาย  เคยมีข่าวว่าคะนังกำเริบทะลึ่งกับพระราชธิดา   จะด้วยตั้งใจหรือว่าไม่รู้ประสาก็ตาม  แต่ก็ทำให้บรรดาเจ้านายสตรีเรื่อยลงมาถึงมหาดเล็กเด็กชาทั้งหลายพากันไม่ชอบคะนังไปตามๆกัน
แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ไม่โปรดคะนัง ทรงเห็นว่าทะลึ่ง  แต่เกรงพระราชหฤทัยสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงมิได้ทรงทำสิ่งใดออกมา

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ คะนังก็ชะตาตก   ประกอบกับโตเป็นหนุ่ม  ต้องออกจากพระบรมมหาราชวังมาหาที่อาศัยอยู่ข้างนอก   แต่พระวิมาดาฯก็ทรงพระเมตตาให้เงินเลี้ยงชีพตามสมควร

มหาดเล็กหนุ่มๆชักนำคะนังไปในทางชั่ว   พาไปเที่ยวหญิงโสเภณี สมัยนั้นเรียกว่าหญิงโคมเขียว เพราะหน้าซ่องจะจุดโคมสีเขียวไว้เป็นสัญลักษณ์      คะนังก็ไม่รู้การควรมิควร  ตัวเองสมัครเข้าเสือป่าได้  ก็ขี่ม้าหลวงไปผูกไว้หน้าโรงโคมเขียว   ทำเอาชาวบ้านมาดูกันเอิกเกริกว่าคะนังไปเที่ยวซ่อง

วาระสุดท้ายของคะนังน่าเศร้า ตายตั้งแต่ยังหนุ่ม    เคยอ่านพบว่าคะนังไปหลงรักผู้หญิง  ปีนเข้าหาเลยถูกญาติฝ่ายหญิงทำร้ายถึงตาย   แต่ข่าวที่ยืนยันตรงกันมากกว่าคือคะนังตายเพราะติดโรคผู้หญิงจากหญิงโคมเขียว ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบปี    
เมื่อตายแล้วก็แล้วกัน  คะนังมิได้ทำความดีพอที่ใครจะสรรเสริญอาลัย เรื่องของคะนังจึงเป็นเพียงเกร็ดย่อยๆเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นหลังเกือบจะไม่รู้จักกันอีกแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 18 ต.ค. 04, 20:39

 ย่าเหลเป็นสุนัขพันทางขนยาวเป็นปุย สีขาวสลับดำ เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม  เจ้าของซึ่งเป็นพัสดีทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเสด็จไปที่พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
ชื่อย่าเหลมาจากตัวละครชื่อ Jarlet  ในละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ Arnold Goldsworthy ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเป็นไทยชื่อ "มิตร์แท้"

ย่าเหลช่างประจบและแสนรู้  เป็นที่โปรดปรานมาก     นอกจากนี้ยังรู้ว่าใครชอบมันไม่ชอบมัน    ใครที่ลับหลังทำร้ายย่าเหล มันก็จำไว้ เวลาบุคคลนั้นเข้าเฝ้ามันก็เห่าและกัด จนพระเจ้าอยู่หัวทรงจับได้ว่าเขาไม่ได้เมตตาย่าเหล   ข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งจึงไม่ชอบย่าเหล
วันหนึ่งมีผู้พบย่าเหลถูกยิงตายนอกกำแพงวัง   ลือกันว่าถูกล่อออกไปให้ถูกฆ่า   พระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสมาก      ทรงสร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ พร้อมกับบทกลอนอาลัย

ดิฉันเคยถามผู้ใหญ่อายุ 90 ขึ้นไปที่ทันรู้เห็นเหตุการณ์ในวัง  ได้รับคำตอบตรงกันว่าเป็นข้าราชบริพาร   ทรงทราบว่าใคร แต่เรื่องก็เงียบไปไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าถูกลงโทษอย่างใดบ้าง หรือว่าได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ส่วนข่าวที่ว่าเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่ง  เป็นข่าวที่เกิดขึ้นระยะหลัง  อาจจะเป็นเรื่องอื่นๆที่ว่ามีการขัดแย้งกัน  แล้วเอาเข้ามาบวกกับเรื่องย่าเหลเข้าไปด้วย  ชาววังรุ่นก่อนไม่ได้เล่าอย่างนั้น
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 19 ต.ค. 04, 03:16

 ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากค่ะ น่าสงสารย่าเหลนะคะ เป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจริงๆ พอจะจำได้ว่า อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปสุนัขน่ารัก ท่าทางหน่วยก้านดีเชียวค่ะ เห็นแล้วยังรู้สึกเสียดายไปด้วย

คะนังนี่น่าสงสารอยู่เหมือนกันนะคะ ไม่มีความสามารถจะคิดเองว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ดิฉันไม่เคยได้อ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า  ได้แต่อ่านหนังสือที่เขาเอามาเล่าเป็นนิทาน ยังติดใจเลยค่ะ คะนัง ซมพลา ลำหับ อ่านไปก็จะนึกภาพนางลำหับ ผมหยิก ปากหนาและทัดดอกไม้แดง  อาวุธที่พวกเงาะใช้เป่าลูกดอกใส่กันนี่เรียกว่าอะไรนะคะ ตอนนี้นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก แย่จริงเชียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 19 ต.ค. 04, 09:48

 อาวุธของพวกเงาะเรียกว่า บอเลา ค่ะ     ส่วนตัวลูกดอกอาบยาพิษที่เป่าออกไป เรียกว่า ลูกบิลา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 19 ต.ค. 04, 10:23

 ขอยกกลอนไพเราะในพระราชนิพนธ์ "เงาะป่า "มาให้อ่านสักสองสามบทนะคะ

ตอนนี้ ใช้ทำนอง จีนรำพัด ค่ะ

ชื่นใจ
ที่เงาไม้ราบร่มลมพัดฉิว
หอมกระถินกลิ่นไกลใจริ้วริ้ว
ฤๅใครลิ่วลมแฉลบมาแอบมอง
โลกนี้มีอะไรที่ไม่คู่
ได้เห็นอยู่ทั่วถ้วนล้วนเป็นสอง
ดวงจันทรนั้นยังมีอาทิตย์ปอง
เดินพบพ้องกันบางคราวเมื่อเช้าเย็น

บทนี้ ทำนองจำปาทองเทศ
นั่งเหนือแผ่นผาที่หน้าถ้ำ
เท้าราน้ำเอนอิงพิงพฤกษา
ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา
ตกตามซอกศิลาซ่ากระจาย
ที่น้ำอับลับช่องมองเห็นพื้น
ปลาน้อยน้อยลอยดื่นอยู่แหล่หลาย
พ่นน้ำฟูเป็นละอองต้องแมลงตาย
ตกเรี่ยรายเป็นภักษาน่าเอ็นดู
ยามลมตกนกร้องซ้องแซ่เสียง
เสนาะเพียงลำนำเฉื่อยฉ่ำหู
ลำดวนดงส่งกลิ่นประทิ่นชู
นางโฉมตรูฟังเพลงวังเวงใจ

ทำนองเพลง จีนแส
มัจฉา
ช่างฉลาดเสาะหาอาหารหนอ
ไฉนไม่ปรีชากล้าเพียงพอ
มาล่อปากปักษาที่ถาลง
สกุณาตาดีฉะนี้แล้ว
ยังไม่แคล้วบอเล่าเจ้าช่างหลง
อันมนุษย์สุดฉลาดทั้งอาจอง
อย่างวยงงให้เหมือนสัตว์บัดสีเอย

บทสุดท้ายนี้ขอถอดความว่า   ปลาไล่งับเหยื่อหาอาหารในลำธาร   แต่ตัวเองก็กลายเป็นเหยื่อของนกกินปลาที่ถาลงมาโฉบปลาไปกิน  แต่นกก็เป็นเหยื่อของลูกดอกมนุษย์ที่ยิงเอาไปกินเสียอีกที   ตอนท้าย เตือนว่า มนุษย์ควรระวังตัวให้ดีอย่าเป็นเหยื่อของใครเลย
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 19 ต.ค. 04, 21:45

 เพราะทุกบทเลยนะคะ โดยเฉพาะบทที่สอง ได้ยินเสียงน้ำตกและเสียงนกแซ่ซ้องตามไปด้วยเลยค่ะ

ส่วนในบททำนองจีนรำพัด ชอบสองบาทแรกค่ะ เสียงคล้องจอง สัมผัสนอกใน เพราะพริ้งไปหมด

อาวุธของพวกเงาะเรียกอย่างนี้นี่เอง บอเลา และ ลูกบิลา มิน่าถึงนึกไม่ออก

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ รอฟังเกร็ดเล็กน้อยเรื่องถัดไป ถ้ามีอีกนะคะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 19 ต.ค. 04, 21:45

 ยังตามมาฟังอยู่ค่ะ  คุณนนทิราก็มาแล้ว สวัสดีค่ะ  เรื่องน่าสนุกทั้งนั้นเลยค่ะ  ขอบคุณนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 20 ต.ค. 04, 09:26

 ก็อสสิปต่อมาคือเรื่องเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ    หลังจากเสด็จไปรัสเซียอยู่หลายปี ก็ทรงกลับมาเยี่ยมบ้าน  เกิดต้องพระทัยพระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงศ์สนิท
เสด็จพระองค์หญิงเป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเนื่อง   พูดอีกทีก็คือเป็นพระกนิษฐภคินีนั่นเอง
แต่ว่าไม่สมพระประสงค์  เพราะสมเด็จพระพันปีทรงหมายไว้ให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ก็ทรงกลับไปด้วยความผิดหวัง    และได้ไปสมรสกับหม่อมแคทยาในเวลาต่อมา

สตรีที่อยู่ในข่ายเหมาะสมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  เขาว่ากันว่ามี 3 องค์  ล้วนแต่พิจารณาโดยสมเด็จพระพันปี
นอกจากเสด็จพระองค์หญิงเยาวภาฯ      ก็มีพระธิดาในกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์อีกองค์หนึ่ง
อีกองค์คือสมเด็จหญิงน้อย เจ้าฟ้านิภานภดล  กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี  พระธิดาในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะไม่อภิเษกสมรสกับพระกนิษฐภคินีไม่ว่าองค์ใด   ส่วนองค์ที่เป็นพระญาติสนิท  พระพันปีทรงเปลี่ยนพระทัยเองในเวลาต่อมา
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 20 ต.ค. 04, 14:49

 นี่ถ้าสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงตามพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ก็อาจจะไม่มีหนังสือเรื่องเกิดวังปารุสก์นะคะ หรือถ้ามี เรื่องราวก็จะคงจะเป็นอีกโฉมหน้าไปเลย

ดิฉันอ่านหนังสือ "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" นิพนธ์โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พบว่ามีเรื่องราวส่อเค้าไม่ถูกกันในหมู่เจ้าพี่เจ้าน้องอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯทรงหย่าจากหม่อมคัธริน และขอพระราชทานเสกสมรสกับม.จ.ชวลิตโอภาศ

เมื่อคราวหม่อมคัธรินกลับมาเยี่ยมเมืองไทย และขอพักที่วังวรดิศ ก็มีเรื่องราวโดนรังควาญ จนหม่อมคัธรินเกรงพระทัยท่านเจ้าของวัง สมเด็จพระบรมราชชนก(ทูลกระหม่อมมหิดลฯ) จึงทรงรับหม่อมคัธรินให้ย้ายไปอยู่ที่วังสระปทุมแทน

อีกเกร็ดหนึ่งที่อ่านพบในหนังสือเล่มเดียวกันคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต เจ้านายพระเจ้าลูกเธอต้องเสด็จกลับจากต่างประเทศมาถวายพระเพลิงพระบรมศพกันทุกพระองค์ เวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงมีพระชันษาได้ 17 ปี กลับมาเสด็จประทับอยู่กับสมเด็จพระพันปีหลวงที่พระตำหนักพญาไท จึงเกิดความคุ้นเคยกับม.จ.พิลัยเลขา ดิศกุล ที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงกราบทูลขอท่านหญิงพิลัยฯต่อพระชนนี ซึ่งพระชนนีก็ทรงยินดีเห็นชอบด้วย และทรงอนุญาตให้ติดต่อกันได้ทรงจดหมายเมื่อถึงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯเสด็จกลับไปเรียนต่อแล้ว เรื่องนี้คงจะเรียกได้ว่า Summer Romance นะคะ เพราะหลังจากเสด็จกลับจากต่างประเทศ และทรงลาผนวชและลาสิกขาบทแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯก็ทูลขอพระราชทานต่อสมเด็จพระพันปีหลวงฯ เพื่อเสกสมรสกับม.จ.รำไพพรรณีตามที่เราได้ทราบกันแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 21 ต.ค. 04, 09:22

 พระนิพนธ์เล่มนี้บอกเบื้องหลังระหว่างพี่ๆน้องๆในครอบครัวใหญ่เอาไว้ได้สีสันมากทีเดียวค่ะ
ถ้าคุณนนทิรามีเกร็ดมาเล่าอีกก็เชิญเลยค่ะ

ก็อสสิปอีกเรื่องของคุณหลวงวรภักดิ์ฯ คือ พระราชนิพนธ์ไกลบ้านในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขามาถึงพระราชธิดา เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองฯ เล่าเรื่องสิ่งต่างๆที่พบเห็นระหว่างเสด็จยุโรป  
ที่จริงมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าจอมคนโปรด คือม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ได้รู้เรื่องความเป็นไปที่เสด็จพระราชดำเนิน
แต่จะทรงเล่าโดยตรง ถึงเจ้าจอม ก็ไม่สมควร    จึงส่งถึงพระราชธิดา ที่เจ้าจอมสดับท่านอยู่ด้วย  ได้อ่านเรื่องราวด้วยกัน

เจ้าจอมสดับในตอนแรก เกือบตามเสด็จไปยุโรปด้วยแล้ว  เพราะว่าจะทรงนำกรมขุนอู่ทองไปด้วยในฐานะราชเลขานุการ    ส่วนเจ้าจอมสดับก็ตามเสด็จไปถวายการรับใช้กรมขุนอู่ทองอีกที
แต่ว่าเกิดอุปสรรคขัดข้อง    ว่ากันว่าพระพันปีไม่ทรงเห็นด้วย  จึงไม่ได้ไปทั้งกรมขุนอู่ทองและเจ้าจอมสดับ
บันทึกการเข้า
วิรงรอง
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 21 ต.ค. 04, 10:10

 โดยบังเอิญมาเจอที่นี่เข้า คุยกันสนุกจริงเชียว
เลยลงชื่อสมัครสมาชิกเป็นครั้งแรก
สวัสดีค่ะคุณเทาชมพู คุณพวงร้อย และทุกท่าน

วันนี้ฝนตกทั้งวัน ว่างจัดเลยนั่งไล่อ่านเสียเพลิดเพลิน
แถมได้ปะติดปะต่อกับ เกิดวังปารุสก์ที่เคยอ่านนานนมเต็มทีแล้ว
คุณเทาชมพูกรุณาเล่าเรื่องเกร็ดในราชสำนัก ร. ๖ ให้ฟังมั่งได้ไหมคะ อะไรก็ได้
ต้องไปแล้วฝนหยุดแล้ว เจ้าแกนมันมากระดิกกระดี้ คงต้องพามันไปเดินแล้วค่ะ แล้วจะแวะมาอ่านเรื่อยๆค่ะ
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 21 ต.ค. 04, 11:37

 สวัสดีค่ะคุณวิรงรอง   ขอต้อนรับเข้าสู่วงคุย
เรื่องของรัชกาลที่ 6 มีปะปนอยู่ในหลายกระทู้  
ได้อ่านกระทู้ เจ้าวังปารุสก์  แล้วใช่ไหมคะ
เดี๋ยวจะไปเรียบเรียงเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
กับกรมหลวงชุมพรฯ มาให้อ่านค่ะ
ขอเวลาหน่อย  
บันทึกการเข้า
เหน่ง
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 21 ต.ค. 04, 18:24

 จากที่อ่าน ๆ มา รู้สึกพระพันปีหลวงท่าทางจะเอาเรื่องน่าดู ไม่รู้พูดอย่างนี้ ได้หรือเปล่า (กลัวเข้าคุกน่ะ) เคยอ่านเจอเกี่ยวกับพระนางเจ้าสุขุมาลย์ฯ เรื่องฉายพระรูปคู่กับรัชกาลที่ 5 แล้วพระพันปีเกิดรู้เข้า ก็เลยสั่งทำลาย พระนางเจ้าสุขุมาลย์ฯเสียอกเสียใจน่าดูแต่ก็ต้องยอม เรื่องอิจฉาริษยาเนี่ยน่ากลัวเสียจริง

ยิ่งไปกว่านั้น ในหนังสือบางเล่มยังพาดพิงสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระนางเรือล่มอีกว่าเกิดจากการอิจฉากันระหว่างพี่น้อง ไม่รู้จริงเท็จอย่างไร

มีเรื่องที่สงสัย เคยดูรายการคุณพระช่วย ตอนที่อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือมาพูดเรื่องผ้าไทย และโชว์ผ้าไทยโบราณหลายชิ้น มีอยู่ชิ้นหนึ่ง งามมาก เป็นของพระพันปีหลวง ที่สงสัยก็คือว่าเค้าไปได้มาได้อย่างไร ไม่ได้บอกไว้ในรายการ ของอย่างนี้น่าจะเป็นมรดกตกทอด ถ้าหากจะบอกว่าทายาทตกยากแล้วเอาออกมาขาย ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพระองค์ท่านออกจะร่ำรวย และทายาทสายพระองค์ท่านก็มีไม่มากนัก ไม่รู้ซิ ใครรุ้ช่วยตอบทีนะค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 21 ต.ค. 04, 19:16

 พระบรมฉายาลักษณ์ที่ว่า ทรงฉายคู่กับพระวิมาดาค่ะ  เมื่อสมเด็จพระพันปีทรงทราบก็ทรงเห็นว่าไม่สมควร   พระวิมาดาจึงถวายพระรูปนั้นให้ไป  เพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามไปใหญ่โต

เรื่องผ้าในรายการคุณเผ่าทอง  อาจได้รับความเอื้อเฟื้อจากพิพิธภัณฑ์ หรือทายาทสายพระพันปีให้มาแสดงก็ได้นี่คะ

เรื่องพระนางเรือล่ม   ผู้ที่อ้างกฎมณเฑียรบาล มิให้พวกราษฎรแถวนั้นเข้าไปช่วย เพราะมีกฎห้ามเด็ดขาดไม่ให้แตะต้องฝ่ายใน    คือพระยามหามนตรี  เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมพระธิดา   ขุนนางคนนี้ก็ถูกลงโทษไปตามระเบียบ  แต่ไม่ถึงตาย ตอนหลังก็ได้กลับเข้ารับราชการ
ส่วนข่าวก็อสสิปว่าเป็นคนโน้นคนนี้  ไม่มีหลักฐานค่ะ   พูดไปก็บาปเปล่าๆ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 24 ต.ค. 04, 23:58

 มาแจม ไม่มีเรื่องมาเล่าแต่ขอถามท่านทั้งหลายครับ
คำว่าพระพันปีหลวง นี่มีความหมายอย่างไรครับ ถ้าเทียบกับ
พระพันวัสสา
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง