เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 12763 กระจกเกรียบ??
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 165

นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ


 เมื่อ 29 ก.ย. 04, 23:25

 ใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกระจกเกรียบ หรือ การหุงกระจกช่วยบอกหน่อยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ก.ย. 04, 15:53

 ไม่รู้วิธีทำค่ะ   เดาว่าอาจจะคล้ายกับการทำสเตนกลาส ของฝรั่ง
รู้แต่ว่าเดิม ช่างหุงกระจก คือพวกทำกระจกสี สังกัดกรมช่างสิบหมู่ในพระบรมมหาราชวัง
 http://www.luktungfm.com/dday/chanthai.htm

ช่างไทยสิบหมู่

วัฒนธรรมไทยได้แบ่งออกเป็นหลายสาขา เรื่องศิลปะ เรื่องการช่าง
ต่างๆของไทยเรา ก็จัดเป็นวัฒนธรรมสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญควรค่า
แก่การอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด ช่างไทยสิบหมู่ เป็นวัฒนธรรมทางด้าน
ศิลปะแขนงหนึ่งในกระบวนช่างไทยได้จำแนกแยกแยะงานช่างได้มากมาย
แต่ได้หยิบยกที่สำคัญมาเพียง 10 อย่าง โดยผุ้ที่เป็นช่างต้องเรียนรู้กรรม
วิธีและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างๆไป ช่างไทยทั้งสิบหมู่ ได้แก่ ช่างเขียน
ช่างสลัก ช่างกลึก ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรัก ช่างบุ และช่างปูน

ประวัติความเป็นมา

เรื่องของ "ช่างสิบหมู่ ในสมัยก่อนเป็นกรมๆหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ในหนังสือบันทึกความรู้เรื่องๆดังนี้ว่า

ตามปรกติการปกครองเมืองสมัยโบราณ จัดเป็นจตุสดม คือ เป็นการะทรวงเวียงวัง คลัง นา กระทรวงใดมีกิจจะต้องทำสิ่ง ซึ่งต้องอาศัยฝีมือช่าง ก็ต้องหาช่างชนิดที่ต้องการใช้รวบรวมตั้งไว้เป็นกระทรวงนั้นเพื่อใช้ จึงได้มีการช่างมากมายกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ หลายกระทรวงด้วยกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสไว้ ดังจะยกตัอย่างให้เห็น เช่น กระทรวงวัง มีกรมทหารในเป็นกรมรักษาพระองค์ แต่มีกรมช่างทหารในขึ้นอยู่ในกรมทหารในนั้นอีกชั้นหนึ่ง  เจ้ากรมเป็นหลวงประดิษฐ์นิเวศน์ เห็นได้ตามชื่อว่ามีหน้าที่ปลูกสร้างเรือนหลวงใน
พระราชนิเวศน์ คงมีขึ้นด้วยเหตุที่เจ้ากรมหรือปลัดกรมคนใดคนหนึ่งในกรมทหารในเป็นผู้เข้าใจการปลูกสร้างจึงตรัสใช้ ผู้รับสั่งนั้นก็ต้องเสาะหา ช่างมาเป็นลูกมือ งานมากขึ้น ช่างมากขึ้นก็ต้องตั้งขึ้นเป็นกรมทหารใน ยังกรมมหาดเล็กก็มีกรมช่างมหาดเล็กเป็นอีกกรมหนึ่งเหมือนกัน มีช่างเขียน ช่างปั้นและอื่นๆ ช่างสิบหมู่จึงเป็นกรมที่รวบรวมช่างไว้มีสิบหมู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้ หมายความว่าในบ้านเมืองมีช่างแค่สิบอย่างเท่านั้น ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง ที่ยกมารวมไว้เรียกว่า "ช่างสิบหมู่"

แท้จริงช่างไทยมีอยู่มากกว่า 10 หมู่ ดังกล่าว แต่ที่เรียกว่า "ช่าวสิบหมู่" คงประสงค์จะรวบรวมช่างที่เป็นส่วนสำคัญไว้ก่อนเพียง 10 หมู่ แล้วภายหลังคิเพิ่มเติม หรือแยกแขนงออกไปอีกตามลักษณะของงานนั้นเอง ตามบัญชีชื่อช่างที่ขึ้นทำเนียบเป็นช่างหลวง
มีดังต่อไปนี้ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะ(จีน) ช่างสนะ(ไทย) ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง  
บันทึกการเข้า
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 165

นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ต.ค. 04, 00:55

 อ.ที่เคยสอนผมเคยบอกว่า ศิลปะแขนงนี้หายไปจากไทยแล้ว
กระจกสีที่ประดับวัดต่างๆ ดูอย่างเช่นวัดพระแก้วนั้นก็ใช้กระจกสีที่มีขายตามท้องตลาดซึ่งแวววาวเกินไป ทำให้เหมือนดิสนีย์แลนด์เมืองไทย
เลยอยากให้ช่วยกันสืบหา และฟื้นฟูศิลปะแขนงนี้ด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ต.ค. 04, 12:02

 ก็มีโครงการหลวงบางโครงการที่รวบรวมครูรุ่นเก่ามาถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์รับกันไป เช่นโครงการพระดาบส    ส่วนโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่เรารู้จักกันดีคือโครงการศิลปาชีพ     คุณนทีไปชมตอนนำมาแสดงที่พระที่นั่งอนันตสมาคมหรือเปล่าคะ
นึกทบทวนถึงการหุงกระจก   ยังไม่เห็นในศิลปาชีพ   การประดับประดาด้วยเกล็ดชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้แวววาวนั้น นิยมใช้ปีกแมลงทับซึ่งคงทนเป็นร้อยปี   ออกมางดงามมาก
ดิฉันนึกเล่นๆ   อย่าเอาซีเรียส  เพียงแต่ปรารภกัน  ว่ากระจกหุงนั้นมีเหมือนกันที่ทำเป็นวัตถุเล็กๆเช่นผลไม้ เอาไว้ประดับประดาดูเล่นให้สวยงาม  แต่ส่วนใหญ่ประดับวัดวาอาราม   ทีนี้วัดสมัยมีกระจกหุงเป็นวัดสมัยลมฟ้าอากาศกรุงเทพยังไม่มีมลพิษ  ไม่มีฝนกรด  อย่างเดี๋ยวนี้  ถ้าเรามีช่างหุงกระจก ทำกระจกประดับวัดได้งามเหมือนเมื่อก่อน  กระจกที่ว่าจะทนสภาพแวดล้อมได้แค่ไหน   ถ้าทนไม่ได้ จะอนุรักษ์ไว้ก็ต้องเปลี่ยนแบบไปเป็นของอื่นที่ไม่ใช่ของประดับวัดวาอาราม   ที่อาจารย์คุณว่าเหมือนดิสนีย์แลนด์  มันอาจเป็นเหตุผลของความจำเป็นตามยุคก็ได้
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ต.ค. 04, 20:34

 ผมคุ้นๆว่าเคยอ่านเจอจากที่ไหนว่า โบราณจะเขียนว่าช่างสิปป์หมู่ หมายถึงหมู่งานช่างศิลป์ ไม่ใช่ "สิบ" ที่แสดงจำนวน จนใจจำไม่ได้ว่าอ่านจากไหนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 165

นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ต.ค. 04, 01:23

 อืมก็เห็นด้วยกับความเห็นที่ 3 ของคุณเทาชมพูนะครับ
และคุณ CrazyHOrse ด้วย
คำว่า "สิบ" ใน "ช่างสิบหมู่" นั้น ถ้าจำไม่ผิดมากจากคำว่า สิปปะ ~ ศิลปะ ไม่ได้ใช้แทนความหมายแสดงจำนวนครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มิ.ย. 05, 00:42

 เข้ามาเห็นกระทู้นี้แล้วขอออกความเห็นด้วยนะครับ
เข้าใจว่ากระจกเกรียบที่คุณพูดถึงน่าจะเป็นกระจกชนิดเดียวกับที่คุณชายแสงสุรย์เรียกว่า "กระจกข้าวเกรียบ"เลยขออนุญาตเปิดตำรามาตอบซะหน่อยแล้วกันครับ

"อย่างไรก็ตาม การซ่อมครั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างที่ไม่สามารถทำการซ่อมให้สมบูรณ์ทุกประการได้ เพราะส่วนต่างๆขององค์พระที่นั่งซึ่งประดับด้วยกระจกนั้น ใช้กระจกชนิดบาง ที่เรียกว่ากระจกข้าวเกรียบ ไม่สามารถจะหาซื้อได้ในท้องตลาดขนาดนั้น กรรมการพิจารณาจัดวางแผนผังและซ่อมสร้างพระราชฐานพิจารณาเห็นแล้วว่ากระจกที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนั้เป็นกระจกหนา จะตัดเป็นชิ้นเล็กประดับลายละเอียดประณีตไม่ได้ ต้องใช้กับงานที่ไม่เป็นลายละเอียดประณีตนักเช่นปิดประดับช่อฟ้า ใบระกา ซึ่งอยู่ในที่สูง ถ้าจะเอามาใช้ในที่พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ก็ต้องประดับเป็นลายหยาบตามลักษณะของกระจกก็จะทำให้คุณค่าในทางศิลปของพระที่นั่งองค์นี้ด้อยลงไป จึงยังไม่ยินยอมให้ใช้ ให้คงรักษากระจกเดิมที่ประดับไว้ด้วยความประณีตเพียงเท่าที่มีเหลืออยู่ ส่วนที่หลุดไปแล้วก็ให้ปล่อยว่างไว้จนกว่าจะหากระจกที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมมาประดับแทนได้ จึงจะให้รื้อกระจกของเดิมออกแล้วประดับใหม่ทั้งหมด โดยนัยนี้ ในการซ่อมพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ครั้งนั้น จึงมิได้ทำการประดับกระจกใหม่"

จาก พระมหาปราสาท และพระราชมณเฑียรสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดย ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง ในปี พุทธศักราช 2525

และจากหนังสือเล่มเดียวกัน เมื่อเทียบปีในการบูรณะพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ตามที่กล่าว น่าจะหมายถึงการซ่อมในปีพุทธศักราช 2502 ซึ่งคุณชายแสงสูรย์เองก็มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการตรวจการซ่อมด้วย และดูเหมือนว่ากระจกชนิดนี้จะขาดตลาดไปตั้งแต่การซ่อมครั้งดังกล่าวแล้วนะครับ

ส่วนเรื่องกระจกชนิดใหม่ ดูเหมือนจะเห็นประดับอยู่หลายจุดในพระบรมหาราชวัง เช่น ที่ซุ้มใบเสมารอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มารแบกกระบี่แบกบนเจดีย์ทองหน้าฐานไพที,ปราสาทพระเทพบิดร หรือแม้กระทั่งที่ขอบของสีหบัญชร และส่วนต่างๆขององค์พระที่นั่งหลายองค์ในพระบรมหาราชวัง ตามความรู้สึกส่วนตัวของผมแล้วน่าเรื่องการประดับกระจกลักษณะนี้น่าจะอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการจัดซ่อมแต่ละชุดไปนะครับ เท่าที่ทราบและมีความเห็นก็มีเท่านี้แหละครับ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ก.ค. 05, 01:50

 ใครเคยสังเกตมั้ยครับ ว่าซุ้มสีมารอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เพิ่งซ่อมใหม่ครั้งล่าสุดนี้ ซุ้มอื่นๆ ล้วนประดับด้วยกระจกสีน้ำเงิน แต่มีซุ้มหนึ่งสีโดดเด้งออกมาจนน่าตกใจคือประดับด้วยกระจกสีเขียวผ่าเหล่าผ่ากออยู่ซุ้มเดียว รู้สึกจะอยู่ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ก.ค. 05, 06:55

 ถึงคุณบนศรีษะผมนะครับ อิๆ

เคยสิครับ

พอดีเคยได้มีโอกาสสอบถามคณะกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์ในชุดปี พ.ศ. 2525 ท่านหนึ่งครับ เลยได้ทราบว่ากระจกที่ซุ้มเสมาทั้ง 3 ทิศ ซึ่งเป็นสีน้ำเงิน เป็นกระจกชนิดใหม่ที่นำมาประดับ ซึ่งสีที่เปลี่ยนไปก็เกิดจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ล่ะรับ

ส่วนซุ้มที่ใช้กระจกสีเขียว เป็นกระจกเก่าที่ทางคณะกรรมการพยายามจะรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุดครับ

ปล. ก็คณะกรรมการท่านนี้ล่ะมั้ง ที่เป็นเจ้าของสำนวน "วัดพระแก้วเป็นดิสนีย์แลนด์เมืองไทย" นะครับ น่าจะใช่นา อิๆ เพราะผมไม่เคยได้ยินใครพูดนอกจากท่านนะครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ก.ค. 05, 07:02

 มาเสริมอีกนิดนึงนะครับ ว่าเห็นธรรมาสน์สมัยอยุธยาอยู่องค์นึงในพิพิธภัณฑ์พระนครครับ เมื่อก่อนไม่ได้ซ่อมสวยงามมาก แต่พอประดับกระจกใหม่เข้าไป..... มีคนกำลังทำลายสมบัติของแผ่นดินครับ

ช่วยกันไปดูด้วยนะครับเขาจะได้เลิกทำแบบนี้กับศิลปะวัตถุของชาติกันซะที
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ส.ค. 05, 18:56

 กระจกเกรียบปัจจุบันใช้เทคโนสมัยใหม่ทำเทียมขึ้นได้แล้วค่ะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ (MTEC) ให้ทุนสนับสนุนค่ะ
บันทึกการเข้า
jellyfishploy
อสุรผัด
*
ตอบ: 1

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 ก.ย. 05, 00:14

 เมื่อตอนปิดภาคฤดูร้อนที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสเรียนวิชา ศิลปะรัตนโกสินทร์ กับ
หม่อมราชวงศ์จักรรถ  จิตรพงศ์ ท่านให้ทำงานเก็บสะสมคำศัพท์ค่ะ เลยได้ข้อมูลนี้มา
ท่านได้พูดถึงกระจกเกรียบที่นำมาใช้ในการประดับวัดด้วยว่า กระจกเกรียบนี้ได้สูญไปแล้วเพราะคนที่หุงเป็น คนสุดท้ายได้ตายไปแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ก็มีคนกลุ่มหนึ่งได้พยายามศึกษาค้นคว้าและหาวิธีที่จะหุงกระจกขึ้นมาใหม่ เพื่อคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่ล้ำค่าค่ะ

ศิลปะ
น. ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)
คำว่าศิลปะมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ศิลป” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า กรรมอันบุคคลพึงศึกษา มีปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุมด้วยภาษาสมัยสุโขทัยว่า “สีลป” ในอดีตมีความหมายเกี่ยวกับงานช่างหรืองานสร้าง งานบูรณปฏิสังขรณ์ แต่เมื่อเข้ามาถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการให้ความหมายของคำว่า ศิลปะ ศิลป์ ศิลปะ ว่าฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึงวิจิตรศิลป์ ซึ่งตรงกับคำว่า Art ในภาษาอังกฤษ แตกต่างจากงานช่างศิลป์ไทยในอดีตซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า  Craft  ดังนั้น “ช่าง” จึงเป็นคำที่เรียกผู้ทำงานศิลปะมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งหมายถึงผู้ทำงานฝีมือ และมักจะเรียกตามประเภทของงาน เช่น ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างทอง ฯลฯ
   (สถาพร อรุณวิลาศ. เอกสารคำสอนวิชาอารยธรรมไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๔)

ช่างสิบหมู่
ช่างสิบหมู่ หมายถึงชื่อของกรมช่างสิบหมู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่มิได้เรียกว่า “ช่างสิบหมู่” ชื่อกรมนี้เริ่มเรียกกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งปัจจุบัน คือ ส่วนช่างสิบหมู่ สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ณ จังหวัดนครปฐม   ช่างต่าง ๆ ในกรมช่างสิบหมู่ไม่ได้มี ๑๐ หมู่หรือ ๑๐ ช่าง ตามรูปคำ หากแต่ในสมัยแรกเริ่มมีการรวมช่างฝีมือไทยต่าง ๆ ไว้เพียง ๑๐ ตามกฎหมายตราสามดวง ได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรัก ช่างบุ ช่างปูน
(ศิลปากร , กรม. พระพุทธรูปสำคัญ . กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๔๓.)

... แท้จริงช่างไทยมีอยู่มากกว่า ๑๐ หมู่ งานช่างที่นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้แก่ ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะ(จีน) ช่างสนะ(ไทย) ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง
(http://www.luktungfm.com/dday/chanthai.htm)

ช่างไทยสิบหมู่ (ต่อ)
วัฒนธรรมไทยได้แบ่งออกเป็นหลายสาขา เรื่องศิลปะ เรื่องการช่างต่างๆของไทยเรา ก็จัดเป็นวัฒนธรรมสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด ช่างไทยสิบหมู่ เป็นวัฒนธรรมทางด้านศิลปะแขนงหนึ่งในกระบวนช่างไทยได้จำแนกแยกแยะงานช่างได้มากมายแต่ได้หยิบยกที่สำคัญมาเพียง 10 อย่าง โดยผุ้ที่เป็นช่างต้องเรียนรู้กรรมวิธีและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างๆไป ช่างไทยทั้งสิบหมู่ ได้แก่ ช่างเขียนช่างสลัก ช่างกลึก ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรัก ช่างบุ และช่างปูนประวัติความเป็นมาเรื่องของ "ช่างสิบหมู่ ในสมัยก่อนเป็นกรมๆหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ในหนังสือบันทึกความรู้เรื่องๆดังนี้ว่าตามปรกติการปกครองเมืองสมัยโบราณ จัดเป็นจตุสดม คือ เป็นการะทรวงเวียง วัง คลัง นา กระทรวงใดมีกิจจะต้องทำสิ่ง ซึ่งต้องอาศัยฝีมือช่าง ก็ต้องหาช่างชนิดที่ต้องการใช้รวบรวมตั้งไว้เป็นกระทรวงนั้นเพื่อใช้ จึงได้มีการช่างมากมายกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ หลายกระทรวงด้วยกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสไว้ ดังจะยกตัอย่างให้เห็น เช่น กระทรวงวัง มีกรมทหารในเป็นกรมรักษาพระองค์ แต่มีกรมช่างทหารในขึ้นอยู่ในกรมทหารในนั้นอีกชั้นหนึ่งเจ้ากรมเป็นหลวงประดิษฐ์นิเวศน์ เห็นได้ตามชื่อว่ามีหน้าที่ปลูกสร้างเรือนหลวงในพระราชนิเวศน์ คงมีขึ้นด้วยเหตุที่เจ้ากรมหรือปลัดกรมคนใดคนหนึ่งในกรมทหารในเป็นผู้เข้าใจการปลูกสร้างจึงตรัสใช้ ผู้รับสั่งนั้นก็ต้องเสาะหา ช่างมาเป็นลูกมือ งานมากขึ้น ช่างมากขึ้นก็ต้องตั้งขึ้นเป็นกรมทหารใน ยังกรมมหาดเล็กก็มีกรมช่างมหาดเล็กเป็นอีกกรมหนึ่งเหมือนกัน มีช่างเขียน ช่างปั้นและอื่นๆ ช่างสิบหมู่จึงเป็นกรมที่รวบรวมช่างไว้มีสิบหมู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้ หมายความว่าในบ้านเมืองมีช่างแค่สิบอย่างเท่านั้น ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง ที่ยกมารวมไว้เรียกว่า "ช่างสิบหมู่"แท้จริงช่างไทยมีอยู่มากกว่า 10 หมู่ ดังกล่าว แต่ที่เรียกว่า "ช่าวสิบหมู่" คงประสงค์จะรวบรวมช่างที่เป็นส่วนสำคัญไว้ก่อนเพียง 10 หมู่ แล้วภายหลังคิเพิ่มเติม หรือแยกแขนงออกไแอีกตามลักษณะของงานนั้นเอง ตามบัญชีชื่อช่างที่ขึ้นทำเนียบเป็นช่างหลวง
มีดังต่อไปนี้ ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่าวสนะ(จีน) ช่างสนะ(ไทย)
ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง
(http://www.luktungfm.com/dday/chanthai.htm)

งานประดับกระจก

   การประดับกระจกนั้นเป็นศิลปะการประดับตกแต่งสิ่งของเรื่องใช้และส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ด้วยการปิดกระจกเพื่อให้เกิดความสวยงามและมีแสงเปล่งประกายออกมาคล้ายอัญมณีเมื่อได้รับแสงสว่างส่องมากระทบ ซึ่งส่วนมากจะประกอบในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่รักษาเนื้อไม้ไว้ได้จากยางรักที่ใช้ก่อนปิดกระจกทับ และกระจกก็ยังทนแดดทนฝนได้ยาวนานอีกด้วย
   ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น งานประดับกระจกมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นการใช้ประดับบนลายสลักไม้ตามอาคารและสิ่งของเครื่องใช้ทางศาสนาและที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ต่อมาก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากผลงานที่มีอยู่ทั้งที่พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
   งานประดับกระจกนั้นมีทั้งทีประดับแบบพื้นเต็มหน้าซึ่งจะเป็นการประดับให้เกิดการสะท้อนแสงสร้างความแวววาว อีกแบบหนึ่งคือประดับเป็นร่องในพื้นลายหรือที่เรียกกันว่าปิดทองล่องกระจกเพื่อขับให้ลายปิดทองคำเปลวเด่นยิ่งขึ้นโดยใช้กระจกที่มีสี่ค่อนข้างมืดประดับ อีกแบบหนึ่งคืองานประดับกระจกลายยา คือประดับลงบนพื้นไม้ที่ขุดเป็นร่องซึ่งพื้นจะปิดทองทึบ นอกจากนั้นก็อาจจะผสมการประดับกระจกกับการประดับมุก ที่เรียกว่า มุกแกมเบื้อ
   ประเภทของกระจกที่ใช้งานประดับกระจกที่ใช้กันมาแต่โบราณ จะมีอยู่ ๒ ชนิด คือ กระจกเกรียบ และกระจกแก้ว
กระจกเกรียบหรือที่เรียกว่ากระจกจีนนั้น เป็นกระจกสีที่คาดอยู่บนแผ่นดีบุก มีทั้งแผ่นบางหรือแผ่นหนา ถ้าบางก็จะบางเหมือนข้าวเกรียบใช้กรรไกรตัดแต่งได้ ใช้ประดับเครื่องศิราภรณ์ ราชวัตรฉัตรธง แผ่นหน้าก็ใช้ประดับตู้ โต๊ะ และสถาปัตยกรรม ปัจจุบันกระจกประเภทนี้ได้เลิกผลิตไปแล้วทั้งในจีนและในไทย ส่วนกระจกแก้วนั้น มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ  มีสีต่าง ๆ ผิวกระจกมีความโค้งที่สะท้อนแงให้ความแวววาว ส่วนด้านหลังอาบด้วยปรอทเคลือบน้ำยาเคมี กระจกแก้วจะมีความหนากว่ากระจกเกรียบ ตัดได้หยาบ ไม่ประณีต
วิธีประดับกระจกนั้นเริ่มจากการเตรียมวัสดุมีทั้งรักน้ำเกลี้ยง สมุกผง ถ่านใบตองแห้ง ชันผง น้ำมันยาง ปูนขาว และเครื่องมือเช่น ไม้ตับสำหรับคีบกระจก ไม้ขนาดสำหรับวัดขนาดตัดกระจก เพชรสำหรับตัดกระจก กรรไกรตัดกระจกบาง ๆ แลไม้ไผ่เหลาแตะชิ้นแววกระจก ขั้นตอนต่อไปคือเตรียมลายที่ใช้ในการประดับ โดยออกแบบเป็นรูปเหลี่ยมเรขาคณิต ต่อไปก็ตัดกระจกสีต่าง ๆ ให้เป็นชิ้น ๆ เป็นรูปเหลี่ยมต่าง ๆ และสีตามจำนวนที่ต้องการ จำนั้นก็ทาพื้นที่จะติดกระจกด้วยรักสมุก จากนั้นจึงนำกระจกวางติดลงไป โดยติดจากกลางงานออกไปจากนั้นทิ้งให้แห้ง แล้วกวดผิวกระจกให้จมลงติดพื้นเสมอกัน จึงทำความสะอาดกระจกให้สะอาด

อ้างอิงจาก
-   โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. มรดกช่างศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒.
บันทึกการเข้า
บูรพ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 4

ทำงาน อุทยานการศึกษา


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 ก.ย. 05, 05:52

 วันนี้มาพบบทความเรื่อง กระจกเกรียบ
ได้ความรู้เรื่องกระจกเกรียบพอควร
แล้วตะกั่วเกรียบล่ะตรับ

.......ห้วยตโกเดอมห้วยเหตุ    เภตรา
บันทุกคกั่วเกรียบมา              ล่มไว้
จึงบัญญัติสมญา                   ชื่อห้วย  ตกั่วแฮ
คนทุกวันนี้ใช้                       ชื่อห้วยตโกแปลง ฯ

ขอท่านผู้รู้ช่วยไขความกระจ่างนี้ด้วยตรับ
เพราะต้องการได้ข้อมูลก่อน ๑๙ กันยา
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง