เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7693 เจ้าคุณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 28 ก.ค. 04, 10:16

 กระทู้นี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นเรื่องเบาๆ สั้นๆ  อย่างคำว่า "เจ้าคุณ"
ดิฉันรวบรวมความหมายของคำว่า "เจ้าคุณ" มาให้อ่านกันค่ะ

ประมาณ 70-100 ปีก่อน  ถ้าเอ่ยถึงคำว่า "เจ้าคุณ"   ชาวบ้านมักนึกถึงขุนนางยศสูง  เพราะยุคนั้นนิยมใช้เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ของขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้น "พระยา" และ "เจ้าพระยา"
ตั้งแต่ระดับพันเอกขึ้นไป  และถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ระดับอธิบดี ก็เป็นพระยาแล้ว    
โรงเรียนดังอย่างร.ร. เทพศิรินทร์  อาจารย์ใหญ่ก็เป็นพระยา
ส่วนระดับเสนาบดีเป็นเจ้าพระยา

คนเวลาเอ่ยถึงท่านเหล่านี้ อย่างไม่เป็นทางการ  เรียกว่า "เจ้าคุณ " ไม่เรียก "ท่านพระยา" หรือ "ท่านเจ้าพระยา" อย่างในละครย้อนยุค
เจ้าพระยารามราฆพ  ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณรามฯ
พระยาอนุมานราชธน หรือ" เสฐียรโกเศศ"    ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณอนุมานฯ
พระยาบางท่านไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่ว่าเป็นคนสำคัญทำชื่อเสียงและประโยชน์ให้สังคมอย่างกว้างขวาง ในแง่เศรษฐกิจ    อย่างนายเลิดเจ้าของรถเมล์ขาว (เลิด เศรษฐบุตร) ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ์    
คนเรียกว่า เจ้าคุณภักดีนรเศรษฐ์

คำว่า เจ้าคุณ   ที่ใช้กันแพร่หลายกับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม  คือเป็นคำที่ใช้เรียกอย่างไม่เป็นทางการสำหรับพระสงฆ์ระดับราชาคณะ   คือชั้นเทพ และธรรม
ยังเรียกกันมาจนปัจจุบันนี้ค่ะ    

ย้อนหลังไปประมาณ 150-200 ปี คำว่า"เจ้าคุณ" ใช้กับผู้หญิงด้วยค่ะ  
ขอหยุดแค่นี้ก่อน  อยากฟังคนอื่นมาช่วยคุยกันบ้าง  
บันทึกการเข้า
Thysanos
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ก.ค. 04, 16:15

 แล้วอย่าง เจ้าคุณ วัดต่างๆนี่ใช้มาตั้งแต่ไหนครับ เหมือนกับ เจ้าขรัว หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ส.ค. 04, 08:50

 " เจ้าคุณ" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-3   เป็นคำเรียกยกย่องสตรีชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นราชินิกุล (สกุลทางฝ่ายพระราชินี)  อย่างคุณนวลน้องสาวสมเด็จพระอมรินทรมาตย์ในรัชกาลที่ 1  ซึ่งสมรสกับเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ก็เรียกกันว่า "เจ้าคุณนวล"
สตรีระดับท้าวนางที่เป็นตัวหัวหน้าในพระบรมมหาราชวัง  ก็เรียกกันว่า "เจ้าคุณ"  
เจ้าจอมมารดาของเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่ (บรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนม์ถึงขั้นทรงกรม  เป็นกรมหมื่น  กรมขุน กรมหลวงฯลฯ)   ชาววังก็เรียกเจ้าจอมมารดากันว่า "เจ้าคุณ"
แต่คำเรียกเหล่านี้เรียกเป็นแบบยกย่องให้เกียรติ    ไม่ได้มีการแต่งตั้งเป็นทางการ  แล้วแต่ใครจะเรียกกัน     ไม่มีระเบียบแบบแผนแน่นอน  
จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชบัญญัติ ให้ยศเจ้าคุณเป็นยศในกฎหมาย   สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งเป็นแบบแผนสืบมา จะเรียกกันเองเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เช่นกัน     คำว่าเจ้าคุณ ชาวบ้านเองก็เรียกผู้ชายที่เป็นคนใหญ่คนโตในถิ่นนั้น  แบบให้เกียรติเช่นเดียวกับชาววังเรียกสตรีผู้ใหญ่   ไม่จำเป็นว่าผู้ชายคนนั้นเป็นพระยา

ในขุนช้างขุนแผน  มีนักเลงหัวไม้ ชื่อหมื่นหาญ  ถ้าเทียบกับสมัยนี้แกก็เป็นเจ้าพ่อท้องถิ่น  พูดถึงฐานะในสังคมก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน   แต่เมื่อขุนแผนอยากจะจีบนางบัวคลี่ลูกสาวของแก ก็เข้าไปพินอบพิเทา เรียกแกว่า "เจ้าคุณ"  บริวารก็เรียกแกว่า "เจ้าคุณ" กันเต็มปาก
หมายจะมาอยู่ในซ่องของเจ้าคุณ
ได้พึ่งบุญคุ้มกายไปภายหน้า
ถ้าเจ้าคุณปรานีมีเมตตา
ฉันจะอยู่เป็นข้าจนบรรลัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 ส.ค. 04, 12:09

 คำว่าเจ้าขรัว  ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนใช้กับพระสงฆ์ระดับสมภาร และยังใช้กับชาวบ้านที่มีฐานะสูงในสังคม     อย่างขุนช้าง ก็เรียกกันว่าเจ้าขรัว
ยังไม่พบคำว่า เจ้าคุณ ที่ใช้กับพระค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 พ.ค. 05, 11:01

 มีเรื่องเล่าในหมู่คุณมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ว่า  เมื่อจะกราบบังคมทูลถึงผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือพระยา ต้องระบุนามเต็ม เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี  ห้ามใช้เจ้าคุณธรรมศักดิ์มนตรี  มาวันหนึ่งมีคุณมหาดเล็กใหม่ท่านหนึ่งไปกราบบังคมทูลถึงเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ซึ่งเป็นคุณพนักงานผู้ใหญ่ฝ่ายใน  ด้วยความที่เคร่งครัดในขนบประเพณีจึงได้ออกนามท่านผู้นั้นในเวลากราบบังคมทูลว่า พระยาพระประยูรวงศ์  ทำเอาทรงพระสรวงแต่ก็มิได้ทรงกริ้วอะไร
บันทึกการเข้า
Dominio
ชมพูพาน
***
ตอบ: 128

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ธ.ค. 05, 13:29

 ขอเรียนถามว่าภรรยาเจ้าคุณ จะได้เป็นคุณหญิงโดยอัตโนมัติหรือเปล่าค่ะ
บันทึกการเข้า
งอไห่ไทกอกหยั่น
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 พ.ย. 06, 00:08

 ที่ผมอ่านสามเกลอ  จะเรียกข้าราชการระดับพระยาขึ้นไปว่าเจ้าคุณ  อย่างเจ้าคุณปัจจนึกฯ เป็นต้น

และถ้าเป็นผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่พยายามกดตัวเองให้น้อยลง  จะเรียกท่านเหล่านี้ว่า "ใต้เท้า"
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 พ.ย. 06, 10:08

เอกภรรยาของพระยาและเจ้าพระยาจะใฃ้คำนำหน้านามว่า คุณหญิงได้ทันทีที่สามีได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยา  การใช้คำนำหน้านามว่าคุณหญิงนั้น  ให้ระบุราชทินนามของเจ้าคุณผู้เป็นสามีต่อท้าย  เฃ่น ภรรยาของพระยาบุรีนวราษฐ  ให้ใช้ว่า คุณหญิงบุรีนวราษฐ  แต่ถ้าสามีถึงแก่อนิจกรรมแล้ว  ให้ออกนามตัวแล้วต่อด้วยราชทินนามของสามี เช่น คุณหญิงเนื่อง  บุรีนวราษฐ
ในกรณีที่เอกภรรยาของเจ้าพระยา  ถ้าได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  ในสมัยก่อนมักจะได้รับพระราชทานพร้อมตราจุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ปัจจุบันต้องได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ) แล้ว  จึงจะใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิง ได้  ส่วนอนุภรรยาของเจ้าพระยานั้นเรียกว่า หม่อม

ในอดีตผู้ที่ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่ชั้น นายพันเอก นายพันตำรวจเอก อำมาตย์เอก หรือเสวกเอก มักจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา  เอกภรรยาของท่านเหล่านั้นจึงมักจะได้เป็นคุณหญิงกันโดยปริยาย  เมื่อเลิกยศและบรรดาศักดิ์แล้ว  แต่ทหารยังมียศอยู่  บรรดาภริยาของนายทหารชั้นนายพลจึงมักจะอ้างว่า  ตนได้เป็นคุณหญิงแล้ว (ที่ไม่ได้รับตรา)  ความนิยมนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง